พระพุทธศาสนากับหลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน โดย คุณสโรช สันตะพันธุ์

11 มิถุนายน 2549 21:36 น.

       กิจโฉ มะนุสสะปะฏิลาโภ การเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก
       กิจฉัง มัจจานะชีวิตัง การดำรงชีวิตอยู่นั้นแสนยาก
       กิจฉัง สัทธัมมัสสะวะนัง การได้ฟังพระสัทธรรมนั้นแสนยา
       กิจโฉ พุทธานะมุปปาโท การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นแสนยาก
       (ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

       
       เมื่อปีที่แล้วผู้เขียนได้เคยนำเสนอข้อเขียนซึ่งเป็นการอธิบายกฎหมายมหาชนในมิติที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนามาแล้ว ในบทความเรื่อง “บทบาทของคริสตศาสนจักรโรมันคาธอลิคในระบบการเมืองยุโรปยุคกลาง” ครั้งนี้ผู้เขียนขอนำเสนอข้อเขียนทางกฎหมายที่มีการบูรณาการ (Integration) ศาสตร์ข้างเคียงเข้ามา ซึ่งเป็นการศึกษาในลักษณะของ สหวิทยาการ (Interdisciplinary Subject) อีกครั้ง โดยครั้งนี้ผู้เขียนขอนำเสนอควบคู่กับพระพุทธศาสนา (Buddhism) ซึ่งผู้เขียนสนใจศึกษาตั้งแต่ก่อนจะศึกษานิติศาสตร์
       พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เมื่อกว่า 2,500 ปีนั้น หากจะนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหลักการ แนวคิดทฤษฎีในทางกฎหมายมหาชนซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น “ศาสตร์ใหม่” ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นในทวีปยุโรปเมื่อกว่า 300 ปีที่แล้ว และยังมีความเป็นพลวัต (Dynamics) สูง กลับพบว่าพระพุทธศาสนาเองก็มี “เนื้อหา” ที่สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายมหาชนอยู่หลายส่วน สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะพระธรรมของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น “อกาลิโก” คือ ไม่มีเงื่อนแห่งเวลา จึงสอดรับเข้าได้กับทุกยุคทุกสมัย
       อนึ่ง การวิเคราะห์เปรียบเทียบครั้งนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้นเท่านั้น ผู้เขียนขอแบ่งหัวข้อการวิเคราะห์เปรียบเทียบออกเป็น 4 หัวข้อดังนี้ 1. แนวความคิดการกำเนิดรัฐ 2. อธิปไตย 3. ระบอบการปกครอง 4. สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค
       
       “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระสมณะผู้ยิ่งใหญ่มีปรกติตรัสอย่างนี้
       จงระงับไม่ทำบาปทั้งปวง จงถึงพร้อมซึ่งกุศลคือความดีทั้งปวง จงทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว นั่นคือคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลาย (รวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วย)”
       พระอัสสชิกล่าวกับปริพาชกอุปติสสะ

