|
|
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาศาลปกครอง : กรณีสิทธิในการสมัครสอบ โดย ผศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ 16 ตุลาคม 2548 22:01 น.
|
การต่อสู้เพื่อสิทธิของนายศิริมิตร บุญมูล ทนายความพิการด้วยโรคโปลิโอ ท้ายที่สุดก็ประสบความสำเร็จเมื่อศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ.) ที่มีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีในการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย ซึ่งมีผลทำให้ในการสมัครสอบเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วยในครั้งต่อไป นายศิริมิตร บุญมูล จะไม่มีปัญหาจากเหตุผลเพราะมีร่างกายไม่เหมาะสม โดยเหตุที่กรณีของนายศิริมิตร บุญมูล ได้เคยต่อสู้เป็นคดีในศาลถึง 3 ศาล กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด ในที่นี้ขอสรุปสาระสำคัญของแต่ละศาล และหลังจากนั้นผู้เขียนจะวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลแต่ละศาล
1. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาของศาลปกครอง
1.1 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2545
ในกรณีนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ยื่นหนังสือ ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็น ดังนี้
ก. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 60 (10) (1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 30 หรือไม่
ข. การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) และคณะอนุกรรมการ ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่นที่ 43 ประจำปี 2542 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว โดยมีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเบื้องต้นว่า การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็น เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเป็นไปตามมาตรา 198 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามคำร้องมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 198 ของรัฐธรรมนูญที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอมาได้
ประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณา คือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า มาตรา 26 (10) คำว่า มีกาย ... ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ จะใช้ควบคู่กับมาตรา 26 (11) ที่บัญญัติว่า เป็นผู้ที่ผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจโดยคณะกรรมการแพทย์จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่ง ก.ต. กำหนด และ ก.ต. ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการแพทย์แล้วเห็นว่า สมควรรับสมัครได้ บทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) เป็นไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมของฝ่ายตุลาการ จึงเห็นว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) ดังกล่าว เป็นลักษณะตามข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 29 ซึ่งไม่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 30 แต่อย่างใด
สำหรับประเด็นที่ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต. และคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 43 ประจำปี 2542 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 30 หรือไม่นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการขอให้วินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต. และคณะอนุกรรมการดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะเป็นการใช้ดุลพินิจ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยอาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 8 คน วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 3 คน เห็นว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) เฉพาะคำว่า มีกาย ... ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นการเกินขอบเขต โดยอ้างเหตุตามความเหมาะสมแทนความสามารถ
1.2 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 44/2545
ในกรณีนี้เป็นกรณีที่ศาลปกครองกลางยื่นคำร้อง ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 33 (11) (2) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 หรือไม่
เรื่องนี้เป็นกรณีที่นายศิริมิตร บุญมูล ฟ้องโต้แย้งมติของคณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ. ที่มีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดี เนื่องจากเป็นผู้มีบุคลิกภาพและร่างกายไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 33 (11) ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องโต้แย้งว่า มาตรา 33 (11) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยต่อไป ตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องนี้แล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 33 (11) คำว่า มีกาย ... ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ จะใช้ควบคู่กับมาตรา 33 (12) ที่บัญญัติว่า เป็นผู้ที่คณะกรรมการแพทย์มีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่ง ก.อ.จะได้กำหนดได้ตรวจร่างกายและจิตใจแล้ว และ ก.อ. ได้พิจารณารายงานของแพทย์เห็นว่า สมควรรับสมัครได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมของฝ่ายอัยการ จึงเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นลักษณะตามข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 30 แต่อย่างใด
