|
|
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : รัฐต้องทบทวนนโยบาย ผ่าทางตันแปรรูป 27 พฤศจิกายน 2548 22:53 น.
|
รัฐต้องทบทวนนโยบาย ผ่าทางตันแปรรูป
ระยะเวลา 1-2 เดือน ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอข้อมูลต่อศาลปกครองในกรณีมีคำสั่งระงับการกระจายหุ้นบริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) ถือเป็นช่วงจังหวะสำคัญที่จะพิสูจน์ความโปร่งใสในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจระหว่างผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือนักลงทุนบางกลุ่ม ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการ ผู้ศึกษาวิจัยร่างกฎหมายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาเกือบ 6 ปี มองกรณีนี้และยืนยันว่า รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายการแปรรูปทั้งระบบ ชี้แจงข้อมูลชนิดเลิกหมกเม็ด รวมทั้งยกเครื่องกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่เอื้อการเมืองมากกว่ามวลชน
๐ กรณีศาลปกครองมีคำสั่งระงับการกระจายหุ้น กฟผ.มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างไร
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ประเด็นจริงๆ เราต้องตั้งหลักให้แน่ก่อนว่า เราจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่ออะไร ทุกวันนี้มีหลายเสียง ช่วงเริ่มต้นบอกว่าเราจะแปรรูปเพราะรัฐวิสาหกิจทำงานไม่ดีมีปัญหา ต้องเอาระบบเอกชนมาใช้บางช่วงก็บอกว่าเพราะโน่นเพราะนี่ เพราะเราไม่มีเงิน เราต้องหาเงินเข้าประเทศ เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งคำถามก่อนว่า เราจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่ออะไร พอเราตอบคำถามได้ คุณก็ต้องมาดูว่า รัฐวิสาหกิจไหนควรแปรรูป โดยหลักรัฐวิสาหกิจที่ใช้กันทุกคนและเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนและรัฐต้องทำ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆควรเก็บไว้ก่อน อันไหนที่คนอื่นทำอยู่แล้ว ทำไปก็สู้กับเอกชนไม่ได้ อันนั้นควรเลิกทำและเก็บงบประมาณ เก็บคนมาทำอย่างอื่น
พอเราได้ 2 คำตอบแล้วค่อยมาดูว่าเราจะแปรรูปอย่างไร อันนี้เป็นประเด็นแรกที่ผมคิดว่าตอนที่เราทำกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจไม่ได้ตอบคำถามพวกนี้ ไม่ชี้ว่ารัฐวิสาหกิจไหนควรแปรรูป ไม่ควรแปรรูป
ยกตัวอย่างเรื่องไฟฟ้าในบางประเทศถือว่า ไฟฟ้าเป็นรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ รัฐจะเก็บเอาไว้ แต่บางประเทศก็แปรรูป ต้องไปดูเหตุผลแล้วถึงดูวิธีการแปรรูป อันนี้คือสิ่งที่ต้องคิดเป็นสิ่งแรก
๐ แปลว่าโดยหลักการ ไฟฟ้าไม่ควรแปรรูป
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : แล้วแต่คนจะคิด ผมถึงบอกว่า ต้องจัดลำดับความสำคัญก่อน ซึ่งทุกคนมักยกคำถามอมตะว่า เอ๊ะ..ทำไมถึงขาย ปตท. ไม่ขาย ขสมก.ก่อน เพราะเห็นอยู่แล้วว่าบริการมีปัญหา รถร่วมก็มีปัญหาและการจราจรติดขัดทุกวันนี้เพราะระบบขนส่งมวลชนมีปัญหา ทำไมไม่แก้ปัญหาตรงนั้นก่อน ทำไมไปขายปตท.ก่อน คำถามต่อมา คือ หลังจาก ปตท.เข้าตลาดแล้ว เอาหุ้นไปขายคนอื่นอีกหรือเปล่าแล้วเงินไปอยู่ที่ไหน เอาไปใช้อะไรบ้าง ประชาชนต้องการคำตอบ
