|
|
บทโต้แย้งทางวิชาการกรณีตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน( ตอนที่ ๑ ) โดย อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร 27 พฤศจิกายน 2548 22:52 น.
|
บทโต้แย้งทางวิชาการกรณีตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
( ตอนที่ ๑ )
ปัญหาเกี่ยวกับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔๗ /๒๕๔๗ กลายเป็นมหากาพย์ทางปัญหาข้อกฎหมายซึ่งมิเพียงก่อให้เกิดความความไม่ลงรอยกันต่อการตีความคำวินิจฉัยของศาล หากทว่ายังส่งผลเป็นวงกว้างต่อทั้งทางการเมืองและการอ้างอิงกับสถาบันเบื้องสูง และครั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยล่าสุดที่ ๖๐ / ๒๕๔๘ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ด้วยการยกคำร้องของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ขอให้ศาลวินิจฉัยอำนาจของคณะกรรมการฯเกี่ยวกับการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ความกังวลก็เกิดมีขึ้นว่าหรือปัญหาทั้งหลายจะวนกลับมาอยู่ ณ จุดเดิม และจะหาข้อยุติอีกมิได้ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วเป็นระยะเวลาประมาณปีเศษ
ทางออกเรื่องดังกล่าวจะจบลงอย่างไรยังไม่มีคำตอบแน่ชัด หากทว่าไม่นานมานี้ เมื่อมีบทวิจารณ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ครอบคลุมปัญหาทางนิติศาสตร์อย่างรอบด้านโดย ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ( โปรดดูหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หน้า ๔ ) ในฐานะของผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายอีกคนหนึ่ง เห็นว่าน่าจะเป็นการสมควรหากผู้เขียนจะแสดงทัศนะทางนิติศาสตร์ถึงเรื่องดังกล่าวเอาไว้ด้วย แม้กรณีอาจเป็นการวิวาทะกันทางวิชาการด้วยเหตุแห่งความไม่สอดคล้องต้องกันในทางความเห็นก็ตาม
สมควรกล่าวก่อนว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ อันเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญกับการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ นั้นมีนัยเชิงลึกอันคาบเกี่ยวไปถึงการรักษาสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ การกำหนดโครงสร้างทางอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ การจัดระบบความสัมพันธ์เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยกันเอง และระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญกับองค์กรอื่นๆของรัฐ ทั้งยังมีนัยรวมไปถึงการคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของเอกชน จากการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เพื่อมิให้บทวิเคราะห์ทางกฎหมายชิ้นนี้กลายเป็นงานวิจัยไป ผู้เขียนใคร่ขอกำหนดกรอบการแสดงความเห็นพ้องและความเห็นต่างกับผู้วิจารณ์ เฉพาะกับประเด็นที่เกี่ยวกับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ เท่านั้น กล่าวคือ ( ๑ ) ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ หรือไม่ ( ๒ ) กระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการกำหนดประเด็นพิจารณาวินิจฉัย มีความบกพร่องหรือไม่ และ ( ๓ ) คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ต่อตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
๑ . ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับเรื่อง การใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ หรือไม่
๑ . ๑ ผู้วิจารณ์แสดงบทสรุปอย่างชัดเจนว่า ความยุ่งยากอันเกิดขึ้นเกี่ยวกับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีเหตุพื้นฐานจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย เฉพาะกรณีปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยกันเองตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป เท่านั้น และเมื่อกรณีเกี่ยวกับกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มิได้มีปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ณ ที่นี้คือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกับวุฒิสภา การรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของความยุ่งยากดังที่กำลังดำเนินอยู่ ณ ปัจจุบัน
๑ . ๒ ไม่มีคำอธิบายจากผู้วิจารณ์ว่า เหตุใด ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ จึงมีความหมายเฉพาะเพียงว่า เป็นปัญหาความขัดแย้งในเรื่องอำนาจหน้าที่ทางรัฐธรรมนูญระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยกันตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบรายงานการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่องข้างต้น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญบางท่านเคยอรรถาธิบายว่าเจตนารมณ์ของการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ นั้นมีความมุ่งหมายดังนั้น นอกจากนี้ มีนักนิติศาสตร์บางท่านกล่าวว่าเหตุผลประการหนึ่งของการกำเนิดองค์กรตุลาการก็เพื่อให้วินิจฉัยคดีในลักษณะที่เป็นข้อพิพาท และฉะนั้น เพื่อให้การตีความรัฐธรรมนูญ มาตราข้างต้นมีการสอดรับกัน ก็ต้องให้ความหมายของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญไปในเชิงของความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างกันขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญและเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยปัญหาให้ข้อพิพาทนั้นเป็นอันยุติ ดังลักษณะของความเป็นสถาบันศาล
๑ . ๓ การค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่ามีอยู่อย่างไร แท้ที่จริงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันทางทฤษฎีการตีความกฎหมายมานานนับศตวรรษ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือรัฐธรรมนูญนั้นแท้จริงแล้วมีเจตนารมณ์อยู่ในตัวของมันเอง ซึ่งสามารถแสดงออกได้จากการค้นหาอย่างเป็นระบบโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการตีความ ความข้อนี้ดูจะยังไม่มีจุดลงเอย กรณีของผู้เขียน แม้จะยอมรับว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอาจค้นหาได้จากเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ แต่นั่นก็หาใช่เป็นเหตุผลที่จะมาจำกัดการค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเองโดยอาศัยการตีความไม่ เพื่อให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้นสามารถดำรงคงอยู่ได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทั้งสามารถแก้ไขปัญหาที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่คาดคิดว่ากรณีอย่างหนึ่งอย่างใดนั้นจะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งภายภาคหน้า