1.3 คำพิพากษาศาลปกครอง ที่ 816/2546
คดีนี้เป็นคดีที่นายศิริมิตร บุญมูล ฟ้องโต้แย้งมติของคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ที่มีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลพิพากษาให้
ก. บทบัญญัติมาตรา 33 (11) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ตัดสิทธิสอบผู้ฟ้องคดีในการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วยประจำปี พ.ศ. 2544 ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ
ข. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติเปิดให้ผู้ฟ้องคดีสอบทดแทนการตัดสิทธิในครั้งที่ผ่านมาเป็นกรณีพิเศษ
ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ... การที่ผู้ฟ้องคดีมีรูปกายพิการตามรายงานผลการตรวจร่างกายของคณะอนุกรรมการแพทย์ดังกล่าว จึงเป็นความแตกต่างที่ถึงขั้นเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการที่จะปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานของพนักงานอัยการได้เมื่อเทียบกับบุคคลปกติทั่วไป การที่ผู้ถูกฟ้องคดี (ก.อ.) เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสภาพร่างกายไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการตามมาตรา 33 (11) และ (12) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 และมีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด และเป็นการใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรมและชอบด้วยเหตุผล ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีตัดสิทธิผู้ฟ้องคดีในการสอบอัยการผู้ช่วยประจำปี พ.ศ. 2544 จึงชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติเปิดให้ผู้ฟ้องคดีสอบทดแทนการถูกตัดสิทธิในครั้งที่ผ่านมาเป็นกรณีพิเศษ พิพากษายกฟ้อง
1.4 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.142/2547
นายศิริมิตร บุญมูล ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่ 816/2546 ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ...คณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติตามมาตรา 33 (11) และ (12) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 นั้น โดยที่ความเห็นของคณะกรรมการแพทย์ฯ และคณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกฯ เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นที่เสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดี โดยมิได้พิจารณาถึงความสามารถที่แท้จริงในการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี จึงไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นควรค่าแก่การรับฟังว่า การที่ผู้ฟ้องคดีมีกายพิการดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ของข้าราชการอัยการได้อย่างไร มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีในการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วยประจำปี พ.ศ. 2544 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยโดยไม่ชอบด้วย มาตรา 33 (11) แห่งพระราช บัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีในการประชุมครั้งที่ 6/2544 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ในส่วนที่มีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีในการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย พ.ศ. 2544
2. บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาของศาลปกครอง
ในที่นี้ผู้เขียนจะได้วิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาของศาลปกครอง โดยแยกวิเคราะห์ออกเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาของศาลปกครอง ดังนี้
2.1 บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2545 และ 44/2545
ก. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยประเด็นเดียวกัน แต่เกี่ยวกับกฎหมาย 2 ฉบับ กล่าวคือ มาตรา 26 (10) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 และมาตรา 33 (11) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 ทั้งสองมาตราดังกล่าวมีถ้อยคำในทำนองเดียวกัน และมีประเด็นให้วินิจฉัยในประเด็นเดียวกันว่า มาตราดังกล่าวขัดกับมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งสองคำวินิจฉัยนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีสาระสำคัญเหมือนกันว่า ทั้งสองกรณีไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ และทั้งสองเรื่องต่างมีความเห็นฝ่ายข้างน้อยที่เห็นว่าทั้งสองมาตราดังกล่าวขัดต่อมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ
หากจะวิเคราะห์กันว่า บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติถ้อยคำที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่นในกรณีนี้ที่บัญญัติว่า มีกายไม่เหมาะสม เป็นถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนอยู่ในตัวเอง ในทางกฎหมายของต่างประเทศมองเรื่องดังกล่าวแตกต่างกัน ประเทศส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องของดุลพินิจในส่วนองค์ประกอบของกฎหมาย ยกเว้นประเทศเยอรมนีเท่านั้นที่เห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของดุลพินิจแต่เป็นเรื่องของการประเมินข้อเท็จจริงให้เข้ากับองค์ประกอบของกฎหมาย ซึ่งมีผลทำให้ศาลเข้าไปตรวจสอบการประเมินข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ว่า ได้ประเมินข้อเท็จจริงโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งประเด็นปัญหาในเรื่องนี้อาจจะนำมาสู่ประเด็นขอบเขตในการตรวจสอบของศาลมีเพียงใด และศาลสามารถตรวจสอบเรื่องใดได้บ้าง ซึ่งผู้เขียนไม่ขอกล่าวรายละเอียดในเรื่องนี้ แต่ประเด็นที่จะเกี่ยวโยงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคือ การที่องค์กรนิติบัญญัติ บัญญัติกฎหมายที่มีลักษณะไม่ชัดเจนในตัวเองดังกล่าวจะเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า ท้ายที่สุดคงต้องยอมรับข้อจำกัดในการตรากฎหมายว่า องค์กรนิติบัญญัติก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถตรากฎหมายกำหนดรายละเอียดได้ในทุกเรื่อง หลายเรื่องจึงต้องมีการมอบอำนาจให้ฝ่ายปกครองไปกำหนดรายละเอียดบางเรื่องบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำที่มีความหมายกว้าง เช่น เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เพื่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นต้น กรณีเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะต้องตีความหรือประเมินข้อเท็จจริงว่า เข้าองค์ประกอบของกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่ ในกรณีเหล่านี้ หากถือตามความเห็นของฝ่ายข้างน้อยของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่า กฎหมายที่บัญญัติในลักษณะดังกล่าวขัดกับมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญก็คงก่อให้เกิดผลกระทบอย่างสำคัญต่อกระบวนการตรากฎหมาย ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่เห็นด้วยกับความเห็นฝ่ายข้างน้อยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า การวินิจฉัยของฝ่ายข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยโดยมิได้วางหลักหรือมิได้คำนึงถึงหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลอันเกิดจากการประเมินข้อเท็จจริงในกรณีของถ้อยคำในทางกฎหมายที่มีลักษณะไม่เฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด เพราะโดยแท้จริงแล้ว การจะกระทบสิทธิในกรณีนี้ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ใช้บทบัญญัติของกฎหมายที่มีลักษณะไม่เฉพาะเจาะจงดังกล่าว และประเมินข้อเท็จจริงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังนั้น ความไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมเกิดขึ้นได้ในชั้นการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ด้วยเหตุนี้เองการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวจักต้องคำนึงถึงอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ ประการที่หนึ่ง ข้อจำกัดของการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ และประการที่สอง การคุ้มครองสิทธิของบุคคลอันเกิดจากการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ในเรื่องนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยโดยคำนึงถึงหลักทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญควรจะวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ในการประเมินข้อเท็จจริงที่เกี่ยวเนื่องกับถ้อยคำในทางกฎหมายที่มีลักษณะไม่เฉพาะเจาะจงนั้น อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยองค์กรตุลาการ หากเป็นไปตามเงื่อนไขเช่นนี้จึงจะถือว่าพระราช บัญญัติดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่หากกรณีเป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ การใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการประเมินข้อเท็จจริงอันเกี่ยวเนื่องกับถ้อยคำในทางกฎหมายที่มีลักษณะไม่เฉพาะเจาะจง และการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของศาลบทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะไม่เฉพาะเจาะจงนั้น ย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญได้ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้เขียนจึงเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองเรื่องดังกล่าวยังขาดความรอบด้านในการที่จะวินิจฉัยวางหลักในเรื่องที่เกี่ยวกับถ้อยคำในทางกฎหมายที่มีลักษณะไม่เฉพาะเจาะจง
กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนเห็นด้วยกับฝ่ายข้างมากแต่ยังต้องเพิ่มเติมสาระสำคัญในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไปด้วย โดยเฉพาะในระบบกฎหมายไทยที่มีองค์กรบางองค์กรใช้กฎหมายแล้วไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรตุลาการ กรณียิ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิของบุคคลจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่
ข. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวอ้างมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญและให้เหตุผลว่า บทบัญญัติของมาตรา 26 (10)พระราชบัญญัติดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ ศาลรัฐธรรมนูญยกแต่ข้อกฎหมายโดยมิได้ให้เหตุผลว่า สิทธิ ในเรื่องอะไรที่มิได้ถูกกระทบกระเทือนและที่กล่าวหา ไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ มีข้อเท็จจริงและมีข้อพิจารณาอย่างไร
