คุณค่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กับนัยของการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ

9 มกราคม 2548 03:18 น.

                   
        ศาลรัฐธรรมนูญ หากมองลึกเข้าไปถึงกิจการภายใน ครอบคลุมทั้งองค์รวม (holistic) อย่างทั่วด้าน ไม่ว่าในส่วนของฐานที่มา สถานะ บทบาท บริบทแวดล้อม อำนาจหน้าที่และคำวินิจฉัยแล้ว จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญนั้นมิได้จำกัดกรอบอยู่แต่เฉพาะการเป็นองค์กรตีความ (interpretation) เท่านั้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการแก้ไขปัญหา (correction) จากการใช้รัฐธรรมนูญหรือการนำรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติ และในการสร้างวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลง (advancement) จากการใช้รัฐธรรมนูญ นั้นด้วย
                   
        การที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักประกันของการปกครองโดยกฎหมาย (rule of law) จะสามารถช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนให้ดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ยอมรับร่วมกันได้ ต่างมีความมั่นคงไม่มีใครกดขี่คุกคามใครได้ นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน 2 ประการ คือประการแรก รัฐธรรมนูญนั้นมีบทบัญญัติหรือเนื้อหาสาระที่ดีมีความยุติธรรม และสร้างรูปแบบของการเมืองการปกครองที่ดี กับประการที่สอง คือ รัฐธรรมนูญนั้นต้องได้มีการนำไปปฏิบัติให้เกิดผลกระทบต่อการสร้างวิวัฒนาการของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองที่ดีนั้นด้วย
                   
        ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญ จึงอยู่ที่ปัญหาในการนำไปใช้ (implementation) ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญที่ดีสามารถนำไปใช้ให้บรรลุผลตามเป้าหมายและเกิดผลกระทบอันพึงปรารถนานั้นได้ ความกลัวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ มักจะมีความวิตกกังวลว่า รัฐธรรมนูญนั้นจะไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ดังนั้น แม้จะมีรัฐธรรมนูญที่ดีก็ไม่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองได้ ปราชญ์ทางการเมืองในสมัยโบราณจึงให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า เสถียรภาพของรัฐธรรมนูญ ค่อนข้างมาก พยายามคิดค้นหากลไกในการป้องกันรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญ รูปแบบต่าง ๆ ขึ้นมาใช้ ทั้งในรูปแบบที่อาศัยกลไกของรัฐ กลไกของผู้ปกครอง และกลไกของประชาชนเองด้วย เช่น การปรับหรือออกแบบกลไกของรัฐให้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ การปลูกฝังคุณธรรมของผู้ปกครองให้ตั้งอยู่บนความสุจริตยุติธรรมเอื้อเฟื้อต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชนทั้งในด้านชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน การสร้างราษฎรที่มีความฉลาด อดกลั้นและมีหลักธรรม เพื่อให้มีจิตใจที่สุขุมรอบครอบเพียงพอที่จะเคารพกฎหมาย และดำรงชีวิตในแนวทางที่เกื้อกูลต่อการสงวนรักษารัฐธรรมนูญ1
                   
        สำหรับรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบันที่เรียกว่า รัฐประชาชาติ (Nation State) ซึ่งเชื่อในเรื่องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญนั้นได้ให้ความสำคัญกับจุดเน้นใหม่ ในเรื่องของการควบคุมมิให้กฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยการสร้างกลไกพิเศษแยกออกมาเป็นเอกเทศ ซึ่งมีใช้อยู่ใน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ (1) แบบกระจายอำนาจหลายองค์กร (decentralization) และ (2) แบบรวมอำนาจองค์กรเดียว (centralization) โดยแบบแรกใช้ในประเทศอเมริกาอาศัยกลไกของศาลสูงสุด (supreme court) ส่วนแบบที่สองนั้นใช้ในประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน เกาหลีใต้โดยอาศัยกลไกของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Constitutional tribunal) และศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court)2
                   
        ในกรณีของประเทศไทยได้ใช้แบบรวมอำนาจที่องค์กรเดียว โดยเริ่มจากองค์กรที่เรียกว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2489 และรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ จนถึง พ.ศ. 2534 ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นองค์กรที่เรียกว่าศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 ในปัจจุบัน และโดยที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเป้าหมายสำคัญเพื่อการปฏิรูปการเมืองการปกครองด้วยนั้น ทำให้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นแต่เพียงสิ่งที่เรียกว่า กฎหมายสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีนัยอื่นรวมไปถึงการเป็นอุปกรณ์ในการสร้างวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง การจำกัดควบคุมอำนาจรัฐและผู้ปกครองและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนพร้อมกันไปด้วย
                   
        ศาลรัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งถือกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญและเรียกว่าเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ นั้น ย่อมต้องผูกพันกับพันธะตามรัฐธรรมนูญอย่างลึกซึ้ง เสมือนกับการเป็นเงาสะท้อนภาพจำลองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในทางปฏิบัติ ด้วย ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจคิดและกระทำการใด ๆ ที่เป็นการแปลกแยกแตกต่างไปจากพื้นฐานภายในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งโดยกรอบกำหนดดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงตกอยู่ในวงล้อมของพันธะผูกพันที่ต้องรองรับกับการสนองตอบต่อความต้องการของรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ครบถ้วนครอบคลุมในองค์ประกอบหลักทั้งต่อเป้าหมายในการปฏิรูปการเมืองการปกครอง และเจตนารมณ์ในการที่จะใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศการใช้รัฐธรรมนูญเป็นอุปกรณ์สร้างวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง การใช้รัฐธรรมนูญจำกัดควบคุมอำนาจรัฐและผู้ปกครองและการใช้รัฐธรรมนูญส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งนับเป็นพันธกิจ (mission) ที่สำคัญยิ่ง เต็มไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อนและมีความลึกซึ้งละเอียดอ่อนสูง โดยเฉพาะต่อการแบกรับกับภาระความรับผิดชอบที่ต้องอาศัยทั้งความรอบรู้ประสบการณ์ความสามารถและจริยธรรมขั้นสูง
       
       1. ฐานที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ : ศูนย์รวมของเอกภาพบนความแตกต่างหลากหลาย
       
                   
        โดยที่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งเป็นฐานที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ นั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ถือว่ามาจากความยินยอมของประชาชนโดยผ่านกระบวนการจัดทำของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วนของประเทศ ซึ่งในความสลับซับซ้อนของขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญ นั้น ได้รวมเอาความหลากหลายของแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย กล่าวโดยสรุปดังนี้ คือ
                   
        1.1 แนวความคิดกฎหมายมหาชน (Public Law) อิงหลักความเป็นกฎหมายสูงสุด (supreme law) และความเป็นกฎหมายพื้นฐานในการออกแบบการเมืองการปกครอง (fundamental law) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำรงรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุด โดยที่ต้องควบคุมกฎหมายอื่นมิให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันในการจัดระเบียบแบบแผนและการดำเนินกระบวนการทางการเมืองการปกครอง ก็ต้องตั้งอยู่บนครรลองกำกับของบรรทัดฐานอ้างอิงสูงสุดตามกติกาหลักทางการเมืองการปกครองของรัฐธรรมนูญตามหลักการปกครองโดยกฎหมาย (rule of law)
                   
