ครั้งที่ 105

4 เมษายน 2548 08:54 น.

       "องค์กรเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในฝรั่งเศส"
       ผมนั่งเขียนบทบรรณาธิการนี้พร้อมๆไปกับการฟังอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 30-31 มีนาคมครับ
       นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่คณะรัฐมนตรีได้ใช้กลไกตามมาตรา 213 แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาความยาก จนและปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จริงๆแล้วผมได้เคยเสนอความเห็นไว้เมื่อสองปีก่อนตอนที่รัฐบาลที่แล้ว “พยายาม” ที่จะทำการ “แปรรูปรัฐวิสาหกิจ” ว่า หากจะให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด สมควรที่จะใช้กลไกในมาตรา 213 แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจดำเนินการใดๆที่เกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ข้อเสนอของผมในขณะนั้นก็ไม่ได้รับความสนใจอะไรเลยครับ ก็คงต้องฝากเอาไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่าหากรัฐบาลยังคงยืนยันที่จะทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อไป ก็น่าจะใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาตามมาตรา 213 มาประกอบในการตัดสินใจของรัฐบาลด้วย เพราะอย่างน้อยการรับฟังความคิดเห็นของผู้แทนปวงชนชาวไทยก็ “น่าจะ” ได้แง่คิดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่าการ “ตัดสินใจ” ดำเนินการโดยคนไม่กี่คนครับ และนอกจากนี้แล้ว การอภิปรายดังกล่าวก็ยังทำให้ “ประชาชน” และ “พนักงานรัฐวิสาหกิจ” ทั้งหลายทราบถึง “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีกด้วยครับ ดีกว่าไปพูดกันเองหรือไปประท้วงโดยที่ยังไม่มี “ข้อมูล” ที่แน่นอนว่าในที่สุดแล้ว หากทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ “ประเทศชาติ”  “ประชาชน” หรือ “พนักงานรัฐวิสาหกิจ” ใครจะ “ได้ประโยชน์” มากกว่ากันครับ !!!
       

