ครั้งที่ 41

24 พฤษภาคม 2548 12:02 น.

       "ความรีบเร่งของรัฐบาลในการจัดทำกฎหมายปฏิรูประบบราชการ"
       ก่อนอื่นคงต้องขอแจ้งข่าว “ส่วนตัว” ของผมสักเล็กน้อย คือในระหว่างวันที่ 3 – 27 ตุลาคม นี้ ผมจะไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อมิให้ต้องกังวลกับการเขียนบทบรรณาธิการดังเช่นปีที่ผ่านๆ มา ผมจึงขอแจ้งให้ทราบว่าในการเปลี่ยนหน้าจอ web ของเราครั้งต่อไปคือ ในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม จะไม่มีการเปลี่ยนบทบรรณาธิการ แต่เนื้อหาภายในจะมีการเปลี่ยน ซึ่งจะเป็นบทความอะไรนั้นติดตามได้ในตอนท้ายของบทบรรณาธิการนี้ครับ
       สองสัปดาห์ที่ผ่านมีปัญหาที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย ปัญหาที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูประบบราชการสองฉบับที่ในวันนี้ก็ได้มีการประกาศใช้บังคับไปเรียบร้อยแล้ว ที่ว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่น่าสนใจก็เพราะ “วิธีการทำงาน” ของ รัฐบาลนั้นเป็นเรื่องแปลก ผมคงไม่ก้าวเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรมากนักเพราะเรื่องดังกล่าวก็ผ่านไปแล้ว แต่ในฐานะนักวิชาการ ก็คงต้องขอกล่าวอะไรบางอย่างเพื่อ “บันทึก” ไว้ว่ามีการให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง
       เรื่องคงเริ่มจาก การที่รัฐบาล “ออกข่าว” มาตลอดเวลาว่าจะปฏิรูประบบราชการใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ด้วยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ และพระราชกฤษฎีกาอีกเป็นร้อยฉบับ การออกข่าวดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนทุกคนเข้าใจกันว่า วันที่ 1 ตุลาคม คือวันแรกของการปฏิรูประบบราชการไทย เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ก็เป็นที่ทราบกันดีทั้งรัฐสภาว่ารัฐบาลต้องการใช้ร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 กระบวนการของรัฐสภาสร้างความตื่นเต้นพอสมควรให้กับรัฐบาลเนื่องจากมีข่าวออกมาตลอดเวลาว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายทั้งสองฉบับซึ่งอาจทำให้ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมของสองสภาซึ่งก็จะทำให้ร่างกฎหมายไม่สามารถเสร็จทันวันที่ 1 ตุลาคม แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับก็ได้ผ่านการพิจารณาเสร็จเรียบร้อยก่อนวันที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันแรกของการปฏิรูประบบราชการเพียงไม่กี่วัน
       ข่าวคราวที่ปรากฏออกมาและเป็นที่ถกเถียงของนักวิชาการอยู่ตรงที่เมื่อฝ่ายค้านเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติบางมาตราขัดรัฐธรรมนูญก็จะใช้สิทธิตามมาตรา 262 แห่งรัฐธรรมนูญ คือ ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ข้อถกเถียงคงอยู่ที่ว่าการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรใช้ดุลพินิจของตนไม่ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 262 หรือไม่เพราะในมาตราดังกล่าวกำหนดให้ประธานสภา “ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย” โดยไม่เปิดช่องให้ประธานสภา “ใช้ดุลพินิจ” ได้ ส่วนปัญหาอีกประการหนึ่งคงเป็นเรื่องการกระทำที่ “รีบร้อน” กล่าวคือ เมื่อ
       รัฐสภาจบสิ้นกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ก็ได้มีการนำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยทันทีทั้งๆที่รัฐบาลทราบอยู่แล้วว่าฝ่ายค้านประสงค์ที่จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ การรีบเร่งดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการ “ทำลาย” กระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 262 แห่งรัฐธรรมนูญ และจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการนิติบัญญัติในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการดำเนินการดังกล่าวเพราะระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการสำคัญที่ใช้ตรวจสอบร่างกฎหมายก่อนการประกาศใช้บังคับว่าจะไม่มี “ข้อผิดพลาด” ขึ้นหากได้ประกาศใช้บังคับไปแล้ว
       เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่สมควร “ตำหนิ” รัฐบาลก็คือ การรีบเร่งทำกฎหมายจนลืมนึกถึง “กระบวนการ” ตามรัฐธรรมนูญ เป็นที่ทราบกันดีว่า กว่าที่จะมีการประกาศใช้บังคับกฎหมายได้นั้นจะต้องผ่าน “กระบวนการ” ต่างๆหลายกระบวนการและหลายขั้นตอน เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามมาตรา 93 แห่งรัฐธรรมนูญก็คือต้องนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมายจากรัฐสภา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจตามมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญที่จะ “ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา” หรือ “เมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้
