|
|
โครงการวิชาการ (สาขานิติศาสตร์) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ครั้งที่สอง 24 กรกฎาคม 2548 18:05 น.
|
โครงการวิชาการ (สาขานิติศาสตร์)
เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ครั้งที่สอง
*******************************************
โครงการนี้ มี วัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำต้นแบบ (model law) ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทยเพื่อการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 (หากมี) โดยจะพิจารณาและยกร่างโครงสร้างของรัฐธรรมนูญจากมุมมองทางวิชาการ ที่เป็นอิสระจากผู้มีส่วนได้เสียทางการเมือง
(1) เจ้าของโครงการ ได้แก่
ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(2) คณะทำงาน
คณะทำงาน จะประกอบด้วย นักวิชาการในระดับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่มีความเป็นกลางทางวิชาการและไม่อยู่ในฐานะที่อาจได้รับอิทธิพลหรือผลประโยชน์จากฝ่ายการเมือง
คณะทำงาน จะมีจำนวนไม่เกิน 5 คน โดยในระยะแรก จะประกอบด้วยบุคคลเพียง 3 คน คือ (1) ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ; (2) ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ;
(3) ผศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
และจะมีนักศึกษานิติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาระดับปริญญาโท ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ
(3) ขอบเขตและแนวทางการทำงานของ คณะทำงาน
3.1 ขอบเขตการทำงาน (scope)
โดยคำนึงถึงความเป็นจริงว่า ความสำเร็จในการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เป็นปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ
(1) อำนาจในการให้รัฐธรรมนูญ - pouvoir constituant ซึ่งได้แก่ ผู้ที่มีอำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจในการนำรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับเป็นกฎหมาย
(2) สาระสำคัญของ (ร่าง) รัฐธรรมนูญ (ที่ยกร่างโดย ผู้มีอำนาจในการให้รัฐธรรมนูญ) ว่า จะมีกลไกการบริหาร (mechanism) ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพการบริหารประเทศมากน้อยเพียงใด
เงื่อนไขอันเป็นปัจจัยสำคัญทั้ง 2 ประการดังกล่าว จะต้องแยกพิจารณาออกจากกัน เพราะมีเนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์แตกต่างกัน โดยแต่ละเงื่อนไขต้องการการออกแบบ(design) การเขียนรัฐธรรมนูญ และต้องการคำอธิบายทางวิชาการที่แตกต่างกัน
ขอบเขต (scope) การทำงาน ที่มอบหมายให้ คณะทำงาน จัดทำตามโครงการนี้ ได้กำหนดให้ทำเฉพาะเงื่อนไขประการที่สอง คือ การจัดทำต้นแบบ (model law) ของร่างรัฐธรรมนูญ จากมุมมองทางวิชาการที่เป็นอิสระจากผลประโยชน์ทางการเมือง โดยมีความมุ่งหมายให้กลไกตาม(ร่าง)รัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพการบริหารประเทศที่ดีที่สุด ภายใต้สภาพสังคมที่อ่อนแอและสภาพพิกลพิการของกฎหมายต่างๆ (พรบ.)ของประเทศเท่าที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน
