ครั้งที่ 77

15 ธันวาคม 2547 13:54 น.

       "ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ"
       เดิมทีเดียวนั้นผมตั้งใจจะเขียนบทบรรณาธิการนี้ที่ฝรั่งเศส แต่เมื่อคำนวณระยะเวลาดูแล้วเห็นว่าจะสร้างความยุ่งยากให้กับชีวิตเกินไป ก็เลยตัดสินใจเขียนที่เมืองไทย โดยเขียนไว้ล่วงหน้า 1 สัปดาห์ครับ เอาไว้บทบรรณาธิการหนต่อไป ผมค่อยส่งมาจากฝรั่งเศสครับ
       ปัญหาเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกลับมาเป็นปัญหาสำคัญของชาติอีกแล้วครับ หลาย ๆ คนที่เป็นแฟนประจำของ www.pub-law.net คงได้เคยผ่านตาทั้งบทความและบทบรรณาธิการของผมที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปหลายครั้ง ในวันนี้ผมคงต้องขอพูดอีกเพราะทนไม่ได้กับปัญหาที่เกิดขึ้นครับ ผมไม่ทราบว่าเมื่อบทบรรณาธิการนี้ออกเผยแพร่ สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแปรสภาพ กฟผ. จะเป็นอย่างไร แต่ในตอนนี้ผมขอแสดงความเห็นในภาพรวมไว้ก่อนครับ
       ผู้ที่ติดตามงานเขียนของผมอย่างสม่ำเสมอคงทราบว่าผมไม่ชอบที่จะ “วิจารณ์” กรณีที่ยังไม่มีข้อมูลครบถ้วน และไม่ชอบที่จะ “วิจารณ์” กรณีที่เป็นเรื่องเฉพาะเช่นกัน ผมพยายามมองปัญหาในสายตาของนักกฎหมายมหาชน “มหภาค” ที่มุ่งศึกษาวิเคราะห์ “ระบบ” มากกว่า “เรื่อง” ที่เกิดขึ้นเป็นกรณี ๆ ไป การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็เช่นกันที่เราควรจะดู “ระบบ” มากกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง
       เริ่มต้นด้วยข้อเท็จจริงก่อนครับ ข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์หลาย ๆ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการคัดค้านการแปรรูป กฟผ.นั้นค่อนข้างตรงกัน มีข่าวว่าสหภาพพนักงาน กฟผ.ยื่นข้อเสนอต่อรองให้รัฐบาลแจกหุ้นฟรีให้แก่พนักงาน จัดหุ้นราคาพาร์ให้พนักงาน กฟผ. ทุกคนในอัตรา 13 เท่าของเงินเดือน รวมทั้งการขอปรับฐานเงินเดือนเพิ่มพิเศษอีกคนละ 21% ที่ปรากฏตามข่าวก็คือ เมื่อข้อเรียกร้องไม่ได้รับการตอบรับ ก็พากันออกมา “คัดค้าน” โดยข้ออ้างในการคัดค้านก็คงเป็นไปตาม “แนวทาง” ที่เกิดขึ้นคล้าย ๆ กันทั่วโลกคือ พยายามทำให้ประชาชน “มอง" การแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่าเป็นการ “ขายชาติ” หรือจะทำให้ “อัตราค่าบริการ” สูงขึ้นกว่าเดิมครับ!!! ก็มีการอ้างประชาชน เพราะคงไม่สามารถนำเอาอะไรมาอ้างได้อีก แต่จริง ๆ แล้วการคัดค้าน “อาจ” เป็นการคัดค้านเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองก็ได้ เพราะที่ผ่านมาพนักงานรัฐวิสาหกิจมี “สิทธิพิเศษ” มากมายหลายประการ คงเกรงกันว่าเมื่อแปลงสภาพไปเป็นบริษัทแล้ว จะ“ไม่” เหมือนเดิมหรือเปล่ามากกว่า!!!
