|
|
ครั้งที่ 124 25 ธันวาคม 2548 22:59 น.
|
"นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติวิพากษ์ระบบการทำงานวิจัย"
ผมเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยได้สามสี่วันแล้วครับ ไปคราวนี้นับได้ว่าเป็นการไปในฐานะ visiting professor ที่ใช้เวลาน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่ตามสัญญาแล้วผมต้องอยู่ที่เมือง Aix-en-Provence หนึ่งเดือนและสอนไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง แต่เนื่องจากผมมีงานที่ค้างอยู่เยอะมาก จึงขอเขาอยู่แค่ 2 สัปดาห์และสอน 4 หน ก็เลยกลับได้เร็วกว่าปกติโดยไม่ขาดสอนครับ
บทบรรณาธิการนี้เป็นบทบรรณาธิการสุดท้ายของปีนี้ครับ ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เกิดความสับสนและวุ่นวายในแวดวงกฎหมายและนักกฎหมายมาก เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ หลายเหตุการณ์ที่เราพยายาม โทษ กันว่าเป็นผลที่เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญ จากองค์กรต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นมา จากการแปลความรัฐธรรมนูญ หรือจากผู้ใช้รัฐธรรมนูญ โทษกันไปโทษกันมาในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบว่าจะทำอย่างไรดีกับรัฐธรรมนูญ กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กับผู้ใช้รัฐธรรมนูญและกับรัฐธรรมนูญที่ต่างฝ่ายต่างก็มีมุมมองของตัวเองครับ ในส่วนของผมเองนั้นผมก็ได้พยายามทำหน้าที่นักวิชาการให้ดีที่สุดโดยบทบรรณาธิการแทบจะทุกครั้งผมได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางด้านกฎหมายมหาชนที่เกิดขึ้น ซึ่งหลายครั้งที่มีคนเห็นด้วยบ้างและบางครั้งก็มีการโต้แย้งมาบ้าง จริง ๆ แล้วปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งทราบกันมานานแล้วครับ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาหากผู้ใช้บริการ website แห่งนี้จำได้ คงจำบทความของผมที่เผยแพร่ใน www.pub-law.net เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ หลังการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรได้ ผมได้เขียนบทความชื่อถึงท่านผู้นำ โดยผมได้คาดการณ์ว่าจะเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในบทความดังกล่าวผมได้ขอให้นายกรัฐมนตรีทำการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ด้วยการ ศึกษา และ ปรับปรุง รัฐธรรมนูญให้ดีขึ้นและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีทำการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 สำเร็จ โอกาสที่จะเป็น รัฐบุรุษ ก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม หลังจากบทความเผยแพร่ใน www.pub-law.net และในหนังสือพิมพ์บางฉบับ ก็มี ผู้ใหญ่ คนหนึ่งขอให้ผมหยุดเขียนบทความในลักษณะ วิจารณ์ หรือ กระแนะกระแหน (คำหลังนี้เป็นคำที่ผู้ใหญ่คนนั้นใช้ครับ !!!) นายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ผมจึง หยุด พูดถึงและกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีครับ !!! ส่วนนายกรัฐมนตรีจะได้อ่านบทความของผมหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ที่ทราบก็คือ วันนี้มีเสียงเรียกร้องมากเหลือเกินจากหลาย ๆ วงการขอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 โดยมุ่งเน้น เป้า ไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก เสียดายโอกาสในการเป็น รัฐบุรุษ ของนายกรัฐมนตรีเหลือเกินครับ หากได้เป็นผู้ เริ่มต้น ก็คงจะดีมากกว่าเป็น ปัญหา เพื่อให้คนอื่นเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญนะครับ
