การทำประชามติเพื่อให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปในฝรั่งเศส โดย นางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม

4 เมษายน 2548 08:55 น.

       มาตรา ๓ รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๕๘ บัญญัติไว้ว่า “ อำนาจอธิปไตยของชาติเป็นของประชาชนซึ่งใช้อำนาจดังกล่าวโดยผ่ายทางผู้แทนราษฎรและโดยการออกเสียงแสดงประชามติ (...) ” อันหมายความว่า ชาวฝรั่งเศสสามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้ทั้งในรูปของประชาธิปไตยแบบตัวแทน (la démocratie représentative) ซึ่งในรูปแบบนี้ ประชาชนจะเป็นผู้เลือกและมอบอำนาจทางการเมืองให้กับตัวแทนของตนไปใช้แทนตน อีกรูปแบบหนึ่ง คือ ประชาธิปไตยทางตรง (la démocratie directe) ซึ่งเป็นรูปแบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยนี้ด้วยตนเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของประชาธิปไตยทางตรง คือ การออกเสียงประชามติ
       
        การออกเสียงประชามติ (le référendum) คือ การที่รัฐคืนอำนาจการตัดสินใจให้แก่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยที่รัฐจะขอความเห็นชอบของประชาชนผ่านการออกเสียงแสดงประชามติต่อร่างกฎหมายหรือการอนุญาตให้มีการรับรองสนธิสัญญา ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส ผลของการออกเสียงประชามติจะส่งผลต่อร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายหรือความเห็นชอบให้สัตยาบันสนธิสัญญานั้นๆโดยตรง คือ ถ้าหากประชาชนมีมติไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายหรือการให้สัตยาบันสนธิสัญญาใด รัฐก็มิอาจใช้บังคับร่างฉบับนั้นได้ ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นสำหรับการออกเสียงประชามติที่ทำในระดับท้องถิ่น (le référendum au niveau local) เพราะการออกเสียงประชามติในระดับนี้มีผลเพียงแค่การขอคำปรึกษาจากประชาชนเท่านั้น ผลของการทำประชามติดังกล่าวไม่มีผลผูกพันให้ต้องดำเนินการตาม
       
       เนื่องด้วยตระหนักถึงความสำคัญของผลที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศและประชาชนชาวฝรั่งเศสภายหลังการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป ประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัค (Jacques CHIRAC) ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา๑๑ ลงนามในรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๐๐๕ กำหนดให้มีการออกเสียงแสดงประชามติในวันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๐๐๕ ต่อร่างรัฐบัญญัติอนุญาตให้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป ( Le projet-loi autorisant la ratification du traité établissant une Constitution pour l’Europe) ทั้งนี้ ผลของประชามติครั้งนี้จะมีผลผูกพันต่อการให้สัตยาบันของฝรั่งเศสต่อสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว และอาจจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของชาติอื่นๆในสหภาพยุโรปต่อสนธิสัญญาฉบับนี้ต่อไปด้วย
       
       เมื่อพิจารณาความเห็นของนักการเมืองฝรั่งเศสต่อสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปฉบับนี้แล้วพบว่าความเห็นของนักการเมืองและพรรคการเมืองทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่สนับสนุนให้ฝรั่งเศสให้สัตยาบันสนธิสัญญาซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ประกอบไปด้วยประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีเกือบทั้งคณะรวมถึงกลุ่ม “หัวหน้าฝ่ายค้าน” อันได้แก่ พรรคใหญ่ของฝ่ายซ้าย (พรรค PS) ทางด้านกลุ่มที่คัดค้านการให้สัตยาบันประกอบไปด้วยส.ส.กลุ่มเล็กๆของฝ่ายขวาและพรรคฝ่ายซ้ายพรรคเล็กๆเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบจำนวนนักการเมืองที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยแล้ว เห็นได้อย่างชัดเจนว่า กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยนอกจากจะเป็นกลุ่มเล็กๆที่ด้อยด้วยกำลังพลและทุนทรัพย์แล้ว ยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับโอกาสอันทัดเทียมจากสื่อและสังคมในการเสนอความคิดเห็นของตนด้วย นอกจากนี้ ขณะนี้กำลังมีข่าวว่าหัวหน้าพรรคสังคมนิยม(PS)กำลังจะลงโทษลูกพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สัตยาบัน
       
       ดังนั้น เมื่อประธานาธิบดีได้ประกาศอย่างเป็นทางการที่จะได้เปิดให้มีการแสดงประชามติในเดือนพฤษภาคม ๒๐๐๕ นี้ จึงเกิดคำถามที่ว่า ทำอย่างไรประชาชนจะได้รับข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็นต่างๆอย่างครบถ้วนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจของตนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย รัฐจะจัดการอย่างไรเพื่อให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่คัดค้านสามารถสื่อและแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกันในการรณรงค์การออกเสียงประชามติ( la campagne référendaire) ครั้งนี้
       