[หมายเหตุ :- ส่วนเงื่อนไขประการแรก ซึ่งได้แก่ การจัดรูปแบบของ องค์กรที่(จะ)มีอำนาจให้รัฐธรรมนูญ pouvoir constituant นั้น ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้เคยเสนอรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ไว้แล้วในปลายปีก่อน (พ.ศ.2547) โดยได้แก้ไขมาตรา 313 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จัดตั้งองค์กรนี้ขึ้น โดยองค์ประกอบของ องค์กรที่มีอำนาจให้รัฐธรรมนูญ จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ (1) บทบาทของสถาบันกษัตริย์ ในฐานะที่เป็นองค์ Statesman ของคนไทย ซึ่งประกอบด้วยพระบารมี / อัจฉริยะ / ความเสียสละ ; (2) บทบาทของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ; และ (3) บทบาทของ ประชาชนทั้งประเทศ ด้วยวิธีการออกเสียงประชามติ referendum ; โปรดดูจากเว็บไซด์ของ ดร.นันทวัฒน์ www.pub-law.net]
3.2 แนวทางการทำงานและการกำหนดรูปแบบของต้นแบบ (model law)ของร่างรัฐธรรมนูญฯ
ในทางประวัติศาสตร์ การปฏิรูปทางการเมืองไม่สามารถเกิดขึ้นได้จาก บุคคลที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน เพราะการปฏิรูปทางการเมือง เป็นการเปลี่ยนแปลง วิธีการ เข้าสู่อำนาจรัฐของตัวบุคคล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้บุคคลดังกล่าวอาจต้องสูญเสียอำนาจรัฐที่ตนเองเคยมีอยู่ เนื่องจากเงื่อนไขและวิธีการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะแตกต่างไปจากเดิม
การปฏิรูปทางการเมือง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคม (คนส่วนใหญ่) ได้เข้าใจและมองเห็น ปัญหาความเสื่อมของการบริหาร ในระบบสถาบันการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเรียกร้องและต้องการจะเปลี่ยนแปลงเท่านั้น และพร้อมๆ กันนั้น สังคมนั้นจะต้องบังเอิญมี ผู้นำสังคมในระดับ statesman คือ เป็นบุคคลที่มีความฉลาด มีความเสียสละ และมีอำนาจที่อยู่ใน ฐานะ"ที่จะเป็นผู้ให้รัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant ) ได้
โครงการนี้ เป็นโครงการที่จะเปิดทางให้ สังคมไทย ได้เข้าใจระบบสถาบันการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและสามารถมองเห็นได้ล่วงหน้าว่า หากจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่แล้ว รูปแบบของระบบสถาบันการเมือง ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และจะมี ทางเลือก ประการใดบ้าง
ต้นแบบ(model law) ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองที่ คณะทำงาน จะยกร่างขึ้น จะอยู่ในแนวทางดังต่อไปนี้
(ก) การจำกัด ประเด็นในการแก้ไขบทบัญญัติของ รธน. โดยกำหนดให้จำกัดอยู่เฉพาะในเรื่องที่จำเป็นสูงสุด(ก่อน)กล่าวคือ จะกำหนดการแก้ไขเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกลไก mechanism ที่เกี่ยวกับการบริหารประเทศโดยตรงเท่านั้น ซึ่งได้แก่ (1) ระบบของสถาบันการเมือง(ฝ่ายบริหารและสภา และความสัมพันธ์ระหว่างกัน) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจรัฐทั้งในด้านการบริหารและในด้านการตรากฎหมาย และ (2) องค์กรการบริหารที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญของรัฐ เช่น องค์กรศาล (ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ) กกต. , ปปช.
