|
|
ปาฐกถานำ เรื่อง นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) กับกฎหมายตราสามดวง โดยนายโภคิน พลกุล (ประธานรัฐสภา) 9 มกราคม 2549 00:49 น.
|
ปาฐกถานำ
เรื่อง นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) กับกฎหมายตราสามดวง
โดย นายโภคิน พลกุล
วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๘
ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ตึกโดม ชั้น ๒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
***************************
ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณาจารย์ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มากล่าวปาฐกถานำ ในหัวข้อ นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) กับกฎหมายตราสามดวง ในวันนี้
การศึกษาพัฒนาการทางกฎหมาย การเมือง และประวัติศาสตร์ไทยในอดีต ตั้งแต่สมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลงเหลืออยู่ไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีหลักฐานที่สำคัญที่สุดในการศึกษาลักษณะรัฐดั้งเดิมของไทยชิ้นหนึ่ง เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง เพราะกฎหมายตราสามดวงได้รวบรวมกฎหมายโบราณไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นมาจนถึงอยุธยาตอนปลาย เป็นนิติวีรกรรมสำคัญของโลก เพราะเป็นเอกสารที่ได้รับความสนใจจากนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเอกสารชิ้นสำคัญที่ทำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต ไม่เพียงแต่การศึกษาหาความรู้ในกฎหมายไทยเดิมเท่านั้น แต่กฎหมายตราสามดวงยังทำให้ ผู้ศึกษาได้รับทราบเกี่ยวกับสภาพสังคม การเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของ คนไทยในอดีตด้วย หากเราสามารถศึกษาและเข้าใจกฎหมายตราสามดวงอย่างถ่องแท้แล้ว ประวัติศาสตร์ไทยและศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องคงจะมีความชัดเจนมากขึ้นทั้งในสายตาของ นักประวัติศาสตร์และในสายตาของชาวไทยทุกคน การที่กฎหมายตราสามดวงเป็นเอกสารที่อ่านเข้าใจยากนั้น เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้กฎหมายตราสามดวงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ความเป็นมาของกฎหมายตราสามดวง
ก่อนอื่นผมคงต้องกล่าวถึงความเป็นมาของกฎหมายตราสามดวง ซึ่งกรมศิลปากรเคยให้นิยามว่า กฎหมายตราสามดวง คือ ประมวลกฎหมายในรัชกาลที่ ๑ โดยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายเก่าที่มีมาแต่โบราณแล้วรวบรวมเป็นประมวลกฎหมายขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๔๘ เหตุที่กฎหมายตราสามดวงสามารถเอามาใช้บรรยายสภาพและการเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นเพราะกฎหมายตราสามดวงนั้นมีเนื้อหาสาระและครอบคลุมช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ซึ่งแตกต่างจากประมวลกฎหมายปัจจุบัน กฎหมายตราสามดวงนี้มีหลายสิ่งที่ประมวลกฎหมายแบบปัจจุบันไม่มี พื้นฐานของกฎหมายตราสามดวง ได้แก่ พระธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่อมตะและศักดิ์สิทธิ์ แต่ในวิวัฒนาการของกฎหมายในประเทศสยามได้เกิดมีที่มาของกฎหมายอีกแหล่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งนั่นคือ พระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ในรูปคำพิพากษา คำสั่ง ประกาศ พระราชกำหนด ที่มีลักษณะคล้ายคำพิพากษาฎีกาปัจจุบัน คุณค่าของกฎเกณฑ์ ระเบียบที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา ประกาศ พระราชกำหนด เหล่านี้ คงจะขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่กฎเกณฑ์เหล่านั้นมีต่อผู้ปกครองและสังคมในสมัยต่อๆ มา และพระปรีชาญาณขององค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกำหนดกฎหมายนั้นๆ
การที่รัชกาลที่ ๑ โปรดให้มีการชำระกฎหมายในปีพุทธศักราช ๒๓๔๘ นั้น มิได้หมายความว่าประเทศไทยหรือประเทศสยามมิได้มีประมวลกฎหมายที่สมบูรณ์มาก่อนหน้านั้น วัฒนธรรมด้านกฎหมายของไทยได้เจริญรุ่งเรืองมาก เดอ ลา ลูแบร์ นักจดหมายเหตุชาวตะวันตกซึ่งเคยเข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เคยอธิบายไว้ว่าประมวลกฎหมายไทยประกอบด้วย พระธรรมนูญ พระตำรา และพระราชกำหนด เมื่อมีการชำระกฎหมายในปีพุทธศักราช ๒๓๔๘ รัชกาลที่ ๑ มีพระราชดำรัสว่า กฎหมายที่หลงเหลือมาจากหลังเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ แก่พม่า ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ มีเพียง ๑ ใน ๑๐ จึงเห็นได้ว่าประเทศสยามมีตัวบทกฎหมายที่สมบูรณ์มาก ในทัศนะของนักสังเกตการณ์ชาวตะวันตก คนอื่น คือ เยเรมิอัส ฟาน ฟลีต หรือที่เรานิยมเรียกว่า วันวลิต ชาวฮอลันดา ซึ่งเข้ามาอยู่ใน กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้เขียนบรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า ตัวบทกฎหมายเก่าแก่ของประเทศสยามนั้นดีมาก และได้รับการยกย่องอย่างสูง ... ความฉ้อฉลและความโลภที่ติดเป็นสันดานของขุนนางทำให้การตัดสินคดีแพ่งและคดีอาญาเป็นไปอย่างเลวร้าย จนกระทั่งผู้มีอำนาจและผู้มั่งคั่งสามารถชนะคดีโดยการใช้สินจ้าง สินบน และวิธีการสกปรกอื่นๆ โดยที่พวกที่ยากจนเท่านั้นเป็นฝ่ายที่ทนทุกข์ทรมาน ทั้งๆ ที่มีกฎเกณฑ์ที่ดีเยี่ยมอยู่แล้ว รวมทั้งสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเหมาะสมในทุกๆ คดีก็ตาม สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงระบบประมวลกฎหมายที่สมบูรณ์ แต่การบังคับใช้กฎหมายกลับตรงกันข้าม ซึ่งนับว่าเป็นความบกพร่องที่สืบสานมาถึงปัจจุบัน แม้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น บาทหลวงปาลเลกัวซ์ ผู้ซึ่งได้ทำการศึกษาประมวลกฎหมายตราสามดวง ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์กฎหมายดังกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้อ่านประมวลกฎหมายทั้งหมดแล้ว เห็นว่าส่วนใหญ่มีความเหมาะสมมาก สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติและปรับเข้าได้กับอุปนิสัย และขนบประเพณีของประชาชาติที่สร้างกฎหมายนี้ขึ้น
ตุลาการใหญ่กับเจ้าเมืองทุกคนจะต้องมีประมวลกฎหมายไปประจำชุดหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้พิจารณาคดีไปตามตัวบทกฎหมายเท่าใดนัก ดังจะพิเคราะห์ได้จากอุทาหรณ์ต่อไปนี้ : คดีทุกคดีพึงพิจารณาพิพากษาให้สำเร็จลุล่วงไปภายใน ๓ วัน แต่สภาตระลาการมักปล่อยคดีให้ยืดเยื้อไปตั้ง ๒ ปี หรือ ๓ ปี
สรุป แม้ว่านักจดหมายเหตุชาวตะวันตกซึ่งโดยปกติแล้วมักจะมีอคติกับสังคมไทย ต่างมีความเห็นตรงกันว่า ระบบกฎหมายของประเทศสยามเป็นระบบกฎหมายที่ดีที่สุดของตะวันออก แต่กระบวนการยุติธรรมของไทยมีข้อบกพร่องตรงคณะสภาตระลาการและ ผู้พิพากษา นั่นหมายความว่าประมวลกฎหมายไทยนั้นดี แต่ความอยุติธรรมเกิดขึ้นจาก ผู้บังคับใช้กฎหมาย ความจริงประการนี้สะท้อนอยู่ในตัวบทกฎหมายไทยเอง ในข้อที่ว่า เมื่อลูกความอุทธรณ์นั้น หมายถึง ร้องเรียนความประพฤติของตระลาการ (ตุลาการ) ว่าไม่เที่ยงธรรมนั่นเอง
ความสำคัญของกฎหมายตราสามดวง
ในแง่มุมของนักกฎหมาย ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ได้ให้ความสำคัญของกฎหมายตราสามดวงไว้ดังนี้
๑. กฎหมายตราสามดวงมีลักษณะเป็นกฎหมายของนักกฎหมาย (Juristenrecht)
กล่าวคือ กฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ของกฎหมายตราสามดวงโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นพระธรรมศาสตร์ เป็นกฎเกณฑ์ที่มีลักษณะทั่วไปและมีฐานะสูงกว่าจารีตประเพณี กฎเกณฑ์เหล่านี้เกิดจากการใช้เหตุผลปรุงแต่งของนักนิติศาสตร์อินเดีย และได้รับการสืบทอด พัฒนาต่อมาโดยนักนิติศาสตร์มอญและไทย ตามลำดับ
กฎหมายตราสามดวงมีการจัดระบบกฎหมายที่เป็นระบบพอสมควร กล่าวคือ มีการแบ่งแยกบทกฎหมายออกเป็นมูลคดีและสาขาคดี ซึ่งเป็นการแบ่งแยกระหว่างกฎหมายที่เป็นหลักเดิมกับกฎหมายที่สืบเนื่องต่อมา เฉพาะในส่วนที่เป็นมูลคดียังได้แบ่งแยกออกเป็น มูลคดีแห่งผู้พิพากษาและตระลาการ ๑๐ ประการ และมูลคดีวิวาท ๒๙ ประการ มีเค้าเป็นการแยกกฎหมายวิธีสบัญญัติออกจากกฎหมายสารบัญญัติอีกด้วย
กฎหมายตราสามดวงเป็นระบบกฎหมายที่ค่อนข้างซับซ้อนยากที่ชาวบ้านธรรมดาจะรู้ได้ จนบางครั้งแม้แต่นักกฎหมายใหญ่ๆ ก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจและ ปรับบทกฎหมายบางบทแก่คดีที่เกิดขึ้นได้ ต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัย ดังมีตัวอย่างปรากฏในพระราชบัญญัติ ฉบับที่ ๒ ว่านักกฎหมายใหญ่อย่างพระเกษมราชสุภาวดี เจ้ากรมศาลแพ่งเกษม ยังเกิดปัญหาในการปรับใช้บทกฎหมาย เพราะไม่เข้าใจกฎหมายบางบทจนไม่รู้ว่าจะปรับใช้แก่คดีอย่างไร ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งพระองค์ได้ทรงวินิจฉัย โดยมี พระราชปรารภถึงความซับซ้อนของกฎหมายว่า บทพระไอยการคำบุราณท่านว่าไว้ศุกขุม คำภีรภาพ ยากที่บุกคนจะรู้ ...