๑ . ๔ ย้อนกลับมาถึงการตีความปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ปัญหาดังกล่าวนี้โดยลักษณะแล้วคือปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยกันตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป หรือไม่ ความข้อนี้ ผู้เขียนมีความเห็นพ้องต้องกัน อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวว่า ลักษณะของปัญหาข้างต้นนั้นมีอยู่เพียงลักษณะเดียวจริงหรือ ประเด็นนี้ ผู้เขียนกลับมีความไม่เห็นพ้องด้วยกับผู้วิจารณ์
๑ . ๕ ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อมีความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยกัน ในทำนองที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งใช้อำนาจหน้าที่ของตนก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอีกองค์กรหนึ่ง หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่สององค์กรขึ้นไปต่างองค์กรก็ต่างปฏิเสธว่าอำนาจหน้าที่ในทางรัฐธรรมนูญอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นมิใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของตน เพียงเท่านั้นหรือ แท้จริงแล้ว หากพิเคราะห์ให้รอบด้านเราอาจเห็นสภาพการณ์ความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญได้อีกหลากหลายลักษณะ เป็นต้นว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งอาจใช้อำนาจหน้าที่ก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นของรัฐ หรือโดยนัยตรงกันข้าม องค์กรอื่นของรัฐก็อาจใช้อำนาจหน้าที่ไปก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากนี้แล้ว มีความเป็นไปได้เช่นกันที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญกับองค์กรของรัฐ ต่างองค์กรก็ต่างปฏิเสธว่าอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดนั้นแท้จริงแล้วมิใช่อำนาจหน้าที่ของตน กรณีเช่นนี้ หรือนี่จะ มิใช่เป็นลักษณะอีกด้านหนึ่งของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
๑ . ๖ เพื่อพิสูจน์ความเห็นของผู้เขียนเกี่ยวกับความหลากหลายแห่งลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ขอให้เราพิเคราะห์กันถึงเรื่องนี้ผ่านถ้อยคำและบริบทของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ กรณีผู้มีอำนาจเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้แก่ องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และ ประธานรัฐสภา
๑ . ๗ ในกรณีที่เกิดมีความขัดแย้งทางอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กรณีเช่นนี้ องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เป็นคู่กรณีพิพาทย่อมถือเป็น องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ที่ต่างองค์กรต่างย่อมมีอำนาจในการเสนอคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อให้ข้อพิพาทเป็นอันยุติ แต่ลองพิเคราะห์กันให้ดีตามตรรกะ ก็หากลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่เพียงลักษณะเดียวคือเมื่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญมีปัญหาความขัดแย้งในกรอบแห่งอำนาจหน้าที่ระหว่างกัน ซึ่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญแต่ละองค์กรที่ต่างก็มีปัญหานั้นสามารถเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้อยู่แล้ว ดังนี้ กรณียังมีความจำเป็นใดอีก ที่รัฐธรรมนูญจำต้องมีบทบัญญัติกำหนดให้ ประธานรัฐสภานั้นมีฐานะเป็นผู้มีอำนาจเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญด้วยอีกโสดหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญในลักษณะข้างต้น
๑ . ๘ กล่าวกันว่า การให้ประธานรัฐสภาอยู่ในฐานะที่มีอำนาจเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ก็เนื่องจากหากรัฐสภาซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เกิดมีปัญหาขัดแย้งในเรื่องอำนาจหน้าที่กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรอื่น ก็ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้เสนอเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในฐานะที่เป็นประมุขขององค์กร หากเหตุผลของเรื่องมีอยู่ดังนี้ ตรรกะที่ผู้เขียนจะเสนอเพื่อแสดงความไม่เห็นพ้องก็คือ แท้ที่จริงองค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กรที่มีฐานะเป็น องค์กรกลุ่มต่างย่อมมีประมุขขององค์กรอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น สภาผู้แทนราษฎรก็มีประธานสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีก็มีนายกรัฐมนตรี หรือแม้คณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯลฯ กรณีเช่นนี้ สิ่งที่จำเป็นต้องถามก็คือ ด้วยเหตุใดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ จึงมีบทกำหนดไว้แต่เพียงตำแหน่งประธานรัฐสภาเท่านั้นที่อาจเสนอคำร้องได้ในนามขององค์กรตน ทำไมรัฐธรรมนูญจึงไม่กำหนดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเอาไว้ด้วย ต่อคำถามนี้ หากจะตีความกันว่านี่คือการละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานรัฐสภาในฐานะประมุขของรัฐสภา เป็นผู้มีอำนาจยื่นคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาแล้ว กรณีก็มีความหมายเป็นปริยายไปถึงว่าประมุขขององค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรอื่น ก็ย่อมมีฐานะเป็นผู้มีอำนาจยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ในทำนองเดียวกันหากองค์กรของตนเกิดมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ความข้อนี้ หากจะตีความกันอย่างข้างต้น พิเคราะห์กันให้ดีจะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นใดที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ ต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับประธานรัฐสภาเช่นนั้น เพราะโดยสภาพเมื่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรใดมีปัญหาอำนาจหน้าที่ขึ้นมาแล้ว ย่อมเป็นธรรมดาอยู่ที่สมาชิกขององค์กรนั้นต้องให้ประมุขขององค์กรเสนอเรื่องไปในนามขององค์กรตน ข้อที่ควรพิจารณากันต่อไปมีอยู่ว่า เมื่อการกำหนดให้ประธานรัฐสภาสามารถมีฐานะเป็นผู้ร้องได้นั้นมิได้มาจากเหตุผลข้างต้น แล้วด้วยความมุ่งหมายใดที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ กำหนดให้ประธานรัฐสภาอยู่ในฐานะเช่นนั้นได้เมื่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งองค์กรใดนั้นเกิดมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่