       บทบรรณาธิการครั้งที่แล้วเกี่ยวกับการก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดยักษ์กลางกรุงเทพฯ สร้างความ “ฮือฮา” พอสมควรเพราะมีหนังสือพิมพ์สองสามฉบับนำไปขยายต่อครับ จริงๆแล้วประเด็นที่ต้องการนำเสนอคงไม่ใช่ประเด็นทางด้านกฎหมาย เพราะจากการสอบถามหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารศูนย์การค้าขนาดยักษ์บนถนนพระรามที่ 1 ทำให้ทราบว่าในแง่ของกฎหมายคงไม่สามารถ “ห้าม” การก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้เพราะกฎหมายไม่เปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้นได้ แต่ประเด็นที่ “กองบรรณาธิการ” ของเราซึ่งเป็นผู้เขียนบทบรรณาธิการคราวที่แล้ว “พยายาม” จะนำเสนอประเด็นสำคัญสองประเด็น โดยในประเด็นแรกนั้นเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “การมีส่วนร่วมในสังคม” ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่าครับ พวกเราส่วนใหญ่คงจะทราบว่า บนถนนพระรามที่ 1 เริ่มตั้งแต่ทางรถไฟตรงถนนสุขุมวิทไปจนถึงเชิงสะพานกษัตริย์ศึกนั้น ปัจจุบันรถจะติดมาก เพราะนอกจากจะเป็นถนนสาย “ผ่าเมือง” แล้ว บนถนนดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์การค้า” ที่เป็นตึกขนาดใหญ่ 8 ตึกคือ ห้างเซ็นทรัลชิดลม โซโก้ เกสรพลาซ่า เซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ มาบุญครองเซ็นเตอร์ และห้างโลตัส แล้วก็ยังมีศูนย์การค้า “ทางราบ” ขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งคือ สยามสแควร์ครับ ลำพังการเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าทั้งหลายเหล่านี้ก็สร้างปัญหาให้กับผู้ที่ต้องใช้รถใช้ถนนพระรามที่ 1 เป็นเส้นทางสัญจรอยู่แล้ว แต่นี่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเราก็จะมีอภิมหาศูนย์การค้าเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งบนถนนดังกล่าวอีก ลองนึกภาพดูแล้วกันครับว่าสภาพการจราจรบนถนนดังกล่าวจะเป็นอย่างไร ดังนั้น ประเด็นแรกที่นำเสนอในบทบรรณาธิการคราวที่แล้วคงเป็นประเด็นของการเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของสังคมที่สามารถ “เลือก” ได้ว่าจะร่วม “สร้าง” ความสุขให้กับผู้อยู่ร่วมในสังคม หรือจะ “สร้าง” ปัญหาให้กับสังคมครับ ส่วนประเด็นสำคัญประการที่สองก็คงเป็นเรื่องของ “สำนึก” ของ “ประชาชนชาวไทย” ครับ หากได้ดูรูปที่ได้นำเสนอในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วคงไม่ต้องพูดอะไรกันมากมายนะ ครับ การสร้างศูนย์การค้าขนาดยักษ์ให้ติดกับ “วัง” และ “วัด” น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความ “หม่นหมองใจ” ให้กับประชาชนชาวไทยครับ คงต้องถามกันอีกสักครั้งหนึ่งว่า “สมควร” หรือไม่ครับ เพราะแม้ “กฎหมาย” จะห้ามไม่ได้ แต่ “สำนึก” ก็น่าจะเข้ามาเป็นสิ่งสำคัญที่นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจก่อสร้างอภิมหาศูนย์การค้านะครับ และในทั้งสองประเด็นดังกล่าวข้างต้นที่กองบรรณาธิการของเราได้นำเสนอไปในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้ว คงมีจุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งคือ พยายามเรียกร้องให้มีการ “เพิ่มบทบาทประชาชน” ด้วยการเสนอขอให้มีการทำ “ประชาพิจารณ์” โครงการเหล่านี้ก่อนที่จะมีการอนุมัติ อนุญาตให้มีการก่อสร้างครับ จริงอยู่แม้การทำประชาพิจารณ์จะไม่สามารถ “ห้าม” การดำเนินการก่อสร้างที่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายได้ แต่ถ้าหากการก่อสร้างนั้น “ขัดใจ” ประชาชนก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเพราะจะ “สวนทาง” กับความประสงค์ของประชาชนครับ ก็คงต้อง “เรียกร้อง” ขอให้มีการดำเนินการออกกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 59 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างเร่งด่วนด้วยครับ เพราะรัฐธรรมนูญใช้บังคับมา 7 ปีกว่าแล้ว แต่เราก็ยังไม่มีกฎหมายสำคัญฉบับดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่กำหนด “สิทธิ” ของประชาชนที่สำคัญอีกประการหนึ่งครับ ขอฝากไว้ด้วยครับ
       
