บทโต้แย้งทางวิชาการกรณีตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน( ตอนที่ ๒ ) โดย อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร

11 ธันวาคม 2548 23:23 น.

       ใน ตอนที่ ๑ ของบทความ ผู้เขียนได้แสดงความเห็นไปแล้วถึงปัญหาข้อกฎหมาย ทั้งปัญหาว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ หรือไม่ และปัญหาว่ากระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการกำหนดประเด็นพิจารณาวินิจฉัย มีความบกพร่องหรือไม่ สำหรับตอนที่ ๒ ของบทความนี้ จะเป็นการแสดงความเห็นต่อไปในปัญหาข้อกฎหมายข้อสุดท้าย เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ต่อตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
       
       ๑ . ผู้วิจารณ์ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้สรุปความได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔๗ / ๒๕๔๗ ไม่มีผลกระทบอย่างใดต่อความสมบูรณ์ของตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เหตุผลก็คือ เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ย่อมถือว่าได้มีการใช้อำนาจมหาชนสั่งแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว ผลจากการนี้ หากไม่มีเหตุประการอื่นที่ได้รับการบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายมาทำให้พ้นจากตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการใช้อำนาจมหาชนครั้งใหม่มาเพิกถอนอำนาจมหาชนเดิม เท่านั้น และเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ แม้จะมีการวินิจฉัยว่ากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่เมื่อศาลมิได้วินิจฉัยต่อไปว่า ความไม่ชอบของกระบวนการดังกล่าวมีผลหรือไม่ อย่างไร ต่อความสมบูรณ์ของตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบกับไม่มีบทกฎหมายใดที่กำหนดผลทางกฎหมายมารองรับคำวินิจฉัยของศาลในกรณีข้างต้นด้วย ดังนี้ จึงต้องถือว่าตำแหน่งของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้ ยังคงมีความสมบูรณ์ต่อไปในทางกฎหมายโดยไม่ได้รับผลกระทบ
       
       ๒ . ก่อนจะก้าวล่วงเข้าไปพิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและความเห็นของผู้วิจารณ์ โดยเหตุที่เรื่องนี้มีความเกี่ยวพันอยู่กับคำวินิจฉัยของศาล และผลผูกพันจากคำวินิจฉัยของศาลต่อองค์กรทั้งหลายของรัฐ ฉะนั้น เพื่อประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจ ผู้เขียนจึงใคร่ขอกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวข้างต้นในลักษณะทั่วไปโดยสังเขป เสียก่อน
       
       ๓ . กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยหลักใหญ่ใจความ คำวินิจฉัยของศาลจะมีส่วนเนื้อหาอันประกอบไปด้วยข้อเท็จจริงและความเป็นมาของเรื่อง ( ข้อเท็จจริงในคำร้องและข้อเท็จจริงที่ได้มาในชั้นการพิจารณา ) ประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงและ/หรือปัญหาข้อกฎหมายของเรื่อง การวินิจฉัยประเด็นต่างๆของเรื่องโดยมีเหตุผลประกอบการวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องนั้นว่าศาลมีคำตอบอย่างไร
       
       ๔ . ในคดีรัฐธรรมนูญทั้งหลาย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเรื่องหนึ่งเรื่องใด ปกติแล้วเพื่อให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญก็จะกำหนดผลทางกฎหมายเอาไว้เพื่อรองรับคำวินิจฉัยนั้น อย่างเช่น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ จะมีบทกำหนดผลทางกฎหมายเอาไว้ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ หรือเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร มีการแปรญัตติที่มีผลให้คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรมีส่วนโดยตรงในการใช้งบประมาณรายจ่าย รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๐ ก็จะมีบทกำหนดผลทางกฎหมายเอาไว้ให้การแปรญัตติในลักษณะดังนั้นเป็นอันสิ้นผล อย่างไรก็ดี แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลในทางกฎหมายมารองรับ แต่โดยเหตุที่รัฐธรรมนูญมิได้ให้อำนาจศาลเป็นการทั่วไปในการออกคำบังคับเพื่อให้คู่ความหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติ ฉะนั้น เพื่อให้คำวินิจฉัยของศาลเกิดสภาพบังคับในระบบกฎหมายได้จริง รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๘ จึงมีบทบัญญัติให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ มีหน้าที่ผูกพันต่อการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติ ตามแต่กรณีของเรื่อง
       
