สัตยาเคราะห์ โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง

16 เมษายน 2549 23:13 น.

       
                          จากปรากฏการณ์ ของการชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรที่ไม่เอาทักษิณ กับฝ่ายคาราวานคนจนที่เชียร์ทักษิณ จนในที่สุดนายกทักษิณได้มีการประกาศเว้นวรรคทางการเมืองไปเมื่อคืนวันที่  4  เมษายนที่ผ่านมา นั้น   เราได้ยินคำศัพท์ใหม่ ๆออกมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้แบบอหิงสาบ้าง อารยะขัดขืนบ้าง ฯลฯ
       เราได้เห็นวิธีการแปลกๆใหม่ ๆเช่น การฉีกบัตรเลือกตั้งเพื่อประท้วงการเลือกตั้งบ้าง การปิดล้อมสำนักข่าวเนชั่นบ้าง การบุกล้มเวทีปราศรัยของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามบ้าง  การปิดล้อมสถานที่รับสมัคร ส.ส.ไม่ให้พรรคเล็กเข้าไปสมัครบ้าง หรือการปิดล้อมสำนักงาน กกต.แล้วตรวจค้นทรัพย์สินผู้อื่นเพื่อหาตัวประธาน กกต.บ้าง รวมไปถึงการการใช้ถ้อยคำโจมตีผู้อื่นด้วยถ้อยคำอันหยาบคายบ้าง ฯลฯ  โดยต่างฝ่ายต่างก็บอกว่าฝ่ายตัวเองใช้วิธีการแบบสันติ
                          จริง ๆ แล้วศัพท์พวกนี้ในทางการเมืองมีมานานแล้วไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านโดย    ไม่ใช้กำลัง (passive resistance) หรือ การขัดขืนที่ไม่ใช้กำลัง (non-violent rebellion) แต่ที่โด่งดัง  ที่สุดก็คือวิธีการที่เรียกว่า สัตยาเคราะห์ ที่มหาตมาคานธีเป็นแบบอย่างของวิธีการต่อสู้แบบดื้อแพ่งโดยยึดหลักอหิงสา (Ahimsa) ซึ่งมหาตมาคานธี แปลว่า ความรักในมวลมนุษย์ เป็นการฝึกและบังคับใจไม่ยอมให้มีการทำร้ายหรือแก้แค้นผู้ใด
       วิธีการต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์นี้มหาตมาคานธี ได้แรงบันดาลใจจากคัมภีร์และหนังสือหลายเล่ม ทีสำคัญคือคัมภีร์ภควัทคีตา  ซึ่งสอนเรื่องอหิงสา และการต่อสู้ตามหน้าที่ด้วยความเสียสละ และจากคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งสอนว่าเมื่อแก้มขวาถูกตบให้หันแก้มข้างซ้ายให้เขาตบด้วย รวมถึงหนังสือของเฮนรี เดวิด ทอโร (Henry David Thoreau)  ที่กล่าวถึงวิธีการต่อสู้ของประชาชนแบบ  ดื้อแพ่ง (Civil Disobedience) ซึ่งนักวิชาการบ้านเราแปลกันไปแปลกันมาจนกลายเป็นคำว่าอารยะขัดขืน ทั้งๆที่รากศัพท์เดิมไม่มีคำว่าอารยะแต่อย่างใด
                          สัตยาเคราะห์   (Satyagraha) แปลตามตัวอักษรว่าการยึดมั่นในความจริง มาจากคำว่า สัตยะ แปลว่า ความจริง สนธิกับคำว่า อาครหะ แปลว่า การยึดมั่น รวมแล้วแปลว่า การยึดมั่นในความจริง โดยมหาตมาคานธีเชื่อว่า อหิงสาเป็นวิธีเดียวที่จะเข้าถึงสัจจะหรือความจริง มหาตมาคานธี อธิบายว่า อหิงสาคือความรักสิ่งมีชีวิตที่ต่ำต้อยที่สุดให้เทียบเท่าตนเอง บุคคลจะมีอหิงสาได้ก็ต่อเมื่อได้ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จนอยู่เหนืออารมณ์รัก เกลียด เหนือการยึดติดหรือหลีกหนี การมีความบริสุทธิ์ทั้งทางใจ คำพูด อหิงสาคือความถ่อมตนให้ถึงขีดสุดจนปราศจากตัวตน โดยในการต่อสู้จะไม่ตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง 
                          หลักการต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์ด้วยการใช้หลักอหิงสาและดื้อแพ่งนี้ เป็นวิธีการต่อสู้ที่ได้ผลเพราะไม่ใช้ความรุนแรงหรือสิ้นเปลืองอาวุธ เป็นการต่อสู้ที่ชอบธรรม จึงไม่มีผู้ประณาม  มีแต่ผู้เห็นอกเห็นใจ  และเอาใจช่วยหรือให้ความสนับสนุน
                          กล่าวโดยย่อก็คือ อหิงสากับการดื้อแพ่งนั้นเป็นคนละความหมายกัน แต่เมื่อนำมารวมเข้าด้วยกันจึงกลายเป็นสัตยาเคราะห์นั่นเอง
                          ตัวอย่างของการต่อสู้แบบสัตยาเคราะห์ ที่คนทั่วโลกต้องจดจำอย่างไม่มีวันลืมเลือนก็คือการรายงานข่าวการต่อต้านการห้ามผลิตเกลือของราษฎร โดยผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน เวบบ์     มิลเลอร์ ที่ถูกส่งไปทั่วโลกของสำนักข่าวยูไนเต็ดเพรส เมื่อ 12 พ.ค. 1930 ว่า
