ส่วนที่ 1 เอกสารวิชาการหมายเลข 6

1 ตุลาคม 2549 21:34 น.

       เอกสารหมายเลข 6
       
       เอกสารวิชาการ
       
       “ความสำเร็จ” หรือความ “ล้มเหลว”
       
       ในการปฏิรูปการเมืองไทย
       
       *****************
       
       ส่วนที่ 6.1 Old Paradigm ในอดีต (พ.ศ.2539)
       “องค์กรผู้ร่างรัฐธรรมนูญ”ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ได้แก่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ- ส.ส.ร. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2539)
       ความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2540) ได้แก่ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ซึ่งได้ก่อให้เกิดการเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง(นักธุรกิจนายทุน) อันเป็นสาเหตุของการทุจริตคอรัปชั่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยมีทั้งการคอรัปชั่นที่ผิดกฎหมาย (แต่ไม่ถูกดำเนินคดี) และคอรัปชั่นทางนโยบาย (โดยการตรากฎหมายเพื่อผลประโยชน์ทับซ้อนส่วนตัวของนักการเมือง)
       
       รธน. (พ.ศ. ๒๕๓๔) แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๓๙ (โครงสร้างของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”)
       
       หมวด ๑๒ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
       
       มาตรา ๒๑๑ ทวิ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้
       (๑) สมาชิกซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๒๑๑ ฉ ให้ได้จังหวัดละหนึ่งคน
       
(๒) สมาชิกซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ จำนวนยี่สิบสามคน ดังต่อไปนี้
       (ก) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน จำนวนแปดคน
       
(ข) ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวนแปดคน
       (ค) ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่าง
       รัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนด จำนวนเจ็ดคน
       
       มาตรา ๒๑๑ ตรี บุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
       (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
       (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
       (๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาตีหรือเทียบเท่า
       (๔) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
       
       มาตรา ๒๑๑ จัตวา บุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) ได้แก่บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้
       (๑) เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๑๓ (๑)(๒)(๓)(๔)(๕)(๖)(๗)(๘)(๑๐) และ (๑๒)
       (๒) เป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือข้าราชการการเมือง
       (๓) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
       (๔) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น
       
       มาตรา ๒๑๑ เบญจ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ(๒) ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๑๑ ตรี (๑)(๒) และ (๓) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๑๑ จัตวา (๑)และ (๒)
       
       มาตรา ๒๑๑ ฉ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ(๑) ภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้
       ผู้ใดประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ(๑) ให้ยื่นใบสมัครพร้อมด้วยหลักฐานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาหรือที่ตนเกิด ตามแบบและภายในกำหนดวันและเวลาที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องกำหนดวันรับสมัครให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
       เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและเห็นว่าถูกต้องแล้ว ในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่เกินสิบคนให้ส่งรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งไปยังประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป แต่ในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเกินสิบคน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดให้มีการประชุมพร้อมกันระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อลงคะแนนเลือกตั้งกันเองโดยลงคะแนนลับ และผู้สมัครแต่ละคนให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครด้วยกันเองได้คนละไม่เกินสามคน
       ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งรายชื่อพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุด ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่สิบไปยังประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
       ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันอันเป็นเหตุให้มีจำนวนเกินสิบคนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดให้มีการลงคะแนนใหม่ เฉพาะผู้ที่ได้รับคะแนนเท่ากันนั้น เพื่อให้ได้ผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุดจำนวนสิบคน
       ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการให้แล้วเสร็จและส่งรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ประธานรัฐสภาภายในห้าวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง
       ให้ประธานรัฐสภาจัดทำบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยแยกเป็นรายชื่อของแต่ละจังหวัด และให้เรียงรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดตามลำดับอักษร เพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๒๑๑ อัฎฐ

       
       มาตรา ๒๑๑ สัตต ให้สภาสถาบันอุดมศึกษาที่มีการให้ปริญญาในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ(๒) ในประเภทต่างๆตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๒) (ก) (ข) และ (ค) ประเภทละไม่เกินห้าคน โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อของแต่ละประเภทพร้อมทั้งรายละเอียดตามที่ประธานรัฐสภากำหนด และส่งให้ประธานรัฐสภาภายในห้าวันนับแต่วันพ้นกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งตามมาตรา ๒๑๑ ฉ และให้ประธานรัฐสภาจัดทำบัญชีรายชื่อของบุคคลที่สภาสภาบันอุดมศึกษาต่างๆส่งมาแยกเป็นประเภทแต่ละบัญชีโดยให้เรียงรายชื่อตามลำดับอักษร
       
       
มาตรา ๒๑๑ อัฎฐ เมื่อประธานรัฐสภาจัดทำบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๒๑๑ ฉ วรรคหก และได้รับบัญชี รายชื่อบุคคลตามมาตรา ๒๑๑ สัตต แล้ว ให้จัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาภายในสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อครบถ้วน
       ให้สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครจากบัญชีรายชื่อ จากจังหวัดต่างๆจังหวัดละหนึ่งคน และเลือกตั้งบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่สภาสถาบันอุดมศึกษา ส่งมาจำนวนแต่ละประเภทตามจำนวนที่กำหนดในมาตรา ๒๑๑ ทวิ(๒) การลงคะแนนดังกล่าว ให้กระทำเป็นการลับ
       ให้ผู้ได้รับเลือกตั้งจากแต่ละจังหวัดและผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ซึ่งได้คะแนนสูงสุด ตามลำดับตามจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๑๑ ทวิ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่าง รัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากันในลำดับใดอันเป็นเหตุให้จะมีจำนวนผู้ได้รับคะแนน สูงสุดเกินจำนวนดังกล่าว ให้ดำเนินการลงคะแนนใหม่เฉพาะผู้ได้รับคะแนนเท่ากันนั้น ถ้ายังมี คะแนนเท่ากันอีก ให้ประธานรัฐสภาทำการจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
       ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสมัครรับเลือกตั้งและการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามหมวดนี้ ให้ประธานรัฐสภากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว
       