       ๕ . อย่างไรก็ตาม ดังได้กล่าวแล้วว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่หลายส่วนตั้งแต่การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง การตีความปัญหาข้อกฎหมาย เหตุผลทั้งหลายอันใช้ประกอบกับการตีความและการวินิจฉัย รวมไปถึงคำวินิจฉัยในตอนท้ายที่สุด ดังนี้แล้ว แม้องค์กรทั้งหลายของรัฐจะมีหน้าที่ให้ต้องถูกผูกพันอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาก็ย่อมมีอยู่ว่าแล้วคำวินิจฉัยส่วนใดกันที่มีผลผูกพันให้องค์กรต่างๆของรัฐต้องนำไปปฏิบัติให้สมตามนั้น
       
       ๖ . ต่อปัญหานี้ ข้อที่ยอมรับกันก็คือ ประการแรก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปัญหาหลักของคดีที่ปรากฏอยู่ตอนท้ายนั่นเองที่มีผลผูกพันองค์กรทั้งหลายของรัฐ กล่าวให้เป็นรูปธรรม เมื่อมีการเสนอคำร้องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับกับคดีขัดหรือแย้งต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยในตอนท้ายว่า “ อาศัยเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงวินิจฉัยว่าบทบัญญัติในมาตรา...แห่งพระราชบัญญัติ...มีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ มีผลให้ใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ ” ผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อองค์กรต่างๆของรัฐ ก็คือ ศาลที่กำลังจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นไปใช้บังคับกับคดีที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของตน เป็นอันถูกต้องห้ามมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไปบังคับใช้ในคดีนั้นทันที นอกจากนี้ กรณีก็ยังมีผลผูกพันศาลอื่นที่อาจต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นไปบังคับใช้กับคดีที่อาจเกิดขึ้นในวันหนึ่งข้างหน้า ให้ต้องห้ามมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไปบังคับใช้กับคดีที่อาจเกิดขึ้นต่อไปเช่นกัน อนึ่ง หากบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมีการให้อำนาจหน่วยงานทางปกครองสำหรับนำไปบังคับใช้กับเอกชน ผลแห่งการถูกผูกพันก็ยังมีต่อไปอีกว่า หน่วยงานทางปกครองก็ต้องห้ามมิให้มีการใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไปบังคับใช้กับเอกชนด้วยอีกโสดหนึ่ง
       
       ๗ . นอกเหนือจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปัญหาหลักของคดีที่ปรากฏอยู่ตอนท้าย ประการที่สอง ในส่วนของเนื้อหาแห่งคดี หากศาลรัฐธรรมนูญได้มีการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงและ / หรือได้มีการตีความปัญหาข้อกฎหมายอันมีผลในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ในกรณีดังกล่าวนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ย่อมมีผลผูกพันต่อการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัย ตามแต่กรณีด้วย
       
       ๘ . อย่างไรก็ตาม ควรตั้งข้อสังเกตว่า ในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น แม้การให้เหตุผลประกอบการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและ / หรือปัญหาข้อกฎหมาย จะถือเป็นบทบังคับให้ศาลต้องกระทำ แต่เหตุผลทั้งหลายทั้งปวงที่ศาลได้อรรถาธิบายเพื่อจะนำไปสู่คำตอบตอนท้าย จะไม่มีผลผูกพันในทางกฎหมายอย่างหนึ่งอย่างใดต่อองค์กรของรัฐเลย ถึงกระนั้น แม้ความผูกพันทางกฎหมายจะไม่มีอยู่ แต่เหตุผลประกอบการวินิจฉัยก็มีความสำคัญยิ่งในแง่ที่เป็นการแสดงทัศนะคติของศาลให้เห็นว่า ศาลมีความเห็นต่อปัญหาเหล่านั้นอย่างไรและด้วยเหตุผลใด ซึ่งความข้อนี้ จะมีความสำคัญสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรของรัฐที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญว่า ในสถานการณ์ทางกฎหมายอย่างหนึ่งอย่างใดที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ตนควรจะต้องทำอะไร อย่างไร จึงจะสอดคล้องต้องกันกับความเห็นหรือทัศนะคติของศาลในฐานะที่เป็นองค์กรตรวจสอบควบคุม เพื่อให้การกระทำของตนนั้นชอบ
       
