องค์กรมหาชนอิสระในกฎหมายมหาชนเศรษฐกิจฝรั่งเศส (Les autorités administratives indépendantes en Droit public de l’économie français) ตอนที่สอง โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม และ นางสาวพิมพ์ดาว จันทรขันตี

13 พฤศจิกายน 2548 22:58 น.

       องค์กรมหาชนอิสระในกฎหมายมหาชนเศรษฐกิจฝรั่งเศส ตอนที่สอง
       (Les autorités administratives indépendantes en Droit public de l’économie français)1
       
       ภาคที่ 1 รายละเอียดขององค์์กรมหาชนอิสระในกฎหมายมหาชนเศรษฐกิจฝรั่งเศส
       
       
องค์กรมหาชนอิสระในกฎหมายมหาชนเศรษฐกิจสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ องค์กรที่มีอำนาจในการกำกับดูแลครอบคลุมในทุกกิจการ และ องค์กรที่มีอำนาจในการกำกับดูแลกิจการใดกิจการหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างเรื่องอำนาจขององค์กรทั้งสองกลุ่มได้ง่ายขึ้น คณะผู้เขียนขอยกตัวอย่างหน่วยงานหลักที่มีอำนาจกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าครอบคลุมในทุกกิจการ คือ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (Le Conseil de la concurrence) พร้อมอธิบายการทำงาน บทบาทหน้าที่ รวมถึงกฎหมายที่บังคับใช้โดยองค์กรดังกล่าว และจะได้ยกตัวอย่างองค์กรที่มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะกิจการในบทต่อๆไป
       
       บทที่ 1 คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (Le Conseil de la concurrence)2
       

       ในระบบของโลกการค้า จะเกิดการแข่งขันที่เสรีบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและยุติธรรมได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกประกอบกิจการ สิทธิในการเข้ามาแข่งขันในตลาด รวมถึงเสรีภาพในการกำหนดราคา นอกจากนี้จะเกิดความเท่าเทียมทางการแข่งขันในโลกเสรีทางการค้าได้ก็ต่อเมื่อมีการเคารพในหลัก «เสรีภาพในการประกอบกิจการการค้าและอุตสาหกรรม» (La liberté du commerce et de l’industrie) ของผู้ประกอบการ
       
       ในโลกแห่งความเป็นจริงทางการตลาดที่ถูกกำหนดด้วยอุปสงค์และอุปทาน ผู้ประกอบการอาจจะไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าและการผลิตตามที่ตนเองต้องการได้ โดยส่วนใหญ่สินค้าที่มีราคาถูกมักจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าสินค้าที่มีราคาสูงกว่า และการที่กำหนดราคาสินค้าที่สูงมากเกินไปอาจจะส่งผลให้สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในที่สุด นอกจากนี้ หากนำธรรมชาติของผู้ประกอบมาพิจารณา จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการทางธุรกิจมิได้มุ่งหวังให้เกิดการแข่งขันในตลาดแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะ หากมีคู่แข่งในตลาดน้อยเท่าใด นั่นย่อมหมายถึงส่วนแบ่งในตลาดที่มากขึ้นเท่านั้น และเพื่อที่จะบรรลุการจำกัดการแข่งขัน ผู้ประกอบจึงมักจะมีพฤติกรรมที่ถือได้ว่าเป็นการต่อต้านและกีดกันทางการค้า และนั่นคือที่มาของความจำเป็นในการจัดตั้งองค์กรเพื่อกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า
       รัฐกฤษฎีกา(Le décret)ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน 1945 แก้ไขเพิ่มเติมโดย รัฐกำหนด (L’ordonnance)ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 1953 ได้จัดตั้ง «คณะกรรมาธิการเทคนิคความร่วมมืออันมีผลต่อต้านการแข่งขันทางการค้า» (La commission technique des ententes) และ กฎหมายฉบับวันที่ 2 กรกฎาคม 1963 ให้อำนาจในการกำกับดูแลการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (L’abus de position dominante) ให้แก่คณะกรรมาธิการดังกล่าวด้วย แต่คณะกรรมาธิการชุดนี้มีอำนาจเพียงแค่ให้ความเห็นแก่รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเกี่ยวกับความร่วมมืออันมีผลต่อต้านการแข่งขันและการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบเท่านั้น อำนาจในการตัดสินลงโทษยังเป็นของรัฐมนตรีหรือศาลอาญา (Le juge pénal) ต่อมา กฎหมายฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม 1977 ได้จัดตั้ง «คณะกรรมาธิการการแข่งขันทางการค้า» (La commission de la concurrence) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่แทนคณะกรรมาธิการเทคนิคฯ มีอำนาจเพิ่มเติม คือ สามารถให้คำแนะนำแก่รัฐบาลในเรื่องการแข่งขันทางการค้าและให้ความเห็นเรื่องการรวมธุรกิจ (La concentration)
       รัฐกำหนดฉบับวันที่ 1 ธันวาคม 1986 นอกจากได้ให้ «เสรีภาพในการกำหนดราคาและในการแข่งขันทางการค้า» (La liberté des prix et de la concurrence) เป็นหลักกฎหมายทั่วไปแล้ว (Le principe général) รัฐกำหนดฉบับดังกล่าวยังได้จัดตั้ง «คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า» (Le conseil de la concurrence) แทนที่คณะกรรมาธิการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นองค์กรมหาชนอิสระที่สามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร และไม่มีความสัมพันธ์อันเอื้อผลประโยชน์กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ความเป็น «องค์กรมหาชนอิสระ» สามารถพิจารณาได้ทั้งจากองค์ประกอบและรูปแบบการดำเนินงาน และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ
       
