|
|
การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยคุณบุญเสริม นาคสาร เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ๗ว สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 18 เมษายน 2548 08:24 น.
|
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้มีบทบัญญัติที่รับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแตกต่างจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในอดีตหลายประการ พร้อมกับได้ก่อตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่อีกหลายองค์กรเพื่อให้มีบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น สำหรับศาลรัฐธรรมนูญนั้น กล่าวได้ว่า เป็นองค์กรหลักในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้น โดยหลักแล้วรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้สิทธิกับประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ยกเว้นในเรื่องเสรีภาพของประชาชนในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองเท่านั้นที่รัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้โดยตรง และในบทความนี้ได้มีข้อเสนอว่า การให้สิทธิกับประชาชนที่ได้ใช้สิทธิทางศาลอื่นจนถึงที่สุดแล้ว มีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกชั้นหนึ่งนั้น จะทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
(๑) ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคดี
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคดี สามารถแยกตามเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยแยกได้ดังนี้
๑. การควบคุมร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้บังคับ มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
ร่างกฎหมายใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่ได้นำร่างกฎหมายนั้นขึ้น ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างกฎหมายนั้น 1 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้น โดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการตรากฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนด มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี เพื่อส่งความเห็นดังกล่าวนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และในกรณีนายกรัฐมนตรี หากเห็นว่าร่างกฎหมายใด 2 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการตรากฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็มีสิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๒ เช่นเดียวกัน
๒. การควบคุมกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้ว มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
กฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้ว อาจขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดย ๒ ช่องทาง คือ
๒.๑ ช่องทางแรกเป็นการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยศาล (ศาลที่มีสิทธิเสนอ คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร ) กล่าวคือ จะต้องเป็นคดีความในศาลแล้ว และ ในชั้นการพิจารณาของศาลไม่ว่าจะเป็นในชั้นศาลใด หากคู่ความโต้แย้งว่ากฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับในคดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือศาลเองเห็นว่ากฎหมายที่จะใช้บังคับในคดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ให้ส่งความเห็นนั้นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔
๒.๒ ช่องทางที่สองเป็นการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคดีความกันในศาลก่อนเหมือนกรณีช่องทางแรก แต่เป็นกรณีที่มีการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่า กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใด มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๘
๓. การควบคุมเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดของฝ่ายบริหาร
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๙ กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่ามีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิก เพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การตราพระราชกำหนดโดยการเสนอของคณะรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง กล่าวคือ มิได้เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
๔. การวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาสิ้นสุดลงหรือไม่ ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ หรือกรรมการการเลือกตั้งต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่
รัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี และกรรมการการเลือกตั้งไว้ หากมีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม สมาชิกรัฐสภา 3มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี หรือกรรมการการเลือกตั้งสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๖ มาตรา ๒๑๖ และมาตรา ๑๔๒
๕. การวินิจฉัยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ พ้นจากตำแหน่งและต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา เป็นต้น มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองพร้อมทั้ง คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น หากมีการจงใจไม่ยื่นหรือยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งและต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา ๕ ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕
๖. การวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ กำหนดว่า ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ให้องค์กร 4นั้น หรือประธานรัฐสภา เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
๗. อำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
๗.๑ กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง กรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า มติหรือข้อบังคับของพรรคการเมือง ขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๗ 5
