ภาษาคน ภาษากฎหมาย โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง

11 มิถุนายน 2549 21:36 น.

       เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายผ่านทางสื่อมากที่สุดในโลก ถ้าท่านลองสังเกตดูให้ดี จะพบว่า ปัญหาข้อขัดแย้งในสังคมที่ถูกหยิบยกสู่การนำเสนอของสื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเมืองการปกครอง ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายแทบทั้งสิ้น ผู้ที่ตกเป็นจำเลยก็คือบรรดานักกฎหมายทั้งหลายนั่นเองที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวยุ่ง เป็นตัวสร้างปัญหาให้แก่บ้านเมือง เพราะในการให้ความเห็นในปัญหากฎหมายของนักกฎหมาย (ทั้งของจริงและของไม่จริง) ผ่านสื่อต่าง ๆ ก็มักจะมีความเห็นสวนทางกันอยู่เสมอ สุดแล้วแต่ว่าตนเองเชียร์ฝ่ายใด โดยมีธงคำตอบอยู่ในใจไว้ล่วงหน้าแล้วก่อนที่จะตีความปัญหา ข้อกฎหมายนั้นๆ
       
       การตีความกฎหมายโดยทั่วไปแล้วจะมีการตีความตามตัวอักษร (Textual Approach) และการตีความตามเจตนารมณ์ (Purposive Approach) ด้วยเหตุที่กฎหมายได้มีการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร การตีความกฎหมายจึงต้องดูตัวอักษรเป็นหลักเสียก่อนแล้วจึงค่อยไปถึงการตีความตามเจตนารมณ์หากบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีความเคลือบคลุมไม่ชัดเจน ไม่อาจตีความตามตัวอักษรได้ โดยการค้นหาวัตถุประสงค์ของการยกร่างบทบัญญัตินั้นว่ามีความต้องการและความจำเป็นอย่างไร ในเมื่อการตีความกฎหมาย เราต้องตีความตามบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน ดังนั้น การหาความหมายของลายลักษณ์อักษรเพื่อการตีความที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องรู้จัก “ภาษา” ที่ใช้ในกฎหมาย ซึ่งอยากจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
       
       (1) ภาษาคนหรือภาษาธรรมดาทั่วไป
       
โดยปกติถ้อยคำหรือภาษาในกฎหมายทั่ว ๆ ไปแล้ว ย่อมมีความหมายตามที่คนทั่วไปเข้าใจ การตีความก็ต้องตีความไปตามความหมายของศัพท์เหล่านั้น เช่น ฆ่า ก็ย่อมหมายถึงทำให้ตายหรือเสียชีวิต ฯลฯ แต่ก็ประหลาดดีคำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” กลับมีการแปลความว่า “ต้องถูกจำคุกจริง ๆ” ไปเสียนี่
       
       (2) ภาษากฎหมายหรือภาษาทางเทคนิค
       หมายถึง ภาษาที่มีความหมายพิเศษ กว้างขวางลึกซึ้ง แตกต่างไปจากภาษาธรรมดา หรือภาษาที่คนใช้อยู่ทั่ว ๆ ไป ภาษากฎหมายนี้ใช้และเข้าใจกันอยู่ในบรรดาของแวดวงนักกฎหมายที่เข้าใจกันเป็นการเฉพาะ ในประเด็นนี้ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ได้ยกตัวอย่างในรายงานการวิจัย เรื่อง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ว่า “วิ่งราวทรัพย์” คนทั่วไปย่อมจะเข้าใจว่าต้องมีการวิ่งเอาทรัพย์ไป แต่ภาษากฎหมายแล้วย่อมหมายถึง “การลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า” ซึ่งอาจจะไม่มีการวิ่งเลยก็ได้ เช่น หยิบเอาของเขาไป แล้วก็เดินออกไปต่อหน้าก็อาจเป็นการวิ่งราวทรัพย์ได้หรือคำว่า “ตัวการ” ก็มีความหมายแตกต่างจากภาษาคนธรรมดาทั่วไปเวลาพูดถึงกิจการย่อมหมายถึงผู้ที่กระทำความผิดเอง เช่น เรื่องนี้นายจุ้นจ้านเป็นตัวการแน่ ๆ เลย แต่ในภาษากฎหมายคำว่าตัวการในกฎหมายแพ่งนั้น ตัวแทนเป็นผู้กระทำแทนโดยตัวการอยู่เบื้องหลังแล้วคอยรับผลแห่งการกระทำนั้น ส่วนในทางอาญาคน ๆ เดียวกระทำความผิด ไม่อาจเรียกว่า “ตัวการ” ได้เลย เพราะกฎหมายอาญาคำว่าตัวการหมายถึงบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันกระทำความผิด
       