       ...ทันทีที่ได้รับคำสั่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียจำนวนหนึ่งก็พุ่งเข้าหากลุ่มผู้เดินขบวนที่กำลังตรงเข้ามาแล้วกระหน่ำตีลงไปบนศีรษะของพวกเขา... ไม่มีผู้เดินขบวนคนไหนทำแม้แต่จะยกแขนขึ้นมาปิดกั้นการทุบตี  พวกเขาร่วงลงไปกองกับพื้นราวกับลูกโบว์ลิ่ง  จากจุดที่ผมยืนอยู่ผมได้ยินเสียงกระบองที่หวดลงไปบนหัวกะโหลกที่ปราศจากเครื่องป้องกันอย่างเต็มแรงชวนให้รู้สึกคลื่นเหียน ฝูงชนที่มาคอยเฝ้าดูต่างส่งเสียงครางและกลั้นลมหายใจ เพราะรู้สึกเจ็บตามไปด้วยทุกครั้ง... 
       ..ภายในเวลาเพียงสองหรือสามนาที ที่พื้นก็เต็มไปด้วยร่างของมนุษย์ที่ร่วงลงไปกองทับถมกัน มีรอยเลือดขนาดใหญ่บนเสื้อผ้าสีขาวของพวกเขา  อาสาสมัครที่ยังไม่ถูกตียังคงเดินตรงไปข้างหน้าอย่างสงบและแน่วแน่โดยไม่มีการแตกแถวจนกระทั่งทุกคนในแถวหน้าสุดถูกฟาดจนลงไปกองกับพื้น  หน่วยปฐมพยาบาลรีบเอาเปลเข้าไปหามตัวคนเจ็บออกมาโดยไม่ถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ...
       ...จากนั้นอาสาสมัครก็ตั้งแถวหน้ากระดานขึ้นใหม่...   พวกเขาเดินอย่างองอาจและมั่นคง เชิดศีรษะขึ้นโดยปราศจากเสียงดนตรีหรือเสียงเชียร์ให้กำลังใจ...  ตำรวจพุ่งไปข้างหน้าแล้วกระหน่ำตีจนคนที่อยู่ในแถวที่สองล้มลง  ไม่มีการต่อสู้ ไม่มีการขัดขืน ...อาสาสมัครกลุ่มแล้วกลุ่มเล่ายังเดินตรงไปข้างหน้า...ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าที่หน่วยปฐมพยาบาลต้องเอาเปลเข้าไปหามร่างอันอ่อนระทวยที่อาบไปด้วยเลือดออกมาอย่างไม่ขาดสาย 
                          นอกจากนั้นตัวอย่างของการดื้อแพ่งหรือการต่อต้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของมหาตมาคานธีอีกตัวอย่างก็คือการต่อต้านกฎหมายเราแลตต์ของอังกฤษที่เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มากขึ้นกว่าเดิมโดยสามารถจับกุมคุมขังราษฎรที่หัวแข็งอย่างเบ็ดเสร็จ
                          มหาตมาคานธีเชิญชวนชาวอินเดียให้ร่วมประท้วงด้วยสันติวิธีโดยการนัดหยุดงานหนึ่งวัน ปรากฏว่าชาวอินเดียนับล้าน ๆ คน พากันหยุดงาน ไม่มีชาวไร่ชาวนาคนไหนออกไปทำไร่ไถนา ไม่มีการเทียมวัวออกไปไถหว่าน ไม่มีเกวียนวิ่งไปตามชนบทหรือตามหัวเมืองต่างๆ ร้านค้าทุกแห่งปิดเงียบ โรงเรียนและสถานที่ราชการถูกทิ้งร้าง และถนนทุกสายเงียบสงัด เพราะทุกคนอยู่แต่ในบ้านเพื่อสวดมนต์และงดทานอาหาร
        ตามเมืองใหญ่ ๆ มีคนจำนวนมากมาชุมนุมกัน และมีการเดินขบวนซึ่งแสดงความสัมพันธ์ฉันพี่น้องระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม บางแห่งชาวฮินดูกับมุสลิมถึงกับดื่มน้ำจากถ้วยเดียวกันเพื่อยื่นยันความเป็นพันธมิตรซึ่งการต่อต้านในครั้งนี้ต่อมามีผลต่อเนื่องถึงการประกาศ    เอกราชของอินเดีย เพราะอังกฤษได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามต่อผู้ปราศจากอาวุธและไร้การตอบโต้จนเป็นที่ตำหนิติเตียนไปทั่วโลก              
       จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าแนวทางการต่อสู้ที่เรียกว่าอหิงสาหรือการดื้อแพ่งที่รวมเรียกว่าสัตยาเคราะห์นั้นแท้ ที่จริงแล้วเป็นเช่นไร และที่ผ่านมาการกระทำของผู้ที่อ้างว่าเป็นไปโดยสันติหรืออารยะขัดขืนนั้นเป็นไปในแนวทางนี้ หรือไม่ 
       ฤาว่าเป็นแต่เพียงการอ้างเอาคำพูดที่สวยหรูมารองรับความชอบธรรมการกระทำของตนเท่านั้นเอง
       --------------------
        
        
        
        
        
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=901
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 01:32 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)