|
|
ครั้งที่ 128 19 กุมภาพันธ์ 2549 23:52 น.
|
ทักษิณ....ออกไป
ผมพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงปัญหา ทักษิณ....ออกไป มาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้ต้องขอร่วมวงด้วย ไม่ใช่เพราะนึกสนุกแต่คงเป็นเพราะเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องแสดงจุดยืนของตนเอง เพราะวันนี้ สังคมไทยแบ่งออกเป็นสองขั้ว คือ ขั้วสนับสนุนรัฐบาลกับขั้วขับไล่รัฐบาล โดยขั้วขับไล่รัฐบาลนอกจากจะมีประชาชนและนิสิตนักศึกษาออกมาเป็นแนวร่วมแล้ว ในครั้งนี้บรรดาอาจารย์ นักวิชาการจากหลายสถาบันก็ออกมาร่วมด้วยซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องแปลกแต่สำหรับผมแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกเลยครับ เพราะที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้แสดงอาการ ดูถูก นักวิชาการหลาย ๆ ศาสตร์เอาไว้มากครับ!! ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่บรรดานักวิชาการทั้งหลายจะออกมา ร่วมด้วยช่วยกัน ครับ ในวันนี้สังคมเราเกิดความแตกแยกและแบ่งขั้วกัน การแตกแยกของสังคมไทยนี้ดู ๆ ไปแล้วก็ไม่เป็นผลดีกับสังคมไทยและบ้านเมืองเท่าไรนัก แต่ก็คงช่วยอะไรมากไม่ได้เพราะเหตุการณ์มันเกิดขึ้นมาแล้ว และต้นเหตุสำคัญก็มาจากนายกรัฐมนตรีคนเก่งของเรานั่นเองครับ
ผู้ใช้บริการ www.pub-law.net ที่เป็นแฟนประจำของเราคงสังเกตได้ว่าผมหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงนายกรัฐมนตรีมานานแล้ว เหตุผลคงไม่มีอะไรมากนอกจากอาการ หวาดกลัว เพราะผมถูก ผู้ใหญ่คนหนึ่ง ตำหนิเรื่องการเขียนบทความของผมที่พาดพิงถึงนายกรัฐมนตรี ด้วยความกลัวผมเลยต้องหยุดกล่าวถึงไปโดยปริยาย ผมคิดว่าคงไม่ใช่ผมคนเดียวที่เกิดอาการหวาดกลัว นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็คงเคยเจอแบบที่ผมเจอมาแล้วดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ในที่สุดก็ต้องเลิกข้องแวะไปโดยปริยายเพราะไม่คุ้มกันครับ จะให้เรียกว่าคุ้มได้อย่างไรเพราะเวลาพูดหรือเขียนบทความอย่างเก่งก็มีคนอ่านหรือฟังไม่กี่พันคน แต่ถ้าไปกระทบนายกรัฐมนตรีเข้าแล้วทำให้นายกรัฐมนตรีไม่พอใจ นายกรัฐมนตรีก็จะพูดโต้ออกรายการวิทยุเช้าวันเสาร์ (ซึ่งออกซ้ำหลาย ๆ รอบตลอดสัปดาห์!!) คนฟังเป็นล้านคน อย่างนี้ก็แย่นะครับมันเหมือนชกมวยคนละรุ่น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ต่างกันมาก ผมก็เลย หวาดกลัว ไม่ค่อยกล้าจะพาดพิงถึงนายกรัฐมนตรีเท่าไรนัก พูดถึงรายการวิทยุเช้าวันเสาร์จริง ๆ ก็ฟังเพลินดี รู้หลาย ๆ เรื่อง เพียงแต่ข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลด้านเดียว นายกรัฐมนตรีเล่าแต่สิ่งดี ๆ ของตน ของคณะรัฐมนตรี บางครั้งฟัง ๆ ดูแล้วเหมือนกับเอา สื่อ ของรัฐมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะครับ น่าจะลองพิจารณาดูบ้างว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะทำเช่นนี้ต่อไป
ปรากฏการณ์ ทักษิณ....ออกไป ที่เกิดขึ้นนั้นให้แง่คิดกับเราหลายอย่าง สำหรับผมนั้น ผมคิด 2 เรื่องด้วยกันครับ เรื่องแรกคือ ใครจะมาแทน ทักษิณ กับเรื่องที่สอง คนที่มาแทน ทักษิณ จะพาสังคมกลับเข้าไปสู่ปัญหาเดิมที่ ทักษิณ เคยเจอมาหรือไม่
ในเรื่องแรกนั้น คงไม่ใช่ผมเป็นผู้ตอบ พรรคการเมืองขนาดใหญ่เช่นพรรคไทยรักไทยคงเตรียมพร้อมสำหรับผู้ที่จะมาแทน ทักษิณ เอาไว้แล้ว ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องที่น่าคิดและน่าวิตกกังวลมากเพราะภายใต้กฎกติกาแบบเดิม ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะต้องเจอสภาพแบบเดิมทั้งนั้น ดังนั้นในเรื่องที่สองนี้เองที่ผมอยากจะพูดถึง ปัญหา ที่เกิดขึ้นและแนวทางในการแก้ไขซึ่งก็คงเป็นการแสดงจุดยืนของผมในปัญหา ทักษิณ....ออกไป ครับ