       พระราชทานคืนมา” พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายนี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับและเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่ทั่วไป ดังนั้น การที่รัฐบาลออกข่าวว่าจะประกาศใช้ร่างกฎหมายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ทั้งๆที่รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ดูจะเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง คงต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ในเมื่ออำนาจสิทธิขาดในการประกาศใช้กฎหมายใดๆมิได้อยู่ที่ “รัฐบาล” ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่อาจ “กำหนด” เวลาต่างๆอย่างตายตัวได้เพราะตนมิใช่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้าย การออกข่าวดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกระทำที่ “เกินขอบอำนาจ” ของตนเองอย่างเห็นได้ชัด
       ผลของการปฏิรูประบบราชการจะเป็นอย่างไรก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับ ผมมีความเห็นส่วนตัวอีกเล็กน้อยว่า การจัดทำกฎหมายที่ “ขาดการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ” ที่ดูจะเป็น “วัฒนธรรม” ในการจัดทำร่างกฎหมายทั้งหลายของประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่งครับ กฎหมายฉบับหนึ่งเมื่อประกาศใช้บังคับแล้วก็จะก่อให้เกิด “ผล” ตามมามากมายทั้งผลดีและผลเสีย ผมไม่เห็นด้วยที่จะ “รีบเร่ง” จัดทำกฎหมายโดยขาดการศึกษาเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบครับ
       เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการปฏิรูประบบราชการ ในสัปดาห์นี้เรามีบทความใหม่เอี่ยมของ ผศ.มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “ประธานสภาผู้แทนราษฎรมี “ดุลพินิจ” ในการส่งร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. …. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือไม่ ?” บทความนี้เป็นความที่น่าสนใจและชี้ให้เห็นถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจาก “กระบวนการ” ที่เกี่ยวกับกฎหมายปฏิรูประบบราชการทั้ง 2 ฉบับครับ นอกจากบทความนี้แล้ว เรามีการแนะนำหนังสือใหม่ใน “หนังสือตำรา” ด้วยครับ ส่วนในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2545 ก็จะมีบทความของผมเรื่อง “การออกเสียงประชาติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)” ที่คงต้องแบ่งลงเป็น 2 ตอน เพราะมีความยาวพอสมควร ส่วนบทความอื่นสำหรับวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม นั้น ขณะนี้กำลังรอบทความของ อ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อยู่ครับ ถ้าได้มาเมื่อไหร่ ก็จะรีบนำลงทันทีครับ ส่วนบรรดาคำถามทั้งหลาย เนื่องจากผมจะไม่อยู่เป็นเวลาเกือบเดือน ผมคงไม่สามารถตอบคำถามได้ในช่วงเวลาดังกล่าวครับ รอไว้เดือนพฤจิกายนค่อยว่ากันใหม่นะครับ
       ท้ายสุด มี “ของแจก” เล็กน้อย แฟนๆของ pub-law.net คงจำกันได้ว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมได้แนะนำ “สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540)” ของสถาบันพระปกเกล้าไว้ใน “หนังสือตำรา” เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้าได้จัดส่งสารานุกรม 5 เล่มที่ผมเขียนมาให้จำนวนหนึ่ง (การถอดถอนจากตำแหน่ง จำนวน 12 เล่ม การออกเสียงประชามติ จำนวน 15 เล่ม กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 เล่ม การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 15 เล่ม และการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จำนวน 13 เล่ม) ถ้าผู้ใช้บริการ pub-law.net สนใจผมยินดีมอบให้นะครับ คงต้องติดต่อมารับได้ทางโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวที่หมายเลข 0-2218-2067 ในวันและเวลาราชการครับ มาก่อนได้ก่อนครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ครับ
       
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=771
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 06:22 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)