|
|
การกระทำของรัฐบาลกับการออกพระราชกำหนด โดย นาวาอากาศตรีพงศธร สัตย์เจริญ 20 สิงหาคม 2549 22:02 น.
|
คำนิยาม
การกระทำของรัฐบาล (acte de gouvernement) กฎหมายของประเทศต่าง ๆ ไม่ได้ให้คำนิยามว่าการกระทำของรัฐบาลคืออะไร และมีขอบเขตเพียงใด แต่ตามทฤษฎีว่าด้วยการกระทำของรัฐบาล หมายความถึงการกระทำบางอย่างของรัฐซึ่งรัฐไม่ต้องรับผิดและเอกชนไม่อาจนำไปฟ้องต่อศาลได้ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกับการกระทำในทางปกครอง
ปัญหา
ตามที่รัฐบาลประกาศใช้ "พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘" ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๕๘ ก ลง ๑๖ ก.ค.๔๘ มีผลใช้บังคับตั้งแต่ ๑๗ ก.ค.๔๘ ในการออกพระราชกำหนดซึ่งถือเป็นการกระทำของรัฐบาล (acte de gouvernement) ก่อให้เกิดผลในทางกฎหมาย คือ รัฐบาลไม่ต้องถูกควบคุมโดยศาลปกครอง ในการดำเนินการบางอย่างรัฐบาลไม่ต้องรับผิด และเอกชนไม่อาจจะนำไปฟ้องต่อศาลได้ แม้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายก็ตาม กล่าวคือ เอกชนจะฟ้องรัฐบาลว่าการกระทำนั้นนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ และขอให้เพิกถอนการกระทำนั้นไม่ได้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ศาลปฏิเสธที่จะเข้าไปควบคุมและยังไม่มีกลไกที่ให้การกระทำนี้ถูกตรวจสอบโดยองค์กรอื่นด้วย ย่อมจะนำไปสู่อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จในท้ายที่สุด
หลักการว่าด้วย "การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย"
๑. ความหมายของหลักการว่าด้วย"การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย" (1)
เราอาจเข้าใจหลักการว่าด้วย "การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย" ได้สองนัยด้วยกันคือ
นัยแรก หลักการว่าด้วย "การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย" หมายความว่าฝ่ายปกครองจะกระทำการใด ๆ ก็ได้ทั้งสิ้น เว้นแต่การอันกฎหมายห้ามมิให้กระทำ
นัยที่สอง หลักการว่าด้วย "การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย" หมายความว่า ฝ่ายปกครองจะกระทำการใด ๆ ที่อาจมีผลกระทบกระเทือน ต่อสิทธิ เสรีภาพหรือประโยชน์อันชอบธรรมของเอกชนคนใดคนหนึ่งได้ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจ และจะต้องกระทำการดังกล่าวภายในกรอบที่กฎหมายกำหนด
จะเห็นได้ว่า ความหมายของหลักการว่าด้วย "การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย" ตามนัยที่หนึ่งและตามนัยที่สองมีความแตกต่างกันมาก ตามนัยที่หนึ่ง ฝ่ายปกครองมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิ เสรีภาพ หรือประโยชน์อันชอบธรรมของเอกชนได้อย่างกว้างขวาง ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ฝ่ายปกครองกระทำการใดฝ่ายปกครองย่อมกระทำการนั้นได้เสมอ อำนาจของฝ่ายปกครองที่กระทำการต่าง ๆ จึงเป็นอำนาจทั่วไปหรือเป็นด้านหลัก ความไม่มีอำนาจกระทำการของฝ่ายปกครองเป็นเพียงข้อยกเว้นเท่านั้น
แต่ตามนัยที่สอง อำนาจของฝ่ายปกครองที่จะกระทำการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพ หรือประโยชน์อันชอบธรรมของเอกชนมีอยู่อย่างจำกัด กล่าวคือ มีอยู่เพียงเท่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เท่านั้น การใดที่กฎหมายมิได้บัญญัติอนุญาตให้กระทำ ฝ่ายปกครองจะกระทำการนั้นไม่ได้เลย
เมื่อหลักการว่าด้วย "การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย" มีความหมายได้ถึงสองนัยเช่นนี้ ปัญหาจึงมีว่า ความหมายใดเป็นความหมายที่ถูกต้อง