ให้ประธานรัฐสภาประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญใน
       ราชกิจจานุเบกษา
       
       มาตรา ๒๑๑ นว ในกรณีที่รัฐสภาจะต้องดำเนินการใดตามหมวดนี้ในระหว่างปิดสมัยประชุมรัฐสภา ให้ ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการ ประชุม สมัยวิสามัญและให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ถ้าอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและมีกรณีที่รัฐสภาจะต้องดำเนินการใดภายใน ระยะเวลาที่กำหนดตามหมวดนี้ มิให้นับระะยะเวลาตั้งแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมี การยุบสภาผู้แทนราษฎร แล้วแต่กรณี จนถึงวันประชุมสภาผู้แทนราษฎษรครั้งแรก ภายหลังจากมีพระ บรมราชโองการฯแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรรวมเข้าในระยะเวลาที่รัฐสภาจะต้องดำเนินการ
       

       มาตรา ๒๑๑ ทศ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑)หรือ (๒) เริ่มตั้งแต่วัน ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาสมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) หรือ (๒) สิ้นสุดลง เมื่อ
       (๑) สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงตามมาตรา ๒๑๑ อัฎฐารส
       (๒) ตาย
       (๓) ลาออก
       (๔) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๑๑ ตรี หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๑๑ จัตวา หรือตามมาตรา ๒๑๑ เบญจ แล้วแต่กรณี
       เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) หรือ (๒) ว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามมาตรา ๒๑๑ อัฎฐารส ให้รัฐสภาดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในกำหนดเวลาสามสิบวันจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ประธานรัฐสภาจัดทำตามมาตรา ๒๑๑ ฉ วรรคหก หรือตามมาตรา ๒๑๑ สัตต เว้นแต่ระยะเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ เตรส จะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน
       ในกรณีที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) ที่รัฐสภาเลือกตั้งจากผู้สมัครรับเลือกตั้งของจังหวัดใดว่างลงและไม่มีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งรายอื่นในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของจังหวัดนั้นแล้วหรือในกรณีที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๒)(ก) (ข) หรือ (ค) ประเภทใดประเภทหนึ่งว่างลง และไม่มีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ตามบัญชีรายชื่อในประเภทที่ว่างลงนั้นแล้ว ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปโดยไม่ต้องดำเนินการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น แต่ทั้งนี้สภาร่างรัฐธรรมนูจะต้องมีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ (๑) และ (๒)
       

       มาตรา ๒๑๑ เอกาทศ สภาร่างรัฐธรรมนูญ มีประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนหนึ่งและรองประธานคนหนึ่งหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมติของสภาร่างรัฐธรรมนูญและให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
       ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามหมวดนี้ รองประธานมีอำนาจหน้าที่ตามที่ประธานมอบหมาย และปฏิบัติหน้าที่แทนประธานเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
       เมื่อประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกแห่งสภาร่างรัฐธรรมนูญเลือกตั้งกันขึ้นเองเป็นประธานในคราวประชุมนั้น

       
       มาตรา ๒๑๑ ทวาทศ เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
       
       
มาตรา ๒๑๑ เตรส สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาสองร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญครบจำนวนตามมาตรา ๒๑๑ ทวิ
       การที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่เป็นเหตุกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง
       ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ
       ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะกระทำมิได้
       ในกรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะตามวรรคสี่ ให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป
       
       มาตรา ๒๑๑ จตุทศ วิธีการพิจารณาและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ การประชุม การลงมติ การแต่งตั้งกรรมาธิการและการดำเนินการของกรรมาธิการ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติของหมวดนี้ ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาโดยอนุโลม ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาโดยอนุโลม ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาให้ใช้ข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนโดยอนุโลมไปพลางก่อน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๒๙ และมาตรา ๑๓๐ มาใช้กับการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม
       เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๑ และมาตรา ๑๓๒ และความคุ้มกันที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๔๐ และมาตรา ๑๔๑ ให้นำมาใช้บังคับกับการประชุมของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการโดยอนุโลม
       
       มาตรา ๒๑๑ ปัณรส เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภา
       
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีสิทธิเข้าชี้แจงประกอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้
       ให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมประการใดมิได้ การลงมติให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เมื่อรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๓ มาใช้บังคับโดย
       อนุโลม และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรัฐสนองพระบรมราชโองการ
       ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมาให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
       
       ในกรณีที่มีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้ดำเนินการจัดให้มีประชามติเพื่อให้ประชาชนออกเสียงลงคะแนนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเสนอ
       
       มาตรา ๒๑๑ โสฬส ในกรณีที่จะต้องดำเนินการให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ตามมาตรา ๒๑๑ ปัณรส วรรคห้า ให้ประธานรัฐสภาประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดวันให้ประชาชนออกเสียงประชามติซึ่งจะต้องไม่ก่อนเก้าสิบวันแต่ไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศ ทั้งนี้ วันออกเสียงประชามติต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
       บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ
       หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
       ในการออกเสียงประชามติ หากผลปรากฏว่าประชาชนโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภาดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๒๑๑ สัตตรส แต่ถ้าเสียงข้างมากไม่เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเป็นจำนวนไม่ถึงหนึ่งในห้าของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
       

       มาตรา ๒๑๑ สัตตรส เมื่อมีประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญให้ประธานรัฐสภานำร่าง รัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๓ และมาตรา ๒๑๑ ปัณรส วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
       
