เหตุการณ์สำคัญในกฎหมายมหาชนฝรั่งเศสประจำเดือนมกราคม ๒๐๐๕ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล

18 เมษายน 2548 08:24 น.

       - ๑๓ มกราคม ๒๐๐๕ - กฎหมายที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครอง (La loi de validation) ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้บทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ แห่งร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยแผนงานเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม (Le projet de loi de programmation pour la cohésion sociale) ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้บทบัญญัติในมาตราดังกล่าวมีลักษณะเป็นกฎหมายที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครอง (La loi de validation)
       
       ปฐมเหตุแห่งคดีนี้เริ่มจากวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๐๐๔ ในคดี Association des résidents du secteur Orbay-Kurgaten et Le collectif Jean Jaurès-Ribeauville et autres ที่ศาลชั้นต้นสตราสบูร์กพิพากษาเพิกถอนประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด Bas-Rhin ที่อนุญาตให้สร้างรถรางสายใหม่และขยายเส้นทางรถรางสายเดิมในเขตเมือง Strasbourg เมือง Ostwald และเมือง Lingolsheim ด้วยเหตุผลที่ว่าการศึกษาผลกระทบ (L’étude d’impact) ของโครงการสร้างรถรางดังกล่าวนั้นไม่เพียงพอตามที่มาตรา ๒ แห่งรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๑๙๗๗ กำหนดไว้ อีกทั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์โครงการไม่ได้ให้เหตุผลไว้อย่างครบถ้วนในรายงานสรุปการประชาพิจารณ์ตามที่บทบัญญัติในมาตรา R.๑๑-๑๔-๑๔ แห่งประมวลกฎหมายการเวนคืนกำหนดไว้ (TA Strasbourg 19 octobre 2004, Association des résidents du secteur Orbay-Kurgaten et le collectif Jean Jaurès-Ribeauville et autres ,ดูบทความของผู้เขียนเรื่อง เหตุการณ์สำคัญในกฎหมายมหาชนตลอดปี ๒๐๐๔ อยู่ในเดือนตุลาคม ได้ใน www.pub-law.net หน้าต่างนานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน)
       
       โครงการสร้างรถรางดังกล่าวได้ถูกระงับไปชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๐๐๔ เมื่อศาลปกครองชั้นต้นสตราสบูร์กได้ออกมาตรการระงับการบังคับตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด Bas-Rhin ที่อนุญาตให้สร้างรถราง (Le référé-suspension) จากนั้นจึงถูกระงับเป็นการถาวรหลังจากที่ศาลชั้นต้นสตราสบูร์กพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๐๐๔ ให้เพิกถอนประกาศดังกล่าวนั้น คำพิพากษาในคดีนี้ส่งผลกระทบไปอย่างกว้างขวาง จากการประเมินของเมืองสตราสบูร์กพบว่า หากเริ่มต้นกระบวนการประกาศอนุญาตเสียใหม่จำเป็นต้องใช้เวลาประมาณ ๑๒-๑๘ เดือน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและการเงิน กล่าวคือ ส่งผลต่อการจ้างงานถึง ๖๐๐ ตำแหน่งในทางตรง และอีก ๑,๕๐๐ ตำแหน่งในทางอ้อม ทั้งงบประมาณที่ใช้ดำเนินโครงการไปแล้วซึ่งมีมูลค่าสูงถึง ๔๐๐ ล้านยูโร ตลอดจนยังกระทบต่อประชาชนในบริเวณใกล้เคียงของโครงการ มิพักต้องกล่าวถึงการรื้อถอนรางที่ได้เริ่มทำไปแล้วซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ในระหว่างการพิจารณาร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยแผนงานเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม (Le projet de loi de programmation pour la cohésion sociale) นาย Marc Reymann สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมือง Bas-Rhin จึงเสนอบทบัญญัติมาตราหนึ่งเพิ่มเติมเข้าไปเป็นมาตรา ๑๓๙ เพื่อกำหนดความสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งและการกระทำต่างๆที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศผู้ว่าราชการจังหวัดที่ศาลปกครองชั้นต้นสตราสบูร์กตัดสินเพิกถอนไปนั้น ลักษณะของบทบัญญัติดังกล่าวรู้จักกันในหลักกฎหมายปกครองฝรั่งเศสมานานในชื่อว่า “กฎหมายที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครอง (La loi de validation)” หรือ “การให้ผลสมบูรณ์โดยวิธีการทางนิติบัญญัติแก่คำสั่งทางปกครอง (La validation législative)”
       

       แม้การให้ผลสมบูรณ์โดยวิธีการทางนิติบัญญัติแก่คำสั่งทางปกครอง (La validation législative) จะดูราวกับว่าเป็นการตอบโต้กับคำพิพากษาหรือใช้อำนาจชนกับอำนาจแต่ในบางกรณีการออกกฎหมายเช่นนี้ก็อาจเป็น “ความชั่วร้ายที่จำเป็น” (Un mal nécessaire) อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะสามารถออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวได้ในทุกกรณี หากแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วางหลักไว้ในคำวินิจฉัยเลขที่ ๘๐-๑๑๙ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๑๙๘๐ ดังนี้
       
