|
|
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ 2 เมษายน 2549 23:20 น.
|
ภายใต้กระแสวิกฤติศรัทธาที่ถาโถมมาสู่องค์กรอิสระทั้งหลายโดยเฉพาะองค์กรที่ต้องมีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไม่ได้เป็นผู้ที่มีอิสระจริง ยังอยู่ในอาณัติของฝ่ายการเมือง ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ จึงควรพิจารณาทบทวนในภาพรวมทั้งหมดว่า กระแสวิกฤติศรัทธาที่เกิดขึ้นต่อองค์กรอิสระได้มองข้ามความสำคัญและประโยชน์ขององค์กรอิสระหรือไม่ หรือเป็นการมองภาพเฉพาะตัวบุคคลในองค์กรอิสระบางคนหรือการวินิจฉัยชี้ขาดในบางกรณี แล้วสรุปว่า องค์กรอิสระปฏิบัติหน้าที่ไม่ยุติธรรมและไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน
องค์กรอิสระคืออะไร
องค์กรอิสระ หมายถึง องค์กรของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเกี่ยวกับภารกิจของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเป็นองค์กรของรัฐที่มีสถานะพิเศษ ซึ่งได้รับหลักประกันให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่ได้โดยอิสระ ปลอดพ้นจากการแทรกแซงขององค์กรของรัฐอื่นหรือสถาบันการเมืองอื่น รวมทั้งอยู่เหนือกระแสและการกดดันใดๆ ที่เกิดขึ้นภายในสังคมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
ทำไมต้องมีองค์กรอิสระ
แม้ว่าในต่างประเทศที่เป็นรัฐประชาธิปไตย ได้มีการจัดตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ (Independent Regulatory Agency) มานานแล้ว โดยองค์กรอิสระจัดเป็นสถาบันทางการบริหารเพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างการบริหารที่มีประสิทธิภาพกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งโครงสร้างระบบบริหารรูปแบบเดิมมีข้อจำกัด เนื่องจากมีการจัดลำดับของอำนาจหน้าที่และการควบคุมบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทำให้เกิดความล่าช้าและขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจกระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวมและสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่สำหรับประเทศไทย องค์กรอิสระได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองหรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการในด้านต่างๆ รวมทั้งเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย แต่มีความหมายครอบคลุมไปถึงสถาบันตุลาการ นอกจากจะจัดเป็นสถาบันทางการบริหารดังปรากฏตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๕ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้พอเพียงกับการบริหารงานโดยอิสระขององค์กรฝ่ายตุลาการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทั้งนี้ เนื่องจากระบบเดิม องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐกับองค์กรผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอยู่ในองค์กรเดียวกัน คือ องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายบริหาร และองค์กรฝ่ายตุลาการ ต่างก็เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจและในขณะเดียวกันองค์กรนั้นเองก็มีหน้าที่ในการตรวจสอบกันเองด้วย ระบบที่ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ได้จัดตั้งหรือแยกกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจออกจากกลไกการใช้อำนาจเพิ่มเติมผ่านองค์กรพิเศษซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรเฉพาะ นอกจากองค์กรฝ่ายตุลาการ นั่นก็คือ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งห้าองค์กรดังกล่าว โดยมีเจตนารมณ์ที่จะเสริมช่องว่างในโครงสร้างการบริหารประเทศ เนื่องจากปัญหาการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ขององค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจที่ผ่านมาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถูกครอบงำจากฝ่ายการเมือง
สำหรับความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรอิสระ ได้แก่
๑. ความจำเป็นต้องมีกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยองค์กรฝ่ายตุลาการ ซึ่งมุ่งหมายที่จะคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกละเมิดโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามหลักของนิติรัฐในการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกละเมิดจากการกระทำของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามหลักของนิติรัฐในการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกละเมิดจากการกระทำของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและทางแพ่ง นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีกลไกที่มิใช่องค์กรฝ่ายตุลาการ ซึ่งก็คือ องค์กรอิสระเพื่อเยียวยาปัญหาของประชาชน จากการใช้อำนาจรัฐหรือการกระทำของบุคคล และการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากการใช้กลไกทางศาลอาจมีข้อจำกัดบางประการเพราะจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล รวมไปถึงการทีจะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องและการดำเนินคดีในศาลด้วย
๒. ความจำเป็นต้องมีกลไกตรวจสอบเกี่ยวกับความสุจริตในการใช้อำนาจรัฐและตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินภาครัฐ
๓. ความจำเป็นต้องมีกลไกในการควบคุมตรวจสอบที่จะลดและขจัดการซื้อเสียง และเปิดโอกาสให้คนดี มีคุณภาพ คุณธรรม เข้าสู่ระบบการเมือง
๔. ความจำเป็นต้องมีกลไกในการเสริมสร้างระบบการเมืองและพรรคการเมืองที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ
๕. ความจำเป็นต้องมีกลไกที่มีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง สามารถดำรงความยุติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่
ความเป็นอิสระ
- อิสระในเรื่องที่มาและการเข้าสู่อำนาจของบุคคลที่เข้าทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ
- อิสระในเรื่องการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานขององค์กร
- อิสระในเรื่องงบประมาณ
- มีหน่วยธุรการหรือสำนักงานที่เป็นอิสระ
ความเป็นกลาง
- ไม่เป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง
- ปราศจากอคติ ไม่ลำเอียง เพราะรัก โกรธ หลง กลัว
ดำรงความยุติธรรม
- มีความเที่ยงธรรม
- มีความชอบธรรม
- มีความชอบด้วยเหตุผล
การแบ่งประเภทองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
๑. องค์กรฝ่ายตุลาการหรือองค์กรศาล
มีลักษณะเป็นองค์กรอิสระตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตุลาการ ได้แก่
ศาลรัฐธรรมนูญ
มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยร่างกฎหมายและกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยสถานภาพของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและกรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีเป็นเท็จ รวมทั้งพิจารณาวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ศาลยุติธรรม
มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น เช่น คดีตามประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ คดีตามประมวลกฎหมายอาญาอื่นๆ และแพ่ง ฯลฯ
ศาลปกครอง
มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร คดีละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มีอำนาจหน้าที่พิจารณาคดีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นๆ ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นแผนกหนึ่งในศาลยุติธรรม โดยองค์คณะประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน ๙ คน ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับและให้เลือกเป็นรายคดี การพิจารณาคดีใช้ระบบไต่สวน เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ซึ่งต่างจากศาลยุติธรรมที่ใช้ระบบกล่าวหา ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือพร้อมต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนลงมติ คล้ายกับศาลรัฐธรรมนูญซึ่งองค์คณะทุกคนต้องทำคำวินิจฉัยในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ
๒. องค์กรอิสระที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา
มีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อันเป็นการเสริมอำนาจบริหาร และอำนาจ ตุลาการ
๒.๑ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.)
มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม สืบสวน สอบสวน วินิจฉัยชี้ขาดปัญหา สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยมีอำนาจออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งมีคำสั่งให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมาย รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมือง และการควบคุมการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง โดยประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด เช่น มีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำที่ฝ่าฝืนนโยบายหรือข้อบังคับพรรคการเมืองอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากไม่ปฏิบัติตามคำเตือนเป็นหนังสือของนายทะเบียนพรรคการเมือง และมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง เพราะมีเหตุแห่งการเลิกหรือยุบพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
๒.๒ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนกรณีร้องขอให้ถอดถอนจากตำแหน่ง กรณีการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไต่สวนและวินิจฉัย กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม และตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดิน ตลอดจนตรวจสอบและวินิจฉัยกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่ เพื่อเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น
๒.๓ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ค.ต.ง.)
มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน การกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาในเรื่องวินัยทางงบประมาณและการคลัง การให้คำปรึกษาและคำแนะนำ เพื่อให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน การกำหนดโทษปรับทางปกครอง การพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ประธานรัฐสภาเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน และให้คำแนะนำแก่ฝ่ายบริหารในการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการควบคุมเงินของรัฐ
๓. องค์กรอิสระที่ให้คำปรึกษาแนะนำ
มีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอันเป็นการเสริมอำนาจบริหาร
๓.๑ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอให้รายงานต่อรัฐสภา เพื่อดำเนินการต่อไป เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
๓.๒ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน กรณีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม รวมทั้งจัดทำรายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา
องค์กรอิสระทั้งห้าองค์กรตามข้อ ๒ และข้อ ๓ ดังกล่าว มีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบัญญัติจัดตั้งขึ้นและกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในส่วนต่างๆ ของรัฐธรรมนูญโดยตรง และมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระมีฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคล ได้แก่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
๔. องค์กรอิสระที่ไม่มีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ยังมีองค์กรอิสระที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะซึ่งไม่มีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่
๔.๑ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
กทช. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๐ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของ กทช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และให้เผยแพร่ต่อสาธารณชน ขณะนี้ กทช. ได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗
๔.๒ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.)
กสช. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๐ เช่นเดียวกับ กทช. มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของ กสช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และให้เผยแพร่ต่อสาธารณชน ขณะนี้ การจัดตั้ง กสช. ยังไม่แล้วเสร็จตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด วุฒิสภาจึงควรเร่งรัดพิจารณาเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหาฯ โดยเร็ว หากพบว่าบุคคลใดมีปัญหาด้านคุณสมบัติหรือมีประวัติ และความประพฤติที่ไม่น่าไว้วางใจก็ไม่ต้องเลือกคนนั้น เพราะการจัดตั้ง กสช. ล่าช้า ทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียประโยชน์มากกว่า
๔.๓ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๙ บัญญัติให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหมวด ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ โดยได้มีการตราพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดองค์ประกอบ ที่มา และกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บัญญัติในหมวด ๕ ของรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เสนอแผนนั้นต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนพิจารณาประกาศใช้
๔.๔ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.)
คณะกรรมการ ป.ป.ง. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือกฎหมายฟอกเงิน โดยมีเหตุผลเนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบอาชญากรรมซึ่งกระทำความผิดกฎหมายบางประเภท ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมากระทำการในรูปแบบต่างๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ทำให้ยากแก่การปราบปราม เพื่อเป็นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมดังกล่าว สมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการ ป.ป.ง. เป็นคณะกรรมการระดับนโยบายหรือบริหาร มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งพิจารณาเสนอแนวทางหรือมาตรการที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาการฟอกเงินด้วย ทั้งนี้ โดยมีคณะกรรมการ ธุรกรรมเป็นคณะกรรมการในระดับปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบธุรกรรมที่ได้รับรายงานและยับยั้งการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน และมีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นองค์กรปฏิบัติ กฎหมายฟอกเงินดังกล่าว นอกจากจะช่วยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและอาชญากรรมทางสังคมตามมูลฐานความผิดที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังมุ่งป้องกันและปราบปรามความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือการทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ
๔.๕ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการและคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ มีอำนาจหน้าที่สอดส่องดูแลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ เสนอแนะในการตราพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือระเบียบตามกฎหมาย รวมทั้งพิจารณาและให้ความเห็นเรื่องร้องเรียนตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งที่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร คำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน และคำสั่งไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล โดยมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่
๔.๖ องค์การอิสระในการคุ้มครองผู้บริโภค
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๗ วรรคสองบัญญัติให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ และข้อบังคับ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยเพิ่มบทบัญญัติหมวด ๓/๑ จัดตั้งคณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภค และหมวด ๒/๑ จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค โดยยังคงให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ในการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจและดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวต่อไป
ความสำคัญและประโยชน์ขององค์กรอิสระต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ
ความสำคัญและประโยชน์ขององค์กรอิสระต่อการปฏิรูปการเมือง
๑. การสร้างการเมืองของพลเมือง
รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัดหรือให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงเป็นผู้มีบทบาทในการอำนวยการเพื่อให้การใช้สิทธิของประชาชนในรูปแบบของประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน เพื่อให้ได้ผู้ที่จะเป็น ตัวแทน ของประชาชนทั้งในด้านนิติบัญญัติ และในด้านการสรรหาแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตลอดจนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งตัวแทนของประชาชนในระดับท้องถิ่น ได้แก่ สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น เป็นไปตามเจตนารมณ์และความประสงค์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมากที่สุด
