การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 8) โดย ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

12 มิถุนายน 2548 22:07 น.

       บทที่ 5
       ข้อพิจารณาในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
       โดยศาลรัฐธรรมนูญไทย

       
       
       จากการศึกษาถึงสิทธิและเสรีภาพกับหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ชาวไทยในบทที่ 2 ที่ผ่านมา จะพบว่ารัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบันมีบทบัญญัติจำนวนมากที่ ให้สิทธิและเสรีภาพกับประชาชนชาวไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญไทยฉบับก่อนหน้านี้ แม้รัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติจำนวนหนึ่งที่มีผลเป็นการวางหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทยไว้ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ก็อาจถูกกระทบได้จากการดำเนินงานขององค์กรของรัฐบางองค์กรหรือจากการปฏิบัติงานตามปกติของฝ่ายปกครอง
       รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้สร้างกลไกในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อป้องกันมิให้การดำเนินงานขององค์กรของรัฐหรือการ ปฏิบัติงานของฝ่ายปกครองไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญได้ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่มีอยู่ในปัจจุบันได้แก่การคุ้มครองโดยผ่านกระบวนการศาล อันได้แก่ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนทางอ้อม กับองค์กรพิเศษที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีบทบาทในการ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนสององค์กร คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังที่ได้ทำการศึกษาไปแล้วในบทที่ 3 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการศึกษาเปรียบเทียบกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศในบทที่ 4 จะพบว่า องค์กรศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญไทยมิได้บัญญัติให้มีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กลับเป็นองค์กรสำคัญที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในต่างประเทศบางประเทศ ดังนั้น การศึกษาในบทที่ 5 ที่จะมุ่งไปถึงการพิจารณาข้อจำกัดของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยองค์กรต่าง ๆ ที่กำหนดไว้โดยรัฐธรรมนูญว่ามีอยู่อย่างไร จากนั้นก็จะทำการวิเคราะห์ระบบของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศเพื่อนำเสนอความเป็นไปได้ในการที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรง
       
       5.1 ข้อจำกัดของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยองค์กร
       ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

