หลักกฎหมายทั่วไป โดย ดร.บุบผา อัครพิมาน

14 พฤษภาคม 2549 23:54 น.

       ในปัจจุบันนี้ หลักกฎหมายทั่วไปนับว่ามีบทบาทสำคัญมากในระบบกฎหมายของประเทศต่าง ๆ เพราะหลักกฎหมายทั่วไปเป็นเครื่องมือที่ศาลใช้เพื่อพิทักษ์รักษาและเป็นหลักประกันในสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งนี้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะคาดการณ์ทุกอย่างได้ล่วงหน้าและกำหนดทางแก้ปัญหาไว้ในกฎหมายลายลักษณ์อักษร โดยศาลจะใช้หลักกฎหมายทั่วไปเข้าไปอุดช่องว่างของกฎหมายลายลักษณ์อักษร การใช้หลักกฎหมายทั่วไป ตลอดจนใช้หลักกฎหมายทั่วไปเป็นพื้นฐานในการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษร
       หลักกฎหมายทั่วไป ถือเป็นบ่อเกิดสำคัญของกฎหมายปกครอง โดยเป็นหลักกฎหมายที่มิได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่สอดแทรกอยู่ในระบบกฎหมายหนึ่ง ๆ ดังที่ศาสตราจารย์ Jean Rivéo ได้เคยบรรยายลักษณะของหลักกฎหมายทั่วไปไว้ว่า “ในรากฐานของทุกระบบกฎหมายจะมีข้อความคิดพื้นฐานของมนุษย์และโลกซึ่งก่อให้เกิดหลักการพื้นฐานจำนวนหนึ่ง อันเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นสังคม โดยหลักกฎหมายทั่วไปจะอิงอยู่กับหลักการพื้นฐานเหล่านี้ ทั้งนี้ การค้นพบหลักกฎหมายทั่วไปของศาลมีลักษณะสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก โดยในการยืนยันความมีอยู่ของหลักหลักหนึ่ง ศาลจะกำหนดบทลงโทษกรณีมีการฝ่าฝืนหลัก และในขณะเดียวกันก็สอดแทรกหลักลงไปในกฎหมายที่มีอยู่ด้วย” (1) หรือดังที่ รศ.ดร.วรพจน์ฯ ได้เคยกล่าวถึงหลักกฎหมายทั่วไปไว้ว่า หลักกฎหมายทั่วไป“ได้แก่ บรรดาหลักการที่เป็นรากฐานของระบบกฎหมายของประเทศทั้งระบบ บางหลักสืบสมมุติฐานว่ามาจากมูลบทเบื้องต้นของการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย หรืออีกนัยหนึ่งระบอบรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) บางหลักสืบสมมุติฐานว่ามาจากตรรกทางนิติศาสตร์ ซึ่งหากไม่มีอยู่แล้วจะเป็นช่องทางให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือเกิดสภาวะไร้ขื่อแปขึ้นในบ้านเมือง” (2)
       ลักษณะของหลักกฎหมายทั่วไปจึงมีความเป็นนามธรรม อะไรคือข้อความคิดพื้นฐานของมนุษย์และหลักในการดำเนินชีวิตร่วมกันของมนุษย์ในสังคม หรืออะไรคือตรรกทางนิติศาสตร์ ซึ่งหากไม่มีอยู่แล้วจะเป็นช่องทางให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือเกิดสภาวะไร้ขื่อแปในบ้านเมืองสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องการความชัดเจน ดังนั้น ปัญหาประการแรกของหลักกฎหมายทั่วไป คือ ปัญหาเกี่ยวกับที่มาของหลักกฎหมายทั่วไป และเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นจะได้กล่าวถึงตัวอย่างของหลักกฎหมายทั่วไปที่ศาลได้นำมาปรับใช้กับคดีอย่างเป็นรูปธรรม
       
       1. ที่มาของหลักกฎหมายปกครองทั่วไป
       

       หลักกฎหมายทั่วไปเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับศาลเพื่อใช้ในการตัดสินคดี ทั้งนี้ เพราะศาลไม่อาจจะปฏิเสธไม่ตัดสินคดีโดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ได้ ดังนั้น ในกรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ศาลจำเป็นต้องสร้างหลักกฎหมายขึ้นมาใช้ ซึ่งหน้าที่ในการสร้างหลักกฎหมายของศาลนี้ มีปัญหาว่าศาลมีอิสระในการสร้างหลักกฎหมายอย่างเต็มที่หรือไม่ หรือศาลจำต้องสร้างหลักกฎหมายภายในกรอบบางอย่าง อันเป็นสิ่งที่จะศึกษากันต่อไป
       
       1.1. กฎหมายลายลักษณ์อักษร
       
       มีคำกล่าวที่ว่าหลักกฎหมายทั่วไปมีสภาพบังคับแม้จะไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้ แต่หลักกฎหมายทั่วไป ก็ยังมีความสัมพันธ์กับกฎหมายลายลักษณ์อักษร กล่าวคือ หลักกฎหมายทั่วไปบางหลัก เกิดขึ้นจากการสกัดหลักที่ได้มาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่ โดยอาจเกิดขึ้นจากการตีความตัวบทกฎหมายที่มีอยู่หรือจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาเจตนารมณ์จากกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือการค้นหาจากเจตนารมณ์ของกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สภาพบังคับของหลักกฎหมายนั้น ๆ จะต้องเกิดขึ้นจากหลักนั้นเอง มิได้อาศัยบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่มีอยู่ กล่าวคือ มิใช่มีผลบังคับเพราะกฎหมายเขียนไว้ เพราะกฎหมายลายลักษณ์ที่มีอยู่เป็นเพียงที่มาโดยอ้อมของหลักกฎหมายทั่วไปเท่านั้น หากต้องอาศัยบทบัญญัติลายลักษณ์อักษร จึงมีสภาพบังคับ หลักกฎหมายนั้นก็มิได้ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไป แต่ถูกนำมาใช้ในฐานะกฎหมายลายลักษณ์อักษร ดังนั้น บรรดากฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายในระดับใด จะถูกนำมาใช้ในฐานะเป็นเพียงข้อมูลหรือองค์ประกอบพื้นฐานที่ศาลจะนำมาใช้เพื่อสร้างหลักกฎหมายทั่วไปเท่านั้น
       
       1.2. กฎหมายจารีตประเพณี
       

       กฎหมายจารีตประเพณีก็คือ หลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่ง
       ได้รับการประพฤติปฏิบัติติดต่อกันมาอย่างสม่ำเสมอและเป็นเวลาช้านาน ตกทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งจนกลายมาเป็นอุปนิสัยร่วมของคนในสังคม (Social habit) และสาธารณชนเกิดความรู้สึกร่วมกันว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำต้องปฏิบัติตาม (opino juris) (3) จากนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กฎหมายจารีตประเพณีประกอบไปด้วยสาระสำคัญสองประการ ประการแรก เป็นองค์ประกอบส่วนข้อเท็จจริง คือ มีการใช้กฎเกณฑ์นั้นอย่างสม่ำเสมอติดต่อกัน และประการที่สอง เป็นองค์ประกอบเชิงจิตวิญญาณ คือ ความรู้สึกร่วมว่าสิ่งนั้นถูกต้องและต้องปฏิบัติตาม (opinio juris sev necessitatis) ในขณะที่ หลักกฎหมายทั่วไปก็เป็นหลักที่มาจากข้อความคิดพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคมจึงสอดคล้องกับองค์ประกอบแรกของกฎหมายจารีตประเพณีที่ต้องเป็นความรู้สึกร่วมว่าสิ่งนั้นถูกต้องและจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้น จึงมีหลักกฎหมายทั่วไปบางหลักที่อาจเป็นสิ่งเดียวกับกฎหมายจารีตประเพณี โดยกฎหมายจารีตประเพณีเป็นเสมือนหนึ่งที่มาของหลักกฎหมายทั่วไป อย่างไรก็ดี แม้จะมีส่วนที่ซ้อนกันอยู่ หลักกฎหมายทั่วไปและกฎหมายจารีตประเพณีก็มิใช่สิ่งเดียวกัน เพราะกฎหมายจารีตประเพณียังมีองค์ประกอบส่วนข้อเท็จจริงคือ ลักษณะ “การใช้” กฎเกณฑ์นั้นอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงถือว่าเป็นกฎหมายจารีตประเพณี แต่สำหรับหลักกฎหมายทั่วไปไม่จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ “การใช้” ดังกล่าว
       การที่หลักกฎหมายทั่วไปไม่มีองค์ประกอบที่ว่าต้องได้รับการประพฤติปฏิบัติติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนที่เป็นรูปธรรมของกฎหมายจารีตประเพณี ทำให้ความเห็นร่วมของสังคมอันเป็นลักษณะสำคัญของหลักกฎหมายทั่วไป ไม่มีสภาพบังคับในทางปฏิบัติได้ทันที แต่เป็นเพียง “วัตถุดิบ” เบื้องต้นของหลักกฎหมายทั่วไปเท่านั้น หากจะเข้ามาในระบบกฎหมายจะต้องผ่านการ “แปรสภาพ” เสียก่อน
       ดังนั้น สำหรับหลักกฎหมายทั่วไปแล้ว เหล่าบรรดาความเห็นร่วมอันเป็นหลักการ
       พื้นฐานของสังคมจำเป็นต้องได้รับการ “แปรสภาพ” ให้มีความเป็นรูปธรรมเสียก่อน ซึ่งศาลจะเข้ามามีบทบาทในการ “แปรสภาพ” ความเห็นร่วมดังกล่าวให้มีความเป็นกฎหมายในทางปฏิบัติ ดังนั้น บทบาทของศาลในการวางหลักกฎหมายทั่วไปจึงมิได้มีเสรีภาพเต็มที่เช่นเดียวกับการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ในขณะเดียวกันก็แตกต่างจากการออกกฎของฝ่ายปกครองซึ่งต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ หรือกรณีที่ศาลมีอำนาจในการออกกฎโดยอาศัยอำนาจตาม
       พระราชบัญญัติ เช่น การที่ศาลวางระเบียบเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีของศาล เป็นต้น ดังนั้น บทบาทของศาลในการวางหลักกฎหมายจึงไม่ใช่การใช้อำนาจโดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งอาจจะกลายเป็นอำนาจอำเภอใจของศาลในที่สุด แต่ขณะเดียวกัน บทบาทของศาลในการวางหลักกฎหมายก็มิใช่เป็นเพียงการรับรู้บรรทัดฐานที่มีอยู่ก่อน (norme préexistante) เท่านั้น (4)
       ดังนั้น กฎหมายจารีตประเพณีและหลักกฎหมายทั่วไป แม้จะมีจุดร่วมสำคัญเดียวกัน แต่หลักกฎหมายทั่วไปก็แตกต่างจากกฎหมายจารีตประเพณี กล่าวคือ สภาพบังคับของกฎหมายจารีตประเพณีมีอยู่โดยไม่จำเป็นต้องให้ศาลยอมรับรู้เสียก่อน ในขณะที่ หลักกฎหมายทั่วไปจะเข้าสู่ระบบกฎหมายได้ก็แต่โดยศาล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า จารีตประเพณีเป็นผลงานของสังคม ส่วนหลักกฎหมายทั่วไปเป็นผลงานของศาล แท้จริงแล้วหลักกฎหมายทั่วไปก็ต้องมีองค์ประกอบสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นนามธรรม : ข้อความคิดพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคม กับองค์ประกอบส่วนรูปธรรม : การนำข้อความคิดนั้นมาใช้โดยศาล ดังนั้น ตราบใดที่ขอความคิดพื้นฐานดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านกระบวนการ “แปรสภาพ” โดยศาล ข้อความคิดนั้นก็ยังไม่มีลักษณะเป็นกฎหมายในระบบกฎหมายของสังคมหนึ่ง ๆ ต่อคำถามที่ว่า หลักกฎหมายทั่วไปหลักหนึ่ง ๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับการยอมรับจากศาลติดต่อกันจนกลายเป็นแนวบรรทัดฐานของศาลหรือไม่ หากใช่ หลักกฎหมายทั่วไปก็จะเป็นเพียงกฎหมายจารีตประเพณีประเภทหนึ่งของสังคมที่มีสมาชิกในสังคมเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ เพราะเป็นหลักที่ศาลได้ยอมรับนำมาใช้ติดต่อกัน ในเรื่องนี้ หากศึกษาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในระบบกฎหมายของต่างประเทศ การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของหลักกฎหมายทั่วไปไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่ศาลนำหลักดังกล่าวมาใช้ บางหลักศาลอาจนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอ แต่บางหลัก คำพิพากษาของศาลเพียงคดีเดียวก็อาจวางหลักกฎหมายทั่วไปที่มีผลใช้บังคับในระบบกฎหมายได้ เพราะการเกิดขึ้นของหลักกฎหมายทั่วไปไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนการใช้ของศาล ดังนั้น หลักกฎหมายทั่วไปจึงไม่ใช่ปรากฏการณ์หนึ่งของจารีตประเพณี ไม่มีลักษณะเป็นจารีตประเพณีที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ในสังคมซึ่งศาลต้องนำไปปรับใช้ในฐานะเป็นกฎหมายที่มีอยู่นอกเหนือเจตนาของศาล และไม่ใช่จารีตประเพณีที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติของศาลเองด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง หลักกฎหมายทั่วไปกับแนวบรรทัดฐานของศาลมิใช่สิ่งเดียวกัน
       
