|
|
ปัญหาการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดย นาย สโรช สันตะพันธุ์ 10 กรกฎาคม 2548 15:21 น.
|
ปัญหาที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้เป็นปัญหาที่ผู้รับผิดชอบยังไม่สามารถหาทางออกได้อย่างชัดเจน เพราะมีปัญหาในทางข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เป็นอันมาก คือ กรณีปัญหาการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงใคร่จะนำเสนอความเป็นมาของปัญหาและความคิดความเห็นในทางกฎหมายของผู้เขียนเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ มิได้จงใจจะก้าวล่วงไปตำหนิการกระทำของท่านผู้ใดทั้งสิ้น
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 47/2547 เรื่อง ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 กรณีการใช้อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งมีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
1. ความเป็นมาและข้อเท็จจริงโดยสรุป
พันตำรวจเอก สุรพงศ์ ไผ่นวล สมาชิกวุฒิสภากับคณะได้มีหนังสือขอให้ประธานรัฐสภา เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีการใช้อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา ในการเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ประธานรัฐสภาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 333 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฯ มาตรา 15 มาตรา 30 มาตรา 31 และมาตรา 33 ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2543 ข้อ 6 (5) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเป็นชอบโดยวุมิสภามีอำนาจเพียงให้หรือไม่ให้ความเห็นชอบเท่านั้น หากไม่ให้ความเห็นชอบ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็มีหน้าที่ต้องคัดเลือกผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอต่อไปจนกว่าวุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบ ดังนั้นการที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอรายชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 3 คน ต่อวุฒิสภาเพื่อทำการคัดเลือก และการที่วุฒิสภามีมติคัดเลือกบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน จากจำนวน 3 คน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่น่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฯ ประธารรัฐสภาจึงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เสนอเรื่องพร้อมความเห็นเพื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอชื่อผู้สมควรเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อวุฒิสภา จำนวน 3 คน และการที่วุฒิสภามีมติเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน จากจำนวน 3 คน ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอมานั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
2. ประเด็นเบื้องต้น
ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของประธานรัฐสภาไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ได้ หรือไม่
พิจารณาแล้ว เห็นว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาต่างก็เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีขึ้นและกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ จึงเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 312 บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยให้การสรรหาและการเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และมาตรา 333 (1) บัญญัติให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ต้องบัญญัติอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในการพิจารณาเลือกผู้สมควรเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินด้วย การใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และการใช้อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในการให้ความเห็นชอบบุคคลที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอ ก็เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในการถวายคำแนะนำพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
ดังนั้น เมื่อประธานรัฐสภาซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เห็นว่าการดำเนินการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 จึงเป็นการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 และปัญหาที่ได้เกิดขึ้นจริงศาลรัฐธรรมนูญจึงรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยต่อไปได้
3. ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
