ครั้งที่ 121

13 พฤศจิกายน 2548 22:43 น.

       "การจราจลในฝรั่งเศส:ปัญหาที่สะสมมานาน"
       สองอาทิตย์ที่ผ่านมามีเรื่องให้คิดและให้ติดตามมากมายครับ เนื่องจากผมไปต่างประเทศมาสองอาทิตย์ พอกลับมาถึงก็เปิดเทอมพอดีและในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ผมก็จะไปเป็น visiting professor ที่มหาวิทยาลัย Aix-Marseille 3 ประเทศฝรั่งเศสอีก ก็เลยทำให้เวลา 1 เดือนที่ผมมีอยู่คือเดือนพฤศจิกายนนี้ยุ่งเป็นพิเศษ ต้องทำหลายอย่างรวมทั้งสอนชดเชยล่วงหน้าสำหรับเดือนธันวาคมที่ผมจะไม่อยู่ด้วยครับ
       ผมคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงเหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสเพราะไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มักมีคนถามผม ที่ถามผมก็อาจเป็นเพราะผมไปฝรั่งเศสบ่อยหรือไม่ก็เพราะผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายฝรั่งเศสหลายเล่มก็เป็นได้ครับ สถานการณ์วุ่นวายในฝรั่งเศสนั้นเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา ชนวนของเหตุการณ์เกิดขึ้นจากการที่วัยรุ่นเชื้อชาติอาหรับและอาฟริกันจำนวน 3 คนที่อาศัยอยู่ย่านชานกรุงปารีส วิ่งหนีการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในสถานีไฟฟ้าย่อยและถูกไฟดูดตายไป 2 คน ส่วนอีก 1 คนก็อาการยังสาหัสอยู่ เรื่องดังกล่าวก็เลยกลายเป็นชนวนว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุ ตำรวจเลือกปฏิบัติกับคนผิวสี ตำรวจไม่เคารพต่อหลักว่าด้วยความเสมอภาคของพลเมืองฝรั่งเศส มีการขยายข่าวดังกล่าวออกไปทางอินเตอร์เน็ตเรียกร้องให้คนผิวสีออกมาแสดงพลัง ในที่สุดก็กลายเป็นเหตุวุ่นวาย กลุ่มวัยรุ่นที่เป็นคนเชื้อชาติอาหรับและอาฟริกันที่อยู่ในละแวกชานกรุงปารีสซึ่งเป็นที่เกิดเหตุพากันออกมาเผารถ เผาและทำลายสถานที่ราชการหลายแห่ง ซึ่งต่อมาเหตุการณ์ก็ได้บานปลายเข้าไปอีกเพราะเมื่อนาย Nicolas Sarkozy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สั่งให้มีการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบอย่างเด็ดขาดและในตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ได้ใช้คำพูดไม่สุภาพโดยเรียกผู้ก่อความวุ่นวายว่า พวกอันธพาลชั้นต่ำ (racaille) คำพูดดังกล่าวสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับประชาชนกลุ่มหนึ่ง จึงทำให้การจลาจลขยายวงกว้างออกไป มีข้อเรียกร้องของผู้ก่อความไม่สงบที่อ้างว่าจะเลิกก่อความไม่สงบหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลาออกเพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนนี้เป็นคนแข็งกร้าวและใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ในขณะเขียนบทบรรณาธิการนี้คือวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน เหตุการณ์จลาจลได้เกิดขึ้นในเทศบาลกว่า 300 แห่งและกระจายไปทั่วประเทศ มีการเผาทำลายรถไปกว่า 7000 คัน อาคารและสถานที่ทำงานทั้งของรัฐและของเอกชนถูกเผาทำลายเป็นจำนวนมาก และเมื่อวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน รัฐบาลได้ตัดสินใจประกาศใช้กฎอัยการศึกซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1955 แต่ไม่เคยนำมาใช้อีกเลยหลังจากออกกฎหมายในปีดังกล่าว สาระสำคัญของการนำเอากฎหมายฉบับนี้มาใช้บังคับก็เพื่อให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะประกาศตามความจำเป็นของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นห้ามคนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มวัยรุ่นออกไปก่อเหตุในยามค่ำคืน ผมมีโอกาสได้ดูข่าว TV5 ของฝรั่งเศสแล้วก็รู้สึกเห็นใจประชาชน เพราะในบางเทศบาลก็มีการบุกเผาโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็กเล็กของเทศบาล ในขณะที่โรงเรียนบางแห่งก็ขอให้ผู้ปกครองเข้าไปนอนเฝ้าโรงเรียนในตอนกลางคืนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้น รวมความแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสครั้งนี้นับเป็นเหตุร้ายแรงที่ทำลายหลาย ๆ อย่างที่อุตส่าห์สร้างกันมาเป็นเวลานานลงอย่างง่ายดายครับ และจากการติดตามข่าวทำให้ทราบว่าเหตุที่เกิดการจลาจลในหลาย ๆ เมืองก็เพราะกลุ่มวัยรุ่นมีเครือข่ายchatกันทางอินเตอร์เน็ต จึงสามารถส่งข่าวและระดมพลรวมทั้งชักจูงให้พรรคพวกออกมาแสดงพลังเพื่อต่อต้านรัฐบาลกันครับ