๒. กฎหมายตราสามดวงมีลักษณะที่เป็นกฎหมายธรรมชาติ
โดยที่กฎหมายตราสามดวงได้แสดงไว้ในนิทานต้นเรื่องพระธรรมศาสตร์ว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้มีการจารึกไว้ในกำแพงจักรวาล ซึ่งพระมโนสารฤาษีได้เหาะไปพบเข้าและจดจำนำมาเขียนไว้ ดังนั้นพระธรรมศาสตร์จึงเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นกฎหมายที่ไม่เปลี่ยนแปลงชั่วนิรันดร์ มนุษย์ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายชนิดนี้ได้ เพราะเป็นกฎของธรรมชาติที่อยู่เหนือมนุษย์ เป็นที่น่าสังเกตว่า แนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายเช่นนี้ คล้ายกับกฎหมายธรรมชาติ (Jus naturale) ของกฎหมายโรมัน แต่ต่างกันที่กฎหมายธรรมชาติของกฎหมายโรมันเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ในขณะที่พระธรรมศาสตร์ในกฎหมายตราสามดวงเป็นกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร
๓. ไม่มีการนิติบัญญัติโดยแท้
ตามที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง พระมหากษัตริย์มิได้มีอำนาจบัญญัติกฎหมายอย่างแท้จริง พระองค์มีพระราชภาระในการดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร โดยอาศัยบทกฎหมายที่ปรากฎในกฎหมายตราสามดวงเป็นสำคัญ หากมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่มีอยู่เดิมก็จะต้องคำนึงถึงหลักที่มีอยู่ในพระธรรมศาสตร์ เพราะกฎหมายที่ออกเพิ่มเติมจะต้องมีเนื้อความสอดคล้องกับกฎหมายในพระธรรมศาสตร์ หรือกฎหมายที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายเดิมจะต้องมีเนื้อความสอดคล้องกับหลักกฎหมายในพระธรรมศาสตร์ยิ่งกว่ากฎหมายเดิมที่ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งแตกต่างจากแนวความคิดเรื่องการนิติบัญญัติในปัจจุบันที่ว่า ผู้ทรงอำนาจอธิปไตยสามารถบัญญัติกฎหมายอะไรก็ได้โดยไม่มีข้อจำกัด
การออกกฎหมายใหม่ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่มีอยู่เดิม มักเกิดขึ้นจากการที่มีคดีขึ้นสู่ศาล และศาลได้พยายามใช้ตัวบทกฎหมายปรับแก่คดีโดยอาศัยการตีความ บทกฎหมายนั้น หลักเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ได้จากการใช้การตีความบทกฎหมายเดิม เมื่อได้รับการรับรองจากพระมหากษัตริย์หรือผ่านการวินิจฉัยชี้ขาดจากพระมหากษัตริย์ จึงได้รับการตราขึ้นเป็นตัวบทกฎหมาย ตัวบทกฎหมายใหม่นี้จึงเป็นผลงานของนักกฎหมาย อันได้แก่ ศาล และพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นนักกฎหมายด้วย ไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นด้วยเหตุผลทางเทคนิคโดยกระบวนการนิติบัญญัติอย่างในปัจจุบัน
๔. ความนับถือตัวบทกฎหมาย
จากคดีอำแดงป้อมฟ้องหย่านายบุญศรีช่างเหล็กหลวง ที่ปรากฏอยู่ในประกาศพระราชปรารภ มีข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่งว่า ลูกขุนที่พิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้พิจารณาพิพากษาไปตามตัวบทกฎหมายที่ว่า ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเปนหญิงหย่าชายหย่าได้ โดยเคร่งครัด และแม้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ จะทรงเห็นว่าเป็นบทกฎหมายที่ ไม่เป็นธรรม แต่เมื่อลูกขุนได้พิจารณาพิพาษาคดีนี้ไปตามตัวบทกฎหมายดังกล่าว ก็สามารถคุ้มครองป้องกันลูกขุนจากความรับผิดในผลแห่งคดีที่ไม่เป็นธรรมนั้นได้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ได้แต่ทรงแก้ไขคำพิพากษาในคดีนี้ให้ถูกต้องเป็นธรรมขึ้น และทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการชำระสะสางตัวบทกฎหมายให้ถูกต้องดุจเดิมเท่านั้น
๕. ไม่ใช่ประมวลกฎหมายที่มีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้าน
กฎหมายตราสามดวงอาจถือได้ว่าเป็นประมวลกฎหมาย แต่ก็เป็นประมวลกฎหมายแบบเก่าซึ่งเป็นที่รวมของกฎหมายที่ปรุงแต่งโดยนักกฎหมายและจารีตประเพณีที่สำคัญเท่านั้น แตกต่างจากประมวลกฎหมายแบบใหม่ที่มีบทกฎหมายซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมชีวิตสังคมทุกด้าน
นอกจากบทกฎหมายที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงแล้ว ยังมีกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์ คือจารีตประเพณีใช้อยู่ในสังคมด้วย นอกจากนี้กฎหมายตราสามดวงมีแดนการใช้บังคับเฉพาะในเรื่องที่กระทบกับสังคมโดยตรงหรือเป็นความขัดแย้งขนาดที่อำนาจอิสระของเอกชนไม่สามารถหรือไม่เหมาะสมที่จะจัดการกันเองเท่านั้น ยังมีแดนอิสระซึ่งกฎหมายปล่อยให้เอกชนมีอำนาจจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในได้เอง ตัวอย่างเช่นอำนาจอิสระที่บิดามารดามีอยู่เหนือบุตร สามีอยู่เหนือภริยา มูลนายมีอยู่เหนือไพร่ทาสในสังกัด นายจ้างมีอยู่เหนือลูกจ้าง เป็นต้น
๖. กฎหมายเป็นคู่มือในการชี้ขาดตัดสินคดี
กฎหมายตราสามดวงเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาพิพากษาคดี และใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นหลัก ไม่ใช่กฎหมายที่เขียนขึ้นในลักษณะตำรากฎหมาย จึงเป็นคู่มือของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในการบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่ตำราที่บุคคลทั่วไปจะ ร่ำเรียนได้ ประกอบกับมีบทกฎหมายว่าด้วยขี้ฉ้อหมอความซึ่งห้ามมิให้บุคคลที่มิได้มีส่วน ได้เสียตามกฎหมายกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เข้าฟ้องคดีแทนหรือสู้คดีแทนคู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง หรือช่วยแนะนำการเขียนคำฟ้องหรือคำให้การแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้กฎหมายตราสามดวงกลายเป็นของหวงห้ามสำหรับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเท่านั้น กระทั่งในรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบ ถึงกับโปรดให้ริบกฎหมายที่พิมพ์ขึ้นนั้นเสียทั้งสิ้น เพราะเกรงว่า พวกเจ้าถ้อยหมอความจะนำไปใช้เป็นเครื่องมือทำให้เกิดความยากลำบากในการพิจารณาพิพากษาคดี
นายปรีดี พนมยงค์ กับกฎหมายตราสามดวง
ท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ผู้นำเสรีไทย และเป็นบุคคลผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการรวบรวม ตรวจสอบและจัดพิมพ์กฎหมายตราสามดวง มีพื้นฐานกำเนิดจากสามัญชนในเรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของคนเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว สำเร็จการศึกษาชั้นม. ๖ ที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า ศึกษามัธยมเตรียมที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ด้วยความจำเป็นที่ต้องมาช่วยบิดาทำนาอีก ๑ ปี จากนั้นจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ต่อมาเมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ จึงสอบไล่ได้เนติบัณฑิตได้เมื่ออายุเพียง ๑๙ ปี ต่อมาเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา เนื่องจากกระทรวงยุติธรรมพอใจในผลสอบจึงให้ทุนท่านปรีดี ไปเรียนต่อกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเข้าเรียนปริญญาตรีทางกฎหมายจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมาย (Docteur en Droit) เมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๗๐ ได้เดินทางกลับประเทศไทย ได้ชื่อว่าเป็น คนไทยคนแรกที่จบดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยปารีส ท่านปรีดีได้เข้ารับราชการเป็น ผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม และยังได้เป็นผู้สอนในโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ในเวลาว่างท่านได้เปิดการอบรมทบทวนวิชากฎหมาย ให้แก่นักเรียนกฎหมายที่บ้านถนนสีลม โดยไม่คิดค่าสอน ทำให้เผยแพร่อุดมการณ์ความคิดไปยัง ลูกศิษย์ของท่าน อาทิ นายซิม วีระไวทยะ นายสงวน ตุลารักษ์ และนายดิเรก ชัยนาม ซึ่ง ต่างร่วมเป็นคณะราษฎรในการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕
ในช่วงที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นผู้สอนในโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมนี้เอง ท่านได้เห็นความสำคัญของกฎหมายฉบับหลวง และได้พิมพ์เผยแพร่กฎหมาย ๙ เรื่อง ตามฉบับหลวง ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๓ ซึ่งได้แก่ บานแพนก (ประกาศพระราชปรารภ) ลักษณะพระธรรมศาสตร์ ลักษณะอินทภาษ ลักษณะกู้หนี้ ลักษณะผัวเมีย กฎหมายบางลักษณะที่เกี่ยวกับลักษณะผัวเมีย ลักษณะมฤดก ลักษณะเบ็ดเสร็จ และกฎมณเฑียรบาล โดยใช้วิธีถ่ายภาพจากฉบับหลวงแล้วทำเป็นแม่พิมพ์ (block) และพิมพ์โดยแม่พิมพ์นั้นทั้ง ๘ เรื่อง เว้นแต่กฎหมายบางลักษณะที่เกี่ยวกับลักษณะผัวเมียเรื่องเดียวที่ใช้วิธีเรียงพิมพ์ธรรมดา ในหนังสือประชุมกฎหมายไทย ภาค ๑ และเรียกชื่อ กฎหมายที่พิมพ์นั้นว่า กฎหมายตรา สามดวง อย่างไรก็ตามก็มีผู้ติว่าอ่านลำบาก เพราะฉบับหลวงนั้นเขียนตัวหนังสือติดกันมาก และบางที่ก็เลอะเลือน ด้วยความเก่าแก่ ในปี พุทธศักราช ๒๔๗๔ ท่านปรีดี จึงได้จัดพิมพ์กฎหมายตราสามดวง ฉบับเรียงพิมพ์ โดยใช้วิธีเรียงพิมพ์ตามอักขรวิธีตามต้นฉบับ เพื่อแถมให้กับผู้ที่ลงชื่อซื้อหนังสือกฎหมายไทย โดยพิมพ์ที่โรงพิมพ์นิติสาส์น จะเห็นได้ว่าด้วยความเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในตัวท่าน กอปรกับวิสัยทัศน์ที่จะสืบสานหา ต้นธารของกฎหมายไทย จึงเป็นแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าให้ท่านรวบรวมกฎหมาย ฉบับหลวงมาตีพิมพ์ เป็นกฎหมายตรา สามดวง เพื่อให้นักศึกษากฎหมายได้ศึกษาค้นคว้าอ้างอิงได้โดยสะดวก แนวความคิดเหล่านี้อาจเห็นได้จากการที่ท่านได้เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม รวมทั้งได้มีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉบับแรกออกมาด้วย กฎหมายนั้นได้ริเริ่มให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรได้เท่าเทียมผู้ชาย ซึ่งนับว่าก้าวหน้ากว่าประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเพิ่งเปิดโอกาสให้สตรีมีสิทธิเช่นนี้ได้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงเห็นได้ว่าแม้ว่าท่านเป็นผู้ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศแต่ความคิดของท่านก้าวหน้าไปกว่านั้น
