ครั้งที่ 70

15 ธันวาคม 2547 13:53 น.

       "ปัญหาการสรรหา ปปช.!/ปัญหาถูกลอกหนังสือ!!"
       สองสัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องให้ “หดหู่” ใจอยู่หลายเรื่องเหลือเกินครับ เรื่องที่ทำให้ผมหดหู่นี้ จริงๆแล้วก็ไม่ถือว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับผมเท่าไหร่ แต่ก็ไม่วายที่จะมีความรู้สึกดังกล่าวครับ
       เรื่องแรกที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ผมหดหู่ใจก็คือ การสรรหากรรมการ ปปช. ผมเคยเขียนไว้ในบทบรรณาธิการหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า “จุดเปลี่ยน” สำคัญสำหรับการปฏิรูปการเมืองของเรามีอยู่สองช่วง ช่วงแรกก็คือการมีรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเราได้ผ่านจุดนั้นมาแล้วเป็นเวลา 6 ปีแล้ว ระบบการเมืองใหม่ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสร้างขึ้นคงทำให้เรา “เห็นภาพ” ของ “นิติรัฐ” ได้ชัดเจนขึ้นว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ เราได้พบได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นกับวงการการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด การเปลี่ยนไปของการเมืองนี้ก็มีทั้งความเปลี่ยนแปลงในด้านดี และในด้านที่ “อาจ” นำมาสู่ความไม่ดีได้ในอนาคต โดยความเปลี่ยนแปลงในด้านดีนั้น เราจะพบว่า การเมือง “นิ่ง” ขึ้นกว่าแต่เดิม รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น นักการเมือง “อยู่ในกรอบ” มากขึ้น แล้วเราก็ได้พบเห็นสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนคือ การลงโทษนักการเมืองทุจริตอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดจาก “มาตรการ” และ “กลไก” ใหม่ ๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนความเปลี่ยนแปลงในด้านที่ “อาจ” นำมาสู่ความไม่ดีได้นั้น หลาย ๆ คนคงคาดเดาได้ว่าคืออะไร รัฐบาลที่มีเสถียรภาพมาก มากจนไม่สามารถใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ อาจสร้างปัญหาให้กับประเทศในวันข้างหน้าได้หากรัฐบาลนั้น “ลุแก่อำนาจ” ครับ !!! ส่วนช่วงที่สอง ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับการปฏิรูปการเมืองนั้น โดยส่วนตัวแล้วผมมองเห็นความสำคัญของ “กระบวนการตรวจสอบ” เป็นอย่างยิ่งครับ กระบวนการตรวจสอบทางการเมืองคือ จุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือมาตรการสำคัญที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสร้างขึ้นเพื่อให้การเมืองเป็นการเมืองที่ “สะอาด” ซึ่งเมื่อเรามามองดูองค์กรที่มีส่วนรับผิดชอบในการตรวจสอบทางการเมืองแล้ว จะพบว่ามีอยู่หลายองค์กรด้วยกันคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะกรรมการ ปปช. คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน องค์กรเหล่านี้บางองค์กรก็มีอำนาจในตัวเอง บางองค์กรก็เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เพื่อ “ให้ความเห็น” ในบรรดาองค์การที่มีอำนาจในตัวเองนั้น นอกเหนือจากศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันเป็นองค์กรประเภท “ศาล” และมี “ที่มา” ที่เป็นระบบพิเศษโดยเฉพาะของแต่ละองค์กรแล้ว องค์กรอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบทางการเมืองก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการ ปปช. ซึ่งจะพบว่าเท่าที่ผ่านมานั้น มีข้อครหาเกิดขึ้นจากวิธีการ “ได้มา” ซึ่งบุคคลที่เข้ามาทำงานในองค์กรเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง และล่าสุดที่เป็นเหตุให้ผมหดหู่ใจก็คือ การสรรหาคณะกรรมการ ปปช. ครับ คงไม่ต้องอธิบายกันมากถึงความสำคัญของคณะกรรมการ ปปช. ว่าเป็นเช่นไรนะครับ คณะกรรมการ ปปช.