หลักการของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 313 โดยฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักไทย

30 เมษายน 2549 20:28 น.

       เพื่อให้การปฏิรูปการเมืองเป็นไปโดยโปร่งใส ปราศจากข้อครหาในแง่มุมต่างๆให้มากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 313 เพื่อให้ได้คณะบุคคลที่เป็นกลางและมาจากทุกภาคส่วนของสังคมเรียกว่า “สภาปฏิรูปการเมือง” ไปทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อการปฏิรูปการเมือง และนำไปสู่การออกเสียงลงประชามติของประชาชนต่อไป จึงขอเสนอหลักการและสาระสำคัญโดยสรุปของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 313 ดังนี้
       
       1.ให้มีสภาปฏิรูปการเมืองจำนวน 120 คนซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ ประกอบด้วย
       1.1 บุคคลจำนวน 90 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของผู้แทนองค์กรกลุ่มอาชีพภาคเอกชน กลุ่มอาชีพภาครัฐ และกลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม ในทุกจังหวัดซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยจะมีการรับสมัครองค์กรกลุ่มต่างๆภายใน 15 วัน เพื่อให้แต่ละองค์กรส่งผู้แทนองค์กรละ 1 คนเพื่อเลือกกันเองดังนี้
       (ก) กลุ่มอาชีพภาคเอกชน ให้จำแนกออกเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งต้องเลือกกันเองให้เหลือ 50 คน
       (ข) กลุ่มอาชีพภาครัฐ ให้จำแนกออกเป็นบุคลากรที่มาจากการเลือกตั้งหรือเลือกของประชาชน และบุคลากรที่มาจากการแต่งตั้งหรือจ้างของรัฐ ซึ่งต้องเลือกกันเองให้เหลือ 20 คน
       (ค) กลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม ให้จำแนกออกเป็น ด้านการพัฒนาชุมชน ด้านการสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรมและศาสนา ด้านการพัฒนาและสงเคราะห์คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ ด้านการพัฒนาแรงงาน และด้านการพัฒนาฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องเลือกกันเองให้เหลือ 20 คน
       รายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของผู้แทนองค์กรกลุ่มต่างๆ และกระบวนการเลือกให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและบัญชีท้ายรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงสัดส่วนของประชากรในแต่ละจังหวัด (เช่น ถ้าใช้อัตราส่วนประชากร 30,000 คน ต่อผู้แทนองค์กรกลุ่มต่างๆ 1 คน จังหวัดที่มีประชากร 300,000 คน จะมีผู้แทนองค์กรกลุ่มต่างๆ 9 คน โดยจำแนกออกเป็นกลุ่มอาชีพภาคอกชน 5 คน กลุ่มอาชีพภาครัฐ 2 คน และกลุ่มกิจกรรมทางสังคม 2 คน ซึ่งในจังหวัดดังกล่าว อาจมีองค์กรกลุ่มต่างๆมาสมัครและเสนอผู้แทนนับร้อยคน แต่ผู้แทนเหล่านี้จะต้องเลือกกันเองให้เหลือ 9 คน ในสัดส่วน 5: 2 : 2 และหากใช้อัตราส่วนที่กล่าวมา ทุกจังหวัดทั้งประเทศจะมีผู้แทนองค์กรกลุ่มต่างๆประมาณไม่เกิน 2,000 คนเพื่อมาเลือกกันเองให้เหลือ 90 คน ที่จะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการเมือง)
       
       1.2 ผู้แทนพรรคการเมืองจำนวน 10 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของผู้แทนของพรรคการเมืองทั้งหมดที่จดทะเบียนไว้กับนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยให้แต่ละพรรคการเมืองส่งผู้แทนเพื่อไปเลือกกันเองได้พรรคละ 1 คน (ขณะนี้มีพรรคการเมือง 31 พรรค )
       
       1.3 ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 20 คน มาจาก
       (1) สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน
       (2) ผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน
       (3) ผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่ง กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน
       (4) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ สาขาการบริหาราชการแผ่นดิน และสาขาสังคมศาสตร์ ซึ่งแต่ละสาขาเลือกกันเองให้เหลือสาขาละ 1 คน จำนวน 5 คน
       
