ปัญหาคาใจในการเมืองไทยปัจจุบัน โดยคุณ ชำนาญ จันทร์เรือง

6 มีนาคม 2549 06:56 น.

       ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันพลิกผันเปลี่ยนแปลงกันทุกชั่วโมงในปัจจุบันนี้ กว่าบทความชิ้นนี้จะเผยแพร่ออกมาก็คงอาจจะล้าสมัยไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามปัญหาหลักที่ค้างคาใจของประชาชนที่ติดตามสถานการณ์บ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน เอ็นจีโอหรือเครือข่ายทั้งหลาย ฯลฯ ต่างก็ออกมาให้ความเห็นตีกันจนอีนุงตุงนังไปหมด ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วมันควรเป็นอย่างไร
       
       ประเด็นปัญหาคาใจที่ว่านี้ก็คือ
       ๑) ถ้าฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งคราวนี้จะมีผลตามมาอย่างไร
       ๒) เราจะขอรัฐบาลพระราชทานโดยอาศัยมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญฯได้หรือไม่
       ๓) นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาแล้วรักษาการณ์ในตำแหน่งอยู่จะสามารถประกาศสาออกจากตำแหน่งอีกได้หรือไม่ ถ้าได้แล้ว ครม.จะต้องพ้นไปไหม ถ้าไม่พ้นไปทั้งคณะแล้วใครจะมาทำหน้าที่เป็นนายกฯแทน ฯลฯ
       ปัญหาต่างๆเหล่านี้ผมเชื่อว่าประชาชนคงต้องการคำตอบแต่เป็นคำตอบที่ไม่ต้องเป็นวิชาการมากนัก เพราะเท่าที่ผ่านๆมาผู้ที่ออกมาให้ความเห็นส่วนใหญ่แล้วก็จะอ้างมาตราโน้นมาตรานี้พัลวันพัลเกจนสุดท้ายก็สรุปไม่ลงว่าตกลงแล้วจะเป็นอย่างไรกันแน่ ผมจึงขอเสนอความเห็นแบบง่ายๆว่า
       
       ประเด็นแรก กรณีที่ฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งคราวนี้แล้วผลจะตามมาอย่างไรนั้น อยากจะขอย้อนกลับไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาคราวที่ผ่านมาที่ได้สมาชิกไม่ครบ ๒๐๐ คน ขาดไปเพียง ๑ คน ก็ไม่สามารถเปิดเปิดประชุมได้ต้องรอให้ครบเต็มจำนวนเสียก่อนจึงจะเปิดประชุมได้ ในคราวนี้ก็เช่นกันหากพรรคฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าบางเขตเลือกตั้งคงจะมีผู้สมัครเพียงคนเดียว หรืออาจจะไม่มีผู้สมัครเลยก็ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้
       กรณีที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว มิได้หมายความว่าจะได้รับการเลือกตั้งโดยอัตโนมัติเหมือนการเลือกตั้งนายกสมาคมทั้งหลาย แต่กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องมีผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น
       ฉะนั้น หากไม่มีผู้สมัครเลยหรือมีผู้สมัครเพียงคนเดียวแล้วผู้มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละยี่สิบก็เป็นอันว่ามี ส.ส.ไม่ครบ เมื่อมี ส.ส.ไม่ครบก็เปิดสภาไม่ได้ เมื่อเปิดสภาไม่ได้ก็เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เมื่อไม่ได้เลือกนายกฯก็ตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศไม่ได้ ฯลฯ นายกฯก็ต้องรักษาการณ์กันต่อไปโดยไม่สามารถประชุมคณะรัฐมนตรีได้ คิดแล้วก็หนาวขึ้นมาจับใจครับ
       