       1.3. แนวบรรทัดฐานของศาล
       

       หลักกฎหมายทั่วไปและแนวทางบรรทัดฐานต่างก็เป็นผลงานของศาล แต่วิธีการสร้างหลักกฎหมายทั่วไป และวางแนวบรรทัดฐาน รวมทั้งเนื้อหาของทั้งสองสิ่งมีความแตกต่าง
       
       1.3.1. ความแตกต่างในวิธีการสร้างหลักกฎหมายทั่วไปและการวางแนวบรรทัดฐานของศาล
       
ในการตัดสินคดีของศาล ศาลมิอาจตัดสินโดยอำเภอใจได้ แต่การสร้างหลักกฎหมายทั่วไปของศาลกับการวางแนวบรรทัดฐานของศาล ศาลมิได้ใช้ข้อมูลที่มีพื้นฐานเดียวกัน ในการวางหลักกฎหมายทั่วไป ศาลไม่มีเสรีภาพเต็มที่ศาลต้องถูกจำกัดเสรีภาพในการสร้างหลักกฎหมายทั่วไป กล่าวคือ ศาลไม่สามารถสร้างหลักโดยอำเภอใจ แต่หลักที่ศาลสร้างจะต้องสอดคล้องกับความเห็นร่วมของคนในสังคม ต้องสอดคล้องกับหลักเหตุผลและหลักตรรกะของวิญญูชน แต่ข้อมูลที่ศาลใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างหลักกฎหมายก็มิใช่ข้อมูลเดียวกับที่ใช้วางแนวบรรทัดฐาน ตัวอย่างของการวางแนวบรรทัดฐานของศาล เช่น การที่สภาแห่งรัฐตัดสินให้ข้าราชการที่ถูกสั่งให้ออกจากงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้รับค่าชดเชยเฉพาะแต่เพื่อความเสียหายที่ได้รับจริงเท่านั้น ไม่รวมถึงการขาดรายได้บางส่วนในช่วงที่คำสั่งให้ออกจากงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายยังไม่ถูกเพิกถอน (5) สภาแห่งรัฐวางแนวการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว โดยวางอยู่บนพื้นฐานของความจำเป็นในทางปฏิบัติ เฉพาะกรณีเป็นเทคนิคที่เกิดโดยศาลเองในขณะที่ การสร้างหลักกฎหมายทั่วไปของสภาแห่งรัฐ ไม่ว่าจะเป็นหลักความเสมอภาคต่อภาระสาธารณะ (l’égalité devant les charges publiques) หลักการให้คู่กรณีมีสิทธิ์โต้แย้งคัดค้านแสดงพยานหลักฐาน (droit de la défense) ...ฯลฯ สภาแห่งรัฐได้รับแรงบรรดาลใจจากข้อเรียกร้องที่เป็นความเห็นร่วมของสังคม (les exigences du milieu social) หลักกฎหมายที่สร้างขึ้นมิได้เป็นผลสะท้อนแนวความคิดส่วนตัวของศาล แต่เป็นการสะท้อนมโนสำนึกของส่วนรวม (Conscience collective) มโนสำนึกร่วมอันเป็นที่มาของหลักกฎหมายทั่วไปจะอยู่เหนือเจตจำนงของศาล และเป็นมโนสำนึกที่มีสภาพเป็นข้อเรียกร้องที่เหนือกว่าข้อเรียกร้องส่วนบุคคล ดังนั้น จึงเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมและมีผลผูกพันมนุษย์ในสังคมทุกคน
       ดังนั้น ในการสร้างหลักกฎหมายศาลจึงไม่มีเสรีภาพในการสร้างหลักตามแนวความคิดส่วนตัว แต่อยู่ภายใต้สิ่งที่เหนือกว่านั้นก็คือ เจตจำนงประชาชาติ ในขณะที่การวางแนวบรรทัดฐานของศาลถูกทำกับด้วยข้อเรียกร้องที่ต่างกัน เช่น ความจำเป็นในทางปฏิบัติ เป็นต้น
       
       1.3.2. ความแตกต่างในทางเนื้อหาและลักษณะของหลักกฎหมายทั่วไปและบรรทัดฐานของศาล
       ในแง่เนื้อหาและลักษณะของหลักกฎหมายทั่วไปที่แตกต่างจากบรรทัดฐานของศาลมีจุดแตกต่างหลัก ๆ อยู่ 3 ประการ
       
