ครั้งที่ 127

5 กุมภาพันธ์ 2549 23:43 น.

       "การขายหุ้นในกิจการที่ได้รับสัมปทาน"
       การขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปให้กับกองทุนเทมาเซก (Temasek) แห่งสิงคโปร์เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา สร้างความสงสัยให้สังคมเป็นอย่างมากด้วยเหตุผลหลายประการ บางกลุ่มก็สงสัย (แกมอิจฉา) กับเงินค่าหุ้น 7 หมื่นกว่าล้านที่ขายได้ บางกลุ่มก็สงสัย “เหตุผล” ของการขายหุ้นของบริษัทดังกล่าว บางกลุ่มก็สงสัย “กระบวนการ” ขายหุ้นว่าถูกต้องและโปร่งใสหรือไม่ ก็เป็นหัวข้อสนทนาได้ในทุกวงการครับ
       ก่อนที่จะเข้าไปพูดคุยกันถึงประเด็นเรื่องการขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปให้กับเทมาเซก คงต้องขอเล่าให้ฟังถึงเทมาเซกหน่อยว่าคืออะไร Temasek เป็นบริษัท Holding Company ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2517 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ บริหารจัดการเงินลงทุน เทมาเซกมีกระทรวงการคลังแห่งประเทศสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้น 100% ในตอนเริ่มต้นเทมาเซกได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่ของสิงคโปร์ที่แต่เดิมเคยเป็นรัฐวิสาหกิจหรือเป็นกิจการที่รัฐเป็นเจ้าของซึ่งได้แก่ กิจการประเภทโครงสร้างขั้นพื้นฐานหรือกิจการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศ เช่น Singapore Airlines, SingTel, ธนาคาร DBS และ Singapore Power เป็นต้น ต่อมาก็ได้ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เช่น ในอินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกาและมาเลเซีย รวมทั้งประเทศไทยด้วยครับ เนื่องจากรูปแบบของเทมาเซกเป็นรูปแบบที่น่าสนใจที่จะนำมาปรับใช้กับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยโดยกระทรวงการคลังก็มีแนวคิดที่จะจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ขึ้นมาให้มีลักษณะเช่นเทมาเซก โดยให้มีหน้าที่รับโอนหลักทรัพย์จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐมาจัดการในเชิงธุรกิจและทำการจำหน่ายหรือกระจายหลักทรัพย์ให้แก่ประชาชน รวมทั้งเพื่อลงทุนหรือร่วมลงทุนกับผู้ลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศตามนโยบายของรัฐบาลครับ ได้มีผู้ทำแนวคิดดังกล่าวให้ออกมาเป็นร่างกฎหมายซึ่งผมไม่ทราบว่าปัจจุบันร่างกฎหมายบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติอยู่ที่ไหนแล้วครับ
       ทุนจากสิงคโปร์เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เรามีวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 แล้ว การเข้ามาของทุนจากสิงคโปร์อาจไม่เป็นที่สังเกตของผู้คนมากนัก แต่ในปัจจุบันสิงคโปร์เข้าไปถือหุ้นในธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยจำนวนมากที่ผมไม่ขอเอ่ยชื่อ ณ ที่นี้ ธุรกิจเหล่านั้นได้แก่ ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ โรงพยาบาล รัฐวิสาหกิจ สนามบิน เรียกได้ว่า ทุนจากสิงคโปร์เข้ามาแทรกซึมครอบคลุมทุกกิจการในประเทศไทย
       การขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปให้กับเทมาเซกในครั้งนี้มีประเด็น “น่าคิด” อยู่หลายประเด็นด้วยกันครับ อย่างที่เราทราบดีแล้วว่า ชินคอร์ปเป็นบริษัทไทยที่ “ครอบครัว” ของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ธุรกิจของชินคอร์ปครอบคลุมหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดาวเทียม อินเตอร์เน็ต สายการบินขนาดเล็ก บริษัทสินเชื่อ เป็นต้น ดังนั้น การตัดสินใจขายหุ้นครั้งนี้จึงน่าจะ “ไม่ธรรมดา” ครับ
       ประเด็นแรกที่ต้องคิดก็คือ ทำไมถึงต้องขายหุ้น ช่วงก่อนหน้านี้ก็มีข่าวออกมาประปรายว่า ครอบครัวนายกรัฐมนตรีเตรียมขายหุ้นเพื่อที่จะไปอยู่ประเทศอื่นได้อย่างไม่ลำบากหากมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีเองก็ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้เองว่าลูก ๆ ตัดสินใจขายหุ้นก็เพราะต้องการให้พ่อทำงานการเมืองอย่างอิสระ สบายใจ เหตุผลใครก็เหตุผลมันจริงไหมครับ ผมเข้าใจว่า การขายเพื่อเลิกทำธุรกิจนั้นน่าจะเป็นไปได้ยากเพราะคงไม่มีใครสนใจหรือตั้งใจที่จะกำเงินสดจำนวนมากเอาไว้เฉย ๆ เป็นแน่ แต่ผมมองว่าธุรกิจที่ชินคอร์ปทำอยู่ก่อนที่จะตัดสินใจขายนั้นน่าจะเป็นธุรกิจที่ “อิ่มตัว” แล้ว เพราะปัจจุบันมีการแข่งขันกันอย่างมากในขณะที่ชินคอร์ปมีรายได้และร่ำรวยขึ้นมาจากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงต้น ๆ ที่ไม่มีการแข่งขันหรือมีการแข่งขันน้อย วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะ “ขาย” ธุรกิจที่ “อิ่มตัว” แล้ว เพราะหุ้นยังมีราคาดีอยู่ หากปล่อยไว้ในวันข้างหน้าเมื่อถึงช่วง “ขาลง” ของธุรกิจดังกล่าว การขายก็คงลำบากมากกว่านี้เป็นแน่ครับ
       ประเด็นชวนคิดประเด็นต่อมาคือ ขายให้ใคร จริง ๆ แล้วการที่เราจะขายอะไรให้ใครสักอย่างเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะ “ส่วนตัว” เอามาก ๆ เช่น ผมอยากขายรถยนต์ให้ฝรั่งสักคนก็คงไม่มีใครมาว่าผมได้ใช่ไหมครับ แต่การขายหุ้นของชินคอร์ปคงทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะธุรกิจที่ชินคอร์ปทำอยู่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั่วประเทศและมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ประกอบกับธุรกิจเหล่านั้นเดิมเป็นกิจการที่รัฐผูกขาดอยู่แล้วชินคอร์ปไปได้สัมปทานมา มีบางกิจการที่สัมปทานยังเหลือระยะเวลาอีกเกือบ 20 ปีด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นการขาย เราคงต้อง “คำนึง” ถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย เพราะธุรกิจที่ขายนั้นเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศ เกี่ยวข้องกับความมั่นคงจึงต้อง “เลือก” ผู้ซื้อกันพอสมควรทีเดียว และสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงก็คือการขายให้กับต่างชาติ (ซึ่งเป็น “คู่แข่ง” ของคนไทย!!) เพราะจะทำให้ต่างชาติเข้ามาครอบงำและชี้นำกิจการของไทยครับ เหตุที่เราต้อง “เลือก” ผู้ซื้อก็เพราะสภาพของธุรกิจที่มีลักษณะเป็นการให้บริการนั่นเองครับที่เราคงต้องให้ความสำคัญกับผู้บริโภคที่เลือกใช้บริการของเรามาตั้งแต่ต้น และที่ช่วยให้เรา “ร่ำรวย” ได้จนถึงทุกวันนี้ คงต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนว่าผู้ซื้อรายใหม่จะ “ดูแล” ผู้บริโภคต่อไปอย่างไรครับ ก็ถือเป็นการตอบแทนบุญคุณผู้บริโภคที่ช่วยให้เจ้าของกิจการเป็นมหาเศรษฐีได้ในทุกวันนี้ครับ การตัดสินใจขายหุ้นครั้งนี้จึงมีประเด็นที่น่าคิดว่า ผู้ขาย “คำนึง” ถึงอะไรบ้างครับและมีมาตรการใดที่ “รองรับ” สิทธิของผู้บริโภคไว้บ้าง