        1.2 แนวความคิดรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) อิงหลักการใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นอุปกรณ์ในการออกแบบระบอบการเมืองการปกครองและจัดระเบียบกลไกการบริหารประเทศ เพื่อก่อให้เกิดผลในการสร้างวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองตามมาด้วย ทั้งนี้ โดยที่เน้นการจำกัดเหนี่ยวรั้งอำนาจของผู้ปกครองเป็นสำคัญ การได้มา การใช้ และการพ้นจากอำนาจของรัฐบาลย่อมเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
                   
        1.3 แนวคิดเสรีนิยม (Liberalism) อิงหลักความสำคัญและความสามารถของประชาชนพลเมือง (citizen competence) สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจึงเป็นสาระสำคัญเหนือกว่าเหตุผลทางอำนาจของรัฐ ทั้งนี้ เป็นไปตามความเชื่อพื้นฐานเรื่องความมีเหตุผล ความสามารถและความใฝ่ดีของมนุษย์ ซึ่งเป็นไปตามสิทธิตามธรรมชาติ (natural rights) ที่มนุษย์มีอยู่แล้วแต่ดั้งเดิม รัฐธรรมนูญจึงได้วางหลักประกันในการส่งเสริม รับรอง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างกว้างขวาง ซึ่งครอบคลุมทั้งในเรื่องการขจัดอุปสรรคขัดขวางสิทธิเสรีภาพตามหลักเสรีนิยม การเคารพในคุณค่าของสิทธิเสรีภาพตามหลักปัจเจกชนนิยม การเอื้อประโยชน์สูงสุดตามหลักประโยชน์นิยม และการกระจายสิทธิประโยชน์ตามหลักพหุนิยม ได้แก่ การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และชุมชน การรับรองสิทธิเสรีภาพของความเป็นคน พลเมือง และความเสมอภาค การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การฟ้องร้องรัฐที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การเข้าร่วมใช้อำนาจรัฐบางส่วนโดยตรงโดยเฉพาะด้านการเสนอกฎหมายและนโยบาย
                   
        1.4 แนวคิดปฏิบัตินิยม (Pragmatism) อิงหลักความเป็นไปได้ของการนำรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติ ตามความเชื่อที่ว่ารัฐธรรมนูญที่สามารถสร้างวิวัฒนาการของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองได้ขึ้นอยู่กับสาระสำคัญเกี่ยวกับความเป็นไปได้หรือการได้นำรัฐธรรมนูญไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติมากกว่าสาระสำคัญเกี่ยวกับความสมบูรณ์แบบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป้าหมายสำคัญอยู่ที่เสถียรภาพของ
       รัฐธรรมนูญ และการที่รัฐธรรมนูญจะมีเสถียรภาพได้ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบพื้นฐานจาก ๒ ปัจจัย คือ ปัจจัยด้านสาระบัญญัติของรัฐธรรมนูญเอง กับปัจจัยด้านกลไกลกระบวนการในการบังคับใช้ โดยในส่วนของสาระบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้วางหลักดุลยภาพให้มีความสมดุลกันระหว่างอำนาจของผู้ปกครองที่จำกัดเฉพาะเพียงเพื่อสร้างความสามารถในการปกครอง โดยไม่ให้มีความเบ็ดเสร็จจนเป็นการกดขี่ครอบงำ กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนสำหรับสร้างความสามารถในการทำหน้าที่พลเมืองดีได้ การวางหลักสัมพันธภาพให้มีการกระจายบทบาทโดยที่มีการเชื่อมโยงกันระหว่างการเมืองภาคนักการเมืองและการเมืองภาคพลเมือง ในส่วนของกลไกกระบวนการในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ได้วางหลักการออกแบบองค์กรอำนาจที่มีการแบ่งแยกหน้าที่ออกจากกันอย่างชัดเจน เช่น การแบ่งแยกระหว่างองค์กรที่เป็นฝ่ายใช้อำนาจ (Power User) การเมืองการปกครองโดยตรงทางในรูปขององค์กรนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ องค์กรที่เป็นฝ่ายตรวจสอบการใช้อำนาจ (Power Censor) ในรูปขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรที่เป็นฝ่ายกำกับติดตามการใช้อำนาจ (Power Monitor) ในรูปขอองค์กรภาคประชาชนมีการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกัน และการกำหนดเงื่อนไขให้สามารถปรับแก้ตัวเองได้อย่างยืดหยุ่นจากกระบวนการปฏิบัติหรือระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญด้วย
       2. สถานะของศาลรัฐธรรมนูญ : เงาสะท้อนภาพจำลองรัฐธรรมนูญในภาคปฏิบัติ
       
                   
        การที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรสูงสุดในการวินิจฉัยคดีรัฐธรรมนูญ โดยที่คำวินิจฉัยเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐด้วยนั้น ถือว่าเป็นสถานะที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อรองรับการดำรงคงไว้ซึ่งความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญด้วย และด้วยสถานะดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นส่วนควบของอีกองคาพยพหนึ่ง (accompany organic) ที่แยกออกมาจากส่วนที่เป็นตัวบทและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองคาพยพในส่วนที่แปรหรือแปลง (converse) ตัวบทและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้เกิดมีชีวิตและมีกิจกรรม (activity) ในภาคของการปฏิบัติจริงรวมทั้งการก่อให้เกิดผลทางปฏิบัติ (impact) ด้วย กล่าวอีกนัยก็คือ การเป็นเงาสะท้อนภาพจำลองรัฐธรรมนูญในภาคปฏิบัตินั่นเอง ทั้งนี้โดยส่งผลต่อลักษณะที่เกี่ยวกับสถานะของศาลรัฐธรรมนูญในมิติที่สำคัญคือ
                   
        2.1 สถานะของการเป็นองค์กรตุลาการ เพื่อรองรับการเป็นองค์กรตัดสินใจและชี้ผลการ วินิจฉัยปัญหาคดีรัฐธรรมนูญให้เบ็ดเสร็จได้ในครั้งเดียว อย่างเป็นทางการ และมีการยอมรับความถูกต้องชอบธรรมที่ฐานะของผู้ตัดสิน (Subject) เป็นหลักสำคัญ โดยไม่ต้องมีการโต้แย้งลบล้างคำตัดสิน (Object) นั้นโดยองค์กรอื่นใดได้อีก
                   
        2.2 สถานะของการเป็นองค์กรสูงสุด เพื่อรองรับการเป็นองค์กรผู้ถือกฎในการดำรงรักษาความศักดิ์สิทธิของความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
                   
        2.3 สถานะของการเป็นองค์กรอิสระ เพื่อรองรับการเป็นองค์กรที่อยู่นอกเหนือพันธะผูกพันจากอำนาจ อิทธิพล ผลประโยชน์ส่วนได้เสียและอคติใดๆที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและองค์กรอื่น ๆ เว้นแต่พันธะผูกพันต่อรัฐธรรมนูญ
                   
        2.4 สถานะของการเป็นองค์กรวางแนวบรรทัดฐาน เพื่อรองรับการเป็นองค์กรกำกับแนวปฏิบัติในการใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญ หรือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
                   
