บรรทัดฐานใหม่ทางกฎหมายจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายนพดล เฮงเจริญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

2 พฤษภาคม 2548 08:36 น.

       ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรศาลมีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิได้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั่วไป แต่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะกรณีที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้แก่ อำนาจหน้าที่ในการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบและกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว อำนาจหน้าที่ในการควบคุมเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดของฝ่ายบริหาร อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี กรรมการการเลือกตั้ง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งอำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด เช่น การวินิจฉัยมติหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองว่าขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ การวินิจฉัยกรณีบุคคล หรือพรรคการเมือง ใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การพิจารณาอุทธรณ์ของสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะเหตุว่าพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกนั้น มีมติให้พ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของพรรคซึ่งมีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดลง การควบคุมตรวจสอบการออกข้อบังคับของฝ่ายนิติบัญญัติ และอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ เช่น การสั่งให้ยุบพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง
       ศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะพื้นฐานในความเป็นศาลเช่นเดียวกับองค์กรศาลอื่นๆ ได้แก่ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลที่อาจมีกฎหมายบัญญัติให้จัดตั้งขึ้นซึ่งได้แก่ การพิจารณาพิพากษาต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ หากผู้พิพากษาหรือตุลาการคนใดส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย่อมนำไปสู่การถอดถอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาหรือตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษา ก่อนเข้ารับหน้าที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ มีเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายและมีวิธีพิจารณาของศาลโดยเฉพาะ มีการให้เหตุผลในคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัย และประการสำคัญ องค์กรศาลจะริเริ่มพิจารณาคดีด้วยตนเองไม่ได้จะต้องมีคำฟ้องหรือคำร้องมาสู่ศาล และในการพิจารณาอรรถคดีจะพิจารณาตามคำขอ
       อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากองค์กรศาลอื่นๆ กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเดียวไม่มีศาลที่อยู่ในระดับชั้นที่เหนือกว่า เช่น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ในระบบของศาลยุติธรรม องค์ประกอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ๔ กลุ่ม ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาขึ้นไปซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน ๕ คน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดจำนวน ๒ คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ซึ่งมาจากการสรรหาและเลือกโดยวุฒิสภา จำนวน ๕ คน และ ๓ คน ตามลำดับ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดวิธีพิจารณาด้วยตนเองโดยมติเอกฉันท์และนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำคำวินิจฉัยในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน จะต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชนตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างกว้างขวางโดยไม่มีบทละเมิดอำนาจศาล แต่ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังมีลักษณะที่แตกต่างจากคำพิพากษาขององค์กรศาลอื่นๆ ดังนี้
       คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด ซึ่งหมายความว่า ไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกาต่อศาลใดได้ ไม่อาจร้องขอให้แก้ไขได้ แม้จะไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม คำวินิจฉัย
       คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพัน กล่าวคือ ผูกพันรัฐสภาในการตรากฎหมาย ผูกพันคณะรัฐมนตรีในการบังคับใช้กฎหมาย และผูกพันองค์กรศาลอื่นๆ ในการวินิจฉัยตีความ และชี้ขาดปัญหาพิพาทตามกฎหมาย ผูกพันองค์กรอื่นๆ ของรัฐที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผูกพันบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดถึงสถานะหรือการดำรงตำแหน่งของบุคคลซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว
       นับแต่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๑ จนถึงปัจจุบัน (๓๑ มีนาคม ๒๕๔๘) ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยคดีไปแล้วจำนวน ๔๒๙ เรื่อง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาหลายคำวินิจฉัยได้สร้างคุณูปการต่อบ้านเมือง ช่วยแก้ไขปัญหาทางตันของบ้านเมือง และแก้ไขปัญหาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ อันมีผลต่อการปฏิรูปการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายคำวินิจฉัยได้สร้างบรรทัดฐานใหม่อันเป็นบ่อเกิดของหลักรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายมหาชน ซึ่งจะมีผลในระบบกฎหมายไทยมาก ดังนี้
       
       ๑. วางหลักในการพิจารณาเกินคำขอ
       โดยหลักปฏิบัติของความเป็น ศาลจะพิจารณาตามคำขอ แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญอาจพิจารณาเกินคำขอได้ หากเห็นว่ามีความจำเป็นซึ่งจะอำนวยประโยชน์ต่อสาธารณะ ดังคำวินิจฉัยที่ ๑/๒๕๔๑ กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๙๐ คน เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาฯ ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดจำนวน ๔ ฉบับ (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินฯ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฯ และพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินฯ) มิใช่กฎหมายอันเป็นกรณีเร่งด่วนตามมาตรา ๒๑๙ ของรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า มาตรา ๒๑๙ วรรคหนึ่ง ให้สิทธิสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า พระราชกำหนดไม่เป็นไปตามมาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่งเท่านั้น แต่ตามคำร้องนี้มิได้ระบุว่า เป็นกรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘ ในวรรคใด และโดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามมาตรา ๒๑๙ ที่จะพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการตราพระราชกำหนดตามมาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นสมควรพิจารณาวินิจฉัยเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นไปเสียในคราวเดียวกัน
       หมายเหตุ การพิจารณาเกินคำขอของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้เป็นการขยายเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญออกไปอย่างกว้างขวาง จนไปกระทบต่อการทำหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น
       
