ครั้งที่ 134

14 พฤษภาคม 2549 23:56 น.

       ครั้งที่ 134
       สำหรับวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม 2549
       
       “จริงหรือที่ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการเลือกตั้ง ?”
       
       หลาย ๆ คนคงหายใจคล่องขึ้นหลังจากที่ได้ “รับทราบ” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมาที่ส่งผลทำให้ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ครับ โดยส่วนตัวแล้ว แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับ “เหตุ” ที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยดังกล่าว แต่ก็เห็นด้วยใน “ผล” เพราะการเลือกตั้งใหม่ควรจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ปัญหาวิกฤติของประเทศจบลงได้ครับ อย่างไรก็ดี คงต้องขอกล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้บ้างด้วยความเป็นห่วงว่า “เหตุ” ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยนี้จะกลายมาเป็นบรรทัดฐานในวันข้างหน้าและอาจถูกนำไปใช้อ้างอิงเพื่อสนับสนุนการดำเนินการบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายประการด้วยกัน เพราะเมื่อผมได้มีโอกาสอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 9/2549 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 จำนวน 50 กว่าหน้าแล้วก็รู้สึก “แปลก ๆ”  ในหลายส่วน แต่ผมยังไม่ค่อยอยากที่จะวิจารณ์อะไรมากมายนัก เพราะหลาย ๆ ประเด็นที่อยู่ในคำวินิจฉัยก็เป็นสิ่งที่เคยเขียนเคยพูดกันไปแล้วแต่ก็ “ยาก” ที่จะสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน เริ่มจากการ “รับเรื่อง” ไว้พิจารณาตามมาตรา 198 แห่งรัฐธรรมนูญที่ปรากฏอยู่ในหน้า 8 ของคำวินิจฉัยที่กล่าวว่า มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติโดยชัดแจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง องค์กรใดเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหรือข้อบังคับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอให้พิจารณา กรณีนี้ผมคิดว่าไม่ควรเกิดปัญหาเช่นนี้อีก เพราะเคยเกิดมาแล้วในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2543 ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่ากฎหมายระดับพระราชบัญญัตินั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัตินั้น ในขณะที่อนุบัญญัติทั้งหลายก็อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองที่จะตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของอนุบัญญัติเหล่านั้น สงสัยว่าแก้รัฐธรรมนูญคราวนี้คงจะต้องเขียนให้ชัดจะได้ไม่เกิดปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลกันอีกต่อไป นอกจากนี้แล้ว ในตอนท้ายของคำวินิจฉัยในหน้า 8 ก็ยังกล่าวไว้อีกว่า “……จึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลปกครอง…… จึงเป็นอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” เรื่องนี้ก็เคยวิจารณ์กันไปหลายหนโดยนักวิชาการหลาย ๆ คนแล้วว่า เรื่องใดที่จะอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้นั้นจะต้องเป็นเรื่องที่บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญว่าอยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ มิใช่เรื่องใดที่ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาของศาลอื่น แล้วจะต้องไปอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ครับ ส่วนกรณีอื่น ๆ ที่สมควรกล่าวถึงยังมีอีกมากมายหลายประการ ผมคงต้องขอใช้สิทธิ์นักวิชาการ “ผ่า” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ในเร็ววันนี้ครับ ซึ่งจริงๆแล้วผมเข้าใจว่า “นักกฎหมาย” แท้ๆที่อ่านคำวินิจฉัยดังกล่าวอย่าง “เป็นกลาง” และ “ไม่เข้าข้าง” ใครเลยจะมีความรู้สึกไม่ต่างกันไปเท่าไหร่นักหลังจากอ่านคำวินิจฉัยจบ คงสงสัยว่า “หลักกฎหมาย” ที่เราอุตส่าห์ร่ำเรียนกันมาไปอยู่เสียที่ใด ก็อย่างที่เราทราบนะครับว่า ในวันนี้เราทุกคนต่างก็มี “เป้า” ที่จะแก้วิกฤตของประเทศ “เส้นทาง” ที่จะนำไปสู่ “เป้า” ดังกล่าวจึงไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจเท่าไรนัก เพราะจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครออกมา “วิจารณ์” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันเลยทั้งๆที่มีประเด็นให้วิจารณ์มากมาย ส่วนหนึ่งแล้วเข้าใจว่าหลายๆคนอาจ “กลัว” ว่าหากตนเองพูดอะไรออกไป ก็อาจถูกโยงไปว่าไม่น้อมรับ “พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทั้งๆที่จริงแล้วการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ “ศาลฎีกา” เป็นแกนนำในการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศก็เพราะต้องการให้นักกฎหมายระดับสูงที่เป็นกลาง “ใช้กฎหมาย” หาทางออกให้กับประเทศครับ