       เมื่องสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาส “ร่วมทาง” ไปประเทศฝรั่งเศสกับคณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทยครับ คณะดังกล่าวก็มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ คือ ศ.ดร. กระมล ทองธรรมชาติ เป็นหัวหน้าคณะครับ การเดินทางไปฝรั่งเศสครั้งนั้นก็เพื่อไปสร้างความสัมพันธ์กับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ( le Conseil Constitutionnel) ของฝรั่งเศส และไปหาข้อมูลเพื่อเข้าร่วมกับองค์กรประเภท “สมาคมรัฐธรรมนูญระหว่างประเทศ” ของยุโรปครับ ผมเห็นว่าในประการหลังนี้มีสาระน่าสนใจก็เลยเก็บมาเล่าให้ฟังครับ
       คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปเพื่อประชาธิปไตยโดยกฎหมาย (la Commission Européen pour la Démocratie par le Droit) เป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสภายุโรป (Conseil de l’Europe) ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญครับ เนื่องจากคณะกรรมาธิการชุดนี้ “ชื่อยาวเหลือเกิน” ก็เลยมีการเรียกชื่อใหม่ว่า คณะกรรมาธิการเวนิส (la Commission de Venise) โดยมีที่มาจากชื่อเมืองเวนิส ในประเทศอิตาลีซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมของคณะกรรมาธิการชุดนี้ครับ คณะกรรมาธิการเวนิสนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1990 โดยในครั้งนั้น คณะกรรมาธิการเวนิส ประกอบด้วยกรรมาธิการที่เป็นตัวแทนของ 18 ประเทศที่เป็นสมาชิกของสภายุโรป ซึ่งต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 คณะกรรมาธิการเวนิสก็ได้ “ขยาย” ฐานสมาชิกของตนออกไปอีกโดยเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นที่อยู่นอกเหนือจากประเทศ ในสหภาพยุโรปเข้ามาเป็นสมาชิกประเภท “ผู้สังเกตการณ์” (observateur) ได้ โดยในปัจจุบันมีประเทศที่เข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่หลายประเทศเช่น อาเจนติน่า แคนนาดา อิสราแอล เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศในเอเชียก็มีสองประเทศ คือ ญี่ปุ่นและเกาหลีครับ
       คณะกรรมาธิการเวนิสประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญที่มีความเป็นอิสระทางด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นบรรดาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สอนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายระหว่างประเทศ เหรืออาจเป็นผู้พิพากษาศาลสูงหรือศาลรัฐธรรมนูญ หรืออาจมาจากสมาชิกรัฐสภาก็ได้เช่นกัน กรรมาธิการเวนิสได้รับการแต่งตั้งมาจากประเทศของตน มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และมีอิสระในการทำงานครับ คณะกรรมาธิการเวนิสมีหน้าที่สำคัญๆ 3 ประการ ประการแรก คือการให้ความเห็นทางด้านรัฐธรรมนูญในกรณีที่เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญของประเทศสมาชิก โดยในหน้าที่ประการแรกนี้ คณะกรรมาธิการเวนิสสามารถให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการให้ความเห็นต่อรัฐธรรมนูญของประเทศสมาชิกเพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานของยุโรป (les standards européens) ครับ ส่วนหน้าที่ประการที่สอง ก็คือ หน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติที่คณะกรรมาธิการเวนิสมีหน้าที่ “ดูแล” ให้การเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยคณะกรรมาธิการสามารถให้ความเห็นและคำแนะนำต่อกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติของประเทศสมาชิก รวมทั้งยังจัดสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติเพื่อให้การเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและเป็นประชาธิปไตยครับ สำหรับหน้าที่ประการที่สาม นั้นได้แก่ การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างองค์กรศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่คล้ายศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการจัดสัมมนากับศาลรัฐะรรมนูญของประเทศสมาชิกด้วยครับ
       บทบรรณาธิการนี้คงยาวเกินไปหากจะเล่าให้ฟังทั้งหมด เอาเป็นว่าหากใครสนใจลองเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ website ของคณะกรรมาธิการเวนิส คือ www.venice.coe.int แต่ถ้าหากสนใจรายงานประจำปีของ ค.ศ. 2003 ก็มาขอดูได้ที่ผมนะครับ เอกสารดังกล่าวมีข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างโดยเฉพาะรายละเอียดของกิจกรรมทางรัฐธรรมนูญของประเทศสมาชิกเกือบ 20 ประเทศครับ เอกสารที่ผมมีเป็นภาษาฝรั่งเศสครับ
       
       เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการประธานสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ ที่สำนักงานศาลปกครองของไทยครับ สมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ (International Association of Supreme Administrative Jurisdictions) นั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1983 มีศาลปกครองสูงสุดและองค์การระหว่างประเทศกว่า 80 ประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกครับ ในปัจจุบันนั้น ศาตราจารย์ ดร. อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุดของไทยได้รับเลือกให้เป็นประธานสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2004 ครับ สมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศมีกิจกรรมที่สำคัญประการหนึ่ง คือการจัดประชุมทางวิชาการทุก 3 ปี ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ได้ทำการจัดประชุมไปแล้ว 8 ครั้ง ข่าวดีที่สำคัญก็คือการประชุมครั้งที่ 9 ในปี ค.ศ. 2007 นั้น สมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศจะจัดประชุมที่ประเทศไทย ครับ ผมเห็นว่าข้อมูลของสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศที่ฝ่ายเลขานุการได้แจกให้ผมในที่ประชุมน่าสนใจและจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ website แห่งนี้ ผมจึงได้ขอนำเอกสารดังกล่าวมาลงเผยแพร่ไว้ใน www.pub-law.net แล้วครับ สนใจลองอ่านดูใน “ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ (IASAJ)” ครับ
       
       นอกจาก “ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองศุงสุดระหว่างประเทศ ” แล้ว เราขอนำเสนอบทความใหม่ใน นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน ที่เขียนโดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม นักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส คือบทความเรื่อง “การทำประชามติเพื่อให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปในฝรั่งเศส”
       ซึ่งผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=753
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:35 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)