๗.๒ กรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใด กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าว ได้เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว หรือสั่งยุบพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๓ 6
๗.๓ กรณีที่พรรคการเมืองมีมติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากการเป็น สมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งจะทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้น ได้อุทธรณ์คัดค้านมติของพรรคการเมืองต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๘(๘) 7
๗.๔ กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา เห็นว่าร่างกฎหมายที่เสนอหรือส่งให้พิจารณาเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างกฎหมายที่ต้องยับยั้งไว้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาจึงส่งร่างกฎหมายนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๗
๗.๕ กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่าในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายแผ่นดินของสภาผู้แทนราษฎรหรือของคณะกรรมาธิการ มีการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จึงเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๐
๗.๖ กรณีที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ายี่สิบคน เห็นว่าร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา หรือร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนด มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี เพื่อส่งความเห็นดังกล่าวนั้นให้ ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๓
๘. อำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑
๘.๑ กรณีที่ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายทะเบียนพรรคการเมือง 8 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดคำสั่งของนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗
๘.๒ กรณีที่หัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง จัดให้พรรคการเมืองกระทำการใดๆ ฝ่าฝืนนโยบายพรรคการเมือง หรือข้อบังคับพรรคการเมือง อันอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้เตือนให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำนั้นแล้วไม่ปฏิบัติตามคำเตือน นายทะเบียนพรรคการเมือง จึงยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำดังกล่าว หรือให้หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ทั้งคณะ หรือบางคนออกจากตำแหน่ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๗
๘.๓ กรณีที่นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจาณาสั่งให้ยุบพรรคการเมือง เมื่อมีเหตุของการเลิกหรือยุบพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๕
๘.๔ กรณีที่อัยการสูงสุด หรือนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจาณาสั่งให้ยุบพรรคการเมือง เมื่อมีเหตุของการยุบพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗
เมื่อพิจารณาถึงบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งตราขึ้นให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๒๘ โดยต้องมีสาระสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมือง การเลิกพรรคการเมือง การดำเนินการพรรคการเมือง การสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาสาขาพรรค การสนับสนุนทางการเงิน การตรวจสอบสถานะทาง การเงิน การจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่าย และบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของพรรคการเมือง โดยที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๒๘ ไม่ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ใดๆ ที่เกี่ยวกับ พรรคการเมือง และเมื่อพิจารณาถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ ศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ก็มีเพียง ๓ มาตรา เท่านั้น คือ มาตรา ๔๗ มาตรา ๖๓ และมาตรา ๑๑๘(๘) ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่ฝ่ายนิติบัญญัติก็ได้ตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองโดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
การกำหนดให้ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ดังกล่าวแล้วข้างต้น มีข้อควรพิจารณา ดังนี้
(๑) การกำหนดให้อัยการสูงสุดมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๗ นั้น สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๓ ที่บัญญัติให้อัยการสูงสุดมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
(๒) การกำหนดให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ก็เป็น การกำหนดให้สอดคล้องกับในทางปฏิบัติ เนื่องจากประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(๓) การกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคนมีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยมติหรือข้อบังคับพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๘ เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ และเป็นกรณีเดียวเท่านั้นที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ รับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมีสิทธิยื่น คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง หากเห็นว่า มติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(๔) การกำหนดให้ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ นั้น ถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่อีกประการหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และถือว่าเป็นอีกกรณีหนึ่งที่เป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง
อาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญได้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของบุคคลใน การรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ 9 ไว้เป็นกรณีพิเศษ โดยให้ประชาชนมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ในขณะที่การรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพใน กรณีอื่น ประชาชนจะต้องไปยื่นคำร้องโดยผ่านองค์กรอื่นก่อน