       ประการที่หนึ่ง ฝ่ายนิติบัญญัติต้องเคารพหลักการแบ่งแยกอำนาจ กล่าวคือ ฝ่ายนิติบัญญัติไม่อาจบัญญัติกฎหมายกำหนดให้คำสั่งทางปกครองที่ถูกศาลเพิกถอนไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (Un acte définitivement annulé) แล้วกลับมามีผลใหม่ได้ เช่นเดียวกัน การทำให้คำสั่งทางปกครองที่ศาลได้เพิกถอนไปแล้วกลับมามีผลใหม่โดยวิธีการทางนิติบัญญัติไม่อาจไปกระทบถึงสิ่งใดๆที่มีผลบังคับอันเนื่องมาจากคำพิพากษานั้นไปแล้ว กล่าวให้ถึงที่สุด กฎหมายที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครอง (La loi de validation) ไม่อาจมีขึ้นได้ในกรณีที่เกิดผลบังคับผูกพันของคำพิพากษา (L’autorité de la chose jugée)(1) ไปแล้วนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ในทางปฏิบัติบทบัญญัติที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครองจึงเริ่มต้นด้วยถ้อยคำว่า “ภายใต้การสงวนไว้ซึ่งคำพิพากษาที่ได้ตัดสินและมีผลบังคับผูกพันไปแล้ว ...” « Sous réserve des décisions de justice passées en force de chose jugée… » และใช้วิธีการโดยอ้อมด้วยการสร้างผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครองที่เป็น “ผลิตผล” ของคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่ศาลเพิกถอนไปแทน อีกนัยหนึ่งเป็น “กฎหมายที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครองหรือการกระทำอื่นใดที่ออกโดยอาศัยฐานจากคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่ถูกศาลเพิกถอนไปแล้ว” เช่นในกรณีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นสตราสบูร์กพิพากษาเพิกถอนประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด Bas-Rhin ที่อนุญาตให้สร้างรถรางสายใหม่และขยายเส้นทางรถรางสายเดิม เกิดมีคำสั่งทางปกครองมากมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจจากประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว เมื่อประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดถูกเพิกถอนไปแล้ว คำสั่งต่างๆที่ออกมาโดยประกาศฯ ก็ย่อมถูกกระทบถึงความสมบูรณ์ไปด้วย ดังนั้นบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ แห่งร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยแผนงานเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคมจึงเข้ามาสร้างความสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งเหล่านั้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ไปให้ความสมบูรณ์แก่ประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด Bas-Rhin ตัวประกาศฯที่ถูกศาลเพิกถอนไปแล้วก็ยังคงไม่มีผลกลับมาใหม่ จะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้ “โต้” กับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นสตราสบูร์กโดยตรงแต่หลีกไปใช้วิธีทางอ้อมด้วยการกำหนดให้คำสั่งต่างๆที่ออกมาตามประกาศฯมีผลสมบูรณ์แทน
       ประการที่สอง กฎหมายที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครอง (La loi de validation) ต้องไม่มีโทษย้อนหลัง (Le principe de non-rétroactivité des peines)
       ประการที่สาม กฎหมายที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครองต้องไม่ขัดกับหลักการที่มีสถานะในระดับรัฐธรรมนูญ (Le principe de valeur constitutionnelle) เว้นแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเพราะคณะตุลาการรัฐธรรมนูญยืนยันว่าประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองนั้นมีสถานะในระดับรัฐธรรมนูญด้วยตัวของมันเอง
       ประการที่สี่ กฎหมายที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครองต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะที่เพียงพอ (L’intérêt général suffisant) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า วัตถุประสงค์ของกฎหมายที่เป็นไปเพื่อการรักษาไว้ซึ่งดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของการบริการสาธารณะ การรักษาไว้ซึ่งตำแหน่งของข้ารัฐการ การคุ้มครองความมั่นคงของสถานะทางกฎหมายและป้องกันผลอันคาดหมายไม่ได้ที่อาจเกิดขึ้น ถือว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในทางปฏิบัติคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะพิจารณาความได้สัดส่วนระหว่างผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายที่มีผลย้อนหลังโดยเปรียบเทียบกับประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายนั้นมุ่งคุ้มครอง
       ประการที่ห้า กฎหมายที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครองต้องมีผลอย่างจำกัดและเคร่งครัดที่สุด กฎหมายดังกล่าวต้องระบุมูลเหตุที่ทำให้คำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวไม่อาจห้ามการฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองซึ่งกฎหมายมุ่งสร้างความชอบด้วยกฎหมายได้ เช่น ศาลปกครองได้เพิกถอนกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับหนึ่งต่อมาฝ่ายนิติบัญญัติได้ออกกฎหมายมาเพื่อสร้างความชอบด้วยกฎหมายให้แก่คำสั่งต่างๆที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงมหาดไทยที่ถูกศาลเพิกถอนไปนั้น เพราะหากไม่ออกกฎหมายในลักษณะนี้ขึ้นแล้ว คำสั่งต่างๆย่อมไม่มีผลทางกฎหมายเพราะกฎกระทรวงที่เป็นฐานอำนาจในการออกคำสั่งถูกเพิกถอนไปแล้ว กฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกมาดังกล่าวไม่อาจกำหนดห้ามมิให้มีการฟ้องเพิกถอนคำสั่งเหล่านั้นได้อีกเพราะขัดกับสิทธิในการฟ้องคดี (Le droit à un recours effectif)
       
       กรณีกฎหมาย “สู้กับคำพิพากษาของศาลที่ขัดขวางการสร้างรถราง” ตามบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ แห่งร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยแผนงานเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคมซึ่งมีลักษณะเป็นกฎหมายที่สร้างผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครองต่างๆที่มีฐานจากประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ศาลปกครองชั้นต้นสตราสบูร์กได้เพิกถอนไปแล้วนั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งจึงยื่นเรื่องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้สมาคมผู้พิพากษาได้ออกมาเรียกร้องและให้ความเห็นว่าบทบัญญัติตามมาตรา ๑๓๙ นี้น่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในที่สุดคณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลสองประการ
       