ทั้งนี้ในความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่าอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากต้นเค้าของกฎหมาย ตราสามดวงในส่วนของสิทธิสตรี ดังที่นักประวัติศาสตร์กฎหมายทุกท่านซึ่งนั่งอยู่ ณ ที่นี้ คงทราบดีอยู่แล้ว คือเรื่องอำแดงป้อมฟ้องหย่านายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ฝ่ายนายบุญศรีให้การแก่พระเกษมราชสุภาวดีฯ เจ้ากรมแพ่งเกษมว่า อำแดงป้อมนอกใจทำชู้ด้วยนายราชาอรรถ ไม่ยอมหย่ากับอำแดงป้อม นายบุญศรีร้องเรียนว่า พระเกษมฯ ผู้ตัดสินคดีพูดจาแทะโลม เข้าข้างอำแดงป้อม พระเกษมฯ คัดข้อความมาให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงปรึกษากันแล้วเห็นว่าเป็นกรณีหญิงขอหย่าชายให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีขาดจากผัวเมียกันตามกฎหมาย รัชกาลที่ ๑ ทรงพิจารณาว่าหญิงเป็นฝ่ายนอกใจสามีแต่กลับฟ้องหย่าสามีได้ ไม่เป็นยุติไม่เป็นธรรม (ไม่ถูกต้อง) แต่เมื่อทรงเรียกเอากฎหมาย ณ ศาลหลวงมาตรวจสอบกับฉบับหอหลวง และฉบับข้างที่ (ฉบับที่ทรงใช้ส่วนพระองค์) กฎหมายทั้ง ๓ ฉบับมีความตรงกันว่า หญิงขอหย่าชายได้แม้ชายจะมิใช่เป็นฝ่ายผิด แม้กฎหมายเดิมจะเป็นเช่นนั้น แต่ทรงถือว่าเป็นหลักการที่ผิด จึงทรงให้ชำระกฎหมายใหม่ ทั้งเนื้อความและหลักการ แต่นักประวัติศาสตร์ อาทิ ท่านพลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี อธิบายว่า การให้สิทธิแก่สตรีในการขอหย่าได้ทั้งที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายมีชู้รัก ก็เพื่อหาทางออกให้แก่สตรีซึ่งอาจถูกสามีใช้สิทธิขายไปเป็นทาส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสถานภาพและสิทธิของสตรีในสมัยอยุธยา จึงน่าจะเป็นต้นเค้าความคิดจากประวัติศาสตร์และประเพณีวัฒนธรรมของไทยที่เคารพสิทธิสตรีในระดับหนึ่ง ซึ่งในส่วนนี้ก็คงต้องฝากให้นักประวัติศาสตร์ได้วิเคราะห์เพื่อหาความเห็นที่ต้องตรงกันในเรื่องดังกล่าว
ต่อมาในวันที่ ๑๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๗ ท่านปรีดีได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และได้มีพิธีสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่อาคารโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในปีแรกที่มีการเปิดสอนมีผู้สมัครเข้าเรียนถึง ๗,๐๙๔ คน และในปีแรกนี้ผลิตบัณฑิตที่โอนมาจากโรงเรียนกฎหมายเดิม ๑๙ คน ในช่วงที่ท่านเป็นผู้ประศาสน์การนี้เอง ช่วงปี ๒๔๘๑ ๒๔๘๒ ท่านได้มอบหมายให้ ศาสตราจารย์ ร.แลงกาต์เป็นผู้รวบรวมกฎหมายทุกเรื่องตามฉบับหลวงมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ๓ เล่ม ใช้ชื่อว่า ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ จุลศักราช ๑๑๖๖ ฉบับพิมพ์นี้นับเป็นครั้งแรกที่ได้พิมพ์กฎหมายครบถ้วนตามฉบับหลวงและได้ตรวจสอบให้ถูกต้องตรงกับฉบับหลวงมากที่สุด ซึ่งท่านปรีดีฯ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยได้กล่าวไว้ในคำนำ ความว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้กำหนดการศึกษาลักษณะวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยไว้ในหลักสูตรชั้นปริญญาโท จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องให้นักศึกษามีบทกฎหมายซึ่งได้ชำระสะสางในรัชกาลที่ ๑ นั้นไว้ค้นคว้าได้โดยสะดวก เพราะบทกฎหมายเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะได้พบเอกสารที่เก่าแก่กว่าก็ตาม ก็ยังคงใช้เป็นหลักฐานสำคัญเพื่อแสวงหาความรู้เรื่องกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ต่อไปอีกนาน
ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ประมวลกฎหมายในรัชกาลที่ ๑ นั้นได้มีผู้จัดพิมพ์ขึ้นหลายครั้งแล้ว ฉะบับที่แพร่หลายที่สุดคือฉะบับของหมอบรัดเลย์ ซึ่งเรียกกันว่ากฎหมายเก่า ๒ เล่ม และฉะบับของเสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ ทั้งสองฉะบับนี้ในปัจจุบันไม่มีจำหน่ายแล้ว และนับวันจะหายากขึ้นทุกที
ในการที่จะจัดพิมพ์กฎหมายเก่านี้ขึ้นใหม่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีความมุ่งหมายผิดกับท่านผู้จัดพิมพ์ก่อนๆ ท่านผู้จัดพิมพ์เหล่านั้นมุ่งหมายแต่ฉะเพาะในอันที่จะเผยแผ่ความรู้ในตัวบทกฎหมาย จึงได้แก้ไขอักขรวิธีเสียใหม่ให้สมกับสมัย และบางตอนถึงกับแก้ไขถ้อยคำสำนวนเสียบ้างก็มี กรมหลวงราชบุรีฯ ก็ได้ทรงยึดถือคติอันเดียวกันนี้ โดยได้ทรงตัดตอนบทบัญญัติซึ่งเลิกใช้บังคับแล้วออกเสียด้วย
ในเวลานี้ ประมวลกฎหมายใหม่ต่างๆ ก็ได้ประกาศใช้จนครบถ้วน ประมวลกฎหมาย ปี จ.ศ. ๑๑๖๖ จึงมีประโยชน์เพียงในฐานตำนานกฎหมายเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ในการจัดพิมพ์ใหม่นี้จึงมีข้อสำคัญที่จะพึงยึดถืออยู่ว่า จะต้องคัดแบบจากตัวบทบัญญัติซึ่งได้ชำระสะสางขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ให้ถูกต้องตามอักขรวิธีที่ใช้ในต้นฉะบับนั้น เพื่อนักศึกษาจักได้ใช้เป็นเครื่องมือค้นคว้าโดยไม่ต้องพึ่งต้นฉะบับเขียนตามแต่จะสามารถทำได้