        2.5 สถานะของการเป็นองค์กรเด็ดขาด เพื่อรองรับการเป็นองค์กรรวมศูนย์ความเป็นเอกภาพของอำนาจการตัดสินใจ กระบวนการตัดสินใจ และผลของการตัดสินใจที่มีต่อการแก้ไขปัญหาจากการใช้รัฐธรรมนูญ
                   
        2.6 สถานะของการเป็นองค์กรที่ก่อผลผูกพัน เพื่อรองรับการเป็นองค์กรในการสนองตอบต่อเจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญเพื่อก่อผลกระทบต่อการสร้างวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองตามเป้าหมายของการปฏิรูปการเมืองการปกครอง
                   
        2.7 สถานะของการเป็นองค์กรชำนาญพิเศษ เพื่อรองรับการเป็นองค์กรในการบำบัดแก้ไข
       เยียวยาปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จเสร็จสิ้น และลุล่วงผลโดยมีทางออกที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีทางเลือกที่ก้าวหน้าส่งผลต่อพัฒนาการใหม่ของการใช้รัฐธรรมนูญให้ส่งประโยชน์ตามความต้องการของสังคม และประเทศชาติได้มากขึ้น
       
       3. บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ : กลไกของการแก้ไขปัญหาและสร้างวิวัฒนาการตาม
       เจตนารมณ์เหนือการตีความตามตัวบทในกรอบจำกัด

       
                   
        ความเข้าใจทั่วไปที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการตีความข้อกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ นั้น เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของข้อเท็จจริงเท่านั้น เพราะหากพิจารณาตามกรอบของฐานอ้างอิงทั้งจากที่มาและสถานะของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะพบว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีบทบาทหลักอยู่ใน 2 ระดับด้วยกัน คือ (1) ระดับพื้นฐานศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการแก้ปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญ และ (2) ระดับสูงศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการปฏิรูปการเมืองการปกครองด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญจะมีปัญหาก็ต่อเมื่อมีการใช้เกิดขึ้นและมีฝ่ายต่าง ๆ เข้าเกี่ยวข้อง ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องเข้าไปกำกับเพื่อรักษาไว้ซึ่งครรลองของรัฐธรรมนูญตามบทบาทในระดับพื้นฐาน ซึ่งเป็นบทบาทที่หวังผลในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งหวังที่จะใช้เพื่อการปฏิรูปการเมืองการปกครองนั้น ย่อมคาดหวังต่อผลที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตด้วย จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องเข้าไปมีส่วนในการสนองเจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญ ตามบทบาทในระดับสูง ซึ่งเป็นบทบาทที่หวังผลต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในรูปของการสร้างผลกระทบสืบเนื่องต่อไปในอนาคตระยะยาว
                   
        เมื่อพิจารณาตามกรอบกำหนดของบทบาทดังกล่าว จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีบทบาทที่ต้องมุ่งสนองเจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญในมุมกว้างมากกว่าการจำกัดกรอบเฉพาะการตีความตามตัวบทในมุมแคบ ซึ่งเป็นบทบาทที่กินความครอบคลุม ทั้งในระดับพื้นฐานซึ่งหวังผลต่อปัจจุบัน ในรูปของการแก้ไขปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาไว้ซึ่งครรลองของรัฐธรรมนูญ และบทบาทในระดับสูงซึ่งหวังผลต่ออนาคต ในรูปของการสนองเจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญ เพื่อผลต่อการสร้างวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองต่อไปในระยะยาวด้วย
                   
        ทั้งนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถสนองตอบต่อบทบาททั้ง 2 ระดับดังกล่าว ให้บรรลุผลตามเป้าหมายได้ดีมีประสิทธิภาพเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญว่าคำวินิจฉัยนั้นจะวางน้ำหนักในการสนองตอบต่อเป้าหมายในระดับใด ในระดับพื้นฐานหรือระดับสูง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของคดี และความซับซ้อนของปัญหาในคดีรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงข้อคำนึงในการวางแนวบรรทัดฐานของคำวินิจฉัยด้วยว่าจะสามารถนำเอาคำวินิจฉัยซึ่งมีความเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันด้วยนั้นไปใช้เป็นหลักอ้างอิงในการแก้ปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปการเมืองการปกครองได้ในขอบเขตของเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ใด เน้นการวางแนวบรรทัดฐานที่ใช้ได้กว้างขวางครอบคลุมเป็นการทั่วไป (Generalization) หรือเน้นการวางหลักบรรทัดฐานที่ใช้ได้จำกัดวงแคบเฉพาะกรณี (Specification)
                   
        เมื่อพิจารณาร่วมกันทั้งบทบาทและความสำคัญของคำวินิจฉัยแล้ว จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญนั้น มิได้เป็นเพียงองค์กรตีความตามตัวบทที่มุ่งยุติคดีเพียงในระดับของการชี้ผลถูกผิด ผลขัดแย้งหรือไม่ขัดแย้ง และผลต่อความยุติธรรมของคู่กรณีเป็นเป้าหมายในบั้นปลายเท่านั้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังต้องสามารถแก้ปัญหาพื้นฐานจากการใช้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จลุล่วงตามครรลองของรัฐธรรมนูญ (constitutionality) พร้อม ๆ กันไปกับการสนองเจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญ (spirit of constitution) ในการสร้างวิวัฒนาการต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ตามเป้าหมายของการปฏิรูปการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นการสร้างผลกระทบในวงกว้างและต่อผลในอนาคตระยะยาวอีกด้วย
       
       4. บริบทแวดล้อมของศาลรัฐธรรมนูญ : ความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่สลับซับซ้อนของเงื่อนคดีเหนือกว่า สถานะจำเพาะของคู่กรณี
       
                   
        โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องเกาะเกี่ยวอยู่กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จำนวน 336 มาตราประกอบด้วย 12 หมวด กับบทเฉพาะกาล รวมทั้งการเกาะเกี่ยวกับเจตนารมณ์เป้าหมายและเจตนารมณ์ย่อยอีกหลายประการ อาทิ การใช้รัฐธรรมนูญเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิรูปการเมือง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น3
                   
        โดยนัยดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญนั้นต้องดำรงอยู่ท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่มีมิติซับซ้อน ทั้งในส่วนของตัวบทและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งครอบคลุมและสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้ง 12 หมวด และบทเฉพาะกาล การมีฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับของรัฐ องค์กร ตัวบุคคล กฎหมาย กิจกรรม และกระบวนการทางการเมืองการปกครองในขั้นตอนต่าง ๆ อีกจำนวนมาก รวมทั้งความละเอียดลึกซึ้งของมิติในเชิงนามธรรม (abstract dimension) อีกด้วย เช่น อธิปไตย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพประโยชน์สาธารณะ และการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ เป็นต้น
                   