๑ . ๙ เพื่อที่จะตอบคำถามข้างต้น เราจำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณากันอีกครั้งกับการตีความลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ดังได้กล่าวมาในข้อ ๑ . ๕ แล้วว่า ลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น อาจเป็นไปได้ที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งอาจใช้อำนาจบางอย่างในลักษณะที่องค์กรอื่นของรัฐเห็นว่าเป็นการก้าวล่วงเข้ามาในกรอบอำนาจของตน ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้เราจะมีวิธีการในการระงับความขัดแย้งกันอย่างไร
๑ . ๑๐ พิจารณาในมุมมองที่ดี หากองค์กรของรัฐที่ถูกก้าวล่วงอำนาจได้กล่าวแย้งไปยังองค์กรตามรัฐธรรมนูญว่าการกระทำดังนั้นเป็นการก้าวล่วงอำนาจของตน หากองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจเห็นพ้องด้วยกับข้อโต้แย้งและไม่ใช้อำนาจนั้นต่อ ความขัดแย้งเรื่องกรอบอำนาจระหว่างกันก็คงเป็นอันเสร็จสิ้น ลองอีกวิธีหนึ่ง เมื่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจนั้นถูกโต้แย้งจากองค์กรของรัฐ แต่องค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรนั้นเห็นว่าแท้ที่จริงแล้วอำนาจนั้นเป็นอำนาจของตนหาใช่ขององค์กรอื่นไม่ แต่หากองค์กรอื่นของรัฐยังติดใจสงสัยอยู่ ตนเองในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจเสนอคำร้อง และด้วยความสุจริตใจ ก็พร้อมที่จะเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการพิจารณา กรณีเช่นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรอบอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรนั้นอย่างไร ทุกอย่างก็ย่อมเป็นอันพบทางออก
๑ . ๑๑ คราวนี้ลองพิจารณากันในมุมมองตรงกันข้าม กล่าวคือ แม้องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจจะถูกโต้แย้งจากองค์กรอื่นของรัฐว่าการใช้อำนาจของตนนั้นเป็นการก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐนั้นๆ หากองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรนั้นเห็นว่าการใช้อำนาจของตนนั้นเป็นไปโดยชอบแล้ว ทั้งไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยในการกระทำที่ชอบของตน กรณีเช่นนี้จะหาทางออกอย่างไร ด้านหนึ่ง หรือจะให้องค์กรของรัฐนั้นจำยอมรับสภาพการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่อีกด้านหนึ่ง หากองค์กรของรัฐไม่ยอมรับสภาพ องค์กรของรัฐก็มิอาจเสนอคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่กระทำการดังนั้นได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ มิได้กำหนดให้องค์กรของรัฐที่ถูกก้าวล่วงอำนาจอยู่ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จากความข้อนี้ หนทางประการเดียวที่องค์กรของรัฐนั้นๆจะกระทำได้ก็คือการเสนอเรื่องไปให้ประธานรัฐสภาในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจเสนอคำร้อง ยื่นคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อรักษากรอบเขตแดนแห่งอำนาจหน้าที่ของตน กล่าวถึงตรงนี้ จากความข้อนี้หรือมิใช่ ที่การกำหนดให้ประธานรัฐสภามีฐานะเป็นผู้ร้องอีกโสดหนึ่งได้นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ มีความมุ่งหมายเพื่อให้ประธานรัฐสภาอยู่ในฐานะเป็นกลไกเริ่มต้นต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีการกระทำการอันถูกโต้แย้งได้ว่าไปกระทบกระทั่งหรือก้าวล่วงขอบอำนาจขององค์กรอื่นๆของรัฐ และโดยตรรกะจากความข้อนี้ใช่หรือไม่ เมื่อประธานรัฐสภามีบทบาทต่อการเป็นผู้ร้องในกรณีปัญหาความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญกับองค์กรของรัฐได้ ลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญดังที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ จึงมิได้มีความหมายเฉพาะกรณีความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยกันเอง หากยังหมายรวมไปถึงความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญกับองค์กรอื่นของรัฐเช่นกัน
๑ . ๑๒ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น สมควรพิจารณากันต่อไปอีกว่า แล้วปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ นั้นฤาจะมีอยู่เพียงเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยกันเอง และปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญกับองค์กรอื่นๆของรัฐ โดยไม่มีลักษณะประการอื่นอีก ความข้อนี้ ลองพิเคราะห์กันอย่างเป็นรูปธรรมจากข้อเท็จจริงซึ่งเคยเกิดขึ้น
