ครั้งที่ 65

14 ธันวาคม 2547 18:21 น.

       ไปสัมมนา “รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้ง” ที่ฝรั่งเศส
       ผมนั่งเขียนบทบรรณาธิการนี้บนรถไฟความเร็วสูง (TGV) ที่วิ่งจากเมือง Aix-en-Provence ไปยังเมือง Paris ครับ
       ผมเดินทางมาถึงเมือง Aix-en-Provence เมื่อวันอังคารที่ ๙ กันยายนที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง “รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้ง” ที่จัดโดยกลุ่มศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับคดีรัฐธรรมนูญ (Groupe d’Etudes et de Recherches sur la Justice Constitutionnelle) อันประกอบด้วยนักวิชาการจากประเทศต่างๆในยุโรปหลายประเทศ การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๙ แล้วครับ
       ก่อนการสัมมนา ๒ วัน คือ วันพุธ และ วันพฤหัสบดี ที่ ๑๐ และ๑๑ กันยายน มีการบรรยายพิเศษ ที่น่าสนใจที่ผมมีโอกาสเข้าร่วมฟังคือ การบรรยายเรื่อง “นิติกรรมทางนิติบัญญัติที่ออกโดยฝ่ายบริหาร” ผู้บรรยายซึ่งเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนจากเมือง Pau ทำการบรรยายได้ดีมาก โดยทำการบรรยายเปรียบเทียบถึงการให้อำนาจของฝ่ายบริหารในการออกกฎหมายของสี่ประเทศคือ อิตาลี สเปน โปรตุเกส และ ฝรั่งเศส สรุปความได้ว่า การที่ฝ่ายบริหารจะมีอำนาจในการออกกฎหมายอันเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติได้นั้น สามารถทำได้สามวิธีคือ ๑. ต้องมีการมอบอำนาจให้แก่ฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติก่อน ๒. ไม่มีการมอบอำนาจก่อน แต่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ฝ่ายบริหารจะต้องรีบดำเนินการ และ ๓. ไม่มีเกณฑ์อะไรเลย คือ ไม่ใช่ทั้งเรื่องเร่งด่วน และไม่มีการมอบอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติ หัวข้อทั้งสามนี้ ผู้บรรยายทำการบรรยายทั้งวัน มีการยกตัวอย่างสาระสำคัญมากมาย ก็นับว่าเป็นโชคดีของผมที่ได้ฟังการบรรยายที่น่าสนใจและมีสาระเช่นนี้ สาระของการบรรยายทั้งหมดในหัวข้อนี้อยู่ที่อำนาจของฝ่ายบริหารในการออกกฎหมาย ซึ่งในฝรั่งเศสนั้น ฝ่ายบริหารจะออกรัฐกำหนดได้ ก็ต้องให้รัฐสภาออกรัฐบัญญัติอนุญาตให้ฝ่ายบริหารออกรัฐกำหนดได้ก่อน เมื่อฝ่ายบริหารออกรัฐกำหนดมาแล้ว ก่อนที่รัฐสภาจะให้สัตยาบัน รัฐกำหนดนั้นก็อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครองครับ ส่วนประธานาธิบดีเองแม้จะมีอำนาจในการออกรัฐกำหนดได้ แต่ก็ไม่ใช่อำนาจอย่างเสรี เพราะต้องปรึกษาหารือกับฝ่ายบริหารที่สำคัญๆก่อน มีเรื่องน่าสนุกก็คือ ผู้บรรยายเล่าว่า ในประเทศ อิตาลีนั้น ปีหลังๆมีการออกรัฐกำหนดปีละเป็นร้อยฉบับ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธที่จะตรวจสอบเหตุผลในการออกรัฐกำหนดของฝ่ายบริหารโดยอ้างว่า เป็นความรับผิดชอบทางการเมืองของฝ่ายบริหาร ก็เลยทำให้ฝ่ายบริหารสนุกกับการออกรัฐกำหนดกันมากครับ !!!
       ส่วนการสัมมนาในวันศุกร์ที่ ๑๒ และเสาร์ที่ ๑๓ กันยายน ก็เป็นการสัมมนา เรื่อง รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้ง มีคนเข้าร่วมสัมมนาประมาณ ๑๕๐ คน จาก ๒๘ ประเทศ ในเอเชียเราก็มีไทยกับญี่ปุ่นครับ การสัมมนาทั้งสองวันก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากมีคนมาก และส่วนใหญ่ก็ต้องการพูดทั้งนั้น เลยทำให้สาระสำคัญที่ได้จากการสัมมนาน้อยไปหน่อยครับ อ้อ ! มีเรื่องแปลกๆ จะเล่าให้ผู้ใช้บริการฟังเรื่องหนึ่งครับ ผู้เข้าร่วมสัมมนาคนหนึ่งซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศอิตาลีได้เล่าให้ผู้ร่วมสัมมนาฟังว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้งในประเทศอิตาลีได้ออกประกาศมาหนึ่งฉบับห้ามผู้ออกเสียงเลือกตั้งนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งสามารถถ่ายรูปได้เข้าไปในช่องลงคะแนนเสียง หลายๆคนคงเดาออกว่าทำไม ก็เพราะเกิดการ “ซื้อเสียง” รูปแบบใหม่ครับ โดย “ผู้ขายเสียง” จะต้อง “ถ่ายรูป” บัตรที่ตนเองกาไว้เป็นหลักฐานเพื่อมารับเงิน !!! น่าสนุกนะครับกับการโกงรูปแบบใหม่ๆ ไม่ทราบที่ผมนำมาเล่าให้ฟ้งอย่างนี้ จะเป็นการ “ชี้โพรง” ให้บรรดากระรอกไทยทั้งหลายหรือเปล่าครับ !!!
       เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา คือ ๑๕ กันยายน ผมได้ทำหน้าที่เป็นล่ามให้ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คือ คุณนพดล เฮงเจริญ ในการเข้าพบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่องค์กรประเภทเดียวกันของทั้งสองประเทศพยายามที่จะร่วมมือกันครับ ในการเข้าพบวันนั้น ทำให้ทราบถึงการทำงานของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสว่าเป็นอย่างไร เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้จากเข้าพบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในวันนั้นก็คือ เรื่องแรกในการประชุมคณะตุลาการรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ที่ปรึกษากฎหมายของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องเข้าร่วมในการประชุมเพื่อให้ความเห็นในปัญหากฎหมายที่สำคัญๆต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ปรึกษากฎหมายมี จำนวน ๓ คน เป็น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ๑ คน ผู้พิพากษาศาลปกครอง ๑ คน และนักกฎหมายจากสำนักงานเลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎรอีก ๑ คน ครับ น่าสนใจนะครับ สำหรับเรื่องที่ปรึกษากฎหมายนี้ เพราะเท่าที่ทราบมา ของไทยเราไม่มีระบบนี้ครับ เรื่องที่สองก็คือ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญชอบอ่านคำวิจารณ์คำวินิจฉัยของตนมากครับ โดยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีควรรับฟัง ผมมีโอกาสได้เห็นเอกสารที่เลขาธิการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสทำเสนอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยตัดคำวิจารณ์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ปรากฎอยู่ใน วารสารและสิ่งพิมพ์อื่นๆ มานำเสนอ ซึ่งแม้แต่ตัวเลขาธิการเอง (ซึ่งมาจากผู้พิพากษาศาลปกครอง) ก็ยังวิจารณ์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเลยครับ !!! สองเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เรายังไม่ “คุ้นเคย” นะครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ ๒ บทความ บทความแรก คือ บทความของผม เรื่อง ความรู้เบื้องต้นกฎหมายปกครอง ที่นำมาลงเป็นตอนที่ ๔ แล้วครับ ได้มีโอกาสพบนักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสหลายคน ก็ทราบว่าตามอ่านบทความกันอยู่ ก็ต้องของขอบคุณนะครับที่ให้ความสนใจงานของผม ส่วนบทความที่ ๒ เป็นบทความของรองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา เรื่อง รัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองพยานในคดีอาญา ครับ
       ท้ายสุดก็ขอแสดงความดีใจกับนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสที่สามารถเข้าเรียน D.E.A. ได้ในปีนี้ และที่ผ่านการสอบ D.E.A.ไปได้อย่างดีครับ อนาคตรออยู่ข้างหน้านะครับ อย่าลืมรีบเร่งเขียน วิทยานิพนธ์เพื่อจะได้จบกลับไปรับใช้ประเทศชาติเร็วๆครับ ผมก็ขอเอาใจช่วยต่อไปครับ
       ผมยังอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสต่ออีกเดือนเศษครับ พบกันใหม่ ใน website นี้ในวันจันทร์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ ครับ
       
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=82
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:55 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)