คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกรณีไอทีวีกับผลผูกพันที่มีต่อคู่สัญญา

9 มกราคม 2548 01:35 น.

                   
       คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๗ กรณีสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และบริษัท สยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด (ปัจจุบัน คือ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)) ซึ่งอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ทำผิดสัญญาเข้าร่วมงาน และชี้ขาดในประเด็นสำคัญให้ไอทีวี ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนที่ต้องจ่ายให้แก่ สปน. กับทั้งให้ไอทีวีสามารถปรับสัดส่วนการเสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์จากที่กำหนดไว้ในสัญญาไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ นั้น เป็นคำชี้ขาดที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงกันทั้งในและนอกวงการนิติศาสตร์ว่า คำชี้ขาดดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยหลักเกณฑ์การชี้ขาดข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการหรือไม่ และเมื่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดไปแล้วคำชี้ขาดจะมีผลผูกพันคู่สัญญามากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า ไอทีวีซึ่งเป็นผู้ชนะในชั้นอนุญาโตตุลาการจะสามารถปรับเปลี่ยนผังรายการได้ทันทีหรือไม่ ในการตอบคำถามเหล่านี้นอกจากจะต้องพิจารณาจากสัญญาเข้าร่วมการงานฯระหว่างคู่สัญญา ตัวบทกฎหมายตลอดจนกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการแล้ว ยังจะต้องพิจารณาและวิเคราะห์แยกแยะลักษณะการกระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามคำชี้ขาด ยิ่งไปกว่านั้นโดยเหตุที่สัญญาเข้าร่วมการงานฯ มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน ซึ่งระบบกฎหมายไทยถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง การตอบคำถามดังกล่าวนี้จึงต้องคำนึงถึงหลักการต่างๆในกฎหมายปกครองประกอบด้วย บทความนี้ผู้เขียนมุ่งแสดงทัศนะที่มีต่อปัญหาดังกล่าวในบางประเด็นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกัน
                   
       ๑. ข้อพิจารณาเบื้องต้นเกี่ยวกับสัญญาอนุญาโตตุลาการและผลผูกพันของคำชี้ขาด
                   
       สัญญาเข้าร่วมการงานฯ ระหว่าง สปน. กับไอทีวี ข้อ ๑๕ กำหนดว่าหากมีข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาระหว่าง สปน.กับไอทีวี คู่สัญญาตกลงแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการทำการวินิจฉัยข้อพิพาท โดยให้คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเป็นที่สุด และผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้คำชี้ขาดจะมีผลผูกพันคู่พิพาทกันนับแต่วันที่สำเนาคำชี้ขาดนั้นไปถึงคู่พิพาท
                   
       เมื่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว หากเป็นกรณีที่จะต้องบังคับการตามคำชี้ขาด และคู่พิพาทประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาด คู่พิพาทฝ่ายที่ต้องการให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดสามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ ส่วนคู่พิพาทฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดก็อาจขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้โดยต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด อย่างไรก็ตามการที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้นั้น จะต้องเป็นไปตามเหตุที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างจำกัด1
                   
       ถึงแม้ว่าในทางทฤษฎีจะยังมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมในการการนำเอาข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับกับสัญญาทางปกครองก็ตาม แต่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๕ ก็ได้บัญญัติให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทในสัญญาทางปกครองได้ โดยให้สัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวผูกพันคู่สัญญา ซึ่งดูเหมือนว่าผู้ร่างกฎหมายและฝ่ายนิติบัญญัติต้องการขจัดความไม่ชัดเจนแน่นอนเกี่ยวกับสภาพบังคับของข้อตกลงว่าด้วยอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครอง แม้กระนั้นก็พึงเข้าใจว่าโดยเหตุที่สัญญาทางปกครองมีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวพันกับบริการสาธารณะ และในหลายกรณีก็เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของรัฐโดยตรง ไม่เหมือนกับสัญญาทางแพ่งระหว่างเอกชนทั่วไป การนำเอาข้อตกลงว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้ในสัญญาทางปกครอง จึงไม่อาจใช้บังคับอย่างเต็มรูปทำนองเดียวกับข้อตกลงว่าด้วยอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางแพ่งระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการบังคับใช้ข้อตกลงดังกล่าวขัดต่อหลักการพื้นฐานในการปกครองและการจัดทำบริการสาธารณะหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ อนึ่ง การกล่าวอ้างว่าฝ่ายปกครองตกลงยินยอมกับเอกชนยอมรับวิธีการอนุญาโตตุลาการเอง ก็เป็นข้อโต้แย้งที่ฟังได้บางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากการกระทำทั้งหลายทั้งปวงขององค์กรฝ่ายปกครองนั้นไม่ได้เป็นไปตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญาหรือความศักดิ์สิทธิในการแสดงเจตนา แต่องค์กรฝ่ายปกครองต้องผูกพันตนอยู่กับกฎหมาย อำนาจในการดำเนินการปกครอง และการบริการสาธารณะหลายกรณีจึงเป็นอำนาจที่ไม่อาจสละได้ ข้อพิจารณาประเด็นนี้เป็นข้อพิจารณาที่สำคัญยิ่งและจะมีผลในการปรับเปลี่ยนวิธีการอนุญาโตตุลาการให้รับกับสภาพของสัญญาทางปกครองด้วย (ถ้าระบบกฎหมายไทยยังยืนยันที่จะให้ใช้วิธีการทางอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครอง)
                   