       ประเด็นที่ผมอยากจะขอนำมากล่าว ณ ที่นี้ ก็คือ ความ “พร้อม” ของประเทศไทยในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครับ ความพร้อมที่ผมเข้าใจคงไม่ได้เกี่ยวข้องกับความพร้อมของท่านผู้นำหรือความพร้อมของรัฐบาลนะครับ แต่เป็นความพร้อมในด้านกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครับ
       เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทุกวันนี้ เราใช้กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ เพื่อ “แปลงทุน” ของรัฐวิสาหกิจให้เป็น “หุ้น” และเปลี่ยนสภาพรัฐวิสาหกิจจาก “องค์กรของรัฐ” มาเป็น “บริษัท” ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ จากนั้นก็ถึงจะนำเอาหุ้นของรัฐวิสาหกิจไปขายครับ ขายจนรัฐหมดความเป็นเจ้าของเมื่อไหร่คือ ขายไปกว่าร้อยละ 50 ก็จะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือ รัฐวิสาหกิจนั้นก็จะพ้นจากสภาพของความเป็นของรัฐไปครับ ที่ผ่านมาเราก็มีรัฐวิสาหกิจหลายต่อหลายแห่งที่ “แปลงสภาพ” โดยใช้กระบวนการในกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นคือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และที่กำลังจะตามมาติด ๆ ก็คือ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่กำลังเป็นปัญหาหนักอกให้กับรัฐบาลอยู่ครับ
       การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นควรทำอย่างเป็นระบบ เรามีตัวอย่างของประเทศต่าง ๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรปและอเมริกา ที่ประสบผลสำเร็จจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้ว เท่าที่ผมศึกษาดูจะพบว่าส่วนใหญ่แล้วการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่ดีจำนวนหนึ่ง คือ กฎหมายเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและกฎหมายเพื่อกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปเป็นเอกชน ข้อเสนอของผมจึงอยู่ที่ว่าเราสมควร “สร้าง” กฎหมายเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะ คือมีกฎหมายใหม่ฉบับหนึ่งที่พูดถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบ กฎหมายนี้จะต้องสร้างกลไกในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ดีเพื่อปกป้องประโยชน์ของรัฐและของประชาชนครับ และนอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่เราไม่ได้พูดถึงกันเลยก็คือ การตั้งองค์กรกำกับดูแล (regulator) ครับ ความสำคัญของรัฐวิสาหกิจอยู่ที่ภารกิจของรัฐวิสาหกิจซึ่งส่วนใหญ่แล้วภารกิจของรัฐวิสาหกิจก็คือการจัดทำบริการสาธารณะ เมื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นไปเป็นเอกชนแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ คุณภาพ อัตราค่าบริการและการแข่งขัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในต่างประเทศก่อนที่จะทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็มักจะมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลขึ้นมาเพื่อวางกฎเกณฑ์และกำหนดกติกาในการประกอบธุรกิจ เพราะเมื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้ว (อดีต)รัฐวิสาหกิจนั้นก็จะ “หลุดพ้น” จากการกำกับดูแลของรัฐในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจและเข้าไปสู่การกำกับดูแลขององค์กรกำกับดูแลที่กำกับดูแลธุรกิจประเภทเดียวกัน องค์กรกำกับดูแลก็จะทำหน้าที่ปกป้องประโยชน์ของผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการสาธารณะนั้นให้ได้รับบริการที่ดีและเป็นธรรมครับ ดังนั้น ความสำคัญของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงอยู่ที่การมีกฎหมายดี ๆ สัก 1 ฉบับ เพื่อทำให้กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน กับมีกฎหมายดี ๆ อีกจำนวนหนึ่งจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลขึ้นมาเพื่อปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเช่นเดียวกันครับ