       มาตรา ๒๑๑ อัฎฐารส สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ในกรณีดังต่อไปนี้
       (๑) สภาร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา ๒๑๑ ทศ วรรคสี่
       (๒) สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๒๑๑ เตรส วรรคหนึ่ง
       (๓) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       (๔) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญตกไปตามมาตรา ๒๑๑ เตรส วรรคห้า มาตรา ๒๑๑ ปัณรส วรรคสี่ มาตรา ๒๑๑ โสฬส วรรคสี่ หรือมาตรา ๒๑๑ สัตตรส
       ในกรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง (๒) ให้ดำเนินการจัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ตามหมวดนี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาตามมาตรา ๒๑๑ เตรส วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ บุคคลผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดเดิมจะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอีกไม่ได้
       
มาตรา ๒๑๑ เอกูนวีสติ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตามหมวดนี้ตกไป คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามความในหมวดนี้อีกได้ การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
       
       [ หมายเหตุ: ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ได้แก่ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ]
       
       **************************************************************
       
       *******************************************
       
       ส่วนที่ 6.2 Old Paradigm ในอนาคต (“กลวิธี” ของพรรคการเมือง)
       “ความสำเร็จหรือ “ความล้มเหลว” ในการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2549) ขึ้นอยู่กับการเลือก “องค์กรผู้ร่างรัฐธรรมนูญ”
       
       (ก) “สภาปฎิรูปการเมือง” เสนอโดยพรรคไทยรักไทย (www.thairakthai.or.th)
       

       เพื่อให้การปฏิรูปการเมืองเป็นไปโดยโปร่งใส ปราศจากข้อครหาในแง่มุมต่างๆให้มากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 313 เพื่อให้ได้คณะบุคคลที่เป็นกลางและมาจากทุกภาคส่วนของสังคมเรียกว่า “สภาปฏิรูปการเมือง” ไปทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อการปฏิรูปการเมือง และนำไปสู่การออกเสียงลงประชามติของประชาชนต่อไป จึงขอเสนอหลักการและสาระสำคัญโดยสรุปของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 313 ดังนี้
       
       1.ให้มีสภาปฏิรูปการเมืองจำนวน 120 คนซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ ประกอบด้วย 3 ประเภท
       1.1 บุคคลจำนวน 90 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของผู้แทนองค์กรกลุ่มอาชีพภาคเอกชน/กลุ่มอาชีพภาครัฐ/และกลุ่มกิจกรรมทางสังคม ในทุกจังหวัดซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยจะมีการรับสมัครองค์กรกลุ่มต่างๆ ภายใน 15 วัน เพื่อให้แต่ละองค์กรส่งผู้แทนองค์กรละ 1 คนเพื่อเลือกกันเองดังนี้
       (ก) กลุ่มอาชีพภาคเอกชน ให้จำแนกออกเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งต้องเลือกกันเองให้เหลือ 50 คน
       (ข) กลุ่มอาชีพภาครัฐ ให้จำแนกออกเป็นบุคลากรที่มาจากการเลือกตั้งหรือเลือกของประชาชน และบุคลากรที่มาจากการแต่งตั้งหรือจ้างของรัฐ ซึ่งต้องเลือกกันเองให้เหลือ 20 คน
       (ค) กลุ่มกิจกรรมทางสังคม ให้จำแนกออกเป็น ด้านการพัฒนาชุมชน ด้านการสาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรมและศาสนา ด้านการพัฒนาและสงเคราะห์คน พิการและผู้ด้อยโอกาส ด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ ด้านการ พัฒนาแรงงาน และ ด้านการ
พัฒนาฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องเลือกกันเองให้เหลือ 20 คน
       
       รายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของผู้แทนองค์กรกลุ่มต่างๆ และกระบวนการเลือกให้เป็นไป ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและบัญชีท้ายรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงสัดส่วนของ ประชากรในแต่ละจังหวัด (เช่น ถ้าใช้อัตราส่วนประชากร 30,000 คน ต่อผู้แทนองค์กรกลุ่ม ต่างๆ 1 คน จังหวัดที่มีประชากร 300,000 คน จะมีผู้แทนองค์กรกลุ่มต่างๆ 9 คน โดยจำแนกออกเป็นกลุ่มอาชีพภาคอกชน 5 คน กลุ่มอาชีพภาครัฐ 2 คน และกลุ่มกิจกรรมทางสังคม 2 คน ซึ่งในจังหวัดดังกล่าว อาจมีองค์กรกลุ่มต่างๆมาสมัครและเสนอผู้แทนนับร้อยคน แต่ ผู้แทนเหล่านี้จะต้องเลือกกันเองให้เหลือ 9 คน ในสัดส่วน 5: 2 : 2 และหากใช้อัตราส่วนที่กล่าวมา ทุกจังหวัดทั้งประเทศจะมีผู้แทนองค์กรกลุ่มต่างๆประมาณไม่เกิน 2,000 คนเพื่อมา เลือกกันเองให้เหลือ 90 คน ที่จะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการเมือง)
       1.2 ผู้แทนพรรคการเมืองจำนวน 10 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของผู้แทนของพรรคการเมือง ทั้งหมดที่จดทะเบียนไว้กับนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยให้แต่ละพรรคการเมืองส่งผู้แทน เพื่อไปเลือกกันเองได้พรรคละ 1 คน (ขณะนี้มีพรรคการเมือง 31 พรรค )
       1.3 ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 20 คน มาจาก
       (1) สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน
       (2) ผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน
       (3) ผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่ง กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน
       (4) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ สาขาการ บริหาราชการแผ่นดิน และสาขาสังคมศาสตร์ ซึ่งแต่ละสาขาเลือกกันเองให้เหลือสาขาละ 1 คน จำนวน 5 คน
       

       2.ให้มีคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และกระบวนการในการได้มาซึ่งสภาปฏิรูปการเมืองจำนวน 120 คน ประกอบด้วย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเป็นประธาน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นกรรมการ และเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจละสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการร่วมเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดฯ และการดำเนินการทั้งปวงเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาปฏิรูปการเมือง
       