       ๙. อนึ่ง ต้องกล่าวต่อไปให้สิ้นกระแสความว่า แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๘ จะกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่มีความเป็นไปได้อยู่ดีที่องค์กรของรัฐเหล่านั้นอาจจะละเลยต่อการนำคำวินิจฉัยของศาลไปปฏิบัติ จากความข้อนี้ เพื่อให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้รับความเคารพจากองค์กรของรัฐ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๓ จึงได้มีบทบัญญัติประการหนึ่งคาดโทษให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง อย่างเช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้พิพากษาหรือตุลาการ ฯลฯ ที่กระทำการอันส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งของตนได้หากมีการเสนอเรื่องไปให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอน ข้อสงสัยอาจมีอยู่ว่า การไม่ปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่อันขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรืออย่างไร ความข้อนี้ตอบได้ว่า การไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมิใช่เป็นเรื่องเดียวกันกับการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี มิควรลืมว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๘ บัญญัติหน้าที่ขององค์กรของรัฐเอาไว้ให้ต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติ ผลจากความข้อนี้ การไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลจึงมีความหมายอย่างแจ้งชัดว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่อันขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นั่นเอง
       
       ๑๐ . หลังจากได้กล่าวถึงลักษณะของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อองค์กรต่างๆของรัฐแล้ว คราวนี้ ย้อนกลับมาพิเคราะห์กันถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔๗ / ๒๕๔๗ เรื่อง การใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในตอนท้ายของเรื่องนี้ ดังนี้ “ อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า กรณีคำร้องของประธานรัฐสภาที่เกี่ยวกับปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นั้น มีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑๒ มาตรา ๓๑๓ ( ๑ ) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ( ๖ ) มาตรา ๓๐ และ มาตรา ๓๑ ประกอบด้วยระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๖ ( ๕ ) ”
       
       ๑๑ . พิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่ากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมีการใช้อำนาจหน้าที่ที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายก็ตาม แต่ต้องยอมรับจริงๆว่า ไม่มีความข้อใดที่กล่าวต่อไปอย่างแจ้งชัดถึงสถานะทางกฎหมายของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่าพ้นหรือยังไม่พ้นจากตำแหน่ง จากความข้อนี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกันอีกครั้งว่าจะมีผลอย่างไร
       
       ๑๒ . คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในฐานะองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการนี้ และมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๘ ตีความคำวินิจฉัยของศาลว่ามีผลให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และเมื่อกรณีเป็นดังนี้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้ดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ และนำเสนอรายชื่อบุคคลผู้ได้รับการสรรหาไปให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อวุฒิสภาโดยมติของเสียงข้างมาก ได้ให้ความเห็นชอบต่อบุคคลที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานวุฒิสภาจึงนำรายชื่อบุคคลดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง
       
       ๑๓ . ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน สมาชิกวุฒิสภาจำนวนหลายท่าน นักวิชาการจำนวนหนึ่ง รวมทั้งผู้วิจารณ์ ต่างก็ตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มิได้มีผลให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนเดิมต้องพ้นจากตำแหน่งแต่อย่างใด
       กล่าวสำหรับผู้วิจารณ์ มีการให้เหตุผลทางกฎหมายอย่างรัดกุมตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นได้มีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งไปแล้ว อันหมายความว่าเมื่อมีการใช้อำนาจมหาชนสั่งแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการใช้อำนาจมหาชนครั้งใหม่มาสั่งเพิกถอนการใช้อำนาจมหาชนเดิม เท่านั้น และเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ แม้จะมีการวินิจฉัยว่ากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่เมื่อศาลมิได้วินิจฉัยต่อไปว่าความไม่ชอบด้วยกระบวนการดังกล่าว มีผลหรือไม่อย่างไรต่อความสมบูรณ์ของตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบกับไม่มีบทกฎหมายใดที่กำหนดผลทางกฎหมายรองรับคำวินิจฉัยของศาลในกรณีดังกล่าว จึงต้องถือว่าตำแหน่งของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยังคงมีความสมบูรณ์ต่อไปในทางกฎหมายโดยมิได้รับผลกระทบ
       