ถือได้ว่าเป็นกลไก “เริ่มต้น” และเป็นกลไกที่ “สำคัญที่สุด” ของกระบวนการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หาก “กลไก” ดังกล่าว “ชำรุด” ก็เป็นที่แน่นอนว่ากระบวนการตรวจสอบทางการเมืองอันเป็นจุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็จะต้อง “ชำรุด” เช่นกันครับ ซึ่งก็จะนำมาถึง “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญของการปฏิรูปการเมืองอีกจุดหนึ่งก็คือ “การกลับไปสู่สภาวะเดิม” ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมาคือ “ระบบเผด็จการ” ครับ เพียงแต่เผด็จการในรูปแบบใหม่นี้ไม่ได้เกิดจากทหารใช้กำลังและอาวุธ แต่เกิดจาก “ระบบ” ทุกระบบที่ “รวมศูนย์” อยู่ภายใต้การ “บังคับบัญชา” และ “สั่งการ” ของ “ผู้นำ” ครับ!!! ขอฝากไว้เป็นข้อคิด “ล่วงหน้า” อีกเช่นกันว่า ขณะนี้ “วุฒิสภา” ยัง “ปลอดจากการเมือง” อยู่มากครับ การคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการ ปปช. อยู่ในมือของวุฒิสภาครับ โปรดช่วยกันทำให้ “ระบบการตรวจสอบทางการเมือง” สามารถใช้บังคับต่อไปด้วยการเลือกคนดีที่ “เป็นคนกลาง” และ “มีความสามารถ” เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวด้วยครับ
       เรื่องต่อมาที่ทำให้ผมหดหู่ใจก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรทั้งนั้น และเป็นเรื่องเฉพาะในวงการวิชาการครับ บังเอิญมีลูกศิษย์นำหนังสือเรียน 2-3 เล่มมาให้ผมดู เปิดดูข้างในแล้วในบางหน้ายังเข้าใจผิดคิดว่าอ่านหนังสือตัวเองอยู่เลยครับ!!! เรื่องนี้คงต้องวิจารณ์กันยาว ขอติดไว้คราวต่อ ๆ ไปแล้วกันครับ เอาเป็นว่าสำหรับ “ผม” และเพื่อนอาจารย์หลาย ๆ คนนั้น การ “ผลิต” ผลงานทางวิชาการขนาด 100 หน้า (เช่น บทความเรื่องความรู้เบื้องต้นกฎหมายปกครองฝรั่งเศส) ใช้เวลาเกือบปี ต้องนั่งแปลนั่งอ่านตำราภาษาต่างประเทศกันหลาย ๆ เล่ม เหนื่อยเหลือเกินกว่าจะทำสารบัญได้ กว่าจะอ่านแล้วเข้าใจ กว่าจะเขียนแล้วให้ผู้อ่านอ่านได้อย่างง่าย ลำบากมากนะครับ!!! ออกมาแล้ว ค่าตอบแทนก็ได้น้อย แถมยังมีผู้ที่ “ไม่” อ่านภาษาต่างประเทศ หยิบยืมไปใช้เป็นของตัวเองอีกครับ หนังสือที่ทำด้วยความยากลำบาก 3-4 เล่มพอนำมารวมเข้าด้วยกันอย่างไม่ยากลำบากก็ได้หนังสือใหม่ในวงการหนังสืออีก 1 เล่มแล้วครับ แถมเจ้าของหนังสือก็ได้เงินค่าลิขสิทธิ์ “ก้อนโต” อีกด้วยครับ ดู ๆ แล้วก็ไม่น่าจะยุติธรรมสำหรับนักวิชาการที่สร้างผลงานด้วยตัวเองเท่าไหร่นะครับ คงเหมือนกับข้าราชการคนหนึ่งที่นั่งมองข้าราชการอีกคนหนึ่ง “โกงแผ่นดิน” ด้วยการออกไปทำมาหากินกับภาคเอกชนในเวลาราชการนั่นแหละครับ ผมอยากเห็นการจัดตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาผลงานทางวิชาการ” อิสระขึ้นดังเช่นในต่างประเทศ เพื่อ “อ่าน” “ประเมิน” และ “ให้ความเห็น” ตำราทางวิชาการต่อสาธารณชนว่าเล่มไหน “ควรอ่าน” และเล่มไหน “ไม่ควรอ่าน” ครับ!!!
       เพื่อให้สอดคล้องกับการสรรหากรรมการ ปปช. ผม “ประทับใจ” กับงานเขียนชิ้นหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าเป็นงานเขียนที่ดีที่สุดในยุคนี้ และเป็นงานเขียนที่มีคุณค่า สมควรที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไปควรอ่าน งานเขียนนี้คือ “คำวินิจฉัยส่วนตัว” ของอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ คุณประเสริฐ นาสกุล ที่เขียนไว้ในกรณี “ซุกหุ้น” ของนายกรัฐมนตรีครับ!!! ผมขอถือโอกาสในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสรรหากรรมการ ปปช. ในตอนนี้ นำคำวินิจฉัยส่วนตัวดังกล่าวมาเผยแพร่ใน pub-law.net เพื่อแสดงให้เห็นถึง “แบบอย่าง” ของการทำ “หน้าที่” และ “ความมีประสิทธิภาพ” ขององค์กรตรวจสอบทางการเมืองที่ดีครับ!!! นอกจากนี้แล้ว เรายังได้รับความอนุเคราะห์จากศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ได้กรุณามอบเอกสารถอดเทปคำบรรยายเรื่อง “การตรวจสอบองค์กรอิสระด้านการตรวจเงินแผ่นดิน” ที่ท่านอาจารย์อมร ฯ ได้บรรยายไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เอกสารดังกล่าวนี้ผมได้อ่านดูแล้วเห็นว่ามีคุณค่าทางวิชาการมาก จึงได้ขออนุญาตท่านอาจารย์อมร ฯ นำมาเผยแพร่ใน pub-law.net ส่วนบทความประจำคือ “ความรู้เบื้องต้นกฎหมายปกครองฝรั่งเศส” ของผมก็ลงเผยแพร่เป็นตอนที่ 8 แล้วครับ ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้รับ mail จากนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่ติดตามอ่านบทความนี้และใช้บริการ pub-law.net ครับ นอกจากบทความที่กล่าวมาแล้ว เรามีการแนะนำหนังสือดี ๆ ใน “หนังสือตำรา” และมีการตอบคำถามใหม่ ๆ ใน “เวทีทรรศนะ” ด้วยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2546 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=87
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 20:33 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)