บทบาทของคริสตศาสนจักรโรมันคาธอลิกในระบบการเมืองยุโรปยุคกลางโดย สโรช สันตะพันธุ์

2 พฤษภาคม 2548 08:41 น.

       เนื่องในศุภวาระที่คริสตศาสนจักรโรมันคาธอลิก ณ นครรัฐวาติกัน เพิ่งจะได้สมเด็จพระสันตะปาปาหรือ Pope พระองค์ใหม่คือ สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกท์ที่ 16 (Benedict XVI) (ในวันที่ 20 เมษายน) แทนสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ 2 ซึ่งสิ้นพระชนม์ ไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน ผู้เขียนจึงอยากจะนำเสนอถึงแนวคิดของนักทฤษฎีการเมืองในยุคที่เชื่อกันว่าอำนาจสูงสุด (The Supremacy) เป็นของพระเจ้าหรือของพระสันตะปาปา ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดของนักทฤษฎีการเมืองในยุคต่อ ๆ มา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ บทบาทและพระราชอำนาจอันยิ่งใหญ่ของคริสตจักรและสมเด็จพระสันตะปาปาในยุโรปยุคกลาง
       คริสต์ศาสนาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่พระเยซูคริสตเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง คัมภีร์ของพระองค์ถูกสร้างขึ้นเพื่อชำระวิญญาณและไถ่บาปให้แก่มวลมนุษยชาติ มิได้มุ่งหวังที่จะสร้างรัฐและรัฐบาล หรือข้อเสนอแนะนำว่าสถาบันทางโลกควรมีหน้าที่อย่างไร พระองค์มุ่งหวังที่จะสถาปนาอาณาจักรธรรม และทรงประกาศยืนยันว่าพระองค์ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางโลกแม้แต่น้อย
       
       อิทธิพลของคริสต์ศาสนาต่ออาณาจักรโรมันเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 4 ภายหลังจากที่บรรดาคริสตชนถูกบรรดาผู้ปกครองของโรมันกดขี่และพยายามกำจัดด้วยวิธีการทารุณต่าง ๆ อยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่ง ค.ศ. 311 จักรพรรดิกาลีริอุส (Galerius) ยินยอมให้ผู้นับถือศาสนาคริสต์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้โดยสันติ และคอนสแตนติน (Constantine) จักรพรรดิพระองค์ต่อมาทรงเลื่อมใสในคริสต์ศาสนาถึงกับประกาศพระองค์เป็นคริสต์ศาสนิกชนด้วย และก่อนสิ้นสุดคริสตศตววรษที่ 4 ศาสนาคริสต์ก็กลายเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิโรมัน โดยราชโองการของจักรพรรดิธีโอโดซิอุส (Theodosius) นับแต่นั้นเป็นต้นมาคริสต์ศาสนาก็ได้รับการเผยแผ่ไปทั่วทั้งดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมัน
       
       เหตุที่คริสต์ศาสนามีความเจริญรุ่งเรื่องและแผ่ขยายได้อย่างกว้างขวางเนื่องจาก (1) จักรพรรดิโรมันในยุคนั้นขาดความสามารถในการบริหารและขาดคุณสมบัติของความเป็นผู้นำ (2) ผู้นำทางคริสต์ศาสนาในเวลานั้นมีคุณสมบัติที่จักรพรรดิไม่มี (3) ความแตกแยกและเสื่อมโทรมของสังคมและการเมืองในจักรวรรดิสมัยนั้น คนจึงหวังมีชีวิตอย่างมีความสุขในโลกหน้า (4) อานารยชนที่รุกรานเข้ามาได้ทำลายแต่ความรุ่งเรืองของโรมันในด้านสถาบันการเมืองการปกครองเท่านั้น หาได้ยุ่งเกี่ยวกับคริสต์ศาสนาแต่อย่างใดไม่
       
       ใครเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด หรือ ทฤษฎีอำนาจอธิปไตย
       