ในกรณีไฟฟ้า ผมคิดว่าไม่มีใครว่าถ้าจะขายหุ้น เพียงแต่ต้องตอบคำถามว่า แปรรูปการไฟฟ้าฯเพื่ออะไร ถ้าวันหนึ่งรัฐบาลเดินออกมา ออกทีวีพบประชาชนแล้วพูดอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า รัฐบาลมีปัญหาไม่มีเงินบริหารประเทศแล้วขอขายหุ้นรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง 10% แล้วที่เหลือจะไม่ขายอีกเลย ถามว่า ประชาชนยอมไหม ผมคิดว่ายอมนะ ขายหุ้นเพื่อระดมทุนมาทำอย่างอื่นแต่ขอให้หยุดแค่นั้น แต่ในวันนี้ที่ออกมาประท้วงเพราะเราไม่ทราบว่า ขายเพื่ออะไร ขายเพราะเขาทำงานไม่ดีแต่ขาย 25% ถามว่า ขาย 25% งานดีขึ้นหรือเปล่า จะเอาระบบเอกชนมาใช้ได้หรือไม่ รัฐยังเป็นผู้ถือหุ้นข้างมากอยู่ เป็นระบบแบบเดิม
เรื่องการไฟฟ้าฯ ถ้าเรามีคำตอบในเบื้องต้นที่ผมตั้งประเด็น คำตอบตอนท้ายมาเอง ไม่มีคนคัดค้านหรอก ทำไมเราไม่พูดกันตรงๆว่า ไม่มีเงินแล้วต้องขาย แต่ขอขายแค่นี้ เอาเงินมาทำอย่างนี้ๆและสร้างกลไกการตรวจสอบการใช้เงิน เพราะเป็นเงินที่ประชาชนเอามาลงทุนซื้อหุ้น ถ้าชี้แจงประเด็นได้กระจ่าง ปัญหาไม่เกิดขึ้น
๐ รัฐบาลก็บอกแล้วว่าต้องระดมทุนมาสร้างโรงไฟฟ้า
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : คำตอบอย่างไรก็ได้ หรือรัฐบาลอาจบอกว่า ขายหุ้นการไฟฟ้าฯ 10% เอามาทำรถไฟฟ้าใต้ดินวิ่งที่มีปัญหา 3-4 หมื่นล้านเนี่ย ผมคิดคนรับได้ เรารู้ว่ารัฐบาลใช้เงินในการบริหารประเทศเยอะ แม้กระทั่งคนที่ไม่ชอบรัฐบาลก็ไม่สามารถปฏิเสธโครงการเอื้ออาทรจำนวนหนึ่งที่ไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะเห็น เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นสิ่งที่ดี รัฐบาลต้องใช้เงิน เพียงแต่ต้องชี้แจงประชาชน มีกลไกตรวจสอบ เป็นผมก็ไปซื้อเพราะรู้ว่าเงินเอาสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ตอนนี้เราไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไร
๐ แปลว่าไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้น
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ไม่ชัดเจนตั้งแต่กรณี ปตท.และการแปลงทุนเป็นหุ้นทั้งหมด ประเด็นที่ 2 ในต่างประเทศส่วนใหญ่แล้วจะตั้งองค์กรกำกับดูแลกิจการที่แปรรูป เพราะเดิมเป็นของรัฐและรัฐคุม พอรัฐเปิดเสรี ให้เอกชนเป็นเจ้าของ จะไปคุมไม่ได้ก็ต้องตั้งองค์กรกำกับดูแลเพื่อออกหรือเพิกถอนใบ หรือลงโทษ แก้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างองค์กรกำกับดูแลหรือระหว่างประชาชน หรือองค์กรผู้บริโภคกับองค์กรกำกับดูแล แต่ ณ วันนี้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่มีการตั้งองค์กรกำกับดูแลก่อน กทช.เกิดขึ้นหลังการแปลงทุนของการสื่อสารแห่งประเทศไทยและองค์การโทรศัพท์ฯเป็นหุ้น วันนี้เราแปลงทุน ปตท.เป็นหุ้นแล้วแต่ก็ไม่มีองค์กรกำกับดูแลด้านพลังงาน แปลง กฟผ.เป็นบริษัทก็ยังไม่มีองค์กรกำกับดูแลด้านไฟฟ้าจะรวมกับด้านพลังงานหรือแยกออกมาเราก็ไม่ทราบ มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาหลายเดือนให้ตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ถ้าพูดกันตรงๆ ทำไมไฟฟ้าซึ่งเป็นของจำเป็นขั้นพื้นฐาน องค์กรกำกับดูแลตั้งโดยสำนักนายกฯ ซึ่งไม่มีกระบวนการมากมายเทียบกับโทรศัพท์ซึ่งจริงๆแล้วไม่จำเป็นเท่าไฟฟ้าแต่ กทช.ตั้งโดย พ.ร.บ.