       3.สมาชิกสภาปฏิรูปการเมืองต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
       3.1 คุณสมบัติ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้ บังคับ
       3.2 ลักษณะต้องห้าม เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรตามมาตรา 109 (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (13) และ (14) ของรัฐธรรมนูญ
       
       4. ให้ศาลจังหวัดที่คดีอยู่ในเขตอำนาจหรือศาลแพ่งสำหรับกรุงเทพมหานครเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาการคัดค้านทั้งหลายเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่งสภาปฏิรูปการเมืองโดยต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน และให้คำวินิจฉัยเป็นที่สุด ให้ประธานศาลฎีกากำหนดวิธีการยื่นคำร้องคัดค้าน และวิธีพิจารณาคำร้องคัดค้าน
       

       5. สภาปฏิรูปการเมืองมีประธาน 1 คน และรองประธาน 2 คน โดยจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปการเมือง ให้นำข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา มาบังคับใช้โดยอนุโลมกับการดำเนินการของสภาปฏิรูปการเมือง และให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยงานธุรการของสภาปฏิรูปการเมือง โดยให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เลขานุการของสภาปฏิรูปการเมือง และเลขาธิการวุฒิสภาทำหน้าที่รองเลขานุการสภาปฏิรูปการเมือง
       
       6. การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสภาปฏิรูปการเมืองให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน แยกออกได้เป็นขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
       6.1 ยกร่างแรกพร้อมเอกสารประกอบให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปการเมือง
       6.2 ส่งร่างแรกดังกล่าวไปยังรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พรรคการเมืองต่างๆ และจัดเผยแพร่เป็นการทั่วไปตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       
6.3 ให้องค์กรต่างๆที่ได้รับร่างดังกล่าวส่งความเห็นไปยังสภาปฏิรูปการเมืองภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับร่างนั้น
       6.4 ให้สภาปฏิรูปการเมืองจัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เอกสารประกอบและความเห็นจากองค์กรต่างๆ
ให้ประชาชนได้รับทราบ
       
6.5
ให้สภาปฏิรูปการเมืองยกร่างสุดท้ายเพื่อให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับบันทึกความเห็นจากองค์กรต่างๆ
       
       7.ให้ประธานรัฐสภาประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดวันให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่จัดทำโดยสภาปฏิรูปการเมืองโดยต้องไม่ก่อน 60 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 90 วัน ทั้งนี้เพื่อให้ประธานรัฐสภาได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมด้วยเจตนารมณ์ ความเห็นขององค์กรต่างๆ และคำชี้แจงของสภาปฏิรูปการเมืองให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจก่อนการลงประชามติ
       
       8.ถ้าประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้อายุของสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่สิ้นสุดลงในวันถัดจากวันครบ 30 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมใช้บังคับ เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ แต่ถ้าประชาชนออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบด้วยให้สภาปฏิรูปการเมืองสิ้นสุดลง แล้วให้ดำเนินการให้มีสภาปฏิรูปการเมืองขึ้นใหม่ภายใน 60 วัน โดยผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการเมืองชุดเดิมจะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปชุดใหม่อีกไม่ได้
       
       โดยสรุป กระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อการปฏิรูปการเมืองโดยสภาปฏิรูปการเมือง จะใช้เวลาตั้งแต่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 313 จนสภาปฏิรูปการเมืองยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อปฏิรูปการเมืองแล้วเสร็จ มีการออกเสียงลงประชามติและมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 12 เดือนหรือ 1 ปี
       

       (ข) คณะกรรมการพิเศษเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” เสนอโดย พรรคประชาธิปัตย์(www.democrat.or.th)
       
       
วาระประชาชนด้านการปฏิรูปการเมือง
       

       กราบเรียนพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนอันดับแรก ขอเท้าความในวันที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการจัดสัมมนาเพื่อที่จะสรุประดมการในเรื่องของการจัดทำวาระประชาชน ผมได้กล่าวในที่ประชุมว่า ภารกิจของพรรคประชาธิปัตย์ที่เรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงทิศทางของการบริหารประเทศซึ่งมันจะมีในเรื่องของนโยบายด้านต่างๆที่เราเรียกว่าวาระประชาชน ประกอบไปด้วยเรื่องของการสร้างสังคมคุณธรรมและเศรษฐกิจคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ได้บอกเช่นเดียวกันว่า ความความหวังของสังคมในเรื่องของการปฏิรูปการเมืองก็เป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการอย่างเต็มที่ที่จริงแล้วพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนในเรื่องของการปฏิรูปการเมืองรอบแรก
       

       โดยเป็นพรรคการเมืองแรกที่ประกาศสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และในฐานะที่เป็นรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2540 – 2544 ในช่วงต้นปีก็ได้ผลักดันกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและก็ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญทำงานได้อย่างเต็มที่ แน่นอนครับว่า การดำเนินการในขณะนั้นก็อาจจะมีบางประเด็นหรือบางเรื่องซึ่งอาจจะมีข้อบกพร่องบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์บริหารประเทศไม่มีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บริหารประเทศขัดกับแนวทางของรัฐธรรมนูญจนก่อให้เกิดวิกฤต ทั้งที่เป็นวิกฤตการเมืองหรือวิกฤตทางสังคมเหมือนกับที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้
       แต่ว่า 5 ปีหลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นรัฐบาล คือตั้งแต่ปี 2544 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน วิกฤตการณ์ทางการเมืองซึ่งขยายวงไปเป็นวิกฤตความแตกแยกในสังคมและวิกฤตอื่นๆที่ตามมาเกืดขึ้นจากปัญหาในระบบการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ที่ถกเถียงกันมากว่า ปัญหาทางการเมืองนี้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นเพราะระบบหรือว่าเป็นเพราะตัวบุคคล ผมคิดว่าเราต้องมองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอยู่กับความเป็นจริง การใช้รัฐธรรมนูญที่แตกต่างกันในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลกับช่วงที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลก็บอกบอกครับว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพราะกฎหมายชุดเดียวกันระบบระบบเดียวกัน แต่เมื่อใช้แล้ว ผลที่ออกมามันแตกต่างกัน
       ........................................................................................................................................................
       .............................................................................................................................................................ฯลฯ
       เราจะเห็นว่าในช่วงที่มีปํญหาในการยุบสภาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และก็ต่อเนื่องไปจนถึงเรื่องของการเลือกตั้งในต้นเดือนเมษายน ผมและพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นคนแรกที่เสนอประเด็นว่า จะต้องให้ทุกพรรคการเมืองมาสนับสนุนกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเจตนารมณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องของการปฏิรูปการเมืองก็จะถูกสะท้อนออกผ่านการกระทำของเราในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในช่วงที่เป็นรัฐบาล ทั้งในช่วงที่เป็นฝ่ายค้านและในช่วงที่มีวิกฤตทางการเมือง ผมอยากให้เราเห็นภาพครับว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ถ้าสรุปออกมาเป็นเป้าหมายมี 3 เป้าหมายหลักๆ
       

