รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร(ถ้าหากมีการปฏิรูปการเมือง)

1 ตุลาคม 2549 21:33 น.

       รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร
       
       (ถ้าหากมีการปฏิรูปการเมือง)
       
       ******************
       ผู้เขียนได้กล่าวแล้วว่า ขณะนี้เป็นการเร็วเกินไปที่จะมาพิจารณาและถกเถียงกันว่า “รัฐธรรมนูญใหม่” จะมีสาระสำคัญอย่างไร เปรียบเสมือนในนิยายเรื่องหนูกับแมว ป่วยการที่หนูจะมาประชุมกันว่า กระดิ่งที่ผูกคอแมวจะใช้กระพรวนใหญ่หรือกระพรวนเล็ก และกระพรวนจะมีเสียงดังได้ยินไปไกลขนาดไหน ตราบใดที่หนูยังหา “วิธีการ” ที่จะนำกระพรวนไปผูกคอแมวไม่ได้
       ความสำคัญในการปฏิรูปการเมืองขณะนี้ (กันยายน 2549) อยู่ที่ปัญหาว่า (1) หนู(ตัวไหน) จะกล้าพอเอากระพรวนไปผูกคอแมว ; และ (2) หนูตัวนั้นจะมี “วิธีการ” นำกระพรวนไปผูกคอแมวได้อย่างไร
       คำถามแรก (หนูตัวไหนจะเอากระพรวนไปผูกคอแมว) คำตอบก็คือ หนูตัวใดตัวหนึ่งคงเอากระพรวนไปผูกคอแมวไม่สำเร็จ เพราะแมวคงจะกินหนูตัวนั้นเสียก่อนที่หนูตัวนั้นจะเข้าถึงตัวแมว แต่ถ้าหนูทุกตัวรุมกันเข้าไปผูกคอแมว ก็อาจมีหนูบางตัวที่รอดชีวิตเอากระพรวนเข้าไปถึงตัวแมวได้ แต่เมื่อเข้าไปถึงตัวแมวแล้ว หนูตัวนั้นจะผูกกระพรวนได้หรือไม่ได้ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง
       คำถามที่สอง(หนูตัวนั้นจะมี “วิธีการ” นำกระพรวนไปผูกคอแมวได้อย่างไร) คำตอบก็คือ ถ้าหนูคิดอย่างเดิม ๆ ในกระบวนทัศน์เก่า (old paradigm) คือหนูแต่ละตัวที่วิ่งอยู่บนพื้นและแต่ละตัวต่างถือกระพรวนวิ่งเข้าไปเพื่อไปผูกคอแมว หนูคงไม่มีโอกาสหรือมีโอกาสน้อยที่จะกระโดดขึ้นไปขี่คอแมวเพื่อเอากระพรวนผูกคอแมว แต่ถ้าหนูคิดโดยกระบวนทัศน์ใหม่ (new paradigm) คือ คิดวิธีการต่อตัวกันและให้หนูตัวสุดท้ายนำกระพรวนขึ้นไปผูกคอแมว หนูก็คงจะมี “โอกาส”นำกระพรวนไปผูกคอแมวได้
       ในการปฏิรูปการเมืองครั้งที่สองนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าคนไทยคิดในกระบวนทัศน์เก่า คือให้ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งและจะต้องเป็นผู้ที่สูญเสียอำนาจจาก “การปฏิรูปการเมือง” นักการเมืองเหล่านั้นคงจะบิดเบือนอำนาจ และคนไทยคงจะปฏิรูปการเมืองไม่สำเร็จ
       แต่ถ้าคนไทยค้นพบ “new paradigm” และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน(หนูทุกตัว) ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพร้อมเพรียงกัน คือ ไม่เลือกพรรคการเมืองที่ยึดถือ old paradigm (ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองนักธุรกิจนายทุนระดับชาติหรือพรรคการเมืองนายทุนท้องถิ่น) และเลือกเฉพาะพรรคการเมืองที่เสนอ new paradigm คนไทยก็คงจะปฏิรูปการเมืองครั้งที่สองได้สำเร็จ
       
       *********************
       สมมุติว่า “หนู” ในนิยายเรื่องหนูกับแมวสามารถสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ - new paradigm และเอากระพรวนไปผูกคอแมวได้สำเร็จ ปัญหาของความอยากรู้อยากเห็นก็ยังมีต่อไปว่า แล้วกระพรวนที่นำไปผูกคอแมว ควรจะมีขนาดใด ใหญ่หรือเล็ก และกระพรวนควรจะมีเสียงดังกังวานบอกเตือนอันตรายแก่บรรดาหนูให้ได้ยินไปไกลเพียงใด (?)
       อันที่จริง ถ้าคนไทยค้นพบกระบวนทัศน์ใหม่ - new paradigm (statesman + ผู้เชี่ยวชาญ + ประชาชน) ผู้เขียนเห็นว่า โครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย ก็จะปรากฏขึ้นเองตาม “วิธีการ” ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดไว้ในกระบวนทัศน์ใหม่ โดยไม่ต้องคิดไว้ล่วงหน้าแต่ประการใด และประชาชนทั้งประเทศก็จะเป็นผู้ออกเสียงให้ความเห็นชอบ(ด้วยความเข้าใจ)ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยตนเอง โดยวิธีการ referendum
       

