|
|
แถลงการณ์ประธานรัฐสภา เรื่อง การสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 9 มกราคม 2549 00:49 น.
|
แถลงการณ์ประธานรัฐสภา เรื่อง การสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ตามที่ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายค้านจำนวน ๑๐๙ คน ร้องขอให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นั้น ประธานรัฐสภาได้พิจารณาแล้วมีความเห็น ดังนี้
๑. การที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้สรรหาผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แล้วประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอรายชื่อบุคคลจำนวน ๓ คน ให้วุฒิสภาเลือก และวุฒิสภามีมติเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจำนวน ๑ คน จากจำนวน ๓ คน ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
๒. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้ดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ จำนวน ๑ ชื่อ ตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และได้เสนอวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งวุฒิสภาได้มีมติให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ของประธานวุฒิสภา
๓. แม้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วย แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรของรัฐ และเป็นคำวินิจฉัยในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๓ และมาตรา ๒๖๘ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาจึงต้องปฏิบัติตาม
๔. เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ และวุฒิสภาได้มีมติให้ความเห็นชอบตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอ จึงถือได้ว่าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภามิได้สงสัยหรือมีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองและมิได้มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกับวุฒิสภาแต่ประการใด
ดังนั้น กรณีของคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา จึงเป็นเพียงประเด็นที่ว่า การดำรงตำแหน่งของคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ที่เกิดจากกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งดังกล่าวที่เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งเมื่อทั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาได้ดำเนินกระบวนการดังกล่าวใหม่แล้ว ก็ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าทั้งสององค์กรมีความเข้าใจในคำวินิจฉัยนั้นว่ามีความหมายอย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภาอาจใช้อำนาจตามมาตรา ๒๖๖ ของรัฐธรรมนูญ เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้
อนึ่ง หากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือวุฒิสภาเกิดพิจารณาเห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน หรือมีปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กับวุฒิสภาในกรณีที่กล่าวมา คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือวุฒิสภาก็สามารถเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้เอง ตามมาตรา ๒๖๖ ของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
จึงขอแถลงให้ทราบโดยทั่วกัน
( นายโภคิน พลกุล)
ประธานรัฐสภา
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=861
เวลา 26 พฤศจิกายน 2567 02:56 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|