       ประการแรก บทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Le principe des séparations des pouvoirs) และสิทธิในการฟ้องคดี (Le droit à un recours effectif) ตามที่มาตรา ๑๖ แห่งคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ๑๗๘๙ อันมีสถานะในระดับรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ว่า “สังคมใดไม่มีการให้หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ สังคมนั้นไม่มีรัฐธรรมนูญ” คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ มีจุดมุ่งหมายหลักในการให้มีการสร้างรถรางในเมืองสตราสบูร์กได้ต่อไปแม้ศาลปกครองชั้นต้นเมืองสตราสบูร์กเพิกถอนประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด Bas-Rhin ไปแล้วก็ตาม แต่บทบัญญัติในมาตราเดียวกันกลับขยายความให้รวมถึงการสร้างรถรางในอีกสี่เมือง ได้แก่ วาล็องเซียนส์, มาร์กเซย์, เลอ ม็องส์ และมงต์เปลลิเยร์ บทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ จึงมีผลกระทบกว้างเกินไปและเป็นการ “ตัดตอน” มิให้มีการพิจารณาคดีนี้ของศาลอุทธรณ์น็องซี่ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองสตราสบูร์ก นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ที่อาจได้รับจากการออกกฎหมายที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครองในกรณีดังกล่าวซึ่งได้แก่ ประโยชน์ทางการเงิน การจ้างงาน การจราจรแล้ว แม้จะได้ประโยชน์จริงแต่ก็ยังไม่เพียงพอถึงขนาดที่ต้องมีกฎหมาย “ตอบโต้” กับคำพิพากษา อีกนัยหนึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมองว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายยังไม่ได้สัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะที่กฎหมายนั้นมุ่งคุ้มครอง ด้วยเหตุนี้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า “ประโยชน์สาธารณะที่หยิบยกขึ้นอ้างในกรณีนี้ยังไม่เพียงพอที่จะกระทบซึ่งหลักการแบ่งแยกอำนาจและสิทธิในการฟ้องคดีตามมาตรา ๑๖ แห่งคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ๑๗๘๙ ได้ หลักการแบ่งแยกอำนาจและสิทธิในการฟ้องคดีย่อมมีความสำคัญกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการสร้างรถราง”
       ประการที่สอง บทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ ขัดกับหลักกรรมสิทธิ์ที่มาตรา ๑๗ แห่งคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ๑๗๘๙ อันมีสถานะในระดับรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ว่า “กรรมสิทธิ์เป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์และละเมิดมิได้ บุคคลไม่อาจถูกละเมิดกรรมสิทธิ์เว้นแต่เมื่อมีความจำเป็นสาธารณะที่กำหนดโดยกฎหมายและภายใต้เงื่อนไขการให้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม” สมควรกล่าวไว้ในเบื้องต้นว่ากฎหมายเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะฝรั่งเศสกำหนดให้กระบวนการเวนคืนที่ดินต้องมีประกาศการใช้ประโยชน์สาธารณะ (La déclaration d'utilité publique, DUP) ซึ่งออกโดยรัฐกฤษฎีกาในสภาแห่งรัฐหรือประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่ลักษณะของโครงการ เมื่อประกาศ DUP ของผู้ว่าราชการจังหวัด Bas-Rhin ถูกเพิกถอนไปแล้ว การเวนคืนที่ดินย่อมไม่อาจทำได้ แต่บทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ ที่กำหนดสร้างความสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งและการกระทำอื่นๆที่ออกตามประกาศฯนั้นกลับยังมีผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินอยู่นั่นเอง กล่าวให้ถึงที่สุดการกระทำหรือคำสั่งใดๆที่กระทบกรรมสิทธิ์เพื่อประโยชน์สาธารณะจะมีได้ก็ต่อเมื่อมี DUP เป็นฐาน ในเมื่อปราศจากซึ่ง DUP แล้ว บทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ ที่ส่งผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินที่จะมีการสร้างรถรางย่อม ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า “ประโยชน์สาธารณะที่หยิบยกขึ้นอ้างในกรณีนี้ไม่อาจกระทบต่อสิทธิในกรรมสิทธิ์ซึ่งมาตรา ๑๗ แห่งคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ๑๗๘๙ ได้เรียกร้องว่า ก่อนที่จะมีการเวนคืนได้ต้องมีความจำเป็นสาธารณะที่ประกาศตามกฎหมายเสียก่อน”
       
       
อนึ่ง คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้พิจารณาประเด็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ร้องได้หยิบยกขึ้นอ้างในประเด็นที่ว่า บทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ มีเนื้อหาไม่ต้องตรงกับตัวร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยแผนงานเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม กล่าวคือร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยแผนงานเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม (Le projet de loi de programmation pour la cohésion sociale) ออกมาตามนโยบายของรัฐบาลตามดำริของนาย Jean-louis Borloo รมต. กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ต้องการใช้มาตรการทางสังคมเพื่อช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยมีเนื้อหาสาระเกี่ยวพันกับการจ้างแรงงาน ความเสมอภาคในการเข้าทำงาน ที่อยู่อาศัย ในขณะที่บทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งและการกระทำอื่นๆที่ออกตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ถูกศาลปกครองเพิกถอนไปแล้ว โดยมีเนื้อหาสาระเกี่ยวพันกับการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การประชาพิจารณ์ การเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ และการจัดการผังเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ร้องเห็นว่าบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ เป็นบทบัญญัติ “สอดไส้” หรือ “ผิดฝาผิดตัว” ที่แทรกเข้ามาในร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยแผนงานเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม (Le projet de loi de programmation pour la cohésion sociale) ในระหว่างการพิจารณาร่างรัฐบัญญัติหรือที่เรียกกันในระบบกฎหมายฝรั่งเศสว่า « Le cavalier législatif » ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ดูคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเลขที่ ๘๕-๑๙๑ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๘๕, เลขที่ ๘๖-๒๒๑ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๑๙๘๖, เลขที่ ๘๙-๒๕๑ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๑๙๘๙)
       