       2.ให้มีคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และกระบวนการในการได้มาซึ่งสภาปฏิรูปการเมืองจำนวน 120 คน ประกอบด้วย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเป็นประธาน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นกรรมการ และเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจละสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการร่วมเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดฯ และการดำเนินการทั้งปวงเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาปฏิรูปการเมือง
       
       3.สมาชิกสภาปฏิรูปการเมืองต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
       
3.1 คุณสมบัติ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
       3.2 ลักษณะต้องห้าม เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 109 (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (13) และ (14) ของรัฐธรรมนูญ
       
       4.ให้ศาลจังหวัดที่คดีอยู่ในเขตอำนาจหรือศาลแพ่งสำหรับกรุงเทพมหานครเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาการคัดค้านทั้งหลายเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่งสภาปฏิรูปการเมืองโดยต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน และให้คำวินิจฉัยเป็นที่สุด
       ให้ประธานศาลฎีกากำหนดวิธีการยื่นคำร้องคัดค้าน และวิธีพิจารณาคำร้องคัดค้าน
       
       5.สภาปฏิรูปการเมืองมีประธาน 1 คน และรองประธาน 2 คน โดยจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปการเมือง ให้นำข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา มาบังคับใช้โดยอนุโลมกับการดำเนินการของสภาปฏิรูปการเมือง และให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยงานธุรการของสภาปฏิรูปการเมือง โดยให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เลขานุการของสภาปฏิรูปการเมือง และเลขาธิการวุฒิสภาทำหน้าที่รองเลขานุการสภาปฏิรูปการเมือง
       
       6. การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสภาปฏิรูปการเมืองให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน แยกออกได้เป็นขั้นตอนต่างๆดังนี้
       
6.1 ยกร่างแรกพร้อมเอกสารประกอบให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปการเมือง
       6.2 ส่งร่างแรกดังกล่าวไปยังรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พรรคการเมืองต่างๆ และจัดเผยแพร่เป็นการทั่วไปตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       6.3 ให้องค์กรต่างๆที่ได้รับร่างดังกล่าวส่งความเห็นไปยังสภาปฏิรูปการเมืองภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับร่างนั้น
       6.4 ให้สภาปฏิรูปการเมืองจัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เอกสารประกอบและความเห็นจากองค์กรต่างๆให้ประชาชนได้รับทราบ
       6.5 ให้สภาปฏิรูปการเมืองยกร่างสุดท้ายเพื่อให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับบันทึกความเห็นจากองค์กรต่างๆ
       
       7.ให้ประธานรัฐสภาประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดวันให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่จัดทำโดยสภาปฏิรูปการเมืองโดยต้องไม่ก่อน 60 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 90 วัน ทั้งนี้เพื่อให้ประธานรัฐสภาได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมด้วยเจตนารมณ์ ความเห็นขององค์กรต่างๆ และคำชี้แจงของสภาปฏิรูปการเมืองให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจก่อนการลงประชามติ
       
       8.ถ้าประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้อายุของสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่สิ้นสุดลงในวันถัดจากวันครบ 30 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมใช้บังคับ เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ แต่ถ้าประชาชนออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบด้วยให้สภาปฏิรูปการเมืองสิ้นสุดลง แล้วให้ดำเนินการให้มีสภาปฏิรูปการเมืองขึ้นใหม่ภายใน 60 วัน โดยผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการเมืองชุดเดิมจะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปชุดใหม่อีกไม่ได้
       
       โดยสรุป กระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อการปฏิรูปการเมืองโดยสภาปฏิรูปการเมือง จะใช้เวลาตั้งแต่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 313 จนสภาปฏิรูปการเมืองยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อปฏิรูปการเมืองแล้วเสร็จ มีการออกเสียงลงประชามติและมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 12 เดือนหรือ 1 ปี


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=906
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 02:07 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)