|
|
มาตรการในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม : ใบเหลือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยคุณสโรช สันตะพันธุ์ 21 กุมภาพันธ์ 2548 07:14 น.
|
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดให้มี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีเจตนารมณ์ที่จะให้ กกต. เป็นองค์กรอิสระมีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแล ปฏิรูปกระบวนการจัดการเลือกตั้งและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้งในทุกระดับ ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติ ได้แก่ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ได้แก่ สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อให้ได้คนดี มีความรู้ความสามารถ เข้ามาเป็น ผู้แทน ของปวงชนชาวไทย รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดไว้ในมาตรา 145 ให้ กกต. ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยพลัน เมื่อมีกรณีที่ปรากฏว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการด้วย
การเลือกตั้ง (Election) ถือเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนแรกของการกลั่นกรองบุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองตำแหน่งต่าง ๆ หากการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตเสียแล้ว นอกจากจะเป็นการทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังอาจนำไปสู่การทำลายความมั่นคงของชาติได้ในที่สุด ดังนั้นการที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรมนั้นจำเป็นต้องให้เครื่องมือแก่ กกต. ได้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมาตรการที่นำมาใช้คือ ใบเหลืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นั่นเอง
1. ความหมาย
1. ใบเหลือง คือ การไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุด โดยมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าได้รับการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตแต่เป็นการกระทำของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่มีความเชื่อมโยงกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นผลให้ กกต. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ผู้สมัครที่ได้รับใบเหลืองไปแล้วนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ผู้สมัครผู้นั้นยังคงเป็นผู้สมัครที่อาจได้รับเลือกตั้งอีกได้และหากได้รับคะแนนสูงสุดอีกในครั้งที่ 2 โดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต. ก็สามารถประกาศผลรับรองให้ผู้สมัครผู้นั้นเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ได้ แม้ว่าจะเคยได้รับใบเหลืองมาครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม นอกจากจะเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งใหม่ได้แล้ว ผู้สมัครผู้นั้นจะไม่ถูกฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 85/7)
2. การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง คือ การที่ กกต. มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีกำหนด 1 ปี เมื่อปรากฏหลักฐาน หรือพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นได้กระทำ หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อื่นกระทำหรือรู้ว่ามีการกระทำแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำ ซึ่งการกระทำนั้นจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดย กกต. สามารถเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ทั้งก่อนที่จะมีการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงแล้วภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนี้อาจเป็นผู้สมัครที่มีคะแนนสุงสุดหรือไม่ก็ได้1 (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 พ.ศ. มาตรา 85/1 และมาตรา 85/9)
ในกรณีที่เขตเลือกตั้งนั้นต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะถือว่าไม่เป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากเป็นผู้กระทำผิดและเป็นต้นเหตุ ของการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากเป็นผู้กระทำความผิดและเป็นต้นเหตุของการเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้เพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้ขัดกับที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการออกกฎห้ามไม่ให้ผู้สมัครไปเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งใหม่นั้นขัดรัฐธรรมนูญ (จะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไป) ดังนั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 จึงถูกแก้ไขโดยเพิ่มอำนาจ กกต. ใช้วิธีลงโทษด้วยการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลให้สิทธิในการเป็นผู้สมัครหมดไป ด้วยเหตุที่ว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 106, มาตรา 109 และมาตรา 126)
ผู้สมัครคนใดที่ได้รับใบแดงจะถูกดำเนินคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง กล่าวคือต้องถูกฟ้องในความผิดซึ่งมีโทษทางอาญาและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยศาลมีกำหนด 10 ปี ส่วนคดีแพ่ง คือ ถูกฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่รัฐต้องจ่ายเพิ่ม
2. ความเป็นมา
ความเป็นมาของการงดประกาศรับรองผลการเลือกตั้งและ กกต. มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น สืบเนื่องจากการที่ กกต. ได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสั่งให้ให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 ข้อ 3 เพิ่มความเป็นข้อ 6 ทวิ ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2543 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2543 ความว่า ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ประกาศผลการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดเกินกว่าหนึ่งครั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจวินิจฉัยโดยใช้คะแนนเสียงเอกฉันท์ให้ถือว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นมิได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหม่อีก ที่เรียกว่า 2 ใบเหลือง เท่ากับ 1 ใบแดง
โดย กกต. ได้อาศัยระเบียบดังกล่าวตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 ทำให้ผู้ถูกตัดสิทธิได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่า การที่ กกต. ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงได้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า กกต. ไม่มีอำนาจในการออกระเบียบเพื่อจำกัดสิทธิหรือตัดสิทธิดังกล่าว แม้ว่าผู้สมัครนั้นจะเคยถูก กกต. งดการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง (ถูกแขวน) เกินกว่าหนึ่งครั้งก็ตาม เนื่องจากระเบียบดังกล่าวมีสาระเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลที่ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นการบัญญัติเพิ่มลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่รัฐธรรมนูญมาตรา 126 บัญญัติไว้2