       ๒. วางหลักที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
       
       ๒.๑ เกี่ยวกับสิทธิความเสมอภาค
       ศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักกฎหมายมหาชนพื้นฐานเกี่ยวกับหลักความเสมอภาคซึ่งถือเป็นองค์ประกอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้แก่ หลักการตีความที่ว่า “สิ่งที่ต่างกันได้รับการปฏิบัติต่างกัน ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”
       
๒.๑.๑ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๖ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) บัญญัติแตกต่างกันระหว่างข้าราชการและลูกจ้างของรัฐบาลฝ่ายหนึ่ง กับพนักงานลูกจ้าง และคนงาน นอกจากข้าราชการและลูกจ้างของรัฐบาลอีกฝ่ายหนึ่ง กรณีกำหนดให้เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการและลูกจ้างของฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี แต่กรณีอีกฝ่ายให้อยู่ในดุลพินิจของศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี เนื่องจากสถานะของข้าราชการและลูกจ้างของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งต้องอยู่ในระเบียบวินัยตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ย่อมไม่มีสิทธิและเสรีภาพเช่นบุคคลทั่วไป ดังนั้น การบัญญัติกฎหมายให้แตกต่างกันออกไปดังกล่าวจึงกระทำได้ (คำวินิจฉัยที่ ๓๔-๕๓/๒๕๔๓)
       ๒.๑.๒ การกำหนดให้สามีและภริยาเสียภาษีต่างจากคนโสด เนื่องจากมีเงื่อนไขและสาระสำคัญในการดำรงชีวิต รวมทั้งมีพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน เงินได้ของสามีภริยาถือเป็นสินสมรส บุคคลในครอบครัวได้รับประโยชน์ร่วมกัน ความแตกต่างนี้เองทำให้การกำหนดหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันระหว่างคนที่มีครอบครัวและคนโสดไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม (คำวินิจฉัยที่ ๔๘/๒๕๔๕)
       ๒.๑.๓ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๕ วรรคสี่ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีในศาลปกครองต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในกรณีการฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) หรือ (๔) ในอัตราร้อยละสองจุดห้าของทุนทรัพย์แต่ไม่เกินสองแสนบาท แต่ไม่ได้กำหนดวิธีการเกี่ยวกับการขอฟ้องคดีอนาถาไว้ เนื่องจากการดำเนินคดีปกครองเป็นไปตามหลักกฎหมายมหาชน ซึ่งแตกต่างไปจากการดำเนินคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่อาจขอดำเนินคดีอนาถาได้ตามมาตรา ๑๔๙ ซึ่งเป็นไปตามหลักของกฎหมายเอกชน การที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ บัญญัติให้เสียค่าธรรมเนียมศาล เป็นมาตรการที่จำเป็นและเป็นประโยชน์กับรัฐและประชาชนทั่วไป การที่มิได้กำหนดวิธีการเกี่ยวกับการขอฟ้องคดีอนาถาไว้ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อหลักความเสมอภาค แต่อย่างใด (คำวินิจฉัยที่ ๘๔/๒๕๔๗)
       ๒.๑.๔ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. .... มาตรา ๓๙ วรรคสองไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มีลักษณะพิเศษเฉพาะในฐานะ เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ส่วนราชการ มิใช่รัฐวิสาหกิจ และมิได้เป็นหน่วยงานเอกชน อันต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายแรงงาน เมื่อเป็นหน่วยงานของรัฐจึงไม่อาจเปรียบเทียบกับหน่วยงานเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจได้ การปฏิบัติที่แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน จึงไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม (คำวินิจฉัยที่ ๓๗/๒๕๔๒)
       
       ๒.๒ เกี่ยวกับสิทธิความเสมอภาคของชาย-หญิงในการใช้ชื่อสกุล
       บทบัญญัติมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ มีลักษณะเป็นบทบังคับให้หญิงมีสามีต้องใช้ชื่อสกุลของสามีเท่านั้น เป็นการลิดรอนสิทธิในการใช้ชื่อสกุลของหญิงมีสามี ในขณะที่ชายไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิในการใช้ชื่อสกุลแต่อย่างใด ทำให้ชายและหญิงมีสิทธิไม่เท่าเทียมกันเกิดความไม่เสมอภาคกันทางกฎหมาย ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศและสถานะของบุคคลอันเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ (คำวินิจฉัยที่ ๒๑/๒๕๔๖)
       
       ๒.๓ เกี่ยวกับสิทธิความเสมอภาคอื่นๆ
       ๒.๓.๑ พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับ ควบคุม ดูแลการบริหารการคลังและการเงินของประเทศให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ จึงมิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ (คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๔๒)
       ๒.๓.๒ บทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ (๑๐) ที่บัญญัติว่า “มีกาย....ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ” จะใช้ควบคู่กับมาตรา ๒๖ (๑๑) ที่บัญญัติว่า “เป็นผู้ที่ผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจโดยคณะกรรมการแพทย์ จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่ง ก.ต. กำหนด และ ก.ต. ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการแพทย์แล้วเห็นว่า สมควรรับสมัครได้” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมของฝ่ายตุลาการ ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ สำหรับประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต. และคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ หรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยที่ ๑๖/๒๕๔๕)
       
