|
|
บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๙/๒๕๔๙) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ 20 สิงหาคม 2549 22:02 น.
|
เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ยุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ปัญหาพื้นฐานของการยุบสภาผู้แทนราษฎรของนายกรัฐมนตรีนั้นมีปัญหามาจากตัวนายกรัฐมนตรี หากแต่นายกรัฐมนตรีได้อาศัยการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร เหตุผลของการยุบสภาตามที่ปรากฏในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ สรุปได้ว่า เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องทางการเมือง โดยการชุมนุมเรียกร้องดังกล่าวได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลายและยังคงแตกต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ การดำเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้จริงของประชาชนโดยประการอื่นเพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบแล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยก็ทำได้ยาก ทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศ และแม้แต่ในประเทศไทย คือ การคืนอำนาจตัดสินใจในทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป แต่การยุบสภาหาได้ทำให้วิกฤตการณ์ในทางการเมืองลดความขัดแย้งลงแต่อย่างใด แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ การเลือกตั้งมิได้ลดปัญหาความขัดแย้งในขณะเดียวปมเงื่อนจากการเลือกตั้งกลับสร้างปัญหาขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามที่จะอาศัยอำนาจตุลาการเพื่อแก้วิกฤตปัญหาทางการเมืองดังกล่าว และหนึ่งในวิกฤตของปัญหาการเมืองดังกล่าวก็คือ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ซึ่งต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยผลของการเลือกตั้งดังกล่าว ซึ่งในบทวิเคราะห์นี้แบ่งสาระ สำคัญออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ ๑ สรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และส่วน ที่ ๒ วิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่ ๑ สรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ยื่นคำร้องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๙๘ ของรัฐธรรมนูญขอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยมีการดำเนินการอันเป็นเหตุแห่งคำร้องรวม ๔ ข้อ ดังนี้
ข้อ ๑ เหตุแห่งคำร้องที่ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความเห็นในเรื่องการกำหนดระยะเวลาสำหรับการเตรียมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันนำไปสู่การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ขัดกับกลักการเรื่องความเป็นกลางในทางการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๓๖ และขัดกับหลักการเองการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๔
ข้อ ๒ เหตุแห่งคำร้องที่ว่า การจัดคูหาเลือกตั้งที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาลงคะแนนและหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับบุคคลภายนอกที่มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหน้าหน่วย เป็นการละเมิดหลักการเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๔ วรรคสาม
ข้อ ๓ เหตุแห่งคำร้องที่ว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขตทั่วประเทศว่าจ้างผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด เป็นการละเมิดหลักการของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เพียงคนเดียวในเขตเลือกตั้งหนึ่ง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๘ และเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๒
ข้อ ๔ เหตุคำร้องที่ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติ สั่งการ ออกประกาศ และออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวน เพื่อวินิจฉัยข้อปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนการพิจารณาประกาศและรับรองผลการเลือกตั้งไปโดยไม่มีการประชุมปรึกษาหารือหรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยกรรมการการเลือกตั้งครบถ้วนตามจำนวนที่มีอยู่ และการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ ประกอบกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๕(๖) และขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรกลุ่มตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๓๖
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเหตุแห่งคำร้องทั้ง ๔ ข้อแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญรับที่จะพิจารณาเหตุแห่งคำร้องตามข้อ ๑ และข้อ ๒ และปฏิเสธเหตุแห่งคำร้องตามข้อ ๓ และข้อ ๔ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผล ดังนี้
ก. เหตุแห่งคำร้อง ข้อ ๑ เกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ความเห็นในเรื่องการกำหนดระยะเวลาสำหรับการเตรียมการจัดการการเลือกตั้ง อันนำไปสู่การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๘ ศาลรัฐธรรมนูญจึงรับพิจารณาวินิจฉัยเหตุแห่งคำร้องข้อนี้