       ก. องค์ประกอบและรูปแบบการดำเนินงาน
       
       เพื่อให้เข้าใจความเป็น «องค์กรมหาชนอิสระ» ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น ควรที่จะศึกษาองค์ประกอบของคณะกรรมการฯและรูปแบบการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการฯ
       
       1. องค์ประกอบของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า
       

       คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าประกอบไปด้วยกรรมการทั้งสิ้นสิบเจ็ดคน ซึ่งในสิบเจ็ดตำแหน่งนี้ เป็นประธานคณะกรรมการและรองประธานฯสามคนซึ่งเป็นการเลือกโดยกรรมการในคณะ คณะกรรมการฯมีคุณวุฒิแตกต่างกัน ดังนี้
       · ตุลาการหรืออดีตตุลาการสภาแห่งรัฐ (Le Conseil d’Etat), ศาลฎีกา (La Cour de Cassation), ศาลตรวจเงินแผ่นดิน (La Cour des Comptes) รวมถึงศาลปกครองและศาลสถิตยุติธรรมอื่นๆ - แปดตำแหน่ง
       · ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์, การแข่งขันทางการค้า และการ บริโภค - สี่ตำแหน่ง
       · ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนซึ่งประกอบหรือเคยประกอบกิจการด้านการผลิต, การจำหน่ายจ่าย
       แจก, การช่างฝีมือ, การให้บริการ และ อาชีพอิสระอื่นๆ - ห้าตำแหน่ง
       การแต่งตั้งคณะกรรมการจะต้องทำโดยรัฐกฤษฎีกาของนายกรัฐมนตรีตามรายงานของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระสามารถถูกแต่งตั้งเพื่อมาดำรงตำแหน่งได้อีก นอกจากนี้ กรรมการไม่สามารถถูกให้พ้นจากตำแหน่งได้ ยกเว้น ในกรณีต้องห้ามร้ายแรงที่ระบุไว้ใประมวลกฎหมายพาณิชย์3 ก่อนเริ่มวาระการดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจะต้องรายงานตำแหน่งหน้าที่และผลประโยชน์ในการประกอบกิจการและธุรการทางเศรษฐกิจของตน ทั้งนี้เพราะคณะกรรมการสามารถที่จะดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้พร้อมกับการดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพเดิม (ยกเว้น ประธานคณะกรรมการฯและรองประธานฯ) แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการฯจึงมีเงื่อนไขว่ากรรมการแต่ละคนไม่สามารถร่วมลงมติในคดีที่ตนเองมีผลประโยชน์ได้
       การทำงานของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นการทำงานในรูปของ «คณะกรรมการ» อันหมายความว่า มติหรือคำตัดสินหรือคำพิจารณาข้อพิพาทใดๆของคณะกรรมการฯจะต้องออกมาภายใต้รูปแบบของการลงมติร่วมกันของกรรมการ อาจจะมาจากการประชุมขององค์ประชุมชุดใหญ่ (La formation plénière), ของคณะอนุกรรมการฯ หรือ ของคณะกรรมการสามัญ (ประกอบไปด้วยประธานคณะกรรมการฯ และรองประธานฯอีกสามคน) แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว การลงมติคำพิจารณาของคณะกรรมการฯจะอยู่ในรูปของมติของคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าประกอบไปด้วยคณะอนุกรรมการฯสี่ชุดมีประธานคณะกรรมการฯและรองประธานฯเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯในแต่ละชุด และเพื่อให้คำพิจารณามีผลบังคับใช้ได้ การลงมติจะต้องประกอบไปด้วยกรรมการไม่น้อยกว่าแปดคนสำหรับองค์ประชุมชุดใหญ่ (La formation plénière) และไม่น้อยกว่าสามคนสำหรับการลงมติในรูปแบบอื่น อีกทั้งยังกำหนดว่าจะต้องมีกรรมการที่เป็นตุลาการร่วมอย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ
       
