|
|
ความรู้เบื้องต้นกฎหมายรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสำหรับผู้เริ่มเรียน โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ 2 ตุลาคม 2548 21:21 น.
|
บทนำ
บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์การเป็นนักเรียนใหม่ในชั้นเรียน master 2 : protection des droit fondamentaux en Europe หรือตามชื่อเดิมคือ DEA : droit public เมื่อปีการศึกษาที่แล้ว ซึ่งผู้เขียนยังจำได้ดีถึงความตื่นเต้นและหวาดกลัวในการเข้าเรียนดังกล่าว แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะได้มีการ อุ่นเครื่อง มาพอสมควรกับการอ่านหนังสือเล็กๆน้อยๆให้คุ้นเคยกับภาษากฎหมาย และรวมถึงการอ่านทบทวนหลักวิชาการกฎหมายมหาชนในภาษาฝรั่งเศส หากอย่างไรก็ดีแม้ว่าจะเตรียมตัวไว้อย่างดีเพียงใด ผู้เขียนก็มีความเชื่อว่า นักเรียนไทยที่เข้าเรียนในชั้นเรียนดังกล่าวเป็นครั้งแรก (อันอาจจะไม่หมายความรวมถึงนักเรียนไทยที่ผ่านการเรียนระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในประเทศฝรั่งเศสมาแล้ว) น่าจะมีความงุนงงจับต้นชนปลายไม่ถูกในเรื่องพื้นฐานของกฎหมายมหาชนฝรั่งเศสมากพอสมควร บทความนี้จึงมีจุดประสงค์ในการ เล่าเรื่อง พื้นฐานของกฎหมายมหาชน ในสาขากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส เพื่อเป็นการ ปูพื้น และทำความเข้าใจอย่างง่ายๆ โดยเนื้อหาในบทความดังกล่าวทั้งหมดนี้ เป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนมีความเห็นโดยส่วนตัวว่า นักเรียนไทยผู้ซึ่งกำลังจะเข้าเรียนระดับ master 2 ควรจะมีความรู้ในเรื่องดังกล่าวเอาไว้เป็น ทุน เพื่อเป็นพื่นฐานความรู้ที่ แน่น ก่อนที่จะได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ในประเด็นอื่นๆที่ซับซ้อน ทั้งนี้ผู้เขียนมีความเห็นโดยส่วนตัวว่าการศึกษากฎหมายในต่างประเทศ นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพื้นฐานความรู้และนิติวิธี อันจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เสมอมิว่าจะอยู่ในบริบทใด
บทความชิ้นนี้จึงเขียนขึ้นตามประสบการณ์และความตั้งใจดังกล่าว ทั้งนี้ผู้เขียนได้ทำการ คัด คำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสบางตัวที่สำคัญมาไว้ ณ ที่นี่แล้ว และเนื่องมาจากความไม่จัดเจนด้านภาษาต่างประเทศ รวมทั้งความไม่แตกฉานในการสรรหาคำศัพท์ที่สวยงามไพเราะในภาษาไทย ผู้เขียนจึงไม่สามารถแปลคำศัพท์กฎหมายบางตัวเป็นภาษาไทยที่ไพเราะ กระชับ และสละสลวยได้ ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียนขอฝากไว้เป็น งาน ของนักกฎหมายมหาชนร่วมสมัยทั้งหลายในการคิดค้นศัพท์ดังกล่าวต่อไป
ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาในส่วนแรกและส่วนที่สองของบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอตั้งคำถามเบื้องต้นไว้ก่อนว่า จริงหรือไม่ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญจะต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรือในแท้ที่จริงแล้วเราสามารถหากฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ กฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญในบริบทอื่นๆนอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญ(1) อันจะมีผลต่อมาถึงการสรุปได้ว่า กฎหมายต่างๆที่เราสามารถพบได้ในรัฐธรรมนูญ นั้น มีจำนวนน้อยกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดีก่อนที่จะศึกษาในส่วนที่หนึ่งและส่วนที่สองของบทความนี้อันอาจจะตอบคำถามนี้ได้นั้น ก็ต้องมีคำถามย้อนกลับไปอีกว่า รัฐธรรมนูญ อันเป็นที่มาของการศึกษา กฎหมายรัฐธรรมนูญ อันจะศึกษากันต่อไปนี้ มีความหมายถึงอย่างไร