       ปัญหาที่ว่าใครเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด หรืออำนาจอธิปไตยในรัฐได้มีผู้พยายามตอบมาหลายศตวรรษแล้ว ในสมัยแรก ๆ การที่จะระบุพรมแดนหรือแบ่งแยกว่านี่เป็นรัฐ ก. นี่เป็นรัฐ ข. เป็นเรื่องยาก อำนาจอธิปไตยจึงแผ่ขยายไปทั่วและมีลักษณะเป็นสากล กล่าวคือผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นคนเดียวกับเจ้าของโลก เมื่อมาถึงจุดนี้ คำตอบจึงเป็นอย่างเดียวกับคำตอบในทางศาสนา (ดังจะได้กล่าวถึงรายละเอียดในบทความนี้) จนกระทั่งเมื่อความคิดเรื่องรัฐใครรัฐมันชัดเจนขึ้น มีพรมแดนรัฐแน่ชัดมีกษัตริย์ผู้ปกครองรัฐเป็นสัดส่วน และอิทธิพลของคริสต์ศาสนาเสื่อมลงความคิดเรื่องจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมุ่งประสงค์รวมประเทศทั้งหลายเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มธงเดียวกันเสื่อมลง อำนาจอธิปไตยจึงกลายเป็นเรื่องของแต่ละรัฐที่จะหาคำตอบ หาเจ้าของกันเอง
       
       ความคิดทางการเมืองของนักบวชคริสต์สมัยต้น
       

       พระคัมภีร์ใหม่ (New Testament) มีเนื้อหาสำคัญที่เด่นชัดถือเป็นหลักการเชิงการเมืองของศาสนาคริสต์คือ การยอมรับกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) ความเสมอภาค และความเชื่อว่ารัฐและรัฐบาลเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้น หลักการทั้งสามประการนี้นอกจากจะปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่แล้วบรรดานักบวชคริสต์สมัยต้นอีกหลายท่านยังช่วยอรรถาธิบายเพิ่มเติมจนผู้ที่ศึกษาสามารถเข้าใจได้กระจ่างยิ่งขึ้น
       
       เซ็นต์ปอล (Saint Paul) ได้เขียนไว้ในจดหมายบันทึกเหตุ ความว่า กฎหมายธรรมชาติถูกลิขิตไว้ในจิตใจของมนุษย์ทุกรูป สามารถที่จะค้นหาพบได้ด้วยเหตุผล เป็นกฎหมายที่แตกต่างจากกฎหมายของรัฐ กฎหมายเป็นเช่นเดียวกับกฎแห่งศีลธรรม (conscience) สิ่งใดผิดหรือถูกสามารถรู้ได้ผ่านทางกฎหมายนี้ โดยมโนสำนึกจะคอยบอกว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร แนวความคิดเรื่องกฎหมายธรรมชาตินี้บรรดาฟาร์เธอร์ของคริสต์ศาสนาในสมัยต่อ ๆ มา ยอมรับว่าเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของคริสต์ศาสนา
       
       นอกจากนี้พระคัมภีร์ใหม่ยังอ้างว่า บรรดารัฐบาลและสถาบันการปกครองต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นและกำหนดให้เป็นไปทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องยอมรับว่า บรรดาสถาบันเหล่านี้เป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ ได้รับหน้าที่จากพระเป็นเจ้า การเคารพเชื่อฟังเป็นพันธะของทุก ๆ คนเช่นเดียวกับพันธะต่อศาสนา “รัฐถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาความยุติธรรม ดังนั้นรัฐจึงมีลักษณะแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ปกครองคือผู้รับใช้ของพระเจ้า การเชื่อฟังจึงเป็นสิ่งจำเป็น”
       