จากหลักกว้าง ๆ พอจะสรุปหลักความชอบด้วยกฎหมายสำหรับการกระทำของฝ่ายปกครองที่ต้องยึดถือ คือ
๑. ความชอบด้วยกฎหมายในฐานะขอบเขตของการกระทำทางปกครอง
ถ้าพิเคราะห์ในแง่นี้ บรรดากฎเกณฑ์แห่งกฎหมายทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ไม่ว่าจะมีศักดิ์สูงเพียงใดย่อมเป็นขอบเขตจำกัดมิให้ทั้งนิติกรรมทางปกครองและการกระทำทางกายภาพของฝ่ายปกครองเกินขอบเขตที่กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายทั้งหมดวางไว้
๒. ความชอบด้วยกฎหมายในฐานะที่เป็นรากฐานของการกระทำทางปกครอง
หลักข้อนี้ต่างจากข้อแรกตรงที่หลักข้อแรกห้ามฝ่ายปกครองทำนอกขอบเขตหรือขัดต่อกฎเกณฑ์แห่งกฎหมาย แต่หลักข้อนี้บังคับให้การทำนิติกรรมทางปกครองต้องได้รับมอบอำนาจมาจากกฎเกณฑ์แห่งกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าการที่ฝ่ายปกครองจะออกนิติกรรมทางปกครองจะต้องมีอำนาจ คือ ต้องเป็นบุคคลที่กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายระบุให้มีอำนาจ เรื่องที่จะมีอำนาจทำ สถานที่ตลอดจนเวลาที่มีอำนาจ
๓. ความชอบด้วยกฎหมายในฐานะกระบวนการที่ถูกต้อง
นิติกรรมทางปกครองก็ดี การกระทำทางกายภาพของฝ่ายปกครองก็ดีนอกจากต้องทำโดยมีอำนาจที่มอบมาจากกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายและต้องไม่เกินขอบเขตแห่งกฎหมายแล้ว ที่สำคัญที่สุดก็คือ ฝ่ายปกครองต้องเคารพกระบวนการ ขั้นตอน ที่กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายวางไว้
ถ้าเราได้วิเคราะห์จากที่กล่าวมาแล้วจะพบว่าความหมายของหลักการว่าด้วย "การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย" ตามนัยที่สองเป็นความหมายที่ถูกต้อง(2)
๒. ข้อยกเว้นของหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย
แม้จะมีหลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย แต่กฎหมายปกครอง
ของประเทศทั้งหลายก็มักมีข้อยกเว้นหลักดังกล่าวอยู่บ้าง ซึ่งอาจแยกพิจารณาเป็น ๒ กรณี(3) คือ
๒.๑ การกระทำของรัฐบาล (acte de gouvernement)
๒.๒ สถานการณ์สงครามหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน (circonstances exceptionnelles)
แต่ในที่นี้จะศึกษาเฉพาะกรณี การกระทำของรัฐบาล กรณีเดียว ส่วนพระราชกำหนดนั้นผู้เขียนจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปวิเคราะห์เพราะเป็นเกณฑ์แห่งกฎหมายที่ฝ่ายบริหารสามารถออกได้โดยอาศัยอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้(4) คือ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญให้ไว้ใน ๒ กรณี คือ
กรณีแรก ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
กรณีที่สอง ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือ เงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน
เมื่อได้ตราพระราชกำหนดแล้ว ระหว่างที่ยังไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก็ต้องถือว่า พระราชกำหนดดังกล่าวเป็นนิติกรรมทางปกครอง (5) ที่ฝ่ายปกครองตราขึ้น จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาว่าพระราชกำหนดดังกล่าวจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่(6) อย่างไรก็ตาม เมื่อได้นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว พระราชกำหนดนั้นก็มีผลเป็นพระราชบัญญัติ แต่ชื่อพระราชกำหนดจะไม่เปลี่ยนเป็นพระราชบัญญัติ
๒.๑ การกระทำของรัฐบาล (acte de gouvernement)