ข. เหตุแห่งคำร้อง ข้อ ๒ เกี่ยวกับการจัดคูหาเลือกตั้งนั้น การจัดคูหาเลือกตั้งนั้นมีที่มาจากการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการการเลือกตั้ง การพิจารณาเห็นชอบย่อมต้องเป็น มติ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และการจัดคูหาเลือกตั้งตามมติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปอันมีลักษณะเป็นกฎที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งอยู่ในความหมายของคำว่า กฎ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๘ จึงเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๘ ศาลรัฐธรรมนูญจึงรับพิจารณาวินิจฉัยเหตุแห่งคำร้องข้อนี้
ค. เหตุแห่งคำร้อง ข้อ ๓ ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขตทั่วประเทศว่าจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคส่งผู้สมัคเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด นั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตามเหตุแห่งคำร้องข้อนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้องบังคับใด มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่รับวินิจฉัยเหตุแห่งคำร้องข้อนี้
ง. เหตุแห่งคำร้อง ข้อ ๔ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เป็นการขอให้พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับมติ สั่งการ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งหากมติ สั่งการ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งฉบับใดมีผลเป็นการทั่วไปโดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะก็จะมีลักษณะเป็นกฎที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งอยู่ในความหมายของคำว่า กฎ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๘ จึงเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๘ ศาลรัฐธรรมนูญจึงรับพิจารณาวินิจฉัยเหตุแห่งคำร้องข้อนี้
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเหตุแห่งคำร้องตามข้อ ๑ ข้อ ๒ และ ข้อ ๔ โดยมีสาระสำคัญในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้
ก. เหตุแห่งคำร้อง ข้อ ๑ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ ประกอบด้วยบทบัญญัติที่เป็นสาระสำคัญสองส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง มาตรา ๓ บัญญัติให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ และส่วนที่สอง มาตรา ๔ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ บทบัญญัติในส่วนที่หนึ่งที่ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น ถือว่าเป็นดุลพินิจของฝ่ายอย่างแท้จริงไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการ ส่วนบทบัญญัติในส่วนที่สองซึ่งเป็นการกำหนดวันเลือกตั้งนั้น เนื่องจากการจัดการการเลือกตั้งเป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนของปวงชนเข้าไปปกครองประเทศตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากมีปัญหาเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ย่อมอยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรฝ่ายตุลาการ รวมทั้งกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่ยุติ ซึ่งมีความหมายเพียงเป็นการยุติโดยองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นที่ยุติโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ ทั้งนี้เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้ใช้อำนาจตุลาการตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
การพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯ ใช้บังคับจำนวน ๓๗ วัน นั้น การกำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๖ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน ๖๐ วัน ดังนั้น รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้ดำเนินการในส่วนของพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ มาตรา ๔ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๖ วรรคสองแล้ว ส่วนผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มิไดเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยมีข้อพิจารณา ดังนี้
เมื่อพิจารณาข้อมูลการใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่ปรากฏจำนวนบัตรที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนบัตรที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เป็นบัตรดี และหากรวมจำนวนบัตรที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนเข้ากับบัตรเสียแล้วก็จะเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนบัตรที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เป็นบัตรดี รวมทั้งข้อมูลการดำเนินการเลือกตั้งในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ปรากฏชัดเจนว่ามีเขตเลือกตั้งหลายเขตที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียวจากพรรคการเมืองเดียวซึ่งเป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกเขตเลือกตั้ง คือ พรรคไทยรักไทย และผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น ไม่ได้คะแนนเสียงตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๔ บัญญัติไว้ ประกอบกับความผิดปกติของผลการเลือกตั้ง ส่งผลให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไปปกครองประเทศ นั้น ไม่อาจเป็นไปดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบอำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ที่ได้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ เฉพาะในส่วนมาตรา ๔ ที่กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป นี้ จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนอย่างแท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น แม้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ จะตราขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการการเลือกตั้ง จะได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ก็ทำให้เกิดผลการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่ได้ผู้แทนอย่างแท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย อันนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒ มาตรา ๓ และมาตรา ๑๔๔ วรรคหนึ่ง