นอกจากนั้น ในกระบวนการของการใช้สิทธิของประชาชนในรูปแบบของประชาธิปไตยทางตรง คณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีบทบาทในการเป็นผู้ช่วยรวบรวมรายชื่อของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไป แจ้งความประสงค์พร้อมเสนอร่างกฎหมายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ช่วยในการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้ได้ครบตามจำนวนห้าหมื่นชื่อได้ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะจัดส่งร่างพระราชบัญญัติและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งในแต่ละจังหวัดทราบว่ามีการเสนอกฎหมายในเรื่องใด และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายไปลงชื่อตามระยะเวลาและสถานที่ที่กำหนดด้วย ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองในรูปแบบของประชาธิปไตยโดยตรงได้อย่างสะดวกและสมประโยชน์ยิ่งขึ้น และเป็นผู้ดำเนินการออกเสียงประชามติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔
๒. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบาทขององค์กรตามรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง ดังต่อไปนี้
๒.๑ การคุ้มครองประชาชนจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากกฎหมายเป็นบ่อเกิดแห่งการใช้อำนาจรัฐทั้งปวง รวมทั้งกฎหมายยังอาจมีบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการของประชาชนได้ ดังนั้น หากไม่มีกระบวนการควบคุมมิให้กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้ว สิทธิเสรีภาพของประชาชนย่อมถูกกระทบกระเทือนจากกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมมิให้กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยสามารถกระทำได้ตั้งแต่ก่อนที่กฎหมายนั้นจะผ่านกระบวนการนิติบัญญัติตราขึ้นใช้บังคับ ได้แก่ การพิจารณากรณีร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๒
ส่วนในกรณีการควบคุมกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่นั้น สามารถดำเนินการได้สองช่องทางคือ การควบคุมผ่านกระบวนการตุลาการ ได้แก่ กรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความในคดีนั้นโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ และอีกช่องทาง คือการควบคุมผ่านกระบวนการของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา สามารถส่งกรณีปัญหาเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใด มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ ตามแต่กรณี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๘ แม้จะยังไม่มีคดีเกี่ยวกับกฎหมายนั้นเกิดขึ้นในชั้นศาลก็ตาม
๒.๒ การคุ้มครองประชาชนจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยการกระทำของรัฐ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
การใช้อำนาจรัฐโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น จะต้องมีกฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจนั้น หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ก็กระทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจรัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือเป็นการใช้อำนาจที่เหนือกว่าประชาชนอยู่แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากอำนาจรัฐนั้นมีขอบเขตกว้างขวาง ตั้งแต่อำนาจในกระบวนการยุติธรรม เช่น การจับ การค้น ขัง ควบคุมตัว การสอบสวน หรือแม้แต่การเปรียบเทียบปรับ ซึ่งการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมนี้ ล้วนแต่เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา หรือผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น
ศาลยุติธรรม เป็นศาลที่มีอำนาจเป็นการทั่วไป ซึ่งจะเป็นศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญา ศาลยุติธรรมจึงมีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาโดยขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การจับ การค้น การสอบสวน การควบคุมตัว อันมีหลักการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาความอาญา ศาลยุติธรรมก็เป็นผู้พิจารณาว่าการจับและค้นนั้นเป็นไปโดยชอบหรือไม่
๒.๓ การคุ้มครองประชาชนจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยการกระทำของรัฐในทางปกครอง
นอกจากนี้ การใช้อำนาจรัฐในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การใช้อำนาจปกครอง ได้แก่ การใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้แก่ การใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน หรือการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่อประชาชนตามที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้
ศาลปกครอง มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการกระทำทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำต่อเอกชน มิให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นคู่กรณีที่มีอำนาจเหนือกว่า ใช้อำนาจรัฐโดยขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมาย หรือออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่ขัดต่อกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บท ทั้งนี้รวมถึงกรณีการละเมิดทางปกครองที่หน่วยงานของรัฐกระทำการจนเกิดความเสียหายต่อเอกชน
ศาลปกครองจะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยกรณีดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนจากหน่วยงานของรัฐนั้นได้รับการแก้ไขเยียวยา ได้แก่ การเพิกถอนการกระทำ หรือคำสั่งทางปกครองที่มิชอบด้วยกฎหมายนั้น สั่งให้หน่วยงานทางปกครองปฏิบัติหน้าที่ กระทำการ หรืองดเว้นการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการใช้เงินค่าเสียหายหรือดำเนินการใดๆ เพื่อการเยียวยาในกรณีที่เกิดการละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง รวมทั้งการรับรองสิทธิ หรือให้ปฏิบัติตามสิทธิเป็นต้น
๒.๔ การเยียวยาปัญหาของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐ และการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน
นอกจากกลไกการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผ่านกระบวนการศาลแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังสร้างกลไกในการตรวจสอบติดตามการทำงานของภาครัฐ ในรูปขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งมีอำนาจพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือไปจากอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดหรือการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรมไม่ว่าการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และกรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งการจัดทำรายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา
นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภายังมีอำนาจในการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพื่อวินิจฉัยในกรณีที่เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลผู้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยและบังคับการกับองค์กรของรัฐหรือหน่วยงานราชการโดยตรง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาทำได้เพียงเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขส่งให้หน่วยงานของรัฐนั้นๆ ดำเนินการหรือเสนอแนะให้ปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย แต่หากหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรของรัฐนั้นไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาก็ไม่มีอำนาจบังคับ ในกรณีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจส่งเรื่องให้กับนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่ควบคุมกำกับดูแลเพื่อสั่งการ ตามควรแก่กรณีได้ ในกรณีที่ส่งเรื่องให้กับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นยังคงไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะข้างต้นในเวลาอันสมควร โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและเป็นเรื่องที่สำคัญหรือเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะหรือเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจทำรายงานเรื่องนั้นเสนอต่อวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องด่วนได้เท่านั้น
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว หน่วยงานผู้ถูกร้องเรียน มักจะดำเนินการตามความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทำให้กระบวนการของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานั้น ถูกเรียกว่า เป็นกระบวนการระงับความขัดแย้งโดยสันติวิธี