       (3) นิยามศัพท์
       หมายถึงภาษาหรือถ้อยคำที่ผู้ร่างกฎหมายมีความประสงค์จะให้มีความหมายเฉพาะที่แตกต่างจากภาษาธรรมดาทั่ว ๆ ไป หรือต้องการให้มีความหมายพิเศษ ในประเด็นนี้ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ได้ยกตัวอย่างในรายงานการวิจัยฯ อีกเช่นกันว่า “ป่า” ตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 หมายถึง “ที่ดินที่ยังไม่ได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย” ดังนั้นเมื่อพูดถึง “ป่า” คนธรรมดาสามัญย่อมนึกถึงภูเขา ต้นไม้ ฯลฯ ฉะนั้น ป่า ตามกฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่มีต้นไม้แม้แต่ต้นเดียวเลยก็ได้
       ตาม พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2490 คำว่า “สัตว์น้ำ” หมายความว่า ปลา เต่า กระ กุ้ง แมงดา ฯลฯ รวมถึงไข่ของสัตว์น้ำเหล่านั้นทุกชนิดรวมถึงสาหร่ายทะเล และตลอดจนสัตว์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในน้ำ และพันธุ์ไม้น้ำอื่นตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด ดังนี้ จะเห็นได้ว่า สาหร่ายทะเล ซึ่งภาษาธรรมดาหมายถึงพืช แต่ พ.ร.บ.นี้ หมายถึง สัตว์น้ำ ฉะนั้น การช้อนสาหร่ายทะเลไปก็เป็นการจับสัตว์น้ำตาม พ.ร.บ. นี้ รวมถึงพันธุ์ไม้อย่างอื่นที่ประกาศในพระราชกฤษฎีกาด้วย ถือว่าเป็นการกระทำต่อสัตว์น้ำ เมื่อมีประกาศจับสัตว์น้ำ ชาวบ้านที่ไปเก็บพืชพันธุ์ไม้น้ำหรือสาหร่ายทะเลย่อมจะมีความผิดฐานจับสัตว์น้ำ ซึ่งความหมายดังกล่าวแตกต่างจากความเข้าใจธรรมดา ๆ ไปมาก การตีความก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ผู้ที่เอาสาหร่ายทะเลไป จะเอาความหมายธรรมดามาต่อสู้ให้พ้นความผิดไม่ได้ บางครั้งก็อาจมีความหมายแปลกไปมาก เช่น พ.ร.บ.การขายยา พ.ศ. 2493 “ยา” หมายความว่า “วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการพิเคราะห์ บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บปวดของมนุษย์หรือสัตว์” คดีนี้จำเลยกับพวกได้โฆษณาขายกำไลวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเครื่องบำบัดโรคต่าง ๆ ได้ จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า กำไลไม่ใช่ยา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กำไลเป็นยาตาม พ.ร.บ.นี้หรือไม่ ข้อสำคัญหาได้อยู่ที่ว่าวัตถุนั้นจะบำบัดรักษาหรือป้องกันโรคได้จริงหรือไม่ หากแต่อยู่ที่ความมุ่งหมายในการใช้ ถ้ามุ่งหมายให้ใช้วัตถุนั้นบำบัดโรค และป้องกันโรคแล้วก็ต้องถือว่าเป็นยา ศาลจึงเห็นว่า กำไลข้อมือเป็นยา
       ดังนั้น กำไลแม้คนทั่วไปจะเห็นว่าเป็นเครื่องประดับ แต่ในคดีนี้ เมื่อพิจารณาจากนิยามศัพท์แล้ว ต้องตีความว่า กำไลเป็นยา จึงจะถูกต้องตามความมุ่งหมายของกฎหมาย
       
       เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อาจจะเกิดคำถามอยู่ในใจของหลาย ๆ คนว่า ทำไมเราไม่บัญญัติกฎหมายให้ชัดแจ้งหรือชัดเจนไปเลย จะได้ไม่ต้องมานั่งตีความกันอีก ซึ่งคำตอบก็คือไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่กฎหมายจะสามารถบัญญัติถ้อยคำให้ชัดแจ้งทั้งหมด เพราะภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาคนธรรมดาหรือภาษากฎหมาย ย่อมมีวิวัฒนาการและมีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ เช่น คำว่า “เดือดร้อนรำคาญ” นั้น การกระทำเดียวกันแต่ต่างเวลากัน อาทิ การใช้เสียงในระดับเดียวกันในเวลากลางวันอาจจะไม่เข้าข่ายเดือดร้อนรำคาญก็ได้ ฯลฯ
       
       ฉะนั้น การตีความกฎหมายต้องดูความหมายตามที่กล่าวมาข้างต้นว่าเป็น “ภาษาคนธรรมดา"  “ภาษากฎหมายหรือภาษาทางเทคนิค” หรือว่าเป็น “นิยามศัพท์” เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้องตามความหมายที่แท้จริง ดังที่จะเห็นได้จากบรรดาป้ายประกาศต่าง ๆ เช่น “ห้ามญาติเยี่ยม” จะหมายถึงเฉพาะญาติเท่านั้นเองหรือ คนที่ไม่ใช่ญาติแต่เป็นเพื่อนล่ะเยี่ยมได้ไหม หรือแม้กระทั่ง “ขับช้า ๆ อันตราย” ก็เลยเร่งความเร็วเสียเต็มที่ เพราะป้ายสัญญาณทำให้เข้าใจไปได้ว่า ขับช้า ๆ อันตราย ฯลฯ
       
       กล่าวโดยสรุปแล้วภาษาที่ใช้ในกฎหมายไม่ว่าจะเป็นภาษาคนธรรมดา ภาษาทางเทคนิคหรือนิยามศัพท์ ก็ตามแต่ หากจะมีการตีความแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตีความตามลายลักษณ์อักษรหรือตามเจตนารมณ์ก็ตาม จะต้องเป็นการตีความเพื่อให้ปฏิบัติได้ มิใช่ตีความแล้ว ก่อให้เกิดผลประหลาด (absurd) ปฏิบัติไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความกฎหมายมหาชนที่มุ่งประโยชน์สาธารณะ ต้องคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาด้วยและที่สำคัญก็คือ เมื่อถ้อยคำใดมีความชัดเจนแล้วก็ไม่จำเป็นต้องตีความอีก (in claris non fit interpretation) เพราะที่ยุ่ง ๆ กันอยู่ที่วันนี้ก็เพราะเรามีการตีความกันมากเกินไป และที่สำคัญคือการตีความแบบศรีธนญชัย หรือตะแบงเอาสีข้างเข้าถู จนวุ่นวายไปหมดทั้งบ้านทั้งเมืองในปัจจุบัน
       ---------------------------------------------------------


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=932
เวลา 26 พฤศจิกายน 2567 02:39 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)