|
|
ครั้งที่ 104 21 มีนาคม 2548 08:18 น.
|
"การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน"
สำหรับบทบรรณาธิการครั้งนี้ กองบรรณาธิการได้รับมอบหมายจากศาตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ บรรณาธิการของเราให้เขียนบทบรรณาธิการแทน เนื่องจากอาจารย์อยู่ในระหว่างการนำคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทยไปศึกษาดูงานอย่างเป็นทางการ ณ ประเทศฝรั่งเศส
ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คงไม่มีอะไรน่าสนใจไปกว่าการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ซึ่งสำหรับท่านนายกรัฐมนตรีเองก็ได้ออกมาให้ สัญญาประชาคม กับคนไทยทุกคนในโอกาสรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.thaigov.go.th โดยในคำกล่าวของท่านนายกรัฐมนตรีมีประเด็นที่กองบรรณาธิการสนใจอยู่ประเด็นหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่อาจารย์นันทวัฒน์ฯ ได้ฝากให้นำเสนอในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ประเด็นที่ว่าก็คือ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยในคำกล่าวตอนหนึ่งของท่านนายกรัฐมนตรีทักษินฯ กล่าวไว้ว่า ผมจะผลักดันให้การมีส่วนร่วมนั้นเกิดขึ้นในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการที่ผมจะออกไปเยี่ยมและพบประชาชนเพื่อรับฟังความเห็นและปัญหาของเขาโดยตรง หรือที่เรียกว่า Public Hearing หรือการรับฟังสาธารณะ หรือแม้กระทั่ง Referendum หรือการลงประชามติหากมีความจำเป็นในเรื่องสำคัญๆก็จะทำ
จากสิ่งที่ "ท่านนายกรัฐมนตรี" ได้กล่าวไว้ทำให้นึกถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในบ้านเรา หรือการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดไว้ในมาตรา 59 ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่นและมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งในขณะนี้มีเพียง "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539" ซึ่งเป็นระเบียบที่มีข้อบกพร่องอยู่หลายประการ เช่น การที่ระเบียบสำนักนายกฉบับนี้มิได้กำหนดว่าต้องเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อน มีการอนุมัติหรืออนุญาตโครงการใด ๆที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนหรือส่วนรวม ผลที่ตามมาก็คือมักมีการตัดสินใจจากภาครัฐในการดำเนินโครงการนั้นๆแล้วจึงค่อยมาจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ดังนั้นการร่วมแสดงความคิดเห็นดังกล่าวของประชาชนจึงมิได้เป็นการเสนอความเห็นหรือมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง หากแต่เป็นเพียงรูปแบบ หรือประชาสัมพันธ์เท่านั้น อีกทั้งวิธีการในการแสดงความคิดเห็นยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทำให้การทำประชาพิจารณ์หรือการร่วมแสดงความคิดเห็นของประชาชนในหลาย ๆโครงการมีปัญหา เช่นโครงการท่อแก๊สไทย มาเลเซีย เป็นต้น
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของความจำเป็นในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นคือ การจัดทำผังเมือง โดยเฉพาะในเมืองหลวงที่ปัจจุบันมีการก่อสร้างกันมากและก่อให้เกิดมลพิษทางทัศนียภาพของเมือง ดังรูปที่ปรากฏอยู่นี้จะเห็นได้ว่ามีการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งซึ่งสร้างติดกับวัดและติดวังสระประทุม
|
ดังนั้น หากก่อนมีการอนุมัติโครงการจากทางราชการได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือทำการประชาพิจารณ์ขึ้น ก็น่าจะส่งผลให้ทางราชการหรือฝ่ายปกครองต้องทบทวนการอนุมัติโครงการกันใหม่ เพราะคงไม่มีประชาชนคนไทยคนใดที่ต้องการเห็นสิ่งก่อสร้าง (ห้างสรรพสินค้า) ที่มีมากเกินความจำเป็นบดบังทัศนีย์ภาพอันสวยงามของวัดและที่พำนักของบุคคลที่เราเคารพบูชา
หากท่านนายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการรับฟังปัญหาหรือให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของภาครัฐหรือโครงการต่างๆที่มีส่วนได้เสียกับประชาชนหรือต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารบ้างเมืองมากที่สุด สิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีสมควรต้องรีบดำเนินการก็คือ "ผลักดัน" ให้มีการออกกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่ออุดช่องว่างของระเบียบสำนักนายกฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนภายใต้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญโดยสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องโครงการหรือการกระทำใด ๆ ไว้อย่างชัดแจ้งโดยเฉพาะในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, ผังเมืองหรือความเป็นอยู่ของคนในสังคม
หากผู้ใดสนใจเกี่ยวกับเรื่องประชาพิจารณ์สามารถอ่านได้ที่บทความซึ่งทางเว็บไซต์ของเราได้เคยนำเสนอไปแล้วคือ บทความเรื่อง ข้อเสนอสำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทย ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 โดยศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ และ บทความภาษาอังกฤษเรื่อง Thailands Public Consultation Law: Opening the Door to Public Information Access and Participation ของคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ในสัปดาห์นี้เราขอนำเสนอรายงานการวิจัยของศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ ซึ่งนำมาลงเป็นตอนที่ 7 คือ การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 7) และแนะนำหนังสือใหม่เรื่อง กฎหมายการปกครองท้องถิ่น ของรองศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์
พบกันใหม่ในวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2548
กองบรรณาธิการ
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=745
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:49 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|