|
|
ครั้งที่ 143 17 กันยายน 2549 21:46 น.
|
ครั้งที่ 143
สำหรับวันจันทร์ที่ 18 กันยายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม 2549
รัฐสวัสดิการ
แม้ผมจะได้เดินทางไปอยู่ต่างประเทศเกือบ 3 สัปดาห์ แต่เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยก็สามารถ ต่อ เหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงที่ไม่อยู่ในประเทศไทยติดได้อย่างไม่ลำบากนัก เพราะจนถึงวันนี้เราก็ยังไม่มี เรื่องใหม่ เกิดขึ้นที่จะทำให้บรรยากาศทางการเมืองคลี่คลายไปในทางดีขึ้น แถมกรณี คาร์บอมบ์ ก็ยังสร้างความแตกแยกให้กับสังคมอีกเล็กน้อยเพราะผู้คนยังคงสงสัยกันอยู่ว่าสรุปแล้วจริงหรือปลอมกันแน่!
สัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวใดน่ายินดีไปกว่าการที่วุฒิสภาสามารถเลือกกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คนได้เรียบร้อยแล้ว แม้ภายหลังการลงมติของวุฒิสภาจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกิดการ บล็อกโหวต เช่นเดียวกับทุก ๆ ครั้ง แต่ในครั้งนี้ก็คงต้องยอมรับกันอย่างจริงใจว่า ทั้ง 10 คนที่ศาลฎีกาส่งชื่อมาให้วุฒิสภาเลือกนั้นเป็น 10 คนที่มีความเหมาะสมที่สุดในขณะนี้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามใน 10 คน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรทั้งนั้นเพราะผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีจากศาลฎีกาแล้ว ใครที่ยังพยายามวิพากษ์วิจารณ์อยู่ก็น่าจะหยุดและอยู่ในความสงบได้แล้วครับ
หันมามองดูบรรยากาศของการหาเสียงเลือกตั้ง รายวัน ระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ 2-3 พรรคกันดีกว่า สองเรื่องหลักที่ถูกนำมาเสนอในการหาเสียงเลือกตั้งคือ การปฏิรูปการเมือง กับสิ่งที่เราเรียกกันว่า ประชานิยม ครับ ในเรื่องการปฏิรูปการเมืองนั้นเราคงไม่ต้องพูดถึงเพราะผมเคยพูดมาหลายครั้งแล้ว คงต้องรอให้พรรคการเมืองทั้งหลายนำเสนอประเด็นให้ชัดเจนกว่านี้ก่อนจึงค่อยนำมาพูดกันใหม่ ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมคิดว่าเราน่าจะทำความเข้าใจให้ชัดเจนกับสิ่งที่เราเรียกกันว่า ประชานิยม จะดีกว่าครับเพราะวันนี้แทบจะเรียกได้ว่าทุกพรรคการเมืองต่างก็พยายามนำเสนอแนวคิดนี้ ในการทำความเข้าใจกับ ประชานิยม ของไทยนั้น ผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจในแนวคิด 2 แนวคิดควบคู่กันไปด้วยเพราะเป็นเรื่องที่มีความ ใกล้ชิด กับประชานิยม นั่นก็คือแนวคิด สังคมนิยม และแนวคิด รัฐสวัสดิการ ครับ
สังคมนิยม (socialism) เป็นคำที่ออกจะ น่ากลัว อยู่บ้างโดยเฉพาะในอดีตที่มีการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ในตำราหลาย ๆ เล่มต่างก็ยอมรับถึงความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกันระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิสังคมนิยมว่า สังคมนิยมนั้นก็คือคอมมิวนิสต์ อย่างอ่อน นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม คอมมิวนิสต์และสังคมนิยมก็มีความแตกต่างกันอยู่มากในหลายเรื่อง โดยระบบคอมมิวนิสต์นั้นเป็นระบบที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียว รัฐควบคุมการค้าและอุตสาหกรรมทั้งหมด ไม่มีใครเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ทุกอย่างเป็นของรัฐ พลเมืองทุกคนทำงานในที่ดินของรัฐและเมื่อมีผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการทำงานก็ต้องแบ่งกัน ในขณะที่ระบบสังคมนิยมนั้นอาจมีหลายพรรคการเมือง ประชาชนมีทรัพย์สินและที่ดินได้บ้างตามจำนวนที่รัฐกำหนดไว้ รัฐจะเข้ามาแทรกแซงทางเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมของผู้ด้อยโอกาส โดยรัฐจะเข้าไปเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตขนาดใหญ่แต่ก็ให้เสรีภาพกับเอกชนในการประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เป้าหมายของรัฐส่วนหนึ่งก็คือมุ่งกระจายรายได้ให้เป็นธรรมในขณะเดียวกันก็มีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อนำมาใช้ในการจัดสวัสดิการหลายๆ รูปแบบให้กับประชาชน