การกระทำของรัฐบาล (acte de gouvernement) หมายความถึงการกระทำบางอย่างของรัฐซึ่งรัฐไม่ต้องรับผิดและเอกชนไม่อาจจะนำไปฟ้องต่อศาลได้ แม้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เอกชนผู้อยู่ภายใต้ปกครองก็ตาม ทั้งนี้เพราะการกระทำของรัฐบาลมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกับการกระทำในทางปกครอง ผู้ได้รับความเสียหายจึงไม่อาจถือเป็นเหตุฟ้องร้องรัฐได้
อนึ่งแม้ศาลในประเทศทั้งหลายมักจะจำกัดอำนาจตัวเองไม่ก้าวล่วงเข้าไปพิจารณาวินิจฉัยการกระทำขององค์กรทางการเมืองในเรื่องสำคัญ ๆ ซึ่งปรากฏออกมาเป็นทฤษฎีกฎหมายต่าง ๆ เช่น ในอังกฤษและในฝรั่งเศส รู้จักกันในนามของทฤษฎีการกระทำของรัฐบาล (Theory of Acts of Government หรือ Acte de Gouvernement) ในสหรัฐอเมริการู้จักในนามทฤษฎีปัญหาในทางการเมือง (Theory of Political Questions)
สาระสำคัญของทฤษฎีเหล่านี้รวมกันก็คือ ศาลปฏิเสธที่จะเข้าไปควบคุมการกระทำทางการเมืองบางอย่าง
๒.๑.๑ การกระทำของรัฐบาลในกฎหมายฝรั่งเศส
ในฝรั่งเศสนั้น ศาลปกครองและศาลยุติธรรมปฏิเสธไม่ยอมควบคุมสิ่งที่เรียกกันว่า การกระทำของรัฐบาล (acte de gouvernement) ซึ่งได้แก่การกระทำต่อไปนี้
๑. การกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสภา
๒. การกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
๒.๑.๒ ทฤษฎีปัญหาทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาและการกระทำของรัฐบาลในอังกฤษ
ในสหรัฐอเมริกาศาลทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาเคยปฏิเสธที่จะวินิจฉัยว่ารูปแบบ
รัฐบาลใดจึงจะเป็นสาธารณรัฐตามที่รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกากำหนดไว้(คดี Luther V.Borden, 7 How.1 U.S.1849) รวมตลอดไปจนถึงการกระทำในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ การสั่งการใช้กำลังทหารและการกระทำของรัฐบาลที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ในอังกฤษเอง ตั้งแต่ศาลอังกฤษปฏิเสธไม่ยอมตัดสินคดี ซึ่ง ดยุ๊คออฟยอค (Dduke of York) ร้องว่าตนมีสิทธิที่จะขึ้นเสวยราชย์ในปี ๑๔๖๐ เป็นต้นมา (คดี The Dduke of Yorks Claim to the Crown, 5 Rotuli Par.373(1460)) ศาลอังกฤษเองก็ปฏิเสธที่จะเข้าควบคุมการกระทำทางการเมืองเช่นกัน
๒.๑.๓ การกระทำที่ไม่ถูกควบคุมในประเทศไทย
ในประเทศไทยเองก็มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา และกฎหมายบางฉบับโดยเฉพาะพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.๒๕๒๒ ได้วางแนวทางจำกัดอำนาจศาล และคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่จะพิจารณาเรื่องบางเรื่องที่เป็นการกระทำขององค์กรทางการเมืองไว้ เช่นกรณีการยุบสภานั้น มีคำพิพากษาที่ ๑๐๓/๒๕๒๑ วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าคณะรัฐมนตรีกับพวกยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีผลบังคับขอให้รัฐบาลชุดก่อนรับดำเนินงานต่อไป เมื่อใช้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๒๐ แล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาฎีกาโจทก์ต่อไป ศาลฎีกาจำหน่ายคดีได้ สำหรับกรณีที่ศาลฎีกาวางหลักการไม่เข้าไปควบคุม การกระทำบางอย่างของนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๙๒/๒๕๑๒, ๑๗๘๕/๒๕๑๓,๒๒๙๑/๒๕๑๙,๘๖๐/๒๕๒๕,๑๖๔๐/๒๕๓๑