       เป้าหมายที่ 1 ก็คือว่า ต้องการส่งเสริมการเมืองภาคประชาชนโดยการขยายสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน นั่นคือเป้าหมายที่ 1 เป้าหมายที่ 2 ก็คือว่า การใช้การเข้าสู่อำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐจะต้องมีกลไกของการตรวจสอบถ่วงดุลมากไปกว่าการพึ่งรัฐสภาคือองค์กรบุคคล คือก่อนปี 2540 การตรวจสอบต่างๆ ก็จะอยู่ในวงของสภาผู้แทนราษฎรเพียงอย่างเดียว รัฐธรรมนูญปี 2540 เห็นว่า ต้องการที่จะให้มีเครือข่ายขององค์กรและกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่เรามักจะเรียกว่าองค์กรอิสระเกิดขึ้นมาเพื่อป็นหลักประกันว่าเรามีบุคคลที่เป็นกลางทางการเมืองที่มีความสามารถความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาทำหน้าที่ในการตรวจสอบประเด็นสำคัญๆ เช่น ความสุจริตเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเรื่องการตรากฎหมายหรือในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างนี้เป็นต้น และเป้าหมายที่ 3 ครับ เมื่อภาคประชาชนเข้มแข็ง เมื่อมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ดีก็ต้องการส่งเสริมเสถียรภาพของรัฐบาล ภาวะการเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญปี 40 ออกแบบเพื่อ 3 เป้าหมายนี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ขอยืนยันว่า เป็นสิ่งที่ไม่ผิดครับ
       
........................................................................................................................................................
       .............................................................................................................................................................ฯลฯ
       
       ถามว่าคนที่เรามองว่าไม่มีส่วนได้เสียทางการเมืองที่จะเข้ามาทำหน้าที่ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็น “คณะกรรมการพิเศษเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” มีหลักการใหญ่ๆ หลักสำคัญๆ ก็คือ 1.จะต้องมีความเป็นกลางไม่มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง 2.การทำงานของท่านเหล่านี้จะต้องมีความเป็นอิสระปราศจากหลุดพ้นจากการครอบงำของฝ่ายการเมือง และ 3.ก็คือเราต้องการที่จะให้ประชาชนนั้นเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่
       ผมอยากจะเสนอว่า กรรมการชุดดังกล่าวนี้ควรจะได้มีการสรรหาจากฝ่ายต่างๆ และก็มีจำนวนประมาณ 30 – 50 คน ที่เรากำหนดคร่าวๆ ไว้จำนวนอย่างนี้เพื่อที่จะหาความพอดี คือถ้ากรรมการมีจำนวนน้อยเกินไป ก็จะขาดความหลากหลาย ก็จะขาดความกว้างขวางของความคิดเห็นต่างๆ แต่ถ้ากรรมการมีจำนวนมากเกินไปก็จะเกิดปัญหาความล่าช้า ความอุ้ยอ้าย
       และกลุ่มที่จะเข้ามามีส่วนร่วมใน 30 – 50 คนนี้ก็ควรจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ 1. ก็คือกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ซึ่งมีความจำเป็นเพราะว่าการจดร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องอาศัยความรู้ที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะ ดังนั้นผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขารัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม กลุ่มที่ 2 ก็คือตัวแทนจากฝ่ายตุลาการหรือศาลเพราะต้องยอมรับว่า องค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่ขณะนี้สามารถที่จะหยุดยั้งกระบวนการของการบิดเบือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เราใช้อยู่ จากกระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันฝ่ายตุลาการได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นชัดเจนในการมาช่วยคลี่คลายวิกฤตทางการเมือง เราก็มองว่าควรจะได้มีบทบาทต่อเนื่องในเรื่องของการที่จะมาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และแน่นอนครับ ส่วนที่ 3 ก็คือ ตัวแทนจากภาคประชาชนเพื่อให้มุมมองของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นมีความหลากหลายและสะท้อนความต้องการของสังคมได้อย่างครอบคลุมครบถ้วน
       
       กระบวนการคือ เมื่อสภาสามารถที่จะผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 313 ได้ขั้นตอนที่เกิดขึ้นขั้นตอนแรกก็คือการสรรหาคณะกรรมการตามหลักการที่เราเสนอไว้กว้างๆ เมื่อสักครู่ ซึ่งคาดว่าไม่ควรจะใช้เวลาเกิน 30 วัน จากนั้นจะมีการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการพิเศษ ซึ่งควรจะให้เวลา 90 วัน หลังจากนั้นครับ จะต้องมีขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมในรอบแร โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือ การออกไปทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นต่างๆ จากประชาชนเป็นการทั่วไป และอีกส่วนหนึ่งคือการมารับฟังความคิดเห็นจากรัฐสภาอย่างเป็นระบบ มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในการปฏิรูปการเมืองรอบแรกว่า ปัญหาหลายกลุ่มอาจจะเกิดขึ้นจากการที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองมีน้อยเกินไป แต่เมื่อเรายังต้องการที่จะรักษาความเป็นอิสระรูปแบบที่เราเสนอก็คือ เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญรอบแรกเสร็จให้มาฟังความเห็นจากสภาควบคู่ไปกับการฟังความคิดเห็นจากประชาชนซึ่งกระบวนการตรงนี้ใช้เวลา 60 วัน เมื่อรับฟังความคิดเห็นจากสภาแล้ว รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใน 60 วันแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ก็จะกลับไปทบทวนเพื่อปรับปรุงเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในรอบที่ 2 ซึ่งจะให้เวลาอีก 60 วันแล้วจะนำเสนอร่างที่ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วให้สภาให้ความเห็นชอบ โดยรัฐสภาจะไม่สามารถที่จะไปแก้ไขเพิ่มเติมได้อันนี้คือเพื่อดำรงหลักของความถูกต้องของการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
       กระบวนการของรัฐสภาตรงนี้เราก็ให้เวลาไว้สัก 30 วัน แต่ในกรณีที่รัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบก็จะให้มีการนำเอาร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมของคณะกรรมการชุดนี้ไปเสนอต่อประชาชนเพื่อลงประชามติซึ่งถ้าเกิดกรณีเช่นนั้นก็ต้องเผื่อเวลาไว้อีกประมาณ 60 วัน ถ้าประชาชนให้ความเห็นชอบแล้วก็จะดำเนินการในเรื่องของการประกาศทูลเกล้าฯ และก็ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ จากนั้นก็เป็นที่คาดหมายว่าจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้องกับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จึงกำหนดเวลาคร่าวๆว่า 180 วัน สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเพื่อที่จะให้ระบบตามรัฐธรรมนูญเดินได้ ถ้าสุดแล้วกระบวนการทั้งหมดก็จะใช้เวลาอยู่ประมาณ 15 หรือ 18 เดือนก็คือปีเศษๆนั่นเอง ปีครึ่งก็จะถือว่ากระบวนการตรงนี้เสร็จเรียบร้อยนี่คือ แนวทางของการที่จะดำเนินการในการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองรอบที่สอง
       ขณะเดียวกัน รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์จะไม่เพิกเฉยต่อระบบการเมืองและก็เพียงแต่รอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะเราเห็นว่ารัฐบาลชุดต่อไปควรจะต้องยกระดับมาตรฐานหรือมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในระบบการเมือง เพราะฉะนั้นก็จะมีข้อที่พรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการโดยถือเป็นนโยบายที่จะผลักดันโดยไม่รอกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เช่น ในส่วนของรัฐธรรมนูญเองจะมีการเสนอแก้ไขต่างหากเพื่อหาผู้บังคับใช้โดยเร็วที่สุดในวันรุ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่จะให้รัฐบาลถูกตรวจสอบได้โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีใช้เสียง ส.ส. เพียง 1 ใน 4 ฉะนั้นนายกฯคนต่อไปต้องพร้อมรับการตรวจสอบ โดยกลไกของสภา การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะอยู่สั้นหรืออยู่ยาวแค่ไหนอย่างไรก็ตาม นี่เราจะเสนอทันที พร้อมๆไปกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 209 ว่ารัฐมนตรีไม่สามารถไปถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในกิจการต่างๆ ได้เกินสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด และต้องแก้ไขให้ครอบคลุมถึงภรรยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ป้องกันไม่ให้มีการใช้ช่องโหว่ตรงนี้เกิดปัญหาผลประโยชน์ ทับซ้อนและการทุจริตเชิงนโยบาย อันนี้คือแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันกฎหมายรองที่ต้องมีการแก้ไขทันทีก็มีดังที่ได้ประกาศเป็นวาระประชาชนไปแล้ว ไม่ว่าคดีทุจริตที่ไม่มีอายุความ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ประชาชนฟ้องคดีทุจริตของนักการเมืองได้โดยตรง รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการการบริจาคให้กับพรรคการเมือง โดยต้องจำกัดว่าบุคคลหรือนิติบุคคลรายใดรายหนึ่งต้องไม่บริจาคเงินให้พรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาทต่อปีต่อบุคคล เพื่อ(มิ)ให้พรรคการเมืองซึ่งควรจะเป็นสถาบันของประชาชน อยู่ภายใต้การครอบงำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และบางเรื่องแม้จะยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย แต่ผมได้ประกาศไว้แล้วว่าพรรคมีแนวทางว่า ส.ส.หรือรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเปิดเผยผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองและครอบครัว
       ในส่วนของภาคประชาชนสิ่งที่ต้องทำทันทีโดยไม่ต้องรอกฎหมายหรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คือ ต้องมีช่องทางให้ประชาชนสามารถมีส่วนในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคได้เสนอไปในสภาฯชุดที่แล้วแต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้มีการตราขึ้นแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อภาคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 56 องค์กรอิสระที่มาทำงานคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตร 57 และกฎหมายที่จะมารองรับการรับฟังความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์ ซึ่งจะทำให้การทำงานของหน่วยงานต่างเวลาที่กฎหมายบอกว่าต้องมีการฟังความคิดเห็นของประชาชน มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เป็นวาระในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมือง
       เมื่อมีกรรมการพิเศษขึ้นมาแล้วพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะเสนอประเด็นบางประเด็นเกี่ยวกับจุดยืนแนวความคิดของเราว่าจะแก้ปัญหาระบบตรวจสอบถ่วงดุลอย่างไร จะแก้ปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างไร ทั้งปัญหาความสัมพันธ์ของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจะเป็นการนำเสนอในฐานะที่เป็นกลุ่มๆหนึ่งในสังคม พรรคเห็นว่าส.ส.และรัฐมนตรีไม่ควรจะมีการแบ่งแยกออกจากกันเพราะเป็นเหตุผลที่รัฐมนตรีไม่มารับผิดชอบในสภาฯ ไปจนถึงการปรับปรุงในเรื่องขององค์กรที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นกกต. ซึ่งต้องมีการดำเนินการไม่ให้ปัญหาอย่างที่ผ่านมาเกิดขึ้นอีก
       ฯลฯ ฯลฯ
       