       ประเด็นต่อมาคือ การขายสัมปทาน เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสิ่งที่เป็น “ทรัพยากรของชาติ” นั้น เราสามารถให้ “สัมปทาน” ได้ เมื่อหมดระยะเวลาสัมปทาน ทรัพยากรนั้นก็ตกกลับมาเป็นของชาติเช่นเดิม โดยหลักเรามักจะให้สัมปทานกับ “คนไทย” ด้วยกัน ในวันนี้ หากเทมาเซกมาขอสัมปทานดาวเทียม ผมมั่นใจมากว่าคงไม่มีใครยอมให้แน่นอนเพราะเทมาเซกก็คือประเทศสิงคโปร์นั่นเองครับ แต่ปัจจุบัน ภายหลังการขายหุ้นชินคอร์ป เทมาเซกได้สัมปทานดาวเทียมของไทยเราไปด้วยครับ! สัมปทานดาวเทียมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ หากเราคุมดาวเทียมไม่ดี ก็จะเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศเพราะต่างชาติสามารถใช้ดาวเทียมจารกรรมข้อมูลได้ และหากเรามีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วนที่ต้องอาศัยการทำงานของดาวเทียม (เช่นกรณีสึนามิ) เราก็คงลำบากพอควรเหมือนกันนะครับ คงไม่สะดวกเหมือนก่อนที่ “คนไทย” เป็นเจ้าของแน่นอนครับ และนอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดูมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็ยิ่งสะท้อนใจเข้าไปใหญ่ว่าทำไมถึงทำกันได้ขนาดนี้ครับ ทรัพยากรสื่อสารของชาติไทยเพื่อประโยชน์สาธารณะของคนไทยแต่อยู่ในการ “กำกับดูแล” ของสิงคโปร์ครับ!
       ประเด็นเรื่อง กระบวนการหรือวิธีการขายหุ้น ก็เป็นประเด็น “ร้อน” ที่คนออกมาพูดถึงกันมาก ก็เห็นด้วยนะครับ การเป็น “บุคคลสาธารณะ” ต้องทำอะไรให้ “โปร่งใส” มาก ๆ แล้วก็คงต้องมีคำตอบในทุก ๆ เรื่องด้วยครับ ประเด็นเรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์แล้วไม่ต้องเสียภาษีเราคงทำอะไรไม่ได้เพราะที่ผ่านมาก็ถูกต้องตามกฎกระทรวงที่ออกมาในปี 2534 ครับ เพราะกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้การซื้อขายหลักทรัพย์เฉพาะของบุคคลธรรมดาในตลาดหลักทรัพย์ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้! แต่หากเรามาดูข้อเท็จจริงอย่างละเอียดแล้วก็จะเกิดความสงสัยว่า การซื้อขายหุ้นมูลค่า 7 หมื่นกว่าล้านสามารถทำในตลาดหลักทรัพย์ได้ในเวลาไม่ถึง 1 วันหรือครับ เป็นไปได้อย่างไรไม่ทราบ ผมมองว่ากระบวนการก่อนที่จะมาถึงวันซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 23 มกราคมที่ผ่านมานั้นคงเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยาว คงมีการเจรจาตกลงกันนอกตลาดหลักทรัพย์มาหลายต่อหลายครั้งแล้ว การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมาจึงเป็น “จุดจบ” ของการเจรจาและเป็นจุด “อาศัย” ตลาดหลักทรัพย์เพื่อทำการซื้อขายที่จะไม่ต้องเสียภาษีต่างหากครับ และนอกจากนี้แล้ว ก่อนหน้านี้เพียง 3 วันคือ เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคม กฎหมายที่แก้ไขเพื่อให้คนต่างชาติถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมที่แก้ไขจาก 25% เป็น 49% ก็เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันเสาร์-วันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ วันจันทร์ก็ซื้อขายหุ้นกันเลย ผมเข้าใจว่าคงไม่ใช่ “เหตุบังเอิญ” แน่นอนครับ