การกำหนดรูปแบบของ model law จะยังไม่พิจารณาและแก้ไขไปถึงประเด็นและบทบัญญัติในในเรื่องอื่นๆ ซึ่งไม่มีผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ (เช่น สิทธิ / เสรีภาพ นโยบายแห่งรัฐ ฯลฯ) แต่จะมุ่งหมายที่การแก้ไขรูปแบบของระบบสถาบันการเมือง (อันเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ) เพราะถ้าระบบสถาบันการเมืองเป็นสถาบันที่ดีแล้ว ก็สามารถคาดหมายได้ว่า กฎหมาย(พรบ.) ที่สถาบันการเมืองดังกล่าวจะตราขึ้น จะเป็นกฎหมายที่ดีและไม่ซ่อนผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝงไว้ และการบริหารประเทศจะโปร่งใส (transparency) และการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นก็จะกระทำโดยบุคคลที่เป็นกลางไม่ใช่ตรวจสอบโดยบุคคลที่อยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมือง ฯลฯ
(ข) การกำหนดทางเลือก(option)ไว้ให้สังคมพิจารณา โดยที่ในหลายๆ กรณี การจัดโครงสร้างของระบบสถาบันการเมือง อาจมี ทางเลือก ได้สองประการหรือหลายประการ โดยในแต่ละ ทางเลือก นั้น ย่อมจะสามารถออกแบบให้มีประสิทธิภาพได้เท่าเทียมกัน (เช่น การจะมีสภาเดียวหรือสองสภา ฯลฯ ) ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ ในต้นแบบของ รธน. ที่คณะทำงานจัดยกร่างขึ้น ก็จะกำหนด ทางเลือกไว้ให้ พร้อมทั้งให้แนวทาง(ตามหลักของวิชาการ)ว่า ในแต่ละทางเลือก บทบัญญัติของ รธน. ควรจะเป็นอย่างไร
[หมายเหตุ :- สำหรับในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปฯ(หากเกิดขึ้นได้จริง) การเลือก ทางเลือก เหล่านี้จะกระทำโดยประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้เลือก ด้วยวิธีการที่เรียกว่า consultative referendum ตามที่ได้กำหนดไว้แล้วใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 313 ว่าด้วย การจัดตั้ง องค์กรที่มีอำนาจให้รัฐธรรมนูญ ; โปรดดูเว็บไซต์ www.pub-law.net]
(ค) ต้นแบบรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป (model law) จะจัดให้มี คำอธิบายประกอบกฎหมาย เอกสารประเภทนี้ต่างประเทศเรียกกันว่า Expose คือ เป็นเอกสารที่อธิบายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึง เหตุผลและความคิดเบื้องหลัง ของการออกแบบ (design)โครงสร้างของ(ร่าง)กฎหมายและอธิบายประเด็นสำคัญฯ ใน model law เช่น อธิบายว่า เพราะเหตุใด จึงมีองค์กรในรูปแบบนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กร รูปแบบของการจัดองค์กร กลไกขององค์กร ตลอดจนความคาดหมายถึงประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรที่จะจัดตั้งขึ้น ฯลฯ เป็นต้น ; การจัดทำเอกสารคำอธิบายประกอบร่างกฎหมายในลักษณะนี้ เป็นที่ปฏิบัติกันอยู่โดยทั่วไปในการเสนอ(ร่าง)กฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว
อนึ่ง เพื่อให้การจัดทำ model law มีการพิจารณาที่รอบคอบและครบถ้วน คณะทำงานจะได้ตรวจสอบ ความคิดของบุคคลทั่วไปตามที่ปรากฏในสื่อมวลชน หรือเปิดการสัมมนารับฟังข้อคิดเห็นจากบุคคลทั่วไปเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม
(4) การสร้าง ความรู้พื้นฐานทางกฎหมายรัฐธรรมนูญให้แก่สังคมไทย
ในปัจจุบันนี้ ความซับซ้อนตามสภาพความเป็นจริงในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของรัฐสมัยใหม่ (modern state) ได้ทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญกลายเป็นเทคโนโลยีของการออกแบบ(design) ของการจัดกลไกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย(ตามที่คนเราได้ใช้ความฉลาดคิดขึ้น และเขียนไว้เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร) ดังนั้น คณะทำงาน จะได้จัดทำบทความขึ้นชุดหนึ่งประมาณ 5-6 บทความ ภายใต้หัวข้อเรื่องว่า ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้สอนในสถาบันอุดมศึกษาของไทย ได้มาตรฐานสากลหรือไม่ (?)