       
       1. แนวความคิดการกำเนิดรัฐ (1)
       ในอัคคัญสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงกำเนิดมนุษย์ สังคมและสถาบันการเมือง โดยแสดงลำดับวิวัฒนาการมาเป็นขั้น ๆ หากอ่านโดยมิได้ไตร่ตรองอาจเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล แต่หากพิเคราะห์กันให้ดีแล้วจะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงการเกิดของรัฐโดยธรรมชาติ โดยเน้นพื้นฐานของธรรมชาติทั้งทางร่างกาย และจิตใจของมนุษย์กล่าวคือ ในสมัยที่โลกพินาศ สัตว์โลกที่มีบุญก็ได้ไปเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม มีรัศมี ไม่มีเพศ มีปิติเป็นอาหาร เมื่อโลกเกิดขึ้นใหม่ เริ่มจากโลกเป็นน้ำทั้งหมด มืดมนไม่มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ไม่มีกลางวันกลางคืน ต่อมาเกิดพื้นดินขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ มีกลิ่นมีสี รสดี อาภัสสรพรหมตนหนึ่งลองชิมดินนั้นจึงติดใจ สัตว์โลกอื่น ๆ ก็ชิมตามทำให้ติดใจ เกิด “ตัณหา” หมดรัศมี ต้องกลายเป็น “มนุษย์” อยู่บนพื้นโลก เกิดผิวพรรณหยาบละเอียดต่างกัน มีการดูถูกเหยียดหยามกันด้วยเหตุแห่งผิวพรรณ เกิดเป็นเพศชายเพศหญิง มีการเสพเมถุนขึ้น สัตว์โลก (มนุษย์) ผู้อื่นเห็นเข้าก็ขว้างปาทำให้ต้องสร้างบ้านเรือนที่กำบังขึ้น ทำให้เกิดครอบครัว ครอบครัวจึงเป็นเครื่องหมายแห่งกิเลสตัณหา
       ทางด้านอาหารที่เริ่มจากการแสวงหาอาหารจากธรรมชาติมาเป็นเพาะปลูกเองนั้น เกิดจากมีผู้สะสมอาหารไว้เกินกว่าความจำเป็นจึงเอาอย่างกัน ทำให้มีการแบ่งปันเขตแดน เกิดทรัพย์สินส่วนตัวขึ้น บางคนเกิดความโลภมากก็ลักทรัพย์ผู้อื่น จึงมีการจับกุมลงโทษทัณฑ์กันขึ้น แต่ก็ยังลงโทษไม่เป็นธรรม จึงได้ตกลงกันเลือกหรือสมมติคนหนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ว่ากล่าวติเตียนลงโทษคนที่ทำความผิดโดยได้รับส่วนแบ่งผลผลิตจากคนที่อยู่ในความดูแล จึงเกิดคำเรียกผู้ปกครองว่า “มหาชนสมมติ” คือเป็นคนที่คนทั่วไปสมมติขึ้นเป็นหัวหน้า หรือเรียกว่า “กษัตริย์” เพราะเป็นหัวหน้าดูแลเขตหรือที่ทำกิน (2) หรือบางครั้งก็เรียกว่า “ราชา” หมายถึงผู้ที่ทำให้ราษฎรสุขใจด้วยการปกครองอย่างเป็นธรรม ส่วนคนทั่วไปก็ต้องแบ่งงานกันทำตามหน้าที่ เลี้ยงดูครอบครัว ณ จุดนี้เองที่ “รัฐ” ถือกำเนิดขึ้น
       เราจะเห็นว่าการเกิดขึ้นของรัฐตามแนวคิดของพระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นแบบเทวสิทธิ์ (Divine Right) ที่ถือว่าอำนาจปกครองเป็นของผู้ปกครองโดยพระเจ้ามอบให้ แต่เป็นแบบสัญญาประชาคม (Social Contract) ประชาชนตกลงกันเองมอบอำนาจให้ผู้ปกครอง แต่ผู้ปกครองต้องเป็นธรรมราชา ปกครองโดยธรรม ไม่เป็นทรราชย์ กดขี่ประชาชน ถ้าตัวผู้ปกครองเป็นคนไม่ดี ปกครองตามอำเภอใจ ประชาชนก็สามารถเรียกคืนอำนาจปกครองนั้นได้ (เช่น โดยการปฏิวัติ (Revolution) หรือ การลุกฮือ (Uprising)) การเกิดขึ้นของรัฐในพระพุทธศาสนานี้จะคล้ายคลึงกับแนวคิดเรื่องสัญญาประชาคมของ จอห์น ล็อค เพราะล็อคเห็นว่าอำนาจเป็นของประชาชนซึ่งตกลงกันสร้างพันธสัญญายกอำนาจปกครองให้ผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องปกครองโดยธรรม หาไม่แล้วประชาชนย่อมเรียกคืนอำนาจนั้นได้
       
