ครั้งที่ 106

18 เมษายน 2548 08:23 น.

       “วันครอบครัว”
       เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน 2548 ที่ผ่านมาเป็นวัน “ครอบครัว” ครับ ผมจำไม่ได้แล้วว่าเราเริ่มถือวันที่ 14 เมษายนเป็นวันครอบครัวกันตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะสมัยผมเด็กๆนั้นก็ยังไม่มีวันครอบครัวครับ
       ผมดูข่าวจากโทรทัศน์เมื่อคืนวันครอบครัวแล้วก็คิดอะไรได้หลายๆอย่าง ข่าวที่นำเสนอมีหลายรูปแบบ มีการสัมภาษณ์ประชาชนบางคนที่พา “ครอบครัว” คือภรรยาและลูกไปทานข้าวในวันครอบครัว บางคนก็พาพ่อแม่ไปทานข้าวนอกบ้าน สรุปสำหรับข่าวที่ผมได้ดูผ่านโทรทัศน์ในคืนวันครอบครัวก็คือมีประชาชนจำนวนหนึ่งให้ความสำคัญกับวันครอบครัวด้วยการพาคนในครอบครัวออกไปทานข้าวนอกบ้านครับ
       ที่ว่าผมได้คิดอะไรหลายๆอย่างจากข่าวโทรทัศน์ที่ดูในวันครอบครัวก็คือ ผมเริ่มคิดถึง “สภาพ” ความเป็นครอบครัวของคนไทยเราครับ เพราะผม “ยังคง” เข้าใจอยู่ว่าครอบครัวไทยเรานั้นต่างจากครอบครัวของชาติอื่นๆอยู่ค่อนข้างมาก เพราะโดยทั่วไปแล้ว ครอบครัวไทยมักจะไม่ใช่ “ครอบครัวเดี่ยว” แต่จะเป็น “ครอบครัวขยาย” เสียเป็นส่วนมาก ตัวอย่างใกล้ที่สุดก็คือตัวผมเองที่ปัจจุบันก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านเดิมของคุณตาคุณยายที่เมื่อคุณแม่ผมมีครอบครัวก็อยู่ในบริเวณเดียวกับบ้านคุณตาคุณยาย และเมื่อผมมีครอบครัวก็ยังคงอยู่ในบริเวณเดียวกันนั้นเช่นกันครับ รวมความแล้วครอบครัวผมก็อยู่ร่วมกันหลายรุ่นและมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ผมรู้จักเพื่อนๆหลายคนที่ยังคงอยู่เป็นครอบครัวในลักษณะที่ผมเป็นอยู่ครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจว่าสภาพของความเป็นครอบครัวไทยแบบที่ผมเป็นอยู่จะหาได้น้อยลงทุกทีแล้ว เพราะในปัจจุบันผู้คนจะแยกครอบครัวออกไปอยู่ต่างหาก เราจะเห็นได้ว่ามีหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดมีเนียมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หมู่บ้านและคอนโดฯเหล่านั้นคงไม่ใช่สำหรับ “ครอบครัวขยาย” เป็นแน่ แต่หากถูกสร้างไว้สำหรับ “ครอบครัวเดี่ยว” เสียมากกว่าครับ ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากในระบบ “ครอบครัวไทย” แบบดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้เองเราจึงต้องมี “วันครอบครัว” เกิดขึ้นเพราะจะได้เป็นวันที่ “ครอบครัวเดี่ยว” ทั้งหลายจะได้กลับมาเจอหน้ากันและสังสรรกับครอบครัวพื้นฐานของตนเองไงครับ
       หากจะถามว่า “ครอบครัวขยาย” กับ “ครอบครัวเดี่ยว” อย่างไหนดีกว่ากันก็คงจะตอบได้ยากพอสมควรครับ ครอบครัวขยายจะมีความอบอุ่นและมีชีวิตชีวามากกว่าครอบครัวเดี่ยว แต่ความเป็น “ส่วนตัว” ก็จะลดน้อยลงไปครับ ส่วนครอบครัวเดี่ยวนั้นดีกว่าในแง่ “เสรีภาพ” หรือความเป็น “ส่วนตัว” แต่ก็มีข้อบกพร่องหลายประการ โดยผมมองว่าข้อบกพร่องที่สำคัญที่สุดก็คือ สิ่งที่เรียกกันว่า “ความโดดเดี่ยว” เพราะครอบครัวขยายนั้นยังไงๆก็ยังมีลุง ป้า น้า อา ฯลฯ อยู่ในบริเวณเดียวกันที่เราอาจฝากบ้านหรือหยิบยืม หรือขอความช่วยเหลืออื่นๆได้ตลอดเวลาครับ แต่ครอบครัวเดี่ยวนั้นต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทุกปัญหาโดยลำพังทั้งหมด อยู่กันเอง ดูแลกันเอง และเมื่อคนหนึ่งจากไป คนที่เหลืออยู่ก็ต้องอยู่คนเดียวครับ !!!!
       