ข. เหตุแห่งคำร้อง ข้อ ๒ การจัดคูหาเลือกตั้งที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาลงคะแนนและหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับบุคคลภายนอกที่มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหน้าหน่วย เป็นการละเมิดหลักการเรื่องการคะแนนเสียงเลือกตั้งซึ่งจะต้องดำเนินการโยใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐๔ วรรคสาม
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า รูปแบบการจัดคูหาเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ นั้น ทำให้การลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในระยะที่ห่างกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง อันมีผู้แทนของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วยและอยู่ในวิสัยที่สามารถมองเห็นการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ การจัดคูหารูปแบบใหม่นี้จึงมีผลทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว ไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๔ วรรคสาม บัญญัติไว้ เมื่อพิจารณาเหตุผลในการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ มาตรา ๔ ตามเหตุคำร้องข้อ ๑ และเหตุผลในการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับมติในการจัดคูหาเลือกตั้งตามเหตุแห่งคำร้องข้อ ๒ นี้ ประกอบกันแล้ว เห็นว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ มาตรา ๔ กำหนดไว้ให้มีขึ้นในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ประกอบกับการจัดคูหาเลือกตั้งตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง นั้น เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ค. เหตุแห่งคำร้องข้อ ๔ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติ สั่งการ ออกประกาศ และออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวน เพื่อวินิจฉัยข้อปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนการพิจารณาประกาศและรับรองผลการเลือกตั้งไปโดยไม่มีการประชุม ปรึกษาหารือ หรือไม่ได้มีการปรึกษาหารือกันโดยกรรมการการเลือกตั้งครบถ้วนตามจำนวนที่มีอยู่ และการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งมิได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมด โดยมติเอกฉันท์ ตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ ประกอบกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๕ (๖) และขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรกลุ่มตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๓๖
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อวินิจฉัยเหตุแห่งคำร้องข้อ ๑ และข้อ ๒ แล้ว การพิจารณาวินิจฉัยคำร้องข้อนี้ก็ไม่ได้ทำให้ผลของการวินิจฉัยคำร้องตามข้อ ๑ และข้อ ๒ เปลี่ยนแปลงไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่จำต้องวินิจฉัยคำร้องข้อนี้
ศาลรัฐธรรมนูญ โดยตุลการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน ๘ คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๑๕๓๙ เฉพาะมาตรา ๔ ตามเหตุแห่งคำร้องข้อ ๑ ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ตลอดจนการดำเนินการเลือกตั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งดังกล่าว และการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เกี่ยวกับมติในการจัดคูหาเลือกตั้งตามเหตุคำร้องข้อ ๒ เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒ มาตรา ๓ มาตรา ๑๐๔ วรรคสาม และมาตรา ๑๔๔ มาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการการเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง ตลอดไปจนถึงการรับสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนนเสียง การประกาศผลการเลือกตั้ง ทั้งนี้ แม้การประกาศผลการเลือกตั้ง จะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง (๕) ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่าเป็นที่ยุติ ผูกพันองค์กรต่างๆและบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้ใช้อำนาจตุลาการ หากมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นก็ย่อมอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการได้ และหากความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยได้
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญโดยตุลาการจำนวน ๙ คน(1) ได้มีการลงมติในประเด็นว่า ผลของการวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น มีผลเป็นการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการเลือกตั้งจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องผลของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด และเมื่อกำหนดระยะเวลาที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. ๒๕๔๙ ได้ล่วงพ้นหกสิบวันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๖ วรรคสองไปแล้ว ดังนั้น จึงให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการให้มีพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๖วรรคสอง ต่อไป