       ๑๔ . จากความไม่ลงรอยกันทางความเห็นต่อการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔๗ / ๒๕๔๗ ข้างต้น เมื่อกรณีหาข้อยุติมิได้ เรื่องราวจึงกลับกลายเป็นปัญหาทางการเมือง จนมีผลทำให้บุคคลผู้ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ต้องขอถอนตัวออกจากกระบวนการกลางคันในระหว่างที่กำลังรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง
       
       ๑๕ . พิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔๗ /๒๕๔๗ แล้ว ผู้เขียนมีความเห็นพ้องกับผู้วิจารณ์ว่าคำวินิจฉัยของศาลในกรณีดังกล่าว แม้จะทำให้มีมลทินในทางกฎหมายต่อตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ ก็มิได้มีส่วนใดที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นพ้นไปจากตำแหน่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีเหตุผลอย่างไรที่เขียนคำวินิจฉัยในลักษณะเช่นนี้ ผู้เขียนไม่มีความประสงค์จะไปคาดเดา แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด เมื่อศาลยังมิได้เพิกถอนการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งข้างต้น ทั้งยังไม่มีบทกฎหมายใดมารองรับคำวินิจฉัยของศาลว่าให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยว่ากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งดังกล่าวนั้นไม่ชอบ ดังนี้ กรณีจึงยังไม่สามารถกล่าวอย่างถึงที่สุดในทางใดทางหนึ่งได้ว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นพ้นหรือยังไม่พ้นจากตำแหน่ง เท่านั้น
       
       ๑๖ . อย่างไรก็ตาม ไม่นานมานี้มีข้อเท็จจริงใหม่บางประการเกิดขึ้นกับสถานะทางกฎหมายของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๖๐ / ๒๕๔๘ ซึ่งถึงแม้จะเป็นการไม่รับคำร้องของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเกี่ยวกับปัญหาอำนาจหน้าที่ในการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ไว้พิจารณา แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการให้เหตุผลสำคัญในคำวินิจฉัยนี้ว่า กระบวนการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก่อนหน้านี้ นั้นเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔๗ / ๒๕๔๗ แล้ว ผลจากการนี้ ในขณะนี้จึงมีความหมายเป็นปริยายว่าในสายตาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยืนยันแล้วว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วตามคำวินิจฉัยที่ ๔๗ / ๒๕๔๗ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงเริ่มดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ตามนัยแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๖๐ / ๒๕๔๘ อีกครั้ง
       
       ๑๗ . พิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๖๐ / ๒๕๔๘ แม้ผู้เขียนจะเห็นพ้องกับผู้วิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญยังมิได้ให้เหตุผลอย่างแจ้งชัดว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนเดิมนั้นพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุใด โดยผลทางกฎหมายข้อใด แต่การยืนยันถึงการพ้นไปจากตำแหน่งโดยนัยของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ บัดนี้ ย่อมมีผลให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในฐานะที่เป็นองค์กรผู้รับคำวินิจฉัย ต้องถูกผูกพันตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๘ ให้จำต้องดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จึงอยู่ที่อาจยังมีความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อคำตอบสุดท้ายของศาลนั้นมีความหมายเช่นนี้ กรณีที่จะทำได้ก็คือการยอมรับคำวินิจฉัยของศาล หรือมิฉะนั้นหากเห็นว่าเป็นกรณีร้ายแรง ก็นำกระบวนการในทางรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งมาใช้ ว่าศาลจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เท่านั้น
       
       ๑๘ . โดยผลของคำวินิจฉัยที่ ๖๐ / ๒๕๔๘ ที่ได้ให้ความหมายคำวินิจฉัยที่ ๔๗ / ๒๕๔๗ ของศาลรัฐธรรมนูญ ดูจะเป็นการสายเกินไปสำหรับข้อเสนอของผู้วิจารณ์ ที่ต้องการให้วุฒิสภาถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนเดิมพ้นจากตำแหน่ง ( ซึ่งกรณีนี้ก็ยังมีปัญหาในทางกฎหมายเช่นกันว่าวุฒิสภามีอำนาจตามกฎหมายข้อใดที่รองรับการกระทำดังกล่าวในทำนองเดียวกันกับศาลรัฐธรรมนูญ ) อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังมิได้ให้เหตุผลอย่างแจ้งชัดว่าทำไมเมื่อกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมิชอบแล้ว ผลทางกฎหมายจึงคือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้องพ้นจากตำแหน่งไป จากความข้อนี้ นับต่อจากนี้ด้วยเหตุผลทางวิชาการโดยแท้ ผู้เขียนใคร่ขอแสดงความเห็นทางกฎหมายต่อการนี้เอาไว้ ภายใต้การยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
       