       2. อธิปไตย
       
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่อง “อธิปไตย” ไว้ในสังคีติสูตร ซึ่งพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้อธิบายไว้ดังนี้
       “1. อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ คือ ถือเอาตนเอง ศักดิ์ศรีเกียรติภูมิ ตลอดจนผลประโยชน์ตนเป็นใหญ่ กระทำการด้วยปรารภตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนเป็นประมาณ
       2. โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมของชาวโลกเป็นใหญ่ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทาและสรรเสริญ ไม่มีหลักการที่แน่นอน กระทำการด้วยปรารภจะเอาใจหมู่ชน หาความนิยม หรือหวั่นกลัวเสียงกล่าวว่าเป็นประมาณ
       3. ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ คือหลักความจริงความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผลเป็นใหญ่ กระทำการด้วยปรารภสิ่งที่ได้ศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริง และความคิดเห็นที่รับฟังอย่างกว้างขวางแจ่มชัด และพิจารณาอย่างดีที่สุด เต็มขีดแห่งสติปัญญา จะมองเห็นได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าเป็นไปโดยชอบธรรม และเพื่อความดีงามเป็นประมาณ
       เมื่อรู้หลักอย่างนี้แล้ว ถ้าต้องการรับผิดชอบต่อรัฐ พึงถือหลักข้อ 3 คือ ธรรมาธิปไตย”
       
อนึ่ง ได้มีผู้นำคำสอนเรื่องอธิปไตย 3 ของพระพุทธศาสนามาอธิบายเปรียบเทียบว่า อัตตาธิปไตยเหมือนการปกครองระบอบเผด็จการ โลกาธิปไตยเหมือนการปกครองระบอบประชาธิปไตย ส่วนธรรมาธิปไตยยังไม่มีระบอบการปกครองแบบใดในปัจจุบันมาเปรียบเทียบ ซึ่งการเปรียบเทียบเช่นนี้ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะความหมายของ “อธิปไตย” แปลว่า ความสมควรที่จะเป็นใหญ่ ในความหมายของพระพุทธศาสนาหมายถึง ผู้ปกครองหรือผู้เป็นใหญ่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้สมกับความเป็นหัวหน้าหรือผู้ใหญ่ คือปกครองโดยธรรม มีเหตุมีผล ยึดความถูกต้องเป็นหลัก ไม่ปกครองโดยใช้ความพึงพอใจ หรืออารมณ์ของตนเอง ตามใจชอบ และไม่ปกครองตามใจคนอื่น ๆ หรือตามกระแส ซึ่งอาจเป็นการใช้กฎหมู่ ผิดศีล ผิดธรรมและผิดกฎหมายก็ได้
       กล่าวโดยสรุป อธิปไตย 3 นี้เน้นอยู่ที่ผู้ปกครองหรือผู้นำว่าเมื่อเป็นผู้ปกครองแล้วจะยึดถือสิ่งใดเป็นใหญ่ จะยึดถือเอาใจหรือความต้องการของตนเองเป็นใหญ่ หรือจะยึดถือเอาความเห็นตามกระแสสังคมเป็นใหญ่ หรือจะยึดถือเอาธรรมะ ความถูกต้องความมีเหตุผลเป็นหลัก หาได้หมายถึงระบอบการปกครองที่ว่าอำนาจอธิปไตย หรืออำนาจสูงสุดอยู่ที่คน ๆ เดียว หรืออยู่ที่ประชาชนแต่อย่างใดไม่
       
       3. ระบอบการปกครอง
       
ในสมัยพุทธกาลมีระบอบการปกครองอยู่ 2 ระบอบ คือ ระบอบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ที่กษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาดแต่ผู้เดียว กับระบอบสามัคคีธรรม ซึ่งมีพลเมืองชั้นสูงที่มีอำนาจ ตำแหน่งและเงินเลือกตั้งบุคคลในชนชั้นสูงด้วยกันให้เป็นประธานที่ประชุมหรือเป็นพระราชาที่มีอำนาจจำกัด ต้องขึ้นอยู่กับสภาชนชั้นสูง เช่น การปกครองของแคว้นสักกะที่มีพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาเป็นกษัตริย์ เพราะได้รับเลือกจากพวกราชวงศ์ศากยะด้วยกันให้เป็นพระราชา โดยมีสภาชื่อศากยะสังฆะเป็นผู้ร่วมใช้อำนาจปกครองด้วย การปกครองระบอบสามัคคีธรรมนี้มีลักษณะบางประการคล้ายคลึงกับระบอบประชาธิปไตย คือมีการเลือกตั้งผู้ปกครอง และมีการประชุมสภาที่มีระเบียบปฏิบัติหลายประการคล้ายคลึงกับการประชุมรัฐสภาในปัจจุบัน คือหลักธรรมที่ชื่อว่า อปริหานิยธรรม (ธรรมที่ทำให้เจริญโดยส่วนเดียวคือไม่มีความเสื่อม) แคว้นวัชชีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีก็ปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรมแล้วประสบความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งและเข้มแข็งแม้แต่พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ “อภิมหาอำนาจแห่งชมพูทวีป” ในเวลานั้น ยังมิกล้ายกกองทัพไปตีในตอนแรก ต้องส่งไส้ศึกคือ วัสสการ พราหมณ์ไปยุยงให้แตกความสามัคคีและมิได้ตั้งมั่นอยู่ในอปริหานิยธรรมเสียก่อน จึงสามารถกรีฑาพลไปตีแคว้นวัชชีได้ (3)
       