       ๒.๔ การประกันสิทธิของคู่ความในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล
       เมื่อศาลจังหวัดทหารได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาตามอำนาจที่ระบุไว้โดยกฎหมายแล้ว หากจะพิพากษาคดีลงโทษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้กลับไม่มีอำนาจพิพากษา ต้องทำความเห็นส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นประเภทเดียวกัน ได้แก่ ศาลมณฑลทหาร หรือศาลทหารกรุงเทพ แล้วแต่กรณี เป็นศาลที่ทำคำพิพากษา ตามมาตรา ๑๙ วรรคสาม ของพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ออกนั่งพิจารณาคดีมาแต่เริ่มแรกแต่ประการใด บทบัญญัติดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๖ (คำวินิจฉัยที่ ๒๔/๒๕๔๖)
       
       ๒.๕ สิทธิในการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ
       รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๒ บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลในทางละเมิดเท่านั้น รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติรับรองไปถึงสิทธิของบุคคลที่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่กระทำละเมิดซึ่งเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ แม้จะมีสิทธิอยู่ก็ตาม (คำวินิจฉัยที่ ๑๒/๒๕๒๔) ทั้งนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นไปตามหลักความรับผิดชอบแห่งรัฐ ในระบบของนิติรัฐ
       
       ๒.๖ สิทธิในการต่อสู้คดีในศาล
       ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๐ มีเจตนารมณ์ที่จะไม่ให้คดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแล้วขึ้นมาพิจารณาในศาลฎีกาอีก แต่การจำกัดสิทธิในการฎีกาก็มิได้จำกัดไว้โดยเด็ดขาด หากคู่ความฝ่ายที่ต้องการจะฎีกาก็ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๑ บทบัญญัติมาตรา ๒๒๐ ดังกล่าวจึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยที่ ๑๖/๒๕๔๑)
       
       ๒.๗ เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือปฏิบัติพิธีกรรม
       พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๑๐ (๔) บัญญัติให้ผู้เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการสุขาภิบาลก็มิได้เป็นเหตุให้บุคคลนั้นขาดเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตนไม่ได้ เพราะเสรีภาพดังกล่าวที่รัฐธรรมนูญรับรองยังมีอยู่ แต่เมื่อบุคคลนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการสุขาภิบาลก็ย่อมอยู่ในข้อจำกัดตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับสมรรถภาพ เพราะผู้ที่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการสุขาภิบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับข้อจำกัดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๘ (๕) และมาตรา ๑๓๓ (๕) บทบัญญัติมาตรา ๑๐ (๔) ดังกล่าว จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๘ (คำวินิจฉัยที่ ๔๔/๒๕๔๒)
       
       ๒.๘ สิทธิในทรัพย์สิน
       ๒.๘.๑ ร่างพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่....) พ.ศ. .... มาตรา ๘๘/๓ ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าความลึกจากผิวดินลงไปใต้ดินไม่เกินหนึ่งร้อยเมตร เจ้าของที่ดินยังคงมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์และยังคงมีสิทธิในความเป็นเจ้าของที่ดินอยู่อย่างสมบูรณ์” เห็นว่า ในส่วนที่ลึกเกินกว่าร้อยเมตรลงไปนั้น เป็นข้อจำกัดสิทธิในการใช้สอยแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่สามารถกระทำได้ เพราะในความลึกดังกล่าวเกินขอบเขตที่ความสามารถของบุคคลทั่วไปจะสามารถใช้สอย ถือเอาประโยชน์ในส่วนนั้นได้และเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้าไปดูแลทรัพยากรธรรมชาติในส่วนความลึกเกินกว่าร้อยเมตร เพื่อประโยชน์สาธารณะได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิเท่าที่จำเป็นและไม่กระทบกระเทือนซึ่งสาระสำคัญแห่งสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน (คำวินิจฉัยที่ ๕๙/๒๕๔๕)
       ๒.๘.๒ เจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมและทำลายแรงจูงใจสำคัญในการประกอบอาชญากรรมที่ให้ผลตอบแทนสูง มาตรการที่ดำเนินคดีต่อทรัพย์สินจึงเป็นมาตรการพิเศษที่รัฐกำหนดขึ้นซึ่งเป็นคนละส่วนกับมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคล ดังนั้น เมื่อการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เป็นการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวในหมวด ๖ มาตรา ๔๘ ถึงมาตรา ๕๙ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๒ (คำวินิจฉัยที่ ๔๐-๔๑/๒๕๔๖)
       ๒.๘.๓ ร่างพระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. .... ร่างมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่งบัญญัติให้ศาลสั่งริบเครื่องจักรผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี กรณีฝ่าฝืนไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่รวม ๔ กรณี ไม่ได้พิจารณาถึงความผิดและความเหมาะสมในการลงโทษ เป็นการใช้มาตรการลงโทษรุนแรงแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ถือว่าจำกัดสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินเกินกว่าความจำเป็นและกระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๘ (คำวินิจฉัยที่ ๓๐/๒๕๔๘)
       