ส่วนในเรื่องการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.๒๕๒๒ นั้นก็มีมาตรา ๒๐(๑) กำหนดห้ามมิให้รับพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ที่มีลักษณะเป็นไปในทางนโยบายโดยตรงซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา และที่ คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีมติเด็ดขาดแล้ว จะเห็นได้ว่า ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๐(๑) ได้วางหลักการเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่อาจจะร้องทุกข์ได้โดยมีหลักการและแนวความคิดว่า หลักกฎหมายปกครองต้องเป็นหลักกฎหมายที่แยก งานนโยบาย ออกจาก งานประจำ ได้ โดยงานนโยบายนั้นไม่อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ เพราะงานนโยบายเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งมีกลไกและการควบคุมเป็นพิเศษแตกต่างออกไป
๒.๒ สถานการณ์สงคราม หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน (circonstances exceptionnelles)
ระบบกฎหมายทั้งหลายยอมรับให้ฝ่ายปกครองดำเนินการใช้อำนาจได้ตามความจำเป็นของสถานการณ์ โดยไม่ต้องเคารพหลักความชอบด้วยกฎหมายเคร่งครัดนัก
แต่อย่างไรก็ดี ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจในยามสงครามและในสถานการณ์ไม่ปกตินี้ เป็นแต่เพียงข้อยกเว้นในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายหลักที่ว่าการกระทำในทางปกครองต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่หมายความว่าจะต้องงดใช้หลักนี้โดยสิ้นเชิง หากเป็นแต่เพียงว่าการจำกัดอำนาจของฝ่ายปกครองน้อยกว่าในยามปกติ ฝ่ายปกครองจะมีอำนาจมากขึ้น แต่ฝ่ายปกครองก็ต้องไม่ปฏิบัติการให้เกินขอบเขตแห่งอำนาจที่ขยายออกไป มิฉะนั้นอาจจะถูกฟ้องร้องต่อศาลได้ ถ้าเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด(7) ซึ่งในเรื่องนี้ประเทศไทยเราก็มี พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ที่รัฐบาลได้ประกาศให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ ๑๗ ก.ค.๔๘ ที่ผ่านมา
สรุปการกระทำของรัฐบาลในประเทศไทย
การกระทำของรัฐบาลมีความหมายค่อนข้างกว้างขวาง แต่พอจะสรุปได้ที่มองเห็นเป็นรูปธรรมได้แก่ การกระทำในทางการเมือง การกระทำในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ การสั่งการใช้กำลังทหารในการป้องกันประเทศและการกระทำของรัฐบาลที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ส่วนในเรื่อง งานนโยบาย ควรพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้กำหนดและวางหลักว่าการกระทำอันใดถือว่าเป็นการกระทำของรัฐบาล เพราะงานนโยบายบางอย่างอาจมีผลกระทบต่อประชาชน
สำหรับการกระทำของรัฐบาลในการออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฯ รัฐบาลไม่ต้องถูกควบคุมโดยศาลปกครอง ในการดำเนินการบางอย่างรัฐบาลไม่ต้องรับผิด และเอกชนไม่อาจจะนำไปฟ้องต่อศาลได้
ข้อเสนอแนะ
๑. เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครอง แนวความคิดเรื่อง งานนโยบาย คงต้องจำกัดให้เคร่งครัดขึ้น มิฉะนั้นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนก็จะเสียไป เพราะอะไร ๆ ก็อาจกลายเป็น งานนโยบาย ได้หมด ซึ่งในเรื่องนี้ศาสตราจารย์ ดร.ประยูร กาญจนดุล(8) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