       หากจะถามว่า แล้วกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของไทยในวันนี้เป็นอย่างไรก็คงตอบได้ไม่ยากครับ กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจเป็นกฎหมายที่ “ไม่เหมาะสม” ที่จะนำมาใช้ครับ ผมคงไม่ขอพูดถึงกฎหมายฉบับนี้อีกเพราะได้เขียนบทความไว้นานมากแล้วใน website นี้คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไทย ลองอ่านดูก็ได้นะครับ กฎหมายฉบับนี้สมควรยกเลิก ไม่ใช่เพราะเป็นหนึ่งใน “กฎหมายขายชาติ” 11 ฉบับที่คนพูดถึง!!! และไม่ใช่เพราะเป็นหนึ่งในกฎหมาย 11 ฉบับที่ “ท่านผู้นำ” ของเรารับปากกับประชาชนมาเป็นเวลานานแล้วว่าจะพิจารณาปรับปรุงแก้ไข แต่จนบัดนี้ “ท่านผู้นำ” ก็ยังคง “นิ่ง” อยู่ครับ) แต่ผมเห็นว่าสมควรยกเลิกเพราะกระบวนการตามกฎหมายฉบับนี้ไม่โปร่งใส ไม่ครบขั้นตอน และไม่เกิดผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนครับ ยกเลิกกฎหมายนี้เสียเถิดครับท่านผู้นำแล้วทำกฎหมายใหม่ดี ๆ สักฉบับเพื่อให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกิดผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนครับ กรุณา “ทนุถนอม” การขายสมบัติของแผ่นดินหน่อยเถอะครับ ส่วนอีกประการหนึ่งที่ “ท่านผู้นำ” ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลครับ จริง ๆ แล้วเราก็มีกฎหมายจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอยู่บ้างแล้วคือ กทช. และ กสช. แต่ทุกวันนี้ก็ยังตั้งกันไม่ได้สักที ไม่ทราบว่าทำไมครับ แต่ทราบไหมครับว่ายิ่งตั้งองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคม (และด้านอื่น ๆ) ช้าเท่าไหร่ ผู้ประกอบการรายเดิม (ซึ่งรวมถึงผู้รับสัมปทานด้วยครับ!! ท่านผู้นำ) ก็จะได้ประโยชน์มากเท่านั้นครับ ด้วยเหตุทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงเป็นหน้าที่ของนักกฎหมายมหาชน “มหภาค” ที่จะร่วมกันเสนอข้อเรียกร้องเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนครับ ข้อเสนอแนะระยะสั้นก็คือ ขอให้หยุดการขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจไว้ก่อนที่จะมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแล ขอให้หยุดการแปลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจไว้ก่อนจนกว่าจะมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแล ขอให้หยุดการให้สัมปทาน อนุมัติ อนุญาต บริการสาธารณะประเภท ต่าง ๆ ที่อยู่ในขอบข่ายของการแปรรูปไว้ก่อนจนกว่าจะมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลครับ ส่วนข้อเสนอระยะยาว ก็คงต้องขอให้ท่านผู้นำรีบใช้ “พลัง” ของท่าน สร้างกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ดีฉบับหนึ่งให้กับประชาชนคนไทยครับ หากท่านผู้นำพยายามทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นระบบ โปร่งใส และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง เสียงคัดค้านก็คงน้อยลงไปเยอะครับ!!!
       เรามีบทความใหม่สองบทความที่ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้กรุณามอบให้กับ www.pub-law.net เป็นพิเศษครับ บทความแรกคือบทความ เรื่อง คดีรัฐธรรมนูญกับการบ่งชี้สภาพปัญหาของการปฏิรูปการเมือง ที่เขียนโดย ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนบทความที่สองเป็นบทความเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติเมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง ที่เขียนโดย นายบุญเสริม นาคสาร แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากสองบทความนี้แล้ว เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ลองย้อนกลับไปอ่านดูบทความเก่าของผมเรื่อง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไทยดูบ้างนะครับ มีการตอบคำถามด้วยนะครับในคราวนี้ในเวทีทรรศนะ ในช่วงสองเดือนนี้ผมของดตอบคำถามนะครับ เพราะผมอยู่ฝรั่งเศส บางกรณีที่ต้องหาข้อมูลมาตอบก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก ของดไปก่อนครับ นอกจากนี้เรายังมีการแนะนำหนังสือใหม่ ๆ ในหนังสือตำราด้วยเช่นกันครับ eBook เริ่มใช้ได้บ้างแล้วนะครับ ลองแวะไปใช้ประโยชน์กันบ้างนะครับ
       พบกันใหม่ในวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 3547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=94
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:46 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)