การที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอชื่อผู้สมควรเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อวุฒิสภา จำนวน 3 คน และการที่วุฒิสภามีมติเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คนจากจำนวน 3 คน ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอมานั้น เป็นกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการสรรหาและเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดและมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือ นายประธาน ดาบเพชร เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 312 มาตรา 333 (1) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (6) มาตรา 30 และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2543 ข้อ 6 (5) แล้ว ส่วนการที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือในนามคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอรายชื่อบุคคลจำนวน 3 คน ให้วุฒิสภาพิจารณาเลือก และวุฒิสภามีมติเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจำนวน 1 คน จากจำนวน 3 คน นั้น เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ในการเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และให้วุฒิสภาเป็นองค์กรถวายคำแนะนำพระมหากษัตริย์ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (6) มาตรา 30 และมาตรา 31 บัญญัติให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นองค์กรสรรหาและเลือกแล้วเสนอให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ การให้ความเห็นชอบของวุฒิสภาจึงย่อมต้องมีความหมายเพียงการให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ เฉพาะบุคคลที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีมติเลือกด้วยคะแนนเสียงสูงสุด และมีคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทั้งหมดเท่าที่มีอยู่มาแล้วเท่านั้น การที่วุฒิสภาดำเนินการเลือกบุคคลในบัญชีรายชื่อที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอในนามของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมาพร้อมกับหนังสือนำส่งผลการเลือกของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยเลือกนางจารุวรรณ เมณฑกา ซึ่งได้คะแนนในอันดับที่สอง และไม่ได้จำนวนคะแนนที่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 312 มาตรา 333 (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (6) มาตรา 30 ประกอบด้วยระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2543 ข้อ 6 (5) และมาตรา 31
4. ผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า กรณีตามคำร้องของประธานรัฐสภาที่เกี่ยวกับปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น มีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 312 มาตรา 333 (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (6) มาตรา 30 และมาตรา 31 ประกอบด้วยระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2543 ข้อ 6 (5)
กล่าวโดยสรุปคือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการสรรหา ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินและระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยทิ้งคำถามไว้ให้ถกเถียงกันว่า แล้วสถานะของ คุณหญิงจารุวรรณ จะเป็นอย่างไร
จากนั้นประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็เริ่มกระบวนการสรรหาผู้จะมาดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ โดยมีการชี้แจงในภายหลังว่า ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้สอบถามไปยังสำนักราชเลขาธิการว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นว่าแล้วจะถือว่า คุณหญิงจารุวรรณ ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือไม่ ซึ่งประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นได้ทำหนังสือตอบสำนักราชเลขาธิการไป โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ว่า ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อกระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว คุณหญิงจารุวรรณ จึงไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปได้ นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยและถือว่ามิได้รับเลือกจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและถือว่ามิได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาตามกระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาแต่ต้น
ในที่สุดคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็เดินหน้าสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ โดยในวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมวุฒิสภา ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องด่วนให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคล ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้เสนอชื่อ นายวิสุทธิ์ มนตริวัต รองปลัดกระทรวงการคลัง หลังจากใช้เวลาในการประชุมลับชั่วโมงเศษ ที่ประชุมจึงได้ลงคะแนนด้วยวิธีการออกเสียงลงคะแนนลับ ผลการลงคะแนน ปรากฏว่า เห็นชอบ 107 เสียง ไม่เห็นชอบ 31 เสียง ไม่ประสงค์จะลงคะแนน 17 เสียง บัตรเสีย 1 และไม่ลงคะแนน 2 เสียง จึงเป็นอันว่าที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้นายวิสุทธิ์ มนตริวัต ได้เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ เหลือเพียงขั้นตอนที่ประธานวุฒิสภาต้องนำชื่อนายวิสุทธิ์ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
ณ จุดนี้เองที่มีทั้งนักวิชาการ นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวหลายท่านได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ จนทำให้ประธานวุฒิสภาต้องยอมชะลอการนำชื่อนายวิสุทธิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ
นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว กรณีที่ประธานวุฒิสภาจะนำชื่อนายวิสุทธิ์ มนตริวัต ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ขณะที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ยืนกรานจะทำหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง
นายคณินกล่าวว่า ถ้าหากไม่ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งตามที่ประธานวุฒิสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ แสดงว่า พระบรมราชโองการแต่งตั้ง คุณหญิงจารุวรรณ เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อคราวก่อน ยังไม่สิ้นผล และคุณหญิงจารุวรรณ ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ตามพระบรมราชโองการนั้น แต่ถ้าหากทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายวิสุทธิ์ มนตริวัต เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ตามที่ประธานวุฒิสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ คุณหญิงจารุวรรณ ก็จะพ้นจากตำแหน่งไป โดยไม่ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง แต่ที่สำคัญคือเป็นการพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่ทรงแต่งตั้งนายวิสุทธิ์ ไม่ใช่ให้ถือเสมือนหนึ่งว่า คุณหญิงจารุวรรณ ไม่เคยได้ดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ต้น อย่างที่ระบุในคำชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญแต่ประการใด
นายคณิน กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา นักกฎหมาย และประธานวุฒิสภา แถลงเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของคุณหญิงจารุวรรณ เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งว่า การพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าฯ สตง. ไม่ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นในลักษณะเดียวกับการพ้นจากตำแหน่ง ของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 การพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 260 และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 298 วรรค 3 ทั้ง 3 ตำแหน่ง หากมีลักษณะเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็พ้นจากตำแหน่งโดยไม่ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง
นายคณิน กล่าวว่า การพ้นจากตำแหน่งของ กกต., ป.ป.ช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่างกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าฯ สตง. เพียงประเด็นเดียวคือ เงื่อนไขการพ้นจากตำแหน่งของ กกต. ป.ป.ช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ แต่เงื่อนไขการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าฯ สตง. นั้น ไปกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 312 วรรคเจ็ดที่บัญญัติ ว่า การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน โดยเงื่อนไข ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฯ กำหนดการพ้นจาก ตำแหน่งของผู้ว่าฯ มีไว้ในมาตรา 34 ว่า พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (1) ตาย (2) มีอายุครบวาระ 65 ปีบริบูรณ์ (3) ลาออก (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 28 มาตรา 29 (5) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 32 (6) คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ออกและวุฒิสภามีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ซึ่งจะเห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดของรัฐธรรมนูญ หรือในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ผู้ว่าฯ สตง. ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเองไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่า คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่งเมื่อใด
นายคณินกล่าวในที่สุดว่า เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินที่ระบุว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้องพ้นจากตำแหน่งโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเองก็มิได้ชี้ชัดลงไปว่า คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ดังนั้น ต้องถือว่าพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณ เป็นผู้ว่าฯ สตง. ยังไม่สิ้นผล และเมื่อพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยังไม่สิ้นผล จึงน่าเป็นห่วงแทนประธานวุฒิสภาในการทำหนังสือกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง นายวิสุทธิ์ มนตริวัต เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ว่าจะระบุในหนังสือกราบบังคมทูลว่าอย่างไร และอ้างมาตราใดของรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าคุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จึงต้องสรรหาและเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ รวมทั้งกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภา บางคนให้ประธานวุฒิสภารับผิดชอบ ถ้าหากไม่ทรงโปรดเกล้าฯ และพระราชทานคืนมาว่า ในเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขนาดนี้และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ชี้ชัดว่า คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่งแล้วหรือยัง เรียกว่า แม้แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจและการตัดสินใจของประธานวุฒิสภาว่าจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าหากประธานวุฒิสภาตัดสินใจนำขึ้นทูลเกล้าฯ และทรงมีพระราชวินิจฉัยอย่างไร ก็ย่อมถือเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาดสำหรับกรณีนี้
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า มติของวุฒิสภาที่เลือก ผู้ว่าฯ สตง. คนใหม่เท่ากับสารภาพผิดว่าการเลือกคุณหญิงจารุวรรณในครั้งนั้นเป็นการกระทำที่มิชอบ ถ้าตีความแบบนี้ก็ขอเรียกร้องความรับผิดชอบจากวุฒิสภาที่ไปเลือก คุณหญิงจารุวรรณ เข้ามาตั้งแต่ตอนต้น เหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าเรื่องนี้เป็นใบสั่งฝ่ายการเมืองแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้วุฒิสภาเข้าชื่อกัน 136 คนคัดค้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่มาวันนี้กับเปลี่ยนใจมายอมรับว่าตัวเองผิดจึงสรรหาใหม่ และที่สำคัญในสมัยคุณหญิงจารุวรรณ เป็นผู้ว่าฯ สตง. ได้ตรวจพบการทุจริตหลายโครงการ ซึ่งโครงการเหล่านั้นพบว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีส่วนพัวพันอยู่ด้วย เช่น สินบน CTX 9000 โครงการครัวการบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โครงการคลังสินค้ากับโครงการอุปกรณ์ บริการภาคพื้นและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือกระทั่งโครงการประมูลต้นกล้ายางของกรมวิชาการเกษตร ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ในเบื้องต้นผมขอเรียกร้องไปยังประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ เปิดประชุมวุฒิเป็นกรณีฉุกเฉินทบทวนมติ หรือหาความชัดเจนทางข้อกฎหมาย โดยยื่นตีความใหม่ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะเรื่องนี้อาจเป็นการทำให้สังคมสับสนจนหาหลักปฏิบัติไม่เจอ (1)
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวออกมาให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2543 ที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 47/2547 นั้น ไม่มีผลใช้บังคับเพราะไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับไปด้วย
นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) กล่าวถึงกรณีที่มีการถกเถียงกันว่า ระเบียบคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการสรรหาผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อ้างอิงในการวินิจฉัยสถานภาพของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ซึ่งไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะทำให้การเลือก นายวิสุทธิ์ มนตริวัต เป็นผู้ว่าการ สตง. คนใหม่ ของวุฒิสภาเป็นโมฆะหรือไม่ว่า แม้ระเบียบดังกล่าวจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ไม่มีผลทำให้คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่งอยู่แล้ว เพราะนอกจากระเบียบดังกล่าวจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 312 วรรค 4 และ 5 แล้ว การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 ยังไม่มีผลต่อสถานภาพของบุคคลว่า จะพ้นหรือไม่พ้นจากตำแหน่งอีกด้วย เรื่องนี้ยังมีปัญหาข้อสงสัยว่าศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่อีกด้วย เพราะเอาระเบียบ ซึ่งไม่มีผลใช้บังคับมาเป็นฐานในการวินิจฉัยเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ สตง. ด้วยเหตุนี้น่าจะชี้ขาดได้แล้วว่า คุณหญิงจารุวรรณ ยังอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. และการสรรหาตลอดจนการเลือกนายวิสุทธิ์ เป็นผู้ว่าการ สตง. ย่อมเป็นโมฆะ ประธานวุฒิสภาจึงไม่สามารถนำชื่อนายวิสุทธิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ นายคณิน กล่าวและว่า หากประธานวุฒิสภานำชื่อนายวิสุทธิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งประธานวุฒิสภา วุฒิสภา และคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ อาจถูกกล่าวหาร่วมกันและจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ระเบียบว่าด้วยการสรรหาผู้ว่าการ สตง. เป็นระเบียบที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกมีผลที่ใช้เป็นการทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นกฎหมายประกอบจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ให้ออกกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น ศักดิ์ศรีของกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายระดับรอง เมื่อเป็นกฎหมายระดับรองจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ทราบ โดยในมาตรา 5 ที่ระบุให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษามีเจตนาให้มีการนับวันเริ่มต้น อย่างไรก็ตามปัญหานี้ควรทำให้มีความชัดเจนก่อนนำชื่อ ผู้ว่าการ สตง.คนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ หากพบว่ามีความบกพร่อง ควรนำมา ทบทวนแก้ไขให้มีความชัดเจนก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ระเบียบการสรรหาผู้ว่าฯ สตง. ถือเป็นระเบียบที่มีผลเป็นการทั่วไปจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะมีสภาพเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์สามารถบังคับใช้ได้ ไม่ใช่เป็นระเบียบภายในตามที่มีการกล่าวอ้าง กรณีที่เกิดขึ้นประธาน คตง. ในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน จะต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบภายในที่ไม่ต้องส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้ที่วินิจฉัยว่า กระบวนการสรรหาผู้ว่าฯ สตง.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนว่า ยืนอยู่บนหลักการที่ว่า วุฒิสภาสรรหาผู้ว่าฯ สตง.ไม่เป็นไปตามระเบียบฯ เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นแล้วไม่สามารถที่จะนำชื่อนายวิสุทธิ์ มนตริวัต ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้แล้ว เพราะนายวิสุทธิ์ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ สตง.บนพื้นฐานของระเบียบที่ไม่เคยมี และวุฒิสภาจะต้องนำเรื่องนี้เข้ามาพิจารณากันว่าควรจะดำเนินการกันอย่างไร (2)