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังสร้างกลไกเพื่อรับรองสิทธิมนุษยชนด้วย โดยจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นโดยมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็มีลักษณะเช่นเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คือ ไม่มีอำนาจบังคับ หากเสนอแนะมาตรการแก้ไขแก่บุคคลหรือหน่วยงานดังกล่าวแล้วไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็จะรายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยังมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา รวมทั้งอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติด้วย
โดยเหตุที่การใช้องค์กรศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองระงับข้อพิพาท อาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล รวมไปถึงการที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องและการดำเนินคดีในศาลด้วย ดังนั้น ในปัจจุบันประชาชนจึงเริ่มนิยมใช้กลไกผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อระงับข้อพิพาท นอกศาล กันมากขึ้น
๓. การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตลอดจนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างกว้างขวางครอบคลุมทุกมิติของการใช้อำนาจรัฐ และมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นผู้มีบทบาทในการใช้มาตรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแต่ละมิติต่างๆ ดังนี้
๓.๑ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทางนโยบายและการบริหาร
อำนาจของรัฐบาลนั้น อาจจะแบ่งออกได้เป็น อำนาจในการกำหนดนโยบายหรือการบริหาร (Executive) กับอำนาจทางปกครอง (Administration) ซึ่งอำนาจหน้าที่ทั้งสองนี้จะควบคู่กัน ประกอบกันเป็นอำนาจของรัฐบาล เพราะรัฐบาลนั้นจะมีอำนาจในสองมิติ กล่าวคือ วางนโยบายเกี่ยวกับการบริหารรัฐ และการขับเคลื่อนองค์กรของรัฐให้ดำเนินการตามนโยบายนั้น
อำนาจทางการบริหาร คือ อำนาจในการกำหนดนโยบายระดับสูง วางนโยบายในการปกครองประเทศ และวางนโยบายของการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรของรัฐในด้านต่างๆ อำนาจในการบริหารจะถูกกำหนดผ่านมาทางรัฐมนตรีผู้ดูแลกิจการนั้นๆ ให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
รัฐสภา เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้อำนาจบริหารของรัฐบาลผ่านทางกลไกการตั้งกระทู้ถาม ได้แก่ การตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี โดยการถามผ่านสภา โดยรัฐมนตรีจะตอบในที่ประชุมสภา หรือตอบในราชกิจจานุเบกษาก็ได้ และกลไกการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล การควบคุมโดยวิธีนี้อยู่บนหลักการว่า รัฐบาลมาจากความไว้วางใจของสภา ดังนั้นหากสภาไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ กล่าวคือ ในกรณีที่สภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลคนใด รัฐมนตรีผู้นั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือถ้ารัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทั้งคณะในรัฐบาลก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง
การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี กระทำได้ยากกว่าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะต้องใช้เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าสองในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร โดยญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมาด้วย ในขณะที่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี จะใช้เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลนี้ ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะต้องมีการยื่นคำร้องขอถอดถอนต่อวุฒิสภาก่อน จึงจะเปิดอภิปรายในประเด็นดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องรอผลการดำเนินการของกระบวนการถอดถอน
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังเปิดโอกาสให้วุฒิสภาสามารถตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีอีกด้วย โดยการเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติได้ด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๗
๓.๒ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทางปกครอง
การดำเนินการหรือการใช้อำนาจรัฐ ผ่านองค์กรของรัฐที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองต่อประชาชนนั้น อยู่ภายใต้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของศาลปกครอง ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วในหัวข้อที่ผ่านมา ปัจจุบันศาลปกครองมีสองชั้นศาล ได้แก่ ศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด อำนาจของศาลปกครอง จะครอบคลุมถึง คดีพิพาทเนื่องจากการกระทำทางปกครองฝ่ายเดียว ได้แก่ การออกคำสั่งทางปกครอง หรือการออกกฎ ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ คดีพิพาทเนื่องมาจากสัญญาทางปกครอง ได้แก่ กรณีคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือฝ่ายรัฐ และกระทำการแทนรัฐโดยใช้อำนาจรัฐ เช่น สัญญาสัมปทาน สัญญาการจัดทำบริการสาธารณะ คดีพิพาทกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครอง หรือคดีเกี่ยวกับความรับผิดของหน่วยงานทางปกครอง ได้แก่ กรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการจนเป็นเหตุให้เอกชนได้รับความเสียหาย รวมทั้งคดีพิพาททางปกครองอื่นๆ ได้แก่ คดีที่กฎหมายกำหนดให้ทางราชการต้องฟ้องต่อศาลหากประสงค์จะบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นการกระทำใด หรือกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้เฉพาะให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ส่วนศาลปกครองสูงสุด จะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี หรือคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด รวมทั้งคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นด้วย
๓.๓ การตรวจสอบเกี่ยวกับความสุจริตในการใช้อำนาจรัฐ
การตรวจสอบความสุจริตในการใช้อำนาจรัฐ เป็นอีกมิติหนึ่งของการควบคุมการใช้อำนาจรัฐที่สำคัญ เนื่องจากการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นปัญหาสำคัญของประวัติการเมืองการปกครองไทยมาช้านาน ปัญหาการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนี้ เป็นเงื่อนไขหรือเหตุสำคัญของการยึดอำนาจ หรือการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทยหลายครั้ง
การตรวจสอบความสุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.
กระบวนการในการตรวจสอบความสุจริตและความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐ มีกระบวนการสำคัญสองประการ คือ การถอดถอนออกจากตำแหน่งและการดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
การถอดถอนออกจากตำแหน่ง ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน เข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา ให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กรรัฐที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้ไต่สวนและทำรายงานเสนอความเห็นต่อวุฒิสภา เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน โดยมติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่งต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงผู้ใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งแล้ว ผู้นั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอน และให้ตัดสิทธิผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการเป็นเวลาห้าปีอีกด้วย
ในส่วนการดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ โดยผู้เสียหายร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการไต่สวน หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูลความผิด ก็จะส่งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือคณะกรรมการ ป.ป.ง. เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบเกี่ยวกับความสุจริตในการใช้อำนาจรัฐของข้าราชการการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันและปราบปรามมิให้มีการนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริตในการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการไปเป็นประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง โดยกำหนดมาตรการริบทรัพย์สินหรือการให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายที่กำหนด
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของศาลยุติธรรม ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำความผิดต่อหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งในการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะยึดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยคำสั่งและคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เปิดเผยและเป็นที่สุด
นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญยังสร้างระบบการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีประสิทธิภาพและสภาพบังคับมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบกรณีของการร่ำรวยผิดปกติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐชั้นสูงด้วย โดยกำหนดบทบังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. การจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบถือเป็นความผิดทั้งในทางอาญา และต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น รวมทั้งต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาห้าปีด้วย
กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย แต่หากเป็นในกรณีของเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้พิจารณา
๓.๔ การตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดให้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางนโยบาย การตรวจเงินแผ่นดิน การกำหนด หลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณา ในเรื่องวินัยทางงบประมาณและการคลัง การให้คำปรึกษาและแนะนำ การเสนอแนะให้มี การแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน การกำหนดโทษปรับทางปกครอง พิจารณาวินิจฉัยความผิดทางวินัย ทางงบประมาณ และการคลังในฐานะที่เป็นองค์กรสูงสุด เพื่อให้การใช้จ่ายเงินของทางภาครัฐ ซึ่งเป็นเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนในประเทศนั้น เป็นไปอย่างคุ้มค่าโปร่งใสและสมประโยชน์ที่สุด
๔. สร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และระบบการเมืองและพรรคการเมืองที่มีประสิทธิภาพ
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ออกแบบองค์กรทางการเมือง คือ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อน โดยสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ อยู่ภายใต้ระบบรัฐสภาที่มีเหตุผล รวมทั้งมีระบบพรรคการเมืองที่มีประสิทธิภาพ
คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นองค์กรสำคัญที่เป็นกลไกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองชั้นสูงผ่านกระบวนการเลือกตั้งของประชาชน คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนทั้งประเทศผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
ความสำคัญและประโยชน์ขององค์กรอิสระต่อการปฏิรูประบบราชการ
การปฏิรูประบบราชการ เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงและศึกษากันมานาน เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการพัฒนาของกระแสโลกไปสู่แนวความคิดโลกาภิวัฒน์ ทำให้ระบบราชการเดิมๆ ของไทยขาดความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของประชาชาติไทยในสังคมโลกนั้นไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร
เป้าหมายของการปฏิรูประบบราชการ มีด้วยกันห้าประการ ดังนี้
๑. เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำบริการที่ดีมีคุณภาพสูงไปสู่ประชาชน
๒. เพื่อให้ภาครัฐมีระบบการทำงานและเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับมาตรฐานสากล
๓. เพื่อให้ภาครัฐมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
๔. เพื่อให้ภาครัฐเป็นระบบที่เกื้อกูลและไวต่อปัญหา และความต้องการของประชาชน ยืดหยุ่นและปรับตัวได้ทันการณ์ต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมและประชากรโลก รวมทั้งสร้างเสริมวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล
๕. เพื่อให้ภาครัฐเป็นระบบที่ได้รับความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน
ซึ่งเป้าหมายดังกล่าว ก็สอดคล้องกับที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในส่วนแนวนโยบายของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๕ ซึ่งบัญญัติว่า รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จัดระบบงานของกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน นั่นเอง
นอกจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้วางระบบที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยืดหยุ่นของระบบราชการไทย รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและการกระจายอำนาจลงสู่ส่วนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นแล้ว รัฐธรรมนูญยังเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบและโครงสร้างของหน่วยงานราชการได้อย่างยืดหยุ่นด้วย หากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนั้นไม่ต้องเพิ่มอัตราข้าราชการหรือลูกจ้าง รวมทั้งการยุบกระทรวง ทบวง กรม ให้ทำได้โดยพระราชกฤษฎีกา ไม่ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๐ วรรคสอง ทั้งนี้ภายในสามปีนับแต่วันที่มีการรวมหรือการโอนกระทรวง ทบวง กรม ดังกล่าว จะกำหนดตำแหน่งหรืออัตราของข้าราชการหรือลูกจ้างเพิ่มขึ้นในกระทรวง ทบวง กรม ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ หรือในกระทรวง ทบวง กรม ที่ถูกรวมหรือโอนไปมิได้ โดยถือว่าพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นนั้น มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่มีผลใช้บังคับได้ดังเช่นพระราชบัญญัติที่จัดตั้งกระทรวง ทบวง กรมนั้นด้วย
ในด้านการปฏิบัติราชการตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ได้วางมาตรการควบคุมทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม ไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ โดยบัญญัติให้รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง จัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และพนักงาน หรือลูกจ้างอื่นของรัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติ มิชอบ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้จุดมุ่งหมายประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นการสร้างมุมมองใหม่ของการใช้อำนาจรัฐและการปฏิบัติราชการ คือ การให้ประชาชนมีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิ (Subject) ต่อการใช้อำนาจรัฐ มิใช่เป็นวัตถุแห่งสิทธิ (Object) หรือฝ่ายที่รองรับการใช้อำนาจรัฐ ดังที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ ว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังรับรองการเป็นผู้ทรงสิทธิต่อการใช้อำนาจรัฐของประชาชนไว้อีกหลายมาตรา เช่น
- สิทธิในการได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๘
- สิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าวตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๙
- สิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๐
- สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันสมควร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๑
- สิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐ ที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๒
- สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๗
ทั้งนี้ องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบขององค์กรอิสระ ก็มีภารกิจเพื่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างหลากหลายครบทุกมิติ และรับรองคุ้มครองให้สิทธิของประชาชนต่อการปฏิบัติราชการของภาครัฐ เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วย
องค์กรอิสระที่มีส่วนร่วมต่อการปฏิบัติราชการของภาครัฐ ได้แก่
๑. การป้องกันการทุจริตในการใช้อำนาจรัฐ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. นอกจากจะมีบทบาทในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังมีอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกด้วย โดย ภารกิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีทั้งภารกิจในการปราบปรามและการป้องกัน
โดยอำนาจหน้าที่ในการปราบปราม ได้แก่ การไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ในกรณีของผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูลความผิดทางวินัย หรือมีมูลความผิดต้องให้พ้นจากตำแหน่งแล้ว ก็จะส่งรายงาน และเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีอำนาจในการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ยกเลิก หรือเพิกถอนสิทธิ หรือเอกสารสิทธิที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้อนุมัติหรืออนุญาตให้สิทธิประโยชน์หรือออกเอกสารสิทธิแก่บุคคลใดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการ ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้ใดได้ประโยชน์ในทางทรัพย์สิน จากการกระทำโดยทุจริตหรือมิชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมาย เพื่อให้ทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่ตกเป็นของแผ่นดิน