       แม้กรณี “กฎหมายที่กำหนดผลสมบูรณ์ให้แก่คำสั่งทางปกครอง (La loi de validation)” ยังไม่เคยปรากฏในวงการกฎหมายไทยเท่าไรนักแต่เป็นที่น่าคิดว่าภายใต้บริบทการเมืองในปัจจุบันที่สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกเสียงข้างมากจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลอย่างท่วมท้นเช่นนี้ หากเกิดกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรืออาจเป็นไปได้เช่นกันกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะลงมติเห็นชอบออกพระราชบัญญัติที่มีผล “โต้” กับผลของคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยได้หรือไม่ หากกรณีมีความจำเป็นต้องทำอย่างยิ่งแล้วจะทำได้ภายใต้เงื่อนไขใด การรักษาดุลยภาพแห่งอำนาจจะยังคงมีอยู่หรือไม่ เพียงใด มิพักต้องกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวในรูปของพระราชกำหนด สถานการณ์เหล่านี้จะเป็นเพียงการมองโลกในแง่ร้ายหรือจะเกิดขึ้นจริงยังน่าสงสัยอยู่
       
       ค้นคว้าเพิ่มเติม
       CONSEIL CONSTITUTIONNEL, « Commentaire de la décision n° 2004-509 DC du 13 janvier 2005 : Loi de programmation pour la cohésion sociale », Cahiers du Conseil constitutionnel, N°18, 2005.
       CHAPUS René, Droit du contentieux administratif, Montchrestien, 2004, p.
       FAVOREU Louis et PHILIP Loïc, Les grandes décisions du Conseil constitutionnel, Dalloz, 2001, pp. 411-426.
       HOSTIOU René, « Portée du contrôle exercé par le Conseil constitutionnel sur la validation par voie législative d’une DUP annulée par le juge administratif pour vice de procédure », RFDA, 2005, p.
       MASSOT Jean, « Validation législative » in Répertoire du contentieux administratif, Dalloz, 2001.
       URLACHER Camille, « L’insuffisance de l’étude d’impact du tramway de Strasbourg », DA, février 2005, pp.19-22.
       
       คดีที่เกี่ยวข้อง
       
CC 22 juillet 1980 « Validation d’actes administratifs »
       CC 13 janvier 2005
       TA Strasbourg 19 octobre 2004, Association des résidents du secteur Orbay-Kurgaten et le collectif Jean Jaurès-Ribeauville et autres
       
       - ๑๔ มกราคม ๒๐๐๕ - สภาแห่งรัฐออกมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่ห้ามศาสตราจารย์กฎหมายเข้ามหาวิทยาลัยลียง ๓
       
นายบรูโน กอลนิช (Bruno Gollnisch) ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยลียง ๓ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระทำของพวกนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไปในทางที่เห็นด้วยและสนับสนุนอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความเห็นในกรณีทารุณกรรมและฆ่าเชลยชาวยิวในค่ายกักกันเอาสวิทช์ ด้วยเหตุนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยลียง ๓ จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่นายกอลนิชเนื่องจากเห็นว่าความคิดเห็นของนายกอลนิชเป็นไปในทางที่เหยียดผิวและเชื้อชาติ (racisme) ต่อต้านชาวยิว (antisémite) อันอาจนำมาซึ่งความเกลียดชังกันระหว่างเชื้อชาติและศาสนาได้ พร้อมทั้งออกคำสั่งห้ามนายกอลนิชเข้ามหาวิทยาลัยลียง ๓ เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการ นายกอลนิชไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของอธิการบดีดังกล่าวจึงฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งและขอมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎไว้ชั่วคราว (Le référé-suspension) (2) ในระหว่างที่รอการพิจารณาคดีของศาล
       
       วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๐๐๕ สภาแห่งรัฐที่ทำหน้าที่เป็นตุลาการในคดีมาตรการก่อนการพิพากษา (Le juge de référé) แล้วเห็นว่า การร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งไว้ชั่วคราวมีเหตุฉุกเฉินเพียงพอ (L’urgence) เพราะคำสั่งห้ามนายกอลนิชเข้ามหาวิทยาลัยกระทบต่อนายกอลนิชอย่างรุนแรงและทันทีทันใด อีกทั้งยังกระทบต่อนักศึกษาที่มีวิชาเรียนกับนายกอลนิชซึ่งอาจเสียประโยชน์จากการที่นายกอลนิชไม่สามารถมาบรรยายได้ในขณะที่การสอบก็เริ่มใกล้เข้ามา นอกจากนี้สภาแห่งรัฐยังเห็นว่ามีข้อสงสัยที่หนักแน่นเพียงพอถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่ง (Le doute sérieux sur la légalité de la décision) เพราะคำสั่งนี้เป็นมาตรการป้องกันทางปกครอง (Le mesure de police administrative) เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน (L’ordre public) เป็นธรรมดาอยู่เองที่มาตรการป้องกันทางปกครองย่อมกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อยู่ใต้มาตรการนั้น มาตรการป้องกันทางปกครองจึงต้องเป็นไปตามหลักแห่งความได้สัดส่วน (Le principe de proportionnalité) กรณีนี้สภาแห่งรัฐมองว่าการสั่งห้ามนายกอลนิชเข้ามหาวิทยาลัยยังไม่มีความจำเป็นถึงขนาดเพราะมหาวิทยาลัยมีวิธีการอื่นที่อาจป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจาการเข้ามหาวิทยาลัยของนายกอลนิชได้ เช่น เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย เป็นต้น ดังนั้นคำสั่งห้ามนายกอลนิชเข้ามหาวิทยาลัยจึงเป็นมาตรการที่น่าจะยังไม่ได้สัดส่วนอันทำให้มีข้อสงสัยที่หนักแน่นเพียงพอถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่ง จึงสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งไว้ชั่วคราวให้ตามที่นายกอลนิชร้องขอ
       