       ก) บรรทัดฐานของศาลมีลักษณะเฉพาะแต่หลักกฎหมายมีลักษณะทั่วไป
       คำวินิจฉัยของศาลมีลักษณะเฉพาะเพราะเกิดขึ้นจากการตัดสินคดีใดคดีหนึ่งในประเด็นเฉพาะเรื่อง คำวินิจฉัยของศาลจะไม่เข้าสู่ระบบกฎหมายในฐานะเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป แต่มีผลบังคับเฉพาะในคดีนั้นเท่านั้น อย่างไรก็ดี คำวินิจฉัยของศาลอาจมีลักษณะทั่วไปได้ในบางกรณี โดยคำวินิจฉัยของศาลอาจถูกนำมาใช้เป็นแนวในการตัดสินคดีที่เกิดข้อพิพาทที่มีลักษณะเดียวกัน ซึ่งเป็นกรณีที่คำวินิจฉัยของศาลกลายมาเป็นแนวบรรทัดฐานของศาล เช่น ในคดี Deberles (6) เกิดขึ้นจากกรณีเฉพาะของนาย Deberles เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ แนวคำวินิจฉัยนี้มีผลต่อข้าราชการทุกคนที่ถูกสั่งให้ออกจากงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คำวินิจฉัย หรือแนวบรรทัดฐานของศาลก็ยังมี “ลักษณะเฉพาะ” เพราะเป็นผลที่เกิดขึ้นจากคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะและถูกสร้างขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ ในขณะที่หลักกฎหมายมีลักษณะทั่วไป ถูกนำไปใช้ได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างและหลากหลาย เช่น หลักเรื่องความเสมอภาคอาจถูกนำไปใช้ในสถานการณ์ได้ต่าง ๆ โดยไม่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะกรณีในกรณีหนึ่งเท่านั้น
       ข) บรรทัดฐานของศาลเป็นสิ่งไม่มั่นคงเปลี่ยนแปลงได้ แต่หลักกฎหมายเป็นสิ่งที่มีเสถียรภาพไม่ถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย
       การที่บรรทัดฐานของศาลเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกรณีเฉพาะเรื่องเฉพาะสถานการณ์ ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปผลก็จะเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่หลักกฎหมายทั่วไปนั้นมีที่มาจากมโนสำนึกร่วมของคนในสังคม ดังนั้น จึงมีความมั่นคงกว่า เพราะหลักกฎหมายจะเปลี่ยนแปลงไปก็ต่อเมื่อมโนสำนึกร่วมของสังคมเปลี่ยนแปลงไปแล้วเท่านั้น
       ค) บรรทัดฐานของศาลเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมเกิดจากผลการตัดสินในทางปฏิบัติ ขณะที่หลักกฎหมายเป็นหลักที่อยู่เหนือศาล
       หลักกฎหมายทั่วไป เป็นความจำเป็นหรือข้อเรียกร้องของสังคมที่ผูกพันจิตเจตนาของศาล หลักกฎหมายทั่วไปส่วนใหญ่เป็นหลักที่ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการเคารพต่อความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และการเคารพต่อการพิทักษ์รักษาประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น หลักกฎหมายทั่วไปจึงเป็นผลที่ตามมาของข้อเรียกร้องทางจิตวิญญาณของสังคมที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ศาลอยู่ในสภาพถูกบังคับให้ต้องนำข้อเรียกร้องทางจิตวิญญาณเหล่านี้มาปรับใช้ในฐานะของหลักกฎหมายทั่วไป ถึงที่สุดแล้ว อาจกล่าวได้ว่า “การตัดสินของศาลมุ่งที่จะนำหลักในทางจริยศาสตร์ (éthique) มาปรับใช้กับการดำรงชีวิตของคนในสังคม” (7) ส่วนบรรทัดฐานของศาลเป็นการใช้เทคนิคในทางกฎหมายของศาลเพื่อปรับใช้กฎหมายหรือปรับหลักกฎหมายอันก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่ตามมา ดังนั้น แม้หลักกฎหมายทั่วไปกับบรรทัดฐานของศาลจะมีความแตกต่างกัน แต่มิใช่สิ่งที่ตรงกันข้ามหรือไม่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในทางเนื้อหา แต่กลับจะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมซึ่งกันและกัน เช่น หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะก่อให้เกิดแนวบรรทัดฐานของศาลที่ห้ามมิให้มีการนัดหยุดงานของข้าราชการ หรือ เกิดแนวปฏิบัติที่ว่าข้าราชการที่ลาออกจากราชการยังไม่พ้นหน้าที่ ตราบใดที่การลาออกยังไม่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา เป็นต้น
       ดังนั้น อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ในแง่กระบวนการสร้างหลักกฎหมายทั่วไป ศาลมิได้มีอิสระอย่างเต็มที่ แต่การสร้างหลักกฎหมายของศาลจะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลบางอย่าง โดยข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ อาจสกัดจากบทบัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษร จากเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งระบบ หรือจากกฎเกณฑ์ทางจารีตประเพณี แล้วนำมาผ่านการแปรสภาพให้เป็นหลักกฎหมายทั่วไปโดยผลงานของศาล ส่วนในแง่เนื้อหาของหลักกฎหมายทั่วไป หลักกฎหมายทั่วไปมิใช่ผลการวินิจฉัยของศาลโดยอาศัยความรู้สึกและความเห็นส่วนตัวของศาล จึงมิใช่ผลที่เกิดจากอำเภอใจของศาล ศาลไม่อาจสร้างหลักกฎหมายทั่วไปที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นของสังคมหรือมโนสำนึกร่วมของส่วนรวมได้ หลักกฎหมายทั่วไปที่สร้างขึ้นจะต้องสอดคล้องกับมโนสำนึกร่วมของสังคม ไม่ฝ่าฝืนหลักการปกครองประเทศและรัฐธรรมนูญ
       ดังนั้น หลักกฎหมายทั่วไปจึงเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า มีหลักกฎหมายบางอย่างที่อยู่นอกเหนือเจตนาของผู้บัญญัติกฎหมาย และนอกเหนือจากกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มีอยู่ มีกฎเกณฑ์บางอย่างที่อยู่ภายนอกและอยู่เหนือเจตนาของศาล ส่วนกฎเกณฑ์ที่มีสภาพบังคับนอกเหนือจากกฎหมายที่มีอยู่นั้นมาจากไหน มีแนวการอธิบายสองแนว แนวทางแรกอธิบายว่า รากฐานของหลักกฎหมายทั่วไปมาจากธรรมชาติของสิ่งนั้น ๆ (nature des choses) อันเป็นคำอธิบายของสำนักกฎหมายธรรมชาติแบบคลาสสิค ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง อธิบายว่า หลักกฎหมายทั่วไปเกิดจากความคิดความเห็นร่วมของสาธารณชน (Consensus general du public) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งหลักกฎหมายทั่วไปมาจากมโนสำนึกร่วมของสังคม (Conscience sociale) ผลที่ตามมาของคำอธิบายแรกก็คือ หลักกฎหมายทั่วไปจะมีความเป็นสากลและถาวร ขณะที่ตามคำอธิบายที่สอง หลักกฎหมายทั่วไปจะหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพของสังคมหนึ่ง ๆ ผลที่แตกต่างทั้งสองทฤษฎี แท้จริงแล้วเป็นเพียงความแตกต่างภายนอก ความเป็นสากลและถาวรมิใช่เปลี่ยนแปลงมิได้ แต่หลักที่จะคงความเป็นสากลและมีความถาวรจะต้องปรับเนื้อหาของหลักให้เข้ากับพัฒนาการของสังคมและความคิดของมนุษย์ในสังคมด้วย เพราะหลักกฎหมายทั่วไปไม่อาจจะคงอยู่ได้ในระบบกฎหมายหากปราศจากการยอมรับของสังคม
       ดังนั้น หลักกฎหมายทั่วไปจึงสัมพันธ์กับมนุษย์ เป็นสิ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับอำนาจรัฐ เป็นหลักที่จัดระเบียบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม หลักกฎหมายเหล่านี้ ไม่ว่าจะแตกยอดออกเป็นหลักใด ๆ แต่หากค้นถึงรากฐานแล้วย่อมจะมาจากข้อเรียกร้องพื้นฐานเพื่อสนับสนุนความคงอยู่ของศักดิ์ศรีของมนุษย์ เสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์ เช่น หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ ได้รับการยอมรับในทุกสังคมและทุกยุคทุกสมัย ควบคู่กับการดำรงอยู่ของรัฐ แต่หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะอาจส่งผลในทางปฏิบัติที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับยุคสมัยและความเชื่อของสังคมนั้น ๆ เช่น หลักนี้ส่งผลต่อระบบราชการของไทยหลายทาง หลักหนึ่งที่เกิดขึ้นเช่นห้ามข้าราชการนัดหยุดงาน ในขณะที่ในฝรั่งเศสเดิมก็ห้ามการนัดหยุดงานของข้าราชการเช่นเดียวกัน แต่นับแต่ปี 1950 เป็นต้นมา ศาลได้ยอมรับสิทธิการนัดหยุดงานของข้าราชการ (8) แต่มิได้หมายความว่าหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะจะหายไปจากระบบกฎหมายปกครองของฝรั่งเศส ยังมิวิธีการอื่นที่จะทำให้บริการสาธารณะมีความต่อเนื่อง เช่น ให้ข้าราชการที่จะนัดหยุดงานต้องแจ้งล่วงหน้าภายในระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้ฝ่ายปกครองสามารถหาวิธีการมิให้บริการสาธารณะต้องขัด หรือในกิจการบางประเภทต้องมีการให้บริการขั้นต่ำเป็นต้น หรือผลผูกพันของคำพิพากษาของศาล (autorité de la chose jugée) ก็เป็นความจำเป็นพื้นฐานของทุกสังคม ทั้งนี้เพราะ ไม่ว่าจะเป็นหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะหรือหลักผลผูกพันของคำพิพากษา ล้วนเป็นหลักที่จำเป็นของสังคม เพราะหากบริการของรัฐ เกิดติดขัดขาดความต่อเนื่อง หรือคำพิพากษาของศาลไม่ได้รับการเคารพแล้ว ย่อมกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสังคม ทำให้สังคมระส่ำระส่าย และในที่สุดก็จะไม่สามารถดำรงอยู่เป็นสังคมได้อีกต่อไป
       เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน และมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น บทความนี้จะได้ยกตัวอย่างของหลักกฎหมายทั่วไปที่ศาลนำมาปรับใช้กับคดีต่อไป
       
       2. ตัวอย่างของหลักกฎหมายทั่วไป
       

       แม้ว่ามีนักกฎหมายไทยจำนวนมากที่ยังยึดติดหรือมีแนวโน้มจะยึดติดกับตัวบทที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่ทำให้การติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลในโลกเป็นไปอย่างกว้างขวาง ข้อมูลทางวิชาการในโลกตะวันตกได้เผยแพร่เข้าสู่การรับรู้ของนักกฎหมายทั้งที่เป็นนักปฏิบัติและนักทฤษฎี ประกอบกับประชาชนก็มีความรู้ความเข้าใจในสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของตนในฐานะเป็นสมาชิกของประชาคมโลก ทำให้เกิดการพัฒนาในวงการทางนิติศาสตร์ อันเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการยอมรับความมีอยู่ของหลักกฎหมายทั่วไปทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยบางครั้งหลักกฎหมายทั่วไปเหล่านี้ก็ถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายลายลักษณ์อักษรเฉพาะเรื่อง กล่าวคือ ในการบัญญัติกฎหมาย ผู้มีอำนาจออกกฎหมายอาจได้รับอิทธิพลจากหลักกฎหมายทั่วไป แล้วนำมาบัญญัติไว้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ในการตัดสินคดีของศาลโดยเฉพาะศาลปกครองก็ได้นำหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้ในการตัดสินคดีในฐานะที่หลักกฎหมายทั่วไป คือ นำหลักกฎหมายมาใช้โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ หลักกฎหมายที่จะกล่าวต่อไปนี้ มีทั้งหลักกฎหมายที่อาจเข้าสู่ระบบกฎหมายไทยในฐานะเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรเฉพาะเรื่อง หลักกฎหมายที่ในระบบกฎหมายต่างประเทศถือว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไป แต่ตามระบบกฎหมายไทย หลักดังกล่าวยังไม่เคยได้รับการยอมรับโดยศาลไทย ซึ่งอาจเกิดจากเหตุผลที่ว่ายังไม่มีคดีที่เปิดโอกาสให้ศาลได้นำหลักนั้น ๆ มาใช้หรืออาจเกิดเหตุผลอื่น เช่น ศาลยังไม่กล้ายอมรับหลักที่ไม่มีกฎบัญญัติแต่จากแนวโน้มของศาลปกครองไทยก็เคยได้ยอมรับหลักกฎหมายบางหลักที่แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้แต่ศาลก็นำมาใช้ในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป รวมทั้งหลักกฎหมายทั่วไปที่ศาลปกครองไทยได้เคยตัดสินยอมรับไว้
       
       2.1. หลักความเสมอภาค (principe d’égalité)
       

       หลักความเสมอภาคเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ เป็นหลักประกันสิทธิของราษฎรว่าจะต้องได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน
       โดยในรัฐธรรมนูญของรัฐเสรีประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะบัญญัติรับรองหลักความเสมอภาคไว้อย่างชัดแจ้งสำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ก็ได้บัญญัติรับรองหลักความเสมอภาคไว้ เช่น มาตรา ๕ “ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้” มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” ทั้งนี้ เนื้อหาสำคัญของหลักความเสมอภาคมิได้หมายถึงว่ารัฐจะต้องปฏิบัติต่อทุกคนเหมือนกัน แต่ภายใต้หลักความเสมอภาค รัฐ “ต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่เหมือนกันในสาระสำคัญอย่างเดียวกัน และปฏิบัติต่อบุคคลที่แตกต่างกันในสาระสำคัญแตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของแต่ละคน” (9) จึงจะเป็นหลักความเสมอภาคที่แท้จริง
       อย่างไรก็ดี การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่แตกต่างกันในลักษณะที่แตกต่างกันอันจะถือว่าชอบด้วยหลักความเสมอภาคนั้น ต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเป็นการแยกความแตกต่างของบุคคลโดยคำนึงถึงศาสนา นิกายทางศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา หรือเป็นการแยกความแตกต่างของบุคคลโดยไม่มีเหตุผลที่ควรค่าแก่การรับฟังเนื่องจากหลักความเสมอภาคเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่มีสถานะเป็นหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น องค์กรของรัฐต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการต้องให้การเคารพต่อหลักการนี้
       หลักความเสมอภาคนี้ ประกอบไปด้วยหลักย่อยอีกสี่หลัก คือ หลักความเสมอภาคของบุคคลภายใต้กฎหมาย หลักความเสมอภาคในการทำงานในหน่วยงานของรัฐ หลักความเสมอภาคในการเข้าใช้บริการสาธารณะ และหลักความเสมอภาคต่อการรับภาระสาธารณะ
       
       1. หลักความเสมอภาคของบุคคลภายใต้กฎหมาย กฎหมายในที่นี้หมายถึง รัฐธรรมนูญ กฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ และกฎหมายของฝ่ายบริหารด้วย ฝ่ายปกครองจะต้องเคารพต่อหลักความเสมอภาคของบุคคลภายใต้กฎหมาย นิติกรรมใด ๆ ของฝ่ายปกครองหากออกมาโดยไม่เคารพต่อหลักดังกล่าว อาจถูกฟ้องเพิกถอนเพราะเหตุไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
       ตัวอย่างคำตัดสินขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยคดีปกครองของไทยที่ระบุว่าการกระทำของฝ่ายปกครองฝ่าฝืนหลักแห่งความเสมอภาค ก็คือ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ที่ว่าการที่กรมที่ดินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนมรดกระหว่างบิดากับบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วในอัตราที่แตกต่างกับการโอนมรดกระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (10)
       โดยในคำวินิจฉัยดังกล่าว ให้เหตุผลว่า การจดทะเบียนโอนมรดกระหว่างบิดากับบุตรเป็นการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่เป็นผลสืบเนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก ที่รับรองสิทธิของบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วในลักษณะเดียวกับสิทธิของบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา จึงไม่มีเหตุผลจะพึงรับฟังได้ว่า ทำไมต้องปฏิบัติต่อบุตรทั้งสองประเภทแตกต่างกัน
       อย่างไรก็ดี จากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์นี้ ยังเปิดช่องให้ฝ่าย
       นิติบัญญัติออกกฎหมายกำหนดการปฏิบัติต่อบุตรทั้งสองประเภทแตกต่างกันได้ เพราะการที่คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นว่า สิทธิของบุตรทั้งสองประเภทเป็นสิทธิที่สืบเนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ดังนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติอาจออกพระราชบัญญัติกำหนดความแตกต่างของบุตรทั้งสองประเภทก็ได้ หากมีเหตุผลอันอาจรับฟังได้ กล่าวคือ แม้จะออกกฎหมายยกเว้นหลักความเสมอภาคดังกล่าวได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักทั่วไป ที่ว่า การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่แตกต่างในลักษณะที่แตกต่าง ต้องมิใช่การแยกประเภทของบุคคลโดยไม่มีเหตุผลที่รับฟังได้อันจะกลายเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
       ในประเทศฝรั่งเศส หลักความเสมอภาคของบุคคลภายใต้กฎหมายเป็นหลักกฎหมายทั่วไปดั้งเดิมของหลักความเสมอภาคที่ต่อมาได้รับการขยายไปยังหลักความเสมอภาคอื่น ๆ เช่น หลักความเสมอภาคในการรับบริการสาธารณะ หรือหลักความเสมอภาคในการเสียภาษี ฯลฯ โดยสภาแห่งรัฐฝรั่งเศส ได้เคยตัดสินยอมรับหลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมายมาตลอด คำพิพากษาของศาลมีทั้งที่เห็นว่าการกระทำของฝ่ายปกครองไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมายจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เช่น ในคดี Roubeau ของสภาแห่งรัฐ ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1913 สภาแห่งรัฐวินิจฉัยว่า นายกเทศมนตรีอาจสงวนอำนาจไว้ในข้อบัญญัติของตน เพื่ออาศัยอำนาจดังกล่าวสั่งการยกเว้นไม่นำข้อบัญญัติมาใช้เมื่อเกิดสถานการณ์พิเศษที่มีเหตุผลอันควรรับฟังได้ว่าไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของข้อบัญญัติ โดยสภาแห่งรัฐเห็นว่า บทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาคของพลเมืองภายใต้กฎหมาย ส่วนในคดีของนาย Darmon, Siboun และ Bansoussan ลงวันที่ 21 มกราคม 1944 สภาแห่งรัฐฝรั่งเศสได้เพิกถอนคำสั่งของผู้ปกครองประเทศอัลเจเรีย ที่ออกมาจำกัดจำนวนนักเรียนเชื้อสายยิวที่จะเข้าศึกษาในระดับประถมและมัธยม แต่สภาแห่งรัฐมิได้อ้างหลักความเสมอภาค เพียงอ้างเหตุผลว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวจะทำได้ก็แต่โดยออกเป็นรัฐบัญญัติหรืออาศัยอำนาจตามกฎหมายระดับรัฐบัญญัติเท่านั้น เมื่อไม่มีรัฐบัญญัติให้อำนาจ การกระทำของฝ่ายปกครองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       นอกจากนี้ หลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย ยังขยายไปสู่หลักการเคารพต่อกฎหมายที่ตนกำหนดขึ้นเอง (parterre legem quam ipse feciti) ด้วย ภายใต้หลักการนี้ ฝ่ายปกครองต้องผูกพันต่อกฎเกณฑ์ที่ตนสร้างขึ้น โดยคำสั่งเฉพาะรายที่ตนออกมาจะต้องไม่ฝ่าฝืนกับกฎเกณฑ์ที่ตนกำหนดไว้เป็นการทั่วไป ซึ่งหลักการนี้ ศาลปกครองต่างประเทศ ให้การยอมรับเป็นการทั่วไป (11) สำหรับศาลปกครองไทยเอง ก็ได้เคยยอมรับหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ฝ่ายปกครองต้องเคารพหลักเกณฑ์ที่ตนเป็นผู้สร้างขึ้น ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.14/2545 ในคดีระหว่างนายประมุท สูตุบุตร ผู้ฟ้องคดี กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ผู้ถูกฟ้องคดี โดยในคดีนี้ทั้งศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองสูงสุดและตุลาการผู้แถลงคดีในศาลปกครองสูงสุด (นายไชยเดช ตันติเวสส) ได้อ้างหลักกฎหมายที่ว่าฝ่ายปกครองต้องเคารพหลักเกณฑ์ที่ตนสร้างขึ้น เพื่อเพิกถอนการกระทำของกทช. ที่ไม่เคารพหลักเกณฑ์ทั่วไปที่ตนได้กำหนดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรใดบัญญัติไว้ จึงเป็นกรณีที่ศาลปกครองไทยได้ยอมรับนำหลักดังกล่าวมาใช้ในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป
       
       2. หลักความเสมอภาคของบุคคลในการทำงานในหน่วยงานของรัฐ
       
       หลักความเสมอภาคของบุคคลเกี่ยวกับการทำงานในหน่วยงานของรัฐ มิได้มีการ
       รับรองไว้ตรง ๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 แต่ต้องถือว่าเป็นหลักหนึ่งของหลักความเสมอภาค ส่วนในประเทศฝรั่งเศสนั้น หลักนี้ได้รับการประกาศไว้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนปี 1789 ว่า “พลเมืองทุกคนล้วนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายและ(...) มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าทำงาน ทั้งนี้ ตามความสามารถของบุคคล โดยไม่อาจกำหนดคุณสมบัติอื่นที่ไม่เกี่ยวกับความสามารถของบุคคลได้”
       สภาแห่งรัฐฝรั่งเศส เคยรับฟ้องคดีเกี่ยวกับการโต้แย้งการกำหนดคุณสมบัติในการเข้าดำรงตำแหน่งระดับสูงของกระทรวงการสงคราม ข้อเท็จจริงในคดีนี้ กระทรวงดังกล่าวได้ออกกฤษฎีกาฉบับหนึ่ง โดยสงวนตำแหน่งระดับสูงของกระทรวงไว้ให้แก่บุคลากรชายเท่านั้น จึงถูกบุคลากรหญิงโต้แย้งว่า กฤษฎีกาดังกล่าวขัดต่อหลักความเสมอภาคของบุคคลเกี่ยวกับการทำงานในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสภาแห่งรัฐตัดสินเป็นหลักว่า หญิงมีความสามารถโดยชอบด้วยกฎหมายในงานที่ขึ้นตรงต่อราชการส่วนกลางของกระทรวงต่าง ๆ แต่ฝ่ายปกครองก็สามารถกำหนดคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับงานในตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ ในกระทรวงได้ โดยอาจกำหนดข้อจำกัดสำหรับการรับบุคคลเข้าทำงานหรือหลักเกณฑ์การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเฉพาะบุคลากรหญิงได้ หากข้อจำกัดดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหน้าที่นั้นๆ ทั้งนี้ การกำหนดดังกล่าวจะต้องมีเหตุผลที่รับฟังได้ว่าจำเป็นสำหรับตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ จริง มิได้เกิดจากเหตุผลอื่น (C.E., Ass., 3 กรกฎาคม 1936, Demoiselle BOBARD et autres)
       
