|
|
ปัญหาการเมืองหรือปัญหากฎหมาย โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง 14 พฤษภาคม 2549 23:54 น.
|
ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 6 วินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ คะแนน 9 ต่อ 5 ให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็มีทั้งที่พอใจและไม่พอใจ อย่างน้อยก็ได้แก่คนที่กาช่องโนโหวตกับคนที่เลือกพรรคไทยรักไทยนั่นแหละครับ
ประชาธิปไตยของไทยเรานับแต่ปี 2475 ในแต่ละยุคแต่ละสมัยนอกเหนือจากยุคที่อยู่ภายใต้อุ้งเท้าของเผด็จการทหาร ในยุคแรกๆกลไกหรือสถาบันการเมืองที่เป็นผู้จัดการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองหรือเรียกง่าย ๆ ว่า หัวใจของระบอบ อยู่ที่สภาที่ได้รับการแต่งตั้ง แต่พอหลังยุค 14 ตุลา 16 หัวใจของระบอบเคลื่อนไปอยู่ที่การเลือกตั้งและระบบรัฐสภาแทน ต่อมาหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับธงเขียวหรือฉบับประชาชน พ.ศ.2540 หัวใจของระบอบตกอยู่ที่วุฒิสภากับองค์กรอิสระ
แต่พอลุถึงยุคทักษิณ 49 วิกฤติการณ์การเมืองครั้งนี้พลิกให้ศูนย์กลางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เคลื่อนจากวุฒิสภาและองค์กรอิสระไปสู่องค์กรตุลาการหรือศาล ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าศาลจะเป็นสถาบันสุดท้ายที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ให้ลุล่วงไปได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆสถาบันทางการเมืองอื่นทั้งหมดถูกใช้ไปหมดแล้วแต่ก็ไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา กกต. ปปช.ฯลฯ ดังนั้น หากศาลล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤติการณ์ครั้งนี้อีก ก็คงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยว่าการเมืองไทยจะเกิดวิกฤติศรัทธาครั้งใหญ่ต่อสถาบันการเมืองทั้งหมดหรือไม่
การตัดสินให้เลือกตั้งใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ คงไม่ใช่คำตอบของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมด แต่อย่างน้อยข้อดีของมันก็คือเราแก้ความขัดแย้งได้ชั่วคราว ข้อเสียก็คือคำถามที่ตามมา หากนายกฯ หลังการเลือกตั้งยังชื่อทักษิณอยู่เรื่องจะจบไหม หรือถ้าเป็นร่างทรงของทักษิณอยู่เรื่องจะจบไหม ซึ่งผมก็เชื่อว่าเรื่องก็คงไม่จบง่าย ๆ
แต่ประเด็นปัญหาที่ตามมาของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ หากมองในแง่ของการตัดสินปัญหาทางการเมืองแล้ว มีปัญหาที่น่าคิดก็คือจะถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการรัฐประหารฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารด้วยอำนาจตุลาการหรือไม่ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนี้คือปัญหาทางการเมือง การตัดสินปัญหาควรที่จะมาจากกระบวนการทางการเมือง และเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการวินิจฉัยนั้นร้ายแรงถึงขนาดจะต้องทำให้การเลือกตั้งเสียไปหรือไม่ เพราะศาลหรือองค์กรตุลาการนั้นในการพิจารณาคดีจะต้องใช้กฎหมายเป็นหลัก ในที่นี้ก็คือรัฐธรรมนูญนั้นเอง แต่ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ถามว่ามีผลผูกพันไหม ก็ต้องตอบว่ามีแน่นอน แต่คนที่ยอมรับโดยสนิทใจนั้นมีมากน้อยแค่ไหน
ในทางกลับกันจากการที่องค์กรตุลาการสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ซึ่งหมายความรวมถึงองค์กรอิสระทั้งหลายได้ แต่ในตัวขององค์กรตุลาการเองนั้น นอกเหนือจากการตรวจสอบตุลาการเฉพาะรายบุคคลที่สามารถตรวจสอบโดยวุฒิสภาและปปช.ได้แล้ว แต่การตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการสามารถตรวจสอบโดยองค์กรอื่นได้หรือไม่ อาจจะมีคำตอบว่า มีโดยการตรวจสอบกันเองโดยศาลในลำดับชั้นที่สูงกว่าขึ้นไป แต่หากเป็นศาลลำดับสูงสุดแล้วหรือเป็นศาลที่มีลำดับชั้นเพียงชั้นเดียว เช่นศาลรัฐธรรมนูญนี้ ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ หากไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจได้หรือขาดการยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยอื่นที่มาจากประชาชน จะหมายความว่าองค์กรฝ่ายตุลาการอยู่เหนือองค์กรอื่นทั้งหมดหรือแม้กระทั่งประชาชนกระนั้นหรือ