       ๒.๙ รับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพผลิตและจำหน่ายแป้งข้าวหมัก
       การที่พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๒๔ บัญญัติห้ามมิให้ทำหรือขายเชื้อสุราซึ่งมีความหมายตามมาตรา ๔ ว่า หมายความรวมถึง แป้งข้าวหมักด้วยนั้น ในส่วนที่ห้ามมิให้ทำหรือขายเชื้อสุราเฉพาะในความหมายที่หมายถึงแป้งข้าวหมัก เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต และมาตรา ๒๖ ที่บัญญัติให้ใบอนุญาตซึ่งออกตามความในมาตรา ๒๔ ให้ใช้ได้เฉพาะในสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนั้น เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และเป็นบทบัญญัติที่บัญญัติขึ้นเกินความจำเป็นและกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๐ ดังนั้น พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๖ เฉพาะความหมายของ “เชื้อสุรา” ในส่วนที่หมายความถึง “แป้งข้าวหมัก” จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๐ (คำวินิจฉัยที่ ๒๕/๒๕๔๗)
       
       ๒.๑๐ การรับรองหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญา
       ร่างพระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. .... ร่างมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง รวม ๔ กรณี บัญญัติให้ศาลสั่งริบเครื่องจักร กรณีฝ่าฝืนไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ได้เป็นทรัพย์สินที่ผู้ใดมีไว้เป็นความผิดและได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด การริบเครื่องจักรไม่คำนึงถึงว่า เจ้าของจะรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ เป็นการใช้มาตรการลงโทษรุนแรงแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๒ แต่บทบัญญัตินี้ไม่เป็นสาระสำคัญจึงตกไปเฉพาะร่างมาตรา ๓๘ (คำวินิจฉัยที่ ๓๐/๒๕๔๘)
       
       ๓. การวางหลักเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของรัฐธรรมนูญ
       
       ๓.๑ มาตรา ๒๑๖ (๔) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” ต้องจำคุกจริงไม่ใช่ให้รอการลงโทษ ถ้าเป็นการรอการลงโทษมิใช่เป็นการต้องคำพิพากษาให้จำคุก (คำวินิจฉัยที่ ๓๖/๒๕๔๒)
       
       ๓.๒ รัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับการเข้าดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทของรัฐมนตรี แต่เรื่องดังกล่าวบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การดำรงตำแหน่งหรือการพ้นจากตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทย่อมขึ้นอยู่กับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การจะวินิจฉัยว่ารัฐมนตรีคนใดดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วหรือไม่ จึงต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ ๒๒ ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทเท่านั้น การลาออกจากห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสามารถกระทำได้ตลอดเวลา โดยอาจทำเป็นหนังสือหรือลาออกโดยวาจาต่อผู้มีอำนาจของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและไม่ใช่หน้าที่จะต้องนำความไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน (คำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๔๔)
       
       ทั้งนี้ หากจะให้เกิดผลบังคับตามมาตรา ๒๐๘ ของรัฐธรรมนูญ ควรต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัท ให้มีบทบัญญัติที่ชัดเจนว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหรือกรรมการบริษัทที่ลาออกจะต้องปฏิบัติอย่างไร เช่น ต้องยื่นใบลาเป็นหนังสือเท่านั้น ต้องยื่นต่อใคร เมื่อใด เป็นหน้าที่ของผู้ใดที่จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียน เมื่อใด เพื่อให้สามารถป้องกันปัญหาได้
       
       ๔. การวางหลักเกี่ยวกับการตรากฎหมาย
       
       ๔.๑ สภาผู้แทนราษฎรได้เพิ่มเติมร่างมาตรา ๔ เข้าไปในร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. .... ภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๖ แล้ว ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับจึงตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จึงตกไปทั้งสองฉบับ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๒ วรรคสาม (คำวินิจฉัยที่ ๑๓-๑๔/๒๕๔๑)
       
       ๔.๒ การที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การห้ามอาวุธเคมี พ.ศ. .... ของคณะกรรมาธิการร่วมกันโดยวุฒิสภายังไม่ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว ยังถือไม่ได้ว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกยับยั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๕ วรรคหนึ่ง (๓) และถือไม่ได้ว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นที่ว่า กระบวนการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การห้ามอาวุธเคมี พ.ศ. .... ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๕ วรรคหนึ่ง (๓) และมาตรา ๑๗๖ หรือไม่อีก (คำวินิจฉัยที่ ๓-๔/๒๕๔๕)
       
       ๔.๓ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๒ บัญญัติให้การตราพระราชบัญญัติจะกระทำได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา หมายความว่า รัฐสภาจะแนะนำและยินยอมร่างพระราชบัญญัติที่สมบูรณ์ถูกต้อง การที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. .... พร้อมส่งร่างดังกล่าวเพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๓ หากก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ตรวจพบข้อความที่ไม่สอดคล้องและขัดหรือแย้งกันในร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งไม่ถูกต้องตรงตามมติและเจตนารมณ์ของวุฒิสภาที่แท้จริง รัฐสภาย่อมมีอำนาจจะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับคืนมาปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องสมบูรณ์เฉพาะส่วนที่ไม่สอดคล้องกันเสียก่อนแล้วจึงส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๓ ต่อไป (คำวินิจฉัยที่ ๓๑/๒๕๔๗)
       