        ลักษณะสำคัญของบริบทแวดล้อมอันเป็นเงื่อนไขจำเป็นดังกล่าว ย่อมส่งผลต่อความสลับซับซ้อนของคดี การพิจารณาวินิจฉัย และผลที่คาดหมายจากคำวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญตามไปด้วยโดยเฉพาะผลที่มีต่อคู่กรณีในคดีรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายกรณีที่ต้องมีพิจารณาร่วมกันในกรอบของความสัมพันธ์เกี่ยวโยงตามเงื่อนไขของบริบทแวดล้อมอื่นที่อยู่นอกเหนือไปจากสถานะจำเพาะของคู่กรณี ตัวอย่างเช่นกรณีการวินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกจากการพิจารณาสถานะจำเพาะของตัวนักการเมืองนั้น ๆ แล้ว ยังจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงไปถึงบริบทแวดล้อมอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันด้วย ได้แก่ ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาท อำนาจ – หน้าที่ สังกัด การกระทำ และผลกระทบ ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบและระบอบของกลไกกระบวนการทางการเมืองการปกครอง อื่น ๆ เช่น การพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ตามสถานะที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนด การปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทของความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามระบอบประชาธิปไตย การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นสมาชิกอยู่ในสังกัดของพรรคการเมือง การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนิติบัญญัติ การปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบหรือการรับรองให้ความยินยอมฝ่ายบริหารตามครรลองของระบบรัฐสภา และการปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทของกรรมาธิการ ฯลฯ เป็นต้นซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวส่งผลต่อรูปแบบของกิจกรรมทางการเมืองและผลกระทบต่อระบบการเมืองการปกครองที่แตกต่างกัน ยิ่งถ้าคู่กรณีของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นพรรคการเมืองด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มความซับซ้อนในรูปของการพิจารณาที่มีทั้งการแยกเฉพาะส่วนของพรรคการเมืองกับส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกจากกันแล้วจึงทำการพิจารณาเชื่อมโยงระหว่างกัน เพื่อชั่งน้ำหนักในการตัดสินในขั้นสุดท้ายว่า ฝ่ายใดที่มีการกระทำขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ข้ออ้างในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น หากแยกพิจารณาเป็นเอกเทศเฉพาะตัวแล้วจะเห็นว่า สามารถกระทำได้อย่างกว้างขวางและมักจะอยู่ในข่ายที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะอ้างว่าเป็นการกระทำในฐานะ บทบาท หรืออำนาจหน้าที่ใด แต่เมื่อมาพิจารณาร่วมกันกับบริบทแวดล้อมภายใต้เงื่อนไขของความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วยแล้ว อาจทำให้น้ำหนักของดุลยการพิจารณานั้นเปลี่ยนไป กลับกลายเป็นว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายกระทำผิดรัฐธรรมนูญไม่ใช่พรรคการเมืองได้เหมือนกัน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าบางครั้งคดีรัฐธรรมนูญหากพิจารณาอย่างผิวเผินแบบแยกส่วนเฉพาะบางจุดบางด้านของคู่กรณีเพียงอย่างเดียว ไม่มองให้ละเอียดลึกซึ้งครอบคลุมถึงเงื่อนไขของบริบทแวดล้อมและความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันกับส่วนอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือออกไปในมุมกว้างอย่างทั่วด้านและมีความครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอแล้ว อาจเห็นหรือคาดหวังต่อผลของการพิจารณาวินิจฉัยที่ได้ตัดสินอยู่ในใจไว้ล่วงหน้าแล้วนั้นคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง ซึ่งอาจทำให้ขัดหรือแย้งกับความรู้สึกต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ ทั้ง ๆ ที่คำวินิจฉัยนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องยุติธรรม ทั้งตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้วก็ตาม
                   
        นอกจากนี้ ยังรวมถึงบริบทแวดล้อมอื่นที่อยู่นอกกระบวนการพิจารณาคดี และเหนือการควบคุมของศาลรัฐธรรมนูญ ในรูปของการเคลื่อนไหวด้วยเหตุผลส่วนตัวของคู่กรณีเองและแนวร่วมภายนอก โดยเฉพาะเหตุผลทางการเมือง โดยผ่านกลไกของสื่อสารมวลชน เพื่อก่อให้เกิดกระแสความรู้สึก ความรู้ความเข้าใจ และความคาดหวังของสาธารณชนต่อผลของคดีไปในทางหนึ่งทางใดที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตนและเป็นโทษต่อฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้ เนื่องจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและนักการเมืองนั้น ย่อมจะมีแนวร่วมที่เป็นฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านเข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีอยู่ในการต่อสู้คดีด้วยเสมอ นอกจากนี้ การที่คดีรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มีผลเชื่อมโยงกับประโยชน์สาธารณะ จึงได้รับความสนใจจากสาธารณชนและนักวิชาการจากหลายฝ่าย ซึ่งมักจะมีการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนั้นๆด้วยทัศนะที่แตกต่างกันได้ แม้ว่า บริบทแวดล้อมในส่วนนี้จะมิใช่เงื่อนไขในการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ตาม แต่ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นศาลมหาชนก็สามารถใช้ประโยชน์ทางอ้อมจากบริบทแวดล้อมดังกล่าวได้ในรูปของการรวบรวมและรับทราบข้อมูลข่าวสารที่กว้างขวางและหลากหลายจากภายนอก แม้ว่าจะมิได้มีอิทธิพลต่อการใช้ดุลยพินิจหรือส่งผลต่อคำวินิจฉัยโดยตรงก็ตาม แต่กระนั้นก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ากรณีใดที่จะนำไปสู่ผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ ซึ่งไม่สามารถคาดหมายหรือควบคุมได้ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะต้องใช้ความพยายามในการที่จะผ่อนคลายและระงับยับยั้งไว้ในรูปของการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนในรูปแบบที่พึงกระทำภายใต้ขอบเขตที่ศาลรัฐธรรมนูญกระทำได้โดยที่หลีกเลี่ยงแนวทางที่จะเป็นการโต้ตอบในรูปของความขัดแย้งไม่ว่าในการโต้แย้งหักล้างข้อวิพากษ์วิจารณ์ การเสนอความคิดข้อเท็จจริงหรือข้อมูลข่าวสารที่อาจนำไปสู่การแตกแยกหรือแบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่ายหรือขยายให้เกิดผลต่อความขัดแย้งที่รุนแรงต่อไปได้
       
       5. อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ : อำนาจการตีความเหนือข้อจำกัดของพรมแดนอำนาจ
       
                   
        แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกหนึ่งขององค์กรอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับองค์กรอำนาจอื่น แต่โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตีความ ขณะที่องค์กรอำนาจอื่น เช่นองค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ เป็นองค์กรใช้อำนาจ นั้นทำให้เส้นแบ่งในการกำหนดพรมแดนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ต่างไปจากองค์กรอำนาจเหล่านั้นด้วยแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่ภายใต้กรอบกำหนดตามหลักการจำกัดอำนาจขององค์กรที่ใช้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศที่กำหนดว่า หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ก็ไม่มีอำนาจ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดขอบเขตอำนาจไม่ให้มีความเบ็ดเสร็จและเพื่อกำหนดเงื่อนไขระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างองค์กรเช่นเดียวกันกับองค์กรอำนาจอื่นก็ตาม กล่าวอีกนัย ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นองค์กรที่มีอำนาจอยู่ในขอบเขตตามที่จำกัดไว้ภายใต้กรอบกำหนดของรัฐธรรมนูญ นั่นเอง
                   