        เพื่อให้การจัดการรณรงค์ประชามติและการแสดงประชามติเกิดขึ้นอย่างโปร่งใสและตรงตามวิถีของระบบประชาธิปไตยมากที่สุด คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและเสนอให้ประธานาธิบดีลงนามรัฐกฤษฎีกาสองฉบับเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๐๐๕ ว่าด้วยเรื่องการจัดและดำเนินการแสดงประชามติ( Décert N° 2005-237 du 17 mars 2005 portant organisation du référendum) และอีกฉบับว่าด้วยเรื่องการรณรงค์การออกเสียงประชามติ ( Décert N° 2005-238 du 17 mars 2005 relatif à la campagne en vue de référendum)
       
        ประการแรก เรื่องการรณรงค์การออกเสียงประชามติ รัฐกฤษฎีกากำหนดให้การรณรงค์การออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการ มีระหว่างเที่ยงคืนวันที่ ๑๖ ถึง เที่ยงคืนวันที่ ๒๘ พ.ค. ๒๐๐๕ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ
       
       (ก) เรื่องเงินสนับสนุนพิเศษแก่พรรคการเมืองเพื่อใช้ในการรณรงค์การแสดงประชามติ
       
       หากไม่มีการพิจารณาให้เงินสนับสนุนดังกล่าวจากรัฐ พรรคการเมืองจะต้อง “ควักกระเป๋า”ของตนเองเพื่อดำเนินการ “หาเสียง” ซึ่ง“รายรับ”หลักของพรรคการเมืองทางหนึ่งคือ เงินสนับสนุนกิจการทางการเมืองรายปีที่รัฐจะให้แก่พรรคการเมืองตามอัตราส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและจำนวนเสียงที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ ปัจจุบัน จำนวนสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร กว่าร้อยละ ๙๐ ประกอบไปด้วยพรรค UMP, PS และ UDF และนักการเมืองส่วนมากของสามพรรคนี้เห็นด้วยที่ฝรั่งเศสควรให้สัตยาบันสนธิสัญญา ทำให้พรรคการเมืองพรรคเล็กๆที่ไม่เห็นด้วยต่อการให้สัตยาบันออกมาเรียกร้องให้มีการให้เงินสนับสนุนการรณรงค์การแสดงประชามติ อีกทั้งมีการกล่าวทำนองว่า “การประกาศที่จะทำการแสดงประชามติ โดยมิได้ช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้มีการแสดงความคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ถือว่าเป็นการปฏิเสธประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง”
       
        เมื่อพิจารณาในตัวบทกฎหมาย ประมวลกฎหมายเลือกตั้ง ( le Code électoral) บัญญัติเฉพาะเรื่องการให้เงินสนับสนุนจากรัฐแก่พรรคการเมืองเพื่อใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ( la campagne électorale) เท่านั้น มิได้มีกฎหมายฉบับใดระบุเรื่องการให้เงินสนับสนุนนี้เพื่อการรณรงค์การออกเสียงประชามติ ( la campagne référendaire) ดังนั้น เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการออกรัฐกฤษฎีกาว่าด้วยเรื่องการรณรงค์การออกเสียงประชามติ ๒๐๐๕ ขึ้นมา กล่าวคือ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่รัฐแสดงการให้ความสำคัญต่อการทำประชามติด้วยการให้เงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองเพื่อใช้ในการรณรงค์การออกเสียงประชามติ โดยแต่ละพรรคที่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดโดยรัฐกฤษฎีกา จะได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับค่าป้ายประกาศ ค่าจัดพิมพ์และแจกจ่ายเอกสารต่างๆ รวมถึงค่าการจัดประชุมและการชุมนุมเพื่อการรณรงค์ โดยมีคณะกรรมาธิการตรวจเงินการเลือกตั้งและการใช้จ่ายทางการเมืองแห่งชาติ (la Commission nationale des comptes de campagne et des financements politiques) เป็นผู้กำกับดูแลการเบิกจ่ายและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินสนับสนุนดังกล่าว โดยพรรคการเมืองสามารถขอเบิกเงินสนับสนุนได้ตามจำนวนที่ใช้จริงภายในวงเงิน ๘๐๐,๐๐๐ ยูโร
       
       (ข) เรื่องการจัดสรรเวลาออกอากาศการนำเสนอความคิดเห็นของฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปผ่านสื่อมวลชน
       