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้มาแล้ว 8 ปีเศษ ในช่วงระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมามีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย บางปัญหาก็เกิดจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญเอง แต่บางปัญหาคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีนักวิชาการกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งมีผมรวมอยู่ด้วย ได้พยายามศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจนพบว่า บทบัญญัติจำนวนหนึ่งในรัฐธรรมนูญนั้นมีปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีปัญหามาก ด้วยเหตุนี้เองที่นักวิชาการกลุ่มนี้ได้ตัดสินใจที่จะลองยกร่างรัฐธรรมนูญต้นแบบขึ้นจากมุมมองทางวิชาการที่เป็นอิสระจากผู้มีส่วนได้เสียทางการเมือง รัฐธรรมนูญต้นแบบนี้จะประกอบด้วยเอกสารที่มีคำอธิบายถึงกลไกและกระบวนการต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญเอาไว้อย่างละเอียด โดยมุ่งหวังว่าการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ที่จะมีขึ้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะนำพาระบบการเมืองของประเทศไทยไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม
ทำไมผมจึงกล่าวว่ากลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีปัญหามากทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันวางกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้มากเหลือเกิน หากเราจะแยกกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐออกเป็นสองส่วนคือ กลไกตรวจสอบโดยรัฐสภากับกลไกตรวจสอบโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญแล้วก็จะพบว่ากลไกการตรวจสอบทางรัฐสภาแทบจะเรียกได้ว่า ใช้ไม่ได้ เพราะปัจจุบันพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากเป็นรัฐบาล กลไกในการตรวจสอบโดยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจึงไม่สามารถทำงานได้ ในขณะที่วุฒิสภานั้นก็มี ข้อกล่าวหา มาตลอดว่ามีบางส่วนเป็น พวกรัฐบาล และเป็นที่น่าเชื่อว่าโอกาสที่วุฒิสภาชุดใหม่ที่เรากำลังจะเลือกตั้งกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะเป็น พวกรัฐบาล กันมาก ดังนั้น กลไกตรวจสอบโดยรัฐสภาจึง น่าจะ ทำงานไม่ได้เต็มที่ ในขณะที่กลไกในการตรวจสอบโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายนั้นแม้จะทำได้แต่ก็เป็นที่กังขาของผู้คนอยู่ตลอดเวลาด้วยเหตุที่ในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านี้มักจะมีเสียงสะท้อนกันออกมาว่ามีการเล่นพรรคเล่นพวก หรือมีการแทรกแซงโดยรัฐบาล ทำให้มีการเรียกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านั้นบางองค์กรว่า สีเทา ซึ่งหมายความว่า ไม่อิสระ นั่นเอง ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่ากลไกตรวจสอบโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าที่จะทำงานได้อย่างเต็มที่สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และนอกจากนี้แล้วในบางกรณี เราจะพบว่าการใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบในวันนี้ยากแก่การตรวจสอบ พัฒนาการของการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ตนเองเป็นไปอย่างรวดเร็วและแตกต่างจากในอดีต ที่ผ่านมาเราคงคุ้นเคยกับการให้สินบนที่เรียกกันว่า เงินใต้โต๊ะ ที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าผิดกฎหมาย แต่ในปัจจุบัน มีการดำเนินการบางอย่าง ตามกฎหมาย และผู้ดำเนินการก็ได้อานิสงส์จากการดำเนินการดังกล่าวได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตัวอย่างเช่น การดำเนินการ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ผู้ดำเนินการทำตามกฎหมาย เริ่มตั้งแต่การเลือกรัฐวิสาหกิจมาแปลงสภาพซึ่งแทนที่จะเลือกรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา ให้บริการกับประชาชนไม่ได้อย่างเต็มที่ กลับเลือกรัฐวิสาหกิจชั้นดีมาแปลงทุนเป็นหุ้น ที่ผ่านมาเราคงได้ยินถึงความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการประเมินราคา กระบวนการขายหุ้นซึ่งก็มีข่าวออกมาว่ามีการขายหุ้นให้กับผู้มีอำนาจบางคนเป็นจำนวนมากและไม่กี่เดือนต่อมาราคาหุ้นก็ขึ้นอีก 5 เท่า (กรณี ปตท.) การดำเนินการเช่นนี้เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย แต่เราก็รู้กันอยู่ว่ามี ปัญหา และไม่มีกลไกตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่จะตรวจสอบได้ครับ