       3. หลักความเสมอภาคของบุคคลในการได้รับบริการสาธารณะ
       

       หลักความเสมอภาคขยายขอบเขตมาสู่การเข้ารับบริการสาธารณะของประชาชนด้วย โดยหลักความเสมอภาคนี้ บังคับฝ่ายปกครองว่า ต้องให้บริการต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญอย่างเดียวกันในลักษณะเดียวกันภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันเดียวกัน แต่หลักนี้ไม่ห้ามที่ฝ่ายปกครองจะให้บริการต่อบุคคลที่แตกต่างกันในสาระสำคัญในลักษณะที่แตกต่าง เช่น สภาแห่งรัฐฝรั่งเศสเคยตัดสินว่า นักเรียนของโรงเรียนที่อยู่นอกเส้นทางของรถบริการรับส่งนักเรียน มีสถานะที่แตกต่างจากนักเรียนที่โรงเรียนของตนอยู่ในเขตเส้นทางการเดินรถของรถบริการรับส่ง เมื่อพิจารณาในแง่การเข้ารับบริการสาธารณะด้านการคมนาคมขนส่งนักเรียน รัฐจึงอาจปฏิบัติต่อนักเรียนทั้งสองเขตแตกต่างกันได้ (C.E., 19 มิถุนายน 1992, Département du Puy-de-Dôme c/Bouchon)
       
       4. หลักความเสมอภาคของบุคคลต่อการรับภาระสาธารณะ
       
       หลักความเสมอภาคของบุคคลต่อการรับภาระสาธารณะ เป็นบ่อเกิดของหลักกฎหมายอีกจำนวนมาก และใช้สำหรับเป็นเหตุผลในการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของนิติกรรมทางปกครองต่าง ๆ เช่น หลักความเสมอภาคของบุคคลต่อการรับภาระเสียภาษีให้รัฐ สภาแห่งรัฐเคยวินิจฉัยว่า กฎเกณฑ์ของเมือง Hanoï ที่กำหนดการจัดเก็บภาษีรถยนต์ใช้บังคับทั่วเขตเมืองดังกล่าว และไม่ได้ให้เอกสิทธิ์กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งในเขตเมืองนั้นเป็นการเฉพาะจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (C.E., 5 พฤษภาคม 1922) มาตรการต่าง ๆ ที่ฝ่ายปกครองออกมาจะต้องไม่ไปเพิ่มภาระให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ประกอบอาชีพเดียวกัน ทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบกัน
       นอกจากนี้ หลักความเสมอภาคของบุคคลต่อการรับภาระสาธารณะยังเป็นบ่อเกิดของหลักความรับผิดโดยปราศจากความผิดของรัฐด้วย เช่น ในคดี Couiteas (30 พฤศจิกายน 1923) ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่วางหลักความรับผิดโดยปราศจากความผิดของรัฐ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นในคดี เกิดจากการที่ฝ่ายปกครองปฏิเสธไม่ใช้กำลังเข้าจัดการบังคับให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโดยสภาแห่งรัฐ ตัดสินว่า รัฐบาลมีหน้าที่ในการกำหนดวิธีการที่จะบังคับตามคำพิพากษา ขณะเดียวกันก็มีสิทธิปฏิเสธที่จะใช้กำลังทางการทหารเข้าดำเนินการบังคับ หากเห็นว่าการใช้กำลังบังคับจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองขึ้น การปฏิเสธของรัฐบาลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจึงเป็นการกระทำที่ชอบแล้ว แต่ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ชนะคดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลที่จะกำหนดว่า ค่าเสียหายดังกล่าวชุมชนต้องร่วมรับผิดชอบเท่าไร ค่าเสียหายที่ชุมชนต้องรับผิดชอบ คือ จำนวนความเสียหายที่ฝ่ายปกครองต้องชดใช้
       
       2.2 หลักความเป็นกลาง (principe d’impartialité)
       
       หลักความเป็นกลางเกิดขึ้นจากความคิดพื้นฐานที่ว่า หากบุคคลมีอำนาจสั่งการในเรื่องที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ บุคคลนั้นก็จะสูญเสียความเป็นกลางและจะไม่อาจสั่งการโดยปราศจากอคติในเรื่องนั้น ๆ ได้ ดังนั้น หลักนี้จึงนำมาใช้ในองค์กรของรัฐที่มีอำนาจวินิจฉัยตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งนำมาสู่หลักการคัดค้านผู้พิพากษาที่มีประโยชน์ได้เสียในคดีมิให้เป็นผู้วินิจฉัยในคดีนั้น หรือหลักความเป็นกลางขององค์กรฝ่ายปกครอง ที่ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกรรมการในคณะกรรมการใด ๆ ที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองพิจารณาและวินิจฉัยสั่งการหรือร่วมประชุมและลงมติในเรื่องใด ๆ ที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ ตามระบบกฎหมายไทย หลักดังกล่าวถูกนำมาบัญญัติรับรองไว้ในกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาตรา 13 ถึงมาตรา 20
       สำหรับในต่างประเทศ ได้ยอมรับหลักความเป็นกลางในฐานะหลักกฎหมายทั่วไปมานานแล้ว และได้รับการรับรองไว้ในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Convention européenne de sauvegarde des droits de l’homme et des libertés fondamentales) มาตรา 6 – 1 วรรคแรก ที่ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิ์ที่จะถูกตัดสินการกระทำของตนโดยศาลที่อิสระและมีความเป็นกลาง ซึ่งได้รับการจัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างเป็นธรรม เปิดเผย ภายในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งหรือการถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามกฎหมายอาญา” การห้ามมิให้ตุลาการวินิจฉัยตัดสินเรื่องใด ๆ ที่ตนมีส่วนได้เสียหรือห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครองหรือกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาและวินิจฉัยสั่งการหรือลงมตินี้ ต้องตีความการมีส่วนได้เสียในลักษณะอย่างกว้าง คือ นอกจากเป็นกรณีที่ผู้ออกคำสั่งหรือวินิจฉัยมีความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งกับผู้ยื่นคำร้องหรือคำฟ้องในเรื่องนั้น ๆ เช่น เป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส หรือญาติสนิทกับผู้ยื่นคำร้องหรือคำฟ้องแล้ว ยังรวมถึงกรณีที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยนั้น เคยพิจารณาวินิจฉัยสั่งการเรื่องนั้นมาก่อน ในโอกาสและสถานะอื่น เช่น เคยเป็นผู้พิพากษานั่งพิจารณาในคดีเดียวกันนั้น ในศาลอื่นมาแล้ว หรือเป็นอนุญาโตตุลาการมาแล้ว หรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่หรือกรรมการที่เคยพิจาณณาสั่งการหรือลงมติในเรื่องนั้นมาก่อนในตำแหน่งหรือสถานะอื่นด้วย ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาสภาแห่งรัฐฝรั่งเศส ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2003 ในคดี Dubreuil ในคดีนี้ ศาลวินัยทางงบประมาณและการคลังได้วินิจฉัยลงโทษปรับนาย Dubreuil อดีตผู้อำนวยการสำนักงานอาคารสงเคราะห์ระหว่างท้องถิ่นของมณฑลมณฑลหนึ่งฐานก่อหนี้เกินงบประมาณและอนุมัติการจ่ายเงินรายได้เพิ่มเติมให้แก่พนักงานของสำนักงานฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปรากฏว่า สมาชิกบางคนของศาลวินัยทางงบประมาณฯ ได้เคยพิจารณาการกระทำดังกล่าวของนาย Dubreuil มาแล้วในขณะที่ตนปฏิบัติหน้าที่ในศาลบัญชี สภาแห่งรัฐจึงตัดสินเพิกถอนคำวินิจฉัยของศาลวินัยทางงบประมาณฯ เพราะเหตุขัดกับหลักความเป็นกลาง
       
       2.3 “หลักการมีสิทธิในการปกป้องตนเองของประชาชน” (12) (droit de la défense)
       

       หลักการมีสิทธิในการปกป้องตนเองของประชาชน เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ให้สิทธิแก่บุคคลในการปกป้องนิติฐานะของตนจากการใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการของฝ่ายปกครอง หลักนี้บังคับว่า ก่อนการวินิจฉัยสั่งการที่อาจกระทบต่อสิทธิหรือประโยชน์อันชอบธรรมของบุคคลใด ฝ่ายปกครองต้องให้โอกาสบุคคลนั้น มีโอกาสโต้แย้งชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานของตน ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลนั้นอยู่ในสถานะที่จะปกป้องสิทธิหรือประโยชน์ของตนได้อย่างแท้จริง ฝ่ายปกครองต้องแจ้งข้อเท็จจริงที่จะใช้เป็นข้อมูลในการออกคำสั่งและเหตุผลที่จะใช้ในการออกคำสั่งให้แก่บุคคลนั้นทราบ รวมทั้งต้องให้เวลาพอสมควรแก่บุคคลนั้นในการเตรียมพยานหลักฐานของตน
       หลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชนนี้ ในหลาย ๆ ประเทศไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรให้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปสำหรับการกระทำของฝ่ายปกครองทุกประเภท แต่บัญญัติไว้ในกฎหมายเฉพาะบางฉบับเท่านั้น เช่น ในประเทศเบลเยี่ยม หลักนี้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายเฉพาะฉบับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัย กฎหมายการสาธารณสุข กฎหมายประกันการว่างงาน เป็นต้น เช่นเดียวกับในประเทศฝรั่งเศส ก็ไม่ได้มีการบัญญัติหลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชนไว้เป็นการทั่วไปสำหรับใช้บังคับกับนิติกรรมทางปกครองทุกประเภท แต่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยเท่านั้น แต่ศาลปกครองของประเทศเหล่านี้ได้นำหลักนี้มาใช้ในฐานะที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไปเพื่อจำกัดอำนาจของฝ่ายปกครองในการออกนิติกรรมอื่นที่มีผลกระทบสิทธิของปัจเจกชนด้วย กล่าวคือ แม้ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ ในการออกนิติกรรมทางปกครอง ฝ่ายปกครองก็ต้องเคารพต่อสิทธิการโต้แย้งคัดค้านของผู้ที่จะอยู่ภายใต้บังคับของนิติกรรมทางปกครองนั้น ในระยะแรก มีเพียงตัวอย่างการนำหลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชนนี้มาใช้เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น เช่น สภาแห่งรัฐเคยเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยนาย Téry โดยอ้างกฎหมายลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยที่รับรองหลักนี้ไว้ (C.E., 20 มิถุนายน 1913) ต่อมาในปี 1944 ในคดี Dame Veuve Trompier – Gravier สภาแห่งรัฐได้ยอมรับหลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชนในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป กล่าวคือ แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หลักกฎหมายนี้ก็มีอยู่ ในคดีนี้ สภาแห่งรัฐได้เพิกถอนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้เพิกถอนการอนุญาตเปิดซุ้มขายหนังสือพิมพ์ โดยวางหลักว่าเมื่อคำสั่งทางปกครองมีลักษณะเป็นโทษและมีผลร้ายแรงต่อนิติสถานะของบุคคล ฝ่ายปกครองต้องเคารพหลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชน คือ ต้องให้คู่กรณีมีสิทธิในการต่อสู้คัดค้านแสดงพยานหลักฐานก่อนที่จะออกคำสั่ง
       สำหรับระบบกฎหมายไทย ได้นำหลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชนมาบัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งมีผลใช้บังคับทั่วไป สำหรับการออกคำสั่งทางปกครองทุกประเภท
       