ที่มีกระบวนการสรรหายุ่งยากเหมือนองค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง เพราะฉะนั้น องค์กรกำกับดูแลควรตั้งขึ้นโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเหมือนกันก่อน พอตั้งแล้วมาวางเกณฑ์แล้วค่อยขาย ค่อยแปลงทุนเป็นหุ้นและให้บริษัทนั้นเข้าสู่เกณฑ์ มีองค์กรกำกับดูแลเข้ามาดูแล เราต้องเตรียมความพร้อมกว่านี้ ซึ่งผมก็สงสัยเหมือนกันว่า กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจใช้มาตั้งแต่ปี 42 ถึงวันนี้ 6 ปี ถ้าเรามีแนวความคิดนี้ทำไมไม่ปรับตัวให้พร้อม 6 ปีที่ผ่านมา เราทำอะไรได้อีกเยอะรวมทั้งร่างกฎหมายอีก 2-3 ฉบับเกี่ยวกับองค์กรกำกับดูแล
ในต่างประเทศ เช่น อิตาลีมีกฎหมายให้ตั้งองค์กรกำกับดูแล ทำหน้าที่ออกกฎ ออกระเบียบ ใช้เวลา 2 ปี เมื่อองค์กรกำกับดูแลบอกว่าทำงานได้แล้วปั๊บถึงเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า เขาเตรียมพร้อมก่อนของเรารีบร้อนไปก็เป็นปัญหา
๐ ถือเป็นบทเรียนของรัฐบาลหรือเปล่า
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ผมคิดว่าเป็นวิธีคิดในการวางระบบของไทยเราไม่เคยเตรียมตัว ถึงเวลามามัดมือชกกัน
๐ อย่างแรกที่รัฐบาลต้องทำคือ การชี้แจงเป้าหมาย
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : สิ่งแรกคือ เราควรมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นระบบและดีพอสมควร ไม่มีประเด็นให้ต่อล้อต่อเถียงมากมายนัก จริงๆผมทำร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะทำประชาพิจารณ์ภายในเดือน ธ.ค. เป็นร่างแปรรูปที่เป็นระบบและในร่างเขียนให้ตั้งเรคกูเลเตอร์
๐ เฉพาะกิจการไฟฟ้า
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ไม่ ทั้งหมดเลย ผมไม่ได้คิดว่าร่างผมเป็นของดี แต่ผมค้นคว้ามานานและปีนี้ ผมเพิ่งรับทราบว่าผมได้เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขานิติศาสตร์ประจำปี 2548 เพราะผมเสนองานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งกฤษฎีกาฯให้ศึกษาเพราะเล็งแล้วว่า แปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องเป็นปัญหา ผมศึกษาวิจัยเปรียบเทียบกับหลายๆประเทศ ทำ 5-6 ปี ตั้งแต่ปี 2543 เสร็จเป็นเฟสๆ เฟสที่ 2 ร่างกฎหมายและทำประชาพิจารณ์
๐ ไทยไม่มีกฎหมายแปรรูปเลย
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ไม่มี อย่างกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจมีขึ้นมาเพื่อแปลงทุนเป็นหุ้น อย่างบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่นเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นจบแล้วแต่ถามว่าแปรรูปหรือยัง..ยัง เราต้องมีกฎหมายต่อจากนั้น แม้กระทั่งกระบวนการเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นก็มีปัญหาเยอะแยะไปหมด ถ้าเป็นไปได้ควรทำกฎหมายใหม่ให้เป็นระบบและเลิกกฎหมายเก่า
อีกประการที่สำคัญ การไม่ทำประชาพิจารณ์ เพราะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทุกคนต้องการความโปร่งใส ทุกคนต้องรู้ ประเด็นที่ผมยกตอนต้น วันนี้ ปตท.ขายหุ้นไปกี่เปอร์เซนต์แล้ว เราไม่รู้เลย ขายแล้วเอาเงินไปไหนก็ไม่รู้ ประเด็นเรื่องขัดกฎหมายธรรมนูญเราไม่พูดถึง เพราะอยู่ในศาล แต่ประเด็น คือ ประชาชนอยากรู้อยากเห็นว่าคุณขายสมบัติของประเทศชาติ คุณบอกประชาชนหรือเปล่า ให้ข้อมูลชัดเจนหรือไม่และทุกคนมีสิทธิ์รับทราบข้อมูลหรือไม่ หรือเฉพาะคนวงในที่รู้