ต่อมาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2548 ชี้แจงกรณีปัญหาการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ยังสับสนว่าคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือไม่ โดยได้ส่งไปยังสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา แถลงการณ์ของ คตง.ระบุว่า เนื่องจากเป็นที่สับสนของสังคม กรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการหรือไม่ และยังปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่หรือไม่ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และประชาชนทั่วไปได้สอบถามมายังสำนักงานการตรวจเงินฯ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อความโปร่งใสและให้สาธารณชนทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงขอแถลงข้อเท็จจริงให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบ เกี่ยวกับการเข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา) ดังนี้
นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา จึงมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแต่อย่างใด และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ระงับการจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป พร้อมทั้งได้แจ้งให้คุณหญิงจารรุวรรณ เมณฑกา ส่งมอบงานในหน้าที่ ตลอดจนทรัพย์สินของทางราชการ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้แต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (นางพวงรัตน์ วงษ์โพธิ์) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแทน ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป หลังจากนั้นได้แต่งตั้งนายจีระรัตน์ นพวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้รักษาราชการในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแทนนางพวงรัตน์ วงษ์โพธิ์ ซึ่งเกษียณราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 จนถึงปัจจุบัน
แถลงการณ์ คตง.ระบุ ต่อมาว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 312, มาตรา 313 (1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 และระเบียบ คตง.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2543 และได้เสนอชื่อนายวิสุทธิ์ มนตริวัต ซึ่งเป็นผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดและมีคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งต่อมาวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ที่าสมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2543 ซึ่งประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในฐานะผู้รักษาราชการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ยืนยันว่า ระเบียบ คตง.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาฯ ดังกล่าวถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ (3)
ต่อไปนี้ผู้เขียนจะนำเสนอความคิดเห็นในทางวิชาการ โดยขอเสนอแนะให้ทุกฝ่ายใช้ หลักคิด เป็นฐานในการวิเคราะห์เรื่องนี้มากกว่าใช้ อารมณ์ หรือความรู้สึกชอบ ไม่ชอบต่อตัวบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องขึ้นตัดสิน ผู้อ่านโปรดพิเคราะห์ตามที่เห็นควร โดยต้องเข้าใจว่าในเชิงคดีนั้นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้เป็นที่สุดเด็ดขาดและมีผลผูกพันทุกองค์กร ไม่อาจรื้อฟื้นมาพิจารณาใหม่ได้อีก แต่บทเรียนที่ได้จากการวินิจฉัยครั้งนี้ อาจนำไปสู่การพิจารณาปรับปรุงสิ่งที่ยังบกพร่องอยู่ให้ดีขั้นได้ในอนาคต
1. ปัญหาการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา) ที่มีผู้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 266 หรือไม่
รัฐธรรมนูญ มาตรา 266 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรนั้นหรือประธานรัฐสภาเสนอเริ่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 266 นี้ เป็นการพิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น และปัญหาดังกล่าวจะต้องเป็น ปัญหา ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ดังนั้น หากไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่เกิดขึ้น ย่อมไม่สามารถเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรานี้ได้ เช่น เสนอเรื่องให้ตีความอำนาจหน้าที่ขององค์กรในลักษณะเป็นข้อหารือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยที่ยังไม่มีเรื่องหรือยังไม่มีกรณีที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นจริง เช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับพิจารณาวินิจฉัย
อย่างไรก็ดี ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ดังที่กล่าวมานี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งมีปัญหา ขัดแย้ง เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญอีกองค์กรหนึ่ง หรือกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นในประเด็นที่ว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่กระทำการในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่ (4)