       **************************************************************
       
       ส่วนที่ 6.3 New Paradigm สำหรับการปฏิรูปการเมือง 2549-2550
       “คณะกรรมการพิเศษเพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ” เสนอโดย ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์/ ศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์/รศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ (www.pub-law.net) ; เพิ่มเติม รธน.ปัจจุบันเป็นหมวด 13
       

       หมวด ๑๓ การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง
       

       มาตรา ๓๑๓/๑ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกชื่อว่า “คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ” ประกอบด้วย กรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจำนวน 7 คน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
       ประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ จำนวนห้าคน ได้แก่
       (1) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประธานองคมนตรีถวายชื่อตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี สองคน
       
(2) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประธานวุฒิสภาถวายชื่อตามคำแนะนำของสมาชิกวุฒิสภา หนึ่งคน
       
(3) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรถวายชื่อสองคน โดยคนหนึ่งตามคำแนะนำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล และอีกคนหนึ่งตามคำแนะนำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
       ประเภทที่สอง ได้แก่ กรรมการที่มีประสบการณ์ทางการเมือง ที่ประธานองคมนตรีถวายชื่อตามคำแนะนำของคณะองคมนตรีจากผู้ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว จำนวนสองคน
       
ให้มีประธานคณะกรรมการพิเศษ
เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติหนึ่งคนและรองประธานหนึ่งคน ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งจากกรรมการพิเศษเพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ โดยการถวายชื่อโดยประธานองคมนตรีตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี
       
การถวายรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำโดยผ่านประธานองคมนตรี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ใช้บังคับ
       ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการการแต่งตั้งประธาน รองประธาน และกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       
       “พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล” ตามวรรคหนึ่ง (ก) (3) หมายความถึง พรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยพรรค ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่น และ “พรรคการเมืองฝ่ายค้าน” หมายความถึง พรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมิใช่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล
       
       มาตรา ๓๑๓/๒ บุคคลที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
       และภายในสามปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา หรือสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และห้ามมิให้เป็นข้าราชการการเมือง
       
       มาตรา ๓๑๓/๓ คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการออกเสียงเป็นประชามติ ตามมาตรา ๓๑๓/๑๒ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบโดยประชามติแล้ว ให้นำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้
       การยกร่างรัฐธรรมนูญตามความในหมวดนี้ กระทำโดยมีเจตจำนงที่จะปฏิรูปการเมือง ให้ประเทศไทยเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยที่มีระบบสถาบันการเมืองซึ่งมีประสิทธิภาพและใช้อำนาจรัฐอย่างโปร่งใสเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประกอบกับศาลและองค์กรอิสระที่สำคัญของรัฐ ที่มีการจัดรูปแบบองค์กร ระบบความรับผิดชอบ และมีวิธีพิจารณาหรือวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้
       

       มาตรา ๓๑๓/๔ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ และให้ประธานกรรมการมีอำนาจกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมตลอดถึงให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ที่ปรึกษา และหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร
       ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติว่างลงเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และให้ดำเนินการเพื่อให้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างโดยเร็ว
       
       มาตรา ๓๑๓/๕ ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ และมีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ
       ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการ และให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองเลขานุการของคณะกรรมการ
       
       มาตรา ๓๑๓/๖ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นวาระแรก พร้อมทั้งเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ ภายในหกเดือนนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ”ตามวรรคหนึ่ง เป็นเอกสารที่มีความมุ่งหมายจะให้ความรู้และความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญโดยสังเขป โดยเอกสารดังกล่าวจะต้องชี้แจงอธิบายโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญ และอธิบายให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายในประเด็นสำคัญต่างๆ ของบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนความคาดหมายในความสำเร็จหรืออุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในเชิงปฏิบัติ และสาระสำคัญอย่างอื่น ที่จำเป็นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนควรจะได้รับรู้
       
       มาตรา ๓๑๓/๗ เมื่อคณะกรรมการพิเศษที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๓๑๓/๖ และเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้
       (1) ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารดังกล่าวไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อให้สภาทั้งสองพิจารณาและให้ความเห็นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑๓/๘
       (2) จัดเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารดังกล่าวเป็นการทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
       

       มาตรา ๓๑๓/๘ ในการพิจารณาและให้ความเห็นของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในร่างรัฐธรรมนูญ ให้จัดทำเป็นบันทึกที่มีการกำหนดประเด็นและความเห็นที่ชัดเจน ประกอบด้วยการให้เหตุผลในทางวิชาการและในเชิงปฏิบัติ รวมทั้งระบุอุปสรรคและเหตุการณ์ที่ได้เคยเกิดขึ้นหากมีหรือคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้
       
       ในการให้ความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร ให้จัดทำเป็นบันทึกโดยแยกความเห็นและข้อเสนอแนะออกเป็น 2 ฉบับ โดยฉบับหนึ่ง เป็นบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล และอีกฉบับหนึ่ง เป็นบันทึกตามความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
       ในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวรรคก่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมให้ความเห็นโดยอิสระตามมโนธรรมของตน โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติและมติของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด
       ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ดำเนินการให้แล้วเสร็จและจัดส่งบันทึกดังกล่าวให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการ
       มาตรา ๓๑๓/๙ ให้คณะกรรมการการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๓๑๓/๖ เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ และบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามมาตรา ๓๑๓/๘ ต่อสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญตลอดจนความเห็นและข้อเสนอของสมาชิกของสภาทั้งสอง และให้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยทั่วไปในลักษณะของการจัดทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความเห็นสาธารณะ
       
