ครั้งที่ 79

15 ธันวาคม 2547 13:55 น.

       "สังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ฝรั่งเศส"
       สองสัปดาห์ที่ผ่านมาในฝรั่งเศสมีเรื่องต่างๆเกิดขึ้นไม่มาก ที่เป็นข่าวใหญ่ที่พูดกันไปทั่ว ทุกวงการ ก็คือข่าวการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกตั้งสมาชิกสภา ภาค (Conseil régional) ที่มีขึ้นไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาครับ
       ผมคงไม่เล่าถึงระบบการปกครองท้องถิ่นของฝรั่งเศส ณ ที่นี้ ผู้ที่สนใจอยากทราบลอง เข้าไปอ่านดูใน ebook เล่มการปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศสดูก็แล้วกันครับ ผมคงเล่าถึงเฉพาะ กระบวนการการเลือกตั้งที่ผมมีโอกาสได้ไปสัมผัสมาครับ
       อย่างแรกที่ต้องเล่าให้ฟังก็คือ ถ้าเราไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ฟังวิทยุ ไม่ดูโทรทัศน์ และไม่มีเพื่อนที่เป็นชาวฝรั่งเศส เราก็จะไม่มีทางทราบได้เลยว่าที่นี่เขากำลังจะมีการเลือกตั้งกัน ทำไมหรือครับ เพราะบ้านเมืองสะอาดไม่มีการติดป้ายหาเสียงให้สกปรกรกหูรกตาเลยครับ นี่เป็นสิ่งดีๆอีกสิ่งหนึ่งที่บ้านเราควรคิด เพราะการกำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียงไว้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะ นอกจากจะทำให้เกิดความเสมอภาคในระหว่างผู้สมัครทุกคนแล้ว ยังไม่ทำให้เกิด มลภาวะทางสายตาด้วยครับ !!
       การเลือกตั้งสมาชิกสภาภาคของฝรั่งเศสที่ผ่านมามีสองรอบ รอบแรกคือเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม และรอบที่สองคือวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคมครับ เหตุที่ต้องมีการเลือกตั้งสองรอบ ก็เพราะในรอบแรก หากไม่มีผู้ใดได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะเลือกใหม่อีกรอบ ตัดพวกคะแนนต่ำ ออกไป ในทางปฎิบัติมีการรวมพรรคเข้าด้วยกัน รอบสองก็จะเหลือไม่กี่คนครับ ระบบเลือกตั้ง สองรอบมีรายละเอียดมากกว่านี้และน่าสนใจมาก มีโอกาสผมจะเขียนบทความเล่าให้ฟังครับ
       ผมมีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์การออกเสียงเลือกตั้งและนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งทั้ง สองรอบครับ โดยผมติดตามครอบครัวของเพื่อนผมที่ไปออกเสียงเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ 205 ของเมือง Nantes ครับ หน่วยเลือกตั้งนี้เป็นหน่วยเลือกตั้งเล็กๆที่มีผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ถึง 1000 คนครับ ที่น่าสนใจก็คือ วิธีการออกเสียงเลือกตั้งที่แตกต่างจากของเรา โดยผู้ที่จะมีสิทธิ ออกเสียงเลือกตั้งได้จะต้อง "ลงทะเบียน" ไว้ล่วงหน้าตอนปลายปีว่า หากมีการเลือกตั้งใน ปีถัดไป ตนจะขอไปใช้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ลงทะเบียนแล้วก็จะมีบัตรเลือกตั้ง (carte électorale) ผู้มีบัตรเลือกตั้งเท่านั้นที่จะเป็นผู้มีสิทธิไปออกเสียงเลือกตั้งได้ในปีนั้น ทั้งการ เลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นครับ ส่วนกระบวนการไปออกเสียงเลือกตั้ง ก็คล้ายๆกับที่ บ้านเราบ้างบางส่วน ไปเข้าแถวรับบัตร แต่บัตรที่นี่ไม่เหมือนเราครับ เขาทำเป็น "ใบปลิว" คือในการเลือกตั้งสมาชิกสภาภาค ซึ่งส่วนใหญ่จะมีจำนวน 70-100 คน ผู้สมัครแต่ละคน (ซึ่งส่วนใหญ่เช่นกันก็จะเป็นพรรคการเมืองแต่ละพรรคเป็นผู้ส่ง) ก็จะใส่ชื่อหัวหน้าทีมเอาไว้ แล้วก็จะมีรายชื่อลูกทีมทั้งหลายอยู่ในบัญชีรายชื่อเรียงเป็นแถวลงมา เวลาเลือกก็เลือกเฉพาะ หัวหน้าทีมครับ ในการเลือกตั้งผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จะได้รับซองคนละ1ซอง และใบปลิว ของผู้สมัครเหล่านี้ ซึ่งในรอบแรกก็มีหลายใบเพราะมีผู้สมัครหลายคนครับ รับซองและใบปลิว