|
|
ครั้งที่ 101 7 กุมภาพันธ์ 2548 07:17 น.
|
"องค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานของอิตาลี"
"ผมเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยได้หนึ่งสัปดาห์แล้วครับ ไปยุโรปเที่ยวนี้ก็แปลกไปอีกแบบหนึ่งเพราะไม่ได้ไปคนเดียวแต่เป็นการร่วมเดินทางไปกับคณะกรรมาธิการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของวุฒิสภา มีผู้คนร่วมเดินทางด้วยกันเกือบ 30 คน ได้รู้จักแล้วก็ได้ความรู้ทั้งจากเพื่อนร่วมเดินทางและจากองค์กรที่ได้ไปดูงาน ก็ต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ทำให้ผมได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปด้วยครับ
ก่อนเดินทางกลับ 2 วัน คือในวันที่ 26 มกราคม 2005 ผมได้มีโอกาสไปดูงานและฟังบรรยายสรุปที่องค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานของอิตาลี คือ Autorità per l energia elettrica e il gas (AEEG) องค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานแห่งนี้มีวิวัฒนาการที่ไม่ยาวนานนักแต่ว่ากันว่าเป็นหน่วยงานที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพดีแห่งหนึ่งของยุโรปก็เลยพาไปดู จากการฟังบรรยายสรุปทำให้ทราบว่า ในช่วงปี ค.ศ.1990 นั้น ประเทศอิตาลีมีนโยบายที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจบางแห่งไปเป็นของเอกชนซึ่งในบรรดารัฐวิสาหกิจที่อยู่ในข่ายที่จะแปรรูปนั้นก็มีรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าและก๊าซรวมอยู่ด้วย การแปรรูปของเขาไม่ได้บุ่มบ่ามทำนะครับ! ทุกอย่างผ่านการคิดและกลั่นกรองอย่างเป็นระบบเพราะไฟฟ้าและก๊าซเป็นปัจจัยสำคัญขั้นพื้นฐานของประชาชนของเขาครับ!!! หลังจากที่มีการกำหนดนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้ว รัฐบาลและรัฐสภาก็เตรียมกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งต่อมาในปี ค.ศ.1995 รัฐสภาก็ได้ผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งเพื่อยกเลิกการผูกขาดและเปิดการแข่งขันอย่างเสรีในด้านพลังงาน กฎหมายดังกล่าวมีส่วนสำคัญส่วนหนึ่งคือการกำหนดให้มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลด้านไฟฟ้าและก๊าซ (AEEG) ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น สองปีหลังจากนั้นคือในปี ค.ศ.1997 AEEGก็เกิดขึ้นและเริ่มปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นการยกเลิกการผูกขาดและเปิดเสรีด้านพลังงานก็เริ่มดำเนินการครับ
ผมคงไม่เข้าไปอธิบายถึงกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่าทำอย่างไรเพราะผมสนใจและให้ความสำคัญกับการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลของเขามากกว่า ก็อย่างที่ผมได้นำเสนอไว้ในร่างกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของผมไปแล้วว่า ก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสมควรที่จะต้องจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลก่อน เมี่อได้ไปเห็นของอิตาลีก็เลยรู้สึก ได้พวก และนึก โมโห กับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรานักว่าทำไมเราถึงได้ตั้งหน้าตั้งตาที่จะแปรรูปกันนัก ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการตั้งองค์กรกำกับดูแลกันเลย ก็ดีแล้วที่พนักงานรัฐวิสาหกิจเขาออกมาคัดค้านกันครับ !!!