        การใช้อำนาจตีความของศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการกระทำหรือใช้อำนาจของบุคคลและองค์กร เช่น นักการเมืองหรือบุคลากรในตำแหน่งระดับสูงขององค์กรอำนาจต่าง ๆ และองค์กรสถาบันทางการเมืองการปกครองหรือองค์กรอำนาจต่าง ๆ รวมทั้งพรรคการเมืองและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้ ในการใช้อำนาจตีความของศาลรัฐธรรมนูญ นั้น แม้จะถูกจำกัดในเขตอำนาจว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตีความบุคคลและองค์กรใดได้หรือไม่ก็ตาม แต่ในส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำหรือการใช้อำนาจใดของบุคคลและองค์กรชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั้น เป็นคนละส่วนกันกับเขตอำนาจที่กำหนดว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความบุคคลหรือองค์กรใดได้หรือไม่ เพราะถ้าพิจารณาตามกรอบนี้แล้ว จะถือว่าเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ นั้น จำกัดเฉพาะบุคคลหรือองค์กรบางองค์กรที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะในกรอบที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจตีความในส่วนที่เป็นการพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำหรือการใช้อำนาจใดชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั้น ไม่ได้ถูกจำกัดตามไปด้วย
                   
        ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเขตอำนาจขององค์กรที่ใช้อำนาจตีความอย่างศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีความแตกต่างจากเขตอำนาจขององค์กรทั่วไปที่ใช้อำนาจโดยตรง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีเส้นแบ่งในการกำหนดพรมแดนอำนาจ 2 ชั้น โดยชั้นแรกมีขอบเขตที่จำกัด ซึ่งเป็นอำนาจในส่วนของการรับหรือไม่รับคดีเกี่ยวกับบุคคลหรือองค์กรใดเข้าสู่การพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กับชั้นที่สองซึ่งมีขอบเขตที่ไม่จำกัด เป็นอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยเพื่อตีความว่า การกระทำและการใช้อำนาจใดของบุคคลหรือองค์กรเหล่านั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เหตุผลหนึ่งที่ต้องจัดลำดับชั้นและแยกเส้นแบ่งพรมแดนอำนาจดังกล่าวก็เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาจากการใช้รัฐธรรมนูญได้ด้วย นอกเหนือจากการเป็นเพียงองค์กรผู้ชี้ถูกชี้ผิด ซึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญนั้น ถ้าหากว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีขอบเขตจำกัด ศาลรัฐธรรมนูญก็จำเป็นต้องเจาะเข้าสู่เงื่อนปมของปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไม่จำกัดขอบเขตได้ด้วย เพื่อเป้าหมายสุดท้ายของการทำภารกิจคือ การแก้ไขที่ปมปัญหาเหล่านั้นให้สำเร็จเสร็จสิ้นจนลุล่วงถึงผลบั้นปลาย ทั้งนี้ เพราะการกระทำและการใช้อำนาจของบุคคลและองค์กรนั้นย่อมมีรูปแบบและแบบแผนที่มีความแตกต่างหลากหลายและซับซ้อนเกินกว่าที่กำหนดไว้เป็นข้อห้ามที่เฉพาะเจาะจงได้ รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องหรือปรากฏในรูปของบทบัญญัติของข้อกฎหมายอีกด้วย ดังนั้น การจำกัดเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ก็จะเป็นอุปสรรคในการขัดขวางการทำหน้าที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญตามไปด้วย ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถขยายเขตอำนาจการตีความให้ครอบคลุมไปถึงการสามารถสืบเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรูปแบบและแบบแผนของพฤติกรรมของบุคคลและองค์กรที่ขยายออกไปนอกขอบเขตที่กฎหมายกำหนด หรือพ้นออกไปจากกรอบกำหนดตามความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถพิจารณาวินิจฉัยเพื่อตีความได้ว่า การกระทำและการใช้อำนาจนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่เพราะไม่สามารถก้าวทะลุทะลวงเข้าไปสู่ข้อเท็จจริงในมิติที่เกี่ยวข้องอื่นตามการกระทำและการใช้อำนาจที่ไม่มีขอบเขตจำกัดของบุคคลและองค์กรต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ซึ่งจะเป็นจุดอ่อนให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถอุดช่องว่างและแก้ไขปัญหาจากการใช้รัฐธรรมนูญได้ ความสำคัญของประเด็นปัญหาเหล่านี้ รัฐธรรมนูญก็ได้พยายามแก้ไขไว้ด้วยบทบัญญัติในบางมาตราของรัฐธรรมนูญเองดังเช่นในมาตรา 7 ที่ระบุว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการทำให้รัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติและแก้ไขปัญหาจากการใช้รัฐธรรมนูญได้
       
       6. หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ : ความจำเป็นในการอำนวยบริการความยุติธรรมสาธารณะตาม
       ฐานความคาดหวังมากกว่าฐานความเป็นจริง

       
                   
        การที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบในคดีมหาชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะของส่วนรวม จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการพิจารณาตัดสินวินิจฉัยคดีความ เพื่อผลเฉพาะกรณีของคดีความนั้น ๆ (specific case) หรือเพื่อผลต่อการแก้ไขปัญหาทั่วไปของเรื่องนั้น ๆ (general problem) ทั้งนี้ เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบพื้นฐานในการตัดสินคดีมหาชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างแท้จริงไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะประโยชน์ของคู่กรณีเท่านั้น
                   
        ในการยกระดับการอำนวยบริการความยุติธรรมสาธารณะที่เกิดจากคดีรัฐธรรมนูญในระดับที่สูงขึ้นจากฐานความเป็นจริงไปสู่ฐานความคาดหวังมากยิ่งขึ้น (expectation fulfilment) นั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบของคดีที่เกิดขึ้นด้วยว่า จำเป็นจะต้องทำการตัดสินวินิจฉัยให้มีผลต่อการบรรลุเป้าหมายความรับผิดชอบในระดับใด เช่น การหวังผลต่อการคุ้มครองป้องกัน การหวังผลต่อการแก้ไขเยียวยา การหวังผลต่อการยุติหรือระงับยับยั้ง การหวังผลต่อการหยุดยั้งอย่างถาวร การหวังผลต่อการลบล้างหรือควบคุมผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ และการหวังผลต่อการสร้างเสริมให้เกิดผลกระทบในสิ่งอันพึงปรารถนา ฯลฯ เป็นต้น
                   
        เหตุผลสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องยกระดับการอำนวยความยุติธรรมสาธารณะในระดับฐานความคาดหวัง นั้น มีอยู่หลายประการ คือ (1) ความจำเป็นในการวางแนวบรรทัดฐานของคำวินิจฉัยเพื่อเป็นหลักอ้างอิงทั้งระดับที่เป็นบรรทัดฐานเฉพาะกรณีและบรรทัดฐานในกรณีทั่วไป (2) ความจำเป็นในการขยายผลการแก้ไขปัญหาคดีรัฐธรรมนูญจากผลในระดับเฉพาะกรณีไปสู่ผลในระดับของประเด็นปัญหาทั่วไป (3) ความจำเป็นในการควบคุมผลกระทบอันไม่พึงประสงค์จากผลของคดีเฉพาะกรณี ในการที่จะถูกนำไปใช้เป็นหลักอ้างอิงเป็นกรณีทั่วไปที่ทำให้ประโยชน์สาธารณะเสียหาย(4) ความจำเป็นในการเสริมสร้างผลกระทบอันพึงปรารถนาให้เกิดขึ้นแก่ประโยชน์สาธารณะทั่วไป นอกเหนือจากประโยชน์เฉพาะของคู่กรณี (5) ความจำเป็นในการบรรลุผลบั้นปลายของการทำภารกิจตามเจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหวังต่อการปฏิรูปการเมืองโดยการสร้างวิวัฒนาการของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตระยะยาวได้
       