แล้วก็จะเข้าไปในคูหาซึ่งเป็นโครงเหล็กเล็กๆมีผ้าปิด จากนั้นก็เอาใบปลิวของบุคคลหรือพรรค ที่ตนเองสนใจใส่ลงในซองแล้วก็นำซองไปหย่อนลงในกล่องใสๆ โดยก่อนหน้าหย่อนซองเลือก ตั้ง ก็จะต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัตรเลือกตั้ง พร้อมกับลงชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง เลือกตั้งด้วยครับ กระบวนการที่ผ่านมาไม่เคร่งครัดมากนัก เพราะผมเองก็สามารถอยู่ร่วมด้วยได้ ผมเข้าคิวกับเขาด้วย ผมสามารถเข้าไปดูเพื่อนผมพับใบปลิวใส่ซองในคูหาเลือกตั้งได้ด้วยครับ พอจบกระบวนการเลือกตั้งก็เป็นการนับคะแนนเลือกตั้งในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง โดยจะมีผู้อาสา สมัครส่วนหนึ่งมาช่วยนับคะแนน ผู้อาสาสมัครเหล่านี้ก็คือประชาชนผู้สนใจครับ การนับคะแนน เสียงก็ทำกันแบบพื้นๆ มีคนคนหนึ่งดึงใบปลิวออกมาจากซองส่งให้ คนที่สองขานชื่อหัวหน้าทีม คนที่3 และ 4ก็จะจดไว้ในกระดาษของตน พอเปิดซองครบ100ซอง คนที่ 5 ก็จะมาตรวจดู คะแนนจากคนที่ 3 และ 4ว่าคะแนนตรงกันไหม จากนั้นคนที่ 5 ก็จะเขียนบนกระดานให้ผู้เข้า ร่วมในการนับคะแนนทราบว่า ผู้สมัครรายใดได้คะแนนเท่าไหร่ ซองไหนไม่มีใบปลิวอยู่ในซอง ก็ถือว่าเป็นผู้ไม่ประสงค์จะออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนซองไหนมีใบปลิวมากกว่า 1 ใบ ก็จะถือว่าเป็น บัตรเสียครับ อ้อ ! ลืมเล่าให้ฟังไปว่า ในการนับคะแนนที่ผมไปร่วมสังเกตการณ์ด้วยทั้งสองครั้ง ก็มีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง เช่นนับผิด รวมคะแนนผิดครับแต่ก็สามารถแก้ปัญหากันได้ตรงนั้นทุกทีครับ
       ผู้ที่สนใจข่าวการเมืองต่างประเทศ คงทราบผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาภาคของฝรั่งเศส ไปแล้วว่า พรรคสังคมนิยมเป็นฝ่ายมีชัยในการเลือกตั้ง และเป็นการมีชัยแบบถล่มทลาย คือ จาก จำนวนภาคทั้งหมด 22 ภาคที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส (ไม่รวมอีก 4 ภาคที่เป็นดินแดนที่อยู่นอก ประเทศฝรั่งเศส) พรรคสังคมนิยมชนะการเลือกตั้งถึง 21 ภาค ส่วนพรรคฝ่ายขวาที่เป็นพรรค รัฐบาลในปัจจุบัน ชนะการเลือกตั้งเพียงภาคเดียว ครับ ! ขอบอกไว้เป็นข้อมูลว่า เมื่อปี ค.ศ. 1998 มีการเลือกตั้ง สภาภาคซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าครั้งนี้ ในครั้งนั้น พรรคสังคมนิยม ชนะการเลือกตั้งเพียง 8 ภาคเองครับ เหตุที่ทำให้พรรคสังคมกลับมาเป็นพรรคการเมืองที่ "ยึด" สภาภาคได้เกือบทั้งประเทศ ก็คงมีเหตุเดียวก็คือ ประชาชนชาวฝรั่งเศสต้องการปฏิเสธ รัฐบาลของตนที่บริหารงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ก็เลยลงโทษ รัฐบาลด้วยการเลือก "พรรคฝ่ายค้าน" เข้ามาเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น
       เรื่องมันยุ่งก็ตรงที่ในประเทศฝรั่งเศส สมาชิกสภาท้องถิ่นสามารถดำรงตำแหน่งควบคู่ ไปกับการดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ ดังนั้นจึงมีรัฐมนตรีหลายคนที่เป็นสมาชิก สภาภาคควบคู่ไปด้วยต้องสอบตกครับ แม้กระทั่งคนของนายกรัฐมนตรีเองที่คุมเสียงข้างมาก ในสภาภาคที่เป็นฐานเสียงของนายกรัฐมนตรีก็ยังแพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้ รวมทั้งอดีต ประธานาธิบดี Giscard d'Esteing ที่เป็น ประธานสภาภาคแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของฝรั่งเศสและ เป็นฝ่ายขวา ก็พลอย "สอบตก" ไปด้วยในการเลือกตั้งครั้งนี้ วันรุ่งขึ้นหลังการทราบผลการ เลือกตั้งสมาชิกสภาภาค จึงมีเสียงเรียกร้องให้ประธานาธิบดี ซึ่งเป็น "ฝ่ายขวา" เปลี่ยนนายก รัฐมนตรี ซึ่งเป็น "ฝ่ายขวา" เช่นกันและเป็น "คนโปรด" ของประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง รวมทั้งเปลี่ยนรัฐมนตรีอีกหลายๆคนในรัฐบาลด้วยครับ ประเด็นดังกล่าวก็มีทั้งผู้ไม่เห็นด้วย และเห็นด้วย ผู้ไม่เห็นด้วยก็บอกว่า สภาท้องถิ่นกับรัฐบาลเป็น "คนละเรื่อง"กัน เพราะสภาผู้ แทนราษฎรมีวาระอยู่จนถึงปี 2007 ยังไงก็ต้องอยู่กันให้ครบเทอม และพรรคฝ่ายขวาก็ยังคง ต้องเป็นรัฐบาลอยู่เพราะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนผู้เห็นด้วย ก็บอกว่า เกือบทั้งประเทศเป็นสังคมนิยมไปหมดแล้ว รัฐบาลจะอยู่ได้อย่างไร จะทำงานร่วมกันกับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างไรในเมื่อนโยบายทางการเมืองเป็นคนละ แนวทางกัน แต่ในที่สุด ประธานาธิบดีก็ตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรีโดยไม่เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีซึ่ง สวนทางกับ ความประสงค์ของประชาชน ก็คงต้องดูกันต่อไปนะครับว่าจะเป็นอย่างไรกันต่อไป ประธานาธิบดี เป็นผู้ตัดสินใจครับ !
       เรื่องที่เล่าให้ฟังไปนี้เป็น "เรื่องดี" เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในการปกครองระบอบประชาธิป ไตยนะครับ รัฐบาลทำงานไม่ดี ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ปัญหาต่างๆก็แก้ไม่ ตกสักที ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนว่างงาน การประท้วงต่างๆ การปรับปรุงระบบประกันสุขภาพ และ การเกษียณอายุที่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ฯลฯ ประชาชนก็เลยถือโอกาสเอาการ เลือกตั้งระดับท้องถิ่นเป็นการออกเสียงประชามติครึ่งเทอม (mid term référendum) ของการทำงานของรัฐบาลครับ รุนแรงยิ่งกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจมากครับ
       เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ผมอ่านข่าวเล็กๆข่าวหนึ่งในหนังสือพิมพ์ Le monde ของฝรั่งเศส เห็นว่าน่าสนใจก็เลยจะหยิบยกมากล่าวไว้สั้นๆ ณ ที่นี้เผื่อ "นักกฎหมายเอกชน" หรือผู้ที่สนใจจะไปค้นคว้าต่อไปครับ ข่าวเล่าว่า วุฒิสภาอเมริกันได้ให้ความเห็นชอบในร่าง กฎหมายที่ให้ "สภาพบุคคล" แก่ "ทารกในครรภ์มารดา" ด้วยคะแนนเสียง 35 ต่อ 26 เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมานี้เองครับ ร่างกฎหมายนี้มีสาระสำคัญก็คือ ในกรณีที่มีการทำร้าย ร่างกายมารดาที่ตั้งครรภ์ ผู้ทำร้ายจะถูกพิจารณาคดีถึง 2ข้อหาด้วยกันคือ ทำร้ายร่างกายมารดา และ ทำร้ายร่างกายเด็กในครรภ์ด้วย ร่างกฎหมายได้ให้ความสำคัญกับสถานะของ "ผู้ที่กำลังจะมาเกิด" ไว้อย่างมาก มีการให้คำจำกัดความของเด็กที่ยังไม่เกิดไว้ด้วยว่า คืออะไร ครับ ผู้สนใจลองไปค้นคว้า เพิ่มเติมดูนะครับ
       ผมยังอยู่ที่เมือง Nantes ประเทศฝรั่งเศสต่อไปจนถึงกลางเดือนเมษายนครับ อากาศก็ ยังหนาวอยู่แม้จะเข้าฤดูใบไม้ผลิไปหลายวันแล้วก็ตามครับ ผมทำการบรรยายเสร็จครบหมดแล้ว ตอนนี้ก็ใช้เวลาที่มีอยู่ค้นหาเอกสารที่น่าสนใจในห้องสมุด แล้วก็เขียนงานที่ค้างอยู่ และที่ผมได้ หอบเอามาจากเมืองไทยด้วยครับ
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความดีๆเช่นเคยอีก 2บทความครับ บทความแรกเป็นของ ศาสตราจารย์ ดร. สุจิต บุญบงการ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง "กฎหมายพรรคการเมือง : โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง" กับบทความที่สอง คือบทความ เรื่อง "อนาคตของพรรคการเมืองในประเทศไทย" โดย ดร. เชาวนะ ไตรมาส ผู้อำนวยการสถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญครับ ก็ต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองท่านที่ได้กรุณามอบบทความให้กับเราครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=96
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:48 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)