อำนาจหน้าที่ในการป้องกัน ได้แก่ การวางมาตรการควบคุมมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตต่อหน้าที่หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ได้แก่
- กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งและชั้นหรือระดับของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งวิธีการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตลอดจนตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ทราบถึงการมีอยู่ของทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันถือเป็นมาตรการตรวจสอบติดตามซึ่งสามารถป้องกันการร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้วิธีหนึ่ง
- เสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
- ดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งดำเนินการให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
๒. กระบวนการร้องทุกข์ของประชาชนผ่านกระบวนการของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
กระบวนการร้องทุกข์ของประชาชนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น ได้กล่าวไว้เป็นส่วนใหญ่แล้ว ในส่วนความสำคัญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต่อการปฏิรูปการเมือง โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะรับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือไปจากอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดหรือการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรมไม่ว่าการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะรับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการกระทำหรือการละเลยการกระทำของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเอกชนอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี
แม้การร้องทุกข์ต่อองค์กรทั้งสององค์กรนี้จะไม่มีสภาพบังคับหรืออำนาจบังคับบัญชาในทางราชการก็ตาม แต่กระบวนการไต่สวนตลอดจนความเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งอาจเป็นกรณีพิพาทระหว่างภาครัฐและประชาชนของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น ก็เป็นกระบวนการโดยสันติวิธีหรือกระบวนการ สมานฉันท์ เป็นการแสวงหา การพบกันครึ่งทาง ระหว่างภาครัฐกับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งการกระทำตามความเห็นหรือข้อแนะนำนั้น ก็เป็นการป้องกันมิให้ปัญหาลุกลามไปสู่ข้อพิพาทที่รุนแรง อันนำมาซึ่งการฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อศาลได้ จึงเป็นการสมควรยิ่งที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสมควรจะต้องปฏิบัติตามหรือเยียวยาแก้ไขปัญหา ตามคำแนะนำหรือข้อเสนอของผู้ตรวนการแผ่นดินของรัฐสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๓. การฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐผ่านทางศาลปกครอง
รัฐธรรมนูญได้ออกแบบองค์กรพิจารณาคดีพิพาทในทางปกครองระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนในรูปแบบของศาลปกครอง
มูลคดีที่ประชาชนอาจใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ ได้แก่
๓.๑ คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
๓.๒ คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
๓.๓ คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
๓.๔ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
๓.๕ คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาหรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งประการหลังนี้ จะเป็นอำนาจของศาลปกครองสูงสุด
จากมูลฟ้องคดีปกครองหรือเรื่องที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลปกครองซึ่งเป็นอำนาจของศาลปกครองนั้น หากพิจารณาดูในมุมกลับ ก็จะเห็นสภาพบังคับที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้หลายประการ ได้แก่
- เจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำการใด ต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ และการใช้อำนาจดังกล่าว ก็ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายที่ให้อำนาจไว้นั้นกำหนดด้วย
- การใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปโดยสุจริต ไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร
- เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ชักช้าเกินสมควร
ทั้งนี้หากเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ มูลฟ้องที่เกี่ยวกับการละเมิดทางปกครอง หรือข้อพิพาทเกี่ยวสัญญาทางปกครองนั้น เท่ากับเป็นการบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องกระทำการใดๆ ด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะมาจากการกระทำฝ่ายเดียว ได้แก่ การละเมิด หรือทางนิติกรรม ได้แก่ สัญญาทางปกครองก็ตาม
๔. การควบคุมการใช้จ่ายเงินของทางภาครัฐ โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
การใช้จ่ายเงินของภาครัฐจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการโดยเคร่งครัด เพื่อให้การใช้จ่ายเงินของทางภาครัฐซึ่งเป็นเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนในประเทศนั้น เป็นไปอย่างโปร่งใสและสมประโยชน์ที่สุด โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางนโยบาย การตรวจเงินแผ่นดิน การกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาในเรื่องวินัยทางงบประมาณและการคลัง ทั้งนี้การฝ่าฝืนหรือกระทำผิดวินัยทางงบประมาณหรือการคลังจะมีบทลงโทษด้วย ซึ่งโทษดังกล่าวได้แก่โทษปรับทางปกครองซึ่งคณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลังจะกำหนดอัตราโทษปรับ ซึ่งเป็นสภาพบังคับในการรักษาวินัยทางงบประมาณและการคลังนั่นเอง
องค์กรอิสระกับความคาดหวังของสังคม
๑. ความคาดหวังต่อตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
๑.๑ ต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ มีคุณวุฒิสูง มีความรอบรู้อย่างแตกฉาน
๑.๒ ต้องเป็นคนที่มีคุณธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
๑.๓ มีผลงานเป็นที่ปรากฏเป็นประโยชน์ต่อราชการ สังคม และประชาชน
๑.๔ เป็นบุคคลที่ทำงานเพื่อประโยชน์ต่อสังคม นอกเหนือจากงานอาชีพ ทุมเท เสียสละเพื่อส่วนรวม
๑.๕ มีระบบการสรรหาและการเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่โปร่งใส
๒. ความคาดหวังต่อการปฏิบัติตน
๒.๑ ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม
๒.๒ ปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ เป็นกลาง ดำรงความยุติธรรม
๒.๓ ปฏิบัติตนให้สังคมเชื่อมั่นในยุติธรรม
๒.๔ มีกลไกตรวจสอบและกำกับให้เป็นไปตามมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม
๓. ความคาดหวังต่อการปฏิบัติงาน
๓.๑ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกระแส
๓.๒ มีวิธีพิจารณาที่เหมาะสมและปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อกำหนดวิธีพิจารณาอย่างเคร่งครัด
๓.๓ รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ให้เกิดความโปร่งใสในการพิจารณาวินิจฉัยหรือให้ข้อเสนอแนะ
๓.๔ การให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัย หรือคำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะ ที่สมเหตุสมผลเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
๓.๕ คำวินิจฉัยต้องชัดเจนและอาจเสนอแนะแนวทางปฏิบัติต่อองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส
๔. ความคาดหวังซึ่งเป็นเจตจำนงของประชาชนที่จะให้องค์กรอิสระปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจ บรรลุผลสัมฤทธิ์ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูประบบราชการ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากประชาชนไม่ศรัทธาเชื่อถือไม่ยอมรับองค์กรอิสระก็คงต้องถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือถูกยุบเลิกไป
ข้อพิจารณาเกี่ยวกับองค์กรอิสระ
จากรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำงานของรัฐสภา รัฐบาล องค์กรอิสระ และประเด็นอื่นๆ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยสถาบันพระปกเกล้าร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปรากฏดังนี้
๑. ประชาชนรู้จักองค์กรอิสระต่างๆ มากน้อยเพียงใด พบว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ ๘๐ ตอบว่ารู้จักศาลยุติธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ในขณะที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นสามองค์กรที่ประชาชนยังไม่ค่อยรู้จักมากนัก กล่าวคือ มีประชาชนไม่ถึงร้อยละ ๖๐ เท่านั้นที่ตอบว่ารู้จักองค์กรเหล่านี้
ตารางที่ ๑ ประชาชนรู้จักองค์กรอิสระต่างๆ มากน้อยเพียงใด?