       7. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ : การผลิตความยุติธรรมสาธารณะเพื่อส่งมอบประโยชน์สุข
       แก่ส่วนรวม

       
                   
        คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่กรณีแล้ว ยังส่งประโยชน์ต่อส่วนรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย4 ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐและระบบการเมือง ประชาชน การปฏิรูปการเมืองการปกครอง และประโยชน์ต่อรัฐธรรมนูญเองด้วย
                   
        ประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐและระบบการเมือง ได้แก่ (1) การรักษาระบอบการเมืองให้เป็นไปตามครรลองของอุดมการณ์ประชาธิปไตย โดยการกำกับควบคุมกลไกการเมืองการปกครองให้อยู่ในกรอบของหลักการปกครองด้วยกฎหมาย (2) การสร้างประสิทธิภาพทางการเมือง โดยการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากปัญหากรณีพิพาทเกี่ยวกับการแข่งขันทางอำนาจ การใช้อำนาจและการเปลี่ยนแปลงอำนาจ (3) การสร้างความสามารถทางการปกครอง โดยการช่วยอำนวยการปกครองให้เกิดดุลยภาพในการจัดระเบียบอำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ราบรื่นระหว่างองค์กรอำนาจของกลไกการปกครอง (4) การสร้างศักยภาพของรัฐ โดยการเชื่อมประสานช่องว่างความแตกต่างและเป้าหมายผลประโยชน์ความต้องการร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน
                   
        ประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชน ได้แก่ (1) การรักษาและคุ้มครองป้องกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการรองรับการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน (2) การระงับยับยั้งภัยคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจเกินขอบเขตและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากองค์กรอำนาจรัฐ (3) การส่งเสริมความเข้าใจและสร้างแรงจูงใจในการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยการเผยแพร่ความรู้ และช่วยแก้ไขข้อพิพาทขัดแย้งในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง
                   
        ประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองการปกครองได้แก่ (1) การดำรงจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปการเมืองการปกครอง อาทิเช่น การจำกัดควบคุมอำนาจของบุคคลและองค์กรอำนาจในฝ่ายปกครองให้อยู่ในกรอบของความชอบตามรัฐธรรมนูญ การรับรองสิทธิประโยชน์ของผู้ใต้ปกครองโดยการคุ้มครองป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การรักษาเสถียรภาพและประสิทธิภาพของระบบการเมือง (2) การกำกับกระบวนวิธีปฏิบัติของการปฏิรูปการเมืองการปกครองอาทิเช่น การกำกับกระบวนวิธีในการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนวิธีในการควบคุมพฤติกรรมทางอำนาจของผู้ปกครอง กระบวนวิธีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน (3) การกำหนดกลไกปฏิบัติในการปฏิรูปการเมืองการปกครอง อาทิเช่น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากการใช้อำนาจ และปัญหาข้อติดขัดหรืออุปสรรคในการใช้อำนาจให้แก่องค์กรอิสระต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญให้เกิดดุลยภาพในการใช้อำนาจและประสานสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างองค์กรให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่นก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการส่งเสริมการปฏิรูปการเมืองการปกครองตามเจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญ
                   
        ประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ได้แก่ (1) การธำรงรักษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยการกำกับควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอำนาจและตีความการใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (2) การบำรุงรักษารัฐธรรมนูญให้มีความมั่นคงมีเสถียรภาพ โดยการเสนอแนะให้มีการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและตอบสนองต่อความต้องการใหม่ ๆ ในทางปฏิบัติ (3) การรักษาความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยการวินิจฉัยร่างกฎหมายและกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่ให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรของรัฐ
                   
        กระบวนการได้มาซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหัวใจสำคัญของการผลิตความยุติธรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งในความจริงแล้วคำว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั้น มีความหมายครอบคลุมทั้งในเรื่องของการตัดสินใจ (decision) และการแก้ไข (correction) โดยที่ทั้งการตัดสินใจและการแก้ไข นั้น ก็มีขอบเขตที่ครอบคลุมทั้งกรณีของคดี (case) และปมปัญหาแท้จริงของคดี (problem) ด้วย
                   
        ดังนั้น ในกระบวนการผลิต การได้มาและการส่งมอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกไปสู่สาธารณชน นั้น จึงเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมีความละเอียดลึกซึ้ง และมีเป้าหมายที่กว้างไกลทั้งในขอบเขตของผลกระทบและระยะเวลาที่คาดหมาย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เป็นเพียงถ้อยความ (sentence) ที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล (Information Based) ที่ประกอบด้วยข้อเท็จจริง (fact) และข้อกฎหมาย (law) เท่านั้น แต่เป็นองค์รวมขององคาพยพ (organic) ที่มีองค์ประกอบสำคัญร่วมกันทั้ง 7 ประการ คือ (1) ฐานข้อมูล (Information Based (2) ฐานการพิจารณา (Methodology Based) (3) ฐานวิชาการ (Knowledge Based) (4) ฐานความคิด (Thought Based) (5) ฐานปรัชญา (Philosophy Based) (6) ฐานเป้าประสงค์ (Achievement Based) และ (7) ฐานจริยธรรม (Ethic Based)
                   