       ประเด็นที่สอง เราจะขอรัฐบาลพระราชทานโดยอาศัยมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญฯได้หรือไม่
       ก่อนที่จะตอบปัญหานี้ก็คงต้องตอบคำถามที่ว่าแล้วเราเคยมีรัฐบาลพระราชทานมาแล้วหรือไม่ บางคนก็บอกว่าเคยมีมาแล้วในสมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์คราวเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ไง บางคนก็บอกว่ามีมากกว่านั้นอีกคือรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร สมัย พ.ศ.๒๕๑๙ และรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน พ.ศ.๒๕๓๕ ที่เปลี่ยนโผกันอย่างกระทันหันจนมีหลายคนแต่งชุดขาวรอกันเก้อพร้อมกับเสียงโห่ร้องกันทั้งประเทศคราวนั้น
       แต่อย่าลืมว่าเหตุการณ์ทั้งสามเกิดขึ้นในสมัยก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ที่ มาตรา ๒๐๑ วรรคสองกำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผูแทนราษฎรหรือผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่พ้นสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๑๘(๗) ในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวกัน (หมายความว่าไปเป็นรัฐมนตรีแล้วต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.นั่นเอง)
       ส่วนมาตรา ๒๐๒ ก็กำหนดให้สภาผู้แทนราษฏรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรองและมติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา ผู้แทนราษฎร การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยเปิดเผย
       พูดง่ายๆก็คือการตั้งนายกรัฐมนตรีไม่มีทางเป็นอย่างอื่นได้ อ้าว แล้วที่มาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญฯบัญญัติไว้ว่าในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขล่ะ คำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าการตั้งนายกรัฐมนตรีนั้นมีบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วอย่างชัดเจน จะว่าไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๗ ได้อย่างไร เว้นเสียแต่จะล้มรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางอื่นที่มิใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งคงไม่มีใครต้องการเป็นแน่
       
       ประเด็นที่สาม เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาไปแล้ว นายกรัฐมนตรีที่รักษาการณ์ในตำแหน่งอยู่จะประกาศลาออกจากจากการเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์นี้ได้หรือไม่ คำตอบก็คือว่า “ได้” แน่นอน เพราะเมื่อไม่ประสงค์จะทำหน้าที่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นไปด้วยเหตุอันใดก็ตาม เช่น เบื่อ ถูกบีบ ฯลฯ ก็ย่อมที่จะไม่มีใครไปบังคับขืนใจให้ทำหน้าที่ได้
       แล้วหากนายกฯประกาศลาออกแล้วผลจะเป็นเช่นไร ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันมาก บ้างก็ว่าต้องพ้นไปทั้งคณะตามมาตรา ๒๑๕ และมาตรา ๒๑๖ แห่งรัฐธรรมนูญฯ แต่เมื่อพิเคราะห์ให้ดีตามมาตรา ๒๑๕ วรรคหนึ่ง(๒) บอกว่ารัฐมนตรีทั้งคณะพ้นตำแหน่งเมื่ออายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหมายความว่าเมื่อยุบสภา รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่ทำหน้าที่รักษาการณ์รอเท่านั้นเอง
       
       ฉะนั้น หากนายกรัฐมนตรีลาออกจากจากการรักษาการณ์ก็ไม่มีผลอันใดที่จะทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นไปอีกครั้ง(พูดง่ายๆก็คือตายได้ครั้งเดียวเท่านั้น) อ้าว แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องยึดถือตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินทั่วไปคือ เมื่อเบอร์ ๑ ไม่มีหรือไม่อยู่ก็ต้องให้เบอร์ ๒ รักษาการณ์หรือรักษาราชการแทน ฉะนั้น คำตอบก็คือก็ต้องให้รองนายกฯที่มีอาวุโสอันดับ ๑ ที่ได้จัดลำดับไว้แล้วเป็นผู้ที่ทำหน้าที่นายกฯแทนนั่นเอง
       
       และหากคิดมากไปกว่านั้นว่าหากรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะล่ะ จะทำอย่างไร คำตอบก็ต้องว่ากันไปตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนั่นแหละครับ เพียงแต่ไม่มีรัฐมนตรีรักษาการณ์แต่กลไกของข้าราชการประจำก็ทำหน้าที่ต่อไปเพียงแต่อำนาจหน้าที่ไหนที่เป็นอำนาจเฉพาะรัฐมนตรีจะทำไม่ได้เท่านั้นเอง ซึ่งก็คงยุ่งน่าดู
       
       กล่าวโดยสรุปทั้งสามประเด็นนี้ก็คือว่าการตีความกฎหมายต้องตีความให้ปฏิบัติได้ ไม่ใช่ตีความแล้วปฏิบัติไม่ได้ อย่างที่เราเรียกว่าตีความหาเรื่องนั่นเอง
       

       
       ------------------------


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=883
เวลา 26 พฤศจิกายน 2567 10:00 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)