ตามความหมายง่ายๆที่เรารู้จักกันดี อาจจะสามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญ คือ ถ้อยคำทางกฎหมายอันประกอบไปด้วยกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย และมีคุณค่าทางกฎหมาย (ลำดับศักดิ์) สูงกว่ากฎหมายทั่วไป การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องทำด้วยวิธีการพิเศษ แต่ต่างไปจากการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายธรรมดา การบังคับใช้รัฐธรรมนูญจึงมีกระบวนการแตกต่างจากการบังคับใช้ของกฎหมายธรรมดา และในท้ายที่สุด รัฐธรรมนูญเป็นที่มาของระบบการเมืองและการปกครอง ซึ่งในความหมายนี้ ออกจะเป็นการขัดแย้งกับการจัดการและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ ทั้งนี้เป็นเพียงเพราะว่าความหมายดังกล่าวไม่สามารถตอบคำถามได้ถึงความซับซ้อนของการจัดการรัฐสมัยใหม่ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ในรัฐสมัยใหม่นั้น นอกเหนือไปจากความซับซ้อนของกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ความซับซ้อนในตัวเองของรัฐสมัยใหม่เองก็ยังเป็นอีกประเด็นที่จะต้องศึกษาควบคู่ไปกับการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญอีกประการหนึ่ง
บทความชิ้นนี้จึงขอกล่าวถึงเพียงแต่ความหลากหลายของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของรัฐธรรมนูญ ซึ่งแยกออกไปเป็นสองประการคือ ความหลากหลายในด้านเนื้อหา ( La diversité matériel) และ ความหลากหลายในด้านรูปแบบ (la diversité formelle) บทความชิ้นนี้จึงแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยถือตามการแบ่งของหลักสองประการดังกล่าว ทั้งนี้ในแต่ละส่วน ผู้เขียนได้ทำการยกตัวอย่างที่ชัดเจนและเห็นเป็นรูปธรรมอันปรากฎอยู่ทั้งในมาตราต่างๆของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสเอง และรวมทั้งถึงคำวินิจฉัยของสภารัฐธรรมนูญ อันถือเป็นการวางหลักและตีความหลักกฎหมาย ตลอดจนยืนยันหลักกฎหมายบางประการที่จำเป็นต่อการจัดการรัฐสมัยใหม่ของฝรั่งเศส
ส่วนที่ 1 ความหลากหลายในด้านเนื้อหา ( La diversité matériel)
ในการศึกษาความหลากหลายในด้านเนื้อหา หรือ matériel นี้ ยังมีความหมายรวมถึงการศึกษากฎเกณฑ์ทางกฎหมายของรัฐธรรมนูญในด้านสาระหรือในด้านที่เป็นแก่นของรัฐธรรมนูญ อันตีความหมายได้ว่า เราจะสามารถพบกฎเกณฑ์ทางกฎหมายดังกล่าวได้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับมิว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศที่มีความเป็นมาทางการปกครองอย่างไร อาทิเช่น ประเทศที่มีการปกครองในระบอบกษัตริย์และมาเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประธานาธิบดีเช่น ประเทศฝรั่งเศส หรือ ในประเทศที่มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียต เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้เรายังสามารถแบ่งกฎเกณฑ์ทางกฎหมายดังกล่าวได้ออกเป็นสองประเภทด้วยกัน คือ แบ่งตามหมวดหมู่ของกฎเกณฑ์ (mode de norme) และแบ่งตามจุดประสงค์ของกฎเกณฑ์นั้นๆ (leur objets) หรือแบ่งแยกกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ออกเป็นอีกสองจำพวกคือ กฎเกณฑ์ทั่วไปและกฎเกณฑ์เฉพาะ
ตัวอย่างในกรณีนี้ก็คือ ในมาตราหนึ่งของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสที่บัญญัตไว้ถึงความเป็นสาธารณรัฐอันมิอาจแบ่งแยกได้ ความเป็นรัฐฆราวาส รัฐประชาธิปไตย และเป็นรัฐสวัสดิการ (La France est une République indivisible, laïque, démocratique et sociale
) ซึ่งตามมาตรานี้ถือได้ว่า เป็นตัวอย่างของกฎเกณฑ์ทั่วไป