๒. การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีต กล่าวคือ รัฐธรรมนูญในอดีตมีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิและเสรีภาพไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันนอกจากการรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ยังได้รับรองสิทธิและเสรีภาพโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 10 รัฐธรรมนูญในอดีตจะรับรองสิทธิและเสรีภาพต่าง ๆ ไว้ ซึ่งสามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ไม่มีบทบัญญัติที่เป็นหลักประกันว่า การตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพนั้น จะทำได้เฉพาะที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้และต้องเท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพมิได้ 11 และรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ 12 แต่อย่างไรก็ดี บทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ได้บัญญัติอย่างชัดแจ้งว่า บุคคลจะใช้สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้ทางศาลนั้น หมายถึง ศาลใด ในขณะที่ระบบศาลตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันมี ๔ ศาล คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร เมื่อพิจารณาถึงการใช้สิทธิทางศาลหรือการยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลของบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันแล้วกล่าวได้ว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง 13 จะต้องเริ่มต้นในกระบวนการใช้สิทธิทางศาลตามเขตอำนาจศาลที่มีอำนาจ หากเป็นคดีทั่วไปจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๑ หากเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๖ และหากเป็นคดีอาญาทหารก็จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘๑ บุคคลซึ่งเป็นคู่ความในศาลนั้นๆ จึงจะมีสิทธิโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีใดขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ 14 หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัตินั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะใช้บังคับไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘ วรรคสอง ประกอบกับ มาตรา ๒๗ แล้ว องค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหารและองค์กรตุลาการจะต้องผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายนั้น หมายความว่า อำนาจรัฐแต่ละอำนาจอาจกระทำการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้ในขอบเขตการใช้อำนาจแต่ละอำนาจ กล่าวคือ ฝ่ายนิติบัญญัติได้ออกกฎหมายโดยละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน บุคคลซึ่งได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวก็มีสิทธิฟ้องต่อศาลแล้วก็ใช้สิทธิโต้แย้งเพื่อให้ศาลนั้นส่งความเห็นมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ ส่วนการกระทำของฝ่ายบริหารที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพย่อมอยู่ภายใต้ การตรวจสอบโดยศาล จะอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมก็ต้องพิจารณาจากการกระทำของฝ่ายปกครองว่าเป็นการกระทำในลักษณะที่เป็นคำสั่งทางปกครอง การออกกฎหมายลำดับรอง หรือเป็นการกระทำในลักษณะเป็นการปฏิบัติการทางปกครองหรือไม่ หากว่าใช่ก็อยู่ใน เขตอำนาจของศาลปกครอง แต่ถ้าไม่ใช่ก็อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม สำหรับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดยองค์กรตุลาการนั้น ศาลมีความผูกพันอยู่ ๒ ประการ ในการตรวจสอบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน กล่าวคือ ประการแรกศาลต้องตรวจสอบว่า กรณีที่เป็นคดีมาสู่ศาลนั้นเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ และประการที่สอง ศาลเองจะต้องไม่ใช้หรือตีความกฎหมายไปในทางที่จะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นฐาน ดังนั้น การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานจากองค์กรตุลาการจึงอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งในกรณีแรกและกรณีหลัง สำหรับกรณีแรก หากมีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานแต่ศาลวินิจฉัยว่าไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่วนกรณีที่สอง เป็นกรณีที่ศาลใช้หรือตีความกฎหมายขัดกับสิทธิขั้นพื้นฐาน 15
ประเด็นปัญหาที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจาก การละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดยอำนาจรัฐ กล่าวคือ หากเป็นการใช้อำนาจขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรฝ่ายบริหาร บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพย่อมใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้องค์กรศาลเป็น ผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจแล้วยังมีช่องทางสำหรับบุคคลดังกล่าวเพื่อให้ศาลที่กำลังพิจารณาคดีนั้นส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ ถือว่าเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพอีกชั้นหนึ่งโดยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเป็นการใช้อำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลทหารสูงสุด เมื่อมีคำพิพากษาแล้วถือเป็นที่สุดจะไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ วรรคสาม บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอีกชั้นหนึ่งเหมือนกับกรณีการใช้อำนาจขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรฝ่ายบริหาร จึงมีประเด็นปัญหาที่ควรพิจารณาใน ๒ ประเด็น คือ ประเด็นแรก กรณีที่บุคคลใช้สิทธิทางศาลจนมีคำพิพากษา ถึงที่สุดแล้ว แต่เห็นว่าตนยังไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ หรือเห็นว่าตนยังถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ กับอีกประเด็นหนึ่งคือ กรณีที่บุคคลใช้สิทธิทางศาลจนมี คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และในระหว่างการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาซึ่งมิใช่คำพิพากษาให้รับโทษทางอาญาอยู่นั้น 16 หากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลใช้บังคับในคดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บุคคลนั้นจะเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตรวจสอบ คำพิพากษาถึงที่สุดว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพของตนได้หรือไม่ หรือจะเยียวยา แก้ไข หรือช่วยเหลือบุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการบังคับตามคำพิพากษานั้นได้หรือไม่ อย่างไร หากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตรวจสอบแล้ว สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ จะเป็นจริงในทางปฏิบัติได้อย่างไร