       เมื่อสภาแห่งรัฐออกมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งไว้ชั่วคราวแล้ว นายบรูโน่ กอลนิชก็สามารถเข้ามหาวิทยาลัย ลียง ๓ ได้ตามปกติ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ นายกอลนิชมีบรรยายวิชากฎหมายระหว่างประเทศและวิชาอารยธรรมญี่ปุ่น ปรากฏว่านักศึกษาชุมนุมประท้วงไม่ให้นายกอลนิชเข้าคณะ ขณะเดียวกันก็มีผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนนายกอลนิช ผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มได้ปะทะกันจนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ทางศึกษาธิการเมืองลียงจึงทำเรื่องเสนอต่อไปยังกระทรวงศึกษาธิการ วันรุ่งขึ้นนายฟร็องซัวส์ ฟียง (François Fillon) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ออกคำสั่งพักงานนายกอลนิชเป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่สงบอันอาจเกิดขึ้นได้อีกถ้าหากนายกอลนิชยังคงเดินทางไปสอนที่มหาวิทยาลัยอยู่ ล่าสุดนายกอลนิชได้ฟ้องต่อสภาแห่งรัฐเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวแล้ว
       
       กรณีของนายกอลนิชนี้เกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับปัญหาการเหยียดผิว เชื้อชาติ ความเชื่อ และศาสนา แม้รัฐบาลและรัฐสภาจะช่วยกันผลักดันกฎหมายและมาตรการต่างๆออกมาเพื่อสร้างความสมานฉันท์ของชาวฝรั่งเศสทุกเชื้อชาติ ศาสนา และสีผิวก็ตามแต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงดำรงอยู่ในฝรั่งเศส เป็นที่น่าสังเกตว่ามาตรการเหล่านี้โดยส่วนใหญ่แล้วคือการห้ามแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกซึ่งการเหยียดผิว เชื้อชาติ ความเชื่อ และศาสนา แล้วการห้ามเช่นนี้จะมีขอบเขตเพียงใดจึงจะไม่กระทบกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก (La liberté d’expression) ดังเช่นที่นายกอลนิชอ้างเสมอมาว่าคำสั่งห้ามตนเข้ามหาวิทยาลัยนั้นขัดกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในวิชาการอย่างร้ายแรง จุดสมดุลระหว่างการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่ที่ใดเป็นเรื่องน่าคิดอยู่
       
       กล่าวสำหรับนายบรูโน่ กอลนิชนั้น นอกจากจะเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลียง ๓ แล้ว ยังเป็นรองหัวหน้าพรรคอันดับหนึ่งของพรรค Front national ที่มีแนวนโยบายชาตินิยมสุดขั้ว และเป็นสมาชิกสภายุโรปและสมาชิกสภาแคว้น Rhône-Alpes อีกด้วย เมื่อไม่นานมานี้นายฌอง มารี เลอแปน (Jean-Marie Le Pen) หัวหน้าพรรค Front national ได้ออกมาให้ข่าวเป็นนัยว่าได้พิจารณาหาทายาทมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนต่อไปแทนตนเอง หนึ่งในนั้นคือนายกอลนิช
       
       ในส่วนของมาตรการก่อนการพิพากษาในคดีปกครองฝรั่งเศส เดิมมี ๓ ประเภท ได้แก่ การทุเลาการบังคับตามคำสั่งคำสั่งทางปกครองหรือกฎ (Le sursis à exécution) เรเฟเร่ในคดีปกครอง (Le référé administratif) และการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาและพิสูจน์ข้อเท็จจริงรวมทั้งการสืบและเก็บรักษาพยานหลักฐานโดยเร่งด่วนก่อนเปิดกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง (Le constat d’urgence) จนกระทั่งวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๐๐๐ มีการแก้ไขกฎหมายโดยยกเลิกมาตรการทั้งสามดังกล่าวและเปลี่ยนเป็นมาตรการที่เรียกว่า เรเฟเร่ (Le référé) (3) ทั้งหมดรวม ๖ ประเภท ได้แก่ การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎไว้ชั่วคราว (Le référé-suspension) มาตรการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Le référé-liberté) มาตรการใดๆเพื่อการฉุกเฉิน (Le référé-conservatoir) (4)การวางเงินเพื่อประกันหนี้ก่อนมีคำพิพากษา (Le référé-provision) การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาและพิสูจน์ข้อเท็จจริงรวมทั้งการสืบและเก็บรักษาพยานหลักฐานโดยเร่งด่วนก่อนเปิดกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง (Le référé-constat) มาตรการใดๆเพื่อการแสวงหาข้อเท็จจริงให้สมบูรณ์ (Le référé-instruction) นอกจากนี้ยังมีเรเฟเร่ในกฎหมายพิเศษอีกหลายประเภท เช่น มาตรการในคดีกิจการวิทยุและโทรทัศน์ (Le référé audiovisuel) การทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด (Le référé-déféré) มาตรการชั่วคราวในสัญญาทางปกครอง (Le référé précontractuel) มาตรการชั่วคราวเรื่องภาษี (Le référé fiscal) เป็นต้น
       
