สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี

3 กันยายน 2549 22:14 น.

       หนึ่งในหลักสำคัญที่สหภาพยุโรปให้การรับรองไว้ทั้งในสนธิสัญญานีซ ( Traité de Nice ) และในกฎบัตรสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งสหภาพยุโรป (La Charte des droits fondamonteaux de l’Union européenne) คือหลักว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ ( Le principe de non discrimination) มาตรา 13 ของสนธิสัญญานีซให้อำนาจแก่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (The Council of the EU) ในการใช้มาตราการที่จำเป็นเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ขึ้นอยู่กับสีผิวหรือเชื้อชาติ ความพิการ อายุ เพศ ศาสนาและความเชื่อ ส่วนมาตรา 21 ของกฎบัตรสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งสหภาพยุโรปครอบคลุมไปถึงการแบ่งแยกที่มีที่มาจากภาษาและความคิดเห็นทางการเมือง นอกจากนี้หลักว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติยังปรากฏอยู่ใน มาตรา 1 ของระเบียบสหภาพยุโรปว่าด้วยการสร้างหลักเกณฑ์ทั่วไปเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเสมอภาคในการทำงาน (Directive 2000/78/CE du Conseil du 27 novembre 2000 portant création d'un cadre général en faveur de l'égalité de traitement en matière d'emploi et de travail)
       
       แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไอร์แลนด์ได้ลงประกาศรับสมัครงานทางอินเตอร์เนต โดยระบุว่าผู้สูบบุหรี่ไม่สามารถยื่นใบสมัครได้ « Smokers need not apply » ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทั่วไปในประเทศไอร์แลนด์ เพราะไอร์แลนด์เป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่ทำงาน บาร์ รวมถึงร้านอาหาร และสถานที่สาธารณะอื่นๆ มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2004 และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
       
       การกลับไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อนาง Catherine Stihler สมาชิกสภายุโรปจากพรรคแรงงานของอังกฤษได้พบโฆษณาดังกล่าว และภายหลังจากที่รัฐบาลไอร์แลนด์ได้ตัดสินว่าโฆษณาที่ว่าไม่ขัดกับข้อกฎหมายของประเทศ นาง Catherine Stihler จึงตั้งคำถามไปยังคณะกรรมาธิการยุโรป (The European Commission) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2549 เพื่อขอทราบว่า หากนายจ้างในยุโรปปฏิเสธที่จะจ้างผู้ที่สูบบุหรี่เข้าทำงานถือเป็นการเลือกปฏิบัติแบบหนึ่งหรือไม่ และการกระทำนั้นผิดต่อหลักว่าด้วยการต่อต้านการเลือกปฏิบัติของยุโรปหรือไม่
       
       นาย Vladimir Spidla กรรมาธิการยุโรปด้านแรงงานและสังคมได้ให้คำตอบว่า ประกาศรับสมัครงานดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายของสหภาพยุโรป เพราะกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกของสหภาพยุโรปที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อสีผิวหรือเชื้อชาติ ความพิการ อายุ เพศ ศาสนาและความเชื่อเท่านั้น มิได้มีมาตราใดที่ครอบคลุมไปถึงกรณีการว่าจ้างงานและเรื่องอื่นๆ ดังนั้นบริษัทที่ห้ามไม่ให้ผู้สูบบุหรี่สมัครงานจึงไม่ถือว่าปฏิบัติขัดกับข้อห้ามใดๆ ของสหภาพยุโรป
       
       หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นว่ากรรมาธิการยุโรปด้านแรงงานและสังคมตีความตามตัวอักษรมากเกินไป แม้แต่สมาคมที่รณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ยังไม่เห็นด้วยกับการตีความของนาย Vladimir Spidla เพราะเห็นว่าเพียงการห้ามสูบบุหรี่ในที่ทำงานก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่หากถึงขั้นอนุญาตให้บริษัทปฏิเสธไม่รับคนสูบบุหรี่เข้าทำงานดูออกจะเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุเนื่องจากเป็นการก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวและสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนที่มีสิทธิเลือกว่าจะสูบบุหรี่หรือไม่จนเกินไป
       
       ภายหลังคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกมาชี้แจงว่าการที่สหภาพยุโรปมีหลักต่อต้านการแบ่งแยกแต่ไม่มีกฎหมายของสหภาพยุโรปฉบับใดที่พูดถึงเรื่องการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่มิได้หมายความการเลือกปฏิบัติที่กระทำต่อผู้สูบบุหรี่จะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะสิ่งสำคัญคือทุกคนควรจะได้รับเลือกเข้าทำงานตามความสามารถและคุณสมบัติที่มี และไม่ควรที่จะถูกยกเว้นไม่ได้รับการว่าจ้างด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม โดยไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถให้ปรากฏ คณะกรรมาธิการยุโรปไม่เคยบอกว่าการปฎิเสธที่จะจ้างผู้สูบบุหรี่ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ หากบอกแต่เพียงว่าการกระทำดังกล่าวไม่ขัดต่อหลักต่อต้านการแบ่งแยกที่กฎหมายของสหภาพยุโรปได้ให้คำจำกัดความไว้ในปัจจุบัน และย้ำว่าจากกรณีดังกล่าวคณะกรรมาธิการไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อผู้สูบบุหรี่ แม้ว่าสหภาพยุโรปจะมีนโยบายส่งเสริมให้ที่ทำงานเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และทำโครงการรณรงค์เพื่อชีวิตที่ปลอดบุหรี่ (HELP – Pour la vie sans tabac) ก็ตาม เมื่อเป็นดังนี้ จึงเป็นอำนาจของประเทศสมาชิกที่จะออกกฎหมายเพื่อลบช่องว่างที่มีให้หมดไป
       