ถ้าจะพิจารณาตามทฤษฎีที่ว่าการกระทำในทางปกครองต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำของรัฐบาล ก็เท่ากับเป็นข้อยกเว้นของทฤษฎีนี้ ซึ่งนับว่าเป็นช่องโหว่อยู่บ้างเพราะเท่ากับเปิดโอกาสให้รัฐกระทำการอันขัดต่อกฎหมายได้โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของหลักที่ว่าการกระทำในทางปกครองต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับเป็นการยกเว้นให้ฝ่ายปกครองซึ่งกระทำการในนามของฝ่ายบริหารไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้ในยามปกติได้ในกรณีจำเป็น ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการจำกัดขอบเขตของการกระทำของรัฐบาลให้แคบลงทุกที เพื่อบังคับให้ฝ่ายปกครองปฏิบัติตามกฎหมายและเพื่อจำกัดขอบเขตการกระทำเช่นว่านี้ กฎหมายของประเทศต่าง ๆ จึงไม่พยายามที่จะให้คำนิยามว่าการกระทำของรัฐบาลคืออะไร และมีขอบเขตเพียงใด ซึ่งเป็นการให้ความอิสระแก่ศาลที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปตามควรแก่กรณี เพราะถ้ามีคำนิยามไว้แล้วก็อาจจะมีการตีความขยายขอบเขตการกระทำในการปกครองให้กลายเป็นการกระทำของรัฐบาลได้มากขึ้น ในทางปฏิบัติศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้กำหนดและวางหลักว่าการกระทำอันใดถือว่าเป็นการกระทำของรัฐบาล
๒. เนื่องจากยังไม่มีกลไกที่ให้การกระทำนี้ถูกตรวจสอบโดยองค์กรอื่นนอกจากรัฐสภา ซึ่งเป็นการตรวจสอบทางการเมืองด้วยกันเอง ฉะนั้นประชาชนทั้งหลายควรมีหน้าที่ช่วยกันตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล เนื่องจากประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านผู้แทนของตน ประชาชนจึงควรเป็นผู้ตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลเอง
เชิงอรรถ
(1)วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง, คู่มือการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๔๗ หน้า ๑๗๙-๑๘๐
(2)เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๘๐
(3)บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ที่มาของกฎหมายมหาชนและหลักความชอบด้วยกฎหมาย, คู่มือการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๔๗ หน้า ๑๓๒-๑๔๔
(4)รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๑๘๒๒๐
(5)บวรศักดิ์ อุวรรณโณ , กฎหมายมหาชน เล่ม ๓ ที่มาและนิติวิธี, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งแรก, พ.ศ.๒๕๓๘ หน้า ๘๒
(6)รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๑๙
(7)บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ที่มาของกฎหมายมหาชนและหลักความชอบด้วยกฎหมาย, คู่มือการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๔๗ หน้า ๑๔๔
(8)ประยูร กาญจนดุล, กฎหมายปกครองเปรียบเทียบ, แผ่นปลิวคำบรรยายเป็นเล่ม, คณะนิติศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ.๒๕๒๔
บรรณานุกรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ , กฎหมายมหาชน เล่ม ๓ ที่มาและนิติวิธี, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งแรก, พ.ศ.๒๕๓๘
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ , ที่มาของกฎหมายมหาชนและหลักความชอบด้วยกฎหมาย, คู่มือการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, กรุงเทพ ฯ พ.ศ. ๒๕๔๗
ประยูร กาญจนดุล, กฎหมายปกครองเปรียบเทียบ, แผ่นปลิวคำบรรยายเป็นเล่ม
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ.๒๕๒๔
วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง, คู่มือการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๔๗
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=952
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 00:39 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|