        ในส่วนของฐานข้อมูล นั้น โดยที่มูลแห่งคดีนั้นมีที่มาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ผู้ร้องนำเสนอเป็นสำคัญ แต่เมื่อนำเข้าสู่การพิจารณาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเสาะแสวงหาข้อมูลอื่นที่จำเป็น (necessary data) และที่เกี่ยวข้อง (relevancy data) มาประกอบเพิ่มเติมให้เพียงพอแก่การพิจารณาด้วย ซึ่งมีทั้งข้อมูลกฎหมาย เอกสาร พยานหลักฐานและบุคคล และถ้อยคำในการต่อสู้ทั้งการสนับสนุนและโต้แย้งหักล้าง ฐานการพิจารณา โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวางแนวการพิจารณาที่รอบคอบรัดกุมซึ่งอิงทั้งแนวทางในการพิสูจน์ผิด (falsification) และแนวทางในการพิสูจน์ถูก (verification) คู่ขนานกันไปกับการสรรหาสมมติฐานที่เกี่ยวข้อง และการสร้างสรรค์สมมติฐานใหม่ๆ เพื่อยืนยันทั้งการทดสอบและการพิสูจน์สมมติฐานเหล่านั้นพร้อมๆกันไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้แนวการพิจารณานั้นนำไปสู่การบูรณาการผลลัพธ์สุดท้าย (outcome integration) ของคำวินิจฉัยให้เป็นผลรวมของเอกภาพร่วมกันหรือเป็นสมการเดียวกันระหว่างความจริง (truth) ความถูกต้อง (veracity) ความยุติธรรม (justice) และประโยชน์ส่วนรวม (public interest) ซึ่งการเปิดให้คู่กรณีได้ต่อสู้กันโดยเปิดเผยก็เป็นส่วนหนึ่งในการรองรับแนวทางดังกล่าว ฐานวิชาการ โดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีข้ออธิบายถึงเหตุผล (explanation) ประกอบอยู่ด้วย จึงต้องอาศัยฐานวิชาการประกอบการทำคำวินิจฉัยซึ่งอิงทั้งส่วนขององค์ความรู้ (body of knowledge) และส่วนของการใช้เหตุผล (rationalization) ที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีนั้น การอธิบายเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีการเชื่อมโยงทั้งความรู้และเหตุผลเข้าด้วยกันอย่างผสมกลมกลืน เป็นเหตุเป็นผลที่คล้องจองกันด้วย (knowledge & reason elaboration) จนเรียกได้ว่ามีความสมเหตุสมผล (reasonableness) ซึ่งในส่วนของความรู้นั้นมีทั้งในส่วนที่เป็นทฤษฎี แนวความคิด กรณีเปรียบเทียบและคำสำคัญ (technical terms) ต่าง ๆ ด้วย ส่วนที่เป็นเหตุผลนั้น มีทั้งที่เป็นหลักการทางตรรกะ (logical principle) การเชื่อมโยงความสัมพันธ์เชิงเหตุผล (causal relation) และการใช้เหตุผลเชิงอ้างอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ (scientific methodology) แบบต่าง ๆ อาทิหลักประจักษ์วาทและปรากฎการณ์วิทยา (empiricism & phenomenonology) หลักนิรนัยและหลักอุปนัย (deductive & inductive) และการขจัดอคติ (bias free) รวมถึงการใช้เหตุผลเชิงเทคนิคการตีความ (interpretation technic) ด้วย ฐานความคิด โดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาคดีรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ มิได้หวังให้คดียุติเพียงอย่างเดียว ความคิดซึ่งเป็นกระบวนวิธีของการไตร่ตรองอย่างรอบคอบจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำคำวินิจฉัยให้สามารถแก้ไขที่ปมปัญหาให้สำเร็จลุล่วงได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องอาศัยความคิดในหลายระดับและรูปแบบ ได้แก่ การค้นหาสมุหฐานของคดีเพื่อชี้ปัญหาที่แท้จริง การค้นหาทางเลือกและทางออกที่ดีที่สุด การคาดหมายผลกระทบและการเบี่ยงเบน การเทียบเคียงเจตนารมณ์ การหาข้อสรุปสุดท้าย ซึ่งประกอบด้วย ข้อสรุปเฉพาะกรณีและข้อสรุปทั่วไป เพื่อนำไปสู่การวางแนวบรรทัดฐานของคดีและคำวินิจฉัยต่อไปด้วย ทั้งนี้ในกระบวนการทางความคิดดังกล่าว ต้องอาศัยปัจจัยที่หลากหลายและซับซ้อนทั้งประสบการณ์ พัฒนาการ วิสัยทัศน์ กระบวนทัศน์ (paradigm) ความรอบรู้ ความชำนาญ ความแตกฉาน ทัศนคติ ค่านิยม ความต้องการ ความคาดหวัง และอุดมการณ์ มาประกอบเข้าด้วยกัน ฐานปรัชญา การแสวงหาหลักปรัชญามารองรับหรือสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั้น มิได้คาดหวังแต่เฉพาะความถูกต้องเชื่อถือเพื่อผลต่อมาตรฐานคุณภาพของคำวินิจฉัยเองเท่านั้น แต่ยังมีความหมายสำคัญต่อการเสริมสร้างคุณค่าให้แก่เป้าหมายอันพึงปรารถนาที่ต้องบรรลุถึง (teleological actualization) ในชั้นสูงต่อไปด้วยเช่นการสร้างองค์ความรู้ (knowledge construction) เพื่อการศึกษาระดับสูง การสร้างมาตรฐานทางคุณธรรมเพื่อแยกแยะการชี้ผิด - ถูก ชั่ว - ดี
       คุณ - โทษ ประโยชน์ - ไม่เป็นประโยชน์ โดยอาศัยกฎเกณฑ์ขั้นสูงของปรัชญาเป็นหลักอ้างอิง การวางแนวบรรทัดฐานทั่วไป เพื่อการปฏิรูปการเมืองการปกครอง การแก้ไขรากเหง้าของปมปัญหาเกี่ยวกับการใช้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งการสร้างผลกระทบอันพึงประสงค์จากการมีผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อองค์กรอื่นด้วย ฐานเป้าประสงค์ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกรณี หรือเพื่อแก้ปัญหาทั่วไปก็ตามแต่ผลที่เกิดขึ้นหรือผลลัพธ์บั้นปลายจากการใช้ประโยชน์ของคำวินิจฉัยดังกล่าวนั้น ได้นำไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์สำคัญใน 3 ส่วนด้วยกัน คือ (1) เป้าประสงค์ในการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญให้ปฏิบัติได้และมีผลทางปฏิบัติโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย (2) เป้าประสงค์ในการบำรุงรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญให้ระบอบรัฐธรรมนูญดำรงอยู่ได้โดยมีการพัฒนาด้วย และ (3) เป้าประสงค์ในการดำรงความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญโดยให้ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญนั้น เอื้อประโยชน์ต่อการสนองเจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงด้วยซึ่งโดยนัยของเป้าประสงค์ดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนช่วยให้รัฐธรรมนูญนั้นมีชีวิตและจิตใจวิญญาณที่แท้จริง มีความเจริญวัฒนาถาวรมากยิ่งขึ้น และมีประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างแท้จริง มากกว่าจะเป็นเพียงผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (guardian) แต่จะช่วยให้การใช้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นการปฏิบัติโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (constitutionality) ช่วยให้ระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นระบอบการปกครองโดยกฎหมาย (rule of law) ดำรงคงอยู่อย่างสืบเนื่อง และมีพัฒนาการใหม่ ๆ ที่มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น (advancement) รวมทั้งการแปรความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ นั้น ให้เป็นประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญได้ด้วย โดยเฉพาะในการปฏิรูปการเมืองการปกครองในกรอบของการจำกัดอำนาจรัฐและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฐานจริยธรรม กระบวนการผลิตและส่งมอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกไปสู่สาธารณชนนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบทางจริยธรรมขั้นสูง ซึ่งประกอบด้วยกลไกที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ (1) กลไกป้องกันความผิดพลาดของคำวินิจฉัย (2) กลไกสร้างความเชื่อมั่นในความถูกต้องของคำวินิจฉัยและ (3) กลไกเกื้อหนุนให้เกิดผลประโยชน์ส่วนรวม
                   