       กล่าวเฉพาะในส่วนของมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎไว้ชั่วคราว (Le référé-suspension) ตามกฎหมายใหม่ได้เปลี่ยนแปลงมาจากการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎตามกฎหมายเดิม (Le sursis à exécution) กล่าวคือ นอกจากจะเปลี่ยนชื่อจาก « Le sursis à exécution » มาเป็น « Le référé-suspension » แล้วยังแก้ไขเงื่อนไขในการออกมาตรการดังกล่าวให้ง่ายขึ้น โดยบทบัญญัติในมาตรา L.๕๒๑-๑ แห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้วางเงื่อนไขในการออกมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎไว้ชั่วคราวไว้ ๒ ประการ ต้องเป็นเรื่องฉุกเฉิน (L’urgence) จากเดิมที่ต้องเป็นกรณีที่หากคำสั่งมีผลต่อไปจะเป็นการยากแก่การเยียวยาในภายหลังและมีผลร้ายแรง (l’exécution de l’acte attaqué est susceptible d’entraîner pour le requérant des conséquences difficilement réparables ou au moins très graves) ประการหนึ่ง และต้องมีข้อสงสัยที่หนักแน่นเพียงพอถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองที่ขอเพิกถอน (Le doute sérieux sur la légalité de la décision) จากเดิมที่มูลเหตุที่หยิบยกขึ้นมาเพื่อการโต้แย้งว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องมีลักษณะที่เพียงพอต่อการเพิกถอนคำสั่ง (les moyens invoqués sont sérieux et de nature à justifier l’annulation) อีกประการหนึ่ง อย่างไรก็ตามแม้เงื่อนไขทั้งสองประการดังกล่าวจะมีครบแต่ผู้พิพากษายังมีดุลพินิจในการออกมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎไว้ชั่วคราวให้หรือไม่ก็ได้
       
       นอกจากนี้กฎหมายลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๐๐๐ ยังแก้ไขข้อเสียของการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎตามกฎหมายเดิม (Le sursis à exécution) อีกสองประเด็น หนึ่งคือกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีสามารถร้องขอมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎไว้ชั่วคราว (Le référé-suspension) ได้ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองที่เป็นการปฏิเสธ (les décisions de rejet) จากเดิมที่ผู้ฟ้องคดีไม่อาจร้องขอมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นการปฏิเสธได้เพราะศาลปกครองได้วางหลักไว้ว่าคำสั่งทางปกครองที่เป็นการปฏิเสธไม่ถือเป็นคำสั่งที่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย (les décisions exécutoires) หรือไม่ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่นั่นเอง (CE 23 janvier 1970 Ministre des affaires sociales c. Amoros) นอกจากนี้ตามแนวคำพิพากษาเดิมศาลปกครองยังมองว่าหากตนยอมออกมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นการปฏิเสธให้ย่อมหมายความว่าศาลปกครองก้าวล่วงเข้าไปทำให้คำสั่งนั้นเป็นไปในทางตอบรับแทนโดยปริยาย เช่น ศาลปกครองสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งปฏิเสธการเข้าสอบหากพิจารณาอีกมุมหนึ่งก็เท่ากับว่าศาลปกครองไปสั่งให้รับเข้าสอบโดยปริยาย สองคือกำหนดให้การพิจารณาออกมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎไว้ชั่วคราว (Le référé-suspension) ให้กระทำโดยผู้พิพากษานายเดียวได้จากเดิมที่ต้องพิจารณาโดยองค์คณะ
       
       สมควรกล่าวไว้ด้วยว่า กฎหมายปกครองฝรั่งเศสถือหลักว่าการฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งนั้นไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่ง (Le principe de l’effet non suspensif des recours) อีกนัยหนึ่งคำสั่งทางปกครองในระบบกฎหมายฝรั่งเศสมีเอกสิทธิ์ในการมีผลใช้บังคับตลอดไปจนกว่าศาลปกครองจะพิพากษาให้เพิกถอนตามบรรทัดฐานในคดี Huglo (CE 2 juillet 1982) เว้นแต่ศาลปกครองจะออกมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งให้ กรณีนี้แตกต่างไปจากกฎหมายปกครองเยอรมันซึ่งถือหลักว่าการฟ้องคดีเป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่ง คำสั่งจะไม่มีผลชั่วคราวจนกว่าศาลปกครองจะพิพากษาเว้นแต่ศาลปกครองได้ออกมาตรการชั่วคราวให้คำสั่งนั้นมีผลต่อไป เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากระบบกฎหมายปกครองของทั้งสองประเทศมีมุมมองที่แตกต่างกันอันสืบเนื่องมาจากบริบททางการเมืองและประวัติศาสตร์ กล่าวคือ กฎหมายปกครองฝรั่งเศสตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบริการสาธารณะเป็นสำคัญส่วนกฎหมายปกครองเยอรมันมุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กฎหมายปกครองฝรั่งเศสมองว่าคำสั่งทางปกครองเป็นไปเพื่อบริการสาธารณะ หากการฟ้องศาลเป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งอาจทำให้การบริการสาธารณะต้องติดขัดได้ แต่กฎหมายปกครองเยอรมันมองในมุมกลับกันว่าการที่ประชาชนมาฟ้องคดีต่อศาลแสดงว่าสิทธิของเขาย่อมถูกกระทบจากคำสั่งดังกล่าวแล้วพอสมควรจึงจำเป็นต้องทุเลาการบังคับตามคำสั่งไว้ชั่วคราวเพื่อมิให้สิทธิของผู้ฟ้องคดีต้องถูกกระทบมากไปกว่านี้
       