       ผมขอส่งกำลังใจให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมานิตย์ วิทยาเต็ม ด้วยที่ “กล้า” วินิจฉัยว่า เรื่องที่เสนอมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากการเลือกตั้งก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบการปกครองประเทศอันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้เพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าว ที่ต้องส่งกำลังใจไปให้ก็เพราะประการแรกนั้นผมเห็นมีการ “วิจารณ์” การตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมานิตย์ ฯ กันมากเหลือเกิน ส่วนประการที่สองคือตัวผมเองนั้นผมมองประเด็นคล้ายๆกัน โดยในประเด็นแรกนั้น ผมมองว่าพระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 เป็น "การกระทำทางรัฐบาล” (acte de gouvernement) ที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจการตรวจสอบของศาลใดทั้งสิ้นเพราะเป็นเรื่องนโยบายที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อรัฐสภาครับ ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งก็เป็น “ดุลพินิจโดยแท้” ของฝ่ายบริหารที่ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลเช่นเดียวกัน สำหรับประเด็นที่สองนั้นผมเห็นว่าการจัดให้มีคูหาสำหรับเลือกตั้ง ถือเป็นการแสดงเจตนาที่เพียงพอที่จะให้การเลือกตั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งโดยลับแล้ว หากมีคนไป “แอบดู” แล้วเราบอกว่าการเลือกตั้งนั้น “ไม่ลับ” ก็คงไม่ได้หรอกครับ เพราะหาก “ไม่ลับ” แล้วเราจะทำคูหาเลือกตั้งกันไปทำไมครับ !! กรณีนี้คนที่ผิดน่าจะเป็นคนที่ “แอบดู” มากกว่า “คนจัดคูหา” นะครับ แต่อย่างไรก็ตาม ก็อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วตั้งแต่ต้นว่า แม้ผมจะไม่เห็นด้วยใน “เหตุ” ทั้งหลายที่นำมาใช้ในคำวินิจฉัยเพื่อทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ผมก็เห็นด้วยกับ “ผล” ที่ออกมาเพราะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมานี่แหละครับ ที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้ประเทศไทยมีปัญหาวุ่นวายกันอยู่จนทุกวันนี้ ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับศาลรัฐธรรมนูญสำหรับคำวินิจฉัยนี้ไว้ด้วย แต่ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ผมยังอดห่วงไม่ได้ว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกว่า “บรรทัดฐาน” ที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยนี้จะสร้างปัญหาให้กับการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการต่างๆในวันข้างหน้าเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งที่มีผู้นำไปใช้และแปลความจนสร้างปัญหาให้กับการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการต่างๆที่เคยเกิดขึ้นมาช่วงเวลาที่ผ่านมา (เช่น การใช้หลักรัฐศาสตร์ หรือหลักนิติศาสตร์ในการพิจารณาคดี) หรือไม่ครับ ก็ต้องรอดูกันต่อไป แต่ในวันนี้ก็ต้องถือว่าผลของคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ได้แก้ปัญหาวิกฤตของประเทศไปได้หนึ่งเปลาะครับ
       ผมมานั่งทบทวนดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาแล้วมีความรู้สึกอย่างหนึ่งคือ ทำไมเราถึงได้ “ลืม” อะไรง่ายเหลือเกิน เหตุการณ์บ้านเมืองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอะไรให้จดจำเยอะ และพอมาถึงวันนี้เราก็ลืมกันหมด ไม่ว่าจะเป็นความพึงพอใจสูงสุดที่มีต่อตัวนายกรัฐมนตรีหรือต่อนโยบายต่างๆของรัฐบาลในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ในวันนี้นายกรัฐมนตรีกลายสภาพเป็นจำเลยของสังคมไปแล้ว ถ้ารู้ว่าเหตุการณ์จะกลายเป็นเช่นนี้คงไม่มีใครยอมปล่อยให้นายกรัฐมนตรีคนนี้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่แรก คงต้องย้อนกลับไปดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีสองคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยแรกคือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544 กรณีนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร “ซุกหุ้น” ที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากมีมติ 8 ต่อ7 ว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295 ซึ่งภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติดังกล่าวออกมา คงจำกันได้นะครับว่าบรรยากาศเป็นอย่างไร และมีการวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 8 เสียงกันอย่างไร ลองย้อนกลับไปมองดูอีกด้านหนึ่งว่า ในวันนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้นายกรัฐมนตรีมีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295 นายกรัฐมนตรีก็จะต้องถูกห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆเป็นเวลา 5 ปี นึกๆดูแล้วก็ “เสียดาย” เหมือนกันนะครับที่ทำไมเสียงข้างมากถึงเห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295 ไม่เช่นนั้นเราอาจไม่ต้องเผชิญวิกฤตกันถึงขนาดนี้ก็เป็นได้ครับ ใครสนใจจะทบทวนเหตุการณ์ลองไปอ่านคำวินิจฉัยที่ 20/2544 ดูนะครับและขอแนะนำอย่างจริงจังให้อ่านคำวินิจฉัยส่วนตัวของ คุณประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นดูด้วยครับ แล้วจะ “เข้าใจ” ว่าอะไรเป็นอะไร (คุณประเสริฐ นาสกุล ก่อนดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญรับราชการอยู่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตำแหน่งสุดท้ายคือ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาครับ) คำวินิจฉัยที่สองก็คือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2549 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งวินิจฉัยไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยกรณีนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร “ซุกหุ้น ภาค 2” ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เองโดยมีเหตุผลว่าเอกสารคำร้องขาดความชัดเจน คงจำกันได้เช่นกันนะครับว่าบรรยากาศเป็นอย่างไร และมีการวิพากษ์วิจารณ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 8 เสียงกันอย่างไร ถ้าผมจำไม่ผิดไม่กี่วันหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกไป ก็เกิดการลอบวางเพลิง (หรืออะไรทำนองนั้น) ที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยครับ ก็ต้องลองนึกย้อนกลับไปดูว่า หากวันนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 6 เสียงเป็นฝ่ายชนะ และศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้พิจารณา เรื่องก็อาจไม่ยุ่งยากขนาดนี้ก็เป็นได้ครับ นี่เป็นเพียงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่ผมยกขึ้นมาเตือนความจำ เพราะนอกจากนี้แล้วเราก็ยังมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นในสังคมอีกมากมายทั้งปัญหาที่เกิดจากตัวบทรัฐธรรมนูญหรือปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในวันนี้ เมื่อย้อนกลับไปทบทวน “อดีต” ที่ผ่านมา ผมจึงไม่ค่อยจะแน่ใจเท่าไหร่ว่า จริงหรือที่ปัญหาวิกฤตของประเทศไทยในปัจจุบันเกิดจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 แต่เพียงอย่างเดียว เพราะยังคงมีองค์ประกอบอื่นอีกหลายประการด้วยกันที่ทำให้เราต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ในวันนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นที่ผ่านมาเกิดขึ้นอีกในอนาคต เราคงต้องช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด แล้วนำมากำหนดเป็นมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีกต่อไป
       ขอย้อนกลับไปถึงบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วที่ผมได้แสดงให้เห็นถึงมุมมองของผมว่า พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ให้ฝ่ายตุลาการร่วมกันหาทางออกให้กับวิกฤติของประเทศนั้นไม่น่าจะจำกัดอยู่เฉพาะการใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่น่าจะเป็นการให้ฝ่ายตุลาการที่เป็นนักกฎหมายระดับสูง มีความเป็นอิสระและไม่อยู่ภายใต้อาณัติใด ๆ เข้ามาช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ ซึ่งฝ่ายตุลาการสามารถเสนอทางออกให้กับผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินการได้ มุมมองของผมถูกนักกฎหมายหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ครับ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานศาลทั้ง 3 ก็ได้ประชุมกันอีกครั้งเพื่อหาทางแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศตามแนวพระราชดำรัส และในที่สุดก็มีความเห็นร่วมกันว่า จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเนื่องจากการดำเนินการอันไม่ถูกต้องของ กกต. ดังนั้น ศาลทั้ง 3 ศาลจึงต้องเข้าไปดูแลการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่ให้เป็นไปโดยสุจริต ซึ่งก็หมายความว่า กกต. ชุดปัจจุบันควรจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกและเปิดโอกาสให้มี กกต.ชุดใหม่เข้าไปทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งครับ นี่แหละครับคือสิ่งที่ผม “คิด” เอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าต้องเกิดขึ้นครับ! ฝ่ายตุลาการไม่ได้เข้ามาใช้อำนาจตุลาการแต่เพียงอย่างเดียวในการแก้ปัญหาอย่างที่ผู้คนจำนวนมาก (ซึ่งไม่ใช่ผม!) ได้ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้แล้วครับ คงต้องรอดูกันต่อไปว่า การใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการในลักษณะนี้จะ “พัฒนา” ไปอย่างไรต่อไป และจะแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างเรียบร้อยแค่ไหนครับ
       
       เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในการประชุมประชาปรึกษาเรื่อง “การปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ที่จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยสภาที่ปรึกษาฯ ขอให้ผมนำเสนอแนวคิดเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยมาตรา 313 ครับ ประเด็นเรื่องรูปแบบของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เราประสงค์กันนั้นเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมาก แล้วนักกฎหมายก็กลายเป็น “จำเลย” ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกฎหมายมหาชน ทั้งนี้เนื่องจากคนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน “มีปัญหา” และปัญหาที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากนักกฎหมายจำนวนมากที่เข้าไปเป็น สสร.นั่นแหละครับที่จะเอากลไกและกระบวนการจากหลายๆประเทศมาผสมปนเปกันจนยุ่งวุ่นวายไปหมด ในที่ประชุมวันนั้น นักกฎหมายจึงกลายเป็นจำเลยที่น่า “รังเกียจ” แล้วก็มีเสียงหลายๆเสียงที่ไม่อยากให้นักกฎหมายเข้ามายุ่งกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพราะเกรงจะทำให้เกิดปัญหาแก่ประเทศอีก ในที่ประชุมมีคุณป้าคนหนึ่งถึงกับเสนอ “ไม่เอานักกฎหมายมหาชน” อีกแล้วเพราะนักกฎหมายมหาชนเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญก็ทำให้เกิดปัญหา เมื่อเข้าไปอยู่ในองค์กรต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดปัญหา ไปอยู่ที่ไหนก็เกิดปัญหาทั้งนั้น (พวกที่เรียกกันว่าเนติบริกร) ฟังๆดูแล้วก็น่า “น้อยใจ” แทนนักกฎหมายมหาชนนะครับที่ในวันนี้ถูก “วิพากษ์วิจารณ์” และถูก “รังเกียจ” ก็คงต้องติดตามกันต่อไปนะครับว่าในที่สุดแล้วใครจะมาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือมาเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากจะตั้งป้อมไม่ให้นักกฎหมายเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เราจะให้ใครเป็นผู้ทำครับ! เพราะอย่างที่เราทราบกันอยู่ว่า สาระสำคัญส่วนใหญ่ของกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการกำหนดกลไกและกระบวนการสำคัญในการดำเนินการต่างๆซึ่งเป็นเรื่องทาง “เทคนิค” ที่ต้องให้คนมีความเชี่ยวชาญเป็นคนดำเนินการ ส่วนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้นคงไม่มีใครปฏิเสธหรอกครับว่า ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดหรือให้ความเห็นในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญไม่ได้ คงต้องเดินทางไปด้วยกันระหว่าง นักกฎหมายที่สามารถวางระบบ กับตัวแทนประชาชนที่จะนำเอาเจตนารมณ์ของประชาชนไปบรรจุไว้ในกติกาสูงสุด แต่เท่าที่ผมฟัง ๆ ดูในที่ประชุมในวันนั้นคล้ายกับว่าจะให้นักกฎหมายเป็นแค่ “มือไม้” ของตัวแทนสาขาวิชาชีพที่จะเป็นผู้กำหนดโครงสร้าง สาระ และระบบทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็จะ “พูด” ให้นักกฎหมายฟัง นักกฎหมายมีหน้าที่เพียงนำคำพูดเหล่านั้นไปเรียบเรียงเป็นมาตราเป็นหมวดต่อไปครับ! ก็เช่นเดียวกับประเด็นอื่นนะครับ คงต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างไรกันต่อไป
       
       ในคราวที่แล้ว ผมได้นำเสนอสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเวเนซุเอลาไปแล้ว 3 หมวด คือ หมวดที่ 1 ว่าด้วยหลักพื้นฐานแห่งสาธารณรัฐ หมวดที่ 2 ว่าด้วยอาณาเขตและการแบ่งเขตการปกครองประเทศ และหมวดที่ 3 ว่าด้วยหน้าที่ สิทธิ และหลักประกัน และรับปากว่าจะนำเสนอส่วนที่ยังค้างอยู่ในคราวนี้ แต่เพื่อไม่ให้บทบรรณาธิการครั้งนี้ยาวจนเกินไปเช่นบทบรรณาธิการครั้งที่ผ่านมา ผมจึงขอนำเอาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญเวเนซุเอลาในส่วนที่ยังติดค้างอยู่ คือหมวดที่ 4 ถึงหมวดที่ 9 รวมกับของเดิมที่ลงไปแล้ว ไปนำเสนอเป็น “บทความ” ในคราวหน้าครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความจำนวนมากที่ส่งมาร่วมกับเรา แต่ผมขอนำเสนอเพียง 3 บทความก่อนคือ บทความเรื่อง “หลักกฎหมายทั่วไป” โดย ดร.บุบผา อัครพิมาน แห่งสำนักงานศาลปกครอง บทความที่สองคือ บทความเรื่อง “กระแสพระราชดำรัส บทสะท้อนในการปฏิรูปการเลือกตั้งไทยยุคปัจจุบัน” โดยอาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และบทความสุดท้ายคือ บทความเรื่อง “ปัญหาการเมืองหรือปัญหากฎหมาย” โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการที่มีส่วนร่วมกับเราอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาที่ผ่านมา ซึ่งผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 3 ไว้ ณ ที่นี้ และหวังว่าคงจะส่งบทความมาร่วมกับเราต่อไปอีกครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2549 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=919
เวลา 28 เมษายน 2567 23:38 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)