       การศึกษาในบทที่ 3 ที่ผ่านมาทำให้เราพอมองเห็นภาพของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีว่า แม้ในปัจจุบันเราจะมีองค์กรจำนวนหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่องค์กรเหล่านั้นต่างก็มีข้อจำกัดในตัวของตัวเองที่ทำให้ไม่สามารถให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างเต็มที่ข้อจำกัดเหล่านั้นสามารถแยกพิจารณาตามรายองค์กรได้ดังต่อไปนี้
       5.1.1 ศาลรัฐธรรมนูญ ข้อจำกัดของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
       โดยศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่สองประการด้วยกัน
       5.1.1.1 ข้อจำกัดด้านขอบอำนาจ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน “ออกแบบ”
       ศาลรัฐธรรมนูญมาให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายก่อนที่จะประกาศใช้บังคับ และตรวจพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับไปแล้ว ดังนั้น บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจึงมีอยู่เฉพาะในการตรวจพิจารณากฎหมายหรือร่างกฎหมายไม่ให้ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถดำเนินการอื่นใดนอกขอบอำนาจของตนเองได้แม้จะเป็นการดำเนินการเพื่อปกป้อง คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็ตาม
       5.1.1.2 ข้อจำกัดในด้านวิธีการตรวจสอบ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้บุคคลจำนวนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายหรือกฎหมาย บุคคลเหล่านั้น ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดและนายกรัฐมนตรีสำหรับการตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย ศาลและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสำหรับการตรวจพิจารณากฎหมายที่ประกาศใช้บังคับไปแล้ว ส่วนกรณีอื่น ๆ ที่มีผลเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทางอ้อม เป็นการตรวจพิจารณาการมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 266 แห่งรัฐธรรมนูญ หรือการตรวจพิจารณาเกี่ยวกับความชอบด้วยหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของมติหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองตามมาตรา 63 และมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญ ก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวคือองค์กรนั้นเอง ประธานรัฐสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเป็นผู้เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
       จึงอาจกล่าวได้ว่า ข้อจำกัดของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้นจำกัดอยู่เฉพาะในกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น และต้องทำโดยผ่านองค์กรต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นกันซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นประชาชนไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาได้โดยตรง
       5.1.2 ศาลยุติธรรม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้จำกัด “ขอบอำนาจ” ของศาลยุติธรรมลงไปน้อยกว่าเดิมเนื่องจากได้จัดตั้งศาลปกครองขึ้นมาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาททางปกครอง
       5.1.2.1 ข้อจำกัดด้านขอบอำนาจ แม้มาตรา 271 แห่งรัฐธรรมนูญจะจำกัดขอบอำนาจของศาลยุติธรรมให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่นก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญก็มีบทบัญญัติมาตราอื่น ให้อำนาจศาลยุติธรรม (ศาลอาญา) ไว้เป็นการเฉพาะ บทบัญญัติเหล่านั้นมีผลเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาตามมาตรา 236 ถึงมาตรา 247 เช่น การจับและคุมขังบุคคล การค้น การขอประกัน เป็นต้น ดังนั้น ศาลยุติธรรมจึงมีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเป็นการริดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยศาลยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณาว่าการดำเนินการ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ ส่วนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในด้านอื่นๆ นั้น ศาลยุติธรรมก็ถูกจำกัดขอบอำนาจไว้ในมาตรา 271 แห่งรัฐธรรมนูญ คือ ศาลยุติธรรมจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น
       ส่วนกรณีอื่นที่เป็นอำนาจของศาลยุติธรรม คือ กรณีเกิดปัญหาตามมาตรา 264 แห่งรัฐธรรมนูญ คือ กรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับคดีและเกิดปัญหาว่ากฎหมายนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายนั้นได้ ก็มีข้อจำกัดอำนาจของศาลอยู่ที่ว่าจะต้องเป็นกฎหมายที่ศาลจะนำมาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีนั้นเท่านั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงจะพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายนั้นได้
       5.1.2.2 ข้อจำกัดในด้านวิธีการตรวจสอบ ศาลยุติธรรมจะสามารถคุ้มครองและป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ก็ต่อเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นและเป็นคดีเข้า สู่การพิจารณาของศาลหรือเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลเท่านั้น โดยมีการวางกฎเกณฑ์ไว้อย่างเคร่งครัดว่าเฉพาะผู้เสียหายเท่านั้นที่จะฟ้องคดีได้ ดังนั้น จึงเป็นข้อจำกัดในการดำเนินการตรวจสอบการกระทำทั้งหลายที่มีผลไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่จะต้อง “รอ” ให้เกิดปัญหาขึ้นก่อนแล้วค่อยนำปัญหาดังกล่าวไปสู่การพิจารณาของศาล