       กล่าวสำหรับกฎหมายปกครองไทยนั้นเดินตามแนวกฎหมายปกครองฝรั่งเศส ดังจะเห็นจากบทบัญญัติในข้อ ๖๙ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่กำหนดว่า การฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นเว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในส่วนของเงื่อนไขที่ศาลปกครองจะพิจารณาออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง บทบัญญัติในข้อ ๗๒ วรรคสามแห่งระเบียบเดียวกันได้กำหนดเงื่อนไขไว้สามประการ ได้แก่ หนึ่ง กฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย สอง การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง สาม การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ จะเห็นได้ว่า เงื่อนไขประการแรกสอดคล้องกับเงื่อนไขในกฎหมายปกครองฝรั่งเศสที่ว่าต้องมีข้อสงสัยที่หนักแน่นเพียงพอถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองที่ขอเพิกถอน (Le doute sérieux sur la légalité de la décision) แต่เงื่อนไขประการที่สองนั้นไปสอดคล้องกับเงื่อนไขเดิมในการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎ (Le sursis à exécution) ที่ว่าต้องเป็นกรณีที่หากคำสั่งมีผลต่อไปจะเป็นการยากแก่การเยียวยาในภายหลังและมีผลร้ายแรง (l’exécution de l’acte attaqué est susceptible d’entraîner pour le requérant des conséquences difficilement réparables ou au moins très graves) ซึ่งปัจจุบันกฎหมายปกครองฝรั่งเศสได้เปลี่ยนแปลงให้เป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับเหตุฉุกเฉิน (L’urgence) แทน
       
       ค้นคว้าเพิ่มเติม
       
CHAPUS René, Droit du contentieux administratif, Montchrestien, 2004, p.1303-1344.
       DEGUERGUE Maryse, Procédure administrative contentieuse, Montchrestien (Coll. Focus droit), 2003, p.177-185.
       L’Université Robert Schuman de Strasbourg, Le nouveau juge administratif des référés : Réflexions sur la réforme opérée par la loi du 30 juin 2000, Annales de la Faculté de droit de Strasbourg, N°5, 2002.
       คดีที่เกี่ยวข้อง
       CE 19 mai 1933 M. Benjamin ดู GAJA L’arrêt N°49
       CE Ord. 14 janvier 2005 M. Gollnisch
       
       เชิงอรรถ
       
(1) คำว่า  “L’autorité de la chose jugée”  นี้ผู้เขียนแปลเป็นภาษาไทยว่า “ผลบังคับผูกพันของคำพิพากษา” โดยประยุกต์มาจากคำว่า “ผลบังคับผูกพันของคำสั่งทางปกครอง” ที่ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ใช้แทนคำว่า “Bestandskraft” ในภาษาเยอรมันซึ่งตรงกับคำว่า  “L’autorité de la chose décidée” ในภาษาฝรั่งเศส (ตำรากฎหมายปกครองเยอรมันของ Hartmut Maurer ที่ แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดย Michel Froment นั้น ผู้แปลใช้คำว่า “L’autorité de la chose décidée” แทนคำว่า “Bestandskraft”, โปรดดู Hartmut Maurer, Droit administratif allemand, LGDJ, 1995, p.) ทั้งนี้ลักษณะของ “ผลบังคับผูกพันของคำพิพากษา” คล้ายกับ “ผลบังคับผูกพันของคำสั่งทางปกครอง” อย่างยิ่งและผู้เขียนก็เห็นด้วยกับคำอธิบายของรศ.ดร.วรเจตน์ฯในเรื่องผลบังคับผูกพันของคำสั่งทางปกครอง (โปรดดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์, “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายปกครอง : หลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองและการกระทำทางปกครอง”, วิญญูชน, หน้า ๑๙๐-๒๐๕.) ผู้เขียนจึงตัดสินใจเลือกใช้คำว่า “ผลบังคับผูกพันของคำพิพากษา”แทน  “L’autorité de la chose jugée” แม้โดยความหมายตามศัพท์ “la chose jugée” จะแปลได้ว่า “สิ่งที่ได้ตัดสินไปแล้ว” ก็ตาม (“chose” แปลว่า สิ่ง หรือ thing และ “jugée”แปลว่า ได้ตัดสินไปแล้ว) แต่ผู้เขียนเห็นว่าไม่เหมาะกับคำนิยามของ “L’autorité de la chose jugée” อย่างยิ่ง การใช้คำว่า “อำนาจของสิ่งที่ได้ตัดสินไปแล้ว”แทน “L’autorité de la chose jugée” ไม่ได้สื่อให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่า “L’autorité de la chose jugée”แต่ประการใด ผู้เขียนเห็นว่าการสรรหาคำในภาษาไทยเพื่อแทนคำในภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกฎหมายด้วยแล้วการสรรหาคำที่สื่อความหมายได้ดีและเห็นภาพชัดเจนย่อมดีกว่าการแปลศัพท์อย่างตรงตัวตามพจนานุกรม
       