       ๔.๔ ร่างมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ในกรณีที่มีมติคณะรัฐมนตรียุบเลิกรัฐวิสาหกิจใดให้ถือว่า กฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเป็นอันยกเลิกไป นั้น มิได้หมายความว่า กฎหมายนั้นถูกยกเลิกโดยมติคณะรัฐมนตรี แต่ถูกยกเลิกโดยร่างพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ ร่างมาตรา ๒๘ ที่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว ซึ่งจะเป็นการยกเลิกโดยกฎหมายที่มีลำดับชั้นของกฎหมายเดียวกัน จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อกระบวนการตราพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยที่ ๕๐/๒๕๔๒)
       
       ๕. การวางหลักในการตีความรัฐธรรมนูญ
       
       ๕.๑ การตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทั่วไปจำกัดสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ต้องตีความอย่างแคบหรือต้องตีความอย่างเคร่งครัด (คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๔๓)
       
       ๕.๒ ในกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายมีถ้อยคำเฉพาะตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปและมี ถ้อยคำที่เป็นคำทั่วไปตามหลังคำเฉพาะ คำทั่วไปนั้นต้องมีความหมายแคบกว่าความหมายธรรมดาของคำนั้น โดยจะต้องมีความหมายเฉพาะในเรื่องและประเภทเดียวกันกับคำเฉพาะที่มาก่อนหน้าคำทั่วไปนั้น (คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๔๓)
       
       ๕.๓ รับรองหลักทั่วไปของกฎหมายที่ว่า “กฎหมายเฉพาะย่อมยกเว้นหลักของกฎหมายทั่วไป” โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ เป็นเพียงการบัญญัติวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องให้แตกต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับอยู่ เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วทันต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มภาระหรือหน้าที่ใดๆ แก่ลูกหนี้ ลูกหนี้ยังคงยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่กับเจ้าหนี้เดิมขึ้นต่อสู้กับเจ้าหนี้ใหม่ที่รับโอนสิทธิเรียกร้องได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ (คำวินิจฉัยที่ ๔๐/๒๕๔๕)
       
       ๖. การวางหลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔
       
       ๖.๑ ความหมายของคำว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย”
       ๖.๑.๑ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ (คำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๔๒)
       ๖.๑.๒ ความหมายของกฎหมาย แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
       ประเภทที่หนึ่ง กฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่ฝ่ายบริหารตราขึ้นตามกระบวนการที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้กฎหมายนั้นมีศักดิ์และฐานะเทียบเท่ากฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา ได้แก่ พระราชกำหนดตามมาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๐ และพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๐ วรรคห้า โดยที่กฎหมายเหล่านั้นตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกฎหมายลำดับรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
       ประเภทที่สอง กฎ ข้อบังคับ และพระราชกฤษฎีกา นอกจากที่จัดอยู่ในประเภทที่หนึ่งที่ฝ่ายบริหารหรือองค์กรของรัฐออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย เช่น กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป เป็นต้น และเนื่องจาก กฎ ข้อบังคับ และพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายจึงต้องอยู่ภายในขอบเขตอำนาจที่กำหนดไว้ในกฎหมายแม่บท กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ กฎ ข้อบังคับ และพระราชกฤษฎีกานั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่บท และจะต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้วย
       ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ จะต้องเป็น “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ซึ่งเป็นกฎหมาย ประเภทที่หนึ่ง แต่มิได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยกฎหมาย ประเภทที่สอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ (คำวินิจฉัยที่ ๒๗/๒๕๔๔)
       
       ๖.๒ คำร้องต้องระบุมาตราที่โต้แย้งให้ชัดเจน
       การโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอันต้องด้วยมาตรา ๖ และขอให้ศาลส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ จะต้องระบุว่าบทบัญญัติมาตราใดของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตราใด (คำวินิจฉัยที่ ๔๐-๔๙/๒๕๔๔)
       
       ๖.๓ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไม่ถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง
       บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา ๘๖ ที่บัญญัติว่า “รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะแรงงานเด็กและแรงงานหญิง จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม” มิใช่เป็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ แต่อยู่ในหมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งมีไว้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการตรากฎหมาย และการกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่าจะดำเนินการใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ข้อความในมาตรา ๓๙ วรรคสอง ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. .... ที่บัญญัติว่า “กิจการของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน” มิได้เป็นบทจำกัดอำนาจของรัฐในการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่กล่าวแต่อย่างใด จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๖ (คำวินิจฉัยที่ ๓๗/๒๕๔๒)
       
       ๖.๔ เมื่อยังไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ บุคคลไม่อาจโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องได้
       ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงสิทธิของบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเพื่อการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับแป้งข้าวหมักไว้ ผู้ร้องจึงไม่อาจโต้แย้งว่าพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๖ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๖ ได้ (คำวินิจฉัยที่ ๒๕/๒๕๔๗)
       
       ๖.๕ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ และมาตรา ๖ ไม่ใช่กรณีที่จะโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งได้
       รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔ และมาตรา ๖ อยู่ในหมวด ๑ บททั่วไป ซึ่งมาตรา ๔ เป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลในลักษณะหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ และมาตรา ๖ เป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงหลักการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้กฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ใช้บังคับอยู่ หรือจะมีขึ้นต่อไปในภายหน้า มีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่กรณีที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๑ จะขัดหรือแย้งได้ (คำวินิจฉัยที่ ๖๕-๘๒/๒๕๔๗)
       