บทความชุด (series) ดังกล่าว จะมีบทความสำคัญ เรียงตามลำดับ ดังต่อไปนี้
บทความที่ 1. บทบาทของ สถาบันพระมหากษัตริย์ ในการปฏิรูปการเมืองของประเทศต่างๆ ในยุโรป
บทความที่ 2. วิวัฒนาการของการจัดรูปแบบ ระบบสถาบันการเมือง ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (written constitution) ของประเทศที่พัฒนาแล้วในยุค 200 ปีก่อนหน้านี้ [คือ ในศตวรรษที่ XIX และ XX อันเป็นระยะเวลาหลังจากที่ Montesquieu (ค.ศ.1689-1755) ได้ตายไปแล้ว]
บทความที่ 3. ปัญหาการให้(พระราชทาน)รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของไทย ก่อนเปลี่ยน แปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ.2475 ( ค.ศ.1932 )
3.1 เพราะเหตุใด รัชกาลที่ 5 (ค.ศ.1868-1911) จึงไม่สามารถพระราชทาน
รัฐธรรมนูญให้แก่คนไทยได้ [เทียบกับเหตุการณ์ในรัชกาลพระเจ้ามัต สุฮิโต-เมจิ (ค.ศ.1867-1912) ของญี่ปุ่น ในระยะเดียวกัน]
3.2 เพราะเหตุใด รัชกาลที่ 7 จึงไม่สามารถพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ คนไทยได้ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932) อันเป็นวันครบรอบ 150 ปี แห่งการครองราชย์ของราชวงศ์จักรีและเป็นวันเปิดสะพานพุทธ ยอดฟ้าฯ (ทั้งๆ ที่พระองค์มีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าเช่นนั้น)
บทความที่ 4. วิวัฒนาการของรูปแบบของกลไกใน ระบบสถาบันการเมือง ในรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร) ของไทยรวม 16 ฉบับในช่วงเวลา (period) ต่างๆ หลังการเปลี่ยนแปลง การปกครอง พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932)
บทความที่ 5. ความผิดพลาดของรูปแบบของ ระบบสถาบันการเมือง ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) ของไทย
5.1 สาเหตุ (ความผิดพลาดของการจัดองค์กร ขององค์กรที่มีอำนาจให้ รัฐธรรมนูญ pouvoir constituant ซึ่งได้แก่ สสร. กับรัฐสภา)
5.2 ผล (ความผิดพลาดในรูปแบบกลไกของระบบสถาบันการเมืองที่ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พ.ศ.2540 ที่นำไปสู่ความเสื่อมและ ความล้มเหลวของ การบริหารประเทศ อันเต็มไปด้วยการทุจริต คอรัปชั่น(ทั้งโดยเปิดเผยและทั้งคอรัปชั่นทางนโยบาย)อันเป็นการ ทำลายทรัพยากรของส่วนรวมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนเกิด คำวินิจฉัยของศาลและขององค์กรอิสระจำนวนมากที่ขาดตรรกและเต็ม ไปด้วยการเล่นสำนวนความ ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน)
นอกจากบทความดังกล่าวแล้ว คณะทำงานจะได้จัดให้มีบทความอื่นๆ ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ตามที่จะเห็นสมควรต่อไป
โดยสรุป ก็คือ เหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวทางวิชาการในการสอนของสถาบันระดับอุดมศึกษาของไทย(ในสาขารัฐศาสตร์ และสาขานิติศาสตร์) ตลอดจนความล้มเหลวโดยทั่วๆ ไปของนักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่าประหลาดใจและน่าสงสารสำหรับสังคมไทย(ตามที่ปรากฏเป็นบทความในหน้าสื่อมวลชนอยู่บ่อยครั้ง) ก็คือ ชนชั้นนำ elite หลายกลุ่มของเราบางท่าน ยังคิดว่า เราจะสามารถปฏิรูปการเมืองได้โดยไม่ใช้ กฎหมาย