       มาตรา ๓๑๓/๑๐ เมื่อคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา ๓๑๓/๘ และได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปตามมาตรา ๓๑๓/๙ แล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติทำการยกร่างรัฐธรรมนูญสำหรับการลงประชามติตามมาตรา ๓๑๓/๑๒ พร้อมทั้งเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้รับบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
       “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ” ตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะต้องมีสาระสำคัญตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๑๓/๖ วรรคสองแล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติระบุด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะมีกฎหมายสำคัญซึ่งกำหนดให้ตราเป็น “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” ในเรื่องใดบ้าง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องใดจะมีหลักการและสาระสำคัญอย่างใด และให้ระบุด้วยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องใดมีความจำเป็นหรือเหมาะสม จะต้องตราขึ้นตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑๓/๑๖ ถึง มาตรา ๓๑๓/๑๘ เพื่อให้มีผลบังคับใช้พร้อมกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ
       
       มาตรา ๓๑๓/๑๑ ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ หากคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเห็นว่า หลักการสำคัญตามร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือหลายประเด็น อาจมีทางเลือกที่เหมาะสมได้หลายทาง คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติอาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อการรับฟังความเห็นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้
       ในการจัดทำประชามติเพื่อการรับฟังความคิดเห็นตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีการกำหนดประเด็นที่คณะกรรมการเสนอขอความเห็นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ชัดเจน และคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีเอกสารประกอบการจัดทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจในประเด็นที่ขอความเห็นตามความเหมาะสม
       ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๑๓/๑๒ วรรคสองมาใช้บังคับ และให้เผยแพร่เอกสารตามวรรคสองเป็นเวลาอย่างน้อยสามสิบวันก่อนวันออกเสียงลงประชามติ
       มาตรา ๓๑๓/๑๒ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้จัดทำขึ้น ภายในกำหนดอย่างช้าไม่เกินสิบแปดเดือน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ใช้บังคับ
       การกำหนดวันออกเสียงประชามติ ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อการจัดทำประชามติ ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการในการลงประชามติ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๑๓/๑๙
       ให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญเป็นเวลาอย่างน้อยสามสิบวันก่อนวันออกเสียงประชามติ
       
       มาตรา ๓๑๓/๑๓ ในการออกเสียงลงประชามติ หากเสียงข้างมากของการลงประชามติไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหมวดนี้เป็นอันสิ้นสุดลง
       ในกรณีที่มีผู้ออกเสียงประชามติมีจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของประเทศ ให้การออกเสียงประชามตินั้นไม่มีผล และให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการเห็นชอบจากประชาชน
       
       มาตรา ๓๑๓/๑๔ ในกรณีที่เสียงข้างมากของการลงประชามติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ให้ประธานองคมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญ
       ให้ประธานองคมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการร่วมกัน และประกาศใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญต่อไป
       
       มาตรา ๓๑๓/๑๕ เพื่อประโยชน์ในการให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ตามมาตรา ๓๑๓/๑๔ และเพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีการเลือกตั้งที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำมาให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ มีบทบัญญัติกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการบังคับใช้ ดังต่อไปนี้
       (๑) ให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด (หนึ่งร้อยแปดสิบวัน) นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       (๒) ให้สมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาตามที่มีอยู่ในขณะนั้นสิ้นสุดลง เมื่อพ้นกำหนด(เก้าสิบวัน) นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ

       
       มาตรา ๓๑๓/๑๖ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามมาตรา ๓๑๓/๑๔ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นหรือเหมาะสมจะต้องตราขึ้นเพื่อให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับรัฐธรรมนูญตามที่ระบุไว้ในเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญในการจัดทำประชามติ ให้เสร็จสิ้นโดยมิชักช้า และต้องไม่ช้ากว่า(หกสิบวัน) นับแต่วันที่มีการออกเสียงประชามติ และในการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้ถือตามแนวของหลักการและสาระสำคัญที่ได้ระบุไว้ในเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ
       ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญพร้อมด้วยเอกสารประกอบร่างกฎหมายดังกล่าวที่ได้จัดทำขึ้น ไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นและข้อเสนอแนะมายังคณะกรรมการ
       ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๑๓/๘ วรรคหนึ่งถึงวรรคสามมาใช้บังคับ และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา จัดส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการภายในกำหนด (หกสิบวัน) นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้รับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างกฎหมายจากคณะกรรมการ
       พร้อมกันนี้ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติจัดพิมพ์เผยแพร่ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการทั่วไป เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
       

       มาตรา ๓๑๓/๑๗ เมื่อคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปตามมาตรา ๓๑๓/๑๖ แล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำไปประกาศให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายพร้อมกับรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้ตามมาตรา ๓๑๓/๑๔
       

       มาตรา ๓๑๓/๑๘ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้ตราขึ้นตามมาตราก่อน ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๑๓/๑๙ และให้ถือว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐ ธรรมนูญที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่ได้ประกาศใช้ตามมาตรา ๓๑๓/๑๔
       

       มาตรา ๓๑๓/๑๙ พระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นตามความในหมวดนี้ ให้ประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
       
       มาตรา ๓๑๓/๒๐ ให้รัฐสภากำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ให้แก่ประธาน รองประธาน และกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ
       
       มาตรา ๓๑๓/๒๑ เมื่อรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ตามมาตรา ๓๑๓/๑๔ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความในหมวดนี้ย่อมสิ้นสุดลง"
       
       ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       
       .............................................
       นายกรัฐมนตรี


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=976
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 21:58 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)