       ๖.๖ กฎหมายวิธีสบัญญัติถือเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดี
       แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๕ จะมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์จะใช้บังคับแก่คดีโดยตรงตามฐานความผิดที่โจทก์ฟ้อง แต่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์จำเป็นต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๕ ในการสั่งเกี่ยวกับเรื่องพยานหลักฐานก่อนที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๕ จึงเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี (คำวินิจฉัยที่ ๑๖/๒๕๔๖)
       
       ๖.๗ แม้ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ในการบังคับคดีศาลยังมีอำนาจพิจารณาในชั้นนี้อยู่ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔
       ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ (๑) ซึ่งบัญญัติว่า “คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัย โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ (๑) เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล” และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๒ วรรคหนึ่งบัญญัติให้ศาลที่มีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีไว้ด้วยว่า “ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ คือ ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น” จึงเห็นได้ว่า ในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งยังมีการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดได้ มาตรา ๒๘๖ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฯ ซึ่งกำหนดให้เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ฯลฯ ที่นายจ้างจ่ายให้มิให้อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีแต่ให้อยู่ในดุลพินิจของศาล จึงเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง และแม้ว่าคดีตามคำร้องนี้ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ในการบังคับคดีศาลยังมีอำนาจพิจารณาในชั้นนี้อยู่ และไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๖ วรรคหนึ่ง (๓) ต้องด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ หรือไม่ คำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้วมิได้ถูกกระทบกระเทือน เพราะจำเลยยังคงต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษา คำร้องดังกล่าวนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๔ แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ (คำวินิจฉัยที่ ๓๔-๕๓/๒๕๔๓)
       
       ๗. การวางหลักกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๘ และเขตอำนาจของศาลปกครอง
       คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๖ ส่วนที่ ๔ มิใช่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาล ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ที่เป็นปัญหาจึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลปกครอง (คำวินิจฉัยที่ ๒๔/๒๕๔๓) ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๑-๒๔/๒๕๔๗ วางหลักเพิ่มเติมว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใดจะอยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลหรือไม่ต้องพิจารณาบทบัญญัติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗๖ เป็นหลัก คำนิยามถ้อยคำทั้งสองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ฯ เป็นเพียงการกำหนดความหมายให้ชัดเจนว่าหมายถึงลักษณะของส่วนราชการ หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ประเภทใดบ้างที่จะต้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองซึ่งนอกจากจะกำหนดลักษณะขององค์กรแล้ว ยังกำหนดลักษณะของการใช้อำนาจด้วยว่าจะต้องเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งเป็นลักษณะของการเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาล อันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๖ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดและให้อำนาจในการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองได้บัญญัติไว้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาตรา ๓ ที่บัญญัติบทนิยามคำว่า “หน่วยงานทางปกครอง” และ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” จึงไม่มีข้อความใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๖
       หมายเหตุ การวางหลักกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวหมายความว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจทางปกครองหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองซึ่งมีที่มาตามกฎหมายย่อมอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง แต่หากการใช้อำนาจมีที่มาจากรัฐธรรมนูญย่อมไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง
       
       ๘. การวางหลักกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖
       
       ๘.๑ ให้ความหมาย “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ”
       
       องค์กรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ ที่จะเสนอความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้นั้น หมายถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติไม่ได้จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่มีบทบาทอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ ได้ (คำวินิจฉัยที่ ๕๘-๖๒/๒๕๔๓)
       
       ๘.๒ ให้ความหมาย “ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ”
       
       ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ บัญญัตินั้น อาจเป็นลักษณะของการมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจกระทำการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือไม่ เพียงใด หรือมีปัญหาโต้แย้งกันว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งได้ใช้อำนาจหน้าที่ล่วงล้ำหรือกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ของอีกองค์กรหนึ่ง (คำวินิจฉัยที่ ๕๔/๒๕๔๒)
       