๑ . ๑๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ วุฒิสภาชุดก่อนหน้านี้ได้ปฏิเสธไม่รับรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดดังที่นายกรัฐมนตรีเสนอมาไว้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๘ เหตุผลของวุฒิสภานั้นมีอยู่ว่า รายชื่อของผู้ได้รับคัดเลือกฯที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอมานั้นยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๗ หากเพียงแต่ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการพิเศษเป็นการเฉพาะตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อันไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รายละเอียดของเรื่องเป็นอย่างไรมิใช่ประเด็นที่ต้องนำมาว่ากล่าวทั้งหมด แต่หลักใหญ่ใจความที่สมควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก็คือ การที่วุฒิสภาปฏิเสธไม่รับรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ย่อมถือเป็นการปฏิเสธที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนในทางรัฐธรรมนูญ ความจริงแล้ววุฒิสภามิได้ขัดแย้งในเรื่องอำนาจหน้าที่กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรอื่นและทั้งกับนายกรัฐมนตรี เพราะอำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังว่านั้นเป็นอำนาจของวุฒิสภาโดยแท้ อย่างไรก็ตาม การกระทำของวุฒิสภาดังนี้ มีผลให้เกิดความไม่แน่ใจว่ากระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งยังเกิดความไม่แน่ใจว่าการที่วุฒิสภามีมติไม่รับรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกฯไว้พิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ นั้นเป็นการปฏิบัติหรือการดำเนินการที่ชอบหรือมิชอบในทางรัฐธรรมนูญ ผลจากการนี้ เมื่อกรณีเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นว่ากรณีนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเพราะวุฒิสภาได้ปฏิเสธที่จะใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของตน แต่ตัวนายกรัฐมนตรีไม่สามารถเสนอเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ เพราะตนเองในกรณีดังนี้มิได้อยู่ในฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกิดมีปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่กับวุฒิสภา โดยอาศัยกลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ นายกรัฐมนตรีจึงเสนอเรื่องไปยังประธานรัฐสภาให้พิจารณาเสนอคำร้องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งประธานรัฐสภาก็ได้เสนอคำร้องของตนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยในท้ายที่สุด ซึ่งยังผลให้วุฒิสภาต้องนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด มาพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบตามอำนาจหน้าที่ของตน
๑ . ๑๔ จากสภาพปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมานี้ ผู้เขียนมีความเห็นพ้องกับศาลรัฐธรรมนูญต่อการให้ความหมายอีกประการหนึ่งถึงลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในคดีรัฐธรรมนูญคดีนี้ การที่ประธานรัฐสภาได้อาศัยอำนาจความเป็นผู้ร้องของตนเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องนั้นไว้พิจารณา ถึงแม้การใช้อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภากรณีเช่นนั้นจะมิได้เกิดความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรอื่นหรือกับองค์กรอื่นๆของรัฐ แสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่าปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ ในลักษณะที่เป็นปัญหาจากการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรนั้นๆเป็นการเฉพาะ การให้ความหมายถึงลักษณะอีกอย่างหนึ่งของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ย่อมมีผลให้เกิดระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจากการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอันมีผลต่อเนื่องโดยตรงต่อการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ยิ่งกว่านั้น กรณียังเป็นการนำปัญหาทางการเมืองบางลักษณะซึ่งมิใช่เป็นปัญหาทางการเมืองโดยแท้ มาปรับให้เป็นคดีรัฐธรรมนูญเพื่อหาข้อยุติโดยอาศัยกระบวนการทางศาล ซึ่งผลจากการนี้ ย่อมมีข้อดีต่อการทำให้เกิดความแน่นอนชัดเจนว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรใดใช้อำนาจใดได้หรือมิได้ภายในขอบเขตอย่างไร แทนที่จะเกิดบรรยากาศแห่งความสับสนจนหาข้อยุติมิได้แล้วไปล้มกระดานกันโดยการฉีกรัฐธรรมนูญเหมือนดังที่เป็นมาก่อนหน้านี้
๑ . ๑๕ กล่าวกันในทำนองว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในลักษณะที่มิได้เป็นกรณีของความขัดแย้งในกรอบแห่งอำนาจหน้าที่ระหว่างกันขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ไว้พิจารณาวินิจฉัย ดังกรณีอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาดังที่กล่าวมาข้างต้น อาจถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นสถาบันศาลของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งควรทำหน้าที่วินิจฉัยกรณีพิพาท สำหรับความข้อนี้ มิควรลืมว่าแท้ที่จริงลักษณะอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมิได้มีลักษณะเดียวกันกับศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง กล่าวคือ ในขณะที่ศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่หลักในการวินิจฉัยปัญหาข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน และศาลยุติธรรมก็มีอำนาจหน้าที่หลักในการระงับข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน แต่สำหรับกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาถึงประวัติศาสตร์และปรัชญาแห่งการก่อกำเนิดสถาบันนี้ ประกอบกับการพินิจพิเคราะห์ถึงอำนาจหน้าที่ของศาลในโครงสร้างของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่จริง จะเห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญก็คืออำนาจหน้าที่สำหรับการตรวจสอบ โดยเฉพาะการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมายอันเป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ มิใช่คืออำนาจในการระงับข้อพิพาทเหมือนอย่างเช่นอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ฉะนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมิได้เป็นสถาบันในการระงับข้อพิพาทโดยธรรมชาติอยู่แล้ว การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญในลักษณะของปัญหาที่มิใช่กรณีของความขัดแย้งระหว่างองค์กรไว้พิจารณาด้วยจึงมิน่าจะถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นสถาบันตุลาการ
