|
|
องค์การมหาชนอิสระในกฎหมายมหาชนเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ตอนที่ 3 โดย นางสาวพิมพ์ดาว จันทรขันตรี และนางสาวกิตติยาพร ประยูรพรหม 5 กุมภาพันธ์ 2549 23:46 น.
|
บทที่ 2 คณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงาน
La Commission de régulation de lénergie (La CRE)1
ในสมัยประธานาธิบดี de Gaulle รัฐสภาได้ออกรัฐบัญญัติฉบับวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1946 ว่าด้วยการโอนวิสาหกิจด้านไฟฟ้าและก๊าซของเอกชนมาเป็นของรัฐ รัฐบัญญัติฉบับดังกล่าวกำหนดไว้ว่ากิจการไฟฟ้าและก๊าซเป็นบริการสาธารณะที่รัฐเป็นผู้จัดทำแต่เพียงผู้เดียวผ่านทางองค์การมหาชนทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (Des établissements publics industriels et commerciaux) รัฐบัญญัติฉบับนี้ยังมีผลบังคับใช้มาถึงปัจจุบันแม้จะได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาหลายครั้ง เนื่องจากในปี 1996 และ 1998 สหภาพยุโรปได้ออกระเบียบ (la directive) กำหนดให้ประเทศสมาชิกเปิดเสรีด้านไฟฟ้าและก๊าชเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค รัฐบาลฝรั่งเศสได้นำระเบียบดังกล่าวมาบังคับใช้ผ่านรัฐบัญญัติฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2000 ที่กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ของการเปิดเสรี และจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านไฟฟ้า ( La Commission de régulation de l électricité) ต่อมารัฐบัญญัติฉบับวันที่ 3 มกราคม 2003 ได้ขยายบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมด้านไฟฟ้าออกไปครอบคลุมด้านก๊าชและเปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงาน ( La Commission de regulation de lénergie) รัฐบัญญัติทั้งสองฉบับได้กำหนดองค์ประกอบและรูปแบบการดำเนินงานรวมทั้งอำนาจและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงานไว้ดังนี้
ก.องค์ประกอบและรูปแบบการดำเนินงาน
ความเป็น องค์กรอิสระ ของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงานสามารถศึกษาได้จากองค์ประกอบและรูปแบบการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงาน
1. องค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงาน
คณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงานประกอบไปด้วยคณะกรรมการเจ็ดท่าน (เพิ่มขึ้นจากเดิมหนึ่งตำแหน่ง เมื่อมีการขยายอำนาจการดูแลของคณะกรรมการให้ครอบคลุมด้านก๊าซด้วย) วาระการดำรงตำแหน่งเพียงครั้งเดียวคือ 6 ปี คณะกรรมการถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี 2 ตำแหน่ง โดยประธานรัฐสภา 2 ตำแหน่ง โดยประธานวุฒิสภา 2 ตำแหน่ง และประธานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาิติมีสิทธิในการแต่งตั้งหนึ่งตำแหน่ง ตามคุณวุฒิซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านเทคนิค หรือนักกฎหมาย แต่คณะกรรมการจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกิจการด้านไฟฟ้าและก๊าซ นอกจากนี้คณะกรรมการทั้งเจ็ดท่านจะต้องไม่ประกอบอาชีพอื่นใดและไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เพื่อให้การทำงานของคณะกรรมการเป็นไปอย่างอิสระ กฎหมายกำหนดว่ากรรมการทั้งเจ็ดตำแหน่งไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นใด นอกจากนี้กรรมการทุกท่านยังไม่สามารถถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ยกเว้นเมื่อรัฐมนตรีด้านพลังงานได้ทำการวินิจฉัยว่าการเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนต่อผู้ถูกแต่งตั้ง
2. รูปแบบการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงาน
ในส่วนของงบประมาณที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงาน ในแต่ละปีคณะกรรมการจะเสนองบประมาณที่ต้องการต่อรัฐมนตรีด้านพลังงาน เพื่อให้นำไปบรรจุในรัฐบัญญัติงบประมาณแผ่นดินประจำปีต่อไป
ในส่วนของเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงาน เจ้าหน้าที่ประกอบไปด้วยข้ารัฐการ(fonctionnaires) ที่มิได้ขึ้นตรงต่อกระทรวงพลังงาน แต่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะกรรมการโดยตรง ข้ารัฐการเหล่านี้ถูกแต่งตั้งโดยประธานคณะกรรมการกำกัลดูแลด้านพลังงาน นอกจากเจ้าหน้าที่ที่เป็นข้ารัฐการแล้ว คณะกรรมการยังสามารถจัดจ้างพนักงาน (agents contractuels) ได้อีกด้วย ทั้งข้ารัฐการและพนักงานของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงานไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลหรือหน่วยงานใดเช่นเดียวกับคณะกรรมการทั้งเจ็ดท่าน
ข. บทบาทหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงาน
บทบาทหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสามารถสรุปออกมาได้ดังต่อไปนี้
1. บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงาน
บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการมีอยู่สองด้านใหญ่ๆ คือ
* บทบาทหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าใช้สายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้ารวมถึงการเข้าใช้ท่อส่งก๊าซและโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติ
การแข่งขันในตลาดไฟฟ้าและก๊าซจะเป็นไปมิได้เลยถ้าผู้ประกอบการและผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ไม่สามารถเข้าใช้สายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้าและท่อส่งก๊าซได้อย่างเท่าเทียมและไม่ถูกกีดกัด ฉะนั้นคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงานจึงต้องเข้ามากำกับดูแลและการันตีว่าทุกฝ่ายสามารถเข้าใช้ระบบเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งสามารถกระทำได้หลายวิธี
นอกจากนี้คณะกรรมการยังต้องสอดส่องดูแลเพื่อให้การพัฒนาระบบและสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าและก๊าซเป็นไปด้วยดี เช่น อนุมัิติแผนด้านการลงทุนของผู้จัดการระบบขนส่งไฟฟ้าในแต่ละปี (Elle approuve le programme annuel d'investissement du gestionnaire du réseau public de transport d'électricité.)