ผมคงไม่ขออธิบายอะไรมากมายนักเกี่ยวกับลัทธิสังคมนิยมเพราะจะทำให้บทบรรณาธิการนี้ยาวเกินไป เพียงแค่อยากจะบอกว่าในปัจจุบันมีหลาย ๆ ประเทศที่นำเอาระบบสังคมนิยมไปใช้ในการปกครองประเทศ และก็มีหลาย ๆ ประเทศอีกเช่นกันที่มีการตั้งพรรคสังคมนิยมเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในประเทศ ส่วนในประเทศไทยเรานั้น พันเอกสมคิด ศรีสังคม อดีตนักเรียนเก่าอังกฤษผู้ซึมซับนโยบายของพรรคแรงงานของอังกฤษได้ตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ.2518 และในการเลือกตั้งในปีเดียวกันนั้น พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยก็สามารถนำลูกพรรคเข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 15 คน แต่อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยนั้นมีปัญหาตลอดเพราะถูก ตราหน้า ว่าเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้ไม่ได้รับความนิยมและความสนใจจากประชาชนเพราะนับแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เป็นต้นมา ประเทศไทยตกอยู่ในยุคต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ การนำเอาพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยของพันเอกสมคิดฯ ไปผูกกับข้อหา คอมมิวนิสต์ ทำให้ในที่สุด พรรคดังกล่าวก็ต้องหยุดดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่วัตถุประสงค์ของพรรคหรือนโยบายของพรรคนั้นต้องการตั้งขึ้นเพื่อ ดูแลคนจน ครับ
รัฐสวัสดิการ เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่น้อย แนวคิดของรัฐสวัสดิการ (welfare state) นั้นมีพื้นฐานมาจาก ภารกิจ ของรัฐเป็นหลัก โดยถือว่าการจัดสวัสดิการโดยรัฐเป็นหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น รัฐสวัสดิการจึงหมายความถึงรัฐที่มีนโยบายในการจัดโครงการหรือการให้บริการทางสังคมกับประชาชน โดยรัฐจะเข้าไปดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย รัฐสวัสดิการนี้ถือเป็นการสร้างระบบความมั่นคงทางสังคม (social security) ให้กับประชาชนของรัฐ
สำหรับความเชื่อมโยงระหว่างรัฐสวัสดิการกับลัทธิสังคมนิยมนั้น นักเศรษฐศาสตร์ดัง ๆ ของโลกหลายคนมองว่า รัฐสวัสดิการเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามแนวความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (democratic socialist) ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดของปราชญ์ชาวฝรั่งเศส Jean Jacques Rousseau ในเรื่องสัญญาประชาคม (social contract) อันโด่งดัง ด้วยเหตุนี้เองที่มีนักวิชาการยุโรปกลุ่มหนึ่งมองว่า แนวความคิดของ Rousseau เป็นรากฐานสำคัญของระบบสังคมนิยมครับ
รัฐสวัสดิการซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อสนองความต้องการและความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในลักษณะเท่าเทียมกันนั้นมีความแตกต่างจากการให้บริการของรัฐในรูปแบบของ สังคมสงเคราะห์ เพราะว่าการสังคมสงเคราะห์มุ่งเน้นที่จะให้ความช่วยเหลือกับประชาชนในลักษณะให้เปล่า ในขณะที่รัฐสวัสดิการมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือกับประชาชนในลักษณะ ฝึก ให้ประชาชนสามารถทำงานและยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง เช่น ช่วยคนพิการให้มีโอกาสทำงานได้ เป็นต้น และนอกจากนี้ รัฐสวัสดิการก็ยังแตกต่างจากระบบคอมมิวนิสต์เพราะในระบบคอมมิวนิสต์นั้นเป็นระบบที่ไม่มีใครมีทรัพย์สิน ทุกอย่างเป็นของรัฐหมด เมื่อทำงานได้ก็ต้องแบ่งผลผลิต ในขณะที่ในรัฐสวัสดิการนั้น ประชาชนยังคงมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แต่สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตนั้นรัฐจะเป็นผู้จัดหาให้ แม้คนที่ว่างงานรัฐก็จะจัดเงินให้พออยู่ได้ เป็นต้น