       หลักอปริหานิยธรรม มี 7 ประการ ดังนี้
       1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
       2. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุมและทำกิจควรทำ
       3. ไม่บัญญัติหรือเลิกล้มข้อบัญญัติตามอำเภอใจ
       4. เคารพให้เกียรติและรับฟังความเห็นของผู้ใหญ่
       5. ให้เกียรติและคุ้มครองสตรีและเด็ก
       6. เคารพสักการบูชาปูชนียสถาน
       7. ให้ความอารักขาแก่พระอรหันต์ สมณพราหมณ์และผู้ทรงวิชาคุณ
       หลักอปริหานิยธรรม 7 นี้สามารถนำมาใช้ในการประชุมทั่วไป แม้แต่การประชุมของข้าราชบริพารของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และแม้ในการประชุมรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ก็น่าจะนำมาใช้ได้ เช่นนี้แล้วการขาดประชุมจนไม่ครบองค์ประชุม และความวุ่นวายอื่น ๆ ในที่ประชุมรัฐสภา เช่น การไม่เคารพเชื่อฟังประธานในที่ประชุมก็คงลดลงได้บ้าง
       
       องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยอมรับระบอบการปกครองทั้งสองแบบที่มีอยู่ในชมพูทวีปดังกล่าวแล้ว พระองค์ไม่ได้สนับสนุนหรือแสดงความเห็นว่าระบอบการปกครองแบบใดดีกว่ากันเพราะทรงเห็นว่าระบอบการปกครองใดก็ไม่สำคัญ สิ่งสำคัญอยู่ที่ผู้ปกครองต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ปกครองโดยธรรม ถ้าเป็นพระราชาก็เป็นธรรมราชา ใช้อำนาจแบบธรรมาธิปไตย การที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงการโต้แย้งคัดค้านระบอบการปกครองที่เป็นอยู่นั้นน่าจะเป็นผลดีต่อการเผยแผ่พระธรรมของพระองค์ ทำให้พระพุทธศาสนาสามารถเผยแผ่เจริญรุ่งเรือง และประดิษฐานอยู่ได้ทั้งในแคว้นที่ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย และระบอบสามัคคีธรรม
       
       หลักธรรมสำหรับธรรมราชา
       1. ทศพิธราชธรรม
ทศพิธราชธรรมนี้ไม่ใช่ธรรมเฉพาะพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ปกครองสูงสุดของประชาชนเท่านั้น หากแต่เป็นธรรมสำหรับผู้ปกครองโดยทั่วไป ตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาลมาจนถึงหัวหน้าครอบครัว ทั้งยังเป็นธรรมสำหรับผู้อยู่ในการปกครองด้วย เพราะการปกครองจะเป็นไปด้วยดี ทั้ง 2 ฝ่ายต้องประพฤติธรรมเหล่านี้ตามฐานะของตน ทศพิธราชธรรมมี 10 ประการ ได้แก่
       1. ทาน – การให้ทาน
       2. ศีล – การตั้งอยู่ในศีล
       3. ปริจจาคะ – การบริจาค
       4. อาชชวะ – ความซื่อตรง
       5. มัททวะ – ความอ่อนโยน
       6. ตปะ – ความมีตบะ
       7. อักโกธะ – ความไม่โกรธ
       8. อวิหิงสา – ความไม่เบียดเบียน
       9. ขันติ – ความอดทน
       10. อวิโรธนะ – ความไม่คลาดธรรม
       