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน ๕ คน(2) เมื่อวินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยลงมติในประเด็นนี้
ส่วนที่ ๒ วิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
จากการศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าในส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีสาระสำคัญอยู่ ๓ ส่วน คือ (๑) เป็นการวินิจฉัยเนื้อหาเหตุแห่งคำร้อง ข้อ ๑, ข้อ ๒ และข้อ ๔ (๒) เป็นส่วนที่เป็นการวางหลักในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางหลักเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ของศาลรัฐธรรมนูญ และ (๓) เป็นการกำหนดหน้าที่ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาฯเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้จะวิเคราะห์เฉพาะใน (๑) และ (๒) เท่านั้น
(๑) การวินิจฉัยเนื้อหาเหตุแห่งคำร้อง ข้อ ๑
ก. เหตุแห่งคำร้องข้อ ๑ เป็นเหตุแห่งคำร้องหลักที่ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒ มาตรา ๓ มาตรา ๑๐๔ วรรคสาม และมาตรา ๑๔๔ ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้คือ วัตถุแห่งการวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ในการวินิจฉัยในเรื่องนี้ โดยมีข้อพิจารณาดังนี้
ก.๑) วัตถุแห่งการวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จากการศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนว่า ...ดังนั้น รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้ดำเนินการในส่วนของพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ มาตรา ๔ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๖ วรรคสองแล้ว ส่วนผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของคณะกรรมการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ นั้น มีข้อพิจารณา ดังนี้... จากการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้หยิบยกเอาผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งมาเป็นข้อพิจารณาว่าผลการดำเนินการของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง นั้นเป็นไปโดยสุจริตแลเที่ยงธรรมหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้หยิบยกผลการเลือกตั้งต่อไปนี้มาเป็นข้อพิจารณาในการวินิจฉัย
- ข้อมูลการใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อหรือแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ปรากฏจำนวนบัตรที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนบัตรที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เป็นบัตรดี และหากรวมจำนวนบัตรที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนเข้ากับบัตรเสียแล้ว ก็จะเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนบัตรที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่เป็นบัตรดี
- ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการเลือกตั้งในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ปรากฏชัดเจนว่า มีเขตเลือกตั้งหลายเขตที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียวจากพรรคการเมืองเดียวซึ่งเป็นพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกเขตเลือกตั้ง คือ พรรคไทยรักไทย และผู้สมัครนั้นไม่ได้คะแนนเสียงตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๔ บัญญัติไว้ ทั้งนี้ แม้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้นๆแล้ว บางเขตเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น ก็ยังคงไม่ได้คะแนนเสียงตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ กำหนดไว้เช่นกัน
- พิจารณาจากผลของการเลือกตั้ง ปรากฏว่าผลของการเลือกตั้งมีผลที่มีความผิดปกติ คือ ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน ๓๘๖ คน นั้น เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย จำนวนถึง ๓๗๗ คน ส่วนอีก ๙ คนเป็นผู้สมัครจากสามพรรคการเมืองซึ่งไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ผ่านมาก่อนการยุบสภาผู้แทนราษฎร ส่วนผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทยได้ผู้รับเลือกตั้งรวม ๙๙ คน ซึ่งปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้ไม่ครบ ๑๐๐ คน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ บัญญัติไว้ ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งนี้ เท่าที่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยถึง ๔๗๖ คน ซึ่งเห็นได้ว่า พรรคไทยรักไทยจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบอำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นของศาลรัฐธรรมนูญจึงนำมาสู่เหตุผลในการวินิจฉัยว่า ...ประกอบกับความผิดปกติของผลการเลือกตั้งข้างต้น ส่งผลให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไปปกครองประเทศ นั้น ไม่อาจเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ... การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ที่ได้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ เฉพาะในส่วนมาตรา ๔ ที่กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป นี้ จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนอย่างแท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย...