เหตุผลที่ กกต. ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อครั้งการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2542 และกำหนดให้วันที่ 4 มีนาคม 2543 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั่วทั้งประเทศเป็นครั้งแรก ปรากฏว่า กกต. ประกาศรับรองรายชื่อสมาชิกวุฒิสภา รอบแรกเพียง 122 คน จากทั้งหมด 200 ที่นั่งทั่วประเทศ ทำให้ กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นครั้งที่สองใน 35 จังหวัด เพื่อให้ได้สมาชิกวุฒิสภาอีก 78 คน โดยการเลือกตั้งครั้งที่สองมีขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2543 ซึ่งมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 53 % ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แตกต่างกับการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีผู้มาเลือกตั้งถึง 72 % และก็ปรากฏว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงมีการทุจริตและมีการพัฒนาการทุจริตในรูปแบบที่แยบยลยิ่งขึ้น ส่งผลให้ กกต. ประกาศรับรองผู้สมัครเพียง 66 คน ส่วนที่เหลืออีก 12 คนนั้น มี 4 คน ที่เคยถูก กกต. งดประกาศผลการเลือกตั้ง (ให้ใบเหลือง) มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่ง กกต. เห็นว่าหากยังปล่อยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นยังคงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งต่อไปอีก ก็อาจจะต้องมีการเลือกตั้งต่อไปไม่สิ้นสุด ที่เรียกว่าเป็นการเลือกตั้ง ซ้ำซาก อันจะเป็นการสิ้นเปลืองทั้งเงินงบประมาณและเวลา ประกอบกับในเวลาเดียวกันได้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า สูญญากาศทางรัฐสภา 3 ขึ้น ดังนั้นกกต. จึงได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 เพื่อตัดสิทธิผู้สมัครซึ่ง กกต. ไม่ประกาศผลการเลือกตั้งเกินกว่าหนึ่งครั้ง โดยให้ถือว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นมิได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหม่อีก
ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าระเบียบของ กกต. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยว่าระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ กกต. ไม่รับรองผลการเลือกตั้งในครั้งที่สอง มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งอีกในครั้งที่สามและครั้งต่อ ๆ ไปได้อีก ส่งผลให้การดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาต้องดำเนินการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะไม่สามารถตัดคนที่ไม่สุจริตออกจากกระบวนการเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้การดำเนินการเลือกตั้งต้องใช้ระยะเวลาอันยาวนานและสิ้นเปลืองเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมากมาย และยังทำให้กระบวนการในการขจัดการซื้อเสียงไม่เกิดผลสำเร็จ
ออกกฎหมายเพื่อให้ กกต. มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
จากปัญหาดังกล่าวนี้ต่อมาได้นำไปสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 กล่าวคือ ให้เพิ่มความหมวดที่ 1 ในส่วนที่ 10 เกี่ยวกับการดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยให้อำนาจ กกต. สามารถลงโทษผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กระทำการทุจริตด้วยการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แทนการลงโทษด้วยการตัดสิทธิผู้สมัครมิให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งใหม่ (ใบแดง) ทั้งนี้ เพื่อจะได้ไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยว่าการออกระเบียบห้ามไม่ให้ผู้สมัครที่ กกต. ไม่รับรองผลการเลือกตั้งเกินกว่าหนึ่งครั้งไม่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหม่นั้นขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวจะส่งผลให้สิทธิในการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งหมดไปด้วยโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งหรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลให้กลายเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญไปด้วย (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 109 และ มาตรา 126)
3. การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 เกี่ยวกับการให้ ใบเหลือง และ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 ในครั้งนี้ ประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมากคือ กรณีการใช้อำนาจของ กกต. ในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง ซึ่งร่างเดิมที่เสนอโดยคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา เป็นประธานคณะทำงานนั้นได้ให้เป็นอำนาจของ กกต. ที่จะวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดได้ โดยแจ้งความเห็นพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการการสอบสวนที่ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หากคณะกรรมการชุดนี้มีความเห็นไม่ตรงกับ กกต. กกต. มีอำนาจที่จะวินิจฉัยตามความเห็นเดิมได้แต่ต้องประกาศคำวินิจฉัยพร้อมเหตุผลและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนในราชกิจจานุเบกษา
ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่เป็นว่า เมื่อ กกต. วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดแล้ว ให้ กกต. ส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกาวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งว่า กกต. ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือไม่และมีความลำเอียงหรือเที่ยงธรรมหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยอย่างไรให้ส่งกลับมาให้ กกต. หาก กกต. ยังยืนยันมติเดิมก็ให้ดำเนินการไปได้แต่ต้องรับผิดชอบเมื่อมีผู้ฟ้องร้องต่อศาล แต่ท้ายที่สุดที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้มีมติให้กลับไปใช้ร่างเดิมของคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฯ แต่มีการแก้ไขในกรณีที่ กกต. วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครคนใดแล้ว ต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการกลั่นกรองจำนวน 11 คนซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการกฤษฎีกา 11 คณะ เป็นผู้ตรวจสอบแทน (ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่
) พ.ศ.