ในทางกลับกันในมาตราห้าของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสเอง ก็ได้บัญญัติถึงหน้าที่ของประธานาธิบดีว่าจะต้องมีการบริหารประเทศโดยเคารพต่อรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ซึ่งมาตรานี้ถือเป็นตัวอย่างของกฎเกฑ์เฉพาะ ดังนี้เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หากเราถือตามหลักการแบ่งเดิมคือ แบ่งตามหมวดหมู่ของกฎเกณฑ์ (mode de norme) และแบ่งตามจุดประสงค์ของกฎเกณฑ์นั้นๆ (leur objets) เราจะพบว่าในส่วนของ การแบ่งตามหมวดหมู่ของกฎเกณฑ์ (mode de norme) นั้นถือเป็นการแบ่งกฎเกณฑ์ทางกฎหมายแบบคลาสสิค กล่าวคือ เป็นการแบ่งกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่มีผลในการสร้าง หลัก (principe) ในเวลาต่อมา ส่วนการแบ่งตามจุดประสงค์ของกฎเกณฑ์นั้นๆ (leur objets) นั้น จะมีไว้สำหรับการแก้ปัญหาในบางเรื่องอันเป็นเรื่องในทางปฎิบัติ อาทิเช่น การจัดการรัฐในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นรัฐสังคมนิยม เป็นต้น ซึ่งในกรณีของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายอันมีขึ้นตามจุดประสงค์ในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญนั้น ในทฤษฎีกฎหมายมหาชนฝรั่งเศสได้มีทฤษฎีที่มีชื่อว่า Les triples objections de proposition constitutionnelle อันเป็นทฤษฎีที่นำเสนอโดยศาสตราจารย์ Favoureu
ศาสตราจารย์ Favoureu กล่าวถึงทฤษฎี Les triples objections de proposition constitutionnelle เอาไว้ถึงการมีสามบทบาทของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ปรากฎในการเสนอให้มีรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส กล่าวคือ
1. กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอำนาจของรัฐ (norme relative à exercice de pouvoir)
2. กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกฎเกณฑ์ทางกฎหมายอื่น (norme relative à la fabrication les normes) โดยยกตัวอย่างบางมาตราของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส กล่าวคือ มาตรา 34 ในเรื่องเกี่ยวกับการบัญญัติรัฐบัญญัติ (loi) มาตรา 37 ในเรื่องเกี่ยวกับการบัญญัติกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหาร หรือ กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยฝ่ายบริหารและมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป (règlement) และมาตรา 38 อันกล่าวถึง การมอบอำนาจในการออกกฎ (délégation de pouvoir réglementaire)
3. คำวินิจฉัยของสภารัฐธรรมนูญ (Le conseil constitutionnel) ซึ่งหมายถึงคำวินิจฉัยฉบับลง วันที่ 7 juillet 1971 ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในการชุมนุมหรือ la liberté dassociation คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการยืนยันการเคารพกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่มาจากคำปรารภของรัฐธรรมนูญ (Préambule) โดยในคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ยอมรับถึงหลักกฎหมายที่มีชื่อว่า Les principes fondamentaux reconnus par les lois de la république (หรือตัวย่อ PPFRL) อันหมายความถึงหลักกฎหมายพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากบรรดากฎหมายแห่งสาธารณรัฐ ซึ่งในส่วนของ Les principes fondamentaux reconnus par les lois de la république นี้ รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสเองก็มิได้ให้นิยามเอาไว้ว่าหมายถึงอะไรและมีขอบเขตเพียงใดโดยแน่ชัด เพียงแต่ยอมรับ การมีอยู่ ของหลักดังกล่าว และตีความถ้อยคำ บรรดากฎหมายแห่งสาธารณรัฐ เอาไว้ว่าหมายถึงตัวบทกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่สาธารณรัฐที่ 1 (ค.ศ.1792)(2) เรื่อยมาจนกระทั่งก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1946 โดยหลักกฎหมายพื้นฐานดังกล่าวจะต้องเป็นหลักที่เคยมีอยู่ในกฎหมายในอดีตเหล่านั้นและจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน(3)