       ๑๙ . เริ่มกันที่เหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในเบื้องต้นที่ผู้วิจารณ์กล่าวว่า เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้ว การจะทำให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งไปได้ กรณีจำเป็นต้องมีเหตุประการหนึ่งประการใดที่กำหนดเอาไว้ในกฎหมายมาทำให้พ้นจากตำแหน่ง หรือมีการใช้อำนาจมหาชนครั้งใหม่มาเพิกถอนพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอันเป็นการใช้อำนาจมหาชนเดิม ความข้อนี้ โดยทั่วไปผู้เขียนมีความเห็นสอดรับกันกับผู้วิจารณ์ อย่างไรก็ตาม ที่ผู้วิจารณ์กล่าวต่อไปว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเขียนคำวินิจฉัยอย่างชัดเจนให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุแห่งกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งดังกล่าวนั้นเกิดความมิชอบ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจศาลไปกระทำการเช่นนั้น สำหรับความข้อนี้ ผู้เขียนกลับมีความเห็นไม่เหมือนกันทีเดียว
       
       ๒๐ . แท้จริงแล้ว ปัญหาว่าแม้ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติรองรับอย่างชัดเจน ศาลจะสามารถสร้างหลักกฎหมายผ่านคำวินิจฉัยของศาลได้หรือไม่ ความดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องทางปรัชญาและวิธีคิดทางนิติศาสตร์ของระบบกฎหมายที่กำกับอยู่เบื้องหลัง กล่าวอย่างรวบรัด สำหรับวิธีคิดของระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ แม้ระบบกฎหมายดังกล่าวนี้จะวางบทบาทหลักให้ศาลอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ใช้มิใช่เป็นผู้สร้างกฎหมาย แต่กรณีก็มิได้เคร่งครัดถึงขนาดว่าศาลจะสร้างหลักกฎหมายใดๆผ่านคำวินิจฉัยของตนมิได้ ในประเทศฝรั่งเศส สภาแห่งรัฐที่ส่วนหนึ่งมีอำนาจหน้าที่เสมือนเป็นศาลปกครอง ก็สร้างหลักกฎหมายสำคัญสำหรับการวินิจฉัยคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของตนอยู่เนืองๆ ส่วนประเทศไทยที่ยอมรับกันว่าเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบนี้ ก็มีอยู่บ้างเช่นกันที่ศาลได้สร้างหลักกฎหมายขึ้นมาเพื่อพิพากษาคดีในกรณีมีความจำเป็น อย่างหลัก “ สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่า ” ที่ถูกสร้างไว้โดยศาลแพ่ง เป็นตัวอย่าง
       
       ๒๑ . กรณีของศาลรัฐธรรมนูญหรือแม้ศาลปกครองอันเป็นสถาบันในทางกฎหมายมหาชน โดยเหตุผลของลักษณะคดี ก็ยอมรับกันในทางวิชาการว่ามิได้เป็นเรื่องผิดธรรมดาสามัญ หากทั้งสองศาลนี้จะสร้างหลักกฎหมายผ่านคำวินิจฉัยเพื่อการพิจารณาวินิจฉัยคดีของตน สำหรับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ ถึงขนาดมีบทบัญญัติให้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ถูกรับรองผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับการคุ้มครองในทำนองเดียวกันกับสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติรับรองอย่างชัดแจ้ง อันมีความหมายโดยตรงว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจต่อการสร้างสิทธิเสรีภาพแบบใหม่ผ่านคำวินิจฉัยของศาลได้ อนึ่ง ในบทวิเคราะห์ทางกฎหมายเรื่องตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของผู้วิจารณ์ ในขณะที่ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ ผู้วิจารณ์เองก็ยังเห็นว่าศาลมีความบกพร่องที่ไม่ได้วินิจฉัยให้ชัดว่า ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นถือเป็นความไม่สมบูรณ์ในระดับใด ย้อนหลังหรือไม่ อย่างไร อันเป็นการแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ผู้วิจารณ์ก็ยอมรับว่าศาลรัฐธรรมนูญย่อมสามารถสร้างหลักกฎหมายเพื่อวินิจฉัยคดีได้เอง เช่นกัน
       