ศาลยุติธรรม : รู้จัก 89.7% ไม่รู้จัก 10.3%
คณะกรรมการการเลือกตั้ง : รู้จัก 85.8% ไม่รู้จัก 14.2%
ศาลรัฐธรรมนูญ : รู้จัก 82.5% ไม่รู้จัก 17.5%
ศาลปกครอง : รู้จัก 81.6% ไม่รู้จัก 18.4%
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ : รู้จัก 79.9% ไม่รู้จัก 20.1%
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน : รู้จัก 70.4% ไม่รู้จัก 29.6%
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา : รู้จัก 64.7% ไม่รู้จัก 35.3%
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน : รู้จัก 59.4% ไม่รู้จัก 40.6%
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ : รู้จัก 55.8% ไม่รู้จัก 44.2%
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : รู้จัก 52.7% ไม่รู้จัก 57.3%
๒. ความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานขององค์กรอิสระ ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างพอใจต่อการทำงานขององค์กรอิสระ (ดูเชิงรรถภาพที่ 1)
เมื่อนำสัดส่วนเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่รู้จักและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ความพอใจ ต่อการทำงานที่ผ่านมาขององค์กรอิสระเปรียบเทียบกันดังภาพที่ ๑ พบว่า ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่ประชาชนพอใจต่อการทำงานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ ๘๖.๒ รองลงมาได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง คิดเป็นร้อยละ ๘๓.๙ และร้อยละ ๘๒.๒ ตามลำดับ ส่วนองค์กรอิสระอื่นที่เหลือมีสัดส่วนความพึงพอใจของประชาชนมากกว่าร้อยละ ๗๐ เกือบทั้งหมด ยกเว้นคณะกรรมการการเลือกตั้งเพียงองค์กรเดียวเท่านั้นที่ประชาชนประมาณสองในสามพึงพอใจต่อการทำงานที่ผ่านมา น้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ
๓. ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อองค์กรอิสระต่างๆ ปรากฏว่า ความเชื่อมั่นที่มีต่อศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองที่มีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ ๘๐ และน่าสนใจว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นต่ำที่สุดและเป็นองค์กรที่มีสัดส่วนความเชื่อมั่นของประชาชนต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ (เชิงรรถภาพที่ 2)
โดยที่องค์กรศาล เช่น ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในบางปัญหาที่เป็นประเด็นทางการเมือง จึงย่อมต้องมีผลกระทบที่รุนแรงตามมา ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อพิจารณาจากผลการสำรวจดังกล่าวข้างต้นเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการทำงานและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อองค์กรอิสระดังกล่าวแล้ว ถือว่าโดยภาพรวมอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ก็มีข้อพิจารณาบางประการดังนี้
๑. องค์กรอิสระควรเร่งประชาสัมพันธ์ตนเองให้ประชาชนทราบถึงความสำคัญบทบาทและอำนาจหน้าที่ ตลอดจนช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและประโยชน์ที่จะได้รับอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยองค์กรที่เกี่ยวข้องกันอาจร่วมมือประชาสัมพันธ์ไปพร้อมกันเพื่อประหยัดงบประมาณดำเนินการ
๒. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไปควรพิจารณาปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาของทุกองค์กรโดยกำหนดองค์ประกอบให้กระจายไปยังกลุ่มต่างๆ มากขึ้น แทนที่จะตัดบางกลุ่ม เช่น กลุ่มนักการเมืองออกไป เพื่อลดจำนวนมิให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีคะแนนมากจนทำให้เป็น Block Vote ขึ้นได้ นอกจากนี้ ควรให้รัฐสภาเป็นผู้ตรากฎเกณฑ์และวิธีการในกระบวนการสรรหาให้ชัดเจน สำหรับเป็นแนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการสรรหาแต่ละองค์กร เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
๓. องค์กรอิสระแต่ละองค์กรควรเปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็น และคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการและบุคคลต่างๆ ในสังคม เพื่อนำมาพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนว่ามีข้อบกพร่อง ผิดพลาด ประการใด
ศาลรัฐธรรมนูญ
๑. ต้องยึดมั่นในความเป็นองค์กรศาล เคร่งครัดเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และต้องระมัดระวังไม่ขยายเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจนเกินเลยไป กระทบต่อการทำหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ
๒. เร่งศึกษาเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ
- แนวทางการเร่งรัดการพิจารณาคดีให้รวดเร็วยิ่งขึ้นโดยเฉพาะคดีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔
- ตุลาการเสียงข้างน้อยที่ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ต้องวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดี เพื่อมิให้มีการลงมติมากกว่าสองทาง
- คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญควรมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติตามมา และการเผยแพร่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ควรกระทำในวันที่มีการลงมติ เพื่อขจัดข้อโต้แย้งและให้เกิดผลบังคับตามคำวินิจฉัยอย่างสมบูรณ์
๓. ศึกษาวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีการโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการวางหลักกฎหมายหรือบรรทัดฐานของคำวินิจฉัยในอนาคต
ศาลยุติธรรม
การพิจารณาคดีต่อเนื่อง เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการพิจารณาคดี และจะเป็นหลักประกันแก่ประชาชนว่า ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีมาแต่ต้นจะเป็นผู้ชี้ขาดตัดสินคดีนั้นด้วยตนเอง จึงควรผลักดันให้บังเกิดผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ศาลปกครอง
๑. ประชาชนผู้ฟ้องคดีคาดหวังว่าตนจะมีสิทธิขอดำเนินคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล หากเป็นคนยากจนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติจากศาล
๒. ควรเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับลักษณะคดีปกครอง ตลอดจนวิธีการและเงื่อนไขในการฟ้องคดีให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
๓. คำพิพากษาของศาลปกครองเป็นการวางแนวทางปฏิบัติให้แก่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้คำพิพากษาจะมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความ แต่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ ให้สอดคล้องกับแนวทางตามคำพิพากษา โดยไม่พึงกล่าวอ้างให้มีการฟ้องร้องเป็นกรณีๆ ไป ซึ่งย่อมก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
๔. การดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามคำบังคับของศาลปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้เพิกถอนกฎ การสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลกำหนด การสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน อันเนื่องจากเหตุละเมิดหรือสัญญาทางปกครอง ควรผลักดันการปฏิบัติให้เกิดผลอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
๕. ศาลปกครองสูงสุดควรเร่งพิจารณาออกประกาศกำหนดคดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทอันอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดภาระของศาลปกครองชั้นต้น
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
การเลือกผู้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกา จำนวน ๙ คน เพื่อเป็นองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับและให้เลือกเป็นรายคดี หากมีคดีเพิ่มมากขึ้นย่อมเป็นภาระ เนื่องจากผู้พิพากษาศาลฎีกามีจำนวนจำกัด บางท่านต้องทำคดีหลายคดี และต้องขึ้นนั่งพิจารณาคดีทุกวันจะขาดไม่ได้ทำให้คดีอื่นล่าช้า หรือผู้พิพากษาไม่เพียงพอ จึงควรแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ตั้งผู้พิพากษาอาวุโสที่เกษียณในชั้นศาลฎีกามาเป็นองค์คณะได้ด้วย
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
๑. ควรพิจารณาทบทวนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และการเลือกตั้งกลางนอกเขตล่วงหน้า เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายมาก ยุ่งยาก และมีผู้ใช้สิทธิน้อยมาก
๒. สร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสของคณะเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นกลไกของ กกต. ในการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงสำหรับการวินิจฉัยชี้ขาดของ กกต. ในการให้ใบเหลือง ใบแดง ที่กำหนดให้ใช้มติเอกฉันท์ ควรปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากเสียงข้างน้อยเพียง ๑ เสียง จะกลายเป็นผู้ชนะเสียงข้างมาก ๔ เสียง สำหรับการให้ใบแดง ควรให้มีศาลพิเศษหรือให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาถ่วงดุล
๓. ควรให้ กกต. ระดับจังหวัด ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเช่นเดียวกับ กกต. ชุดใหญ่
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
๑. ควรแก้ไขกฎหมายให้ ป.ป.ช. สามารถกล่าวโทษดำเนินคดีเองได้ เนื่องจาก หาก ป.ป.ช. พบความผิด แต่ไม่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ก็ไม่อาจดำเนินการได้
๒. ป.ป.ช. มีภารกิจตามกฎหมายมาก ดังนั้น ในเรื่องการตรวจสอบทุจริตข้าราชการ ระดับ ๙ ลงไป ควรเป็นของฝ่ายบริหาร โดยให้ ป.ป.ช. รับผิดชอบตรวจสอบเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับหัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงาน
๓. ควรแก้ไขกฎหมาย เพื่อกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่อง กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบของผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ค.ต.ง.)