(๓) ข้อเสนอเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ประเทศเยอรมันเป็นแบบอย่างของการให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์มีอำนาจตรวจสอบคำพิพากษาของศาลสหพันธ์สูงสุดได้ ในกรณีที่บุคคลเห็นว่าการตีความหรือการใช้กฎหมายของศาลขัดกับสิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์จึงเป็นองค์กรที่เป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์มิได้ทำหน้าที่ในลักษณะที่เป็นศาลเหนือศาล หากแต่เป็นการตรวจสอบเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิและเสรีภาพเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง จากการกำหนดโครงสร้างการควบคุมเช่นนี้จึงมีผลทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเยอรมันที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑ วรรคสาม ที่บัญญัติว่า สิทธิขั้นพื้นฐานผูกพันองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหารและองค์กรตุลาการโดยถือว่าเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้โดยตรง มีผลอย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ 17
กรณีของประเทศไทย ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ๒ วิธี คือ
(๑) วิธีแรก คือ เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อให้สิทธิแก่ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง โดยกำหนดให้บุคคลผู้ได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตนตามที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติรับรองไว้จากการกระทำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือจากคำพิพากษาของศาลอื่นนอกจากศาลรัฐธรรมนูญ และบุคคลนั้นได้ดำเนินการแก้ไขผลกระทบดังกล่าวตามขั้นตอนต่างๆ ครบถ้วนแล้วไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขผลกระทบโดยฝ่ายปกครองหรือฝ่ายตุลาการ หากเห็นว่าการแก้ไขผลกระทบดังกล่าวโดยฝ่ายปกครองหรือฝ่ายตุลาการยังมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่ ก็สามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด 18
(๒) วิธีที่สอง คือ เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้บุคคลที่แม้จะใช้สิทธิทางศาลจนมีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดแล้ว สามารถมายื่น คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งวิธีการนี้ไม่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก่อน โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๙ ได้ให้อำนาจหนึ่งแก่ ศาลรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ของเยอรมันไม่มีก็คือ อำนาจในการกำหนด วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเอง แทนที่จะกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติตราเป็นพระราชบัญญัติ ฉะนั้น เพื่อให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๗๕ วรรคแรก มีผลบังคับในทางปฏิบัติ จึงเสนอให้ใช้วิธีการตีความรัฐธรรมนูญตามหลักอำนาจบังคับของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่าการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีอำนาจบังคับและบังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเต็มที่เสมอ โดยใช้บทบัญญัติตามมาตรา ๒๗ เป็นฐานรองรับ ให้ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๖ เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนที่แม้จะใช้สิทธิทางศาลจนมีคำพิพากษาของศาลอันเป็นที่สุดแล้ว สามารถมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาจกำหนดเงื่อนไขดังเช่นกรณีการร้องทุกข์ตามรัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ของเยอรมัน ซึ่งจากประสบการณ์ของเยอรมัน ก็ปรากฏว่า มีการบัญญัติสิทธิดังกล่าวไว้ในกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ก่อน แล้วจึงมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในภายหลัง 19
สำหรับข้อกังวลที่ว่า หากให้ประชาชนที่ใช้สิทธิทางศาลจนถึงที่สุดแล้ว มีสิทธิ ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีก จะทำให้ ศาลรัฐธรรมนูญมีภาระด้านคดีที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน ๑๕ คน เท่านั้น ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามข้อกังวลดังกล่าวจริง ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยการกำหนดให้มีองค์คณะย่อยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่ใน การกลั่นกรองคดีเพื่อแบ่งเบาภาระงานของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 20
ข้อเสนอเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น วิธีแรกที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้น เป็นวิธีที่มีความชัดเจนไม่ต้องอาศัยการตีความเหมือนกับวิธีที่สอง และทั้งสองวิธีนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภา หรือมติเอกฉันท์ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงข้อเสนอตามวิธีที่สองแล้ว น่าจะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยในทางวิชาการ เพราะแม้แต่สถานะปัจจุบันของวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดได้เองนั้น ก็ยังมี ผู้เห็นว่าควรให้ฝ่ายนิติบัญญัติตราเป็นพระราชบัญญัติ 21 ดังนั้น การตีความรัฐธรรมนูญตามหลักอำนาจบังคับของรัฐธรรมนูญโดยการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นนั้น จะเป็นการตีความที่ขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนอกเหนือไปจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หรือไม่ คงเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมในทางวิชาการกันต่อไป.