กล่าวโดยสรุป การดำเนินการจัดการเลือกตั้งของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งเท่ากับเป็นการวินิจฉัยว่ากระบวนการในการจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยหลักแล้วการที่กระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งโดยอัตโนมัติ เพราะหากเป็นการบกพร่องในประเด็นที่มิได้เป็นสาระสำคัญความบกพร่องดังกล่าวอาจไม่ส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของการเลือกตั้งนั้น แต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องกำหนดประเด็นการวินิจฉัยในตอนท้ายไว้ด้วยว่า ผลของการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีผลเป็นการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการเลือกตั้งจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่ามีผลเป็นการเพิกถอนการเลือกตั้งตั้งแต่เริ่มกระบวนการเลือกตั้งจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง การวินิจฉัยดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปตามหลักกฎหมาย หากเป็นความบกพร่องในเรื่องกระบวนการขั้นตอนแล้ว เมื่อศาลวินิจฉัยว่ากระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจะต้องวินิจฉัยผลแห่งการกระทำนั้นด้วยจะมีผลประการใด มิเช่นนั้นแล้วจะก่อให้เกิดผลในการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังเช่นที่เคยเกิดปัญหาในกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๔๗/๒๕๔๗)
ประเด็นที่ผู้เขียนใคร่จะหยิบยกเอาเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำผลการเลือกตั้งมาเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยนั้น ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าผลการลงคะแนนเสียงของประชาชนจะเป็นเหตุผลที่จะนำมาลบล้างการเลือกตั้งได้ หรือไม่เพียงใด กล่าวคือศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคไทยรักไทยถึง ๔๗๖ คน ซึ่งเห็นได้ว่า พรรคไทยรักไทยจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลในข้อนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญหยิบยกมาเป็นเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเหตุผลที่ขาดหลักเกณฑ์ในทางกฎหมาย เพราะผลการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรนั้น มิได้เป็นเหตุผลของความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพียงเพราะได้เสียงข้างมากเด็ดขาดเท่านั้น ผลดังกล่าวจักต้องเกิดจากเหตุที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่างหากถึงจะส่งผลให้การเลือกตั้งนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวเฉพาะกรณีนี้อะไรคือเหตุที่จะทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แท้จริงแล้ว เหตุที่ทำให้เกิดผลการได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคไทยรักไทยในครั้งนี้ก็คือ การเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กล่าวคือเป็นการเลือกตั้งที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๔ วรรคสองของรัฐธรรมนูญ การออกเสียงประชามติต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอปรึกษาความเห็นของประชาชนว่า จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกิจการสำคัญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามวรรคหนึ่ง ซึ่งมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ การออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะจะกระทำมิได้ แม้แต่การออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลยังมิอาจกระทำได้ ดังนั้นหากเป็นการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่ง กรณีเช่นนี้ยิ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นประชาธิปไตยได้ โดยเหตุที่การเลือกตั้งมิได้วางอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยนี่เอง จึงก่อให้เกิดผลได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร ผลการเลือกตั้งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากเป็นการเลือกตั้งที่มีพื้นฐานโดยชอบด้วยหลักประชาธิปไตย และแม้ผลของการเลือกตั้งนั้นจะได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรก็มิได้ส่งผลให้ผลการเลือกตั้งนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ก.