       2. ราชสังคหวัตถุ เป็นธรรมที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน มี 4 ประการ คือ
       1. สัสเมธะ คือ ความฉลาดในการบำรุงพืชพรรณธัญญาหารให้บริบูรณ์
       2. ปุริสเมธะ คือ ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ ส่งเสริมคนดีมีความสามารถ
       3. สัมมาปาสะ คือ ความสามารถในการผูกใจคนให้มีความจงรักภักดี
       4. วาจาเปยยะ คือ การรู้จักใช้วาจาที่สุภาพอ่อนหวาน
       ราชสังคหวัตถุ 4 ประการ นี้ จะก่อให้เกิดผลที่เรียกว่า นิรัคคละ (4) ได้แก่ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ราษฎรไม่ต้องหวาดเกรงโจรผู้ร้าย จนถึงกับไม่ต้องลงกลอนประตูเรือนก็ได้
       
       3. จักรวรรดิวัตร เป็นวัตรหรือหน้าที่ที่พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พึงปฏิบัติ มี 12 ประการ ได้แก่
       1. ควรอนุเคราะห์คนภายในราชสำนักและกองทัพ
       2. ควรผูกไมตรีกับประเทศอื่น
       3. ควรอนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์
       4. ควรเกื้อกูลพราหมณ์และผู้อยู่ในเมือง
       5. ควรอนุเคราะห์ประชาชนในชนบท
       6. ควรอุปการะสมณพราหมณ์ผู้มีศีล
       7. ควรจัดรักษาฝูงเนื้อ นก สัตว์ทั้งหลายมิให้สูญพันธุ์
       8. ควรห้ามชนทั้งหลายมิให้ประพฤติชั่ว
       9. ควรเลี้ยงดูผู้ขัดสนไร้ทรัพย์ เพื่อมิให้ประกอบการทุจริตอันเป็นภัยต่อสังคม
       10. ควรเข้าใกล้สมณพราหมณ์เพื่อศึกษาบุญและบาป กุศลและอกุศลให้ชัดแจ้ง
       11. ควรห้ามจิตมิให้ต้องการไปในที่ที่ไม่ควรเสด็จ
       12. ควรดับความโลภมิให้ปรารถนาในลาภที่ไม่ควรได้
       จากหลักธรรมสำหรับธรรมราชาที่กล่าวข้างต้นย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า องค์พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ล้วนแล้วแต่ทรงบำเพ็ญพระองค์ในฐานะ “ธรรมราชา” ทั้งสิ้น
       
       4. สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค
       
พระพุทธองค์มิได้ตรัสเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคไว้โดยตรง แต่จากพระธรรมและพระวินัย (5) และการประพฤติปฏิบัติจริงของพระองค์นั้นเป็นการให้สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคแก่พุทธศาสนิกชนอย่างมาก จนเป็นที่กล่าวกันว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเสรีภาพและความเสมอภาค” เช่น
       4.1 สิทธิ
       หลักคำสอนในเรื่อง เบญจศีล หรือ ศีล 5 ที่เป็นข้อปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปนั่นเองเป็นการสอนเรื่องความเคารพในสิทธิของผู้อื่น
       1. ปาณาติปาตา เวระมะณี – เว้นจากการเบียดเบียนชีวิตทั้งปวง
       2. อะทินนาทานา เวระมะณี – เว้นจากการลักทรัพย์
       3. กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี – เว้นจากการล่วงละเมิดในกามต่อสามีหรือภรรยาของผู้อื่น
       4. มุสาวาทา เวระมะณี – เว้นจากการกล่าววาจาอันเป็นเท็จ
       5. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี – เว้นจากการดื่มสุรา และเสพสิ่งมึนเมา
       