       แนวทรรศนะเกี่ยวกับกษัตริย์หรือผู้ปกครองที่ปรากฏในคัมภีร์ใหม่จึงเป็นรากฐานของ ลัทธิเทวสิทธิ (Divine Right) อำนาจของผู้ปกครองมีความชอบธรรม เพราะผู้ปกครองได้รับอำนาจหรืออาณัติมอบหมายมาจากพระเจ้า ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองโดยพระเจ้า ประชาชนไม่มีสิทธิต่อต้านหรือไม่ยอมรับผู้ปกครอง เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นการปฏิเสธพระเจ้า “อำนาจทั้งหมดเป็นของพระเจ้า กษัตริย์ทรงปกครอง โดยอำนาจของพระเจ้า ดังนั้นอำนาจของพระองค์จึงไม่มีขอบเขต และไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใดนอกจากพระเป็นเจ้า” อำนาจของกษัตริย์สืบต่อด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เพราะพระเจ้าเลือกกษัตริย์โดยยึดหลักสายโลหิต พฤติกรรมของกษัตริย์ พระเจ้าจะเป็นผู้ตัดสินว่าดีหรือไม่ดี ประชาชนหรือองค์การอื่น ๆ ไม่มีสิทธิวินิจฉัย
       
       จากแนวคิดดังกล่าวนี้เองได้นำมาสู่ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยที่สำคัญ 2 ทฤษฎีด้วยกัน คือ
       
       1. ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า (Supremacy of God)
       

       ปรัชญาเมธีฝ่ายกฎหมายธรรมชาติ (Natural legal philosopher) ได้อ้างทฤษฎีว่าด้วยอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า มาตั้งแต่สมัยเซนต์ออกุสติน โดยอ้างว่าบรรดาสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมอยู่ใต้คำบังคับบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ข้อนี้เห็นจะเทียบได้กับเรื่อง “พรหมลิขิต” ตามคตินิยมแบบฮินดู
       
       นักเทววิทยาอ้างว่า ทฤษฎีเช่นนี้มีรากฐานความเชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการนับถือผีสางเทวดา (theism) โดยมนุษย์รู้จักกันว่าจะต้องมีสิ่งสูงสุดสิ่งหนึ่งคอยดลบันดาลปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติ และลิขิตความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง มนุษย์เกิดจากลิขิตของสิ่งนั้น และมนุษย์จะต้องกลับไปหาสิ่งที่ลิขิตชีวิตในบั้นปลาย
       
       ต่อมาเมื่อศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาธอลิก (Roman Catholic) เจริญรุ่งเรืองขึ้นในตอนต้นสมัยกลาง (Middle Age) ศาสนจักรเรืองอำนาจมากเหนืออาณาจักรทั้งปวงในยุโรป และมีการอ้างอิงว่า กฎหมายธรรมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกฎของพระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ธรรมชาติ” (Nature) ที่ว่านั้นคือ พระผู้เป็นเจ้า (God) นั่นเอง ลัทธิอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้าก็เริ่มเป็นที่กล่าวอ้างกันทั่วไปอย่างกว้างขวางจากแนวคิดของนักบวชคริสต์ดังนี้
       
       เซนต์ออกุสติน (Saint Augustine)
       

       ในบรรดาฟาเธอร์ของคริสต์ศาสนาทั้งหลายในยุคต้น เซนต์ออกัสติน (ค.ศ. 354 - 430) ชาวเมืองทาเกสท์ (Tagaste) แถบอาฟริกาศิษย์ของเซนต์แอมโบรสเป็นผู้ที่เผยแพร่แนวความคิดที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองสมัยนั้นและสมัยต่อมามากที่สุด ผลงานที่เลื่องชื่อที่สุดของท่านผู้นี้คือ นครของพระเจ้า (City of God) และคำสารภาพ (Confession)
       

       ในระยะเริ่มแรกสมัยที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ คนทุกคนมีความเสมอภาคกันทุกคนมีกฎหมายธรรมชาติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และกฎหมายธรรมชาติสร้างสันติภาพในการอยู่ร่วมกันของมวลมนุษย์ ต่อมาสภาพธรรมชาติของคนถูกทำลายลงด้วยบาป (Sin) คนแต่ละคนหันไปแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนโดยเฉพาะ ความเสมอภาคระหว่างเพื่อนร่วมโลกหมดสิ้นลง บาปจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสับสนในสังคมมนุษย์ ออกุสติน กล่าวว่า “บาปเป็นอาชญากรรมที่แท้จริงของคนชั่ว โดยมีรากฐานมาจากความผิดพลาดและความรักในสิ่งที่ผิด” ความจำเป็นในการที่ต้องมีผู้ปกครอง มีกฎหมายเพื่อจัดระเบียบและผดุงไว้ซึ่งสันติภาพจึงเกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลหรือสถาบันการปกครองเกิดขึ้นเพราะผลแห่งบาปที่มนุษย์สร้างขึ้น
       