พอถึงสิ้นปี สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะทำกันก็คือ ทบทวนตัวเองและสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองในรอบปีที่ผ่านมา แม้ผมพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมในรอบปี 2548 แต่ก็ไม่เต็มที่เสียทีเดียว งานทุก ๆ ที่ที่ผมทำหรือมีส่วนร่วมในการทำส่วนใหญ่ก็เป็นไปได้ด้วยดีถึงดีมาก คงมีงานวิชาการส่วนตัวเท่านั้นที่ไม่ค่อย พอใจ เท่าไหร่เพราะผมทำงานวิชาการน้อยมาก ตั้งใจจะเขียนหนังสือใหม่อีก 1 เล่มก็ยังไม่ได้เริ่มต้น งานวิจัย เล็ก ๆ 2 ชิ้นก็ยังไม่เสร็จ บทความก็มีน้อยมากครับ ทั้งนี้ ก็เพราะมีสิ่งต่าง ๆ ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันตลอดเวลา เฉพาะการประชุมของคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ผมเป็นอยู่ก็หมดเวลาไปกว่าครึ่งหนึ่งของเวลาในแต่ละวันแล้ว ปีใหม่ก็คงต้องเริ่มต้นคิดและจัดแบ่งเวลาใหม่เพื่อให้สามารถทำงานวิชาการได้สำเร็จสมความตั้งใจภายในปี 2549 นี้ครับ
มีสิ่งหนึ่งที่ค้างคาใจผมมาตลอดระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา แต่ผมก็ไม่กล้าพูดมากแล้วก็ไม่ค่อยอยากพูดเท่าไร ประกอบกับไม่รู้จะพูดที่ไหนด้วย ก็เลยปล่อยเฉย ๆ เอาไว้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการ วิจัย ครับ! ตอนนี้ผมคงสามารถพูดได้แล้วเพราะผมเป็น นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ ประจำปี 2548 ในฐานะนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ก็คงต้องพูดอะไรบ้างโดยเฉพาะในส่วนที่เป็น ปัญหา ที่เกิดขึ้นกับ ระบบ งานวิจัยของเราครับ
ผมทำงานวิจัยมาเกือบ 10 ปี เป็นระยะเวลาที่ไม่นานเท่าไรนัก ในรอบเกือบ 10 ปีผมทำงานวิจัยจำนวนไม่มาก เฉลี่ยแล้วไม่เกินปีละ 2 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นโครงการ เล็ก ๆ ที่ใช้ระยะเวลาทำไม่เกิน 1 ปีและได้ค่าตอบแทนไม่มากนัก ประสบการณ์ของการทำวิจัยของผมมีอยู่ไม่ค่อยมาก แต่จากปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับตัวผมเองและที่เกิดขึ้นกับเพื่อนนักวิจัยบางคน พอจะแยกนำมาเล่าให้ฟังได้ใน 5 ประเด็นปัญหาใหญ่ ๆ ด้วยกันที่ผมคิดว่าเป็น ปัญหา ที่ส่งผลโดยตรงต่อ คุณภาพ ของงานวิจัยในบ้านเรา ปัญหาเหล่านั้นคือ ตัวผู้วิจัยหลัก คณะผู้วิจัย ค่าตอบแทน กระบวนการทำวิจัย ผลการวิจัย
ในส่วนที่เกี่ยวกับ ตัวผู้วิจัยหลัก นั้น ผมเข้าใจว่าเรายังไม่มี หลักเกณฑ์ ที่แน่นอนสำหรับคุณสมบัติของการเป็นผู้วิจัยครับ งานวิจัยหลาย ๆ เรื่องที่ผมเห็นว่ามีการให้ผู้ที่เพิ่งเรียนหนังสือจบมาใหม่ ๆ ทำ บางคนอายุยังไม่ถึง 30 ปี และไม่มีประสบการณ์ใด ๆ เลยนอกจากเรียนหนังสืออย่างเดียว นี่เป็นสิ่งที่ผมอึดอัดใจมาตลอดเพราะสำหรับผมนั้น คนที่จะเป็น ผู้วิจัย ได้อย่างน้อย ผู้ว่าจ้าง ต้องสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติ มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เช่น เรียนจบปริญญาเอกในด้านที่จะทำการวิจัยและมีประสบการณ์ อย่างมาก ในสาขาที่จะทำวิจัยด้วย ทั้งนี้ เพราะงานวิจัยไม่ใช่การเขียนบทความ หนังสือหรือตำรา แต่งานวิจัยเป็นการ ศึกษาวิเคราะห์ ถึงปัญหาเฉพาะที่มีลักษณะพิเศษซึ่งผู้ที่จะทำการศึกษาและหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านั้นได้จะต้องนำเอาความรู้ความสามารถอย่างสูงของตนเองบวกกับประสบการณ์ที่สะสมมานานในชีวิตมาปรับเข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นและทำการศึกษาค้นคว้าต่อไปเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับปัญหานั้นครับ นี่คือ ความเข้าใจ ส่วนตัวของผมสำหรับคุณสมบัติของการเป็นผู้วิจัย ซึ่งในประเด็นนี้เอง หลาย ๆ คนคงพอทราบได้ว่าในบ้านเรานั้นการ แจก งานวิจัยของบางหน่วยงานไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของตัวผู้วิจัยเป็นหลัก แต่จะไปคำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ หรือความสัมพันธ์เฉพาะด้านเสียมากกว่า จริง ๆ แล้วผมสามารถยกตัวอย่างที่ผม รับรู้ ได้มากแต่เพื่อมิให้เป็นการ สร้างศัตรู ขึ้นมาอีกโดยไม่จำเป็นก็คงไม่ขอนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี่ครับ
สำหรับ คณะผู้วิจัย ซึ่งเป็นปัญหาประเด็นที่สองของผมนั้น คณะผู้วิจัยมีความสำคัญมากสำหรับงานวิจัยไม่แพ้ผู้วิจัยหลักครับ เพราะผู้วิจัยต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นคณะผู้วิจัยนั้น จะต้องทำงานให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางที่ผู้วิจัยหลักซึ่งเป็น หัวหน้าทีม เป็นผู้กำหนด ในบางครั้ง คณะผู้วิจัยอาจประกอบด้วยบุคคลจาก ศาสตร์ ต่าง ๆ เพื่อให้ผลที่ออกมาของงานวิจัยนั้นครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน เช่น งานวิจัยด้านนิติศาสตร์ในบางครั้งก็จะมีนักรัฐศาสตร์หรือนักเศรษฐศาสตร์เข้ามาร่วมด้วยครับ คุณสมบัติของคณะผู้วิจัยจึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกับคุณสมบัติของตัวผู้วิจัยหลัก แต่ก็อาจเป็นรองอยู่บ้างเพราะหาก หัวหน้าทีม มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์สูงเป็นที่ยอมรับแล้ว ก็คงจะกำหนดทิศทางของงานวิจัยนั้นเป็นไปในทางที่ดีได้ครับ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้บางหน่วยงานและนักวิจัยบางคนก็อาจจะไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไรนัก คงดูเฉพาะตัวผู้วิจัยหลักเป็นเกณฑ์ ส่วนคณะผู้วิจัยนั้นส่วนใหญ่ก็มักจะมอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของ หัวหน้าทีม ครับ ประสบการณ์ที่ผมได้เคยพบมากับตนเองในส่วนที่เกี่ยวกับคณะผู้วิจัยนั้นก็มีหลายเรื่องที่แปลก ๆ มีงานวิจัยด้านนิติศาสตร์ที่หน่วยงานผู้ว่าจ้างหรือบางคนในหน่วยงานพยายามที่จะเพิ่ม ศาสตร์ แปลก ๆ เข้ามาในงานวิจัยเพื่อให้ คน ของตัวเองหรือให้ตัวเองเข้ามาทำงานวิจัยนั้นด้วยก็มีครับ โชคดีที่ผมสามารถเอาตัวรอดมาได้ ไม่งั้นคงอาจไม่ได้เป็น นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ก็ได้ เพราะผมคงต้องไปนั่งสอบถาม คู่ความ ว่าพอใจการพิจารณาคดีของ ศาล หรือไม่แล้วก็มานั่งทำตารางแปลก ๆ ใส่ในงานวิจัยครับ !!! แต่ที่แปลกมาก ๆ กว่าก็คือ ในบางครั้งผมพบว่าหน่วยงานบางแห่ง สามารถ มอบงานวิจัยให้ผู้ที่มีอาวุโสน้อยมากหรือถ้าเป็นอาจารย์ก็อยู่ในระดับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ให้เป็น หัวหน้าทีม โดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมาเลยว่าจะมีนักวิชาการระดับสูงหรืออาจารย์ระดับ รองศาสตราจารย์ หรือ ศาสตราจารย์ ผู้ใด อยาก เข้ามาเป็น ลูกทีม ครับ เพราะในวงการวิชาการของเรานั้น ส่วนใหญ่ก็ยังคงยึดติดกับ ตำแหน่งทางวิชาการ อยู่เป็นอย่างมากครับ !!!