       2. การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า
       

       คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าแม้จะเป็นองค์กรที่สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นอิสระ แต่ยังมีบางประเด็นที่ขัดแย้งกับความเป็นองค์กรมหาชนอิสระ กล่าวคือ เรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ายังเป็นข้ารัฐการประจำกระทรวงเศรษฐกิจ การจ้างและค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์โดยตรง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นพนักงานขึ้นตรงต่อและถูกจ้างโดยเงินงบประมาณของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯยังมีอิสระในการกำหนดเงินงบประมาณของตนเอง
       
       ข. อำนาจและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า
       

       คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจตามกฎหมายฝรั่งเศส (Livre IV ประมวลกฎหมายพาณิชย์) และ กฎหมายแห่งสหภาพยุโรป (มาตรา 81 et 82 สนธิสัญญากรุงโรม) กล่าวคือ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายพาณิชย์ มาตรา L. 410-1และ L. 410-2 ว่าด้วยเรื่องความร่วมมืออันมีผลต่อต้านการแข่งขันทางการค้า (Les ententes) และ การใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (L’abus de position dominante) ซึ่งกฎหมายแข่งขันทางการค้ามีผลบังคับใช้กับกิจการทางเศรษฐกิจทุกประเภท ทั้งนี้ มาตรา L. 410-1 ประมวลกฎหมายพาณิชย์ระบุว่ากิจการทางเศรษฐกิจที่ต้องถูกบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า คือ กิจการทางเศรษฐกิจทางด้านการผลิต, การจำหน่ายจ่ายแจก และ การให้บริการ ดังนั้น กฎหมายแข่งขันทางการค้าจึงมีผลบังคับใช้กับทั้งผู้ประกอบการของรัฐและเอกชนที่ประกอบกิจการตามที่ระบุในมาตรา L. 410-1 ข้างต้น
       ดังนั้น เพื่อให้เห็นความแตกต่างเรื่องอำนาจขององค์กรมหาชนอิสระเฉพาะกิจการและประเภทมีอำนาจทั่วไปได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจจะดูได้จากตัวอย่างอำนาจหน้าที่ คือ องค์กรมหาชนอิสระทางเศรษฐกิจที่มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะกิจการสามารถกำกับดูแลการแข่งขันในกิจการทางการค้าสาขาของตนได้ในเรื่องการออกกฎเกี่ยวกับเงื่อนไขการให้บริการ อัตราค่าบริการ รวมถึงการระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการ แต่หากเกิดการละเมิดกฎหมายแข่งขันทางการค้าขึ้น คือ แม้จะเกิดการร่วมมืออันมีผลต่อต้านการแข่งขันและการใช้อำนาจเหนือตลาดในกิจการเฉพาะสาขา ผู้ที่มีอำนาจกำกับดูแลคือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า
       
       อำนาจและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าสามารถสรุปได้ ดังนี้
       
       1. อำนาจในการให้คำปรึกษา (La fonction consultative)
       
       คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าสามารถให้ความเห็นและคำปรึกษาเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าของทุกประเภทกิจการในตลาด ผู้ที่สามารถขอรับคำปรึกษาและความเห็นจากคณะกรรมการฯได้ในทุกคำถามที่เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า4 คือ รัฐบาล รัฐสภา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรผู้ประกอบการ สหภาพแรงงาน องค์กรผู้บริโภค, หากมีเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันในคดีของศาลสถิตยุติธรรมและศาลปกครอง หน่วยงานเหล่านี้สามารถขอความเห็นจากคณะกรรมการฯได้5 แต่ความเห็นดังกล่าวไม่มีผลผูกพันกับผู้ขอความเห็นและศาลเท่านั้นที่สามารถสั่งยกเลิกข้อสัญญาอันละเมิดในคดีได้ , รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจสามารถขอความเห็นจากคณะกรรมการฯในเรื่องเกี่ยวกับการรวมกิจการได้6 นอกจากนี้องค์กรมหาชนอิสระซึ่งมีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะกิจการยังสามารถขอความเห็นจากคณะกรรมการฯได้ตามที่กฎหมายระบุ
       ชนิดของการขอความเห็นและคำปรึกษาจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มีทั้งที่กฎหมายบังคับและเลือกที่จะขอความเห็นหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่กฎหมายบังคับให้มีการขอความเห็นและคำปรึกษาจากคณะกรรมการฯเสมอ เช่น ก่อนการลงมติอนุมัติร่างรัฐกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการหรือร่างรัฐกฤษฎีกาที่อาจจะมีผลกีดกันหรือต่อต้านการแข่งขันทางการค้า หรือ ในกรณีการพิจารณาการรวมธุรกิจ7 ซึ่งเป็นอำนาจของ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ รัีฐมนตรีฯจำเป็นต้องขอความเห็นจากคณะกรรมการฯเช่นกัน
       ในบางกรณี กฎหมายมิได้บังคับให้ขอความเห็นหรือคำปรึกษาจากคณะกรรมการฯ แต่ให้เป็นวิจารณญาณของหน่วยงานว่าสมควรจะขอความเห็นหรือไม่ ตัวอย่างของกรณีดังกล่าว เช่น การขอความเห็นโดยคณะกรรมาธิการสามัญในรัฐสภาซึ่งทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายทั่วไป
       
       2. อำนาจในการตัดสินข้อพิพาท (La fonction contentieuse)
       

       คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจในการกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ การร่วมมือทางธุรกิจและการมีอำนาจเหนือตลาดมิไ้ด้ถือว่าเป็นการสิ่งที่ละเมิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า กฎหมายดังกล่้าวจะถูกละเมิดก็ต่อเมื่อการร่วมมือทางธุรกิจมีผลกีดกันและต่อต้านการแข่งขัน หรือ ก็ต่อเมื่อมีการใช้อำนาจเหนือตลาดไปในทางที่มิชอบเพื่อกีดกันการแข่งขันทางการค้า มาตรา L. 420-2 ได้ให้ความหมายของการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ คือ การที่ผู้ประกอบกิจการมีอำนาจเหนือตลาด และใช้อำนาจนั้นเพื่อกีดกันและต่อต้านการแข่งขันทางการค้า ส่วนการรวมธุรกิจ ตามมาตรา L. 420-1 คือ การที่ผู้ประกอบการอย่างน้อยสองคน/กลุ่มได้ร่วมมือกันไม่ว่าในรูปแบบใดเพื่อประกอบการทางธุรกิจ เพื่อพิจารณาว่าการรวมธุรกิจถือว่ามีผลกีดกันทางการค้าหรือไม่ คณะกรรมการฯจะพิจารณาจาก ข้อสัญญาในการรวมธุรกิจ ส่วนแบ่งในตลาดก่อนและหลังการรวมธุรกิจ สภาวะการแข่งขันในตลาด ฯลฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะมีสิทธิพิจารณาหรือตัดสินก็ต่ิอเมื่อข้อพิพาทจากพฤติกรรมกีดกันทางการค้าเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น คณะกรรมการฯไม่สามารถพิจารณาเรื่องความเหมาะสมหรือโอกาสในการออกกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญัติ และเมื่อเกิดพฤติกรรมกีดกันและต่อต้านการแข่งขันขึ้นผู้ที่มีสิทธิฟ้องร้องต่อคณะกรรมการฯได้ คือ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือวิสาหกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรผู้ประกอบการ สหภาพแรงงาน และองค์กรผู้บริโภค การไต่สวนมูลฟ้องข้อพิพาทของคณะกรรมการฯจะมีเจ้าของสำนวนเป็นผู้จัดเตรียมสำนวน ซึ่งผู้จัดเตรียมสำนวนคำฟ้องนี้อาจจะเป็นตุลาการ ข้ารัฐการ นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักกฎหมายก็ได้ ระหว่างการพิจารณาข้อพิพาท ประมวลกฎหมายพาณิชย์ได้มีการรับรอง «สิทธิในการป้องกันตนเอง» (Les droits de la défense) โดยกำหนดให้มีกระบวนการที่เปิดโอกาสให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ถกเถียง ชี้แจง หรือแสดงเอกสารต่อกันและต่อคณะกรรมการฯ (Le principe de la contradiction) อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้สามารถยื่นอุทรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เมืองปารีส (La Cour d’appel de Paris) และยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา (La Cour de Cassation) ได้  คำพิจารณาข้อพิพาท (La décision) ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีหลายรูปแบบ เช่น ในกรณีของข้อพิพาทที่จักต้องได้รับการพิจารณาอย่างเร่งด่วนเพราะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าข้อสัญญาจะมีผลกระทบร้ายแรงและฉับพลัน (Une atteinte grave et immédiate) ต่อภาวะการแข่งขันของตลาดโดยรวม คณะกรรมการฯสามารถพิจารณาสั่งมาตรการชั่วคราว (La mesure conservatoire) เพื่อระงับการกระทำทางธุรกิจที่ระบุในข้อสัญญาได้ นอกจากนี้ยังมีคำพิจารณาข้อพิพาทที่มีลักษณะเป็นบทลงโทษ ทั้งที่เป็นโทษปรับทางปกครอง (Les astreintes) และโทษปรับทางการเงิน (Les sanctions pécuniaires) คำนวนตามสัดส่วนรายได้ของการประกอบกิจการ หรือในบางกรณี หากคณะกรรมการฯได้พิจารณาในข้อพิพาทว่าหากการกระทำที่ถือว่าเป็นการกีดกันหรือต่อต้านทางการค้าบางอย่างได้รับการแก้ไขจะทำให้การแข่งขันทางการค้าเกิดขึ้นได้เป็นปกติ คณะกรรมการฯสามารถมีคำพิจารณาข้อพิพาทในลักษณะที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเสนอข้อปรับปรุงเพื่อแก้ไขพฤติกรรมของตนได้
       