       2.4 หลักเสรีภาพเป็นหลักทั่วไป การจำกัดเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น (La liberté est la regle et la restriction d’exception)
       
       ในระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นำมาซึ่งสิทธิเสรีภาพของพลเมือง โดยในธรรมนูญการปกครองประเทศของรัฐต่างๆ มักจะรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในด้านต่าง ๆ ของประชาชนไว้ ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลักทั่วไป แต่ทั้งนี้ การใช้สิทธิเสรีภาพของตนจะต้องไม่ไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นและไม่กระทบต่อส่วนรวม ดังนั้น ฝ่ายปกครองจึงต้องมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลมิให้ปัจเจกชนแต่ละคนใช้สิทธิเสรีภาพของตนเกินขอบเขตจนไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือกระทบต่อส่วนรวม ซึ่งในการดำเนินการตามหน้าที่ดังกล่าว ฝ่ายปกครองต้องมีอำนาจในการกระทำการ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าอำนาจในการกระทำของฝ่ายปกครองย่อมเป็นข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนเสมอ จึงเป็นที่มาของหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า สิทธิเสรีภาพเป็นหลักทั่วไป การจำกัดเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น การจำกัดสิทธิเสรีภาพจะทำได้ก็แค่เพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือเพื่อพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
       หลักนี้มีผลผูกพันต่อทิ้งฝ่ายปกครองและศาลปกครองให้ต้องเคารพ ภายใต้หลักเสรีภาพของปัจเจกชนกับการใช้อำนาจหรือข้อจำกัดเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น โดยฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจของตนอันเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลได้ ก็ต่อเมื่อปรากฏว่า การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นการกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจริง ๆ เท่านั้น ในกรณีเป็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลปกครอง ศาลต้องชั่งน้ำหนักว่ามาตรการที่ออกโดยฝ่ายปกครองได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดกับเอกชนหรือไม่ ในกรณีที่สงสัย ต้องตีความให้เป็นประโยชน์กับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน เช่น คำพิพากษาของสภาแห่งรัฐฝรั่งเศสในคดี Benjamin (19 มิถุนายน 1993) สภาแห่งรัฐฝรั่งเศสได้พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายกเทศมนตรีที่ห้ามมิให้จัดประชุมฟังการแสดงปาฐกถาของนาย Benjamin เพราะความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอันอาจเกิดจากการปรากฏตัวของนาย Benjamin มิได้ร้ายแรงถึงขนาดที่นายกเทศมนตรีจะไม่สามารถกำหนดมาตรการอื่นที่มีผลกระทบที่รุนแรงน้อยกว่าต่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน
       
       2.5 หลักความไม่มีผลย้อนหลังของนิติกรรมทางปกครอง (Non-rétroactivité des actes administratifs)
       

       หลักนี้ห้ามมิให้ฝ่ายปกครองออกนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวให้มีผลบังคับย้อนหลัง ไม่ว่าจะเป็นนิติกรรมประเภทที่มีผลเป็นการทั่วไป คือ “กฎ” หรือนิติกรรมที่มีผลเฉพาะรายเฉพาะกรณี คือ “คำสั่งทางปกครอง” โดยหลัก กฎจะมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศหรือวันถัดจากวันที่ประกาศหรืออาจกำหนดให้มีผลในอนาคตก็ได้ ส่วนคำสั่งทางปกครองจะมีผลใช้บังคับเมื่อมีการแจ้งให้ผู้อยู่ภายใต้บังคับทราบ (13)
       ศาลปกครองฝรั่งเศสได้ยอมรับตลอดมาว่า ฝ่ายปกครองสามารถออกนิติกรรมทางปกครองที่มีผลบังคับสำหรับในอนาคตเท่านั้น ทั้งนี้ เว้นแต่มีรัฐบัญญัติกำหนดยกเว้นไว้โดยชัดแจ้ง(14) และได้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครองที่มีผลย้อนหลัง (15) เช่น ในคดี Aurore ฝ่ายปกครองได้ออกข้อบัญญัติ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 1947 และประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม 1948 ให้ขึ้นราคากระแสไฟฟ้า โดยให้มีผลใช้ย้อนหลังก่อนวันที่ 1 มกราคม 1948 อันเป็นวันประกาศใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว สภาแห่งรัฐฝรั่งเศสได้เพิกถอนข้อบัญญัติดังกล่าว โดยมีเหตุผลข้อหนึ่งว่า ข้อบัญญัติดังกล่าวฝ่าฝืนหลักกฎหมายที่ว่า “กฎที่ออกมาจะต้องมีผลใช้บังคับสำหรับอนาคตเท่านั้น”
       แต่หลักความไม่มีผลย้อนหลังของนิติกรรมทางปกครองนี้ ศาลปกครองฝรั่งเศสมิได้ยอมรับในฐานะเป็น “หลักเด็ดขาด” แต่มีลักษณะสัมพัทธ์ กล่าวคือ หากมีกฎหมายยกเว้นให้นิติกรรมทางปกครองมีผลย้อนหลังได้แล้ว นิติกรรมทางปกครองก็สามารถมีผลย้อนหลังได้ โดยสภาแห่งรัฐฝรั่งเศสมักจะใช้ถ้อยคำว่า “เมื่อไม่มีกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติให้อำนาจไว้ ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจออกนิติกรรมทางปกครองให้ขัดกับหลักความไม่มีผลย้อนหลังของนิติกรรมทางปกครอง” (16)
       แหล่งที่มาของหลักการไม่มีผลย้อนหลังของนิติกรรมทางปกครองตามระบบกฎหมายฝรั่งเศส มาจากการตีความมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายแพ่ง ที่ว่า “รัฐบัญญัติ (la loi) มีผลใช้บังคับสำหรับอนาคตเท่านั้น ไม่อาจมีผลย้อนหลังได้” แต่มิได้เป็นการนำมาตรา 2 มาใช้บังคับในกฎหมายปกครองโดยตรง และหลักการนี้เป็นการตีความให้สอดคล้องหรือเพื่อให้เกิดความมั่นคงในสถานะทางกฎหมายของบุคคลนั่นเอง
       อย่างไรก็ดี หลักกฎหมายที่มาจากเหตุผลเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงทางนิติสถานะของบุคคลนี้ ยังมีหลักกฎหมายอีกหลักหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายในการรักษานิติสถานะของบุคคล เช่นเดียวกัน ก็คือ หลักการห้ามล่วงละเมิดต่อผลทางกฎหมายของนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียว (Principe d’intangibilité des effets des actes administratifs) หลักนี้ ห้ามมิให้ยกเลิกหรือเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองที่มีผลเป็นการเฉพาะรายอันเป็นการให้ประโยชน์ โดยหลักนี้ ห้ามฝ่ายปกครองกระทำการอันเป็นการกระทบต่อประโยชน์ที่บุคคลได้รับจากนิติกรรมทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย หลักกฎหมายนี้ศาลปกครองฝรั่งเศสได้ยอมรับในฐานะหลักกฎหมายทั่วไปที่ใช้บังคับได้แม้ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้ โดยศาลปกครองฝรั่งเศสจำกัดขอบเขตของการใช้หลักดังกล่าวต่อนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวที่มีผลเป็นการเฉพาะราย ซึ่งก็คือ คำสั่งทางปกครอง เท่านั้น และต้องเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย
       อย่างไรก็ดี หลักนี้มิได้ส่งผลหนักแน่นขนาดว่า คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการให้ประโยชน์ จะไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยสิ้นเชิง แต่มีผลเพียงว่าการยกเลิกหรือเพิกถอนสถานะทางกฎหมายที่เกิดจากคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน กระบวนการและรูปแบบที่รัฐบัญญัติกำหนดเท่านั้น ดังนั้น หากฝ่ายปกครองเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่มีกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติให้อำนาจและไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการและรูปแบบที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดแล้ว การเพิกถอนนั้นก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจถูกฟ้องเพิกถอนได้
       สำหรับระบบกฎหมายไทยนั้น ได้มีการนำหลักดังกล่าวมากำหนดไว้ในกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 53 วรรคสอง ที่ว่า “คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่งทางปกครองอาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนโดยให้มีผลตั้งแต่ขณะที่เพิกถอนหรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กำหนดได้เฉพาะเมื่อมีกรณี
       ดังต่อไปนี้
       (1) มีกฎหมายกำหนดให้เพิกถอนได้หรือมีข้อสงวนสิทธิให้เพิกถอนได้ในคำสั่งทางปกครองนั่นเอง
       (2) คำสั่งทางปกครองนั้นมีข้อกำหนดให้ผู้รับประโยชน์ต้องปฏิบัติ แต่ไม่มีการปฏิบัติภายในเวลาที่กำหนด
       (3) ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ เช่นนี้ในขณะทำคำสั่งทางปกครองแล้วเจ้าหน้าที่คงไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้น และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้
       (4) บทกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีบทกฎหมายเช่นนี้ในขณะทำคำสั่งทาง
       ปกครองแล้วเจ้าหน้าที่คงจะไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้น แต่การเพิกถอนในกรณีนี้ให้กระทำได้เท่าที่ผู้รับประโยชน์ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือยังไม่ได้รับประโยชน์ตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้
       (5) อาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อประชาชนอัน
       จำเป็นต้องป้องกันหรือขจัดเหตุดังกล่าว ...”
       จากบทบัญญัติข้างต้น เห็นได้ว่า ระบบกฎหมายไทย ยอมรับว่า โดยหลักแล้วคำสั่งทางปกครองชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการให้ประโยชน์ไม่อาจถูกเพิกถอนได้เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
       