องค์กรศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นองค์กรที่ใช้และตีความกฎหมาย การที่จะใช้และตีความกฎหมายจะต้องอาศัยข้อเท็จจริงมาปรับเข้ากับข้อกฎหมายและให้เหตุผลในทางกฎหมายว่า กรณีข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมายนั้นๆ หรือไม่อย่างไร การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 26 (10) ไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิ ในเบื้องต้นต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นสิทธิในเรื่องใด หากจะกล่าวโดยสรุปก็คือสิทธิในการเข้าสู่ตำแหน่งภาครัฐภายใต้หลักความเสมอภาค การที่บุคคลหนึ่งถูกห้ามมิให้สมัครสอบคัดเลือก เนื่องจากคุณสมบัติทางด้านร่างกายของบุคคลนั้น กรณีย่อมไปกระทบต่อสิทธิในการเข้าสู่ตำแหน่งภาครัฐภายใต้หลักความเสมอภาค แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจำกัดสิทธิดังกล่าวไม่เป็นการกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิในการเข้าสู่ตำแหน่งภาครัฐ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องให้เหตุผลว่าไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิอย่างไร มิใช่เป็นเพียงแต่การอ้างถ้อยคำของกฎหมาย เพราะการใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวมิอาจจะทำให้หลักประกันสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญเกิดผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกลับไปยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะส่งผลให้หลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับในทางปฏิบัติ
ค. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 26 (10) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ โดยศาลได้ยกข้อเท็จจริงมากล่าวอ้างว่า การที่หน่วยงานใดจะรับบุคคลเข้าทำหน้าที่ในตำแหน่งใดย่อมต้องพิจารณาถึงความรู้ความสามารถความเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่นั้นด้วย ซึ่งการสมัครสอบคัดเลือกตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา นอกจากจะพิจารณาความรู้ความสามารถแล้วยังต้องพิจารณาสุขภาพของร่างกายและจิตใจว่ามีความสมบูรณ์สามรถปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีบุคลิกลักษณะที่ดีพอที่จะเป็นผู้พิพากษา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติโดยปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษามิใช่เพียงแต่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีในห้องพิจารณาเท่านั้น บางครั้งต้องเดินทางไปนอกศาลปฏิบัติหน้าที่ เช่น เพื่อเดินเผชิญสืบ เพื่อสืบพยานที่มาศาลไม่ได้ การพิจารณาเพื่อรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาจึงมีมาตรการที่แตกต่างและเข้มงวดกว่าการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งอื่นอยู่บ้าง ที่กล่าวมาเป็นเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญที่จะให้เหตุผลว่าบทบัญญัติมาตรา 26 (10) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เป็นการเลือกปฏิบัติตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญอย่างไร
หากพิจารณาเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้แล้ว พอจะสรุปเหตุผลในทางหลักกฎหมายได้ว่า ตำแหน่งผู้พิพากษาเป็นตำแหน่งที่แตกต่างไปจากตำแหน่งอื่นเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติโดยปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ดังนั้น มาตรการที่แตกต่างเข้มงวดกว่าการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งอื่นอยู่บ้าง จึงมีเหตุผลที่จะปฏิบัติให้แตกต่างได้ กรณีย่อมไม่เป็นการเลือกปฏิบัติตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า จะต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญต่างกันให้แตกต่างกัน จากการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้เหตุผลว่าตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาแตกต่างไปจากตำแหน่งอื่นอยู่บ้าง จึงสามารถนำมาสู่การปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ ประเด็นสำคัญที่จะต้องตรวจสอบคือความแตกต่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอ้างว่าแตกต่างนั้นเป็นความแตกต่างในสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่แตกต่างกันที่มีเหตุผลที่จะยอมรับได้หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้แตกต่างโดยกล่าวถึงลักษณะงานของผู้พิพากษาที่อาจจะต้องทำหน้าที่นอกศาล เช่น เพื่อเดินเผชิญสืบ เหตุผลแรกเป็นเหตุผลในแง่ของกายภาพและอีกเหตุผลหนึ่งผู้พิพากษาเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติโดยปฏิบัติหน้าที่ ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ เหตุผลทั้งสองประการจะถือว่าเป็นความแตกต่างในสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้แตกต่างได้หรือไม่
จากเหตุผลแรกของศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลในเรื่องของการกระทำภาระหน้าที่ของผู้พิพากษานั้น ซึ่งโดยแท้จริงแล้วอาชีพทุกอาชีพ หน่วยงานที่รับสมัครสอบสามารถใช้เหตุผลในเรื่องความบกพร่องทางร่างกายที่ถึงขนาดว่าบุคคลนั้นไม่สามารถทำภาระหน้าที่นั้นๆ ได้ หน่วยงานย่อมมีสิทธิปฏิเสธได้อยู่แล้ว ปัญหาที่ต้องพิจารณาในรายละเอียดแค่ไหนเพียงใดที่เป็นความบกพร่องทางกายที่ถึงขนาดว่าไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ดังนั้น เหตุผลจากความบกพร่องทางร่างกายที่ถึงขนาดไม่สามารถทำหน้าที่ได้ย่อมเป็นเหตุผลทั่วไปที่หน่วยงานย่อมมาใช้เป็นเหตุผลในการปฏิเสธได้อยู่แล้ว เหตุผลดังกล่าวจึงไม่ใช่เหตุผลพิเศษที่จะนำมาที่จะนำมาอ้างได้เฉพาะเฉพาะตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาเท่านั้น แต่ปัญหาคือบกพร่องแค่ไหนเพียงใดจึงเป็นเหตุผลของการปฏิเสธ หากมีการปฏิเสธเพราะความบกพร่องทางกายโดยมิได้พิจารณาว่าถึงขนาดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ การปฏิเสธดังกล่าวอาจเป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น การจะพิจารณาว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ยที่สุดจะต้องมีการวางหลักความบกพร่องทางกายแค่ไหนเพียงใด ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้แตกต่างได้ และความบกพร่องทางกาย
2.2 บทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลปกครอง
จากการศึกษาคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด จะเห็นได้ชัดเจนว่า ทั้งสองศาลตีความข้อเท็จจริงเดียวกันไปในทิศทางที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ศาลปกครองกลางตีความว่า ...การที่ผู้ฟ้องคดีมีรูปกายพิการตามรายงานผลการตรวจร่างกายของคณะกรรมการแพทย์ดังกล่าว จึงเป็นความแตกต่างที่ถึงขั้นเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการที่จะปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานของพนักงานอัยการได้ เมื่อเทียบกับบุคคลปกติทั่วไป แต่ในขณะที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ...จึงน่าเชื่อว่าแม้สภาพทางกายของผู้ฟ้องคดีจะพิการ แต่ความแตกต่างดังกล่าวไม่ถึงขั้นจะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานของอัยการ ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีในการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วยดังกล่าว ... การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดี โดยมิได้พิจารณาความสามารถที่แท้จริงในการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี จึงไม่มีเหตุผลหนักแน่ควรค่าแก่การรับฟังว่า การที่ผู้ฟ้องคดีมีกายพิการดังกล่าว จะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ของข้าราชการอัยการได้อย่างไร ...
หากพิจารณาการให้เหตุผลของศาลปกครองทั้งสองแล้วจะเห็นได้ว่า มีความเป็นไปในทิศทางที่แตกต่างกัน ประเด็นที่ทำให้เหตุผลของศาลปกครองกลางมีน้ำหนักน้อยลงก็คือ การที่ผู้ฟ้องคดีแสดงให้เห็นว่า ตนเคยเป็นทนายความ ซึ่งมีลักษณะงานที่ใกล้เคียงกับงานของอัยการ นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้ความเห็นรับรองความสามารถทางกายของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความว่า สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติทั่วไป ดังนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้เอง ทำให้การให้เหตุผลของศาลปกครองกลางที่กล่าวว่า ... จึงเป็นความแตกต่างที่ถึงขั้นเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการที่จะปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานของพนักงานอัยการได้ เมื่อเทียบกับบุคคลปกติทั่วไป ... จึงเป็นการให้เหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏ ในขณะที่ศาลปกครองสูงสุดกลับเห็นว่า ความแตกต่างดังกล่าวไม่ถึงขั้นจะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานของอัยการ ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทนายความของผู้ฟ้องคดี ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความสามารถทางกายของผู้ฟ้องคดี โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องพิจารณาความสามารถที่แท้จริง ในการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีก่อน จึงจะสามารถให้เหตุผลที่หนักแน่นได้ว่า การที่ผู้ฟ้องคดีมีกายพิการดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ของราชการอัยการได้อย่างไร จะเห็นได้ว่า เกณฑ์ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดมีความชัดเจน และเป็นเกณฑ์สำคัญที่จะนำไปสู่ข้อพิจารณาว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ตามหลักเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญให้เหมือนกัน และจะต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญต่างกันให้แตกต่างกัน กล่าวเฉพาะกรณีนี้สิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันก็คือ ความสามารถที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่ของราชการอัยการได้ หากผู้ฟ้องคดีสามารถที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่ของราชการอัยการได้ ย่อมถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับผู้สมัครรายอื่น ๆ แต่หากพิจารณาความสามารถในการปฏิบัติงานในหน้าที่ราชการอัยการของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ดังกล่าวได้ ในกรณีนี้ย่อมถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีสาระสำคัญที่แตกต่างไปจากผู้สมัครรายอื่น