ครั้งที่ 67

14 ธันวาคม 2547 18:21 น.

       "รัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรป"
       เมื่อสองสามวันก่อนผมไปซื้อหนังสือมาเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้เป็น “ตัวบท” ของรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรป ครับ
       จริงๆแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อผมเดินทางมาถึงประเทศฝรั่งเศสใหม่ๆ ก็ได้ยินข่าวเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปมาบ้าง แต่ก็ไม่สามารถหาข้อมูลได้ เมื่อตอนร่วมเดินทางไปเยี่ยมชม สำนักงานคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสก็พยายามขอเอกสารเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพ ยุโรป แต่เจ้าหน้าที่ที่นั่นก็ให้ website ที่มีตัวบทรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปมาแทน ผมลองเปิด website ดูแล้วเห็นว่า มีความยาวกว่าร้อยหน้าก็เลยไม่ได้ print ออกมาดู พอดีไปเจอหนังสือเล่มที่กล่าวถึงนี้เข้าก็เลย ซื้อมานั่งศึกษาดูครับ
       ก่อนจะเล่าให้ฟังถึงสาระของรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรป คงต้องย้อนกลับไปดูที่มาของ สหภาพยุโรปกันสักนิดหนึ่งก่อน ผมจำได้ว่าได้เคยเขียนบทบรรณาธิการเกี่ยวกับสหภาพยุโรปไปบ้างแล้ว ถูกผิดอย่างไรก็ขอโทษด้วยนะครับเพราะผมไม่ใช่นักกฎหมายระหว่างประเทศครับ ถ้าเราดูวิวัฒนาการ ของสหภาพยุโรปจะพบว่าเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่ประเทศต่างๆในยุโรปพยายามรวมตัวกัน เริ่มจาก การมีสภายุโรป (Conseil de l’Europe) ในปี ค.ศ. 1949 , สนธิสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยการคุ้มครอง สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในปี ค.ศ. 1950 (ซึ่งเป็นที่มาของศาลแห่งยุโรป ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในปัจจุบัน), ประชาคมยุโรปด้านถ่านหินและเหล็กในปี ค.ศ. 1951 ที่มีประเทศยุโรป 6 ประเทศรวมตัวกัน, ประชาคมยุโรปด้านเศรษฐกิจและพลังงานปรมาณูตามสนธิสัญญาแห่งโรมในปี ค.ศ.1957 สหภาพศุลกากร ในปี ค.ศ. 1968 ซึ่งก็ยังประกอบด้วย 6 ประเทศอยู่, การขยายตัวเป็น 9 ประเทศในปี ค.ศ. 1973, 10 ประเทศ ในปี ค.ศ. 1979, 12 ประเทศในปี ค.ศ. 1986, 15 ประเทศ ในปี ค.ศ. 1995 จะเป็น 25 ประเทศ ในปี ค.ศ. 2004 และจะเป็น 27 ประเทศในปี ค.ศ. 2007, การเลือกตั้งสภายุโรปโดยตรงในปี ค.ศ. 1979, ระบบการเงินยุโรป ในปี ค.ศ. 1979 เช่นกัน, ข้อตกลงแห่งเมือง Schengen เกี่ยวกับการยกเลิกพรมแดนและการเดินทางอย่างเสรี ในปี ค.ศ. 1985 และ ค.ศ. 1991, ข้อตกลงด้านการค้าภายในยุโรปโดยไม่มีพรมแดนสำหรับปี ค.ศ. 1993 ที่ทำในปี ค.ศ.1986, สนธิสัญญา Maastricht ในปี ค.ศ. 1992 ที่กำหนดให้มีการใช้เงินสกุลเดียวกันในปี ค.ศ. 2002 การดำเนินการทั้งหลายดังที่กล่าวมานี้ ทำให้สหภาพยุโรปมีความมั่นคง และเป็นปึกแผ่นขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในบรรดาการดำเนินการตามข้อตกลงและสนธิสัญญาต่างๆที่มีนั้น สหภาพยุโรปยุโรป กลับเห็นว่าไม่เพียงพอ และไม่อาจจะแก้ปัญหาหลายๆประการได้ ดังนั้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 สหภาพยุโรปได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยสมาชิกกว่าร้อยคนซึ่งมาจากสถาบันต่างๆ ของประเทศสมาชิกและตัวแทนจากประเทศที่กำลังจะเข้าเป็นสมาชิก มีอดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ฝรั่งเศส คือ นาย Valéry Giscard d’Estaing เป็นประธาน ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปขึ้นมา ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้รับความเห็นชอบจากสภาแห่งสหภาพยุโรป ไปแล้ว และได้เสนอต่อประธานสภาแห่งสหภาพยุโรปไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมาตามที่คาดการณ์ไว้ ประเทศสมาชิกจะต้องลงนามในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.2004 ซึ่งก่อนหน้านั้นแต่ละประเทศ ก็คงต้องไปดำเนินการภายในประเทศของตนเพื่อยอมรับรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปนี้ก่อน บางประเทศ อาจให้รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ บางประเทศก็ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติ เมื่อได้ความ เห็นชอบภายในประเทศของทุกประเทศแล้ว ก็คงมีการลงนามร่วมกันและประกาศใช้บังคับในที่สุดครับ ส่วนเหตุที่ต้องให้แต่ละประเทศ “รับรอง” รัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปก็เพราะต่อไปในวันข้างหน้า จะมีผลใช้บังคับกับประชาชนทุกคนที่อยู่ในสหภาพยุโรปด้วยครับ
       รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความยาวมากกว่า 450 มาตรา ! ยาวกว่ารัฐธรรมนูญของไทย แน่นอนครับ ! สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแบ่งเป็น 3 หมวดหลัก หมวดแรกเป็นบททั่วไป มีอยู่ 59 มาตรา แบ่งเป็น 9 ส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันแห่งสหภาพยุโรป และวัตถุประสงค์ของสหภาพยุโรป สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองยุโรป ขอบอำนาจของสหภาพยุโรป สถาบันต่างๆของสหภาพยุโรป การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสหภาพยุโรป ประชาธิปไตยในสหภาพยุโรป การคลังแห่งสหภาพ แห่งสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปและประเทศเพื่อนบ้าน และการเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หมวดที่ 2 เป็นหมวดที่เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ มีอยู่ 54 มาตรา แบ่งเป็น 7 ส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวกับศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความเป็นพลเมือง กระบวนการยุติธรรม และบทเฉพาะกาล และในหมวดที่ 3 เป็นหมวดที่เกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินงานของสหภาพยุโรป หมวดนี้เป็นหมวดที่ยาวที่สุด ประกอบด้วยมาตราต่างๆรวม 342 มาตรา และแบ่งออกเป็น 7 หมวดใหญ่ๆ ซึ่งมีสาระสำคัญหลายประการ เช่น การไม่เลือกปฏิบัติ การค้าภายในสหภาพ การเดินทาง การจัดองค์กร ภายในสหภาพ ความร่วมมือด้านศุลกากร การแข่งขันทางการค้า ภาษี นโยบายเศรษฐกิจและการเงิน นโยบายด้านแรงงาน สังคม เกษตร ประมงและสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค การคมนาคมในยุโรป การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ การพลังงาน ความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรม และตำรวจ การอพยพ การลี้ภัย วัฒนธรรม การศึกษา นโยบายต่างประเทศ และความร่วมมือกับประเทศ ที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป เป็นต้น และในส่วนสุดท้ายของหมวดที่ 3 ก็เป็นเรื่องบททั่วไปและ บทเฉพาะกาล นอกจากนี้ ในตอนท้ายของหนังสือเล่มที่ผมซื้อมายังมีพิธีสาสน์ (protocole) อีกหลายฉบับ แนบท้ายอยู่ด้วยครับ
       จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปมีสาระสำคัญ “คล้ายกับ” รัฐธรรมนูญของ ประเทศหนึ่งเลยทีเดียว ผมยังไม่สามารถคาดหมายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่ง
       สหภาพยุโรปใช้บังคับแล้ว เพราะในเวลานั้นจะมีรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับใหญ่” และแต่ละประเทศก็จะมีรัฐธรรมนูญของตนด้วย ยุโรปอาจมีสภาพคล้ายกับ “สหรัฐ” และประเทศต่างๆก็อาจกลายเป็น “มลรัฐ” เหมืิอนกับสหรัฐอเมริกาก็ได้นะครับ
       ขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ (18 ตุลาคม) ผมยังคงอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสอยู่ ก็ทำงาน ไปได้เยอะพอสมควร ขณะนี้ผมเขียน “ความรู้เบื้องต้นกฎหมายปกครองฝรั่งเศส” เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้กำลังแก้ไขเพิ่มเติม “หลักกฎหมายเกี่ยวกับบริการสาธารณะ” อยู่ครับ ผมจะกลับถึงกรุงเทพฯ ปลายอาทิตย์หน้าครับ
       บทความเรื่อง “ความรู้เบื้องต้นกฎหมายปกครองฝรั่งเศส” ไม่สามารถลงตอนต่อไป ได้ในครั้งนี้ เพราะผมหาคนช่วยพิมพ์ไม่ได้ครับ คราวหน้าอาจลงทันเพราะกลับไปถึงกรุงเทพฯ แล้วคงมีคนพิมพ์ให้ครับ ก็ต้องขอโทษบรรดาแฟนๆของบทความไว้ด้วย แต่เพื่อเป็นการทดแทน ในคราวนี้ผมขอเสนอบทความของผมเรื่อง “การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” บทความนี้เป็นบทความที่มาจากผลสรุปของงานวิจัยเรื่อง “การให้สิทธิประชาชน ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” ที่ผมทำให้กับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อต้นปีนี้ครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2546 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=84
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:32 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)