การจัดพิมพ์กฎหมายเก่าขึ้นนั้นใช่จะเป็นประโยชน์แต่ฉะเพาะนักนิติศาสตร์เท่านั้น ก็หาไม่ ยังเป็นคุณแก่นักประวัติศาสตร์ เพราะการศึกษาในวิชาประวัติศาสตร์ย่อมต้องอาศัย พระราชปรารภในกฎหมายและตัวบทกฎหมายเองประกอบด้วยนักโบราณคดีและนักศึกษาโบราณประเพณีของสยามก็เช่นกัน ย่อมได้รับประโยชน์จากบทกฎหมายต่างๆ ซึ่งบัญญัติขึ้นโดยอาศัยจารีตประเพณีธรรมนิยม หรือความเชื่อถือต่างๆ เป็นหลัก และจารีตประเพณีเหล่านี้ แม้ในรัชกาลที่ ๑ ได้เลิกถือเสียแล้วก็มีบ้าง ประโยชน์อีกข้อหนึ่งได้แก่ประโยชน์ในทางภาษาศาสตร์ และวรรณคดี แม้อักขรวิธีและสำนวนโวหารในสมัยโบราณเท่าที่มีอยู่ในตัวบทกฎหมายนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปมากแล้ว เนื่องจากการชำระสะสางหลายต่อหลายครั้งมาแล้วก็ตาม (ซึ่งข้อสมมตินี้มิใช่จะถูกต้องเสมอไป) วิธีเขียนภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก็ยังเป็นประโยชน์แก่นักภาษาศาสตร์อยู่มาก และโดยเหตุที่ต้นฉะบับแห่ง บทกฎหมายที่ชำระสะสางในรัชกาลที่ ๑ คือฉะบับตรา ๓ ดวงนั้น อาลักษณ์ได้เขียนโดยความเอาใจใส่ระมัดระวังและสอบทานถึง ๓ ครั้งให้ถูกต้องแล้ว จึงควรที่จะเคารพต่อต้นฉะบับนั้นยิ่งนัก อีกประการหนึ่ง กฎหมายเก่าในบางตอนอาจถือได้ว่าเป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญ ซึ่งสมควรจะนับรวมเข้าในตำราวรรณคดีทั้งหลายอันสืบมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ด้วยเหตุผลดั่งกล่าวมานี้ มหาวิทยาลัยจึงได้ให้พิมพ์ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ นั้นขึ้นใหม่ ตามที่เขียนไว้ในฉะบับหลวงตรา ๓ ดวง ให้ถูกต้องตามต้นฉะบับ
การจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้มอบหมายให้ มองซิเออ เอร์ แลงกาต์ ดอกเตอร์กฎหมายฝรั่งเศส สมาชิกวิเศษแห่งเนติบัณฑิตยสภา อาจารย์ผู้สอนประวัติศาสตร์กฎหมายไทย (กฎหมายเอกชน) เป็นผู้จัดพิมพ์
จากคำนำของท่านปรีดี ในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าท่านปรีดีเป็นผู้มีความรู้ในด้านประมวลกฎหมายเก่าอย่างลึกซึ้งและแจ่มแจ้ง วัตถุประสงค์ของการจัดพิมพ์ประมวลกฎหมายใหม่ท่านไม่ได้มองเพียงเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาวิชากฎหมายแต่ยังมองถึงมุมในการศึกษาในด้านประวัติศาสตร์ กฎหมายตราสามดวงมีฐานรากมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แม้นักประวัติศาสตร์เองก็ใช้เป็นหลักในการศึกษาประวัติศาสตร์ สังคม ซึ่งต่างจากเดิมที่เน้นมุมมองไปในเชิงการศึกษาแบบพงศาวดารที่มองไปที่ชนชั้นผู้นำ และการศึกสงคราม ในมุมมองด้านประวัติศาสตร์ท่านอาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียร ได้มองถึงแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมสมัยโบราณ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดียผ่านมอญและพม่าเกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญ ๔ เรื่อง คือ
๑. สถาบันพระมหากษัตริย์กับพระราชอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ในการผดุงความยุติธรรมของคนในสังคม อันเป็นแนวคิดที่ให้ผู้ปกครองสูงสุดหรือมหาสมมติเทพ ควบคุมสังคมมิให้ผู้ที่แข็งแรงกว่ากดขี่ข่มเหงผู้ที่อ่อนแอ คืออำนาจในการลงโทษด้วยความชอบธรรม
๒. หลักการพิจารณาคดีความ ในทางทฤษฎีทางฝ่ายพราหมณ์ถือว่าพระมหากษัตริย์ต้องเสด็จออกพิจารณาตัดสินคดีด้วยตนเอง แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ จึงต้องทรงมอบหมายคณะตระลาการทำหน้าที่แทนพระองค์ โดยมีอินทภาษเป็นคำสอนที่คุ้มครองจรรยาบรรณของตระลาการและผู้พิพากษา เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมเบี่ยงเบน ประกอบด้วยหลักจริยธรรมที่ให้หลีกเลี่ยงฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะรัก หรือยินดีใน อามิสสินจ้าง) โทษาคติ (ความลำเอียงเพราะความโกรธ) ภยาคติ (ความลำเอียงเพราะกลัวภัย) และโมหาคติ (ความหลง หรืออวิชชา) หลักศีลธรรมคือต้องตั้งมั่นในสัจในศีลทั้ง ๕ ประการ และหลักการพิจารณาความว่าผู้พิพากษาตระลาการต้องมีอาการ อันเที่ยงธรรมดั่งตราชูและบรรทัด
๓. ตัวบทกฎหมาย กฎหมายตราสามดวงของไทยได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ของอินเดีย หรือเรียกอย่างย่อๆ ว่า พระธรรมศาสตร์ ซึ่งพระธรรมศาสตร์ของไทยมีลักษณะเฉพาะ เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับคดีความด้านความมั่นคง เช่น กบฎศึก และอาญาหลวงรวมไว้ด้วย ซึ่งไม่พบในมานวธรรมศาสตร์ของอินเดีย
๔. ทัณฑกรรม คือมาตรการในการลงโทษ แม้พระมหากษัตริย์จะทรงมี พระราชอำนาจในการลงโทษ แต่ไม่ใช่อำนาจที่จะลงโทษตามอำเภอพระทัย หากแต่ต้องยึดถือตามตัวบทในการลงโทษ เรียกว่าเป็น ราชทัณฑ์ คือการลงโทษจากพระมหากษัตริย์