       
       อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะทราบว่า ถ้ามีการปฏิรูปการเมืองแล้วรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร (!) ผู้เขียนขอให้ความเห็นส่วนตัว (ของผู้เขียน) ว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้ new paradigm ที่ปราศจากอิทธิพลของนักธุรกิจการเมืองที่กุมอำนาจรัฐในปัจจุบัน น่าจะทำให้ รธน. ฉบับใหม่ของไทยอยู่ในแนวทางของการ rationalization ของการเขียนรัฐธรรมนูญสากลตามหลักวิชาการในยุคปัจจุบัน
       และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ “ระบบสถาบันการเมือง” และ “กลไกการบริหารประเทศ (โดยไม่กล่าวถึง บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของบุคคล / นโยบายของรัฐ / ฯลฯ)” น่าจะมีหลักการและสาระสำคัญ ดังนี้
       
       (1) ระบอบการปกครองของประเทศไทย เป็นระบอบประชาธิปไตย(ในระบบรัฐสภา - parliamentary system) โดยประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว แบ่งแยกมิได้ และมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข
       
       (2) สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ “ระบบสถาบันการเมือง” และกลไกบริหาร) น่าจะมีหลักการดังต่อไปนี้
       (2.1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรม (conscience) ของตน ทั้งนี้ตามหลักการของการเป็นระบอบประชาธิปไตย ส.ส.จะไม่อยู่ภายใต้อาณัติบังคับของมติพรรคการเมือง และจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้
       (2.2) ฝ่ายบริหารจะเป็น Strong Prime minister ที่จะต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้นำและหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยนายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบทั้งในผลงานของตนเองและของรัฐมนตรีที่ตนเองเลือกมาให้เป็นรัฐมนตรีด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการของการ rationalization ระบบรัฐสภาในยุคปัจจุบันศตวรรษที่ 20 ที่การบริหารประเทศจำเป็นต้องมี “ผู้นำ” ในภาวะที่กลุ่มผลประโยชน์ของสังคมมีความซับซ้อน
       แต่ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ให้ Strong Prime minister (ในฐานะผู้นำของ
       ฝ่ายบริหาร) มีอิทธิพลเหนือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ถ่วงดุลและตรวจสอบฝ่ายบริหาร (ในทางการเมือง) และต้องมีมาตรการที่ทำให้ “นายกรัฐมนตรี” มีเสถียรภาพในการดำรงตำแหน่งและสามารถปฏิบัติการได้ตามนโยบายที่แถลงต่อประชาชนได้อย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กำหนด (ตราบเท่าที่ยังไม่ปรากฏว่าทำการทุจริตคอรัปชั่น)
       “นายกรัฐมนตรี” ต้องเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่จำเป็นต้องบัญญัติบังคับให้ต้องมาจาก ส.ส.
       (2.3)วุฒิสภา ถ้าหาก ส.ว.มี “ที่มา” จากการเลือกตั้งโดยอาศัยฐานเสียงและมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันกับ ส.ส. รัฐสภาตาม รธน.ใหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องมี 2 สภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะนี้มี “ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ” ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเปิดโอกาสให้ “นักวิชาการ”สามารถเข้าสู่การเมืองได้โดยไม่ต้องใช้เงินและหาเสียงอยู่แล้ว
       ทั้งนี้ เว้นแต่จะให้ ส.ว. มี “ที่มา” แตกต่างออกไปจาก ส.ส. เช่นมี “ที่มา” จากนักการเมืองท้องถิ่น (สมาชิกหรือผู้บริหารราชการส่วนท้องถิ่น) ซึ่งถ้าเลือกบัญญัติ รธน. ตามแนวทางนี้ อาจต้องมีบทเฉพาะกาลระยะหนึ่ง
       (2.4) ระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับนักการเมือง จะต้องมีการปรับแต่งให้มีประสิทธิภาพ โดยมี “วิธีพิจารณา” ที่มีความแน่ชัดและรวดเร็ว ให้ทัดเทียมกับระบบของประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นมาตรการที่ทดแทนการตรวจสอบ (ทางการเมือง) โดยสภาผู้แทนราษฎรที่จะถูกลดลง เพราะวิธีการตรวจสอบทางสภาขึ้นอยู่กับ “พฤติกรรม” ของนักการเมืองในการแย่งชิงการดำรงตำแหน่ง มากกว่าที่จะเป็นกระบวนวิธีพิจารณาเพื่อตรวจสอบแสวงหาความถูกต้องตามความเป็นจริง [หมายเหตุ วิธีการปรับแต่งกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องทางเทคนิคของกฎหมายมหาชน ซึ่งซับซ้อนเกินกว่าที่จะอธิบายในที่นี้]
       (2.5) องค์กรอิสระ(กกต./ปปช.) จะต้องปรับแต่ง “ที่มา” ของตัวบุคคล/ วิธีการ การคัดเลือกตัวบุคคล / วิธีพิจารณาขององค์กร ฯลฯ เพื่อให้มีความโปร่งใส เปิดเผยต่อสาธารณะ ดังเช่นการ คัดเลือกบุคคลที่จะเป็นผู้พิพากษาของศาลสูงสุดในประเทศที่พัฒนาแล้ว [หมายเหตุ: วิธีการปรับแต่งองค์กรอิสระ เป็นเรื่องทางเทคนิคของกฎหมายมหาชน ซึ่งซับซ้อนเกินกว่าที่จะอธิบายในที่นี้]
       (2.6) การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่สำคัญของรัฐ (เช่น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอัยการสูงสุด) จะต้องได้รับการตรวจสอบและให้ความเห็นชอบในตัวบุคคลจากสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา เพื่อลดการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารและเพื่อเป็นหลักประกันในความมั่นคงและความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา/ฯลฯ ในปัจจุบัน
       
       ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
       
       **************************


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=980
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 22:31 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)