       จริง ๆ แล้วผมยังมีประเด็นอื่นอีกมากที่สงสัย ไม่ว่าจะเป็น 7 หมื่นกว่าล้านจริงไหม หรือมากกว่านั้น! ประเด็นความโปร่งใสในการขายหุ้น ประเด็นบริษัทที่เข้ามาร่วมซื้อหุ้นกับเทมาเซก ประเด็นเรื่องที่มาของหุ้นบางจำนวน เป็นต้น ที่ผมคงไม่สามารถนำมากล่าวถึงในที่นี้ได้ทั้งหมดครับ
       จะว่าคนไทยเราลืมง่ายก็ถูก วันนี้ผมอยากแนะนำให้เราย้อนกลับไปอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544 กรณีซุกหุ้นโดยขอให้อ่านคำวินิจฉัยส่วนตัวของคุณประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญขณะนั้น (และเป็นเสียงข้างน้อยด้วยครับ) คำวินิจฉัยส่วนตัวนี้ “กินใจ” จริง ๆ ครับ โดยเฉพาะในตอนท้ายของคำวินิจฉัย (เทียบได้กับหน้า 4 ที่ลงในwebsite นี้) เขียนได้ดีมากและในปัจจุบันเราก็ยังสามารถนำมาเป็นเครื่อง “เตือนใจ” ให้กับประชาชนเช่นเรา ๆ ว่า ความผิดพลาดโดยสุจริตนั้นต่างจากการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบอย่างมาก ลองอ่านดูนะครับ
       การขายหุ้นของชินคอร์ปในครั้งนี้น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เตือนให้คนไทยต้อง “ระวังตัว” ครับ วันข้างหน้าเมื่อเรานำเอารัฐวิสาหกิจ (เช่น กฟผ.) เข้าตลาดหุ้น เราจะทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามา “ยึดครอง” รัฐวิสาหกิจของเราได้ครับ ก็ขนาดให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมจาก 25% เป็น 49% ยังสามารถแก้กฎหมายได้ แล้วในที่สุด ประเทศไทยเราจะเหลืออะไรกันครับ
       กทช. อยู่ไหนครับ ลองศึกษาดูหน่อยดีไหมครับว่าการขายหุ้นโทรคมนาคมให้ต่างชาติ จะมีผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจโทรคมนาคม ต่อผู้ใช้บริการ และต่อทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ 3 บทความที่ติดค้างไว้นานพอควร ซึ่งผมต้องทั้งขอโทษผู้เขียนที่ลงให้ช้าไปหน่อยและขอบคุณผู้เขียนที่กรุณาส่งบทความมาลงกับเราครับ บทความแรกคือบทความของนักศึกษาไทยในประเทศฝรั่งเศสที่เราได้ลง 2 ตอนแรกไปแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมาครับ บทความเรื่อง “องค์การมหาชนอิสระในกฎหมายมหาชนเศรษฐกิจของฝรั่งเศส” ตอนที่ 3 เขียนโดยนางสาวพิมพ์ดาว จันทรขันตี และนางสาวกิตติยาพร ประยูรพรหม บทความที่สองเป็นบทความที่ รศ.ดร.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนขึ้นเพื่อใช้นำเสนอผลงานที่ต่างประเทศ บทความเรื่อง “The Thai Constitution of 1997 : A study on Protection Rights and Liberties” และบทความที่สามเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง บทความเรื่อง “อัลตระรอยัลลิสต์ (Ultra royalist)” ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=871
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:26 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)