       2.6 หลักผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาล (Principe de l’autorité de la chose judée)
       

       หลักผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาลถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่สืบเนื่องมาจากหลักนิติรัฐ หลักนี้ส่งผลในทางปฏิบัติสองประการ
       ประการแรก หลักผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาล หมายความว่า คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลมีลักษณะเป็นที่สุดและเด็ดขาด การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลจะทำได้ก็แต่โดยศาลที่อยู่ในลำดับชั้นสูงกว่าเท่านั้น
       ประการที่สอง เมื่อศาลวินิจฉัยแล้ว ผลของคำวินิจฉัยจะผูกพันฝ่ายปกครองและ
       คู่ความให้ต้องเคารพและปฏิบัติตาม และยังรวมไปถึงว่า การกระทำใดของฝ่ายปกครองที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสภาแห่งรัฐของฝรั่งเศสได้วางหลักไว้ในคดี Botta ว่าการกระทำที่ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะเดียวกับฝ่าฝืนรัฐบัญญัติ (17) คำวินิจฉัยนี้ เป็นการยอมรับคุณค่าของหลักผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาลในฐานะที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไป ดังนั้น นิติกรรมทางปกครองใดของฝ่ายปกครองหากออกมาโดยขัดหรือแย้งกับหลักดังกล่าว ก็จะเป็นนิติกรรมทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหลักนี้ได้รับการยืนยันตลอดมาโดยสภาแห่งรัฐ (18)
       นอกจากคำวินิจฉัยของศาลจะผูกพันคู่ความ และฝ่ายปกครองต้องเคารพเมื่อจะออกนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวแล้ว การไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลยังก่อให้เกิดความรับผิดของฝ่ายปกครองตามมาด้วย ในกรณีทั่วไป เมื่อศาลวินิจฉัยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยของศาลในระบบใด (ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม) ฝ่ายปกครองมีหน้าที่จะต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง การปฏิเสธที่จะบังคับคดีให้กับผู้ชนะคดี เป็นละเมิดที่ก่อให้เกิดความรับผิดของฝ่ายปกครอง แต่บางกรณี หากการบังคับคดีอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง การปฏิเสธไม่บังคับคดีของฝ่ายปกครองไม่เป็นความผิด แต่มิได้เป็นเหตุยกเว้นความรับผิดของฝ่ายปกครอง กรณีหลังนี้ฝ่ายปกครองยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ชนะคดีในฐานความรับผิดโดยปราศจากความผิด ด้วยเหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ฝ่ายปกครองจึงไม่บังคับคดีให้แก่ผู้ชนะคดี ในการนี้ผู้ชนะคดีต้องรับภาระสาธารณะมากกว่าประชาชนคนอื่นในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ฝ่ายปกครองต้องเยียวยาชดใช้ให้ (19)แต่ถึงแม้กฎหมายจะกำหนดไว้ในลักษณะให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีก็จริง แต่โดยลักษณะของคดีปกครอง โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง (คดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1)) หากศาลปกครองได้เคยพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ความไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่ว่าบุคคลใดไม่อาจจะอ้างประโยชน์จากความมีอยู่ของนิติกรรมดังกล่าวได้ นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของศาลปกครองย่อมเป็นแนวในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น หากกฎหรือคำสั่งใดของหน่วยงานของรัฐใด ๆ หากศาลปกครองเคยวินิจฉัยเพิกถอนเพราะเหตุไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลคำพิพากษานั้นย่อมผูกพันหน่วยงานทางปกครองอื่นด้วย นอกจากนี้ หากศาลปกครองอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดในการเพิกถอนกฎหรือคำสั่งนั้น ฝ่ายปกครองไม่อาจใช้ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นมาออกกฎหรือคำสั่งได้อีก
       
       2.7 หลักการกระทำเดียวไม่อาจถูกลงโทษสองครั้ง (non bis in idem)
       
       หลักนี้ เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายอาญาในเรื่องของการห้ามมิให้ลงโทษบุคคลที่เคยถูกลงโทษจากการกระทำเดียวกันนั้นมาแล้ว และหลักนี้ขยายเข้ามาใช้ในขอบเขตของกฎหมายปกครองในเรื่องการลงโทษทางวินัย ด้วยข้อความคิดพื้นฐานว่า บุคคลไม่อาจจะถูกลงโทษซ้ำจากการกระทำเดียวกัน และเป็นหลักที่ศาลต้องนำมาใช้แม้จะไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้ ซึ่งหลักนี้ สภาแห่งรัฐของประเทศเบลเยียมได้ตัดสินยอมรับมาโดยตลอด (20)
       
       2.8 หลักเกี่ยวกับบริการสาธารณะ (La loi des Services publics)
       

       การบริการสาธารณะเป็นภารกิจของฝ่ายปกครองที่จะต้องจัดทำเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนโดยรวม ในการทำหน้าที่ดำเนินบริการสาธารณะนั้น ฝ่ายปกครองต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับการบริการสาธารณะ คือ หลักความเสมอภาค หลักความเป็นกลางหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ และหลักบริการสาธารณะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยเสมอ โดยหลักสองหลักแรกนั้น ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อ 2.1 และ 2.2 และหลักแรกทั้งสองหลัก อยู่ภายใต้แนวคิดพื้นฐานที่ต้องการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนจากอำเภอใจของฝ่ายปกครอง แต่หลักสองหลักหลังคือ หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะและหลักบริการสาธารณะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยเสมอ มีแนวคิดพื้นฐานที่แตกต่างออกไป และมุ่งสู่วัตถุประสงค์คนละอย่างกับสองหลักแรก กล่าวคือ มุ่งเพื่อช่วยให้ฝ่ายปกครองสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ
       
       2.8.1 หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ (Principe de la continuité des services publices)
       

       หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ เป็นพื้นฐานแนวความคิดของกฎหมายหลาย ๆ เรื่อง หลักนี้ทำให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อรักษาความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ
       (1) ผลของหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะต่อการปฏิบัติราชการ ทำให้เกิดระบบการรักษาราชการแทน กล่าวคือ เมื่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะต้องมีเจ้าหน้าที่อื่นมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รักษาราชการแทน เช่น กรณีนายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคนให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน (มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534) เป็นต้น
       (2) ผลของหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะต่อบุคลากรภาครัฐ ทำให้ในระบบกฎหมายไทย ห้ามมิให้ข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจนัดหยุดงาน
       ส่วนในระบบกฎหมายของต่างประเทศบางประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะได้มีผลห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนัดหยุดงานเช่นเดียวกันในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ต่อมาสิทธิการนัดหยุดงานได้รับการรับรองไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ ปี 1946 และสภาแห่งรัฐได้มีคำพิพากษาในคดี Dehaene (C.E. Ass 7 juillet 1950) ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธินัดหยุดงานได้ ซึ่งการยอมรับสิทธิการนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า การใช้สิทธินัดหยุดงาน อาจทำให้บริการสาธารณะหยุดชะงักซึ่งประชาชนผู้ใช้บริการอาจเดือดร้อนได้ ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงหาทางประนอมหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะกับสิทธินัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการบังคับให้สหภาพของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะนัดหยุดงานต้องแจ้งการนัดหยุดงานล่วงหน้าเพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายปกครองสามารถแก้ไขปัญหาล่วงหน้าได้ และในบริการสาธารณะบางประเภทที่การหยุดดำเนินการโดยเด็ดขาดอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะได้ เช่น โรงพยาบาล ตำรวจ ไฟฟ้า ฯลฯ ในบริการสาธารณะเหล่านี้ หากจะนัดหยุดงานจะต้องจัดให้มีการบริการขั้นต่ำ
       นอกจากนี้ ภายใต้หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะยังมีผลต่อการลาออกจากราชการของข้าราชการ หรือลาออกจากงานของลูกจ้างของส่วนราชการหรือของพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยหลักนี้มีผลให้การลาออกของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีผลต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้วเท่านั้น ระหว่างที่ยังไม่ได้รับอนุมัติ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นยังคงมีหน้าที่ในการปฏิบัติงานอยู่
       (3) ผลของหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะยังมีผลต่อระบบสัญญาทาง
       ปกครองด้วย กล่าวคือ ทำให้เกิดหลักกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากกฎหมายแพ่ง เช่น แม้ฝ่ายปกครองจะเป็นผู้ผิดสัญญา คู่สัญญาฝ่ายเอกชนไม่อาจนำหลักสัญญาต่างตอบแทนมาใช้ได้ คือ หลักที่ว่าหากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งผิดนัดชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิไม่ชำระหนี้ตอบแทนจนกว่าจะได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้ของฝ่ายที่ผิดนัดนั้นได้ (l’exceptio non adimpleti contractus) ซึ่งหลักนี้ไม่อาจนำมาใช้ในสัญญาทางปกครองโดยเฉพาะสัญญาทางปกครองที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดทำบริการสาธารณะได้ เพราะจะทำให้บริการสาธารณะที่เอกชนจัดทำอยู่นั้นขาดความต่อเนื่อง และประชาชนผู้ใช้บริการต้องเดือดร้อน
       ในกรณีเอกชนผิดสัญญาอย่างร้ายแรงที่มีผลทำให้ขัดขวางการบริการสาธารณะ ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องเข้าดำเนินการนั้นแทนคู่สัญญาหรือให้บุคคลภายนอกเข้าดำเนินการแทนคู่สัญญาโดยเอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หรืออาจยึดบริการสาธารณะนั้นกลับมาทำเองได้
       นอกจากนี้ หากเกิดเหตุอันไม่อาจคาดหมายได้ขึ้น อันอาจกระทบต่อการดำเนินบริการสาธารณะตามสัญญาทางปกครอง ทำให้การปฏิบัติตามสัญญาเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง ซึ่งฝ่ายเอกชนต้องรับภาระบางอย่างเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก หากเหตุนั้นเป็นเพียงเหตุชั่วคราว ฝ่ายปกครองต้องเข้าไปช่วยรับภาระที่เพิ่มขึ้นนั้นบางส่วน เพราะสิ่งที่คู่สัญญาเอกชนดำเนินการเป็นประโยชน์ต่อความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ
       