เชิงอรรถ
(1) หากเป็นกรณีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิก
วุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ายี่สิบคนมีสิทธิเสนอความเห็นเช่นเดียวกัน
(2) ร่างกฎหมาย หมายถึง ร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
(3) กรณีการวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือความเป็นรัฐมนตรีสุดสุดหรือไม่ ผู้มีสิทธิเข้าชื่อ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา ส่วนกรณีการวินิจฉัยว่ากรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ผู้มีสิทธิเข้าชื่อ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(4) องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอเรื่องพร้อมความเห็น ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้นั้น หมายถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕๘-๖๒/๒๕๔๓
(5) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๘ กำหนดจำนวนผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ คือ สมาชิกพรรคการเมืองซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคน
(6) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๗ ได้กำหนดเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๓
(7) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๒ ได้กำหนดการอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๘ (๘)
(8) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๔๔ วรรคสอง กำหนดให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง และเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(9)รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๔๗ วรรคแรก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
(10) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๗ สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง
(11) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๙ วรรคแรก การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
(12) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๘ วรรคสอง บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
(13) ยกเว้นกรณีตามบทบัญญัติของรัฐธรรม มาตรา ๔๗ ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๑๗
(14) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๖ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย
(15) อุดม รัฐอมฤต และคณะ, การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา ๒๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐. (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์, ๒๕๔๔), หน้า ๒๘๗ ๒๙๐
(16) หากเป็นคำพิพากษาที่มีโทษทางอาญา บุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๒ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒
(17) บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักการพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๓), หน้า ๒๑๕
(18) นันทวัฒน์ บรมานันท์, การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ. รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๖.
(19) บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, การยกสิทธิและและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาล. รายงานการวิจัยเสนอสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๗
(20)โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน นันทวัฒน์ บรมานันท์, กระบวนการกลั่นกรองคดีที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๖๔, รายงานการวิจัยเสนอสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. ๒๕๔๗
(21)โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน บรรเจิด สิงคะเนติ, ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, ๒๕๔๔),หน้า ๒๗๔ - ๒๗๗
เอกสารอ้างอิง
บรรเจิด สิงคะเนติ. หลักการพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ตามรัฐธรรมนูญใหม่. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๓)
บรรเจิด สิงคะเนติ. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ. (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, ๒๕๔๔)
บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ. การยกสิทธิและและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาล. รายงานการวิจัยเสนอสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๗
นันทวัฒน์ บรมานันท์. การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ. รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๖.
นันทวัฒน์ บรมานันท์. กระบวนการกลั่นกรองคดีที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๖๔, รายงานการวิจัยเสนอสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๗
อุดม รัฐอมฤต และคณะ, การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตามมาตรา ๒๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐. รายงานการวิจัยเสนอสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ,(กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์, ๒๕๔๔)
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=746
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 00:37 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|