ซึ่งในส่วนของ Les principes fondamentaux reconnus par les lois de la république (หรือตัวย่อ PPFRL) อันหมายความถึงหลักกฎหมายพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากบรรดากฎหมายแห่งสาธารณรัฐ นี้ ต่อมาได้มีการพัฒนาต่อไปถึงทฤษฎีที่มีชื่อว่า bloc de constitutionnalité อันเป็นทฤษฎีที่ยอมรับการมีอยู่ถึงหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่อยู่นอกเหนือตัวบทรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ การยอมรับ คำประกาศสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 1789, principes particulièrement nécessaire de notre temps หรือหลักทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่บัญญัติไว้คำปรารภของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ค.ศ. 1946(4) และท้ายสุดคือ Les principes fondamentaux reconnus par les lois de la république หรือ หลักกฎหมายพื้นฐานที่ได้รับการรับรองจากบรรดากฎหมายแห่งสาธารณรัฐ โดยทั้งสามหลักนี้จะประกอบกันเป็น bloc de constitutionnalité มีผลให้การออกกฎหมายในภายหลังจะต้องเคารพความชอบด้วยกฎหมายของหลักทั้งสามหลักเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการเคารพตัวบทรัฐธรรมนูญอีกด้วย
ส่วนที่ 2 ความหลากหลายในด้านรูปแบบ (la diversité formelle)
ความหลากหลายในด้านรูปแบบนี้มีความหมายอย่างง่ายๆถึงรูปแบบพิเศษในการรับรองการมีอยู่หรือในการจัดทำรัฐธรรมนูญอันมีศีกดิ์สูงสุดตามทฤษฎีปิรามิดของ Hans Kelsen
Kelsen วางทฎษฎีปิรามิดแห่งกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายไว้ทั้งในแง่ ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย, การให้อำนาจกฎหมายลำดับสูงในการออกกฎหมายลำดับรอง และ รวมทั้งถึงความมาก-น้อย ของกฎหมายลำดับศักดิ์ต่างๆ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงที่สุด ย่อมมีเพียงหนึ่งเดียวและมีอำนาจหน้าที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายอื่นๆ เช่น รัฐบัญญัติ ( lois- หรือพระราชบัญญัติ และ พระราชกำหนด) และ กฎเกณฑ์ทางกฎหมายลำดับรอง (acts réglementaires หรือ พระราชกฤษฎีกา) เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญมีลำดับศักดิ์สูงที่สุดในกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายทั้งหมด การแก้ไข ยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจึงต้องทำเป็นกระบวนการพิเศษแตกต่างกับการยกเลิกกฎหมายธรรมดา และ การออกกฎหมายลำดับรองจึงต้องเคารพความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
แต่อย่างไรก็ดีทฎษฎีปิรามิดแห่งกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายก็มีข้อยกเว้นหรือข้อโต้เถียงทางทฤษฎีจากความหลากหลายของกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายแบบใหม่ที่มีขึ้นเพื่อการจัดการรัฐสมัยใหม่อยู่สามประการ กล่าวคือ