       4.2 เสรีภาพ
       
พระบรมศาสดา ไม่ทรงบังคับให้ใครเชื่อถือศรัทธาในพระธรรมของพระองค์ แต่ทรงชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้ ผู้ใดจะเชื่อหรือไม่พึงพิจารณา คิดไตร่ตรองด้วยสติปัญญาของตนเองเสียก่อนจึงค่อยเชื่อ หลักธรรมข้อนี้เป็นที่รู้จักและถูกอ้างถึงกันมาก คือ “เกสปุตตสูตร หรือ กาลามสูตร” (6) ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
       1. มา อนุสสะเวนะ – อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะได้ยินได้ฟังตามกันมา
       2. มา ปะรัมปะรายะ – อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างปรัมปราหรืออย่างเถรส่องบาตร
       3. มา อติกิรายะ – อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะมีการเล่าลือกันอย่างกระฉ่อน
       4. มา ปิฏะกะสัมปะทาเนนะ – อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะอ้างว่ามีอยู่ในตำราหรือคัมภีร์
       5. มา ตักกะเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเป็นไปตามหลักตรรกศาสตร์ (Logics)
       6. มา นะยะเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเป็นการคาดคะเนด้วยการอนุมาน
       7. มา อาการะปะริวิตักเกนะ – อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเป็นการตรึกตรองตามอาการหรือใช้สามัญสำนึก (Common Sense)
       8. มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา – อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเข้าได้กับทฤษฎีของเรา
       9. มา ภัพพะรูปะตายะ – อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะมีรูปลักษณะน่าเชื่อถือ หรือผู้พูดเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ
       10. มา สะมะโณ โน คะรูติ – อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะสมณะผู้นั้นเป็นครูของเรา
       ความจริงนั้น พระพุทธองค์มิได้ทรงห้ามมิให้เชื่อแหล่งความรู้ทั้ง 10 ประการนี้ อย่างเด็ดขาด เพียงแต่ทรงแนะนำว่าอย่าเพิ่งด่วนเชื่อทีเดียว ให้ใช้ “สติและปัญญา” ไตร่ตรองดูก่อน เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว เห็นว่ามีเหตุผลจะเชื่อถือก็ได้
       
       4.3 ความเสมอภาค
       
ด้านความเสมอภาคในพระพุทธศาสนานั้นจะเห็นได้ชัดเจน เช่น การคัดค้านเรื่อง “วรรณะ” ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ซึ่งแบ่งมนุษย์ในสังคมออกเป็น 4 ชนชั้นตามกำเนิด โดยแยกจากกันอย่างเด็ดขาด ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร แต่ละวรรณะต้องแต่งงานกันเองภายในวรรณะของตนเท่านั้น การแต่งงานข้ามวรรณะจะไม่ได้รับการยอมรับ ลูกที่ออกมาจะเป็นพวกนอกวรรณะที่เรียกว่า “จัณฑาล หรือ หริชน” ซึ่งในสังคมของชมพูทวีปจะรังเกียจพวกจัณฑาลมาก ถือว่าเป็นตัวกาลกิณี หากพวกจัณฑาลเดินผ่านหน้าบ้านจะต้องนำนมโคมาล้างพื้นเพื่อขับไล่เสนียดจัญไร แต่พระพุทธศาสนามิได้แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะมาจากวรรณะใดก็สามารถปฏิญาณตนเป็นพุทธมามะกะ และสามารถบวชในพระบวรพระพุทธศาสนาได้ทั้งสิ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ พบว่าประเทศอินเดียในปัจจุบัน (ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู) มีผู้นับถือศาสนาพุทธอยู่ประมาณ 10 ล้านคน ชาวพุทธในอินเดียที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในยุคปัจจุบันก็คือ ดร.บาบา สาเหบ อัมเบดการ์ (B.R. Ambedkar) ประธานาธิบดีคนแรกของอินเดีย หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งประกาศตนเป็นพุทธมามะกะเมื่อปี 2499 พร้อมชาวอินเดียกว่า 300,000 คน ที่เมืองนาคปุระ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในวรรณะศูทรและจัณฑาล ที่ต้องการหลีกหนีจากระบบวรรณะซึ่งยังฝังรากลึกอยู่ในค่านิยมของชาวฮินดู นับเป็นจุดเปลี่ยนอันทำให้พระพุทธศาสนาที่สูญสิ้นจากอินเดียไปกว่าพันปี ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยพระธรรมที่ยึดหลักความเสมอภาคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
       