        ตามที่ได้กล่าวข้างต้นว่า นักการเมืองที่เห็นด้วยกับการให้สัตยาบันสนธิสัญญาเป็นนักการเมืองส่วนใหญ่ของประเทศประกอบไปด้วยทั้งนักการเมืองของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา มีเพียงนักการเมืองฝ่ายขวาเพียงไม่กี่ท่านและพรรคการเมืองเล็กๆฝ่ายซ้ายเท่านั้นที่ได้ออกมาแสดงตนคัดค้านการให้สัตยาบันตามความเห็นของผู้เขียน เมื่อพิจารณาเพิ่มเติมจากสื่อทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งตีพิมพ์ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปพบว่าสื่อส่วนใหญ่มักจะเสนอข้อมูลด้านเดียว คือ เสนอเฉพาะจุดเด่นๆของ “รัฐธรรมนูญยุโรป” โดยที่ข้อมูลที่ฝ่ายคัดค้านการให้สัตยาบันนำมาอ้างถึงมักจะไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงมากนัก ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อประกอบการตัดสินใจ
       
        ในช่วงเวลาปกตินอกเหนือจากช่วงรณรงค์เลือกตั้ง เนื่องด้วยหลักเสรีภาพของสื่อ (la liberté de la presse) รัฐไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมรายการการออกอากาศของสื่อมวลชนได้มากนัก แต่ในระหว่างการรณรงค์การเลือกตั้งหรือการออกเสียงแสดงประชามติ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (le Conseil supérieur de l’audiovisuel) สามารถร้องขอให้สื่อมวลชนต่างๆจัดเวลาออกอากาศอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมแก่ผู้สมัครเลือกตั้งและผู้สนับสนุนทุกฝ่ายได้ อีกทั้งจะมีการลงโทษสื่อนั้นๆหากมีความไม่เท่าเทียมกันอย่างเห็นได้ชัดเกิดขึ้น
       
        ในระหว่างช่วงรณรงค์การออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการรัฐจะได้ซื้อเวลาจากสื่อโทรทัศน์ ๑๔๐ นาที และจากสื่อวิทยุ ๑๔๐ นาที โดยจัดให้แต่ละกลุ่ม (l’organisation) กลุ่มละสิบนาที/สื่อ และเวลาที่เหลือจากการแบ่งครั้งแรก ครึ่งหนึ่งจะจัดสรรตามอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาของกลุ่มนั้นๆ อีกครึ่งหนึ่งจะแบ่งตามอัตราส่วนของคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งสภายุโรป (Le Parlement Européen)ที่แต่ละกลุ่มได้รับเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (๑๓ มิ.ย.๒๐๐๔)
       
        แต่ปัญหาที่ยังเกิดขึ้นก็คือ รัฐกฤษฎีกาฉบับ N° 2005-238 ระบุว่า พรรคที่จะสามารถเข้าร่วมการรณรงค์การออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการและจะมีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนรวมถึงการจัดสรรเวลาเพื่อแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อได้นั้นจะต้องมีสมาชิกรัฐสภาหรือสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อยห้าคน หรือ จะต้องได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งสภายุโรป (Le Parlement Européene) เมื่อครั้งที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละห้า ดังนั้น โดยหลักการจึงดูเหมือนว่ารัฐพยายามที่จะให้เกิดความทัดเทียมและเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายในการรณรงค์การแสดงประชามติ แต่ในทางปฏิบัติแล้วพรรคหรือกลุ่มที่สามารถขอเงินสนับสนุนและขอใช้สื่อระหว่างการรณรงค์การออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการได้ ส่วนใหญ่เป็นพรรคและกลุ่มที่เห็นด้วยกับการให้สัตยาบันสนธิสัญญา ( ๖ จาก ๘ พรรคเห็นด้วย, ๒ พรรคไม่เห็นด้วย คือ Les Verts และ le Mouvement pour la France) ส่วนพรรคที่จะต้อง “ควักกระเป๋าตัวเอง” ได้แก่ LCR,LO (extrëme gauche) และ MRC เป็นฝ่ายคัดค้านการให้สัตยาบันสนธิสัญญา
       
        ประการที่สอง เรื่องการจัดและดำเนินการการแสดงประชามติ รัฐกฤษฎีกาฉบับลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๐๐๕ ว่าด้วยเรื่องการจัดและดำเนินการการแสดงประชามติไม่ได้มีความแตกต่างจากรัฐกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดและดำเนินการการแสดงประชามติฉบับก่อนๆมากนัก แต่มีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น
       