ในส่วนที่เกี่ยวกับ ค่าตอบแทน นั้น ก็เป็นปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งที่นักวิจัยส่วนใหญ่พบกันมากครับ เริ่มตั้งแต่การที่หน่วยงานจำนวนมากใช้ระบบการทำสัญญา พัสดุ กับงานวิจัยที่ทำให้นักวิจัยต้องหา เงินก้อน มาประกันผลงานก่อนที่จะเริ่มทำงานวิจัย ซึ่งดู ๆ แล้วสิ่งที่นักวิจัยจำนวนมากต้องการคือหนังสือหรือตำราต่าง ๆ ซึ่งแทนที่ผู้วิจัยจะได้เงินจากหน่วยงานผู้ว่าจ้างมาหาซื้อหนังสือหรือตำราดี ๆ เพื่อใช้ในการทำวิจัยกลับต้องหาเงินมาจ่าย มัดจำ ให้หน่วยงานก่อนครับ นี่เป็นปัญหาประการแรกที่สำคัญที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนที่นักวิจัยจำนวนหนึ่งต้องเจอครับ ปัญหาประการต่อมาที่พบส่วนมากก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ จรรยาบรรณ ของการวิจัยและของนักวิจัยนั่นแหละครับ หน่วยงานผู้ว่าจ้างหลาย ๆ แห่งชอบที่จะ ให้ งานวิจัยกับนักวิจัยจำนวนหนึ่งเพราะนักวิจัยบางคน เชื่อมั่น ว่าไม่มีใครในโลกนี้แล้วที่จะรู้เรื่องที่ตนเองวิจัยได้ดีกว่าคนในหน่วยงานที่ว่าจ้าง ดังนั้น เมื่อได้งานวิจัยจากหน่วยงานมา นักวิจัยผู้ได้รับงานวิจัยก็จะ เชิญ คนในหน่วยงานเข้ามาเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นผู้วิจัย ทำเช่นนี้หลาย ๆ เรื่องเข้าก็เกิดการพออกพอใจกันจนกลายเป็นการ ผูกขาด งานวิจัยขึ้นครับ ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจประเด็นนี้เท่าไรนักเพราะหากคนในหน่วยงาน รู้เรื่อง ที่จะทำงานวิจัยดีขนาดนั้นแล้วจะมา ว่าจ้าง คนนอกให้วิจัยทำไมกันครับ! ทำเองน่าจะดีกว่าและประหยัดเงินของรัฐกว่าใช่ไหมครับ!!! เรื่องค่าตอบแทนงานวิจัยยังมีประเด็นให้คิดอีกมากเช่น ทำไมนักวิจัย หน้าใหม่ มักจะถูก กดราคา ค่าตัวเหลือเกิน หรือทำไมบางครั้งผู้วิจัยมักจะทะเลาะกันเรื่องค่าตอบแทนจนเกิดปัญหาไม่พอใจกันและในบางรายก็ กล้า ที่จะเลือกใช้วิธีฟ้องศาลโดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งนั้นนอกจากเงินวิจัยที่ตนเองควรจะได้ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่คนเหล่านั้นคงจะต้องตอบกันเองครับ เพราะผมพูดมากไปก็จะไม่ดีเช่นกันครับ
ปัญหาที่เกี่ยวกับ กระบวนการวิจัย เป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่พบกันอยู่บ่อย ๆ นักวิจัยบางคนมี ผู้ช่วยวิจัย ซึ่งก็จะต้องไปเตรียมข้อมูลมาให้นักวิจัยตามที่นักวิจัยกำหนด ผู้ช่วยวิจัยก็คือผู้ช่วยวิจัยนะครับ เราคงไม่สามารถคาดหวังอะไรได้มาก ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือผู้ช่วยวิจัยไป ลอก งานวิจัยของคนอื่น ลอกวิทยานิพนธ์ ลอกหนังสือ ลอกสารพัดอย่างมาให้นักวิจัยแล้วก็ลืม อ้างอิง ครับ!!! ในกระบวนการทำวิจัยนั้น โดยหลักผู้ช่วยวิจัยควร เตรียม ข้อมูลให้นักวิจัยแล้วนักวิจัยก็จะต้องเป็นผู้ ตัดสินใจ เองว่าจะใช้ข้อมูลเหล่านั้นหรือไม่ อย่างไร เพราะ ที่มา