       กล่าวโดยสรุป แม้กงล้อแห่งธรรม (พระธรรมจักร) ในพระพุทธศาสนาจะเริ่มหมุนเมื่อกว่า 2,500 ปีล่วงมาแล้ว นับแต่วันที่ทรงแสดงปฐมเทศนา แต่พระธรรมและพระวินัยเหล่านั้นก็มีความล้ำสมัย เพราะมีหลักการหลายอย่างที่สอดรับหรือสามารถเปรียบเทียบกับแนวคิดและทฤษฎีทางกฎหมายมหาชนซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นในซีกโลกตะวันตกเมื่อประมาณ 300 ปีที่แล้วได้ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการกำเนิดรัฐที่มีความสอดคล้องกับทฤษฎีสัญญาประชาคม เรื่องอธิปไตยและระบอบการปกครองซึ่งพระพุทธศาสนามิได้มุ่งเน้นความสำคัญอยู่ที่ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรือตัวระบอบการปกครองเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งเน้นที่ตัวบุคคลซึ่งเป็น “ผู้ปกครอง” จะต้อง “มีธรรม” และ “ปกครองโดยธรรม” หรือแม้แต่เรื่องสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งพระพุทธศาสนาก็ปรากฏหลักการทั้ง 3 ประการนี้อยู่อย่างครบถ้วน
       
       อนึ่ง ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าความสอดคล้องนั้นจะมีมากกว่าที่ผู้เขียนนำเสนออีกหลายประการ หากว่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้หันกลับมาศึกษาพระธรรมคำสอนอันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง และได้ทรงแสดงธรรมนั้นไว้อย่างจริงจังสักครั้ง แทนที่จะเป็นชาวพุทธตามทะเบียนบ้านหรือตามบิดามารดาแต่เท่านั้น ก็คงจะพบว่าพุทธธรรมอันเป็นอกาลิโกนั้น มิได้ห่างไกลจากชีวิตฆราวาส ผู้ครองเรือนอย่างเราทุกคนเลย.
       
       “ภิกษุทั้งหลาย เราเตือนท่านทั้งหลาย
       สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
       ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ให้ถึงพร้อม
       ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
       พระปัจฉิมโอวาท
       

       เชิงอรรถ
       1.โปรดเปรียบเทียบแนวคิดทางกฎหมายมหาชนใน เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชนว่าด้วย รัฐ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2548), หน้า 16 – 35
       2. คำว่า “กษัตริย์” มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า “เกษตร” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต ส่วนภาษาบาลี จะใช้ว่า “ขัตติยะ” ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกับคำว่า “เขตต” เมื่อไทยนำมาใช้ก็ตัดตัว ต. ที่ซ้ำทิ้งเหลือ “เขต” และคำว่า เขต กับ เกษตร ก็ใช้ในความหมายต่างกัน แต่ ขัตติยะ กับ กษัตริย์ใช้ในความหมายใกล้เคียงกัน
       3. เรื่อง ราวในตอนนี้ ชิต บุรทัต ได้นำมาประพันธ์เป็นหนังสือชื่อ สามัคคีเภทคำฉันท์
       4. นิรัคคละ แปลว่า ไม่ติดขัด ไม่ขัดข้อง เปิดกลอน ถอดกลอน
       5. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกับท่านพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐากว่า ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใด อันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วก็พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งตถาคต (ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปริพพานสูตร)
       6. พระผู้มีภาคเจ้าตรัสแสดงพระธรรมข้อนี้แก่ชาวกาลามโคตร แห่งหมู่บ้านเกสปุตตนิคม
       
       เอกสารอ้างอิง
       
การศาสนา, กรม. พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา, 2525
       เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์. หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน ว่าด้วยรัฐ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2548
       นิศา เชนะกุล. โครงสร้างของพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพ : หอรัตนชัยการพิมพ์, 2546
       พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต). พุทธธรรม. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2542
       วัชรี ทรงประทุม. ความคิดทางการเมืองในพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2547
       สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : คณะเทิดทูนธรรม, 2522
       http://www.dhammathai.org
       ------------------------------------------


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=931
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 00:48 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)