(1) การยอมรับการมีอยู่ของ loi organique ตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน อันมีความหมายถึง รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างและการดำเนินงานขององค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ อันมีกระบวนการในการจัดทำกฎหมายดังกล่าวที่แตกต่างจากการจัดทำรัฐบัญญัติธรรมดา ดังนั้น ศักดิ์ของ loi organique จึงต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ (เนื่องจากเป็นรัฐบัญญัติที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ) แต่สูงกว่ารัฐบัญญัติทั่วไป (เนื่องจากมีกระบวนการในการจัดทำแตกต่างจากรัฐบัญญัติธรรมดา)
(2) การยอมรับทฤษฎี supraconstutionalité กล่าวคือการยอมรับการมีอยู่ของกฎเกณฑ์ที่มีศักดิ์สูงกว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความถึง
(2.1) กฎหมายยุโรป หรือ droit communautaire ซึ่งการยอมรับทฤษฎี supra constutionalité นี้ก็ได้ มีการโต้เถียงกันระหว่างนักกฎหมายมหาชนภายในอันถือว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายที่มีศักดิ์สูงสุดในรัฐ และ นักกฎหมายระหว่างประเทศที่ถือว่า การยอมรับข้อตกลงระหว่างประเทศถือได้ว่าเป็นการยอมสละอำนาจอธิปไตยบางส่วน ดังนั้น ข้อตกลงระหว่างประเทศจึงมีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายภายในทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดีในกรณีนี้ สภารัฐธรรมนูญเองก็ได้มีคำวินิจฉัยลงวันที่ 19 novembre 2004 เกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญยุโรป ว่าการยอมรับรัฐธรรมนูญยุโรปจะไม่มีผลทำให้ฝรั่งเศสต้องยอมรับรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้ามาใช้ แทน รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐ แต่ถือว่ารัฐธรรมนูญยุโรปดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือ traité international เท่านั้น ดังนั้นจึงอาจถือได้ว่าคำวินิจฉัยฉบับลงวันที่ 19 novembre 2004 เป็นคำวินิจฉัยที่ปฎิเสธถึง19 novembre 2004การมีอยู่ของกฎเกณฑ์ที่มีศักดิ์สูงกว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือ กฎหมายยุโรป หรือ droit communautaire นั่นเอง
(2.2) การยอมรับการมีอยู่ของกฎหมายธรรมชาติ ประเด็นนี้เป็นประเด็นของการโต้เถียงที่ว่าเราจะสามารถสร้างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อกฎหมายธรรมชาติ หรือ droit naturel ได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันแม้ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาตินี้ได้ถูกลบเลือนไปจากการมีอยู่ของกฎหมายลายลักษณ์อักษร (la positivisme) แต่อย่างไรก็ดีเรายังอาจจะพบขอ้โต้เถียงเกี่ยวกับกฎหมายธรรมชาติได้เมื่อมีการยกหลักในทางด้านศีลธรรมขึ้นมาเป็นประเด็นในการโต้เถียง ตัวอย่างในกรณีนี้ก็คือ กฎหมายทำแท้ง กฎหมายการทำ cloning เป็นต้น
(2.3) หลักเรื่อง GRUNNORM หรือ หลักกฎหมายที่เรียกกันว่า droits fondamentaux กล่าวคือเป็น กฎหมายพื้นฐานเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งหลักการในเรื่องนี้จะเป็นหลักที่ถูกตีความเสมอเพื่อเป็นการยอมรับหรือปกป้องสิทธิของประชาชนในกรณีพิพาทเรื่องการคุ้มครองสิทธิ กล่าวคือเป็นการคุ้มครอง สิทธิ ที่แม้จะไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม ดังนั้นทฤษฎีในเรื่อง GRUNNORM ดังกล่าวจึงเป็นการยอมรับการมีอยู่ของกฎเกณฑ์ที่มีศักดิ์สูงกว่ารัฐธรรมนูญ อันอยู่เหนือสุดในทฤษฎีปิรามิดแห่งกฎเกณฎ์แห่งกฎหมายของ Kelsen อีกประการหนึ่ง