       (2)  ผู้เขียนใช้คำว่า “มาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎไว้ชั่วคราว”  แทนคำว่า   “Le référé-suspension”  โดยอิงจากบทบัญญัติต่างๆในกฎหมายไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ “การทุเลาการบังคับคดี” และในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่ส่วนที่ ๑ ของหมวด ๕ ใช้คำว่า “การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง” อย่างไรก็ตามตำรากฎหมายหลายๆเล่มได้ใช้คำว่า “การทุเลาการบังคับตามคำสั่ง” แทนคำว่า “Le sursis à exécution” เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง sursis à exécution มาเป็น référé-suspension ในปี ๒๐๐๐ นักวิชาการบางท่านจึงไม่นำคำว่า“การทุเลาการบังคับตามคำสั่ง” มาใช้แทนคำว่า “Le référé-suspension” อีกเพราะเห็นว่าได้ใช้คำนี้แทนคำว่า “Le sursis à exécution” ไปแล้ว เมื่อคำในภาษาไทยได้ใช้แทนคำๆหนึ่งในภาษาฝรั่งเศสไปแล้วหากมีการเปลี่ยนแปลงคำๆนั้นในภาษาฝรั่งเศสก็ไม่ควรนำคำในภาษาไทยที่เคยใช้แทนคำๆเดิมในภาษาฝรั่งเศสมาแทนคำใหม่ในภาษาฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้จึงหลีกเลี่ยงมาใช้คำว่า “Le référé-suspension” ทับศัพท์ไปแทน สำหรับผู้เขียนแล้วกลับเห็นว่า การใช้คำว่า “การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎไว้ชั่วคราว” แทนทั้งคำว่า “Le sursis à exécution” และคำว่า “ Le référé-suspension” ไม่น่าจะมีปัญหาแต่ประการใด เพราะโดยเนื้อหาแล้วทั้ง sursis à exécution และ référé-suspension ที่มีการแก้ไขในปี ๒๐๐๐ นั้นก็ยังคงมีผลเป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎอยู่นั่นเอง เพียงแต่มีความแตกต่างในเรื่องเงื่อนไขในการออกมาตรการและวิธีพิจารณาเท่านั้น บางท่านอาจเห็นว่าการที่ผู้เขียนอ้างอิงระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่ใช้คำว่า “การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง” นั้นไม่น่าจะถูกต้องเพราะ “การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง” ในกฎหมายไทยลอกเลียนมาจาก “Le sursis à exécution” ในกฎหมายปกครองฝรั่งเศสไม่ใช่ “Le référé-suspension” แต่ผู้เขียนเห็นว่าทั้ง sursis à exécution และ référé-suspension ยังมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก กล่าวคือ แม้ว่า référé-suspension ได้มาแทนที่ sursis à exécution แต่ผลของทั้งสองมาตรการนี้ยังคงเหมือนกันคือเป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎไว้ชั่วคราว การเปลี่ยนแปลง sursis à exécution มาเป็น référé-suspension นั้น สาระสำคัญอยู่ที่การลดความเข้มงวดของเงื่อนไขเพื่อให้การออกมาตรการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎไว้ชั่วคราวเป็นไปได้ง่ายขึ้นเท่านั้น หาได้มีสาระสำคัญอยู่ที่ชื่อแต่ประการใด ผู้เขียนเห็นว่าการนำข้อความคิดในกฎหมายต่างประเทศมาเขียนเป็นภาษาไทยจำเป็นอยู่เองที่นักวิชาการต้องพยายามสรรหาคำในภาษาไทยมาใช้อย่างเหมาะสม ในกรณีที่มีคำในภาษาไทยใช้แทนได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้ที่มีบทบัญญัติในในกฎหมายไทยด้วยแล้วก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ เว้นเสียแต่ว่าไม่อาจหาคำในภาษาไทยมาใช้แทนกันได้จริงๆ ความพยายามของผู้เขียนในการสรรหาคำภาษาไทยมาใช้แทนข้อความคิดในกฎหมายปกครองฝรั่งเศสเป็นความประสงค์ของผู้เขียนที่อยากนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนกันในทางวิชาการด้วยตระหนักว่าการนำข้อความคิดในกฎหมายต่างประเทศมาเผยแพร่ย่อมเป็นภารกิจของนักวิชาการที่จะสรรหาคำในภาษาไทยที่เหมาะสมมาใช้ซึ่งในท้ายที่สุดอาจถูกหรือผิดและอาจได้การยอมรับหรือไม่ก็ได้  ผู้เขียนยินดีรับฟังเป็นอย่างยิ่งหากมีผู้ที่เห็นต่างออกไป และหากมีผู้ที่สรรหาคำที่เหมาะสมกว่า ผู้เขียนก็ไม่ลังเลใจเลยที่จะใช้คำนั้น
       
       (3) คำว่า “référé” นี้ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะใช้คำว่า “มาตราการก่อนการพิพากษา” แทนโดยพิจารณาจากบทบัญญัติต่างๆที่ปรากฏในกฎหมายไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ในหมวด ๕ ซึ่งประกอบไปด้วย ส่วนที่ ๑ ว่าด้วย การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง และส่วนที่ ๒ ว่าด้วย การบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก็ใช้ชื่อหมวดว่า “วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา” อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของ référé แล้วจะเห็นได้ว่ามาตรการ référé ทุกประเภทนั้นต้องพิจารณาและออกมาตรการก่อนที่ศาลปกครองจะพิจารณาพิพากษาคดี คำว่า “มาตรการฉุกเฉิน” ไม่น่าจะใช้แทนคำว่า “référé” ได้ตรงนักเพราะ  référé ที่ศาลต้องพิจารณาถึงความฉุกเฉิน (L’urgence) เป็นเงื่อนไขสำคัญนั้นมีเพียง ๓ ประเภทคือ การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฎไว้ชั่วคราว (Le référé-suspension), มาตรการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Le référé-liberté) และมาตรการใดๆเพื่อการฉุกเฉิน (Le référé-conservatoir) เท่านั้น หารวมถึง référé ทุกประเภทไม่ การใช้คำว่า “มาตราการก่อนการพิพากษา” น่าจะเป็น “คำรวม” ที่กินความถึง référé ทุกประเภทได้มากกว่า
       
       
       (4) มาตรการใดๆเพื่อการฉุกเฉิน (Le référé-conservatoir) อาจเทียบเท่าได้กับการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวตามข้อ ๗๕ ถึงข้อ ๗๗ ในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งบทบัญญัติในข้อ ๗๕ ได้บัญญัติว่า “... ในเวลาใดก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ผู้ฟ้องคดีอาจยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใดๆเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ...” มาตรการใดๆเพื่อการฉุกเฉิน (Le référé-conservatoir) ดังกล่าวเปลียนแปลงมาจากเรเฟเร่ในคดีปกครอง (Le référé administratif) ในกฎหมายเดิม
       
       
       
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=755
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:30 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)