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นห่วงก็คงเป็นเรื่อง การอยู่คนเดียว นี้แหละครับ เมื่อวันจันทร์ที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมงาน “วันเกิด” ครบรอบ 7 ปีของศาลรัฐธรรมนูญและได้มีโอกาสพูดคุยกับรุ่นน้องคนหนึ่งที่เล่าให้ผมฟังว่า ได้ยินข่าวองค์การอนามัยโลกประกาศว่า ในปี ค.ศ. 2020 จำนวนคนป่วยด้วยโรคซึมเศร้า จะมีมากจนถึงขนาดเป็นโรคที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับสองของโลกเลยทีเดียวครับ คงไม่ต้องบอกนะครับว่า โรคซึมเศร้านั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายๆสาเหตุด้วยกัน รวมทั้งสาเหตุของการที่คนใกล้ชิดจากไปทำให้ต้องอยู่คนเดียวด้วยครับ ! ทางแก้โรคซึมเศร้าก็มีอยู่มาก แต่ที่สำคัญที่สุดทางหนึ่งก็คือ การ “ยอมรับ” การอยู่คนเดียวครับ !
       
จะเกิดอะไรขึ้นใน “ครอบครัวเดี่ยว” ที่มีคนจำนวนน้อยและจากไปเหลือคนในครอบครัวเพียงคนเดียวครับ คำตอบสำหรับคนต่างประเทศกับคำตอบสำหรับคนไทยคงต่างกันมาก เราลองไปดูสภาพสังคมของต่างประเทศดูก่อนซิครับ ผมคงต้องยกตัวอย่างฝรั่งเศสเพราะเป็นประเทศที่ผมคุ้นเคยที่สุด หากถามผมว่าถ้าต้องอยู่ “คนเดียว” ที่ฝรั่งเศสในปั้นปลายของชีวิตจะทำได้ไหม ผมก็คงตอบได้อย่างไม่ลังเลใจเลยว่า “สบายมาก” ครับ เพราะการอยู่ “คนเดียว”ที่นั่นมีสิ่งต่างๆให้เราทำมากมายจนแทบลืมไปว่าอยู่คนเดียว เราสามารถใช้เวลาในวันต่างๆได้อย่างเป็นประโยชน์กับชีวิตโดยไม่ต้องเข้าไปเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า เพราะไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ห้องสมุดระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมไปถึงการจัดนิทรรศการต่างๆที่มีอยู่ตลอดเวลาทำให้เราสามารถใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ด้วยครับ ส่วนคนไทยนั้นเรายังมองไม่ค่อยเห็นทางนี้เท่าไรนัก คนแก่ออกจากบ้านคนเดียวก็ลำบากเพราะบริการขนส่งมวลชนทั้งหมดทุกประเภทของเราไม่ได้ออกแบบมาให้ “คนชรา” และ “คนพิการ” ใช้ครับ ลองนึกดูง่ายๆว่ามีคนแก่หรือคนพิการคนหนึ่งที่อยู่ตัวคนเดียว นั่งรถเข็นและอยากจะไปไหนมาไหนบ้างจะทำอย่างไรครับ คำตอบก็คือไม่มีทางทำอะไรได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่หรือรถเมล์ก็ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับ “รถเข็น”ครับ แถมเข็นไปบนทางเท้าหรือจะข้ามถนนก็ยังอันตรายอีกด้วย โดยเฉพาะ “ฝาท่อเหล็ก” ที่มีร่องขนาดพอดีกับล้อจักรยานหรือล้อรถเข็นเลยครับ รวมความแล้วก็ยังคงเป็นเรื่องลำบากของคนชราที่อยู่คนเดียวที่จะหาอะไรทำที่จะไม่ให้ตนเองต้องอยู่คนเดียว คิดมากและกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุดครับ
       ที่เขียนมายืดยาวนี้ก็คงไม่ต้องการสื่ออะไรมาก และประเด็นที่เขียนก็ไม่ได้เป็นประเด็นด้านกฎหมายมหาชน แต่เป็นประเด็นด้านสังคมที่เขียนขึ้นในวันหยุดสบายๆ 5 วันในช่วงสงกรานต์ครับ วันครอบครัวคงไม่ได้หมายความว่าเป็นวันที่ “เรา” ในฐานะคนหนึ่งในครอบครัวจะ “ทำดี” กับคนในครอบครัวเราเท่านั้น แต่วันครอบครัวควรจะเป็นวันที่ “รัฐ” น่าจะให้ความสำคัญมากกว่าที่เป็นอยู่ด้วย เพราะทุกวันนี้ ถามจริงๆเถอะครับว่าในกรุงเทพฯ เราสามารถพาครอบครัวไปไหนได้บ้างนอกจากศูนย์การค้าที่มีอยู่มากมายเหลือเกินครับ ! เราสามารถใช้เวลาว่างร่วมกันได้ที่ไหนบ้างครับ สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ การแสดง นิทรรศการต่างๆ น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐจัดเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์และได้รับความรู้จากสิ่งต่างๆเหล่านั้น ก็คงต้องฝากประเด็นนี้ไว้กับ “ผู้นำ” ระดับชาติและระดับท้องถิ่นของเราด้วยว่า สังคมของเรายังขาดสิ่งเหล่านี้อยู่อีกมาก สิ่งที่เราสามารถทำ สามารถใช้ประโยชน์ สามารถใช้เวลาในแต่ละวันให้เกิดประโยชน์และได้รับความรู้ หากเรามีสิ่งเหล่านี้ ความเหงาส่วนบุคคลก็คงจะลดน้อยลงไปเพราะเรายังมี “ทางเลือก” อื่นที่จะทำในวันว่างหรือวันหยุดมากกว่าที่จะไปเดิน “หาเรื่องเสียสตางค์” ในศูนย์การค้าอย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน หรือเก็บตัวหมกมุ่นครุ่นคิดค้นหาตัวเองจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าครับ
       