เมื่อมองจากกระบวนการยุติธรรมไทยสมัยโบราณแล้ว จะเห็นว่าท่านปรีดี พนมยงค์ ได้มองเกี่ยวกับความเป็นมาของกฎหมายไทยอย่างรอบด้าน การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยประการหนึ่ง คืออำนาจตุลาการ เป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินไปอย่างถูกต้อง ชอบธรรม และเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมต่ออดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน ด้วยว่าอำนาจตุลาการส่งผลกระทบต่อการจัดระบบโครงสร้างของสังคม ซึ่งย่อมไม่หยุดนิ่งในช่วงการเปลี่ยนผ่าน การมอบให้ ร.แลงกาต์ เป็นผู้ดำเนินการในการรวบรวมกฎหมายตราสามดวง จากต้นฉบับหลวง ซึ่งมี ตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้ว ประทับไว้ เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า Put the Right Man on the Right Job เนื่องจาก ร.แลงกาต์ เป็นชาวฝรั่งเศสเกิดที่เมืองอาเดนส์ ศึกษาที่ปารีส และได้รับประกาศนียบัตรภาษาตะวันออก เมื่ออายุ ๒๗ ปี พออายุได้ ๓๒ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ ท่านก็เข้ามาทำงานในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมายในเมืองไทย เป็นผู้ที่มีความให้ความสนใจสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง โดยพิจารณาจากงานของท่านที่ลงพิมพ์ในวารสารสยามสมาคม นอกจากนั้นแล้วท่านก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ปริญญาเอกทางกฎหมายจากปารีส เมื่อปี ๒๔๗๕ การเข้ามาของท่านจึงเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายของรัฐบาลไทย โดยการติดต่อผ่านสถานทูตฝรั่งเศสและกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส และเป็นช่วงที่ไทยต้องมีการปฏิรูปทางกฎหมาย และจัดทำประมวลกฎหมายต่างๆ ขึ้น เพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม อาทิ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ สหรัฐอเมริกายินยอมจะปรับปรุงสนธิสัญญาใหม่ แต่มีข้อแม้ว่าไทยจะต้องประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตลอดจนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและแพ่งเสียก่อน หรือกล่าวโดยสรุปว่าให้ไทยปรับปรุงประมวลกฎหมายไทยเสียใหม่ ซึ่ง ร.แลงกาต์ ได้มี ส่วนช่วยในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญที่สุดก็คือ ร.แลงกาต์ เป็นนักกฎหมายสมัยใหม่ที่ให้ความสนใจต่อกฎหมายโบราณมาก เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ไม่นานเท่าไหร่ก็เริ่มศึกษากฎหมายตราสามดวงทันที ความสัมพันธ์ระหว่างด็อกเตอร์ทางกฎหมายทั้งสองท่านคือ ท่านปรีดี กับ ร.แลงกาต์ ก็คือ เมื่อมีการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ท่านปรีดี พนมยงค์ ในตำแหน่งผู้ประศาสน์การ (ตำแหน่งผู้ประศาสน์การนี้เมื่อสิ้นสมัยท่านปรีดีแล้วเปลี่ยนเรียกว่า อธิการบดี) ได้เชิญแลงกาต์เป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยในระดับปริญญาโท และนี่เองเป็นเหตุให้ ร.แลงกาต์ได้เขียนตำราประวัติศาสตร์กฎหมายไทยเป็นภาษาไทย และจัดพิมพ์กฎหมายตราสามดวงฉบับมาตรฐาน
เป็นที่กล่าวกันว่า ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ จุลศักราช ๑๑๖๖ ซึ่งศาสตราจารย์ โรแบร์ แลงกาต์ (Robert Lingat) เป็นผู้รวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นในนามของมหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) เป็นหนังสือที่เน้นความถูกต้องและตรงกับฉบับหลวงตราสามดวงมากที่สุด จนกระทั่งเป็นฉบับพิมพ์ที่ยอมรับกันทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งฉบับที่พิมพ์ต่อๆ มาล้วนถือเอาฉบับที่พิมพ์ของ มธก. เป็นต้นแบบทั้งสิ้น น่าแปลกที่ว่าท่านปรีดี และ ร.แลงกาต์ ต่างมิได้อยู่ชื่นชมผลงานอันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ของประเทศไทยเลย ผมขอกล่าวถึง ร.แลงกาต์ก่อน ร.แลงกาต์ทำงานในเมืองไทยถึงปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ หลังจากหนังสือตีพิมพ์ได้ไม่ถึง ๒ ปี ก็เดินทางออกจากประเทศไทยไป ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับวิกฤตการณ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งขยายเป็นสงครามเกี่ยวกับดินแดนระหว่างเสียมราบกับพระตะบอง ผลจากการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ซึ่งทำให้กลุ่มทหารบกของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นมามีอำนาจแทนกลุ่มของท่านปรีดี พระยานิติศาสตร์ไพศาลได้มาเป็นคณบดีของคณะนิติศาสตร์และเป็นอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย แทน ร.แลงกาต์ ได้นำหนังสือประวัติศาสตร์กฎหมายไทยของพระยานิติศาสตร์ฯ เอง มาใช้แทนของเดิม และไม่มีการ พิมพ์งานของแลงกาต์อีกหลังจากนั้น ซึ่งนับเป็นความน่าเสียดายทางวิชาการเป็นอย่างยิ่ง สำหรับ ร.แลงกาต์เองได้ไปเป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายในเวียดนามระหว่างพุทธศักราช ๒๔๘๔ ๒๔๙๘ แต่ถึงแม้ท่านจะไปอยู่ที่เวียดนามก็มิได้ละเลยการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทยและยังมีการเขียนอย่างสม่ำเสมอ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ แลงกาต์ ได้กลับไปทำงานด้านวิชาการในกรุงปารีส และถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๑๕ ส่วนท่านปรีดี ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณูปการทั้งในเรื่องของการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยในทางลับ และทำให้สัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปพำนักอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ๒๕๑๓ และได้ลี้ภัยทางการเมืองต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ ๒๕๒๖ และถึงแก่อสัญกรรม ณ บ้านพัก ชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖ หลังการเสียชีวิตของแลงกาต์ ๑๑ ปี