       นอกจากนี้ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าไม่มีอำนาจในการออกกฎข้อบังคับ เพราะกฎที่ใช้บังคับเรื่อง การร่วมมือต่อต้านการแข่งขันทางการค้าและการใช้อำนาจเหนือตลาดคือกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งอำนาจในการออกกฎข้อบังคับเป็นหนึ่งในความแตกต่างระหว่างองค์กรกำกับดูแลกิจการทั่วไปและองค์กรกำกับดูแลเฉพาะกิจการ
       
       ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของฝรั่งเศสกับสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบ ( Le règlement) ฉบับวันที่ 16 ธันวาคม 2002 ว่าด้วยเรื่องการนำกฎว่าด้วยเรื่องการแข่งขันทางการค้ามาบังคับใช้8 ซึ่งประเทศฝรั่งเศสได้นำกฎระเบียบดังกล่าวมาบังคับใช้ผ่านรัฐกำหนด ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2004 กล่าวคือ กฎระเบียบของสหภาพยุโรปเปิดโอกาสให้มีการ «กระจายอำนาจ» ให้แก่องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันของประเทศสมาชิกในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขันยุโรป อันหมายถึงคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าซึ่งปกติมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าฝรั่งเศส ขณะเดียวกันหากผลของการประกอบกิจการใดๆมีผลเกินกว่าระดับประเทศสมาชิก คณะกรรมการฯยังจะต้องบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าแห่งสหภาพยุโรปอีกด้วย
       
       เชิงอรรถ
       
1. คณะผู้เขียน นางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม (นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขากฎหมายมหาชนเศรษฐกิจ) และ นางสาวพิมพ์ดาว จันทรขันตี ( นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ )
       2. ผู้เขียน นางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัย ปารีส 2 (Panthéon-Assas)
       3. มาตรา L. 461-1 et L. 461-2 ประมวลกฎหมายพาณิชย์
       4. มาตรา L. 462-1 ประมวลกฎหมายพาณิชย์
       5. มาตรา L.420-3 ประมวลกฎหมายพาณิชย์
       6. มาตรา L. 462-4 ประมวลกฎหมายพาณิชย์
       7. การรวมธุรกิจ (La concentration) มิใช่อำนาจโดยตรงของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กล่าวคือ ก่อนการรวมธุรกิจ ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งให้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจทราบถึงโครงการการร่วมธุรกิจ ซึ่งหากผู้ประกอบการมิได้แจ้งโครงการการรวมธุกิจให้รัฐมนตรีฯหรือแจ้งข้อมูลเท็จ รัฐมนตรีฯสามารถลงโทษได้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าคือ เมื่อรัฐมนตรีฯได้รับแจ้งโครงการการรวมธุรกิจและพิจารณาแล้วว่าอาจจะเกิดผลกีดกันและต่อต้านการแข่งขันทางการค้า รัฐมนตรีฯจะต้องขอความเห็นจากคณะกรรมการฯ
       8. Le règlement N° 1/2003 du Conseil du 16 décembre 2002 relatif à la mise en œuvre des règles de concurrence prévues aux articles 81 et 82 du Traité
       
       ท่านสามารถอ่านบทความเรื่องเดียวกัน ตอนที่หนึ่งได้ ที่นี่


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=838
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)