       สำหรับบทบรรณาธิการสองครั้งก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างอภิมหาศูนย์การค้ากลางกรุงที่ไปเบียด “วัง” เบียด “วัด” นั้นได้รับความสนใจจากผู้คนในวงกว้าง ในวันนี้เราได้รับข้อมูลจากที่ต่างๆรายงานเข้ามาให้ทราบหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามแบบที่ “ขออนุญาต” ค่าเช่าที่ดินที่จ่ายให้น้อยเหลือเกิน (ว่ากันว่าตารางวาละไม่ถึงร้อยบาทด้วยครับ!) สัญญาเช่าระยะเวลานานมากที่คำนวณอย่างไร “เจ้าของที่ดิน” ก็เสียเปรียบมากๆอยู่ดีครับ ! คงต้องขอให้ผู้ที่สนใจเรื่องดังกล่าวช่วยกันเดินหน้าหาความจริงกันต่อไปนะครับ อย่างน้อยก็ถือว่าเราต้องช่วยกันปลุกจิตสำนึกของสังคมให้รับรู้ไว้บ้างว่า อย่านึกถึงแต่ประโยชน์ของตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียว กรุณานึกถึงสังคมด้วยเพราะทุกวันนี้ลูกหลานของเราก็ตกเป็น “ทาส” ของศูนย์กลางค้าและสิ่งของทั้งหลายที่ขายอยู่ในศูนย์การค้ากันจะแย่อยู่แล้วครับ ผมอยากฝากไว้นิดหนึ่งในประเด็นนี้ว่า บรรดาหนังสือพิมพ์ที่นำเอาข้อเขียนของผมและของกองบรรณาธิการไปขยายต่อ “น่าจะ” ลองสัมภาษณ์ความเห็นของ “คน” และ “พระ” ในละแวกนั้นดูบ้างนะครับว่ามีความรู้สึกอย่างไรกับการก่อสร้างศูนย์การค้าบริเวณนั้น จะได้รู้กันไปเสียทีว่า มีใครบ้างที่ “เห็น” หรือ “ได้” ประโยชน์จากศูนย์การค้าแห่งนั้นครับ ! ! !
       
       
ในสัปดาห์นี้ เรามีข้อเขียน 2 ข้อเขียนที่เขียนโดยขาประจำของเราครับ ข้อเขียนแรกเป็นบทความเรื่อง การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่เขียนโดยคุณบุญเสริม นาคสาร  แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญครับ ส่วนข้อเขียนที่สองที่เรานำเสนอไว้ใน "นานาสาระของนักเรียนไทยในต่างแดน" เป็นข้อเขียนของ อ.ปิยะบุตร แสงกนกกุล จากสำนักท่าพระจันทร์ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส ที่เขียนเรื่อง เหตุการณ์สำคัญในกฎหมายมหาชนฝรั่งเศสประจำมกราคม 2005  ส่งมาให้เราครับ ผมต้องขอขอบคุณทั้งสองท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=756
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:57 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)