       จึงอาจกล่าวได้ว่า ข้อจำกัดของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยศาลยุติธรรมนั้นจำกัดอยู่เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และการพิจารณาคดีโดยมีปัญหาว่ากฎหมายที่ศาลจะนำมาใช้ในการพิจารณาคดีนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น ซึ่งทั้งสองกรณีจะต้องเกิดเป็นคดีหรือเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นก่อนศาลยุติธรรมจึงจะสามารถใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้
       5.1.3 ศาลปกครอง เช่นเดียวกับศาลยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้จำกัดขอบอำนาจของศาลปกครองไว้เป็นการเฉพาะแยกต่างหากจากอำนาจของศาลยุติธรรม
       5.1.3.1 ข้อจำกัดด้านขอบอำนาจ การใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงได้ จัดตั้งศาลปกครองขึ้นเพื่อควบคุมการกระทำทางปกครองของฝ่ายปกครองมิให้ไปกระทบต่อสิทธิของประชาชนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อจำกัดของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยศาลปกครองจะอยู่ที่การเข้าไปวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่าง
       ประชาชนกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นข้อพิพาทที่ไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอันอาจมีที่มาจากการกระทำหรือการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ก็ได้
       นอกจากอำนาจหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ศาลปกครองยังมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับศาลยุติธรรมคืออำนาจหน้าที่ตามมาตรา 264 แห่งรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ กรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับคดีและเกิดปัญหาว่ากฎหมายนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก็สามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย นั้นได้ ซึ่งก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของศาลยุติธรรมคือจะต้องเป็นกฎหมายที่ศาลจะนำมาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีนั้นเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายนั้นได้
       5.1.3.2 ข้อจำกัดในด้านวิธีการตรวจสอบ ศาลปกครองจะเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นหรือมีการฟ้องคดีสู่การพิจารณาของศาลปกครอง
       อำนาจของศาลปกครองในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอาจกว้างกว่าอำนาจของศาลยุติธรรม เพราะความเป็นผู้เสียหายในคดีปกครองนั้นกว้างกว่าความเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาที่จำกัดเฉพาะตัวบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงใน ขณะที่การออกกฎของฝ่ายปกครองที่ไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้น ความเป็นผู้เสียหายจะกว้างกว่าเพราะหากบุคคลใดคาดว่าตนจะได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพจากการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และอาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน บุคคลนั้นก็สามารถฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนกฎ ระเบียบหรือข้อบังคับนั้นได้ ซึ่งเมื่อศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับ นั้นแล้ว ก็จะมีผลใช้ได้กับทุกคน
       จึงอาจกล่าวได้ว่า ข้อจำกัดของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยศาลปกครองนั้นแม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็สามารถคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ในวงกว้างกว่าการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยศาลยุติธรรมที่มีผลเฉพาะผู้ฟ้องคดีเท่านั้น
       5.1.4 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       5.1.4.1 ข้อจำกัดด้านขอบอำนาจ เมื่อพิจารณาถึงอำนาจและหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 197 และมาตรา 198 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว จะพบว่าอำนาจและหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานั้นมีอยู่มากเพราะรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ ในกรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงเป็นองค์กรสำคัญองค์กรหนึ่งที่มีส่วนในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญได้ และนอกจากนี้ ในการพิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภายังมีอำนาจในการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อวินิจฉัยในกรณีที่เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลผู้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกด้วย
       5.1.4.2 ข้อจำกัดในด้านวิธีการตรวจสอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อร้องเรียนและบังคับการกับองค์กรของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐโดยตรง ข้อจำกัดในด้านวิธีการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงมีอยู่มาก เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสามารถทำได้เพียงเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่ตรวจสอบพบจากการร้องเรียนส่งให้หน่วยงานของรัฐนั้น ๆ ดำเนินการหรือเสนอแนะให้ปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่มีอำนาจบังคับโดยตรงต่อหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น แต่จะต้องส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปพิจารณาว่าจะสั่งการอย่างไร