๑ . ๑๖ สรุปความจากที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ ทั้งในทางถ้อยคำประกอบกับนัยยะที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสถานะความเป็นผู้ที่มีอำนาจเสนอคำร้องของประธานรัฐสภา จะเห็นได้ว่า ลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น แท้ที่จริงมิได้มีเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังความเห็นของผู้วิจารณ์ เท่านั้น หากทว่ากรณียังมีความหมายรวมไปถึงความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญกับองค์กรอื่นของรัฐ และปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือหลายองค์กรเป็นการเฉพาะ สุดแท้แต่ลักษณะของปัญหาด้วย
๑ . ๑๗ เมื่อได้เสนอกรอบความคิดถึงลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างเป็นกระบวนระบบแล้ว ข้อที่จะทำการพิเคราะห์ต่อไปจากนี้ก็คือ จริงหรือไม่ที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่อง กรณีการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไว้พิจารณาวินิจฉัย
๑ . ๑๘ ดังที่ผู้วิจารณ์เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่องข้างต้นไว้พิจารณาก็เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยกันเองตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ซึ่งทั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาก็มิได้มีความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างกันในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นั้น โดยอาศัยกรอบการวิเคราะห์ถึงลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้เขียนกลับมีความเห็นไปอีกทางหนึ่ง จริงอยู่ที่ปัญหาในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมิได้มีความขัดแย้งในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างวุฒิสภากับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเลย และก็จริงเช่นกันที่ว่าหากตีความลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ว่าต้องเป็นปัญหาความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างกันขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะทำให้ลักษณะของปัญหาข้างต้นนั้นมิใช่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญพึงรับไว้พิจารณาวินิฉัย แต่เมื่อผู้เขียนมีกรอบการวิเคราะห์ลักษณะของปัญหาที่แตกต่างไปจากกรอบของผู้วิจารณ์ ดังนี้ แม้กรณีนี้ทั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาจะไม่มีความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างกันก็ตาม แต่เมื่อกระบวนการในการใช้อำนาจของทั้งสององค์กรเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นถูกโต้แย้งว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญประกอบกับกฎหมายอื่น นี่ก็ต้องถือว่ามีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นแล้ว ตามนัยลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งองค์กรใดหรือหลายองค์กรเป็นการเฉพาะ โดยการเทียบเคียงกับกรณีของวุฒิสภาในเรื่องการปฏิเสธไม่รับรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดไว้พิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังที่ ได้กล่าวมาแล้ว
๑ . ๑๙ ควรตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้แม้จะมีการริเริ่มขึ้นโดยสมาชิกวุฒิสภาเสียงข้างน้อยจำนวนไม่กี่คน แต่กรณีเช่นนี้ความสำคัญของเรื่องมิได้อยู่ที่ว่า ใครหรือองค์กรใดที่เป็นผู้ริเริ่มและจำนวนผู้ริเริ่มนั้นมีจำนวนเท่าใด เพราะเหตุผลที่แท้จริงจะอยู่ที่ดุลพินิจของประธานรัฐสภา ในฐานะที่เป็นองค์กรผู้มีอำนาจเสนอคำร้องซึ่งจะกลายเป็นผู้ร้องแทนสมาชิกวุฒิสภาเมื่อคดีได้ขึ้นไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และผลจากการนี้ ประธานรัฐสภาย่อมต้องผูกพันต่อความรับผิดชอบทั้งหลายทั้งปวงจากการใช้ดุลพินิจในการเสนอคำร้องของตน
๑ . ๒๐ อนึ่ง ที่กล่าวกันว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้ไว้วินิจฉัยนั้นถือเป็นความบกพร่อง เพราะมิว่ากรณีจะเป็นประการใดศาลก็มิอาจออกคำบังคับ เนื่องจากผลของการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ จะมีได้ก็แต่เพียงการแสดงว่าอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญมีอยู่อย่างไร นั้น กรณีนี้ ผู้เขียนใคร่แสดงความเห็นต่างกับผู้วิจารณ์โดยขอแยกการพิเคราะห์ออกเป็นสองประเด็นด้วยกัน ดังนี้
๑ . ๒๑ ประเด็นแรก ที่ว่าผลของการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ นั้นเป็นแต่เพียงการแสดงว่าอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญมีอยู่อย่างไร ความข้อนี้ ก่อนอื่นจำเป็นต้องเข้าใจกรอบความคิดพื้นฐานในการวิเคราะห์ทั้งของผู้วิจารณ์และของผู้เขียนเป็นเบื้องต้น เมื่อผู้วิจารณ์มีกรอบความคิดว่าลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ นั้นมีอยู่เพียงความขัดแย้งระหว่างกันในทางอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยตรรกะจากการนี้ กรณีย่อมเป็นอันแน่นอนว่าผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั่นย่อมมีแต่เพียงการแสดงให้เห็นว่าขอบเขตแห่งอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกิดความขัดแย้งกันนั้นมีอยู่อย่างไรอย่างมิอาจปฏิเสธ แต่สำหรับกรอบการวิเคราะห์ของผู้เขียน เมื่อลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นมิได้มีเฉพาะกรณีของความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หากทว่ายังมีในลักษณะอย่างอื่นได้อีก โดยเฉพาะลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ซึ่งมิได้อยู่ในมิติของกรอบของความขัดแย้ง โดยตรรกะเช่นนี้ กรณีจึงไม่จำเป็นว่าผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจำต้องชี้ให้เห็นแต่เพียงกรอบอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญว่าองค์กรใดมีอำนาจในเรื่องใดและมีขอบเขตแห่งอำนาจนั้นเพียงใด เท่านั้น สำหรับกรณีการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อลักษณะของปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของทั้งสององค์กรนั้นมิใช่เป็นปัญหาในเรื่องกรอบอำนาจ หากแต่เป็นปัญหาในมิติของกระบวนการใช้อำนาจว่าชอบหรือมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จากความข้อนี้ กรณีจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมมิใช่เป็นการชี้ให้เห็นถึงกรอบแห่งอำนาจทั้งของวุฒิสภาและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และย่อมถือมิได้ว่านี่เป็นความบกพร่อง เพราะกรอบของความคิดที่ใช้เป็นฐานของการวินิจฉัยนั้นมิใช่เป็นเรื่องเดียวกันตั้งแต่เบื้องต้น