ของข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก ข้อมูลบางอย่างมีการแก้ไขปรับปรุงไปหลายครั้งแล้วแต่ผู้ช่วยวิจัยไม่ทราบแล้วนำมาใส่ ผลออกมาจึงทำให้งานวิจัยนั้น ไร้ค่า ครับ! แต่ในบางครั้งปัญหาที่พบก็อาจเป็นปัญหาที่เกิดจาก นักวิจัย เองที่ไม่มีความชำนาญพอที่จะดำเนินกระบวนการวิจัยต่อไปได้ เมื่อได้ข้อมูลอะไรมาก็นำมาใส่ไว้และไม่สามารถตรวจสอบได้เพราะบังเอิญตนเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นครับ นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าลำบากใจพอสมควรทีเดียวสำหรับนักวิจัย คุณภาพ ที่หาก เผลอ ไปรับทำงานวิจัยที่ตนเองไม่ถนัดแล้วส่วนใหญ่ก็มักจะเจอปัญหาแบบนี้ครับ ผมเคยมีประสบการณ์อยู่บ้างแต่ไม่มาก อย่างที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้วในตอนต้นครับว่าส่วนใหญ่ผมทำ คนเดียว ครับ ก็คงขอผ่านไปไม่นำมาเล่าในที่นี้ ปัญหาสุดท้ายคือปัญหาเรื่องผลการวิจัย ผมเคยอ่านเจองานวิจัยเล่มหนึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการกระจายอำนาจที่มีนักวิจัยที่เป็นนักกฎหมายจากทุกสาขา (ยกเว้นสาขากฎหมายปกครองและสาขากฎหมายมหาชนครับ!) บทสรุปวิจัย น่าสนใจ มากครับ เพราะคณะผู้วิจัยเสนอไว้ในข้อเสนอแนะว่าสมควรที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้อง ให้ความรู้ ในด้านต่าง ๆ กับชาวบ้านมากขึ้นครับ!!! ก็คงเป็นเรื่องที่แปลกพอสมควรสำหรับข้อเสนอแนะเช่นนี้เพราะในทรรศนะของผมนั้น บทสรุปของงานวิจัยต้องเป็นรูปธรรมที่สุด งานวิจัยด้านกฎหมายนั้นคงต้องบอก แนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน เช่น ถ้าพบว่ารัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือกฎระเบียบใดมีปัญหา ผู้วิจัยก็ควรที่จะ ยกร่าง รัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เป็นปัญหานั้นมาด้วยพร้อมกับคำอธิบายกลไกในการใช้สิ่งเหล่านั้นมาแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ก็เพื่อ สะดวก กับผู้ว่าจ้างที่จะมองเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมครับ นอกจากนี้แล้ว บางหน่วยงานก็ไม่ค่อย เปิดเผย ผลงานวิจัยของตนเองเท่าไรนัก ผมอยากเสนอความเห็นไว้ ณ ที่นี้ว่า มหาวิทยาลัยควรขอ สำเนา งานวิจัยจากหน่วยงานตามศาสตร์ของตนไว้ในห้องสมุดเพื่อให้นิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาหรือกำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่ได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเหล่านั้นได้ การเก็บผลงานวิจัยเอาไว้ในหน่วยงานของตนไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เลยครับ การเปิดเผยงานวิจัยยังเป็นสิ่งจำเป็นในอีกทางหนึ่งในการพัฒนาระบบการวิจัยเพราะผู้อ่านงานวิจัยสามารถ ตรวจสอบ ได้ว่าหน่วยงานนั้นมี ความสามารถ ในการตั้งประเด็นวิจัยที่ดีและเป็นประโยชน์หรือไม่ และผลงานวิจัยออกมาดีหรือไม่ ส่วนการนำงานวิจัยออกมาพิมพ์เป็นหนังสือขายนั้นดู ๆ แล้วก็น่าจะดีหากงานวิจัยนั้นดี แต่ถ้างานวิจัยไม่ดีแล้วผู้วิจัยนำออกมาให้สำนักพิมพ์เอกชนพิมพ์เพื่อประโยชน์บางอย่างของตัวผู้วิจัยเอง เช่น เพื่อนำไปใช้ประกอบการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเพื่อได้เงินค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้น ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานผู้อนุมัติที่จะต้องประเมินดูดี ๆ เพราะเคยมีมาแล้วที่ผู้ซื้อ ส่งคืน แถม วิพากษ์ อย่างรุนแรงอีกด้วยว่างานวิจัยนั้น ไม่ได้เรื่อง ทั้งนี้ หน่วยงานคงต้องดูเป็นกรณี ๆ ไปนะครับ งานวิจัยที่ไม่ดีหากอนุญาตให้นำออกไปจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายก็จะเสียชื่อกันทั้งหน่วยงานและทั้งผู้วิจัยครับ
นอกจากปัญหาทั้ง 5 ประการใหญ่ ๆ ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ยังมีปัญหาปลีกย่อยอีกหลาย ๆ อย่างที่ได้เห็น ได้ยิน หรือได้ฟังมา ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเกี่ยวโยงไปกับเรื่อง ผลประโยชน์ตอบแทน ทั้งนั้นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นการ แย่ง งานวิจัยกัน บางหน่วยงานถึงกับตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาเพื่อรับทำงานวิจัยโดยเฉพาะ บางคนที่ชีวิตนี้ไม่สามารถไปทำงานวิจัยที่อื่นได้ในโลกก็สามารถ มีชื่อ อยู่ในงานวิจัยทุกเรื่องหรือ มีค่าตอบแทน จากการ บริหาร งานวิจัยทุกเรื่องที่ผ่านองค์กรพิเศษนั้น ในขณะที่นักวิจัยบางคนก็ รัก ที่ทำงานเหลือเกิน ขนาดรับงานวิจัย ส่วนตัว แล้วก็ยังอุตส่าห์หอบมานั่งทำที่ทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ยันดึกแถมไม่มีวันหยุดอีกด้วย งานนี้ผู้วิจัยสบายแต่หน่วยงานเสียค่าน้ำค่าไฟจมเลยครับ
ผมคิดว่าจากปัญหาและอุปสรรคทั้งหมดที่กล่าวไปนี้ทำให้การทำงานวิจัยในบ้านเราไม่ได้ผลสูงสุดเท่าที่ควรจะได้รับ ที่ผมได้เขียนไปทั้งหมดผมไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผู้ใดหรือหน่วยงานใดเป็นการเฉพาะนะครับ เป็นการ บอกเล่า ประสบการณ์ในการทำวิจัยของผู้ทำงานวิจัยคนหนึ่งเท่านั้นครับ ถ้าทำให้ผู้ใดไม่พอใจหรือไม่สบายใจก็ขอโทษด้วยนะครับ จริง ๆ แล้วผมเคยพูดเรื่องวิจัยไปแล้วครั้งหนึ่งในบทบรรณาธิการช่วงแรกของผมเมื่อ 3 ปีที่แล้วครับ คือบทบรรณาธิการครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545 ซึ่งในตอนนั้นก็มีนักวิจัยระดับปลายแถวคนหนึ่งอ่านบทบรรณาธิการครั้งนั้นเข้าแล้วคิดว่าผมพูดถึง ก็เลยไปฟ้องให้ผู้มีตำแหน่งคนหนึ่งมาตักเตือนผม ซึ่งผมก็ได้อธิบายให้ทราบว่าคงเป็นเรื่อง กินปูนร้อนท้อง เสียมากกว่าเพราะผมไม่ได้มีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์ใคร แต่วิพากษ์วิจารณ์ระบบการทำวิจัยของเราครับ ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันที่ผม พูดถึง ระบบของการทำงานวิจัยในภาพรวมที่ผมประสบมาโดยมุ่งหวังว่าสิ่งที่ผมคิดหรือเขียนไปนั้นจะมีส่วนทำให้งานวิจัยของเราเป็นไปอย่างดียิ่งขึ้นและเกิดการพัฒนาในวงการวิจัยของเราในอนาคตบ้างไม่มากก็น้อยครับ