        การป้องกันความผิดพลาดของคำวินิจฉัย นั้น เป็นกลไกสำคัญในกระบวนการผลิตคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันว่าความผิดพลาดของคำวินิจฉัยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดในทางเทคนิค หรือความบกพร่องจากการละเมิดข้อห้ามจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ส่วนการสร้างความเชื่อมั่นในความถูกต้องของคำวินิจฉัยนั้น ก็เพื่อเป็นการยืนยันว่า ความเด็ดขาดและการมีผลผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะเป็นกุญแจสำคัญในการไขไปสู่ความถูกต้องของการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้น ๆ ตามมาต่อไปได้ มากกว่าที่จะก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคหรือจุดตีบตันในภายหลัง ดังนั้น ไม่ว่าหลักประกันเรื่องการป้องกันความผิดพลาดและการสร้างความเชื่อมั่นในความถูกต้องของคำวินิจฉัยก็ตามในที่สุดก็จะต้องมีการเชื่อมโยงไปให้ถึงผลประโยชน์เป้าหมายในบั้นปลายที่จะตกทอดต่อไปยังสาธารณชนโดยส่วนรวมด้วยไม่ว่าประโยชน์ต่อรัฐและระบบการเมืองการปกครอง ประโยชน์ต่อประชาชน ประโยชน์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือประโยชน์ต่อการปฏิรูปการเมืองการปกครองก็ตาม
       
       8. คุณค่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ : นัยของการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ
       
                   
        โดยที่เจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญ มุ่งเน้นที่การปฏิรูปการเมืองการปกครองและในการปฏิรูปนั้น ก็อาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสำคัญด้วย ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรในการสะท้อนภาพจำลองเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญในภาคปฏิบัติ ก็จะต้องอิงกับพันธะผูกพันตามเจตนารมณ์เป้าหมายนั้นด้วยเช่นกัน คุณค่าสำคัญในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากการแก้ปัญหา(correction) คดีรัฐธรรมนูญแล้ว ยังรวมไปถึงคุณค่าที่เกี่ยวกับการพัฒนา (development) และการปฏิรูป (reform) ตามรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งคุณค่าดังกล่าว เกิดจากผลของคำวินิจฉัยใน 3 ลักษณะ คือ (1) ผลต่อการแก้ไขปัญหาการนำรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติ และผลต่อความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (2) ผลต่อการบำรุงรักษาเสถียรภาพของระบอบ
       รัฐธรรมนูญ และผลต่อพัฒนาการของรัฐธรรมนูญ และ (3) ผลต่อความศักดิ์สิทธิ์ในการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และผลต่อการบรรลุเจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญ
                   
        ผลต่อการนำรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติ และผลต่อความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นคุณค่าของคำวินิจฉัยที่มุ่งแก้ปัญหาพื้นฐานและหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญ หรือการนำรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติ เพื่อให้รัฐธรรมนูญนั้นสามารถนำไปใช้ได้ในทางปฏิบัติ ไม่มีข้อติดขัดหรืออุปสรรคขัดขวางใด ๆ หรือแม้แต่การถูกละเมิด บิดเบือน เบี่ยงเบนด้วยประการใด ๆ ก็ตาม ซึ่งจะนำไปสู่ผลบั้นปลาย หรือผลกระทบตกทอดต่อไปยังการสร้างผลทางปฏิบัติในการใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามครรลองโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญในที่สุด
                   
        ผลต่อการรักษาเสถียรภาพของรัฐธรรมนูญ และผลต่อพัฒนาการของรัฐธรรมนูญ เป็นคุณค่าของคำวินิจฉัยที่มุ่งเสาะแสวงหาและสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ ๆ ที่ดีกว่า หรือมีความก้าวหน้ากว่า เพื่อรื้อถอนรากเหง้าในปมปัญหาสำคัญของการใช้รัฐธรรมนูญที่เกิดจากฐานของคดีต่าง ๆ เพื่อให้การดำรงคงอยู่ของรัฐธรรมนูญนั้นได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปจากทั้งฝ่ายผู้ปกครองและประชาชน รวมทั้งได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เกิดแนวทางปฏิบัติและการสนองตอบต่อปัญหา ผลประโยชน์และความต้องการในหมู่ของสาธารณชนได้เพิ่มขึ้นอันจะนำไปสู่ผลบั้นปลายให้รัฐธรรมนูญนั้นมีวิวัฒนาการหรือพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เพิ่มเติมมากยิ่ง ๆ ขึ้น
                   
        ผลต่อความศักดิ์สิทธิ์ในการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และผลต่อการบรรลุเจตนารมณ์เป้าหมายของรัฐธรรมนูญ เป็นคุณค่าของคำวินิจฉัยที่มุ่งวางรากฐานการปฏิรูปไว้ล่วงหน้าสำหรับนำร่องการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายอันพึงปรารถนาในอนาคต เพื่อก่อ กระตุ้น หรือกำกับ การเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นจากเรื่องเล็กเฉพาะกรณีไปสู่เรื่องใหญ่ในระดับปัญหาทั่วไปได้ อาทิเช่น จากการควบคุมกฎหมายที่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ก็สามารถพัฒนาต่อไปสู่การปฏิรูปกฎหมาย หรือจากการกำกับควบคุมพฤติกรรมทางอำนาจของบุคคลหรือองค์กรอำนาจ ก็สามารถพัฒนาต่อไปสู่การปฏิรูปสถาบันและระบบการเมืองการปกครอง หรือจากการแก้ไขปัญหาพื้นฐานเฉพาะกรณีของคดีรัฐธรรมนูญ หรือการสร้างพลวัตของคำวินิจฉัย (dynamic) ตามภาวะการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย เพื่อรุกไปสู่การแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ ในระดับที่สูงขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้นหรือแม้แต่การรุกไปสู่การพัฒนาในก้าวใหม่ ๆ ที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นและพ้นไปจากแบบแผนดั้งเดิมในระดับของปัญหาพื้นฐานแล้ว ทั้งนี้ เพื่อสามารถพัฒนาต่อไปสู่การวางหลักบรรทัดฐานทั่วไปในการแก้ไขปัญหาแบบขุดรากถอนโคนให้แก่ปมปัญหานั้น ๆ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปสู่ผลบั้นปลายหรือผลกระทบตกทอดต่อไปถึงการบรรลุเจตนารมณ์เป้าหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญได้
       
       
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       1. โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน เสน่ห์ จามริก : แปล, ความคิดทางการเมืองจากเปลโตถึงปัจจุบัน (กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2522) หน้า 80 – 82.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       2. วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพ : แสวงสุทธิการพิมพ์, 2530) หน้า 685 – 696.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       3. โปรดดูรายละเอียดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       4. โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน เชาวนะ ไตรมาศ “ศาลรัฐธรรมนูญ : อรรถประโยชน์ต่อรัฐ ประชาชนและรัฐธรรมนูญ”
       จดหมายข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 (มกราคม – กุมภาพันธ์ 2542) หน้า 7 – 9. ใน เชาวนะ ไตรมาศ “ศาลรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมือง” วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 2 เล่มที่ 5 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2543) หน้า 84 – 97. และใน เชาวนะ ไตรมาศ “รัฐธรรมนูญ : สำคัญที่ใช้ให้เป็น” วารสารสมาคมนักวิจัยมหาวิทยาลัยไทย ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม – กันยายน 2540) หน้า 27-38
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=713
เวลา 21 เมษายน 2568 14:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)