       เรื่องกำหนดเวลาการลงคะแนน ตามกำหนดเดิมคือระหว่าง ๐๘.๐๐-๒๐.๐๐ น. แต่ครั้งนี้สามารถดำเนินการเปิดก่อนหรือปิดหลังจากกำหนดการเดิมได้ (แต่ไม่เกิน ๒๒.๐๐ น.และห้ามประกาศการนับผลคะแนนก่อนเวลาดังกล่าวทั่วสาธารณรัฐ) แต่ทั้งนี้ จะปิดการลงคะแนนช้ากว่ากำหนดได้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าการจังหวัด (le Préfet) ได้ประกาศอนุญาตเท่านั้น ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในแต่ละท้องที่ตามความจำเป็น
       
       วันออกเสียงประชามติของประชาชนในดินแดนโพ้นทะเลและผู้ขอลงคะแนนเลือกตั้งนอกอาณาจักรจะเร็วกว่าวันออกเสียงของประชาชนบนผืนแผ่นดิน (la métropöle) ๒๔ ชั่วโมง เพื่อป้องกันว่าผลประชามติได้ประกาศในดินแดนหนึ่งแต่ยังไม่มีการลงแสดงประชามติทั่วทั้งสาธารณรัฐ ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ควบคุม ตรวจสอบการดำเนินการและกระบวนการออกเสียงประชามติ อีกทั้งยังมีหน้าที่ประกาศผลการออกเสียงประชามติด้วย
       
       เรื่องถัดมา คือ งบประมาณในการจัดและดำเนินการทำประชามติของรัฐบาล นอกจากเงินที่รัฐจะต้องให้สนับสนุนแต่ละพรรคการเมืองในการรณรงค์การออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการที่ได้คาดการไว้ประมาณ ๙.๕-๑๐ ล้านยูโรนั้น รัฐยังต้องเตรียมงบประมาณไว้สำหรับค่าจัดการการเลือกตั้งอีกถึง ๒๕ ล้านยูโร และงบสำคัญประมาณ ๙๐ ล้านยูโรสำหรับจัดทำเอกสารเผยแพร่การทำประชามติและอธิบายสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปแก่ประชาชน (จัดพิมพ์และส่งร่างรัฐบัญญัติอนุญาตให้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป,รัฐกฤษฎีกากำหนดให้พิจารณาร่างรัฐบัญญัติข้างต้นด้วยวิธีประชามติ,บัตรลงคะแนนเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยและสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปความยาวถึง ๑๓๒ หน้า) รวมเป็นเงินค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ ๑๓๐ ล้านยูโร เทียบกับการทำประชามติเมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๒ เพื่อให้สัตยาบันสนธิสัญญามาสทริชต์ (le traité de Maastricht) ที่ใช้งบประมาณเพียง ๔๒.๔ ล้านยูโร เมื่อพิจารณาถึงค่าใช้จ่าย เวลาและทรัพยากรต่างๆที่ต้องเสียไปกับการจัดให้มีการแสดงประชามติแล้ว พบว่าการจัดประชามติแต่ละครั้งเป็นการ “ลงทุน” มหาศาล แม้โดยปกติแล้วตามหมวด ๖ โดยเฉพาะมาตรา ๕๒ และ ๕๔ รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๕๘ ในกรณีของสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป ประธานาธิบดีมีอำนาจให้สัตยาบันสนธิสัญญาดีงกล่าวได้นับแต่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยที่ไม่ต้องจัดการแสดงประชามติก็ได้ (มาตรา๕๒ และ๕๔ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ ประธานาธิบดีเป็นผู้เจรจาและให้สัตยาบัน(...),(...) แต่ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าข้อผูกพันใดมีความขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะมีการให้สัตตาบันได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว)
       
       ทั้งๆที่รัฐบาลปัจจุบันของฝรั่งเศสกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างรุนแรง ทั้งถูกบีบเรื่องการจัดการงบประมาณชาติจากสหภาพยุโรป ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อถดถอยในประเทศ แต่ประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัคยังเลือกที่จะทุ่มเงินงบประมาณมหาศาลเพื่อจัดการแสดงประชามตินั้น เหตุผลสำคัญจึงน่าจะมาจากการเห็นความสำคัญของสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปฉบับนี้ที่จะมีขึ้นในอนาคตต่อประชาคมยุโรป ต่อประเทศฝรั่งเศส และ ต่อชาวฝรั่งเศส อีกทั้งน่าจะเป็นการชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการแสดงประชามติ อันเป็นวิธีการคืนอำนาจจาก “ผู้แทน” สู่ประชาชน และเป็นกระบวนการที่ทำให้ประชาชน “เจ้าของอำนาจอธิปไตยของชาติ” ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่ออนาคตของตนเองอย่างแท้จริง คงต้องติดตามกันต่อไปว่าชาวฝรั่งเศสจะคิดเห็นอย่างไรกับสนธิสัญญาก่อตั้ง “รัฐธรรมนูญยุโรป” ฉบับนี้


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=747
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 16:59 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)