๑ . ๒๒ ประเด็นที่สอง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถออกคำบังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ เพราะสภาพของเรื่องไม่เปิดช่องให้ศาลกระทำการเช่นนั้น ความข้อนี้ จำเป็นต้องแสดงความเห็นเพิ่มเติมเรื่องคำบังคับกันเสียก่อน กรณีคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง เราจะพบว่ามีกฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการออกคำบังคับเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาล อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของศาลรัฐธรรมนูญแล้วเรากลับพบกับความแตกต่าง กล่าวคือ ในบรรดาคดีรัฐธรรมนูญทั้งหลายที่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อพิเคราะห์กันให้ดี จะเห็นว่าโดยหลักแล้วรัฐธรรมนูญนั้นมิได้ให้อำนาจศาลในการออกคำบังคับเอาไว้เลย ความข้อนี้ หากจะมีข้อยกเว้นก็แต่เพียงกรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๓ ที่รัฐธรรมนูญได้ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการออกคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองได้ หากพบว่าพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดได้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างไรก็ตาม แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจในการออกคำบังคับได้เพราะรัฐธรรมนูญมิได้ให้อำนาจเอาไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีสภาพบังคับในระบบกฎหมาย แท้ที่จริงคำวินิจฉัยของศาลยังคงมีสภาพบังคับเพราะรัฐธรรมนูญจะกำหนดผลทางกฎหมายรองรับคำวินิจฉัยของศาลเอาไว้ตามแต่สภาพของเรื่อง ดังเราจะเห็นได้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ ก็มีบทกำหนดผลทางกฎหมายเอาไว้ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ เป็นตัวอย่าง
๑ . ๒๓ ที่กล่าวมาทั้งนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นก่อนว่ามิว่ากรณีจะเป็นประการใด โดยหลักแล้วรัฐธรรมนูญก็มิได้ให้อำนาจในการออกคำบังคับให้กับศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เว้นแม้แต่การวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญดังที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีที่เป็นปัญหากันอยู่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ผลทางกฎหมายต่อความสมบูรณ์ของตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะเป็นอย่างไร นั่นย่อมเป็นอีกปัญหาหนึ่งซึ่งจะต้องพิเคราะห์กันต่อไปในอีกขั้นตอนหนึ่ง แต่กรณีย่อมมิใช่จะนำมาถือเป็นเหตุผลต่อการกล่าวอ้างว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีความบกพร่อง และศาลรัฐธรรมนูญมิควรรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยเพราะเหตุแห่งการที่ศาลไม่สามารถออกคำบังคับ
๑ . ๒๔ สรุปความแล้ว ปัญหาว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับเรื่องการใช้อำนาจของวุฒิสภากับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ หรือไม่ ในขณะที่ผู้วิจารณ์มีความเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ หากทว่าผู้เขียนกลับมีความเห็นว่ากรณีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้วที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัย
๒ . กระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการกำหนดประเด็นพิจารณาวินิจฉัย มีความบกพร่องหรือไม่
๒ . ๑ ผู้วิจารณ์มีความเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔๗ / ๒๕๔๗ มีความบกพร่องในการกำหนดประเด็นพิจารณาเบื้องต้น เป็นต้นว่า ศาลมิได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยก่อนว่าการยื่นคำร้องของประธานรัฐสภาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หลังจาก มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปกว่าหนึ่งปีห้าเดือน นั้นยังสามารถกระทำได้หรือไม่ นอกจากนั้น ศาลก็มิได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยให้กระจ่างชัดเสียก่อนถึงการที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฯ มาตรา ๓๐ได้มอบอำนาจให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินสามารถออกระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้เอง นั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑๒ วรรคเจ็ด หรือไม่ และที่สำคัญ ในขณะที่มีการอ้างระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเกี่ยวกับการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาเป็นเหตุผลหลักต่อการวินิจฉัยว่ากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมิชอบ แต่เมื่อระเบียบฯข้างต้นนั้นมิได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เหตุใดศาลจึงไม่วินิจฉัยเสียก่อนว่าระเบียบฯ ดังกล่าวนั้นยังมีความสมบูรณ์ในทางกฎหมายหรือไม่ ต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าการตรวจเงินแผ่นดินฯ มาตรา ๕ วรรคสอง อันเป็นกฎหมายแม่บท
๒ . ๒ ก่อนจะพิจารณาถึงบทวิจารณ์ดังกล่าว ควรทราบก่อนว่า ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลนั้น ประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะวินิจฉัยจะแบ่งออกได้เป็นปัญหาเบื้องต้นและปัญหาหลักของคดี สำหรับปัญหาเบื้องต้น ปกติก็คือปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลจำเป็นต้องวินิจฉัยก่อนๆที่จะก้าวเข้าไปวินิจฉัยในปัญหาหลัก ส่วนปัญหาหลักนั้น จะเป็นปัญหาที่ศาลจะวินิจฉัยในตอนท้าย ซึ่งปัญหาดังว่านี้อาจมีได้ทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงประกอบกัน หากถามว่าใครที่เป็นผู้กำหนดประเด็นปัญหาดังกล่าวเหล่านี้ คำตอบก็คือศาล โดยศาลอาจจะกำหนดประเด็นเอาไว้จากการที่คู่ความในคดีเป็นผู้เสนอหรือจากการที่ศาลเห็นเองก็ได้ ตามแต่กรณี อนึ่ง ในกรณีที่ศาลเห็นเอง โดยหลักก็จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่พร้อมจะให้ศาลหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเมื่อใดก็ได้ หากศาลเห็นว่ากรณีมีความจำเป็น