สรุป
เมื่อได้พูดถึง เรื่อง นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) กับกฎหมายตราสามดวง ก็พลอยได้กล่าวถึงเรื่องของศาสตราจารย์ ร.แลงกาต์ อันเป็นมิตรทางวิชาการของท่านซึ่งทั้งคู่ได้มีคุณูปการในการรวบรวม ตรวจสอบ และจัดพิมพ์กฎหมายตราสามดวง ความละเอียดในการตรวจสอบเอกสารของท่าน ท่านอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ให้ข้อเท็จจริงไว้ว่า การศึกษากฎหมายเก่าของไทย ร.แลงกาต์ซึ่งได้รับอาณัติจากท่านอาจารย์ปรีดี ทำงานละเอียดในลักษณะของคนนั่งแกะศิลาจารึก แบบ ยอร์ช เซเดส์ มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ หรืออาจารย์ประเสริฐ ณ นคร และถึงขั้นนำเอากฎหมายเก่าที่พิมพ์ครั้งต่างๆ เช่น ฉบับพิมพ์ของนายโหมด อมาตยกุล พ.ศ. ๒๓๙๒ ฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ. ๒๔๐๖ และฉบับพิมพ์ของกรมหลวงราชบุรีฯ พ.ศ. ๒๔๔๔ มาเทียบเคียงกันอย่างละเอียด จึงเป็นการศึกษาอย่างลึกซึ้งและพบว่าบรรดาฉบับต่างๆ นั้นมีข้อผิดพลาดในการพิมพ์และได้ทำการแก้ไขตรวจสอบให้ถูกต้องภายใต้การสนับสนุนของผู้ประศาสน์การ ท่านปรีดี ที่ช่วยเหลือในทุกด้าน การจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงถือได้ว่าเป็นความสำเร็จทางวิชาการอันทรงคุณค่า ร.แลงกาต์ได้เคยกล่าวสรุปไว้ ซึ่งผมขอหยิบยกมาให้เป็นที่ทราบอย่างกว้างขวางแก่ท่านผู้ฟังทั้งหลายว่า อาศัยเหตุตามที่กล่าวนี้ ผลจึงมีว่าถ้าหากปรารถนาจะทำการพิเคราะห์ค้นเอาความแท้จริงแห่งตัวบทกฎหมาย อันเป็นสิ่งที่พึงจำต้องกระทำขาดเสียมิได้ในการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายแล้ว เพื่อความรอบคอบควรจะไปค้นพิเคราะห์ให้มากครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งฉะบับกฎหมายฉะบับหลวง ณ หอพระสมุดวชิรญาณ หรือ ณ กระทรวงยุติธรรม
ในวาระครบ ๒๐๐ ปี แห่งการชำระกฎหมายตราสามดวง ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ ประจวบกับวาระครบ ๑๐ ปีของการตั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในปีนี้เช่นกัน เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในรัชกาลที่ ๑ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการชำระกฎหมายทั้งหมดและเขียนเป็นกฎหมายฉบับหลวงตราสามดวง ซึ่งจัดเป็นเอกสารหลักฐานอันถูกต้องมั่นคง และยั่งยืน และเพื่อรำลึกถึงคุณูปการของท่านปรีดี พนมยงค์ และมิตรสหายอันเป็นปราชญ์ คือ ศ. ร.แลงกาต์ ผู้เพียรพยายามจะคงความถูกต้องครบถ้วนของ ตัวบทกฎหมายให้ยั่งยืนนานสืบไป และเป็นเอกสารที่ทรงคุณค่าทั้งทางนิติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ผมจึงต้องขอบคุณทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยเฉพาะท่านศาสตราจารย์วิเชียร วัฒนคุณ ประธานสภาสถาบันฯ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการจัดพิมพ์หนังสือที่ทรงคุณค่ายิ่งไว้เป็นอนุสรณ์ ก่อนที่ทุกท่านจะได้สัมมนาหัวข้อ กฎหมายตราสามดวง : ฉบับหลวง, ฉบับพิมพ์ มธก. และฉบับแก้ไขปรับปรุง โดยผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๓ ท่าน คือ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. คุณกำธร เลี้ยงสัจธรรม บรรณาธิการฉบับแก้ไขปรับปรุง และดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้นำในการสัมมนานั้น ผมอยากให้ทุกท่านได้น้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของบูรพกษัตริย์ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ผู้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายตราสามดวง ท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้มีคุณูปการในการสนับสนุนให้มีการค้นคว้า ตรวจสอบ และจัดพิมพ์ รวมถึงให้ชื่อกฎหมายฉบับหลวงว่า กฎหมายตราสามดวง อันเป็นที่รับรู้รับทราบอย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการ และศาสตราจารย์ ร.แลงกาต์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศส ผู้ตรวจสอบและชำระต้นฉบับ จากกฎหมายฉบับหลวงของไทยในที่ต่างๆ ด้วยความวิริยะและอุตสาหะยิ่ง การสัมมนาในวันนี้ย่อมจะยังประโยชน์ในแวดวงวิชาการอย่างกว้างขวางและเกียรติคุณความดีของทุกท่านที่ได้มีส่วนในการสืบสานสายธารประวัติศาสตร์กฎหมายย่อมจารึกไว้ในแวดวงวิชาการตลอดไป.
ขอบคุณครับ
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=860
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 01:19 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|