       ๒๒ .จากเหตุผลที่กล่าวมา แม้รัฐธรรมนูญจะไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างแจ้งชัด แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจกระทำได้ หากสภาพและพฤติการณ์ของคดีมีความจำเป็นให้ศาลต้องสร้างหลักกฎหมายเพื่อใช้สำหรับการวินิจฉัยคดีนั้นๆ
       
       ๒๓ . กลับมาที่ปัญหาเกี่ยวกับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สิ่งที่จำเป็นต้องพิเคราะห์ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔๗ / ๒๕๔๗ ก็คือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่ากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เหตุทางกฎหมายในลักษณะอย่างนี้ แท้จริงแล้ว นั้นมีผลหรือไม่ อย่างไร ต่อสถานะทางกฎหมายของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
       
       ๒๔ . ต่อปัญหาข้างต้น มีความจำเป็นต้องพิจารณาเทียบเคียงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในระบบกฎหมายไทยเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ในส่วนของกระบวนการแห่งการใช้อำนาจเรื่องหนึ่งเรื่องใดกันก่อน ประการแรก ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๒ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกรณีที่ว่าด้วยกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มีการกำหนดไว้อย่างแจ้งชัดว่าหากร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการตรานั้นมีความไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แล้ว ผลทางกฎหมายก็คือ ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นๆ เป็นอันต้องตกไปทั้งฉบับ นอกจากนั้น ประการที่สอง ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครอง เมื่อไม่นานมานี้ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำวินิจฉัยว่า กระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาตินั้นมิชอบด้วยกฎหมาย ผลก็คือศาลจึงสั่งให้มีการเพิกถอนกระบวนการสรรหา และเพิกถอนประกาศรายชื่อของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นคณะกรรมการฯดังกล่าวจำนวน ๑๔ คน ทั้งหมด
       
       ๒๕ . จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏข้างต้น คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่าเมื่อกระบวนการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเกิดความไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญขึ้นมา เหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ทางกฎหมายต่อการนี้จะอยู่ในลักษณะที่ร้ายแรงจนถึงขนาดทำให้ผลิตผลจากกระบวนการใช้อำนาจที่ไม่ชอบต้องถูกทำให้สิ้นผลไปเสียจากระบบ และโดยตรรกะจากการนี้ เมื่อกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นั้นถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ผลโดยนัยเดียวกันก็คือ ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอันเป็นผลผลิตจากกระบวนการใช้อำนาจที่มิชอบ ย่อมเกิดความไม่สมบูรณ์ในทางกฎหมายอย่างร้ายแรงอันมีผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งต้องหลุดพ้นไปจากตำแหน่งเช่นเดียวกัน จริงอยู่ที่ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้มีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งไปแล้ว อันทำให้มีความจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงความมั่นคงในนิติฐานะของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าความมั่นคงในนิติฐานะของบุคคลจะนำมาพิจารณาได้ ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่เกิดความไม่สมบูรณ์ทางกฎหมายอันไม่ถึงขนาด แต่เมื่อกรณีของกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอันมิชอบ นั้นทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ทางกฎหมายในทิศทางตรงกันข้าม จากความข้อนี้ สิ่งที่พอจะผ่อนหนักเป็นเบาได้ก็คือ รัฐจำเป็นต้องเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยเหตุทางกฎหมายที่ตนมิได้มีส่วนในการก่อขึ้น เท่านั้น
       