๒ . ๓ สำหรับปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นทั้งสามประเด็น คำถามว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงมิได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัย กรณีคงต้องแสดงความเห็นแบบง่ายๆว่าผู้เขียนมิทราบ และมิอาจจะตอบแทนศาลได้ด้วยว่าเพราะเหตุใดศาลรัฐธรรมนูญจึงมิได้หยิบยกปัญหาเหล่านั้นขึ้นมาพิจารณา อย่างไรก็ตาม ควรตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สำหรับปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นข้อแรกที่ว่า การยื่นคำร้องของประธานรัฐสภาเพื่อให้ศาลพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปกว่าหนึ่งปีห้าเดือนยังสามารถกระทำได้หรือไม่ นั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีอย่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ( แม้จะได้เสนอความเห็นเป็นเอกสารต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้แจงการกระทำของตน ) ก็มิได้ยกประเด็นปัญหาเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้เพื่อจะยังผลให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องของประธานรัฐสภา อันจะเป็นการปกป้องการกระทำของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเอง เลย ทั้งนี้ มิพักต้องกล่าวไปถึงวุฒิสภาซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทำนองเดียวกันกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ก็ไม่มีแม้แต่การยอมไปแสดงความเห็นต่อศาล ทั้งๆที่ศาลก็ได้เปิดโอกาสให้เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาและเพื่อประโยชน์สำหรับวุฒิสภาเองด้วย กรณีเช่นนี้ ฤาจะกล่าวอย่างถึงที่สุดได้ว่า นี่คือความบกพร่องในการกำหนดประเด็นพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แน่นอนหากข้อเท็จจริงกลับกลายเป็นอีกอย่างหนึ่งคือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและ/หรือวุฒิสภาได้ยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวมาเป็นข้อต่อสู้แล้ว หากทว่าศาลรัฐธรรมนูญกลับมิได้หยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาเบื้องต้นที่จำต้องวินิจฉัยให้ก่อน หากกรณีเป็นดังนี้ ผู้เขียนย่อมจะมีความเห็นเป็นในทำนองเดียวกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีความบกพร่องในการกำหนดประเด็นพิจารณาอย่างปราศจากความลังเล อย่างไรก็ดี หากจะยังคงกล่าวกันให้ได้ว่า ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังมีความบกพร่องเพราะยังสามารถหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ เพียงแต่ว่าเป็นศาลเองต่างหากที่มองไม่เห็น หากความเป็นดังนี้ หากจะถือว่านี่คือความบกพร่อง ( ซึ่งยังถกเถียงกันได้ ) ผู้ที่มีความบกพร่องต่อการกำหนดประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่จำต้องวินิจฉัยก่อนข้างต้นก็คงมีอยู่ไม่เพียงศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ต้องหมายรวมถึงองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งไม่ยอมยกประเด็นปัญหาดังว่านี้ ( ทั้งที่เพื่อปกป้องการกระทำของตนเองโดยแท้ ) อย่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา ด้วยเช่นกัน
๒ . ๔ สำหรับปัญหาข้อกฎหมายข้อที่สองและข้อที่สามของผู้วิจารณ์ที่ว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นเสียก่อนว่า การที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา ๓๐ ได้มอบอำนาจให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินสามารถออกระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้เอง นั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑๒ วรรคเจ็ด หรือไม่ อีกทั้งยังมิได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยด้วยว่า ระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเกี่ยวกับการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่มิได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินมาตรา ๕ วรรคสอง หรือไม่ ย่อมถือเป็นความบกพร่องในกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน นั้น สำหรับความข้อนี้ ผู้เขียนมีความเห็นในทำนองเดียวกันกับความเห็นในข้อ ๒ . ๓ อย่างไรก็ตาม ควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า หากศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งประเด็นวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายทั้งสองกรณีข้างต้น และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา ๓๐นั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และ/หรือระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน คำตอบสุดท้ายของการนี้ก็จะมีผลอย่างเดียวกันคือ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่ากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมีปัญหาทั้งในทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายอยู่นั่นเอง เพียงแต่เหตุผลของคำวินิจฉัยนั้นจะต่างกันออกไป เท่านั้น
๒ . ๕ ก่อนจะถึงบทสรุปในปัญหานี้ ผู้เขียนคงต้องแสดงความเห็นต่างต่อการให้เหตุผลของผู้วิจารณ์ เกี่ยวกับปัญหาความชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ของระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวคือ ผู้วิจารณ์มีความเห็นอย่างชัดเจนว่าระเบียบของคณะกรรมการฯต้องถือว่าไม่มีอยู่เนื่องจากมิได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา ๕ วรรคสอง และฉะนั้น แม้ระเบียบของคณะกรรมการฯจะระบุว่าให้มีการเสนอชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการฯ เพื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจากบุคคลที่ได้คะแนนสูงสุดเพียงรายชื่อเดียว แต่เมื่อวุฒิสภาได้ประชุมวินิจฉัยและมีมติออกมาว่าระเบียบของคณะกรรมการฯมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงย่อมถือว่าไม่มีผลผูกพันต่อวุฒิสภาให้ต้องคัดเลือกบุคคลที่ได้คะแนนสูงสุดจากการคัดเลือกของคณะกรรมการฯให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แต่วุฒิสภาย่อมมีดุลพินิจที่จะคัดเลือกบุคคลใดก็ได้ตามบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการฯเสนอมา ให้ดำรงตำแหน่งดังว่านั้น