       ๘.๓ การวางหลักกฎหมายรับรองอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
       
       ๘.๓.๑ ศาลยุติธรรมมีคำสั่งให้รับหรือไม่รับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นการก้าวล่วงการใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
       กรณีที่ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๔ พิจารณาการดำเนินการของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งในวิธีการสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๓๒ และมีคำสั่งให้รับหรือไม่รับสมัคร จึงเป็นเพียงการวินิจฉัยอำนาจของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่ได้วินิจฉัยอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรณีที่ศาลแพ่งมีคำสั่งตามคดีหมายเลขแดงที่ สว ๒/๒๕๔๓ นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจในการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๕ (๓) กรณีจึงไม่เป็นการก้าวล่วงการใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (คำวินิจฉัยที่ ๑๓/๒๕๔๓)
       ๘.๓.๒ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามมาตรา ๓๐๑ วรรคหนึ่ง (๓) ถือเป็นอันยุติ
       อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการไต่สวนและวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๑ วรรคหนึ่ง (๓) เพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่จึงเป็นอันยุติ ดังนั้น องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัยตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติวินิจฉัยอันยุติแล้ว ให้เป็นประการอื่นได้อีก (คำวินิจฉัยที่ ๒/๒๕๔๖)
       ๘.๓.๓ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง (๓) ถือเป็นอันยุติ
       การใช้อำนาจของคณะกรรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง (๓) ในการสืบสวนสอบสวน เพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสอง ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจทางบริหารหรือทางปกครองแต่อย่างใด แต่เป็นลักษณะการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญอันมีผลให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง (๓) ถือเป็นยุติ (คำวินิจฉัยที่ ๕๒/๒๕๔๖)
       ๘.๓.๔ สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่มีอำนาจขอหรือเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ
       สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ไม่มีอำนาจเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ด้วยตนเอง คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้ปฏิบัติหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ย่อมไม่มีอำนาจขอหรือเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ได้ ส่วนคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และกรรมการวิสามัญฯ ทั้งที่เป็นและมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่อาจเสนอหรือยกคำของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรียังไม่ได้ให้ความเห็นชอบขึ้นพิจารณาได้ (คำวินิจฉัยที่ ๓๒/๒๕๔๓)
       ๘.๓.๕ รับรองอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
       แม้จะปรากฏว่ามีการฟ้องคดีต่อศาลภายหลังการเข้าดำเนินการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ตาม แต่การตรวจสอบของคณะกรรมการฯ เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๐๐ วรรคหนึ่ง (๑) ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๐๐ วรรคหนึ่ง (๑) ในการตรวจสอบและทำรายงานกรณีความรุนแรงอันเนื่องมาจากโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียแล้วนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ (คำวินิจฉัยที่ ๓๑/๒๕๔๘)
       ๘.๓.๖ วางหลักเกี่ยวกับองค์ประกอบของวุฒิสภา
       สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตั้งมีจำนวนไม่ครบ ๒๐๐ คน ไม่อาจดำเนินการให้มีการประชุม เพื่อปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้ได้ (คำวินิจฉัยที่ ๒๐/๒๕๔๓)
       
       ๘.๔ กรณีตามคำร้องเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในการพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวน ๒๑ คณะ เป็นเรื่องที่ประธานรัฐสภาได้รับคำร้องจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวน ๓๑ คน ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับผลหรือมติของวุฒิสภา อันเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ภายในองค์กรมิใช่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาและไม่ใช่เรื่องที่วุฒิสภามีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตนว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ กรณีจึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยให้ได้ (คำวินิจฉัยที่ ๔๓/๒๕๔๖)
       
       ๘.๕ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๐๕ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอยู่แล้ว และยังไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือองค์กรอื่น จึงไม่ใช่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ ได้ (คำวินิจฉัยที่ ๖๓/๒๕๔๓)
       
       ๘.๖ คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยรวม ๔ ประการ เป็นการหารือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่โดยทั่วๆ ไปของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๖) และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ (๓) และมาตรา ๑๕ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นการขอให้อธิบายความหมายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว จึงไม่เป็นกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ ได้ (คำวินิจฉัยที่ ๖/๒๕๔๒)
       
       ๘.๗ ตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นการขอให้วินิจฉัยความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคสาม และมาตรา ๑๐๕ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ มาตรา ๘๐ และมาตรา ๘๑ ว่าความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้งถูกต้องหรือไม่ จึงมิใช่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ (คำวินิจฉัยที่ ๗/๒๕๔๒)
       
       ๘.๘ ตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๑๕ ที่บัญญัติรับรองสถานภาพขององค์กรสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็น ๒ ฝ่าย แตกต่างกัน จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๖ (คำวินิจฉัยที่ ๘/๒๕๔๒)
       
       ๙. วางหลักกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕
       
       ๙.๑ กำหนดความหมายของคำว่า “จงใจ”
       ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาความหมายของคำว่า “จงใจ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๕ ไว้ในคำวินิจฉัยที่ ๓๑/๒๕๔๓ และ ๑๙/๒๕๔๔ สรุปว่า “จงใจ” เป็นเพียงเจตนาธรรมดา คือ ผู้ถูกร้องรู้หรือไม่รู้ว่ามีทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวอยู่หรือไม่ เพียงผู้ถูกร้องรู้สำนึกในการกระทำก็พอแล้ว ไม่จำต้องมีเจตนาพิเศษ เพื่อมุ่งประสงค์ต่อประโยชน์ที่มิชอบหรือมุ่งประสงค์เพื่อเตรียมการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์อันมิชอบ หรือเพื่อปกป้องทรัพย์สินที่ได้มาโดยการทุจริตต่อหน้าที่ แม้คำว่า “จงใจ” ไม่จำต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษตามที่ได้ให้ความหมายแล้วก็ตาม แต่การใช้คำว่า “จงใจ” นำหน้าข้อความว่า “ยื่นบัญชีด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ” นั้น ย่อมมีความหมายว่า รัฐธรรมนูญประสงค์จะเน้นว่า ผู้ยื่นบัญชีฯ ต้องรู้สำนึกที่แน่ชัดพอสมควร และจำต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดแจ้ง หรือปราศจากข้อสงสัยอันสมควรมาแสดง ในกรณีที่พยานหลักฐานยังไม่ชัดแจ้ง หรือยังเป็นที่สงสัยอยู่ จึงไม่ควรวินิจฉัยให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหา (คำวินิจฉัยที่ ๒๐/๒๕๔๔)
       