หลาย ๆ คนอาจคิดว่า ในรัฐสวัสดิการนั้น หากรัฐจัด สวัสดิการ ให้กับประชาชนมากขนาดนี้รัฐจะเอาเงินมาจากไหน คำตอบคงอยู่ที่ในรัฐสวัสดิการนั้น รัฐจะเก็บภาษีเพื่อหาเงินมาใช้ในการจัดสวัสดิการ โดยรัฐต้องจัดระบบภาษีใหม่ที่เก็บภาษีจากคนรวย เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินในส่วนที่เกินจากความจำเป็น แม้กระทั่งภาษีจากการขายหุ้น เพื่อนำเงินนั้นมาใช้ในการจัดสวัสดิการที่เราเรียกกันว่าสวัสดิการสังคม
สวัสดิการสังคมนั้น รัฐจะเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณในการจัดทำบริการที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งโดยทั่วไปนั้นประชาชนมีความต้องการอยู่สองอย่างก็คือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความต้องการในสิ่งที่เรียกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ สวัสดิการสังคมของรัฐสวัสดิการส่วนใหญ่จึงได้แก่ การศึกษา เคหสถาน การประกันสังคม การสงเคราะห์ประชาชนด้วยการให้เงิน สิ่งของหรือการฝึกอาชีพ การสาธารณสุข การมีงานทำ การรับเลี้ยงเด็ก การดูแลผู้สูงอายุ หรือสถานพักฟื้นสำหรับผู้ป่วย เป็นต้น
ในประเทศไทยเรานั้น เรานำนโยบายเรื่องสวัสดิการสังคมมาใช้เป็นเวลานานแล้วเพียงแต่ไม่เต็มรูปแบบ เรามี แผนพัฒนางานสวัสดิการสังคมและสังคมแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบันนี้เราอยู่ในช่วงของแผนที่ 4 (พ.ศ.2545-2549) ส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เราก็มีการพูดถึงสวัสดิการสังคมอยู่ในหลายมาตรา เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตามมาตรา 43 การรับบริการทางสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามมาตรา 52 การให้ความช่วยเหลือจากรัฐแก่บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพตามมาตรา 54 หรือการกำหนดให้รัฐต้องสงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาสตามมาตรา 80 เป็นต้น
ส่วนประชานิยม (populism) นั้น ถือได้ว่าเป็นคำใหม่ที่เรานำมาใช้กับกระบวนการดำเนินงานทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ชอบแจก แจก และแจก ครับ! ประชานิยมเป็นอุดมการณ์และแนวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในโลกเรามานานแล้วโดยประชานิยมเป็นนโยบายที่รัฐบาลหรือพรรคการเมืองสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนประชาชนคนยากจนเพื่อมุ่งหวังที่จะให้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลนั้นได้รับความนิยมจากประชาชนโดยไม่จำเป็นต้องมีความสมเหตุสมผลทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ และนอกจากนี้ การนำนโยบายประชานิยมมาใช้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเล็งเห็นผลว่าจะเกิดสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ เพราะผลสำเร็จของการใช้นโยบายประชานิยมนั้นจะตกอยู่ที่รัฐบาล ผู้นำประเทศและพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของนโยบายประชานิยม ไม่ได้ตกอยู่กับประเทศชาติครับ! ส่วนประชาชนนั้น ผลที่เกิดจากการใช้นโยบายประชานิยมจะทำให้ภาคประชาชนอ่อนแอลงและภาครัฐเข้มแข็ง เพราะประชาชนนั้นเป็นผู้รับแต่เพียงอย่างเดียว ในขณะที่ภาครัฐนั้นเป็นผู้ให้
รัฐบาลที่ผ่านมาได้นำเอานโยบายประชานิยมมาใช้หลายๆ โครงการ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร โครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย โครงการธนาคารประชาชน รวมไปถึงโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนการศึกษาด้วยครับ
มีผู้กล่าวว่า นโยบายประชานิยมซึ่งมีลักษณะเป็น สังคมสงเคราะห์ ประเภทหนึ่งนั้นทำให้ประชาชน ผู้รับ เกิดความ ขี้เกียจ เพราะผู้รับจะถือว่าตัวเองมีหน้าที่รับแต่เพียงอย่างเดียว จากนั้นก็คอยเป็น เสียง ให้กับผู้ให้โดยไม่คิดจะทำอย่างอื่นซึ่งก็รวมไปถึงไม่คิดจะทำงานเพื่อเลี้ยงตัวเองด้วย ไม่ทราบว่าที่เขาว่ากันเช่นนี้จริงหรือเปล่าครับ!!!