AEEG นั้นตั้งขึ้นตามกฎหมายปี ค.ศ.1995 ซึ่งกฎหมายก็ได้บัญญัติถึงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของ AEEG ไว้อย่างละเอียด AEEG ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 5 คน มีหน่วยงานภายใน 10 หน่วยงานและกฎหมายกำหนดให้มีพนักงานได้ไม่เกิน 150 คน (ปัจจุบันมี 96 คน) กรรมการมีที่มาจากการแต่งตั้งซึ่งมีกระบวนการค่อนข้างยาวและโปร่งใสครับ เริ่มต้นก็คือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภา เมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาเห็นชอบแล้ว ก็จะเสนอต่อรัฐสภาเพื่อลงมติ ซึ่งผู้ที่จะได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จากนั้นก็จะเสนอชื่อให้ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง กรรมการ AEEG มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีและจะดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว AEEG มีอิสระในการทำงาน คณะรัฐมนตรีไม่สามารถปลดกรรมการออกจากตำแหน่งได้หากกรรมการไม่ได้ทำผิดตามที่กฎหมายกำหนด เช่น เข้าไปมีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับงานในหน้าที่หรือเข้าไปทำงานกับองค์กรของรัฐอื่น ๆ และนอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามหลังพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว 4 ปีคือกรรมการ AEEG ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอีกด้วยครับ ส่วนงบประมาณของ AEEG นั้น เพื่อให้เป็นอิสระจากทุกฝ่าย กฎหมายได้กำหนดให้ AEEG มีรายได้ปีละ 1 ส่วน 1000 ของค่าธรรมเนียมและรายได้ต่าง ๆ ที่ AEEG เก็บจากผู้ประกอบการด้านพลังงานครับ AEEG มีอำนาจที่จะวางกฎระเบียบของตนเองเพื่อให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของ AEEGนั้น ได้แก่ การยกเลิกการผูกขาด การเปิดเสรีธุรกิจพลังงาน กำกับดูแลให้มีการแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวอย่างเสรี การอนุญาต อนุมัติให้ประกอบกิจการ การกำหนดราคาค่าบริการ การคุ้มครองผู้บริโภค สร้างเกณฑ์กลางที่สมดุลระหว่างค่าบริการกับการให้บริการ นอกจากนี้ก็ยังมีหน้าที่ ข้างเคียง ที่สำคัญอีกคือ วางกฎเกณฑ์และมาตรการเพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน หาพลังงานทดแทนด้านอื่น ๆ ดูแลรักษาและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
การทำงานของ AEEG แม้กฎหมายจะรับรองความเป็น อิสระ เอาไว้ แต่ภายใต้ความเป็นอิสระนั้นจะต้องมีความ โปร่งใส ในการทำงานด้วย ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้มติและคำสั่งทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ AEEG จะต้องเผยแพร่ใน website ของ AEEG และประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา (The Republics Official Journal) คำสั่งที่สำคัญจะต้องมีบทสรุปย่อให้กับสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ให้กับสาธารณชน ทุกปีจะต้องจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อรัฐสภาและลงเผยแพร่ใน website และนอกจากนี้ ทุกปี AEEG จะต้องจัดทำรายงานทางการเงินของตนเสนอต่อศาลตรวจเงินแผ่นดิน (Court of Accounts) เพื่อตรวจสอบด้วยครับ ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่เห็นด้วยกับมติหรือคำสั่งของ AEEG ก็สามารถฟ้องต่อศาลปกครองแห่งภาค Lombardy (Lombardys Regional Administrative Court) อันเป็นภาคที่สำนักงานของ AEEG ตั้งอยู่ ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าวก็อาจอุทธรณ์ต่อไปได้ยังศาลปกครองสูงสุด (The Council of State) ได้ครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับ องค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานของอิตาลี ผมคิดว่าน่าสนใจและน่าศึกษาอย่างละเอียดนะครับ เสียดายที่บ้านเรายังไม่เกิดองค์กรดังกล่าวเสียทีครับ!!! ก็ถือว่าเอามาเล่าสู่กันฟัง (บางส่วน)ก็แล้วกันครับ ใครอยากได้ข้อมูลหรือรายละเอียดที่ละเอียดกว่านี้ก็ติดต่อมาที่ผมได้นะครับ
ในสัปดาห์นี้ ผมขอเสนอบทความใหม่ของผมบทความหนึ่งที่เขียนขึ้นเพื่อ เฉลิมฉลอง วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้เอง บทความนี้เป็นบทความที่เขียนขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะเสนอแนวคิดของผมเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในช่วง 4 ปีต่อไปให้ ท่านผู้นำ ของเราพิจารณาครับ เดิมตั้งใจจะใช้ชื่อบทความว่า จดหมายถึงท่านผู้นำ แต่ไปๆมาๆเขียนแล้วก็ไม่ค่อยเหมือนจดหมาย ก็เลยใช้ชื่อบทความว่า ถึงท่านผู้นำ แทนครับ ส่วนบทความเดิมที่นำมาจากรายงานผลการศึกษาวิจัยเรื่อง การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกรณีการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่ได้ลงเผยแพร่ไป 6 ตอนแล้ว ขอติดเอาไว้ก่อนนะครับ คราวหน้าจะลงตอนที่ 7 ต่อไปครับ นอกจากบทความ ถึงท่านผู้นำ แล้ว เราก็ยังมีการแนะนำหนังสือใหม่ดีๆอีกสองเล่ม คือ "หลักกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมฝ่ายปกครอง" และ "หลักรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน"ใน หนังสือตำรา ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=731
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 20:29 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|