|
|
การจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยรัฐในประเทศฝรั่งเศส โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ 24 มกราคม 2548 07:13 น.
|
การถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในสายตาของประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็น เจ้าแม่ แห่งสิทธิเสรีภาพนับว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจและรับได้ยากพอสมควร แต่อย่างไรก็ดีการจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยรัฐในประเทศฝรั่งเศสเองได้เคยมีตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งการปกครองประเทศ กล่าวคือในสมัย Régime de Vichy ซึ่งส่งผลให้เกิดคำศัพท์ในวงการวิชาการกฎหมายปกครองอันแสดงถึงสัญลักษณ์ของการมีอำนาจอย่าง ล้นเหลือ ของรัฐสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและ ส่งผลให้รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในยุคหลังกำหนดเงื่อนไขในการเข้ามามีบทบาทของรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพเอาไว้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะเป็นการวางเงื่อนไขและข้อกำหนดในแต่ละกรณีของการจำกัดสิทธิเสรีภาพไว้ค่อนข้างละเอียดตลอดจนมีการควบคุมและคานอำนาจกันอย่างเป็นระบบ
Régime de Vichy หรือการปกครองในสมัยวิชชี่คือสัญลักษณ์ของการมีอำนาจอย่าง ล้นเหลือ ของรัฐตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยุคสมัยดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 1940 เมื่อ Vichy ถูกเลือกเป็นเมืองหลวงชั่วคราวสมัยที่เยอรมันเข้ามามีอำนาจในประเทศฝรั่งเศส ส่งผลให้รัฐบาลฝรั่งเศสในขณะนั้น โยกย้าย ที่ทำการจากปารีสซึ่งเป็นเมืองหลวงมาหลายยุคหลายสมัยมาเป็นเมืองเล็กๆใจกลางประเทศอย่าง Vichy
ด้วยข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของ Vichy ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในที่ราบภาคกลางของประเทศ (Massif Centrale) ทำให้ Vichy ถูกเลือกเป็นเมืองหลวงชั่วคราวในช่วงที่เยอรมันเข้ามามีอำนาจในประเทศฝรั่งเศสในช่วงปี 1940 ซึ่งถือเป็นช่วงแห่งความรุ่งเรืองในสายตาชาว Vichy แต่เป็นช่วงแห่งความย่ำแย่ในสายตาชาวฝรั่งเศสเนื่องจากเป็นยุคที่สิทธิเสรีภาพอันเป็นสิ่งที่ชาวฝรั่งเศสยึดถือมาตลอดนับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 สูญหายไป เนื่องจากในยุค หน้าสิ่วหน้าขวาน เช่นในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่รัฐมีอำนาจมากและสามารถออกกฎหรือหลักเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นการควบคุมความสงบเรียบร้อยได้เสมอ
ในทางทฤษฎีกฎหมายปกครองฝรั่งเศส คำว่า Régime de Vichy หรือระบบการปกครองสมัย Vichy เป็นสัญญลักษณ์แสดงถึงการมีอำนาจอย่างล้นเหลือของรัฐ ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่ค่อนข้าง น่าตกใจ สำหรับประเทศที่ยึดถือการมี สิทธิและ เสรีภาพ เป็นเรื่องใหญ่ดังเช่นฝรั่งเศส Vichy ในยุคนั้นเป็นยุคของผู้นำคือ นายพล Pétain ในการออก actes constitutionnels หรือรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในการ ยุบ องค์กรทางนิติบัญญัติและบริหารในระบบรัฐสภาแบบประธานาธิบดีของฝรั่งเศสมาเป็นรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเผด็จการ (monarchie autoritaire) ซึ่งถือว่า อำนาจ ในการปกครองประเทศอยูที่ผู้นำสูงสุดประเทศเพียงผู้เดียว ( le pouvoir vient den haut) ทำให้นิยามของระบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์" ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นผู้ผูกขาดการปกครอง เปลี่ยนไปเป็นระบบที่ผูกขาดอำนาจไว้ที่ผู้นำรัฐ (chef dEtat) คือนายพล Pétain นั่นเอง