หากจะถามว่า ถ้าเราจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง จริง ๆ แล้วผมมีคำตอบแต่คงไม่เหมาะสมที่จะนำมาตอบที่นี่เพราะ www.pub-law.net เป็น เวที ของผมเพียงคนเดียวในขณะที่การยกร่างรัฐธรรมนูญต้นแบบนี้ทำกันหลายคน คงต้องรอไปก่อนครับ ผมอาจ ชี้ ให้เห็นประเด็นเล็ก ๆ ประเด็นหนึ่งที่ยัง ขาด อยู่ในระบบการตรวจสอบทางการเมืองของเราก็คือกระบวนการลงโทษนักการเมืองครับ คงจำกันได้ว่าเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษากรณีอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งทุจริตคอร์รัปชั่น ปรากฏว่าอดีตรัฐมนตรีผู้นั้นหนีครับ ไม่มาฟังคำพิพากษาให้จำคุกตนเองและหลบหนีไป คงหวังจะไปกบดานรออยู่ที่ไหนสัก 10 ปี ให้คดีขาดอายุความก่อนจึงค่อยกลับมา แต่บังเอิญถูกจับไปเสียก่อน วันนี้ก็เลยต้องเข้าไปนอนในคุก กรณีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องนำกลับมาคิดว่า กรณีนักการเมืองทำความผิดอันเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งถือว่าเป็นความผิด ต่อแผ่นดิน เช่นนี้ควรมีอายุความหรือไม่ ผมเห็นว่าการทรยศต่อประเทศชาติและการโกงแผ่นดินถือเป็นความผิดที่ร้ายแรงมากเพราะเป็นการทำผิดต่อประชาชนทั้งประเทศ ความผิดลักษณะนี้ไม่สมควรมีอายุความหรอกครับ ในวันข้างหน้าอีก 20-30 ปีถ้าเราพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองของลูกหลานนักการเมืองเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการโกงแผ่นดิน ก็สามารถยึดคืนได้ นี่เป็นเพียงประเด็นหนึ่งที่นำมาเป็นตัวอย่างให้ดูว่าสมควรนำมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญของเราครับ
ด้วยเหตุที่ผมเข้าไปร่วมทำร่างรัฐธรรมนูญต้นแบบเพื่อการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 นี้เอง ที่ผมขอแสดงจุดยืนเอาไว้ ณ ที่นี้ว่า ประเด็นปัญหา ทักษิณ....ออกไป ไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะภายใต้กฎกติกาเดิม ถึง ทักษิณ....จะ....ออกไป ได้จริงแต่คนใหม่เข้ามาแล้วยังอยู่ภายใต้กฎกติกาเดิม ปัญหาก็จะเป็นเช่นเดิมครับ ดังนั้น จุดยืนของผมก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ครับ
ย้อนกลับมาพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญต้นแบบ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าคงไม่เหมาะและยังไม่ถึงเวลาที่ผมจะเล่ารายละเอียดอะไรทั้งนั้น หากผู้สนใจก็ลองอ่านดูได้ในกรอบ การปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2 ครับ ผมอยากจะบอกว่าจริง ๆ แล้วการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่หน้าที่นักวิชาการที่จะทำนะครับ แต่เนื่องจากมาตรา 336 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สามารถทำรายงานเสนอความเห็นต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เมื่อครบ 5 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่ในเมื่อ 8 ปีผ่านไปยังไม่มีองค์กรใดเลย สนใจ ที่จะดำเนินการตามมาตรา 336 จึงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่จะต้องลองศึกษาดูครับ
แม้ฝ่ายวิชาการเราจะทำร่างรัฐธรรมนูญต้นแบบมาเป็นเวลาเกือบปีแล้วก็ตามแต่ก็ไม่มีใครให้ความสนใจ ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มมีคนพูดถึงเมื่อเกิดปรากฏการณ์ ทักษิณ....ออกไป โดยมีผู้นำเอาเรื่องการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปพ่วงด้วย นอกจากนี้แล้วก็ยังมีนักการเมืองบางกลุ่มพยายามพ่วงประเด็นต่าง ๆ เข้าไปด้วยโดยเผื่อไว้ว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะได้แก้ไขบางมาตราที่ เป็นโทษ กับตัวเอง แต่อย่างไรก็ดี เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง นายกรัฐมนตรีได้ เสนอ แนวคิดที่จะให้สอบถามประชาชนว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยจะให้ทำพร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ในวันที่ 19 เมษายน ที่จะถึงนี้ซึ่งเมื่อฟังที่นายกรัฐมนตรีพูดแล้วก็เข้าใจว่านายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการออกเสียงประชามติครับ !
การออกเสียงประชามตินั้นบัญญัติไว้ในมาตรา 214 แห่งรัฐธรรมนูญ หากจะถามว่าเราจะเอาระบบการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญมาใช้ขอความเห็นจากประชาชนว่าสมควรแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญจะทำได้หรือไม่นั้น คำตอบก็คงอยู่ที่ว่า ทำได้ แต่ไม่ใช่ในกรณีที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ ผมมีเหตุผล 2 ประการครับ ประการแรกคือเรื่องระยะเวลาที่มาตรา 214 วรรค 3 กำหนดไว้ว่าจะต้องกำหนดวันออกเสียงประชามติไว้ก่อน 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีจะเอามาใช้ในวันที่ 19 เมษายน ก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะเวลาไม่ถึง 90 วันครับ ประการที่สองเป็นเรื่องที่สำคัญมากคือ ประเด็นที่จะนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติ เราคงไม่สามารถสอบถามประชาชนได้ว่าสมควรแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญโดยขาดการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบถึงปัญหา อุปสรรคและข้อขัดข้องที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน วิธีการที่ถูกและที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ รัฐบาลหรือรัฐสภาควรจัดให้มีการรวบรวมประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันก่อน จากนั้นให้นักวิชาการที่เป็นกลางทำการศึกษาวิเคราะห์ว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญหรือเกิดจากความเข้าใจผิดหรือการคิดแบบผิดปกติของตัวผู้ใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงค่อยนำมากำหนดประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็นำเอาประเด็นเหล่านั้นไปสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเหล่านั้น การดำเนินการเช่นนี้จะดูดีกว่าการไปตั้งคำถามกว้าง ๆ กับประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไหมครับ! ผมเข้าใจว่าข้อเสนอที่จะรับฟังเสียงประชาชนของนายกรัฐมนตรีเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นมา สด ๆ โดยไม่ผ่านการตรวจสอบทั้งข้อกฎหมายและทั้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้วครับ
มีข้อควรระวังอยู่บ้างสำหรับการออกเสียงประชามติ (referendum) ที่จากประสบการณ์ของบางประเทศในอดีตนั้น เมื่อผู้นำประเทศขอประชามติในเรื่องต่าง ๆ ประชาชนก็ปฏิเสธเนื่องจากไม่ชอบผู้นำประเทศ การออกเสียงประชามติในกิจการจึงกลายเป็นการให้หรือไม่ให้ความเห็นชอบในตัวบุคคล (plebiscite) ไปโดยปริยายครับ น่ากลัวนะครับ !
ในระหว่างวันที่ 17-27 กุมภาพันธ์ นี้ ผมจะเดินทางไปราชการที่ประเทศอังกฤษและออสเตรียครับ มีอะไรน่าสนใจก็จะเก็บมาเล่าให้ฟังต่อไป
บทบรรณาธิการนี้ถือว่าเป็นบทบรรณาธิการครั้งสุดท้ายสำหรับปีที่ 5 ของเราเพราะในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ เราก็จะมีอายุครบ 5 ปีแล้วนะครับ ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่าเราทำได้ และทำได้ดีด้วยครับ ลองดูจำนวนผู้เข้าใช้บริการแล้วก็จะทราบว่า 5 ปี มีผู้เข้าใช้บริการเกือบ 1 ล้านครั้ง เป็นอะไรบางอย่างที่ พิเศษ ครับ ในคราวหน้า ผมจะเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เราจะทำต่อไปครับ
ในครั้งนี้ เรามีบทความจำนวน 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความสั้น ๆ ที่ ศาสตราจารย์ ดร.René HOSTIOU แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส ขาประจำของเราอีกคนหนึ่งเขียนมาร่วมกับเราหลายบทความแล้วครับ บทความนี้ชื่อว่า La Cour Européenne des Droits de lHomme condamne la théorie de lexpropriation indirecte ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับการเวนคืน ใครที่ไม่ถนัดภาษาฝรั่งเศสก็ลองให้ผู้รู้แปลให้อ่านนะครับ ส่วนบทความที่ 2 เป็นบทความจากคุณชำนาญ จันทร์เรือง ขาประจำของเราอีกคนที่เขียนบทความเรื่อง ปลดล็อคการสรรหา ป.ป.ช. ครับ ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ นอกจากบทความสองบทความแล้ว เรายังมีการแนะนำหนังสือที่น่าสนใจอีกสามเล่มด้วยกันครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2549 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=877
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:58 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|