       ทรรศนะของเซนต์ออกุสติน เป็นแนวความคิดที่สนับสนุนลัทธิเทวสิทธิตามแบบของนักบวชคริสต์ทั้งหลาย แต่เน้นว่า เฉพาะกษัตริย์หรือผู้ปกครองที่ยอมรับพระเจ้าและเป็นคริสต์ศาสนิกชนเท่านั้นจึงจะประกาศตัวเองได้ว่าเป็นผู้ได้รับอาณัติจากสวรรค์ มอบหมายให้เป็นผู้ปกครองมีอาญาสิทธิเหนือประชาชนทั้งปวง ส่วนผู้ปกครองที่ปฏิเสธคริสต์ศาสนาย่อมไม่ใช่ผู้ที่ได้รับเทวโองการให้มาปกครอง ในนครรัฐหรืออาณาจักรที่ปกครองโดยกษัตริย์ที่ไม่ใช่คริสตชนจะไม่มีทางบันดาลความสุขให้เกิดขึ้นกับประชาชนผู้อาศัยได้ ออกุสตินเน้นความศรัทธาในพระเจ้าว่าเป็นหนทางเดียวที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความสุข และอำนาจทางการเมืองจะต้องมาจากความศรัทธาในศาสนา
       
       ออกุสตินให้ความสำคัญแก่สถาบันศาสนามากกว่าสถาบันการปกครอง เขามีทรรศนะว่า “พระเจ้าได้จัดหาตัวแทนเพื่อช่วยเหลือคนให้พ้นจากบาปได้สำเร็จ และประสบกับชีวิตนิรันดร์ในนครของพระเจ้า ตัวแทนที่ว่านี้คือวัดกับรัฐ วัดมีความสำคัญมากกว่ารัฐ อันที่จริงแล้วรัฐอาจจะเป็นอุปสรรคในการที่จะล้างบาป หากว่ารัฐนั้นไม่ใช่ คริสตรัฐ วัดเป็นสถาบันที่ยิ่งใหญ่เป็นตัวแทนของพระเจ้าบนพื้นพิภพ”
       
       จอห์นแห่งซัลส์เบอรี่ (John of Salsbury)
       

       จอห์น (ค.ศ. 1120 - 1180) เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด แต่ได้รับการศึกษาในฝรั่งเศส เมื่อจบการศึกษาได้ทำงานเป็นเลขานุการของอาร์คบิช็อบ ธอมัส เบ็คเก็ต (Thomas Backet) แห่ง Canterbury ในตอนปลายแห่งชีวิตจอห์นได้เป็นบิช็อบแห่ง Charters จนกระทั่งสิ้นชีวิต ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากคือหนังสือเรื่อง Policraticus ซึ่งแนวความคิดในเล่มนี้มีอิทธิพลมากในสมัยกลาง
       
       ในด้านความสัมพันธ์ระห่างสถาบันศาสนากับสถาบันการปกครองจอห์นเขียนไว้อย่างชัดแจ้งว่า อำนาจของกษัตริย์ไม่อาจทัดเทียมอำนาจฝ่ายพระ เพราะอำนาจในการปกครองทางโลกนั้น กษัตริย์ได้รับจากพระเจ้าและจากวัดซึ่งมีฐานะเป็นองค์การตัวแทนของพระเจ้าบนแผ่นดิน จอห์นกล่าวว่า “ดังนั้น ดาบเล่มนี้ (อำนาจการปกครองทางโลก) กษัตริย์ได้รับจากมือของฝ่ายวัด แม้ว่าฝ่ายวัดจะไม่มีดาบเปื้อนเลือดเลยก็ตาม ต้องถือว่าวัดเป็นผู้ใช้ดาบเล่มนี้ด้วยมือของกษัตริย์ผู้ซึ่งตนมอบอำนาจบังคับทางกายให้” จอห์น หมายความว่าเนื่องจากฝ่ายศาสนาซึ่งเป็นผู้แทนพระเจ้าบนพิภพมอบอำนาจในการปกครองทางโลกให้กับกษัตริย์ ดังนั้นจึงควรจะมีอำนาจและศักดิ์ศรีเหนือกว่า เพราะศาสนาเป็นฝ่ายให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมือง
       