ถ้าเราศึกษากฎหมายมหาชนแล้ว เราก็จะทราบว่า สังคมทุกสังคมในโลกทุกวันนี้ พัฒนาไปข้างหน้า ด้วยการจัดระบบสังคมโดยอาศัย กฎหมาย เป็นเครื่องมือในการวางกฎเกณฑ์และจัดรูปแบบองค์กรบริหารทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UN / WTO (สังคมโลก) หรือรัฐ(สังคมในประเทศ) ; ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้แต่สิ่งที่คนไทยเรียกกันว่า จริยธรรม หรือ สุจริตธรรม และเชื่อกันว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่ในทางกลับกัน องค์กรของรัฐของเขา(ประเทศที่พัฒนาแล้ว)ได้กำหนดให้สิ่งเหล่านี้เกิดสภาพบังคับ (sanction) และทำให้หลักจริยธรรมและหลักสุจริตธรรมเป็น กฎหมายได้ (โดยไม่ต้องเขียนขึ้นเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร) เพราะนักกฎหมายของเขาถือว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักกฎหมายทั่วไป general principle of law ที่ทุกคนถูกสันนิษฐานว่า ควรต้องรู้ได้ด้วยสามัญสำนึกของมนุษย์
ความล้าหลังในการสอนกฎหมายในสถาบันระดับอุดมศึกษาของเรา ได้ทำให้คนไทยเกิดความสับสนในกฎเกณฑ์ของสังคม และทำให้คนไทยกลายเป็นสังคมที่ตีความกฎหมาย โดยอาศัยการเล่นสำนวนความ และใช้กฎหมายโดยปราศจากจุดหมาย(วัตถุประสงค์) อันเป็นปรัชญาของกฎหมาย และด้วยเหตุนี้เอง ชนชั้นนำ elite ส่วนใหญ่ของเราจึงไม่อยู่ใน ฐานะและไม่มีความสามารถพอที่จะนำ กฎหมายมาใช้เป็น เครื่องมือในการพัฒนาการจัดระเบียบของสังคม(ไทย) เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมของการบริหารประเทศที่เห็นๆ กันอยู่ทุกๆ วัน และทำให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าไม่ได้
ดังนั้น เราจึงพบว่า สิ่งง่ายๆ ที่ชนชั้นนำของเราทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็คือ การอ้างอิงหรือการต่อสู้เพื่อ สิทธิ เสรีภาพของปัจเจกชน" (ซึ่งปัจเจกชนนั้นอาจเป็นผู้กระทำความผิดหรือเป็นผู้ที่สุจริตก็ได้) แต่ชนชั้นนำของเราไม่มีความรู้พอที่จะทราบและเสนอต่อสังคมไทยได้ว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของเรา (ที่พิกลพิการและใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน) อาจแก้ไขได้อย่างไร จึงจะทำให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถ แยกผู้กระทำความผิด(ต่อสังคม) ออกจากผู้สุจริตได้(เพื่อจะได้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเหมาะสม) ตลอดจนติดตามเอา ผู้ทุจริตคอรัปชั่นมาลงโทษได้ (!) และการแก้ไข(กฎหมาย)กระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพเท่านั้น ที่จะทำให้เกิดสิทธิ / เสรีภาพที่แท้จริงได้
การตรากฎหมายในปัจจุบันนี้ จึงได้กลายเป็นเครื่องมือของ นักการเมือง ที่เข้ามาผูกขาดอำนาจ ด้วยความร่วมมือของนักวิชาการแบบไทยๆ บางกลุ่มที่เห็นแก่ผลประโยชน์ที่นักการเมืองหยิบยื่นให้
(5) ประการสุดท้าย คือ การแก้ไขความผิดพลาดของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(พ.ศ.2540)
เจ้าของโครงการ (ศูนย์นิติศาสตร์ และสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์)คาดหมายว่า คณะทำงานจะทำงานคือ จัดทำต้นแบบ (model law) ของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2 พร้อมกับคำอธิบาย(expose) ประกอบร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จก่อนเดือนมีนาคม พ.ศ.2549 คือ ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดต่อไป
กรกฎาคม 2548
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=796
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 02:15 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|