นายพล Pétain อ้างการปกครองในสมัย Vichy ว่าเป็นการปกครองที่ทำให้ฝรั่งเศสและสิ่งก่อสร้างที่สวยงามใน Paris ไม่ถูกทำลายจากการยกทัพเข้ามาจู่โจมของกองทัพเยอรมัน การเป็นผู้นำประเภท ต่อต้านเสรีภาพ ของนายพล Pétain ทำให้ สโลแกน ของฝรั่งเศสที่เรารู้จักกันดีคือ Liberté - Egalité Fraternité หรือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ เปลี่ยนไปเป็น Travail Famille Patrie หรือ งาน ครอบครัว ชาติ(สังคม) โดยนายพล Pétain ถือว่าสิทธิเสรีภาพปัจเจกชน (lindividu) นั้นไม่มีอยู่อีกต่อไป มีแต่ครอบครัว ชาติและสังคมเท่านั้นที่จะทำให้อยู่รอดได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวความคิดดังกล่าวค่อนข้างจะโน้มเอียงไปในระบบสังคมนิยม ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไปในบริบททางสังคมในยุคนั้น
ประเทศฝรั่งเศสในยุคนี้จึงเปรียบเทียบได้กับสมัย เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย ของบ้านเรา เพราะมีเพียงผู้นำรัฐ (chef dEtat) เท่านั้นที่เป็คนผู้จัดการทุกอย่างและเป็นผู้เดียวที่เป็นผู้ผูกขาดอำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งนายพล Pétain เองก็ได้อิทธิพลมาจากระบบการปกครอง Nazism ของประเทศเยอรมันในขณะนั้น แม้ว่าตัวนายพล Pétain เองจะเป็นคริสเตียนโดยแท้ ซึ่งตามแนวคิดของคริสเตียนจะยอมรับสิทธิเสรีภาพและถือว่ามนุษย์เป็นงานสร้างสรรค์จากพระเจ้าจึงมีความเป็นปัจเจกชนและถูกละเมิดมิได้ก็ตาม แต่นายพล Pétain เองก็ยังมีความเชื่อว่าการใช้ระบบการปกครองดังกล่าวจะทำให้สถานการณ์ หน้าสิ่วหน้าขวาน ของประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้นผ่านพ้นไปได้
เสรีภาพในยุคนี้จึงตกอยู่ใน ยุคมืด นายพล Pétain ได้ยกเลิกเสรีภาพบางประการที่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยของฝรั่งเศส นั่นก็คือ เสรีภาพในสิ่งพิมพ์ (liberté de la press) โดยกำหนดให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบรวมทั้งการต้องขออนุญาตในการจัดตั้งสิ่งพิมพ์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งยกเลิกเสรีภาพในทางการค้าและอุตสาหกรรม (liberté du commerce et de lindustrie) สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย (le droit à la sûreté) เสรีภาพในการรับฟังวิทยุต่างประเทศ (liberté découter les radios étrangères) เสรีภาพในการรวมกลุ่ม (liberté de réunion) สิทธิในการนัดหยุดงานประท้วง (droit de grève) และเสรีภาพในการจัดตั้งสมาคม (liberté syndicale) แต่ในทางกลับกันกลับเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพบางประการต่อไปได้ เช่น เสรีภาพในการเดินทาง (liberté daller et venir) สิทธิในทรัพย์สิน (droit de propriété) เสรีภาพในการนับถือศาสนา (liberté de réligieuse) รวมทั้งเสรีภาพในการศึกษา (liberté denseignement) แต่อย่างไรก็ดี การ เปิดโอกาส ให้มีเสรีภาพดังกล่าว ก็เทียบได้กับ การถูกจำกัดโดยรัฐน้อยที่สุดนั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้นความ พิเศษ ของ Régime de Vichy ยังมีต่อไปในเรื่องการถือสัญชาติ นายพล Pétain ได้ออกรัฐบัญญัติกำหนดสถานะของชาวยิว หรือ statut des juifs โดยกำหนดให้การตัดสินว่าสัญชาติยิวเป็นสัญชาติต่างชาติหรือสัญชาติฝรั่งเศสเป็นหน้าที่ของ préfet ซึ่งจะส่งผลตามมาถึงการได้รับสิทธิต่างๆในฐานะ คนชาติ หรือ คนต่างชาติ
ความรุ่งเรืองของ vichy หมดไปเมื่อฝรั่งเศสเริ่มเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐที่สี่ในปี 1946 แต่อย่างไรก็ดี Régime de Vichy ถือเป็นความเจ็บช้ำของประชาชนชาวฝรั่งเศสที่มีหัวใจหลักเป็นสิทธิและเสรีภาพ บทเรียนจากการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในยุคดังกล่าวจึงส่งผลให้การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน ถูกจำกัดอยู่เพียง 3 กรณีคือ วิกฤติการณ์ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ วิกฤติการณ์ที่กำหนดไว้โดยกฎของฝ่ายบริหาร และตามแนวคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐ
Les Etats de crise constitutionalisé หรือการกำหนดวิกฤติการณ์ของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้นั้น ในกรณีนี้ รัฐธรรมนูญปี 1958 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันขอลฝรั่งเศสได้กำหนดมาตรการดังกล่าวไว้ในมาตรา 16 และมาตรา 36 กล่าวคือ มาตรา 16 เป็นมาตราที่ให้อำนาจประธานาธิบดีมีอำนาจเผด็จการในการบริหารประเทศ ซึ่งมาตรานี้มีภูมิหลังคือการให้อำนาจประธานาธิบดีเข้ามา คาน อำนาจความอ่อนแอของฝ่ายบริหารในการบริหารประเทศในช่วงปี 1940 เงื่อนไขในการปรับใช้มาตรา 16 นั้นจะเป็นกรณีที่สถาบันของรัฐตกอยู่ในสถานการณ์ ร้ายแรงและฉุกเฉิน ( une manière grave et immediate) Les Etats de crise constitutionalisé อีกประการหนึ่งก็คือ การประกาศกฎอัยการศึกตามมาตรา 36 ในกรณีรัฐธรรมนูญได้วางเงื่อนไขเอาไว้ถึงการเข้ามามีบทบาทชั่วคราวของทหาร และได้กำหนดแบบเอาไว้ว่า การประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวต้องออกมาในรูปของรัฐกฤษฎีกา (décret) ของ conseil de ministre หรือการประชุมของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา (parlement) ด้วย จากเงื่อนไขดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าอำนาจการกำหนดกฎอัยการศึกตามมาตรา 36 นี้ เป็นอำนาจที่อันตรายน้อยกว่าอำนาจเผด็จการในการปกครองประเทศของประธานาธิบดีตามมาตรา 16 ทั้งนี้เนื่องจากการกำหนดกฎอัยการศึกจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เคร่งครัดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั่นเอง
สำหรับการกำหนดวิกฤติการณ์ของรัฐโดยมีกฎหมายกำหนดไว้ หรือ prévu par la loi นั้น ก็มี 2 กรณีเช่นเดียวกัน คือ การกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน (lEtat durgence) และการกำหนดองค์การแห่งชาติในสถานการณ์สงคราม (lOrganisation de la nation en temps de guerre) ใน 2 กรณีนี้จะเป็นกรณีที่ฝ่ายบริหารเข้ามามีบทบาทในการออกกฎหมายที่เปิดช่องไว้ถึงสถานการณ์ที่อาจจะทำให้รัฐกำหนดวิกฤติการณ์ได้ ดังนั้น เมื่อฝ่ายบริหารเข้ามามีบทบาทในสถานการณ์ดังกล่าว เงื่อนไขในการควบคุมอำนาจของฝ่ายบริหารในกรณีนี้จึงกำหนดให้การกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการกำหนดองค์การแห่งชาติในสถานการณ์สงคราม จึงต้องออกมาในรูปของรัฐกฤษฎีกา หรือ décret เช่นเดียวกับการประกาศกฎอัยการศึกในกรณี Les Etats de crise constitutionalisé และยังต้องเข้าตามเงื่อนไขของการกำหนดการกำหนดวิกฤติการณ์ของรัฐโดยมีกฎหมายกำหนดไว้ในแต่ละประเภทอีกด้วย กล่าวคือ หากเป็นการกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน (lEtat durgence) นั้น จะต้องเป็นกรณี un péril imminent resultant datteint grave à lordre public และ événement présentant , par leur nature et leur gravité, le caractère de calamité publique กล่าวคือเป็นการใดก็ตามที่กระทบกับความสงบเรียบร้อยหรืออาจจะมีผลต่อความสงบเรียบร้อยในสังคมนั้น แต่สำหรับกรณีของการกำหนดองค์การแห่งชาติในสถานการณ์สงคราม หรือ lOrganisation de la nation en temps de guerre นั้น จุดเด่นของการกำหนดสถานการณ์ดังกล่าวมิใช่การเข้ามามีบทบาทของทหารตามแบบกฎอัยการศึก หรือการอ้างความสงบเรียบร้อยของสังคมเช่นการกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เป็นการกำหนดองค์การแห่งชาติในสถานการณ์สงคราม ซึ่งจะมีได้เฉพาะในสถานการณ์สงครามเพื่อจุดประสงค์ในการรักษาความสงบและป้องกันประเทศเท่านั้น