วัตถุแห่งคดี ตามมาตรา 266 มีข้อพิจารณา 3 ประการ ดังนี้
1. วัตถุแห่งคดีหรือข้อพิพาทแห่งคดีนั้นจะต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับ อำนาจหน้าที่ ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
2. ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่นั้นจะต้องเป็นกรณีที่เป็นอำนาจหน้าที่ของ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หมายถึง องค์กรทั้งสองจะต้องเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
3. อำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเป็นอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ หากเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีนั้นจะต้องเกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญ (5)
กล่าวโดยสรุป มาตรา 266 มีเจตนารมณ์ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเพียงกรณีที่เป็นปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ (เช่น กรณีที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งต่างโต้แย้งว่าฝ่ายตนเป็นผู้มีอำนาจในเรื่องนั้น ๆ อีกองค์กรหนึ่งไม่มีอำนาจ) ไม่ใช่กรณีที่มีข้อสงสัยปัญหาภายในองค์กรใดองค์กรหนึ่งกระทำการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายแล้วจะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยอ้างว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และย่อมไม่ใช่กรณีที่สมาชิกเสียงข้างน้อยขององค์กรใดองค์กรหนึ่งสงสัยว่า การวินิจฉัยโดยสมาชิกเสียงข้างมากสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็จะมาใช้ช่องทาง รัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เสนอเรื่องผ่านประธานรัฐสภามายังศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหากรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้สิทธิสมาชิกเสียงข้างน้อยขององค์กรในการใช้ช่องทางทางกฎหมาย คัดค้านมติเสียงข้างมากขององค์กรจริง รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง เช่น ได้บัญญัติรับรองการเข้าชื่อเสนอเรื่องผ่านประธานรัฐสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 262 (1) เป็นต้น
ผู้เขียนเห็นว่า การที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอรายชื่อบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้วุฒิสภาเลือกจำนวน 3 คน และวุฒิสภาก็ลงมติเลือกบุคคลที่ไม่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดและมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทั้งหมดที่มีอยู่ คือเลือกคุณหญิงจารุวรรณ เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของทั้งของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาซึ่งต่างฝ่ายต่างใช้อำนาจของตน คนละขั้นตอน แยกต่างหากจากกัน ไม่ใช่เป็นปัญหา ขัดแย้ง เรื่องอำนาจหน้าที่ของสององค์กรแต่อย่างใด
จริงอยู่หากพิจารณาโดยข้อกฎหมายแล้ว ทั้งการกระทำของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาในกระบวนการสรรหา กระทั่งได้มาซึ่งคุณหญิงจารุวรรณเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง (with the greatest respect) กรณีนี้ผู้เขียนไม่อาจจะเห็นพ้องได้ว่า เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 266 หากแต่เป็นปัญหาภายในของทั้งสององค์กรโดยเริ่มต้นที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและเป็นลำดับต่อไปยังวุฒิสภา (6)
2. ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ : สถานะของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา
ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 นี้ ก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนในระบบกฎหมายว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยืนยันแต่เพียงว่าการกระทำของประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเท่านั้น กรณีคงมีปัญหาต่อไปว่ามติของวุฒิสภาที่เลือกคุณหญิงจารุวรรณ เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะสิ้นผลไปหรือไม่ คุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทันทีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยหรือไม่ กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาจะต้องตีความคำวินิจฉัยและไปดำเนินการต่อด้วยตนเอง ซึ่งข้อเท็จจริงก็เป็นดังที่ได้ทราบกันว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการสรรหาและเสนอชื่อนายวิสุทธิ์ มนตริวัต ให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งวุฒิสภาก็ได้ลงมติให้ความเห็นชอบนายวิสุทธิ์ เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว รอเพียงขั้นตอนที่ประธานวุฒิสภาจะนำชื่อนายวิสุทธิ์ขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเท่านั้นซึ่งประธานวุฒิสภาชะลอเรื่องไว้ น่าจะเป็นเพราะต้องการรอให้กระแสต่อต้านในสังคมลดความรุนแรงลง นั่นแสดงให้เห็นว่าทั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาเสียงข้างมาก ได้ตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งแล้ว นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น