       เซนต์ธอมัส อไควนัส (Saint Thomas Aquinas)
       

       เซนต์ธอมัส อไควนัส (ค.ศ. 1225 - 1274) กำเนิดจากครอบครัวขุนนางที่เมืองคาลาเบรีย (Calabria) ในประเทศอิตาลี ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งเนเปิล (University of Naples) และต่อมาได้เข้าร่วมเป็นนักบวชในสำนักดอมมินิกัน (Dominican) ผลงานที่สำคัญของเขาได้แก่ Summa Contra Centiles ซึ่งมีความยาวถึง 4 เล่ม และ Rule of Princes ภายหลังจากสิ้นชีวิตไปได้เกือบ 50 ปี สันตะปาปาจอห์นที่ 22 จึงประกาศตั้งเขาเป็นนักบุญ (Saint) คำสอนของอไควนัสได้รับการตั้งให้เป็นรากฐานของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธอลิกในปี 1789 โดยสันตะปาปา เลโอที่ 3
       
       ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนากับฝ่ายปกครองหรือฆราวาส อไควนัสให้ความสำคัญแก่ฝ่ายศาสนา เขาอ้างว่า หน้าที่และอำนาจของกษัตริย์นั้นครอบคลุมแต่ในส่วนกิจกรรมทางโลกเท่านั้น กษัตริย์ไม่มีความสามารถที่จะนำมนุษย์ไปสู่การชำระล้างดวงวิญญาณได้ หากแต่หน้าที่สำคัญนี้เป็นของสถาบันศาสนาโดยเฉพาะองค์สันตะปาปาเท่านั้น เมื่อการชำระล้างดวงวิญญาณเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของทุกชีวิตบนพื้นพิภพรวมทั้งกษัตริย์ด้วย และฝ่ายวัดเท่านั้นที่รู้วิธีทำให้สัมฤทธิ์ผล สันตะปาปาในฐานะประมุขแห่งศาสนจักรจึงเป็นผู้ปกครองสูงสุดบนแผ่นดินถือดาบทั้งสองเล่มไว้ในมือ และประทานดาบที่ทรงสิทธิในการปกครองทางโลกให้กับกษัตริย์เป็นผู้ใช้ภายใต้การควบคุมของพระองค์ อไควนัสกล่าวว่า “อำนาจทางโลกอยู่ภายใต้อำนาจทางธรรม เสมือนร่างกายอยู่ภายใต้จิตใจ” เพราะฉะนั้นการที่ฝ่ายพระเข้าไปก้าวก่ายในกิจกรรมทางโลกซึ่งเป็นสาระที่อยู่ภายใต้อำนาจทางธรรมจึงไม่เรียกว่าเป็นการช่วงชิงอำนาจแต่อย่างใด
       
       2. ทฤษฎีอำนาจสูงสุดของพระสันตะปาปา (Supremacy of the Pope)
       