การกำหนดองค์การแห่งชาติในสถานการณ์สงครามตามกรณีนี้ก็ได้มีการประกาศใช้มาแล้ว 3 ครั้งคือ ในกรณีแรกในช่วงปี 1938-1959 ซึ่งเป็นสมัย Régime de Vichy โดยถือเป็นการกำหนดองค์การแห่งชาติในสถานการณ์สงครามที่เป็นข้อยกเว้นที่กฎหมายอนุญาต สำหรับกรณีที่สองคือการกำหนด Etat de vigilence ในสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งในกรณีนี้ส่งผลต่อมาให้ตำรวจทางปกครองมีอำนาจในการดูแลความสงบเรียบร้อยในสถานการณ์ดังกล่าวเป็นพิเศษด้วย ส่วนในกรณีที่สามสำหรับองค์การแห่งชาติในสถานการณ์สงครามก็คือการกำหนดสถานการณ์ดังกล่าวภายหลังสงครามอ่าวเปอร์เซียสงบนั่นเอง
การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประเทศฝรั่งเศสในกรณีที่สามคือการถือตามแนวคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐ หรือ Conseil dEtat วางหลักไว้นั้น จะเป็นกรณีที่ประเทศในระบบประมวลกฎหมายอย่างฝรั่งเศสให้ความสำคัญต่อการยึดถือแนวคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐ ซึ่งจะมีด้วยกัน 2 กรณีคือกรณีของสถานการณ์ฉุกเฉิน และกรณีเหตุยกเว้นซึ่งทั้งสองกรณีจะเป็นไปตามทฤษฎีกฎหมายปกครองและการตีความของสภาแห่งรัฐ
จึงจะเห็นได้ว่า Régime de Vichy ได้สร้าง บทเรียน ในการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพซึ่งเป็น กระจกเงาสะท้อน ประการหนึ่งของการควบคุมและวางหลักของบทบาทของรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน นอกจากนั้นยังหมายความถึง สัญลักษณ์ ของการมีอำนาจล้นเหลือของรัฐในการจำกัดสิทธิประชาชนตามทฤษฎีกฎหมายปกครอง
ความรุ่งเรืองของ Vichy หมดไปเมื่อฝรั่งเศสเริ่มเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐที่สี่ในปี 1946 สำหรับบทบาทในปัจจุบัน Vichy กลับเป็นสัญลักษณ์ของเมืองแห่งน้ำแร่ ซึ่งเป็นที่มาของห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในการคิดค้น หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ คือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Vichy ซึ่งเพิ่งจะมีการนำเข้าประเทศไทยเมื่อประมาณสองปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น Vichy ก็ยังเป็นเมืองที่เป็นสถานพักฟื้นของคนชราจากการคิดค้นการบำบัดด้วยน้ำแร่ เป็นเมืองสำหรับนักเรียนต่างชาติในการเรียนภาษาฝรั่งเศส และเป็นเมืองที่ได้รับความ พิเศษ จากการได้รับสิทธิในการเปิดร้านในวันอาทิตย์ ยิ่งไปกว่านั้น Vichy ยังเป็นภาพของ เมืองแห่งชนชั้นกลาง หรือ la ville de bougeuois ซึงเป็นสัญลักษณ์ของการมีอาชญากรรมค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ
ประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองในยุคหนึ่งของ Vichy จึงได้เปลี่ยนไปจากอดีตเมืองหลวงชั่วคราวในสมัยสงครามซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยงานราชการ รวมทั้งอาคารสถานทูตไทยในอดีต ที่ตั้งชุมสายโทรศัพท์รหัส 04 เมืองแห่งการสังสรรค์และงานสังคม มาเป็นเมืองเล็กๆที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ นักเรียนต่างชาติ ร้านค้าที่เปิดวันอาทิตย์ และปัญหาที่แก้ไม่ตกในเรื่องมูลสุนัขบนทางเท้า รวมทั้งการ ลบ ชื่อนายพล Pétain ออกจากทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสเพราะถือเป็นช่วงเวลาที่ตกต่ำของประเทศในการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเผด็จการและยุคมืดของ หัวใจ ฝรั่งเศส คือสิทธิและเสรีภาพ แต่อย่างไรก็ดีร่องรอยของความรุ่งเรืองของ Vichy เองก็ยังปรากฎอยู่เสมอในการอ้างถึงสัญลักษณ์ในทางตำราและดัชนีการอ้างอิงในวงการวิชาการกฎหมายปกครองฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=720
เวลา 10 ธันวาคม 2567 10:18 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|