๐ ถ้าเราร่างกฎหมายใหม่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจถือเป็นภาคที่ 1 หรือ 50% ของกระบวนการแปรรูป เมื่อแปลงทุนเป็นหุ้นแล้วต้องไปขายหุ้น การขายกับการตั้งองค์กรกำกับดูแลเป็นส่วนที่ 2 ใช่ไหม คุณขายหุ้นให้เป็นเอกชนโดยไม่มีองค์กรกำกับดูแลก็ไม่ได้ เพราะเป็นเอกชนแล้วห้ามขึ้นราคาไม่ได้ คุณไปสั่งอะไรได้ เขาทำธุรกิจ
ฉะนั้น ตอนที่ 2 สำคัญมาก คือ ทำอย่างไรเพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติมากที่สุด ไม่ให้ผูกขาด อะไรบ้างที่จะขาย อย่าง กฟผ.แรกๆเถียงกันเรื่องเขื่อน สายส่ง ตั้งบริษัท วันนี้คุณมีคำตอบหรือยัง คณะกรรมการที่ทำหน้าที่แปรรูป ต้องจัดให้ดีเลยว่าอะไรที่รัฐควรเอาไว้ ต้องเป็นระบบมากกว่านี้
๐ ของไทย ภาค 2 ไม่มีเลย
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ไม่มีครับ การขายหุ้นก็ใช้เกณฑ์ ก.ล.ต. กฎหมายเก่าที่มี
๐ สาระหลักของร่าง พ.ร.บ.การแปรรูปฯ
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : หัวใจหลักอยู่ที่การแปรรูปทำโดยใคร เพราะเราดูกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ องค์ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี(ครม.)ถึง 70% และมีคนที่ ครม.แต่งตั้งอีกส่วน ขณะที่คนที่นอกเหนือการเมืองมันน้อย คุณเคยตั้งคำถามไหมว่าทำไมหยิบ ปตท.แปรรูป ไม่หยิบ ขสมก. นี่คือการเมืองเป็นคนเลือกทั้งหมด
๐ แล้วปัญหาโครงสร้างค่าไฟ
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : เป็นรายละเอียดที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของใคร เช่น องค์กรกำกับดูแล ถ้าระบบดี ทุกอย่างดีหมด
อย่างกรณีพนักงานซื้อหุ้นราคาถูกแล้วไปขายในราคาถูกถือเป็นการโกงประเทศชาติหรือเปล่า เพราะรัฐวิสาหกิจตอนขายหุ้นขาย 2 ส่วน บางแห่งขายส่วนเดียว ส่วนที่ 1 เป็นส่วนที่รัฐออกให้ทั้งหมดอย่างรัฐตั้งงบประมาณก่อสร้างเขื่อน งบเวนคืน หรือ กฟผ.เอาเงินตัวเองมาลงทุน อันที่ 2 ออกหุ้นใหม่ ถ้าเป็นหุ้นเดิมนี่คือการเอาสมบัติประเทศชาติมาใช้เพื่อความสุขส่วนตัว ถือเป็นการคอรัปชั่น แต่ถ้าออกหุ้นใหม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งและทุกคนต้องเสมอภาค ถ้าตีเป็นสมบัติของประเทศชาติ คุณแตะไม่ได้เลย พนักงานก็ทำงานโดยมีเงินเดือน เป็นลูกจ้าง ไม่ได้หมายความว่าเป็นเจ้าของ
๐ คิดว่ารัฐบาลมีความน่าเชื่อถือในการสร้างความโปร่งใสหรือไม่
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ผมไม่มีสถานะที่จะวิจารณ์รัฐบาล เห็นอยู่แล้วว่าใครวิจารณ์รัฐบาลก็ถูกวิจารณ์กลับทุกที นักวิชาการทุกวันนี้ก็ขอเขียนหนังสือ ทำงานวิจัยเงียบๆ เพราะถ้าพูดไปไม่ถูกใจ ไม่ถูกหูก็อาจกลายเป็นว่าเราความรู้น้อย มองแคบ อะไรเยอะแยะ
๐ ช่วง 1-2 เดือนระหว่างรอศาลปกครอง รัฐบาลควรทำอย่างไร
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : เร่งด่วนที่สุด รัฐบาลต้องเคลียร์กับประชาชนเป็นเรื่องเป็นราว ทุกคนอยากรู้คำตอบแบบมีเหตุมีผล และอย่างเป็นรูปธรรม เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนในการเรื่องการให้ข้อมูลของรัฐบาลมากกว่า
ที่มาข้อมูล : จากหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=847
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:43 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|