       ในขณะที่เซนต์ออกุสตินและคนอื่น ๆ กล่าวอ้างทฤษฎีว่าด้วยอำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง ปรัชญาเมธีเหล่านี้ต่างก็ได้วางรากฐาน ทฤษฎีว่าด้วยความมีอำนาจสูงสุดของพระสันตะปาปา เคียงคู่กันตลอดมาด้วยความมุ่งหมายว่าจะสร้างฐานแห่งอำนาจของฝ่ายศาสนจักรเหนือฝ่ายอาณาจักรโดยเด็ดขาด นักปรัชญาฝ่ายคริสต์ศาสนาในสมัยกลางได้อ้างว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นบริสุทธิเทพ จึงไม่อาจมาข้องแวะหรือบงการมนุษย์ได้ทุกคน ในทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงได้เลือกให้พระบุตร หรือพระเยซูคริสต์เจ้า (Jesus Christ) มาไถ่บาปมนุษย์แทน เพื่อต่อจากนั้นไป มนุษย์จะได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์อิสระ (free will) ของตนได้ ต่อมาพระบุตรได้เลือกสาวกคนสำคัญคือเซนต์ปีเตอร์ (Saint Peter) เป็นผู้ปกครองดูแลคริสตศาสนิกชนทั้งหลายในโลกสืบต่อจากพระองค์ และต่อมาเซนต์ปีเตอร์ก็ได้มอบอำนาจให้พระสันตะปาปาองค์ต่อ ๆ มา รับภาระนี้สืบต่อไปอย่างไม่ขาดสาย ฉะนั้น พระสันตะปาปาจึงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทางฝ่ายศาสนจักร และโดยเหตุที่ศาสนจักรเป็นใหญ่เหนือฝ่ายอาณาจักร พระสันตะปาปาจึงเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวง จะเป็นรองก็แต่พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แม้แต่สมณสาส์นหรือพระบัญชาของพระสันตะปาปาก็จัดว่าเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ (Lex divina) และมีลำดับศักดิ์สูงกว่ากฎหมายของกษัตริย์ทั้งหลาย (Lex humana) ข้อที่น่าสังเกตคือทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีแรกที่ระบุให้รัฏฐาธิปัตย์ (Sovereign) หรือผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเป็นมนุษย์แต่ไม่ใช่คนธรรมดาเพราะเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง จึงยังคงเรียกว่าเป็น “เทวาธิปไตย” ได้ทั้ง 2 ทฤษฎี
       
       การพิพาทระหว่างคริสตจักรและอาณาจักร
       

       จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของพระสันตะปาปากับจักรพรรดิเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน แต่หลังจากที่ฝ่ายศาสนจักรเสนอแนวความคิดเห็นในการสถาปนาอาณาจักรคริสเตียนสากลขึ้น ความขัดแย้งระหว่างสถาบันทางศาสนากับสถาบันการปกครองทางโลกก็มีมากขึ้น เพราะสังคมคริสต์เท่ากับถูกปกครองโดยรัฐบาลสองรัฐบาล คือรัฐบาลฝ่ายคริสตจักรและรัฐบาลฝ่ายอาณาจักร ทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดมุ่งที่จะปกครองสังคมแห่งมนุษยชาติเหมือนกัน และต่างก็มีจุดประสงค์ที่จะมีอำนาจและอิทธิพลเหนือประชาชนมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง กล่าวกันว่า การที่ฝ่ายศาสนาเข้ามามีบทบาทเกี่ยวกับเรื่องทางโลกมากขึ้นนั้น เป็นเพราะผลแห่งระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ซึ่งทำให้ฝ่ายพระเข้ามายุ่งเกี่ยวกับทางโลกในฐานะเป็นเจ้าของที่ดินหรือเป็นผู้ถือศักดินา
       
       ในการพิพาทกันนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างวางเหตุผลสนับสนุนฝ่ายตนลงบน “ทฤษฎีสองดาบ” (Theory of Two Swords) ของสมเด็จพระสันตะปาปาจีลิซีอุสที่ 1 (Gelesius I) ซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขแห่งคริสตจักรระหว่าง ค.ศ. 492 - 496 ทฤษฎีสองดาบนี้มีหลักการว่า พระเจ้าจะแบ่งอำนาจการปกครองออกเป็นสองฝ่ายคือ อำนาจปกครองทางโลกกับทางธรรม และมอบให้สถาบันศาสนาและสถาบันการปกครองของรัฐเป็นผู้ใช้อำนาจนี้ โดยกำหนดว่า สันตะปาปาในฐานะประมุขของสถาบันศาสนา มีอำนาจเหนือจักรพรรดิประมุขของสถาบันทางโลกในเรื่องเกี่ยวกับศาสนกิจและจักรพรรดิเหนือกว่าสันตะปาปาในกิจกรรมเกี่ยวข้องกับทางโลก
       