รัฐธรรมนูญ 2540 ร่างขึ้นอย่างไม่ไว้ใจและมีอคติต่อนักการเมืองที่ถูกเรียกว่า นักเลือกตั้ง แต่ยังยอมรับความเป็นตัวแทนประชาชนของนักการเมือง สภาร่างรัฐธรรมนูญจึงให้บทบาทนักการเมืองไว้ในการตรวจสอบหรือสรรหาองค์กรอิสระและเรื่องอื่น ๆ สูงกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆมา แต่วิกฤติการณ์การเมืองในครั้งนี้รุนแรงกว่าในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ครั้งหนึ่งสังคมไทยเคยดีใจกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้นในปี 2544 นั้น สังคมกลับยอมรับไม่ได้กับการขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณในปี 2549 ประเด็นก็คือมุมมองของสังคมไทยเปลี่ยนไป จากที่เคยคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนเก่งคนดี กลับไม่เชื่อในความดีของ พ.ต.ท.ทักษิณอีกต่อไป
ทั้งนี้และทั้งนั้นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณที่เคยประกาศว่าใครจะโกงให้มาขอเงินของตนเองดีกว่า แต่กลับปล่อยให้มีการโกงกินกันอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง CTX ดังนั้น คนจึงเริ่มไม่เชื่อถือและสงสัยเพราะแม้แต่เรื่องขายหุ้นชินคอร์ปที่จริงๆแล้วไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่คนกลับยอมรับไม่ได้ อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณที่เคยเป็นฝ่ายธรรมะ จึงกลายเป็นฝ่ายอธรรมไป สิ่งที่เคยให้คุณทักษิณทำได้ จึงให้ทำต่อไปอีกไม่ได้เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณจึงสูญเสียความถูกต้องและความดีในมาตรที่ใช้วัดในปี 2549 จนต้องประกาศเว้นวรรค ไปแล้วนั่นเอง
น้ำนั้นอุ้มเรือได้ ก็ล่มเรือได้ ประชาชนเปรียบเหมือนน้ำ รัฐเปรียบเหมือนเรือ เสียงในสภาเป็นเพียงตัวแทน ไม่ใช่ตัวจริง เสียงข้างมากของตัวแทนเป็นเพียงมายา แต่เสียงข้างมากของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นของจริงถึงแม้ว่าเสียงจะออกมาก้ำกึ่ง กลับถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุของการกระทำผิดพลาดของ กกต.
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพราะว่าเรามักจะเอาการเมืองไปตัดสินปัญหาข้อกฎหมาย เช่น การยุบสภาของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อหนีการตรวจสอบโดยไม่ยอมตอบคำถามของฝ่ายพันธมิตรที่เห็นว่าเป็นการใช้กระบวนการทางการเมืองเพื่อฟอกตัวเองให้พ้นผิดและในทำนองกลับกันเราเอากฎหมายไปตัดสินปัญหาการเมือง ซึ่งก็คือปัญหาการเลือกตั้งที่มีพรรคใหญ่ลงสมัครเพียงพรรคเดียว เพราะถูกฝ่ายค้านคว่ำบาตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาการเมืองโดยแท้แต่เรากลับเอากฎหมายไปตัดสิน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการของ กกต.ซึ่งนับได้ว่าเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ ผู้ดำเนินการที่กระทำผิดพลาด ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการกระทำใหม่ให้ถูกต้องเป็นเฉพาะกรณี ๆ ไป เช่นการหันคูหาให้ถูกที่ถูกทางเสีย ฯลฯ โดยการเลือกตั้งจากผู้สมัครคนเดิมตั้งแต่แรกเพราะเขาไม่ได้ทำผิดอะไร ซึ่งหากบางเขตที่ทำอย่างไรก็ไม่มีทางได้เสียงร้อยละ 20 ก็เป็นอำนาจของ กกต.ที่จะเปิดรับสมัครใหม่ซึ่งหากพรรคฝ่ายค้านยังไม่ลงสมัครอีกก็คงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ฯลฯ
แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้กฎหมายไปลบล้างเสียงของประชาชนที่ออกมาลงคะแนนในครั้งที่แล้วให้เสียไปทั้งสิ้น โดยเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่มิใช่ความผิดของประชาชนผู้ออกไปลงคะแนนเลือกตั้งและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการทางการเมืองโดยแท้แต่อย่างใด
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=917
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 00:56 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|