       ในส่วนของประเทศฝรั่งเศส ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้สูบบุหรี่ในการรับเข้าทำงานคงไม่เกิดขึ้น เพราะมาตรา L 122-45 ประมวลกฎหมายแรงงาน ห้ามมิให้เลือกปฏิบัติหรือตัดบุคคลหนึ่งบุคคลใดออกจากกระบวนการรับสมัครงาน, การขอเข้ารับการฝึกงาน, การกำหนดอัตราเงินเดือน และการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ ศาสนา ความเชื่อ นามสกุล สถานภาพทางสังคม การตั้งครรภ์ สุขภาพ ความพิการ ความคิดเห็นทางการเมือง และการเข้าร่วมสหพันธ์ต่างๆ โดยมีบทลงโทษคือ จำคุก 3ปี และปรับ 45 000 ยูโร นอกจากนี้กฎหมายยังห้ามมิให้นายจ้างถามคำถามที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่เปิดรับสมัครอีกด้วย
       
       กฎหมายอีกฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ La loi Evin หรือกฎหมายต่อต้านการสูบบุหรี่ ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคม 1991 กฎหมายฉบับนี้ห้ามมิให้สูบบุหรี่ในสถานที่ส่วนรวมในที่ทำงาน เช่น ห้องประชุม ห้องอาหารของสำนักงาน และห้องพยาบาลของบริษัท อย่างไรก็ตามบริษัทสามารถสร้างเขตสูบบุหรี่ให้แก่พนักงานได้ แต่จะต้องมีระบบระบายอากาศที่ดี กฎหมายฉบับนี้ยังห้ามการสูบบุหรี่ในสถานีรถไฟ สถานีรถไฟใต้ดิน บนรถประจำทางและบนรถไฟใต้ดิน (สำหรับรถไฟ แต่เดิมการรถไฟแห่งฝรั่งเศสได้จัดที่นั่งแยกเป็นเขตสูบบุหรี่และเขตไม่สูบบุหรี่ มีเพียงรถไฟความเร็วสูง (TGV) เท่านั้นที่เป็นรถไฟปลอดบุหรี่มาตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2004 แต่ตั้งแต่สิ้นปี 2005 เป็นต้นมา รถไฟทุกขบวนของประเทศฝรั่งเศสเป็นรถไฟปลอดบุหรี่)
       
       La loi Evin ยังห้ามมิให้ทำการโฆษณาขายบุหรี่ทางสื่อต่างๆ หากการถ่ายทอดสดกีฬาประเภทใดมีบริษัทบุหรี่เป็นผู้ให้การสนับสนุน สถานีโทรทัศน์จะต้องทำการเซนเซอร์ไม่ให้ประชาชนเห็นสินค้าดังกล่าว นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตยังต้องระบุปริมาณนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ให้ผู้ซื้อได้รับทราบบนซองบุหรี่ และเขียนชี้แจงบนซองด้วยตัวอักษรที่สามารถเห็นได้ชัดเจนว่าการสูบบุหรี่มีอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร เช่น Fumer Tue หรือ Fumer peut entraîner une morte lente et douloureuse (การสูบบุหรี่ทำให้ตายผ่อนส่งอย่างทรมาน) และห้ามจำหน่ายบุหรี่ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี
       
       ขณะนี้คณะกรรมาธิการรัฐสภาชุดหนึ่งได้รับมอบหมายให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขรัฐบัญญัติ Evin เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะทุกที่ ไม่เฉพาะแต่ในที่ทำงานและสถานีรถไฟหรือรถไฟใต้ดิน โดยจะต้องนำเสนอรายงานในปลายเดือนกันยายน
       
       แต่เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมานาย Xavier BERTRAND รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของฝรั่งเศส ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Le Figaro โดยไม่รอผลของคณะกรรมธิการรัฐสภาว่ารัฐบาลจะห้ามมิให้มีการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะโดยไม่มีข้อยกเว้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2007 เป็นต้นไป โดยจะประกาศผ่านรัฐกฤษฎีกาเพื่อความรวดเร็วและหลีกเลี่ยงมิให้นักการเมืองนำหัวข้อดังกล่าวไปเป็นหนึ่งในนโยบายที่จะใช้หาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะมีขึ้นในปีหน้า
       
       อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในบ่ายวันเดียวกันว่า ทุกอย่างยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น และรัฐบาลยังไม่พร้อมที่จะบังคับใช้มาตรการตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวไว้แต่อย่างใด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะนายกรัฐมนตรีเกรงว่าจะมีการล็อบบี้และการประท้วงของผู้จำหน่ายบุหรี่และผู้ประกอบการร้านอาหารซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้โดยตรง
       
       อนึ่งหน่วยงานแรกที่ประกาศว่าจะไม่มีการรับผู้สูบบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ เข้าทำงานคือ องค์การอนามัยโลก ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 2005 เป็นต้นมา เหตุผลหลักที่องค์การอนามัยโลกอ้างถึงคือเพื่อความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ดำเนินการต่อต้านการสูบบุหรี่และรณรงค์เรื่องเขตปลอดบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=961
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 15:36 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)