       จึงอาจกล่าวได้ว่า ข้อจำกัดของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานั้นอยู่ที่ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะสั่งการหรือบังคับการให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตาม
       5.1.5 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรใหม่อีกองค์กรหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและ คุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับต่างประเทศ
       5.1.5.1 ข้อจำกัดด้านขอบอำนาจ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรหนึ่งที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 200 แห่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้ว่ามีอำนาจ ในการตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิ มนุษยชนหรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี จากอำนาจและหน้าที่ดังกล่าวจึงทำให้อำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไม่มีข้อจำกัดเพราะการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้เป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา 200 แห่งรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
       5.1.5.2 ข้อจำกัดในด้านวิธีการตรวจสอบ เช่นเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา การดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่มีสภาพบังคับ ดังนั้น จึงทำได้แต่เพียงให้ข้อเสนอแนะหรือคำแนะนำต่อองค์กรต่าง ๆ เท่านั้น ข้อจำกัดในด้านวิธีการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจึงมีอยู่มากเพราะไม่อาจแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้ร้องเรียนได้ด้วยตัวของตัวเอง แต่จะต้องเสนอไปยังหน่วยงานของรัฐระดับสูงขึ้นไปเป็นผู้พิจารณาว่าจะสั่งการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือไม่
       จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะไปบังคับให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามความเห็นของตนเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้ร้องเรียนได้
       5.2 ข้อสังเกตเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ
       เมื่อพิจารณาถึงบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการให้สิทธิแก่ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงในกรณีที่มีการกระทำใด ๆ ที่ไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ จะเห็นได้ว่า บทบาทดังกล่าวเป็นบทบาทที่น่าสนใจยิ่งเพราะเป็นบทบาทที่ใกล้ชิดกับประชาชนและยังสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนเป็นรายบุคคลได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศดังกล่าวอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ
       5.2.1 จำนวนเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณา เมื่อพิจารณาจาก “ตัวเลข” ของจำนวนเรื่องที่ประชาชนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศแล้วจะเห็นได้ว่ามีจำนวนสูงมาก ซึ่งก็จะตกเป็นภาระของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยต่อไปโดยไม่สามารถทำอย่างอื่นได้
       ในหลาย ๆ ประเทศพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมากลั่นกรองเรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก่อนเพื่อมิให้คำร้องทั้งหลายที่ประชาชนต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดทั้ง ๆ ที่บางเรื่องเป็นเรื่องที่มิได้อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วิธีดังกล่าวใช้ได้ผลกับประเทศที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนหลายคนที่สามารถแบ่งเป็นองค์คณะได้และก็สามารถตั้งเป็นคณะทำงานได้ แต่สำหรับประเทศที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนน้อย การตั้งคณะทำงาน จะทำให้การดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างล่าช้ายิ่งขึ้น ดังนั้น การให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรงจึงเป็นเรื่องที่สร้างภาระงานให้กับศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก
       5.2.2 สถานะของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการ พิจารณาเรื่องที่ผ่านการพิจารณาจากองค์กรอื่นมาแล้ว เช่น ผ่านการพิจารณาของฝ่ายปกครองมาแล้วทุกขั้นตอน หรือเป็นคำพิพากษาที่ผ่านการพิจารณาจนถึงชั้นศาลฎีกาแล้ว เป็นต้น จะทำให้สถานะของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในระดับที่สูงจนเป็นที่น่าวิตกว่าจะมีประชาชนที่ไม่ยอมยุติปัญหาของตนเอง ในชั้นศาลฎีกาพากันมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ทบทวนคำพิพากษาของศาลฎีกาอีกชั้นหนึ่งได้ ดังนั้น ในหลาย ๆ ประเทศจึงมีการวางกลไกในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวไว้อย่างเข้มงวดโดยกำหนดให้การกระทำหรือคำพิพากษาที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่จะนำมาร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้นั้นจะต้องเป็นการกระทำหรือคำพิพากษาที่เกิดจากกฎหมายที่นำมาใช้ในการสั่งการหรือในคำพิพากษาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น การกำหนดไว้ดังกล่าวก็เพื่อวางกรอบให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้เฉพาะประเด็นกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งก็จะส่งผลทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นศาลที่มีอำนาจในการทบทวนคำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด
       ข้อสังเกตทั้งสองประการเป็นข้อสังเกตที่ได้จากการศึกษาวิจัยบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศดังที่ได้ศึกษามาแล้วในบทที่ 4
       