       แนวความคิดที่สนับสนุนอำนาจของฝ่ายศาสนจักรให้เหนือกว่าฝ่ายอาณาจักรนั้น มาจากการชี้นำของสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 7 (Gregory VII) ซึ่งถือว่าพระเจ้ามอบอำนาจการปกครองทั้งทางโลกและทางธรรมผ่านทางสันตะปาปา แต่พระสันตะปาปาไม่ต้องการใช้อำนาจทางโลกจึงมอบต่อให้กษัตริย์ สังเกตได้จากการที่พระสันตะปาปาเป็นผู้สวมมงกุฎสถาปนาจักรพรรดิและกษัตริย์ในนามพระผู้เป็นเจ้า และพระจักรพรรดิต้องสาบานว่าจักรักษาป้องกันพระสันตะปาปาและคริสตจักรด้วยชีวิต เพราะฉะนั้นการถือว่ารัฐและรัฐบาลเป็นสถาบันของพระเจ้า เป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์นี้ทางฝ่ายศาสนจักรสันตะปาปาอ้างด้วยว่า เป็นเช่นนั้นได้เพราะรัฐได้รับมอบอำนาจมาจากพระเจ้าผ่านทางพระสันตะปาปา รัฐที่ไม่ใช่รัฐคริสเตียนย่อมไม่ใช่สถาบันศักดิ์สิทธิ์ รัฐนอกศาสนาเป็นรัฐของคนบาป ดังนั้นการที่ผู้ปกครองจะอ้างอำนาจที่พระเจ้าให้ได้ต้องหมายความว่าผู้ปกครองนั้นยอมรับศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะยอมรับพระสันตะปาปาซึ่งได้รับมอบอำนาจทั้งทางศาสนาและทางการปกครองจากพระเจ้า แต่สันตะปาปาไม่ต้องการใช้อำนาจทางการปกครองจึงมอบต่อให้กษัตริย์ และตามแนวคิดนี้การอ้างทฤษฎีเทวสิทธิสนับสนุนความชอบธรรมของอำนาจปกครองกระทำได้ก็ต่อเมื่อทางฝ่ายศาสนาให้คำรับรองด้วย
       
       ส่วนผู้ที่สนับสนุนสถาบันปกครองของรัฐหรือฝ่ายฆราวาสนั้น พยายามชี้ให้เห็นตามทฤษฎีสองดาบว่า อำนาจแห่งหารปกครองทางโลกและทางธรรมนั้นได้แบ่งแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ผู้ปกครองทางโลกอันได้แก่องค์จักรพรรดิและผู้ครองนครต่าง ๆ จึงมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อพระเจ้า ฝ่ายวัดหรือสันตะปาปาไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายในเรื่องทางโลก อำนาจการปกครองทางโลกนั้นถูกจำกัดโดยระเบียบประเพณี และกฎหมายธรรมชาติเท่านั้น ทางฝ่ายศาสนาไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องด้วยเลย
       
       ฝ่ายที่สนับสนุนความเหนือกว่าของฝ่ายศาสนาส่วนใหญ่ ได้แก่ บรรดานักบวชคริสต์เอง พวกนี้นอกจากจะยึดถือแนวความคิดของเกรกอรีที่ 7 แล้ว ยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ฝ่ายศาสนาเป็นฝ่ายที่รู้ซึ้งถึงกฎหมายธรรมชาติอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นฝ่ายที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการชำระล้างบาปของดวงวิญญาณ ตลอดจนการเปิดประตูแห่งสวรรค์ให้แก่มนุษย์โลกรวมทั้งองค์จักรพรรดิด้วย ดังนั้นจึงควรมีอำนาจเหนือกว่า ควรที่จะสามารถควบคุมสถาบันทางโลก มีอำนาจถอดถอนหรือแต่งตั้งผู้ปกครองฝ่ายฆราวาส
       