ๆ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีย่อมปฏิเสธที่จะรับสมัครผู้ฟ้องคดีได้ เกณฑ์ในการเปรียบเทียบจึงมิใช่เป็นการเปรียบเทียบในเชิงกายภาพระหว่างบุคคลทั่วไปกับบุคคลที่พิการ ดังที่ศาลปกครองกลางใช้เป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบ เพราะบุคคลทั่วไปกับบุคคลที่พิการย่อมแตกต่างในสาระสำคัญในทางกายภาพ แต่ความแตกต่างดังกล่าวไม่ใช่เกณฑ์ที่จะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ดังนั้น เกณฑ์ในการพิจารณาในเรื่องนี้ของศาลปกครองสูงสุดจึงเป็นเกณฑ์การพิจารณาที่สอดคล้องกับหลักความเสมอภาค และข้อห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นการวางบรรทัดฐานที่สำคัญสำหรับการพิจารณาว่าเรื่องใดเป็น สาระสำคัญ" ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้เหมือนหรือแตกต่างตามหลักความเสมอภาคของรัฐธรรมนูญ
3. หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิโดยองค์กรตุลาการตามมาตรา 28 วรรคสอง (3) ของรัฐธรรมนูญ
จากข้อเท็จจริงในคดีของนายศิริมิตร บุญมูล จะเห็นได้ว่า การที่มีองค์กรตุลาการมาควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ย่อมก่อให้เกิดหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของบุคคลได้ดีกว่ากรณีที่ศาลไม่อาจเข้าไปควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ได้
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญแล้ว นายศิริมิตร บุญมูล ได้ฟ้องโต้แย้งมติ ก.ต. ดังกล่าวต่อศาลยุติธรรมหรือไม่ เนื่องจากการฟ้องโต้แย้งมติ ก.ต.ดังกล่าวไม่อาจฟ้องต่อศาลปกครองได้ ทั้งนี้ ตามที่ได้บัญญัติยกเว้นไว้ในมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราช บัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และหากนายศิริมิตร บุญมูล ได้ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแล้ว ผลแห่งคดีเป็นประการใด ซึ่งกรณีย่อมแตกต่างไปจากมติของคณะกรรมการอัยการที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองที่อาจควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดศาลย่อมเข้าไปตรวจสอบว่า การมีมติดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้เขียนเห็นว่า กรณีของการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่ไปกระทบสิทธิของบุคคล โดยหลักทั่วไปบุคคลที่ถูกกระทบสิทธิย่อมมีสิทธิที่จะนำคดีไปฟ้องคดีต่อศาลได้เสมอไม่ควรจะมีกรณีของการใช้อำนาจมหาชนที่ไปกระทบสิทธิของบุคคลแล้ว แต่ปราศจากเขตอำนาจที่จะควบคุมตรวจสอบการกระทำดังกล่าว ข้อเท็จจริงในคดีของนายศิริมิตร บุญมูล จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยองค์กรตุลาการ จากกรณีศึกษาในเรื่องนี้ควรจะนำไปสู่การตีความมาตรา 28 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญให้มีผลเป็นการทั่วไปว่า การละเมิดสิทธิของบุคคลโดยเฉพาะจากหน่วยงานของรัฐทั้งหลาย ย่อมอยู่ภายใต้การถูกควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการได้เสมอ
บทสรุป
จากการศึกษาแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและแนวคำพิพากษาของศาลปกครองในเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่าศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยโดยวางบรรทัดฐานเพื่อเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาที่สำคัญว่า อะไรคือ สาระสำคัญ ในเรื่องนั้น ๆ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้เหมือนหรือแตกต่าง กล่าวเฉพาะกรณีของบุคคลพิการที่ใช้สิทธิในการสมัครเข้ารับราชการ สาระสำคัญ ที่นำไปสู่การปฏิบัติให้เหมือนหรือแตกต่าง คือ ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ในหน้าที่นั้น ๆเป็นเกณฑ์ที่เป็นสาระสำคัญหาใช่ความเหมือนหรือความแตกต่างในทางกายภาพไม่ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในเรื่องนี้จึงเป็นการพิจารณาที่สอดคล้องกับหลักความเสมอภาค และเป็นคำพิพากษาที่ก่อให้เกิดคุณูปการต่อบุคคลที่พิการ และควรจะเป็นคำพิพากษาที่นำไปสู่การเปลี่ยนทัศนคติของบุคคลในสังคมให้พร้อมจะเปิดกว้างยอมรับบุคคลที่พิการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจต่าง ๆ หากบุคคลที่พิการนั้นมีความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ ได้ หลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญนั้นเปิดกว้างเสมอสำหรับบุคคลที่พิการ แต่ทัศนคติของบุคคลในสังคมต่างหากเปิดกว้างแล้วหรือยัง
เชิงอรรถ
(1) มาตรา 26 ผู้สมัครสอบคัดเลือก ผู้สมัครทดสอบความรู้ หรือผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ ....
(10) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบหรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการเป็นโรคที่ระบุไว้ในระเบียบของ ก.ต.
(2) มาตรา 33 ผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วยต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ .......
(11) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ หรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง
(3) มาตรา 28 วรรคสอง บัญญัติว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=813
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 00:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|