ผู้เขียนเห็นว่า กรณีนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องยึดถือรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ซึ่งบัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ เป็นหลัก กล่าวคือ แม้จะมีการให้ความเห็นกันอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็น ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย, คุณหญิงจารุวรรณยังไม่พ้นจากตำแหน่งเพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะต้องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่กรณีที่ว่าระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการวินิจฉัยนั้น ไม่มีผลใช้บังคับเพราะไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับไปด้วยก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นของคนบางกลุ่มเท่านั้น หาได้มีผลทำให้คำวินิจฉัยต้องสิ้นผลบังคับไปจริง ๆ ไม่ ผลของคำวินิจฉัยจึงยังคงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 นั่นคือ คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้วนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และพึงเข้าใจว่าตามรัฐธรรมนูญหามีผู้ใดหรือองค์กรใดจะมีอำนาจมา กลับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้
3. ประเด็นเรื่องการที่ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยธุรการของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับ กกต., ปปช., ศาลรัฐธรรมนูญ) คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แต่ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานธุรการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญจะเรียกว่า เลขาธิการ อีกทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ต่างไปจากเลขาธิการ จึงน่าจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมากกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องที่ว่าตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็น ตำแหน่งโปรดเกล้าฯ นั้น ผู้เขียนมีความเห็นสอดคล้องกับจดหมายเปิดผนึกของศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ดังนี้
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 227 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย ดังนั้น ในแต่ละปีจึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมากมาย
รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้
หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งฯ เพื่อเป็นเกียรติยศสำหรับตำแหน่งบางตำแหน่ง แต่ตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง ในกรณีที่มีการแต่งตั้งถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ซึ่งอาจมีการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและรับการวิพากษ์วิจารณ์ คือผู้ที่รับสนองพระบรมราชโองการ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 บัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ เช่น ประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ถ้ามีบุคคลบางส่วนพอใจหรือไม่พอใจก็สามารถวิจารณ์ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการล่วงเกิน หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี หรือตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ถ้ามีบุคคลบางส่วนไม่พอใจก็สามารถวิจารณ์ได้ โดยกระทำกันอยู่ตลอดเวลาใช่หรือไม่
พระบรมราชโองการที่ไม่บังควรวิพากษ์วิจารณ์ ได้แก่ พระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรี หรือองคมนตรี เพราะบุคคลเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกและทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย แม้ตำแหน่งประธานองคมนตรีจะมี ประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการหรือตำแหน่งองคมนตรีจะมีประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็ไม่บังควรวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นพระบรมราชวินิจฉัยที่ทรงเลือกด้วยพระองค์เอง
แต่ตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ นอกจากนี้ เช่น นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสียหาย ถึงขั้นถูกประท้วง ถูกขับไล่ก็มีอยู่หลายคน ใช่หรือไม่ รัฐมนตรีหลายคนถูกคำพิพากษาให้จำคุกใช่หรือไม่ ถ้าถือว่าเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ แล้วใครจะแตะต้องไม่ได้ จะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วหรือ เป็นการปฏิบัติตามอารมณ์และเป็นการเลือกปฏิบัติใช่หรือไม่
ดังนั้น น่าจะสามารถตีความปัญหานี้ได้ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย บุคคลผู้ได้รับการสรรหามาก็ย่อมพ้นจากตำแหน่ง ที่สำคัญคือศาลรัฐธรรมนูญท่านวินิจฉัยในประเด็นของกระบวนการสรรหาของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา มิได้วินิจฉัยว่าพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมิชอบ! การที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นเงื่อนไขความสมบูรณ์ของการดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของขั้นตอนการสรรหาที่กระทำโดยมิชอบ
ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า ผู้ที่อ้างพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มาใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดต่างหากที่กระทำการอันมิบังควร!