มาตรา 17 (เพิ่มมาตรา 85/3))
หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วได้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้ประธานวุฒิสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่
) พ.ศ.
มาตรา 17 (เพิ่มมาตรา 85/1 มาตรา 85/3 มาตรา 85/8 และมาตรา85/9) ที่ได้ให้อำนาจ กกต. เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของผู้สมัครทั้งก่อนและหลังประกาศผลการเลือกตั้งนั้น มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือต่อหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 หรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยแต่อย่างใด4
4. ความสำคัญของ ใบเหลือง และ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดให้มี กกต. ก็โดยมีเจตนารมณ์เพื่อที่จะให้ กกต. เป็นองค์กรอิสระมีทำหน้าที่ควบคุม ดูแลการเลือกตั้งและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาการเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งในทุกระดับเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากปราศจากซึ่งบทบัญญัติในการดำเนินการเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดเมื่อปรากฎเหตุว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ที่ว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ไปวินิจฉัยว่า ระเบียบของ กกต. เรื่องใบแดง ขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้สมัครที่ได้รับ ใบแดง จะได้รับผลกระทบไม่มากนักคือ ไม่สามารถเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งใหม่เท่านั้น แต่ยังมีสิทธิเลือกตั้งและเมื่อพ้นจากการเลือกตั้งครั้งนี้ไปก็สามารถลงสมัครเลือกตั้งซ่อมได้ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความออกมาเช่นนั้น จนเป็นเหตุให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้นผู้สมัครผู้นั้นไม่สามารถลงสมัคร เพราะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 1 ปี นอกจากไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้แล้ว การที่จะไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นที่กำหนดสิทธิเลือกตั้งคุณสมบัติพื้นฐานจึงไม่สามารถที่จะกระทำได้ด้วยเช่นกัน เช่น ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเทศบาล ฯลฯ
ทั้งนี้หากระเบียบ กกต. เดิม ก่อนที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฉบับนี้ แม้ กกต. จะไม่ให้ผู้สมัครผู้นั้นลงสมัครใหม่ แต่ผู้นั้นยังสามารถเป็นรัฐมนตรีได้อยู่ เพราะ กกต. เพียงแต่ไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่พอถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะมีผลต่อเนื่องกันหมด ไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ทางการเมืองได้ เนื่องจากตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ จะกำหนดสิทธิเลือกตั้งเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนี้จึงรุนแรงกว่า ใบแดง ในอดีตมาก
ดังนั้น การที่กำหนดให้ กกต. มีอำนาจในการงดประกาศผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) ซึ่งผู้สมัครเดิมยังลงเลือกตั้งได้ เพราะถือว่าผู้สมัครไม่ได้กระทำความผิดด้วยตนเอง และ กกต. ยังมีอำนาจในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทั้งก่อนหรือภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง ในกรณีที่ผู้สมัครได้กระทำการทุจริตด้วยตนเอง จะช่วยให้การเลือกตั้งนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะ กกต. เป็นผู้ที่คอยสอดส่องหรือรู้เห็นพฤติกรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้งมาตั้งแต่เริ่มแรก ตั้งแต่วันที่ลงสมัคร ซึ่งการให้ กกต. มีอำนาจที่จะสืบสวนสอบสวน หากพบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการไม่สุจริต ก็จะดำเนินการเพื่อลงโทษด้วยการตัดออกจากกระบวนการเลือกตั้งทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการเลือกตั้งเสียก่อน ด้วยวิธีนี้จะทำให้ กกต. มีเวลาในการตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการได้ตลอดระยะเวลาที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งดำเนินการหาเสียงกัน ถ้า กกต. ใช้อำนาจนี้อย่างเป็นธรรม มีการเข้มงวดกวดขัน มีกลไกที่ดีและรัดกุมเพียงพอแล้ว เมื่อถึงวันเลือกตั้งคงจะเหลือแต่ผู้สมัครที่ไม่มีพฤติกรรมอันแสดงถึงความทุจริต หรือหากจะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็คงจะเป็นจำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