๒) หลักเกณฑ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้ในการวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่ได้ผู้แทนปวงชนอย่างแท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย อันนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒ มาตรา ๓ และมาตรา ๑๔๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒ ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา ๓ บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และมาตรา ๑๔๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จากสามมาตราดังกล่าวข้างต้นจึงนำมาสู่หลักเกณฑ์ที่สำคัญ ๒ ประการ คือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย และ การจัดการเลือกตั้งที่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้น เมื่อเป็นการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม และการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อันนำไปสู่ผลให้เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้นับได้ว่าเป็นคำวินิจฉัยที่อาศัยหลักพื้นฐานมาเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญของรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม หลักพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐทั้งหมดมิได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งหมด ดังนั้นหลักพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญจึงถือได้ว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่ศาลย่อมนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ กล่าวโดยเฉพาะกรณีนี้ การเลือกตั้งที่วางอยู่บนพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยแบบเสรี คือการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าร่วมในการเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคเดียว จนนำไปสู่การได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งดังกล่าวไม่อาจจะถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่วางอยู่บนพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง
กล่าวโดยสรุปการอาศัยหลักเกณฑ์พื้นฐานของหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นหลักการที่ถูกต้องของการพิจารณาวินิจฉัยขององค์กรตุลาการ ซึ่งเป็นแนวคำวินิจฉัยที่มักจะไม่ค่อยพบในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทย ทั้งนี้เพราะศาลรัฐธรรมนูญไทยมักจะวินิจฉัยโดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยโดยลำพัง โดยมิได้คำนึงถึงหลักการพื้นฐานในเรื่องนั้น ในบางกรณีศาลรัฐธรรมนูญปฎิเสธที่จะวินิจฉัยในประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยให้เหตุผลว่าไม่มีบทบัญญัติที่นำมาใช้วินิจฉัยในเรื่องนั้น โดยศาลรัฐธรรมนูญมิได้คำนึงถึงหลักการพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญ กรณีเช่นนี้มีผลทำให้ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธความยุติธรรมในการวินิจฉัยคดีในเรื่องนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องอาศัยหลักพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาในเรื่องนี้อาจจะสืบเนื่องมาจากศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่งโดยตรงมาสนับสนุนว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องอาศัยหลักพื้นฐานของมาตรา ๒ มาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญมาเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยในเรื่องนี้ กล่าวโดยสรุปผู้เขียนเห็นด้วยกับการอาศัยหลักพื้นฐานของหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย และศาลรัฐธรรมนูญควรจะพิจารณาหลักเกณฑ์พื้นฐานในแต่ละเรื่องที่เกี่ยวประเด็นในเรื่องนั้นๆมาประกอบการพิจารณาด้วยเสมอ เพราะหากละเลยต่อความเข้าใจหลักพื้นฐานในเรื่องนั้นๆ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องนั้นคงมีค่าเป็นเพียงตัวอักษรที่เรียบเรียงเป็นบทมาตราเท่านั้น แต่หาได้มีวิญญาณหรือความมุ่งหมายแห่งการบัญญัติหลักการในเรื่องนั้นๆไม่
(๒) ส่วนที่เป็นการวางหลักในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางหลักเกี่ยวกับการตรวจสอบคณะกรรมการการเลือกตั้ง
- ในส่วนนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักวินิจฉัยไว้ว่า ...จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒ มาตร ๓ มาตรา ๑๐๔ วรรคสาม และมาตรา ๑๔๔ มาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการการเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง ตลอดไปจนถึงการรับสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนนเสียง การประกาศผลการเลือกตั้ง ทั้งนี้ แม้การประกาศผลการเลือกตั้ง จะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง (๕) ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่าเป็นที่ยุติ ผูกพันองค์กรต่างๆและบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้ใช้อำนาจตุลาการ หากมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นก็ย่อมอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการได และหากความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยได้...
การวางหลักในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้เป็นการอาศัยหลักพื้นฐานของหลักนิติรัฐมาเป็นแนวทางในการวินิจฉัย หลักนิติรัฐซึ่งมีความมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของปัจเจกบุคคล อันมีผลเป็นการจำกัดการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐทั้งหลาย และเพื่อให้หลักดังกล่าวบรรลุความมุ่งหมาย การกระทำทั้งหลายขององค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐย่อมอยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรตุลาการ จากแนวคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักการที่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐไว้ดังนี้
ก. คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้ใช้อำนาจตุลาการ
ข. หากมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นก็ย่อมอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการได้
ค. หากความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยได้
จากหลักการทั้งสามข้อที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวไว้นั้น หลักการที่สำคัญที่สุดคือหลักการที่ว่า หากมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นก็ย่อมอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการได้ และนี่คือหลักการพื้นฐานอันสำคัญของหลักนิติรัฐ กรณีนี้จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักในการวินิจฉัยในเรื่องนี้โดยมิได้อ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ดังเหตุผลที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้นว่า หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญนั้นมิได้ถูกนำมาบัญญัติไว้เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้งหมด หากแต่เป็นหลักการพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญ กรณีเช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญย่อมที่จะอาศัยหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญมาเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ ผลของการวางหลักดังกล่าวข้างต้นมีข้อพิจารณาว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางแนวทางไว้ในกรณีที่เกี่ยวกับอำนาจในการตรวจสอบของศาลปกครองต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือไม่เพียงใด เช่น
- คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๒๔/๒๕๔๓ วินิจฉัยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๖ ส่วนที่ ๔ มิใช่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาล ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลปกครอง
- คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๕๒/๒๕๔๖ ในคำวินิจฉัยนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ว่า ...การใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง (๓) เป็นการใช้อำนาจดังเช่นอำนาจตุลาการที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดได้นั้น เพราะเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่จัดให้มีการเลือกตั้งชี้ขาดได้เอง เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม...... ดังนั้น การใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอันมีผลให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง (๓) ถือเป็นยุติ...
แนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๙/๒๕๔๙) จะมีผลกระทบต่อแนวคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวางหลักไว้ในคำวินิจฉัยที่ผ่านมาเพียงใด ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางหลักไว้ว่า หากมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นก็ย่อมอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการได้ เป็นหลักการที่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ ซึ่งน่าจะมีผลลบล้างแนวคำวินิจฉัยเดิมที่วางหลักในเรื่องเดียวกัน หากแต่เป็นการวางหลักที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวอำนาจในการตรวจสอบของศาลปกครองที่มีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยผู้เขียนมีแนวทางอันเป็นข้อสรุปที่เกิดจากการวางแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ซึ่งเกี่ยวโยงกับปัญหาการควบคุมตรวจสอบคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยศาลปกครองดังนี้
ก. การใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งก่อให้เกิดการกระทบสิทธิต่อบุคคล การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการได้
ข. การกระทำที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของศาลปกครองนั้นย่อมหมายเฉพาะการกระทำที่เป็นการกระทำทางปกครองที่กระทำโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้น
ค. ส่วนการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญจะอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับกฎหมายให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบเพียงใด
หากศาลรัฐธรรมนูญยืนยันหลักนิติรัฐดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลต่อระบบการคุ้มครองสิทธิของประชาชนภายใต้หลักนิติรัฐ ทำให้ระบบการคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยองค์กรตุลาการเป็นระบบการคุ้มครองที่ไม่เกิดช่องว่าง อันจะทำให้การตีความระบบกฎหมายมีความสอดคล้องกันทั้งระบบ กล่าวคือ เมื่อบุคคลถูกกระทบสิทธิจากการใช้อำนาจของรัฐ บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิที่จะขอความคุ้มครองจากองค์กรตุลาการเพื่อให้องค์กนตุลาการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากการกระทำนั้นเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญก็จะต้องพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หากการกระทำนั้นเป็นการกระทำทางปกครองการกระทำนั้นย่อมอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง แต่หากมีปัญหาว่าจะอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองหรือไม่ อย่างน้อยที่สุดการกระทำนั้นจะต้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เพราะศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไปในกรณีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญ หากระบบการคุ้มครองสิทธิของบุคคลอยู่ภายใต้หลักดังกล่าวย่อมถือได้ว่าระบบกฎหมายไทยได้ยึดถือหลักนิติรัฐอย่างมั่นคงและเป็นระบบการคุ้มครองสิทธิที่ไม่มีช่องว่าง กล่าวคือไม่มีการใช้อำนาจรัฐใดที่กระทบสิทธิของบุคคลแล้วแต่บุคคลไม่อาจใช้สิทธิโต้แย้งไปที่ศาลเพื่อให้ศาลตรวจสอบได้