       ๙.๒ วางหลักกฎหมาย “วันที่พ้นจากตำแหน่ง” หมายถึงวันใด
       ๑) กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ หากดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด วันที่พ้นจากตำแหน่ง คือ วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๒ (คำวินิจฉัยที่ ๒๗/๒๕๔๗)
       ๒) กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ หากไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดวันที่พ้นจากตำแหน่ง คือ วันที่พ้นจากตำแหน่งตามความเป็นจริง (คำวินิจฉัยที่ ๔๗/๒๕๔๖)
       ๓) กรณีจงใจยื่นบัญชีฯ เป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง หากดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด วันที่พ้นจากตำแหน่ง คือ วันที่ผู้ร้อง (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ตรวจพบการกระทำดังกล่าว (คำวินิจฉัยที่ ๒๙/๒๕๔๖)
       ๔) กรณีจงใจยื่นบัญชีฯ เป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง หากไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด วันที่พ้นจากตำแหน่ง คือ วันที่พ้นจากตำแหน่งตามความเป็นจริง (คำวินิจฉัยที่ ๑๙/๒๕๔๔)
       หมายเหตุ การแปลความวันที่พ้นจากตำแหน่งเช่นนี้ จะเป็นธรรมต่อผู้ถูกร้อง กรณีที่ต้องยื่นบัญชีฯ ในคราวพ้นจากตำแหน่งแล้ว การแปลความดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญเท่ากับเป็นการกำหนดกรอบเวลาในการไต่สวนของผู้ร้อง (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ให้ต้องเร่งรีบดำเนินการไต่สวน หากไม่เป็นเช่นนั้น การห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา ๕ ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งก็จะไม่เกิดผลใช้บังคับ
       
       ๑๐. การวางหลักกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
       
       ๑๐.๑ แม้ผู้ร้องลาออกก็ไม่มีผลให้การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต้องยุติ
       ระหว่างการพิจารณาปรากฏว่า ผู้ถูกร้องได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๒ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การลาออกดังกล่าว แม้ว่าจะมีผลให้สมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๘ (๓) ก็ตาม แต่ก็มิได้มีผลกระทบต่อประเด็นพิจารณาวินิจฉัยคำร้องนี้ เพราะไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญยุติการพิจารณาวินิจฉัย (คำวินิจฉัยที่ ๔๙/๒๕๔๒)
       
       ๑๐.๒ แม้ผู้ร้องขอถอนคำร้องแต่ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
       ตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๖ ข้อ ๗ บัญญัติให้คำร้องที่ได้ยื่นต่อศาล ก่อนที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งถ้าผู้ร้องตาย หรือผู้ร้องขอถอนคำร้อง ศาลอาจพิจารณาสั่งจำหน่ายคำร้องนั้นก็ได้
       หมายเหตุ ข้อกำหนดดังกล่าว หมายความว่า ในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ถ้าผู้ร้องขอถอนคำร้อง ศาลอาจพิจารณาอนุญาตและสั่งให้จำหน่าย คำร้องหรือศาลอาจไม่อนุญาตและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป หากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
       
       คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ทางกฎหมายดังกล่าว ในบางคำวินิจฉัยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่การที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั้น เป็นเด็ดขาด คือ ไม่อาจร้องขอให้แก้ไขได้หรือโต้แย้งในทางใดไม่ได้อีก จึงมีผลสำคัญไปถึงว่า หากสาธารณชนไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องใดดังกล่าว หนทางที่จะทำได้คงมีสองประการ คือ หนทางแรกศาลรัฐธรรมนูญอาจจะทบทวนหรือกลับบรรทัดฐานที่เคยวินิจฉัยไว้แล้วได้ เมื่อองค์คณะเปลี่ยนแปลงไปและระยะเวลาผ่านพ้นไปเป็นเวลาพอสมควร ซึ่งกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะหากเปลี่ยนแปลงแนวคำวินิจฉัยบ่อยครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือที่มีต่อสถาบันศาลรัฐธรรมนูญได้ อีกหนทางหนึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญไม่ทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยก็ ต้องไปแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
       สำหรับระยะต่อไปศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องเป็นองค์กรที่สร้างหลักกฎหมายและบรรทัดฐานในคดีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม โดยต้องกล้าทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยในบางคำวินิจฉัยที่ได้มีการศึกษาวิจัยทางวิชาการสนับสนุนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งการพัฒนาการเขียนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและปรับปรุงกระบวนพิจารณาให้เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือของสังคมมากยิ่งขึ้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นองค์กรคุณภาพและดำรงความยุติธรรมเป็นที่ยอมรับเชื่อถือของสังคมโดยรวม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วางวิสัยทัศน์และสถานะของตนให้อยู่ ณ จุดนี้ได้ ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นสถาบันสุดท้ายที่จะเป็นคำตอบที่มีต่อการคุ้มครองความเป็นนิติรัฐ และส่งเสริมการปฏิรูปการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดอย่างแท้จริง
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=757
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 23:35 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)