๑. ถ้า ค.ต.ง. พบการกระทำความผิดทางวินัยให้ส่งต้นสังกัด ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยถ้าพบพฤติกรรมน่าเชื่อว่าเป็นการทุจริต ให้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ซึ่งพนักงานสอบสวนก็มิได้ดำเนินการใดๆ เนื่องจากต้องส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการ จึงควรแก้ไขกฎหมายให้ ค.ต.ง. ส่งเรื่องดังกล่าวให้ ป.ป.ช. โดยตรง
๒. มุ่งเน้นการส่งเสริม สนับสนุน หน่วยรับตรวจให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี เกิดการควบคุมคุณภาพของงานและให้การบริหารงานของหน่วยรับตรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด คุ้มค่า โปร่งใส มากกว่าการมุ่งจับผิดการทุจริตอันเป็นภาระหน้าที่ของ ป.ป.ช.
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
๑. รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๗ และมาตรา ๒๐๐ มิได้มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาตรากฎหมายมาจำกัดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นการตรวจสอบในเรื่องเดียวกันกับที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ก่อนในศาลหรือที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปแล้วก็ตาม เนื่องจากเป็นการทำหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่างก็มีความเป็นอิสระต่อกัน แต่ละองค์กรย่อมปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดไว้ โดยการพิจารณาของศาลจะพิจารณาปัญหาความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นประเด็นสำคัญ ส่วนการตรวจสอบ การรายงานและเสนอมาตรการการแก้ไขของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากไปละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาก็มีอำนาจที่จะดำเนินการได้โดยมุ่งถึงความชอบธรรมเป็นสำคัญ
๒. ควรแก้ไขให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสามารถพิจารณาและสอบสวนข้อเท็จจริง เสนอความเห็น และข้อเสนอแนะ ในกรณีใดๆ ที่เห็นสมควรได้เองโดยไม่ต้องมีคำร้องเรียนเช่นเดียวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ควรแก้ไขปรับปรุงให้มีระบบการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการฯ อย่างโปร่งใสและเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร รวมทั้งมีหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสว่าฝ่ายบริหารจะไม่เข้ามาแทรกแซงชี้นำ จนทำให้ขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ไม่ควรรับปัญหาทุกเรื่อง เนื่องจากมีองค์กรอิสระอื่น ๆ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคอยดูแลอยู่แล้ว แต่ควรให้ความสำคัญในการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อสะท้อนปัญหาหลักของบ้านเมือง และของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องวางแผนระยะยาว เช่น ปัญหาโครงสร้างและคุณภาพของประชากร ปัญหาเรื่องพลังงานทดแทน และปัญหาเรื่องน้ำ เป็นต้น
สรุป
แม้ว่าองค์กรอิสระจะเป็นองค์กรรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่องค์กรดังกล่าวก็ได้สร้างคุณูปการให้แก่สังคมและประเทศชาติ ส่งผลให้การเมืองและการบริหารราชการมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น นักการเมือง พรรคการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีคุณภาพและเข้มแข็งมากขึ้น องค์กรอิสระได้รับการยอมรับจากสังคมในระดับหนึ่ง ปัญหาอุปสรรคและข้อวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนคำปรามาสที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระบางองค์กร ส่งผลกระทบในทางการเมือง ย่อมต้องสร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายที่สูญเสียประโยชน์ ทำให้ถูกวิพากวิจารณ์และกล่าวหาอย่างรุนแรงจากทั้งฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล และฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล แต่บุคคลในสังคม รวมทั้งสื่อมวลชนทั้งหลายก็ไม่ควรมองภาพเฉพาะกรณี หรือเฉพาะตัวบุคคลในองค์กรอิสระ โดยควรมองถึงความสำคัญขององค์กรอิสระต่อการปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูประบบราชการ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และให้กำลังใจแก่องค์กรอิสระบ้าง สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรอิสระ หากยึดมั่นอยู่ในความยุติธรรมและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ปราศจากอคติใดๆ ก็ต้องมีความอดทนสูงและไม่ควรที่จะต้องหวั่นไหวตาม คำวิพากษ์วิจารณ์และกระแสที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อผิดพลาด บกพร่องที่เกิดขึ้นอันเป็นเรื่องปกติของคนที่ทำงาน เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ เสนอแนะความเห็น ก็ชอบที่จะรับฟังและนำมาพิจารณาทบทวน และหาหนทางปรับปรุงแก้ไขในจุดที่เหมาะสมโดยเร็ว เมื่อได้ดำเนินการใดๆ ไปแล้ว ก็ควรประชาสัมพันธ์โดยเผยแพร่ให้สาธารณชนทั้งหลายได้ทราบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา ในหมู่ประชาชน องค์กรอิสระจึงยังเป็นองค์กรที่เป็นความหวังต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดธรรมาภิบาลในระบบการเมืองและระบบราชการตลอดไป
___________________________
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=895
เวลา 24 พฤศจิกายน 2567 09:43 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|