       5.3 ความเป็นไปได้ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรง
       ในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ได้กำหนดบทบาทขององค์กรที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้เป็น 2 ประเภท คือ องค์กรศาล และองค์กรอิสระ โดยองค์กรทั้งสองประเภทต่างก็มีจุดเด่นและจุดด้อยในตัวเองดังที่ได้ทำการศึกษามาแล้วในบทที่ 2 ถึงบทที่ 4 ของงานวิจัยนี้ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญนั้นแม้จะไม่มีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรง แต่ในส่วนหนึ่งแล้วอำนาจหน้าที่ในการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายและตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายก็ทำให้ ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและมีบทบาทในฐานะเป็นองค์กรหนึ่งที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ แต่อย่างไรก็ดี หากศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามามีบทบาทโดยตรงได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็จะเป็นส่วนสำคัญของระบบการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี
       5.3.1 จุดอ่อนขององค์กรที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังที่ได้ศึกษามาแล้วข้างต้น องค์กรประเภทศาลทั้งสาม คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง ต่างก็มี “จุดอ่อน” ในตัวของตัวเองที่ทำให้ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเต็มที่ กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญมิได้มีหน้าที่ “โดยตรง” ใน
       การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเนื่องจากบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญนั้นจะเน้นหนักไปทางด้านการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายและกฎหมาย กับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในขณะที่ศาลยุติธรรมและศาลปกครองต่างก็มีขอบอำนาจของตนเองที่จำกัดและไม่สามารถคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้หากไม่เป็นประเด็นหรือคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล ส่วนองค์กรอิสระสององค์กร คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น แม้จะมีหน้าที่โดยตรงในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่องค์กรทั้งสองก็ไม่มีอำนาจใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะ รัฐธรรมนูญให้องค์กรทั้งสองมีหน้าที่แต่เพียงตรวจสอบ แต่ไม่สามารถวินิจฉัยชี้ขาดได้ ด้วยเหตุทั้งหลายที่กล่าวมานี้เอง ทำให้องค์กรทั้งสองประเภทที่มีอยู่ไม่สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์
       5.3.2 องค์กรที่อาจเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หากจะคิดต่อไปว่า ในเมื่อองค์กรที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ควรจะมีองค์กรอื่นเข้ามาช่วยในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ คำตอบก็คงจะเป็นว่าควรมีองค์กรอื่นเข้ามาช่วยองค์กรที่มีอยู่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
       การจัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญได้สร้างองค์กรต่างๆ ขึ้นมามากมายแล้ว ดังนั้น ที่ควรจะพิจารณาคือการปรับบทบาทขององค์กรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถดำเนินการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการปรับอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระทั้งสอง คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภากับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว ก็จะพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมอบอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดให้แก่องค์กรทั้งสอง แต่ความเหมาะสมจะเป็นเช่นไรนั้นคงเป็นเรื่องยากลำบากที่จะตอบ เพราะในปัจจุบันคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีสถานะเป็น “คณะกรรมการ” แต่ก็มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุดหรือไม่ สมควรให้ศาลปกครองเข้ามาตรวจสอบได้หรือไม่ ดังนั้น หากจะเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระทั้งสององค์กรเพื่อให้สามารถวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่มีผลเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ก็อาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติตามมาเกี่ยวกับสถานะของคำวินิจฉัยได้
       ด้วยเหตุที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด องค์กรที่เหมาะสมที่สุดที่จะเข้ามาทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้จึงควรเป็นองค์กรในรูปแบบของศาลที่จะสามารถวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของฝ่ายปกครองหรือจากคำพิพากษาคำวินิจฉัยของศาลที่มีขึ้นโดยใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งองค์กรในรูปแบบศาลที่จะสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ในปัจจุบัน มีอยู่เพียงองค์กรเดียวคือศาลรัฐธรรมนูญ
       