        
       หากจะพิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริงที่เกิดการจลาจลขึ้นว่าเกิดจากเหตุใดนั้น คงไม่ยาก การที่เด็กผิวสีสองคนถูกไฟดูดตายกับคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้นเป็นเพียงการจุดชนวนความวุ่นวายให้เกิดระเบิดขึ้นครับ เราศึกษาประวัติศาสตร์กันมามากคงพอจำได้ว่าฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมจำนวนมากเช่นเดียวกับบางประเทศในยุโรป คนที่อยู่ในประเทศอาณานิคมส่วนใหญ่แล้วสามารถเดินทางเข้าออกและเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสได้ไม่ยาก คนเหล่านี้เมื่อเข้ามาอยู่มากขึ้น งานก็ไม่มีทำ ความรู้น้อย จึงเกิดปัญหาขึ้น และในช่วงเวลาหนึ่งที่มีผู้อพยพเข้ามาอยู่มาก แต่ไม่มีการจัดระบบเพื่อรองรับความเป็นอยู่ของผู้คนเหล่านั้น ก็เลยเกิดเป็นปัญหาสังคมขึ้น คนที่มีความรู้น้อยและไม่มีงานทำก็ออกมาเพ่นพ่านตามถนน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ฝ่ายปกครองก็เลยต้องให้ความสนใจกับคนเหล่านั้นเป็นพิเศษ จึงทำให้เกิดปัญหาคาใจทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายปกครองก็คิดว่าพวกดังกล่าวเป็นอันธพาลที่ต้องจับตาดูอย่างเคร่งครัดในขณะที่พวกดังกล่าวก็คิดว่าฝ่ายปกครองเลือกปฏิบัติจ้องจับผิดแต่พวกตนอย่างเดียว สภาพสังคมจึงถูกแบ่งแยกออกไปในทางปฏิบัติ และยิ่งการที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นรัฐสวัสดิการที่เก็บภาษีจากผู้มีรายได้ด้วยอัตราที่ค่อนข้างสูงและนำไปจัดสวัสดิการให้กับประชาชนซึ่งรวมถึงผู้ที่เข้ามาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสด้วย ก็เลยทำให้คนฝรั่งเศสแท้ ๆ ที่จ่ายภาษีรู้สึกไม่พอใจที่รัฐนำเงินของตนเองไปเลี้ยงดูอันธพาลหรือผู้อพยพ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ความไม่พอใจซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่ายที่ถูกเก็บกดเอาไว้เป็นเวลานานประทุออกมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เด็กผิวสีสองคนถูกไฟดูดตายเนื่องจากหนีการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจครับ
       ผมคงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเรื่องดังกล่าวจะจบลงอย่างไรและจบลงเมื่อไร เพราะเหตุที่แท้จริงของปัญหานั้นมันอยู่ในใจของทุกคน แม้หนนี้การจลาจลจะจบลง แต่ช่องว่างระหว่างคนฝรั่งเศสกับผู้ที่เข้ามาอยู่ในฝรั่งเศสก็ยังคงเป็นช่องว่างต่อไป และในวันข้างหน้าก็คงเกิดความวุ่นวายขึ้นอีกหากมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นครับ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าคิดสำหรับเราก็คือ การเป็นบุคคลสาธารณะนั้นวางตัวลำบากโดยเฉพาะการเป็นนักการเมืองที่ต้องระมัดระวังคำพูดของตนให้มาก ใครจะคิดว่าแค่การให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสเพียงคำเดียวที่เรียกผู้ก่อความไม่สงบว่าเป็นพวกอันธพาลชั้นต่ำจะกลายมาเป็นชนวนก่อเหตุรุนแรงที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับทรัพย์สินของเอกชน ของรัฐ รวมไปถึงชื่อเสียงของประเทศด้วยครับ ก็คงต้องระมัดระวังปากกันให้มากกว่านี้นะครับเพราะนอกจากผลเสียจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงแล้ว ในส่วนตัวหากรัฐมนตรีผู้นั้นลาออก การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศโดยปราศจากอำนาจก็คงไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะพวกที่ถูกเรียกว่าอันธพาลชั้นต่ำนั้นมีจำนวนมากเหลือเกินครับ!
       