(3) การยอมรับทฤษฎี intraconstitutionnalité หรือ ความเท่าเทียมกันของหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ(5) ซึ่งตัวอย่างในกรณีนี้อาจจะเห็นได้ไม่ชัดเจนนักในบริบทกฎหมายไทย เนื่องจากทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยยังไม่ได้มีการพัฒนาไปถึงการวางหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสิทธิต่างๆที่อาจจะมีความสำคัญมากน้อยแตกต่างกันไปได้ตามยุคสมัย สำหรับตัวอย่างในกรณีนี้ของฝรั่งเศสก็คือ การที่สภารัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสยอมรับการเป็น กระจกเงาของกฎหมาย (6) กล่าวคือ แม้จะมีการให้สิทธิประการใดก็ตามแก่ประชาชน แต่ในทางกลับกันรัฐก็จะสร้างสิทธิของรัฐในการ ดึง สิทธิดังกล่าวนั้นกลับมาได้เสมอ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้ คือ สิทธิในการเป็นเจ้าของ (droit propriété) และสิทธิในการเอากลับคืนมาเป็นของรัฐ (droit privatise) เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ทฤษฎี intraconstitutionnalité ถือว่าสิทธิทั้งสองประการดังกล่าวมีความเท่าเทียมกัน แต่มีการใช้ต่างกันตามบริบทและความจำเป็นของแต่ละสังคมและสถานการณ์
จึงจะเห็นได้ว่าความหลากหลายของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของรัฐธรรมนูญ ซึ่งแยกออกไปเป็นสองประการคือ ความหลากหลายในด้านเนื้อหา ( La diversité matériel) และ ความหลากหลายในด้านรูปแบบ (la diversité formelle) นั้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ในเชิงลึก มีความซับซ้อนมากกว่าวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญที่ศึกษาเพียงมาตราต่างๆที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อาทิเช่น อำนาจหน้าที่ขององค์กร ระบบการจัดการโครงสร้างของรัฐ เป็นต้น ซึ่งการศึกษาทฤษฎีในเชิงลึกเหล่านี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการศึกษากฎหมาย เพราะจะเป็นสิ่งที่สร้าง พิ้นฐาน ที่มั่นคงและสามารถ ปรับ หรือ รับ ทฤษฎีใหม่ที่มีความแตกต่างจากหลักกฎหมายไทยได้ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการศึกษากฎหมายในต่างประเทศ อันมีระบบกฎหมายและความซับซ้อนของกฎหมายแตกต่างจาก บริบทอย่างไทย โดยสิ้นเชิง
เชิงอรรถ
(1) จากข้อสรุปของ Gorge Vedel « Tout le droit constitutionnel nest pas dans le droit constitution » และ « Le droit qui on peut trouver dans la Constitution est moins large que le droit constitution » โดยยกตัวอย่าง การออกเสียงเลือกตั้ง (le mode de scrutin) ของประเทศฝรั่งเศส และรัฐธรรมนูญแบบธรรมเนียมประเพณีของประเทศอังกฤษ
(2) การแบ่งสาธารณรัฐ ของฝรั่งเศสจะมีการเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันฝรั่งเศศอยู่ในสาธารณรัฐที่ 5 โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1958
(3) คำแปลบางส่วนจาก ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์, คำอธิบายศัพท์กฎหมายมหาชน ฝรั่งเศส-ไทย, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2548
(4) คำแปลบางส่วนจาก ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์, คำอธิบายศัพท์กฎหมายมหาชน ฝรั่งเศส-ไทย, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2548
(5) คำแปลโดยผู้เขียน
(6) ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างให้ผู้อ่านเห็นภาพอย่างง่ายๆ ถึงการโต้ตอบเช่นเดียวกับกระจกเงาของสิทธิทั้งสองประการดังกล่าว
อ้างอิง
La Constitution de la Ve République
Louis Favoureu (coordonnateur), Droit constitutionnel, 7e édition, Dalloz 2004
Dominique Rousseau, Alexandre Viala, Droit constitutionnel, Monschrestien, 2004
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=808
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:36 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|