       
        
       บทที่ 6
       
       บทสรุปและข้อเสนอแนะ
        
       
       
       จากการศึกษาเปรียบเทียบระบบการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ของเบลเยี่ยม เยอรมนี โปรตุเกส สเปน กัมพูชา และฝรั่งเศสกับ ของไทยในบทที่ผ่านมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในต่างประเทศส่วนใหญ่แล้วจะมอบหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญนั้นโดยหน้าที่เป็น “ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” อยู่แล้ว
       ผู้วิจัยขอนำเสนอบทสรุปและข้อเสนอแนะของงานวิจัยเรื่อง “การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
       
       6.1 บทสรุป
       การศึกษาถึงสิทธิและเสรีภาพกับหลักประกันสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำให้เราทราบว่ามีบทบัญญัติเป็นจำนวนมากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เพื่อให้สิทธิและเสรีภาพกับประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติเหล่านี้อาจถูกละเมิดได้จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการตามปกติ รัฐธรรมนูญจึงได้วางกลไกในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้โดยกำหนดให้องค์กรศาลและองค์กรอิสระเข้ามามีบทบาท ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่จากการศึกษาพบว่า องค์กรศาลคือศาล รัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง นั้น ต่างก็ไม่สามารถเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมิได้มีบทบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวแก่องค์กรศาลทั้งสาม คงให้มีอำนาจหน้าที่บางประการที่มีผลเป็นการ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบร่างกฎหมายและกฎหมายมิให้มีบทบัญญัติใดไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ให้มีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ ส่วนศาลปกครองก็มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองที่อาจไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้ สำหรับองค์กรอิสระสององค์กร คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น แม้จะมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์เพราะรัฐธรรมนูญมิได้มอบอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดให้แก่องค์กรทั้งสอง จึงทำให้การดำเนินงานขององค์กรทั้งสองเป็นไปอย่างไม่ได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ พบว่ามีการให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยมีเหตุผลว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรสูงสุดที่ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรเข้ามามีบทบาทในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ด้วย
       
       6.2 ข้อเสนอแนะ
       ภายหลังจากที่ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาถึงประสบการณ์ของประเทศไทยและต่างประเทศ
       ในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้แล้ว ผู้วิจัยมีความเห็นว่า หากจะนำกระบวนการดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทยก็สามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา โดยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่งจะต้องเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปอีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่และไม่สร้างภาระให้กับตุลาการรัฐธรรมนูญทั้งหมดจนเกินไป แต่อย่างไรก็ดี ข้อเสนอในเรื่องการเพิ่มจำนวนตุลาการรัฐธรรมนูญที่ผู้วิจัยจะไม่ขอนำมาวิเคราะห์ในที่นี้เพราะมิได้เกี่ยวกับหัวข้องานวิจัยโดยตรง
       ข้อเสนอแนะของผู้วิจัยที่เกี่ยวกับ “การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” ที่ผู้วิจัยจะขอนำเสนอต่อไปนี้ เป็นข้อเสนอที่ผู้วิจัยได้พยายามนำเสนอให้เป็นรูปธรรมที่สุด โดยผู้วิจัยได้ยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 5 ร่างมาตรา พร้อมคำอธิบายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวไว้ด้วยพร้อมนี้แล้ว
       