       ความขัดแย้งปรากฏชัดเมื่อพระสันตะปาปาเกรกอรีเดอะเกรท (Gregory the Great ค.ศ. 509 – 604) สามารถลงมือปกครองกรุงโรมด้วยพระองค์เอง และนับแต่นั้นมาศาสนจักรก็เริ่มแสวงหาความมั่งคั่งทางที่ดิน และเงินทองเช่นเดียวกับฝ่ายอาณาจักร เริ่มเกิดทฤษฎีที่ว่าอำนาจของจักรพรรดิและกษัตริย์มาจากพระเจ้า โดยผ่านพระสันตะปาปาดังกล่าวแล้ว ความขัดแย้งระหว่างสันตะปาปาฝ่ายหนึ่ง กับจักรพรรดิของอาณาจักรโรมันเยอรมันนิคอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Germanic Empire) และกษัตริย์ (เช่น พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ของอังกฤษ) มีเรื่อยมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 จนกระทั่งศตวรรษที่ 12 จักรพรรดิเฮนรี่ที่ 5 ของจักรวรรดิโรมันเยอรมันนิคลงนามในข้อตกลง (concordat) ที่เมืองวอร์มส์ กับพระสันตะปาปากาลิคซ์ที่ 2 (Calixte II) ในปี 1122 แต่หลังข้อตกลงก็ยังคงมีความขัดแย้งมาจนถึงศตวรรษที่ 13 ผลของความขัดแย้งคือ สงครามและความวุ่นวาย
       

       สภาพสงครามที่ยาวนานนี้เองที่ทำให้ทุกคนหวาดกลัว เบื่อหน่าย และต้องการให้เกิดความสงบ (order) และการเคารพกฎหมาย (law) และสภาพนี้เองที่ทำให้เกิดความต้องการรวมศูนย์อำนาจการปกครองในระดับที่พอ เหมาะ คือ ไม่เล็กเกินไปถึงขนาดเผ่า และไม่ใหญ่เกินไปอย่างจักรวรรดิ หรือสันตะปาปาณาจักร (อาณาจักรของพระสันตะปาปา) ทฤษฎีอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ทฤษฎีว่าด้วยรัฐ (State) ทฤษฎีว่าด้วยการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ซึ่งเป็นผลมาจากการหาแนวทางใหม่ให้เกิดความสงบและการเคารพกฎหมาย จึงกำเนิดขึ้นในราวคริสตศตวรรษที่ 13 ภายหลังจากความเอือมระอากับสภาพอนาธิปไตยของยุคกลางและทฤษฎีเหล่านี้ก็เป็นผลมาจากการสังเคราะห์ความขัดแย้งของจักรวรรดิกับสันตะปาปาฝ่ายหนึ่งและจักรพรรดิ กษัตริย์กับเจ้าศักดินาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งค่อย ๆ คลี่คลายลงพร้อม ๆ กับการก้าวพ้นยุคกลางหรือยุคมืดเข้าสู่ยุคใหม่ (Modern Age)
       
       แม้ ณ ปัจจุบันนี้ พระราชอำนาจและพระราชสถานะของพระสันตะปาปาถูกแยกออกจากอาณาจักร (อื่น ๆ นอกเหนือจากนครรัฐวาติกันซึ่งพระองค์เป็นประมุข) อย่างสิ้นเชิงแล้ว แต่พระองค์ก็ยังทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของมวลมนุษยชาติในโลกหาใช่เพียงแต่คริสตศาสนิกชนโรมันคาธอลิกเท่านั้น
       
       -----------------------------------------
       
       เอกสารอ้างอิง
       
       บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. กฎหมายมหาชนเล่ม 1 : วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่าง ๆ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2545
       
       วิษณุ เครืองาม. กฎหมายรัฐธรรมนูญ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : นิติบรรณาการ, 2530
       
       สุขุม นวลสกุล และโกศล โรจนพันธุ์. ทฤษฎีการเมืองสมัยโบราณและสมัยกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2544


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=767
เวลา 26 พฤศจิกายน 2567 09:09 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)