       จริง ๆ แล้ว ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมอยากพูดเรื่องปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดินที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ไม่รู้จบ แต่ก็คงไม่มีเนื้อที่ให้เขียนมากนักเพราะมัวแต่เล่าเรื่องจลาจลที่ฝรั่งเศสเสียก่อน ก็คงติดเอาไว้คราวหน้าเผื่อเหตุการณ์จะมีอะไรมากขึ้นกว่าในวันนี้ครับ
       
       เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยได้จัดพิธีมอบอิสริยาภรณ์สำหรับตำแหน่ง Chevalier de l’Ordre National du Mérite ให้กับผม ซึ่งจริง ๆ แล้วมีรัฐกฤษฎีกาแต่งตั้งให้ผมดำรงตำแหน่งดังกล่าวซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดี Jacques Chirac ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ.2005 แล้ว แต่เนื่องจากหาเวลาว่างตรงกับเอกอัครราชทูตไม่ได้ ก็เลยเพิ่งมารับมอบครับ พิธีดังกล่าวมีผู้ที่ผมให้ความเคารพนับถือมาร่วมจำนวนมาก หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าผมทำอะไรจึงได้ตำแหน่งดังกล่าว ก็ขอบอกให้ทราบกันว่า ผมเป็น “ที่ปรึกษากฎหมายสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย” มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2537 จนถึงปัจจุบันครับ


       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความสามบทความมานำเสนอครับ บทความแรกเป็นบทความที่เป็นตอนต่อของบทความที่ได้ลงเผยแพร่ไปในคราวที่แล้ว เรื่อง องค์กรมหาชนอิสระในกฎหมายมหาชนเศรษฐกิจของฝรั่งเศส (les autorités administratives indépendantes en droit public de l’ économie français) ที่เขียนโดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม และนางสาวพิมพ์ดาว จันทรขันตี นักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายมหาชนอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส บทความที่สองเป็นบทความของ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ สำนักท่าพระจันทร์ ที่ได้แสดงมุมมองของตนในเรื่องการสรรหาผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน ในบทความเรื่อง ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 กับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ส่วนบทความที่สามคือบทความ เรื่อง ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) กับปัญหาในการเข้าเป็นภาคีของไทย โดย นายเกรียงศักดิ์ แจ้งสว่าง นิติกรกลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักงานเลขาวุฒิสภา ซึ่งผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนบทความทุกคนไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       จริง ๆ แล้วผมได้เขียนบทความของผมเอาไว้หนึ่งเรื่องคือ บทความเรื่อง กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ยังไม่ได้นำลงเผยแพร่เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เรามีนักวิชาการส่งบทความมาลงตลอดเวลา ในคราวหน้าผมคงต้องขอลงบทความของผมบ้างนะครับ!!
       นอกจากบทความทั้ง 3 แล้ว เรามีการแนะนำหนังสือดี ๆ จำนวนหนึ่งใน “หนังสือตำรา”ด้วยครับ ลองแวะเข้าไปดูหน่อยนะครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=820
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:57 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)