       6.2.1 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้สิทธิแก่ประชาชนฟ้องศาล
       รัฐธรรมนูญได้โดยตรงกรณีมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
       “มาตรา 265/1 บุคคลผู้ได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตนตามที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติรับรองไว้จากการกระทำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือจากคำพิพากษาของศาลอื่นนอกจากศาลรัฐธรรมนูญ และบุคคลนั้นได้ดำเนินการแก้ไขผลกระทบดังกล่าวตามขั้นตอนต่างๆ ครบถ้วนแล้วไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขผลกระทบโดยฝ่ายปกครองหรือฝ่ายตุลาการ หากเห็นว่าการแก้ไขผลกระทบดังกล่าวโดยฝ่ายปกครองหรือฝ่ายตุลาการยังมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่ ก็สามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด
       มาตรา 265/2 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของบุคคลตามมาตรา 265/1 แล้วให้ส่งคำร้องไปยังองค์คณะตรวจสอบคำร้องเพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 8 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง
       มาตรา 265/3 องค์คณะตรวจสอบประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งให้เป็นประธานหนึ่งคนและตุลาการในองค์คณะตรวจสอบอีกสองคน มีวาระในการดำรงตำแหน่งสามปี
       องค์คณะตรวจสอบมีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจสอบคำร้องของบุคคลตามมาตรา 265/1 ว่าอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับคำร้องนั้นไว้พิจารณาหรือไม่
       มาตรา 265/4 คำวินิจฉัยหรือคำสั่งขององค์คณะตรวจสอบให้รับหรือไม่รับคำร้องของบุคคลตามมาตรา 265/1 ไว้พิจารณาให้ถือเป็นที่สุดและเด็ดขาด
       มาตรา 265/5 ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการดำเนินการใด ๆ อันเป็นเหตุให้บุคคลตามมาตรา 265/1 ได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังฝ่ายปกครองผู้กระทำหรือศาลที่มีคำพิพากษาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้นเพื่อดำเนินการแก้ไขการกระทำหรือคำพิพากษาให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป”
       6.2.2 คำอธิบายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้สิทธิแก่ประชาชนฟ้อง
       ศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงกรณีมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
ร่างรัฐธรรมนูญตั้ง 5 มาตราข้างต้นที่ผู้วิจัยได้เสนอมีหลักการที่สำคัญดังนี้ คือ
       (ก) ให้สิทธิแก่ประชาชนที่จะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง
       (ข) ประชาชนสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ในกรณีที่มีการกระทำใด ๆ ของฝ่ายปกครองหรือคำพิพากษาของฝ่ายตุลาการไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและประชาชนได้ดำเนินการเยียวยาปัญหาดังกล่าวอย่างถูกต้องครบถ้วนและไม่สามารถเยียวยาได้โดยวิธีการอื่นใดอีกแล้ว เช่น หากเป็นคำพิพากษาก็จะต้องเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น
       (ค) ประชาชนจะสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ก็เฉพาะแต่การแก้ไขปัญหาหรือคำพิพากษาที่มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่สามารถฟ้องประเด็นอื่นได้เพราะจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่สูงกว่าศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดและสามารถทบทวนคำพิพากษาของศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดได้ ควรจำกัดขอบเขตของอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้เฉพาะตรวจสอบการกระทำหรือคำพิพากษาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้องครบถ้วนทุกขั้นตอนแล้วแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เท่านั้น
       (ง) เพื่อมิให้มีเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป
       สมควรให้มีองค์คณะตรวจสอบทำหน้าที่กลั่นกรองคำร้องของประชาชนว่าเป็นคำร้องที่เข้าเกณฑ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ โดยให้องค์คณะตรวจสอบมาจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวน 3 คน และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี องค์คณะตรวจสอบเป็นองค์กรที่มีอำนาจเด็ดขาด หากเห็นว่าคำร้องใดไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ คำร้องนั้นก็จะตกไปและไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ในประเด็นเดิมได้อีก และหากองค์คณะตรวจสอบเห็นว่าคำร้องใดอยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย ก็ให้ดำเนินการส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป การตรวจสอบคำร้องขององค์คณะตรวจสอบต้องทำให้แล้วเสร็จ ภายใน 8 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องนั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเยียวยาทุกข์ให้กับประชาชนโดยเร็วและเพื่อมิให้เรื่องค้างอยู่ที่องค์คณะตรวจสอบเป็นเวลานาน
       (จ) ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำหรือคำพิพากษาตามคำร้องมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังฝ่ายบริหารที่เป็นต้นเหตุของการกระทำหรือศาลที่เป็นผู้พิพากษาเพื่อดำเนินการแก้ไขการกระทำหรือคำพิพากษาให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อไป การที่ไม่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งยกเลิกเพิกถอนการกระทำของฝ่ายบริหารหรือคำพิพากษาของศาลอื่น ได้โดยตรงก็เพราะต้องการให้สถานะของฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนต่อไป
       
       ข้อเสนอแนะของผู้วิจัยดังกล่าวข้างต้นเป็นผลอันเกิดมาจากการศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการให้ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงในกรณีที่มีการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ในต่างประเทศ คือ เบลเยี่ยม เยอรมัน โปรตุเกส และสเปน โดยนำมาปรับเข้ากับระบบศาลรัฐธรรมนูญของไทย
       