(๓) การกำหนดหน้าที่ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาฯเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้เป็นคำวินิจฉัยที่มีการกำหนดเงื่อนไขให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการให้มีพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๖ วรรคสอง ต่อไป การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและได้กำหนดเงื่อนไขให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมส่งผลดีต่อการบังคับการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และย่อมส่งผลดีต่อการบังคับการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญด้วย และประการสุดท้ายย่อมเกิดความชัดเจนต่อองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องว่ามีหน้าที่จะต้องดำเนินการอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขใด ลักษณะของคำวินิจฉัยดังกล่าวนี้ศาลรัฐธรรมนูญควรนำมาใช้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องอื่นๆเพื่อแก้ปัญหาความไม่ชัดเจน ลักษณะของการกำหนดเงื่อนไขให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวต้องดำเนินการอย่างใอย่างหนึ่งเพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายดังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นสำหรับศาลรัฐธรรมนูญไทย ทั้งนี้เพราะศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดเงื่อนไขต่างๆไว้ให้ชัดเจนในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้วจะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่จะรองรับการบังคับการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างไปจากศาลยุติธรรมและศาลปกครองซึ่งมีบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
กล่าวโดยสรุปผู้เขียนเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรอาศัยเทคนิคการกำหนดเงื่อนไขต่างๆไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังตัวอย่างที่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ ในด้านหนึ่งเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องของศาลรัฐธรรมนูญเองที่ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในอีกด้านหนึ่งเป็นการทำให้เกิดความชัดเจนต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าองค์กรเหล่านั้นมีหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่เพียงใด ประเด็นคงมีข้อที่พึงระมัดระวังอยู่ประการเดียวว่า การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจักต้องไม่เป็นการไปก้าวล่วงความอิสระในขอบอำนาจหน้าที่ขององค์กรนั้นๆ
บทสรุป
ผู้เขียนเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้เป็นคำวินิจฉัยที่มีความก้าวหน้าในทางวิชาการ แม้ว่าเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบางประเด็นอาจจะขาดความหนักแน่นในทางวิชาการ แต่โดยภาพรวมแล้วต้องถือว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยหลักพื้นฐานของรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งสองหลัก กล่าวคือ ทั้งหลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาวินิจฉัย โดยวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังนั้นผลการเลือกตั้งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมตรวจสอบคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้อาศัยหลักนิติรัฐวางหลักว่า หากมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นก็ย่อมอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการได้ การอ้างหลักดังกล่าวเพื่อควบคุมตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งก็มิได้อ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่ง แต่หลักการพื้นฐานทั้งสองหลักดังกล่าวข้างต้นล้วนแต่เป็นหลักการที่เป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญของรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย การที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญประกอบการตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญย่อมทำให้การตีความของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ไม่ทำให้การตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขัดกับหลักพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ดังเช่นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในหลายๆเรื่องที่ผ่านมา ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกรอบอันสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือในการช่วยตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้มีความสอดคล้องกันและไม่ทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกิดความขัดแย้งกัน
ข้อสังเกตประการสุดท้ายสำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้คือการวินิจฉัยโดยการกำหนดเงื่อนไขไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การวินิจฉัยในลักษณะนี้จะเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลดีต่อการบังคับการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และก่อให้เกิดความชัดเจนต่อองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไรหรือไม่ แต่จะต้องระมัดระวังมิให้ไปกระทบกับดุลพินิจอิสระขององค์กรนั้นๆ
----------------------------------------------------------
เชิงอรรถ
1.นายผัน จันทรปาน นายจิระ บุญพจนสุนทร นายนพดล เฮงเจริญ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายมงคล สระฎัน นายมานิต วิทยาเต็ม นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ นายอภัย จันทนจุลกะ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง
2.นายจุมพล ณ สงขลา นายศักดิ์ เตชาชาญ นายสุธี สุทธิสมบูรณ์ พลตำรวจเอก สุวรรณ สุวรรณเวโช และนายสุวิทย์ ธีรพงษ์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=951
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 01:04 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|