ท้ายสุดคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงานจะต้องรับรองความเป็นอิสระของผู้จัดการระบบขนส่งไฟฟ้าและก๊าซ เช่น ผู้บริหารด้านการขนส่งและจำหน่ายไฟฟ้าและก๊าซจะถูกไล่ออกได้ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการได้ลงความเห็นชอบไปก่อนหน้านั้น
* บทบาทหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลตลาดด้านพลังงาน
คณะกรรมการจะต้องควบคุมดูแลให้การเปิดเสรีด้านพลังงานเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสอดคล้องกับการดำเนินการด้านการบริการสาธารณะของรัฐ เช่น เสนอแนะราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับบุคคลผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิใช้ไฟ้ฟ้าได้อย่างเท่าเทียมกัน
2. อำนาจของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงาน
เพื่อให้การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบัญญัติกำหนดให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงานมีอำนาจต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ
* อำนาจในการให้คำปรึกษา (pouvoir consultatif)
คณะกรรมการสามารถให้คำปรึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ (gestion) และการเข้าใช้สายส่งและสายจำหน่ายของผู้ประกอบการ (accès aux réseaux) เสนอแนะอัตราค่าใช้บริการระบบขนส่งและจำหน่ายสาธารณะ(tarifs dutilisation des réseaux publics de transport et de distribution) รวมไปถึงอัตราค่าไฟฟ้าในครัวเรือน (clients non éligibles)
* อำนาจในการออกกฎข้อบังคับต่างๆ (pouvoir réglementaire)
เช่น ออกกฎเพื่อชี้เฉพาะบทบาทของผู้ดูแลและจัดการระบบ (gestionnaire de réseau) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ (développement des réseaux) หรือการเชื่อมโยงระบบ (raccordement des réseaux)
* อำนาจในการตัดสินข้อพิพาท (pouvoir de règlement des différends)
ข้อพิพาทระหว่างผู้ดูแลจัดการระบบและผู้ใช้ระบบขนส่งและแจกจ่ายสาธารณะที่เกี่ยวกับการเข้าสู่ระบบ (accès au réseau) และการใช้ระบบ (utilisation du réseau) จะถูกตัดสินโดยคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป็นข้อพิพาทในกรณีที่มีการปฏิเสธให้เข้าใช้ระบบ คณะกรรมการฯ ต้องมีคำตัดสินภายในเวลา 2 เดือน มาตรา 38 ของรัฐบัญญัติฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 ระบุไว้ว่าคู่กรณีสามารถยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงานต่อศาลอุทธรณ์้เมืองปารีส (La Cour dappel de Paris)ได้
* อำนาจในการสืบสวนและลงโทษ (pouvoir denquête, de saisie, de sanction)
เช่น คณะกรรมการฯ สามารถสืบสวนและลงโทษผู้ที่กระทำผิดต่อระเบียบว่าด้วยเรื่องการเข้าสู่ระบบหรือเครือข่าย การลงโทษอาจอยู่ในรูปของการห้ามเข้ามาใช้ระบบเป็นการชั่วคราว (interdiction temporaire) แต่ทั้งนี้ระยะเวลาที่ถูกระงับจะต้องไม่เกินหนี่งปี หรือการลงโทษในรูปของการปรับ (sanction pécuniaire) หรืออำนาจในการออกคำสั่งให้มีการให้บริการแก่ผู้ขอเข้าใช้ระบบต่อไป (mesure conservatoire) เพื่อให้การทำงานของระบบเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
เชิงอรรถ
(1) เขียนโดย นางสาวพิมพ์ดาว จันทรขันตี
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=874
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 00:44 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|