       
       บรรณานุกรม
       
       
       ภาษาไทย
       ขุนประเสริฐศุภมาตรา. หนังสือว่าด้วยกฎหมายภาคสิทธิ. (ม.ป.ท., 2477).
       คณะกรรมการศึกษาและวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับศาลเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน (ก.ร.ส.). รายงานการศึกษาและวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับศาล. เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม, 2540.
       นันทวัฒน์ บรมานันท์. รายงานการวิจัยเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ. เสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, กันยายน 2542.
       นันทวัฒน์ บรมานันท์. รายงานการวิจัยเรื่อง ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำของบุคคลตามมาตรา 198 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540). เสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ธันวาคม 2543.
       นพดล เฮงเจริญ. “ศาลรัฐธรรมนูญ” เทศาภิบาล ปีที่ 94 (ตุลาคม 2542).
       บรรเจิด สิงคะเนติ. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2544.
       บรรเจิด สิงคะเนติ. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ศาลรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544.
       บรรเจิด สิงคะเนติ. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์. กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2544.
       บรรเจิด สิงคะเนติ. บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขตอำนาจศาลระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครอง. http://www.pub-law.net/article/ac130644.html.
       ปรีชา เฉลิมวณิชย์. ร่างข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2541. เอกสารไม่เผยแพร่.
       มนตรี รูปสุวรรณ และคณะ. เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2542.
       มารุต บุนนาค. “ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” วารสารกฎหมาย ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (กันยายน, 2517).
       รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 23 วันที่ 21 กรกฎาคม 2540.
       รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 24 มิถุนายน 2540.
       วิษณุ เครืองาม. “สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” ใน สู่สิทธิมนุษยชนสิทธิหรือหน้าที่ในประเทศไทยปัจจุบัน. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535.
       วรรณชัย บุญบำรุง. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ศาลยุติธรรม. กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2540.
       สกล สกลเดช และวิษณุ บุญมารัตน์. “การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540” วารสารรัฐสภาสาร ปีที่ 48 ฉบับที่ 4 (เมษายน 2543).
       สมคิด เลิศไพฑูรย์. ตุลาการรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2536.
       สถาบันพระปกเกล้า. องค์กรอิสระของประเทศไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง. กรุงเทพมหานคร : A.P. กราฟฟิกดีไซน์และการพิมพ์ จำกัด, 2545.
       สภาร่างรัฐธรรมนูญ. กรอบเบื้องต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน. เอกสารพื้นฐานประกอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เพื่อการมีส่วนร่วมกำหนดรัฐธรรมนูญโดยประชาชน, มีนาคม 2540.
       เสรี นนทสูติ. สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2545.
       สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. ข้อเสนอจากการศึกษาตรวจสอบ กรณีการทำสัญญาของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในโครงการก่อสร้างทางด่วน สายบางนา – บางพลี – บางปะกง, กันยายน 2545.
       สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. ข้อเสนอจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อรัฐบาล กรณีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน
       หินกรูด-บ่อนอก และโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย,
พฤศจิกายน 2545.
       สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา. รายงานประจำปี 2545 ผู้ตรวจการแผ่นดินของ
       รัฐสภา.
(ม.ป.ท., ม.ป.ป.).
       สำนักงานศาลปกครอง. 1 ปี ศาลปกครอง. (ม.ป.ท., 2545).
       หยุด แสงอุทัย. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ประกายพรึก, 2530
       
       ภาษาฝรั่งเศส
       P. BON. La justice constitutionnelle au Portugal. Economica. Paris, 1989.
       Pierre BON. Les recours envisages, Le recours des particuliers devant le juge constitutionnel, Collection droit public positif. Ed.Economica. Bruxelles, 1991.
       Francis DELPEREE. Le recours des particuliers devant le juge constitutionnel. collection droit public positif. Ed. Economica. Bruxelles, 1991.
       Armin DITTMAN. Le recours constitutionnel en droit allemand, Le Cahiers du Conseil Constitutionnel. no.10 (2001) Dalloz. Paris, 2001.
       Maurice GAILLARD. Democratie Cambodgienne. Edition L’ Harmattan. Paris, 1994.
       Vital MOREIRA. Le Tribunal Constitutionnel Portugals. Les Cahiers du Conseil Constitutionnel no.10-2001. Dalloz. Paris, 2001.
       Annabelle PENA-GAIA. La justice constitutionnelle II : Belgique, Espagne, Italie, Allemagne. Documents d’ etudes no 1.16 edition 1998. la documentation Francaise. Paris,1998.
       Projet de loi constitutionelle. Assemblee Nationale No.1203. Paris, 30 mars 1990.
       Projet de loi organique. Assemblee Nationale No.1204. Paris, 30 mars 1990.


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=776
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 00:35 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)