       2.8.2 หลักการปรับเปลี่ยนบริการสาธารณะให้ทันสมัยเสมอ (Principe de l’adaptabilité des services publices)
       

       หลักการปรับเปลี่ยนบริการสาธารณะให้ทันสมัยเสมอ มาจากแนวคิดว่า บริการสาธารณะเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวม และประโยชน์ส่วนรวมก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ดังนั้น บริการสาธารณะที่ดีนั้นจะต้องสามารถถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตลอดเวลาให้เหมาะสมกับเหตุการณ์และสถานการณ์ใหม่ ๆ เพื่อให้การบริการสาธารณะสอดคล้องกับความต้องการของส่วนรวมมากที่สุด
       หลักการปรับเปลี่ยนบริการสาธารณะให้ทันสมัยนี้ ทำให้รัฐสามารถจะจัดตั้งปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกองค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะได้เสมอ เช่น ในขณะที่ลัทธิเสรีนิยมมีอิทธิพลอย่างสูง รัฐที่ถือลัทธินี้ จะจำกัดอำนาจหน้าที่ของรัฐเฉพาะกิจการที่จำเป็นเท่านั้น เช่น การรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การตัดสินคดี และการต่างประเทศ ดังนั้น รูปแบบขององค์กรของรัฐจะเป็นแบบหนึ่ง แต่ต่อมารัฐต่าง ๆ ได้รับอิทธิพลของข้อความคิดว่าด้วยรัฐสวัสดิการ ภารกิจของรัฐย่อมมากขึ้น การจัดองค์กรของรัฐก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามภาระที่เพิ่มขึ้นนั้น หลักนี้ทำให้รัฐมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนกิจกรรมของตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ทำให้รัฐมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลง จัดตั้ง หรือยุบเลิกบริการสาธารณะของรัฐได้ โดยประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิโต้แย้ง
       นอกจากนี้ หลักการปรับเปลี่ยนบริการสาธารณะให้ทันสมัยเสมอ ยังมีผลต่อระบบสัญญาทางปกครองด้วย โดยเฉพาะสัญญามอบหมายให้เอกชนดำเนินบริการสาธารณะ เพราะบริการสาธารณะไม่ว่าจะจัดทำโดยรัฐหรือโดยเอกชน ยังคงต้องอยู่ภายใต้หลักการเดียวกัน และฝ่ายปกครองก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อการดำเนินบริการสาธารณะได้แม้จะได้มอบหมายให้เอกชนดำเนินการแล้วก็ตาม ยังคงต้องควบคุมดูแลอยู่เสมอ ดังนั้น จึงทำให้เกิดหลักเอกสิทธิ์ของคู่สัญญาฝ่ายปกครองขึ้น กล่าวคือ คู่สัญญาฝ่ายปกครองสามารถสั่งให้เอกชนคู่สัญญาปฏิบัติชำระหนี้ตามสัญญาได้เอง โดยไม่ต้องฟ้องศาล สามารถแก้ไขข้อสัญญาฝ่ายเดียวโดยเอกชนไม่จำต้องยินยอม สามารถสั่งให้เอกชนทำงานเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ หากงานนั้นอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของสัญยาและรวมถึงสามารถยกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียวเมื่อวัตถุประสงค์ของสัญญามิได้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการตอบสนองต่อความต้องการของส่วนรวมอีกต่อไป โดยอำนาจเหล่านี้มีอยู่ในฐานะหลักกฎหมายทั่วไปที่เกิดจากความจำเป็นในการบริการสาธารณะ อำนาจเหล่านี้ฝ่ายปกครองมีอยู่แม้จะมิได้ระบุเอาไว้ในข้อสัญญาก็ตาม
       
       3. บทสรุป
       

       หลักกฎหมายทั่วไปเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อเป็นหลักประกัน หรือพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของฝ่ายปกครอง ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือของฝ่ายปกครองที่ใช้เพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมหนึ่ง ๆ ทำให้เห็นได้ว่า ลำพังเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษร นั้น ถึงแม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะสังคมพัฒนาไป ความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคม รวมทั้งความสัมพันธ์ของปัจเจกชนกับรัฐก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา การนิติบัญญัติไม่อาจจะคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ทุกสิ่ง ดังนั้น การพัฒนาหลักกฎหมายทั่วไปขึ้นมาใช้เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายโดยศาล จึงเป็นสิ่งจำเป็นของสังคมทุกสังคม แต่หลักกฎหมายทั่วไปก็มิใช่หลักที่เกิดขึ้นตามอำเภอใจของศาล ศาลมิได้สร้างกฎหมายขึ้นมาใช้เอง แต่การยอมรับหลักกฎหมายทั่วไปของศาลเป็นการนำเอาความเชื่อความเห็นของส่วนรวมอันเป็นหลักการพื้นฐานของระบบการเมืองการปกครองและรากฐานของระบบกฎหมายในสังคมนั้น ๆ มาพัฒนาเป็นหลักกฎหมายทั่วไปใช้บังคับกับคดีที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ศาลเป็นผู้นำหลักอันเป็นนามธรรมมาใช้เป็นหลักที่เป็นรูปธรรมนั้นเอง แต่หลักกฎหมายบางอย่างก็ใช้ได้เฉพาะกับสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น
       
       เชิงอรรถ
       
       1 . Jean. RIVERO, Droit administratif, Paris, Dolloz, 1996, p.70
       2. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, หลักความชอบกฎหมาย, เอกสารประกอบคำบรรยาย, หน้า 35
       3. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ , เพิ่งอ้าง , น. 34
       4. Bénoit JEANNEAU, Les principes généraux du droit dans la jurisprudence administrative, Sirey, pp. 237-
       238
       5. C.E., 7, avril 1933, Deberles, R.D.P. 1933 , p.624
       6. เพิ่งอ้าง
       7. J.RIVERO, Le juge administrativf : un juge qui gouverne, D., 1951, chron.,p.21
       8. ในคดีของสภาแห่งรัฐ “Dehaene” R.D.P. 1950
       9.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, อ้างแล้ว, น. 30
       10. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (ประชุมใหญ่) ที่ 16/2528, วารสารกฎหมายปกครอง, เล่ม 3 ตอน 3 ธันวาคม 2529, น. 811
       11.เช่น ศาลปกครองฝรั่งเศส : C.E. 31 มกราคม 1938 , Sieurs Pichard et autires; 19 มิถุนายน 1946 , Syn. Des corps gras alimentaires et derives et Sté. Toy-Riont. ศาลปกครองเบลเยี่ยม : C.E., 13 มกราคม 1982, Henry c/Elat belge, no 21.88 ; 4 พฤศจิกายน 1997, Martin c/Commissaire general aux réfugiés, no 69.394 ; 10 มิถุนายน 1998, Van Hoof c/ C.P.A.S de Bruxelles no 74.215
       12.หลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชน หรือ droit de la défense เป็นหลักกฎหมายทั่วไปซึ่งส่งผลต่อกระบวนวิธีพิจารณาเพื่อวินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ว่าจะเป็นกระบวนวิธีพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลหรือการพิจารณาทางปกครองเพื่อออกคำสั่งทางปกครอง ทำให้ในระหว่างวิธีพิจารณาต้องเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งคัดค้านแสดงพยานหลักฐานจากคู่กรณีทุกฝ่าย (procédure contradictoire) นอกจากนี้ หลักกฎหมายทั่วไปหลักนี้ยังสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลักกฎหมายทั่วไปอีกหลักหนึ่ง คือ หลักการรับฟังความทุกฝ่าย หรือ audi alteram partem เนื่องจากผู้ใช้อำนาจวินิจฉัยต้องมีความเป็นกลางในการตัดสินวินิจฉัยเรื่องที่อยู่ในอำนาจของตน ดังนั้น ผู้จะใช้อำนาจวินิจฉัย (ไม่ว่าจะเป็นศาลหรือฝ่ายปกครอง) ต้องคำนึงถึงข้อมูลและพยานหลักฐานอย่างรอบด้านโดยต้องรับฟังความทุกฝ่ายโดยปราศจากอคติ
       13. ตามระบบกฎหมายไทย พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 42 วรรคหนึ่งกำหนดว่า “คำสั่งทางปกครองให้มีผลใช้ยันต่อบุคคลตั้งแต่ขณะที่ผู้นั้นได้รับแจ้งเป็นต้นไป"
       14. C.E., 13 mars 1925, Sieur Rodière, Rec.267 ; 28 février 1947, Maire de Lisieux, Rec. 83 ; 25 juim 1948, Journal l’Aurore, Rec. 1948
       15. C.E., 10 mai 1889, Pierrard et autres, DP.1890.3.86 ; 27 janvier 1893, Laruelle, Rec. 73
       16. C.E., 23 juillet 1947, Sieur Rodière, Rec.382 ; 28 février 1947, Maire de Lisieux,, Rec. 83
       17. C.E., 8 juillet 1904, Botta, Rec.557, D.1906.3.33 cl. Romieu note Hauriou,Gr.Ar., 13e éd., p.81
       18. เช่น C.E.22 juillet 1910, Fabrègues, S.1911 III, p.121 ; 28 mai 1924, Conseil municipal de Brustic, Rec. 510 : 9 mai 1928, Sieur Dinahet, Rec. 591 : 29 déc. 1949, Sté Anonyme des Automobiles Berliet, S. 1951.3.1.
       19. C.E., 30 nov. 1923, Couiteas, Gr.Ar. 13e éd., p.260
       20. C.E., 24 juin 1997, De Clerck, C/Etat belge, no 66.946 : 17 janvier 1996, Verstraete c/Commune de Destelbergen et région flamande, no 57.545 : 24 nov. 1995, Laemont c/Etat belge, no 56.431


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=920
เวลา 26 พฤศจิกายน 2567 11:02 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)