ด้วยกลไกเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกรายต่างจะต้องระมัดระวังพฤติกรรมของตนและพวกพ้องให้มากยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแต่ กกต. เท่านั้นที่จะคอยสอดส่องหรือจับตาดูพฤติกรรมว่าผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งรายอื่น ๆ รวมทั้งประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลายต่างก็จับตาดูซึ่งกันและกัน อันเป็นการช่วยเหลือ กกต. อีกทางหนึ่ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สุจริตแต่ไม่มีเงินที่จะใช้ซื้อเสียง ก็อาจสู้ผู้สมัครที่ซื้อเสียงได้โดยการจับตาดูผู้สมัครที่มีเงินและซื้อเสียงเพื่อแจ้งเบาะแสให้ กกต. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องปราศจากการกลั่นแกล้งซึ่งกันและกันด้วย
ในทางตรงกันข้าม หาก กกต. ไม่มีอำนาจในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กระทำการทุจริตในการเลือกตั้งแล้ว อาจส่งผลกระทบหรือทำให้เกิดความเสียหายดังต่อไปนี้คือ
1. การดำเนินการเลือกตั้งนั้นจะต้องดำเนินการซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้งเพราะไม่สามารถกำจัดคนที่ไม่สุจริตออกจากกระบวนการเลือกตั้งให้หมดไปได้ อันจะทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเกิดความเบื่อหน่ายที่จะต้องเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งหลายครั้งด้วยกัน เป็นการสิ้นเปลืองเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณของแผ่นดินในการจัดการเลือกตั้งอีกด้วย
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 159) ดังนั้น หากปล่อยให้การเลือกตั้งมีความยืดเยื้อใช้เวลานานหรือไม่สามารถแล้วเสร็จได้ภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว นอกจากจะเกิดปัญหาในทางรัฐธรรมนูญแล้ว อาจกระทบกระเทือนถึงงานของฝ่ายนิติบัญญัติ และการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่อาจกระทำได้อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ รัฐบาลชุดเก่าก็จะต้องรักษาการต่อไป ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการในเชิงนโยบายบางอย่างได้ อันเป็นความเสียหายต่อประเทศชาติ
เชิงอรรถ
(1) ในปัจจุบันมักมีผู้เรียกการสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครว่า ใบแดง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะ ใบแดง ย่อมหมายถึง การห้ามมิให้ผู้สมัครที่ได้รับใบเหลือง 2 ครั้ง เป็นผู้สมัครอีกในการเลือกตั้งใหม่ในครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2543 (ฉบับที่ 2) ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป
(2) คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2543
(3) สูญญากาศทางรัฐสภา คือ กรณีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาเนื่องมาจาก กกต. ได้ประกาศผลการเลือกตั้งให้บุคคลได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกเมื่อ วันที่ 4 มีนาคม 2543 เพียง 122 คน ทำให้เกิดประเด็นปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาระหว่างวุฒิสภาชุดเก่า กับ วุฒิสภาชุดใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งยังไม่ครบ จนต้องมีการเสนอเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ 2 ประเด็นดังนี้
1. สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการเลือกตั้งมีจำนวนยังไม่ครบ 200 คน ไม่อาจดำเนินการให้มีการประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้
2. ในระหว่างที่สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตั้งมีจำนวนยังไม่ครบ 200 คน สมาชิกวุฒิสภาที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2543 (ชุดเก่า) ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้
ซึ่งผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้ขณะนั้นวุฒิสภาทั้งชุดเก่าและชุดใหม่ไม่มีชุดใดเลยที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2543)
(4) คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 54 55/2543
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=740
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 00:46 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|