ผมต้องขอขอบคุณคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ประธานกรรมการพัฒนากฎหมายที่ได้ให้งานวิจัย ดี ๆ กับผมและ ขับเคี่ยว ผมมาตลอดเวลา 5 ปีในการทำงานวิจัยเพียงชิ้นเดียว!! ขอขอบคุณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ให้ความไว้วางใจกับผมมาตลอดในการให้ทำงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น ขอขอบคุณสถาบันพระปกเกล้าเช่นกันสำหรับงานวิจัยที่ได้มอบหมายให้ผมทำ ขอขอบคุณเพื่อนนักวิชาการและผู้ช่วยวิจัยทุกคนที่มีส่วนร่วมในงานวิจัยที่ผมได้ทำไปทั้งหมดและท้ายที่สุดขอขอบคุณคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แม้จะไม่เคยให้โอกาสผมได้ทำงานวิจัยที่ผ่านคณะหรือผ่านศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา แต่ก็ยังอุตส่าห์เสนอชื่อผมต่อสภาวิจัยแห่งชาติ จนในที่สุด ผมก็ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ ประจำปี 2548 ตามที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอไปครับ
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความสามบทความมานำเสนอครับ บทความแรกคือ บทความเรื่อง คำตอบสำหรับบทโต้แย้งทางวิชาการกรณีตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกับการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 2) ของ รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียน แย้ง บทความของอาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร เรื่องบทโต้แย้งทางวิชาการกรณีตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ได้ลงเผยแพร่ไปแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา บทความที่สองคือบทความของผมซึ่งเป็นบทความขนาดยาว 3 ตอนจบซึ่งลงไปแล้ว 1 ตอนเมื่อเดือนที่ผ่านมากคือบทความเรื่อง กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ตอนที่ 2) ครับ บทความสุดท้ายคือบทความเรื่อง รัฐธรรมนูญฉบับลิงแก้แห ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ที่ส่งมาร่วมกับเราเป็นครั้งแรก ลองอ่านดูนะครับ ผมก็ต้องขอขอบคุณผู้เขียนทุกคน ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
ก่อนที่จะจบบทบรรณาธิการนี้ ผมขออวยพรให้ผู้ใช้บริการทุกคนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีสุขภาพดีและมีความสุขตลอดปี พ.ศ.2549 นี้ครับ
พบกันใหม่ในวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2549 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=852
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:27 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|