๒ . ๖ ปัญหาว่าระเบียบของคณะกรรมการฯเกี่ยวกับการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีความสมบูรณ์ในทางกฎหมายหรือไม่ ยังมิถือเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณากันในชั้นนี้ แต่กรณีที่ผู้เขียนต้องการหยิบยกขึ้นมาให้พิจารณากันก่อนที่จะไปพิเคราะห์ความเห็นของผู้วิจารณ์ ก็คือ แม้วุฒิสภาจะมีอำนาจในการตีความถึงความชอบด้วยกฎหมายหรือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของระเบียบของคณะกรรมการฯก็ตาม แต่ความเห็นของวุฒิสภาต่อการนี้ย่อมถือมิได้ว่าเป็นความเห็นอันเป็นข้อยุติถึงที่สุด กรณีหากจะถือได้ ก็เป็นได้แต่เพียงการตีความรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงเพื่อใช้ประกอบไปกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของวุฒิสภาเท่านั้น ในทำนองเดียวกันกับวุฒิสภาชุดก่อนหน้านี้ที่เคยตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อปฏิเสธการใช้อำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้ โดยการปฏิเสธที่จะให้ความเห็นชอบผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ฉะนั้น ในกรณีดังกล่าวนี้ก็เช่นเดียวกัน คือแม้วุฒิสภาจะสามารถตรวจสอบระเบียบของคณะกรรมการฯถึงความชอบด้วยกฎหมายหรือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่หากกรณีมีความจำเป็นต้องมีการตรวจสอบว่าสิ่งที่วุฒิสภาได้ตีความไปนั้นเป็นการตีความที่ชอบหรือมิชอบแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นผู้ตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ จะเป็นผู้ให้คำตอบสุดท้ายต่อการตีความกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญของวุฒิสภา ว่าเป็นอย่างไร
๒ . ๗ คราวนี้ ย้อนกลับมาถึงการให้เหตุผลของผู้วิจารณ์ที่ว่า วุฒิสภาย่อมมีดุลพินิจที่จะคัดเลือกบุคคลใดก็ได้ตามบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการฯเสนอมาให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพราะวุฒิสภาได้มีมติแล้วว่าระเบียบของคณะกรรมการฯนั้นได้ออกมาโดยมิชอบจึงต้องถือว่าระเบียบฯดังกล่าวนั้นไม่มีอยู่ และเมื่อระเบียบฯ ข้างต้นไม่มี กรณีจึงไม่ผูกพันวุฒิสภาให้จำต้องคัดเลือกบุคคลที่ได้คะแนนสูงสุดให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามที่กำหนดเอาไว้ในระเบียบฯ สำหรับความข้อนี้ ผู้เขียนมีความเห็นที่แตกต่างไปจากผู้วิจารณ์ กล่าวคือ ตามตรรกะของการให้เหตุผลทางกฎหมาย เมื่อวุฒิสภาเห็นว่าระเบียบของคณะกรรมการฯอันเป็นฐานในการคัดเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมิชอบ ผลในทางกฎหมายก็คือ ย่อมทำให้รายชื่อของบุคคลทั้งหมดที่คณะกรรมการฯเสนอมาเกิดความไม่สมบูรณ์ตามไป และเมื่อรายชื่อของบุคคลทั้งหมดไม่สมบูรณ์ โดยเหตุผลของเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ที่วุฒิสภาจะสามารถหยิบยกรายชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาทำการคัดเลือกแล้วกล่าวว่า การคัดเลือกของตนนั้นย่อมมีผลทำให้รายชื่อของบุคคลบางคน ( จากรายชื่อของบุคคลทั้งหมดที่ไม่สมบูรณ์ ) เกิดความสมบูรณ์ในทางกฎหมายขึ้นมาแล้วจากเหตุที่ตนได้ทำการคัดเลือก ความจริงแล้ว เมื่อเกิดปัญหาดังนี้ สิ่งที่วุฒิสภาควรจะปฏิบัติก็คือต้องปฏิเสธที่จะรับรายชื่อของบุคคลทั้งหมดมาพิจารณา แล้วส่งคืนกลับไปให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการเสียใหม่ให้ชอบด้วยกฎหมายตามข้อสังเกตและความเห็นของตน หากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่าสิ่งที่ตนดำเนินการไปนั้นชอบแล้วโดยประการทั้งปวง เป็นวุฒิสภาต่างหากที่ตีความข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน กรณีอย่างนี้ ก็ย่อมถือว่านี่เป็นความขัดแย้งกันในทางความเห็นต่อการตีความข้อกฎหมาย อันมีผลทำให้กลายเป็นความขัดแย้งในทางอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ซึ่งหากมีความประสงค์ ทั้งวุฒิสภาและ/หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ก็ย่อมมีอำนาจที่จะเสนอเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การดำเนินการอย่างไรขององค์กรใดนั้นเป็นการดำเนินการที่ชอบ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่วุฒิสภาไม่ดำเนินการเช่นนี้ แต่กลับไปดำเนินการอีกอย่างหนึ่งโดยอาศัยตรรกะที่ไม่สอดคล้องกับเหตุผลในทางกฎหมาย โดยอาศัยความไม่ชอบของระเบียบของคณะกรรมการฯว่าย่อมมีผลทำให้วุฒิสภาสามารถใช้ดุลพินิจของตนได้อย่างอิสระต่อการคัดเลือกบุคคลโดยไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับระเบียบฯ ซึ่งผลจากการนี้ ในท้ายที่สุด ก็เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งต่อความยุ่งยากของปัญหาเกี่ยวกับตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน เช่นกัน
๒ . ๘ โดยสรุปในส่วนของกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนี้มีความบกพร่องหรือไม่อย่างไร ถือเป็นหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะต้องทำการชี้แจงกันเอง กรณีของผู้เขียนที่สามารถกระทำได้ ก็เป็นแต่เพียงการให้ข้อสังเกตกับบางเรื่องบางประเด็นในส่วนนี้เท่านั้น
หลังจากที่ได้แสดงความเห็นในตอนที่ ๑ เกี่ยวกับปัญหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับเรื่องกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ หรือไม่ และปัญหาว่ากระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการกำหนดประเด็นเบื้องต้นในคดี มีความบกพร่องหรือไม่ แล้ว ในตอนที่ ๒ ผู้เขียนจะขอแสดงความเห็นต่อไป ในปัญหาเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลในทางกฎหมายหรือไม่อย่างไรกับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
..............................................................
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=848
เวลา 10 ธันวาคม 2567 10:06 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|