4. ประธานวุฒิสภาควรดำเนินการต่อไปอย่างไร
ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ประธานวุฒิสภาเองก็ไม่กล้านำชื่อนายวิสุทธิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะมีหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน ดังที่ได้นำเสนอไว้แล้วในตอนต้น
ผู้เขียนเห็นว่า ประธานวุฒิสภาควรยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก กล่าวคือ คุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว การที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอชื่อนายวิสุทธิ์ให้วุฒิสภาและวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบแล้วนั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว ประธานวุฒิสภาจึงควรนำชื่อนายวิสุทธิ์ มนตริวัต ขึ้นนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งได้แล้ว เพราะสังคมได้รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายพอสมควรแล้ว หากปล่อยให้เนิ่นช้าออกไป ผู้ที่จะเสียประโยชน์ก็คือประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั่นเอง
สรุป
ผู้เขียนเห็นว่าบัดนี้สังคมได้รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายมามากพอสมควรแล้ว ออกจะนานเกินไปเสียด้วยซ้ำ ทุกฝ่ายจึงควรหันกลับมาความเป็นจริงมากกว่าหาสิ่งที่ ใจ ของตนอยากให้เป็น
1. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด และถึงที่สุดแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิและเสรีภาพที่กระทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ควรทำด้วยจิตวิญญาณในทางวิชาการ ใช้เหตุผลไม่ใช่อารมณ์ อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทผู้อื่น ทั้งควรเคารพในความคิดเห็นและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรศาลรัฐธรรมนูญตามสมควร
2. วุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบให้นายวิสุทธิ์ มนตริวัต เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่แล้ว ประธานวุฒิสภาควรนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายวิสุทธิ์ มนตริวัต เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามมติของวุฒิสภา ไม่ควรมีทางเลือกอื่น
3. ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง หากประธานวุฒิสภายังไม่นำชื่อนายวิสุทธิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ คุณหญิงจารุวรรณ ควรประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อยุติปัญหา แม้ว่าเรื่องที่ผ่านมาทั้งหมดจะไม่ใช่ความผิดของคุณหญิงเลยแม้แต่น้อย แต่การลาออกเพื่อยุติปัญหาต่าง ๆ จะเป็นเกียรติยศแก่คุณหญิงเอง
4. ผู้เขียนขอยกย่องและชื่นชมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทั้ง 9 ท่าน ที่ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาให้จำคุก แต่รอการลงโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพินิต อารยะศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ที่ประกาศลาออกเป็นคนแรก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการไม่ยึดติดในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญน้อยกว่าประเทศชาติและประชาชน
ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนขอยืนยันว่า ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนิสิต การแสดงความคิดความเห็นของผู้เขียนนี้ได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการอันเป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้เท่านั้น มิได้หมายจะวิพากษ์วิจารณ์เพื่อสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในระบบกฎหมายแต่อย่างใด ผู้เขียนยังคงเคารพในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเห็นว่าทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องยังคงต้องผูกพันตามผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ.
เชิงอรรถ
(1) หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2548 (www.manager.co.th)
(2) www.banmuang.co.th วันพุธที่ 8 มิถุนายน 2548
(3) หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน 2548 (www.thaiPost.net)
(4) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ : พี.เพรส, 2548), หน้า 33
(5) สมคิด เลิศไพฑูรย์ และบรรเจิด สิงคะเนติ, เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 264 และมาตรา 266, ใน รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1 : ศาลรัฐธรรมนูญไทย (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์, 2544),หน้า 122
(6) ดูความเห็นแย้งได้ใน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, คำชี้แจงต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547, ในรวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 4 : ศาลรัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (กรุงเทพฯ : พี.เพรส, 2548), หน้า 381 - 394
เอกสารอ้างอิงและค้นคว้าเพิ่มเติม
มานิตย์ จุมปา. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540). พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : นิติธรรม, 2547
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : พี.เพรส, 2548
___________________. รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1 : ศาลรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพฯ :
นานาสิ่งพิมพ์, 2544
___________________. รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 4 : ศาลรัฐธรรมนูญกับการคุ้มครอง
สิทธิและเสรีภาพของประชาชน. กรุงเทพฯ : พี.เพรส, 2548
อุกฤษ มงคลนาวิน. จดหมายเปิดผนึก เรื่องปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), 2548
www.pub-law.net. ศาลรัฐธรรมนูญกับการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ : ทัศนะต่อคำวินิจฉัยในกรณีการสรร
หาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, 2547
www.banmuang.co.th
www.manager.co.th
www.thaiPost.net
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=789
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 01:10 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|