       ๒๖ . ดังนี้ เมื่อกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการแผ่นดินนั้นมีการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แม้ผู้วิจารณ์จะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถเขียนคำวินิจฉัยให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นพ้นจากตำแหน่งไปได้เพราะรัฐธรรมนูญมิได้ให้อำนาจ ผู้เขียนกลับมีความเห็นว่า เมื่อสภาพและพฤติการณ์ของคดีมีความจำเป็นให้ต้องมีกลไกทางกฎหมายเพื่อรองรับความสมเหตุสมผลของคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจสร้าง “ หลักกฎหมายต่อเนื่อง ” หรือ “ หลักกฎหมายอุปกรณ์ ” ผ่านคำวินิจฉัยของตนให้สอดรับกับอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ได้ นั่นคือ ประการแรก หลักกฎหมายเกี่ยวกับเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์อย่างร้ายแรงของกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ประการที่สอง หลักกฎหมายอันกำหนดผลทางกฎหมายให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้องพ้นจากตำแหน่ง จากเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์อย่างร้ายแรงของกระบวนการดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อยังผลให้เกิดความแน่นอนชัดเจนถึงสถานะทางกฎหมาย ( หลังคำวินิจฉัยของศาล ) ของผู้ดำรงตำแหน่งดังนั้น
       
       ๒๗ . โดยสรุปในปัญหาว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ต่อตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำหรับคำวินิจฉัยที่ ๔๗ / ๒๕๔๗ นั้น ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นพ้นหรือยังไม่พ้นจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับคำวินิจฉัยที่ ๖๐ / ๒๕๔๘ แล้ว แม้ผู้เขียนจะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีการให้เหตุผลอย่างแจ้งชัดก็ตาม แต่เมื่อศาลได้ชี้ว่าการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ นั้นถือเป็นการชอบแล้วทั้งต่อรัฐธรรมนูญและ กฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วนตามคำวินิจฉัยที่ ๔๗ / ๒๕๔๗ ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้เขียนก็ยอมรับว่า บัดนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๘ ได้มีสภาพบังคับให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินต้องดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ตามนัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
       
       ท้ายที่สุดของบทความนี้ แม้ปัญหาข้อกฎหมายสารพัดเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและสถานะทางกฎหมายของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะก่อให้เกิดความอลหม่านในการตีความจนมีผลให้เกิดความเสียหายทั้งต่อการดำเนินภารกิจของรัฐและต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย แต่ปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ อย่างน้อยก็ทำให้เราเห็นนิติวิธีของนักกฎหมายไทยจำนวนหนึ่งว่าเป็นอย่างไรต่อการใช้และการตีความกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ ผู้เขียนไม่ประสงค์จะเป็น “ นักวิจารณ์หลังเหตุการณ์ ” เพื่อจะกล่าวโทษองค์กรหนึ่งองค์กรใดหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นการเฉพาะ เพราะกรณีนั้นไม่เกิดประโยชน์อย่างใดมากนัก แต่สิ่งที่ปรารถนาอย่างมากในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายคนหนึ่งก็คือ การศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบทั้งปัญหาพื้นผิวและปัญหาเชิงโครงสร้างโดยใช้เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษา เพื่อค้นหาสาเหตุและหนทางแก้ไขมิให้เรื่องในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาอีกในภายภาคหน้า ความเหน็ดเหนื่อยหรือความท้อถอยอาจเกิดขึ้นได้ แต่มิควรสิ้นหวังว่าในประเทศไทยจะไม่มีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มาพัฒนากลไกทางกฎหมายให้ดียิ่งขึ้นไปเพื่อแก้ไขปัญหาในสังคมของเรา วันนี้มีบทเรียนหนักพอสมควรแล้ว นับต่อจากนี้ คงไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวว่าหากเรื่องนี้ยังมีปัญหาอยู่อีกเราควรจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร ในขณะที่เรากำลังหวังจะสร้างระบบใหม่เพื่อแก้ไขความไม่ชัดเจนของระบบเดิม ผู้เขียนขอแสดงความเห็นใจกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายซึ่งได้รับความเสียหายจากการนี้ อนึ่ง ที่ผู้วิจารณ์กล่าวว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสองท่าน ควรได้รับการเยียวยาความเสียหายจากรัฐเนื่องจากเป็นความเสียหายที่บุคคลทั้งสองมิได้ก่อนั้น ผู้เขียนมีความเห็นต้องกันและยอมรับข้อเสนอของผู้วิจารณ์ต่อการนี้อย่างไม่มีข้อโต้แย้งใด
       
       ...................................................................................


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=851
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 01:10 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)