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การนำเอานโยบายประชานิยมมาใช้ในประเทศไทยโดยรัฐบาลที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นการเปิด ยุคใหม่ ของการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทั้งของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ คิดถึงประชาชน ผลของการใช้นโยบายประชานิยมในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาจึงทำให้ในปัจจุบันพรรคการเมืองทุกพรรคต่างก็พากันชูนโยบายประชานิยมเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งครับ
ผมคงไม่ ฟันธง ว่า ประเทศไทยเราควรจะนำระบบใดใน 3 ระบบที่กล่าวไปแล้วมาใช้ เพียงแต่อยากจะตั้งเป็นประเด็นไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ สังคมนิยม หรือประชานิยม ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เรา ต้อง คิดก็คือ การหาเงินมาเพื่อจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับประชาชน พรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายเหล่านี้จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในสองด้าน ด้านแรกก็คือประเภทของสวัสดิการที่พรรคการเมืองต้องการจะทำ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การช่วยเหลือคนว่างงาน การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้ทุพพลภาพ การช่วยเหลือเด็กยากจน นโยบายเหล่านี้ต้องชัดเจนครับ ส่วนด้านที่สองที่จะต้องนำเสนออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การหาเงินมาจัดสวัสดิการซึ่งพรรคการเมืองก็จะต้องนำเสนอนโยบายในการหาเงินมาใช้ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นการเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดก ภาษีที่ดินส่วนที่เกินความจำเป็น ภาษีเงินฝากธนาคาร ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งในด้านที่สองนี้เองที่ผมคิดว่าคงไม่มีพรรคการเมืองใดกล้านำเสนอเพราะกลัวเสียความนิยมจากประชาชน แต่ก็ต้องเข้าใจไว้อย่างหนึ่งว่า การนำเสนอนโยบายพรรคการเมืองเพียงด้านเดียวก็ต้องถือว่าพรรคการเมืองนั้น ไม่จริงใจ ต่อประชาชน เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีไปเสียทั้งหมดครับ! การมีสวัสดิการใหม่ ๆ ในประเทศได้ก็หมายความว่ารัฐต้องใช้เงินมากขึ้นซึ่งวิธีการหาเงินของรัฐก็คงหนีไม่พ้นการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นซึ่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาครับ และนอกจากนี้ ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า นโยบายประชานิยมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วกว่า 5 ปี ทำให้ประชาชน ติด และน่าจะ ขาดไม่ได้ ด้วยครับ และประกอบกับรัฐธรรมนูญหลาย ๆ มาตราก็มีบทบัญญัติด้านการสังคมสงเคราะห์ที่มีบางเรื่องยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ วันนี้จึงเป็นเวลาที่สมควรสำหรับพรรคการเมืองที่จะตัดสินใจว่าจะดำเนินการในด้านสวัสดิการสังคมทั้งหลายอย่างไรต่อไปให้สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นอยู่ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ถึงเวลาแล้วที่พรรคการเมืองคงต้องคิดให้รอบคอบและถี่ถ้วนว่าจะใช้นโยบาย ประชานิยม ต่อไป หรือจะสร้าง รัฐสวัสดิการ อย่างสมบูรณ์แบบขึ้นมา ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ตาม อย่าลืมนำเสนออีกด้านหนึ่งควบคู่ไปด้วยนะครับ คือ จะหาเงินมาใช้ในการจัดสวัสดิการสังคมด้วยวิธีใดครับ?
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอสองบทความ บทความแรกเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่คราวนี้เขียนเรื่อง นักกฎหมายมหาชนคือใคร มาร่วมกับเรา ซึ่งผมต้องขอขอบคุณคุณชำนาญฯ เป็นอย่างมากที่ส่งบทความมาร่วมกับเราอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่วนบทความที่สอง ผมขอนำเสนอบทความของผมที่ผมได้ติดค้างมานานเพราะเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทบรรณาธิการครั้งที่ 133 เรื่องรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเวเนซุเอลา (1) แต่เขียนยังไม่จบดี ผมจึงนำเอาสาระของบทบรรณาธิการครั้งที่ 133 มารวมกับสิ่งที่ทำต่อเป็นบทความเรื่อง รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเวเนซุเอลา ครับ นอกจากบทความทั้งสองแล้ว เราก็มีการแนะนำหนังสือใหม่อีกจำนวนหนึ่ง ลองเข้าไปดูในหนังสือตำราได้ครับ
หนังสือรวมบทบรรณาธิการจาก www.pub-law.net และหนังสือรวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 5 ที่เราทำการแจกให้กับผู้ใช้บริการใกล้จะหมดแล้ว ผู้ที่ต้องการขอหนังสือ ขอความกรุณาให้โทรศัพท์มาสอบถามก่อนที่หมายเลข 02-218-2017 ต่อ 213 ว่ายังมีหนังสืออยู่อีกหรือไม่นะครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2549 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=965
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:20 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|