       แม้กระนั้นก็ตาม หากพิจารณาจากตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการประกอบกับข้อตกลงระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ย่อมต้องยอมรับว่าเป็นหลักว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีผลในทางกฎหมายผูกพันคู่พิพาท ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว หากการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นสิ่งที่อยู่ในอำนาจของคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะปฏิบัติไปได้เอง โดยไม่ต้องบังคับการให้คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งต้องยอมรับและปฏิบัติตาม คู่พิพาทฝ่ายนั้นย่อมปฏิบัติไปตามคำชี้ขาดได้ โดยคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ถ้าการปฏิบัติตามคำชี้ขาดเป็นเรื่องที่คู่พิพาทฝ่ายที่ชนะในชั้นอนุญาโตตุลาการจะต้องบังคับการ และคู่พิพาทฝ่ายที่แพ้ในชั้นอนุญาโตตุลาการไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด คู่พิพาทฝ่ายที่ชนะจะต้องร้องต่อศาลให้ศาลบังคับการตามคำชี้ขาดให้
                   
       ๒. ไอทีวี มีสิทธิในการปรับผังรายการตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ เพียงใด
                   
       โดยที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้ไอทีวีสามารถออกอากาศในช่วงเวลา ๑๙.๐๐ ถึง ๒๑.๓๐ น. ได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดเฉพาะรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์เท่านั้น2 และให้ไอทีวีสามารถปรับสัดส่วนการเสนอข่าว สารคดี และสารประโยชน์จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ ของเวลาออกอากาศทั้งหมดเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของเวลาออกอากาศทั้งหมด ซึ่งเท่ากับให้ไอทีวีมีโอกาสปรับผังรายการได้ กรณีมีปัญหาถกเถียงกันว่าไอทีวีจะสามารถปรับผังรายการได้ในทันทีที่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีผลหรือไม่ มีผู้ให้ความเห็นว่าเมื่อคำชี้ขาดของไอทีวีมีผลบังคับแล้ว ไอทีวีสามารถปรับผังรายการตามที่กำหนดไว้ในคำชี้ขาดได้ทันที เพราะคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีผลในลักษณะเดียวกับคำพิพากษาของศาล3 และเมื่อไอทีวีปรับผังรายการแล้ว สปน. จะถือเป็นเหตุว่าไอทีวีประพฤติผิดสัญญาฯไม่ได้
                   
       มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าการปรับผังรายการเป็นสิ่งที่อยู่ในอำนาจของไอทีวีที่จะกระทำได้ทันทีหรือไม่ และคำชี้ขาดในประเด็นนี้สามารถเป็นฐานให้ไอทีวีกล่าวอ้างในการปรับผังรายการได้หรือไม่ หากพิจารณาจากสัญญาเข้าร่วมการงานฯ4แล้วจะเห็นได้ว่าผังรายการเป็นไปตามเอกสารแนบในสัญญา ทั้งนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยได้รับความเห็นชอบจากสปน. โดยที่สัญญาเข้าร่วมงานฉบับนี้เป็นสัญญาสัมปทานที่มีลักษณะเป็นการมอบหมายให้เอกชนดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะตามวัตถุประสงค์ที่รัฐกำหนด แม้อนุญาโตตุลาการจะชี้ขาดให้ไอทีวีสามารถปรับสัดส่วนการออกอากาศได้ก็ตาม แต่การปรับสัดส่วนการออกอากาศหรือปรับผังรายการในทางเนื้อหาจะทำได้แค่ไหน เพียงใดและอย่างไรนั้น ไอทีวีไม่สามารถกระทำไปได้เองโดยปราศจากความเห็นชอบจาก สปน.ได้ เพราะถ้าไอทีวีปรับผังรายการได้ทันทีโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสปน. โดยถือว่าอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ทำเช่นนั้นได้ ก็เท่ากับอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ใช้อำนาจควบคุมดูแลการดำเนินการบริการสาธารณะเอง ผู้เขียนเห็นว่าการวินิจฉัยผลผูกพันของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเด็นนี้ จะวินิจฉัยโดยพิเคราะห์จากหลักทั่วไปของการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการไม่ได้ เพราะจะทำให้ระบบการจัดทำบริการสาธารณะและการควบคุมการดำเนินการบริการสาธารณะเสียหายทั้งระบบ และในที่สุดแล้ว แนวคิดเช่นนี้จะย้อนกลับมาทำลายวิธีการอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครองลงด้วย อนึ่งการดำเนินการควบคุมการจัดทำบริการสาธารณะให้เหมาะสมเป็นการกระทำที่องค์กรฝ่ายปกครองต้องรับผิดชอบต่อองค์กรทางการเมือง (ฝ่ายบริหาร)ซึ่งเป็นองค์กรบังคับบัญชาหรือกำกับดูแล และองค์กรทางการเมืองเองก็ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ประเด็นเรื่องความเหมาะสมในการจัดทำบริการสาธารณะ หรือการควบคุมการจัดทำบริการสาธารณะให้เหมาะสมเป็นประเด็นที่สามารถอภิปรายและตรวจสอบได้ในทางการเมือง ก็ถ้าถือว่าเรื่องดังกล่าวนี้เป็นไปตามที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดและไอทีวีสามารถปรับผังรายการได้ทันที คำถามก็คือ อนุญาโตตุลาการรับผิดชอบในประเด็นดังกล่าวนี้กับบุคคลใด ผู้เขียนเองเชื่อว่าในการชี้ขาดข้อพิพาทในคดีนี้นั้น อนุญาโตตุลาการคงมุ่งหมายให้เกิดความเป็นธรรมกับคู่พิพาทเป็นสำคัญ อย่างน้อยที่สุดในมุมมองของอนุญาโตตุลาการ แต่คำชี้ขาด (ที่ผู้เขียนเห็นว่าเกินอำนาจ) กรณีนี้มีผลเป็นเพียงการตั้งฐานสิทธิของไอทีวีเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งโดยเหตุที่การดำเนินการตามผังรายการของไอทีวี เป็นการจัดทำบริการสาธารณะ การควบคุมการดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นอำนาจที่หน่วยงานของรัฐมีอยู่ และไม่อาจสละได้ แม้จะมีข้อตกลงว่าด้วยอนุญาโตตุลาการก็ตาม โดยสรุป ผู้เขียนเห็นว่าไอทีวีไม่สามารถปรับผังรายการโดยปราศจากความเห็นชอบของสปน.ได้
                   
       ๓. คำชี้ขาดในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับลดผลประโยชน์ตอบแทน
                   
       โดยเหตุที่คำชี้ขาดในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับลดผลประโยชน์ตอบแทน เป็นคำชี้ขาดไม่กระทบกับอำนาจของ สปน.ในการควบคุมดูแลการจัดการบริการสาธารณะ แม้ว่าคำชี้ขาดในส่วนนี้จะมีปัญหาว่าชอบด้วยด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ตราบเท่าที่ศาลยังไม่เพิกถอน คำชี้ขาดดังกล่าวก็ย่อมมีผลผูกพันคู่พิพาทตามหลักทั่วไป สปน.จึงต้องผูกพันกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ หากไม่เห็นด้วยก็จะต้องเร่งดำเนินการฟ้องศาลเพื่อให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการต่อไป
                   
       ๔. ข้อพิจารณาส่งท้าย : อำนาจชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกรณีไอทีวี และความเหมะสมของข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครอง
                   
       ประเด็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกรณีไอทีวี อันอาจกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจของเรื่อง และผลักดันให้ผู้เขียนออกมาร่วมวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ก็คือ ประเด็นปัญหาที่ว่าการที่อนุญาโตตุลาการกำหนดค่าชดเชยความเสียหายให้แก่ไอทีวีโดยวิธีลดประโยชน์ตอบแทนและโดยการให้สิทธิปรับสัดส่วนการออกอากาศนั้น เป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดเกินอำนาจหรือไม่ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีผู้แสดงทัศนะไว้มากแล้ว ฝ่ายที่เห็นว่าอนุญาโตตุลาการชี้ขาดในขอบอำนาจ มองว่าการลดประโยชน์ตอบแทนและการให้สิทธิไอทีวีปรับสัดส่วนการออกอากาศเป็นเพียงมาตรการชดเชยความเสียหายประการหนึ่งที่อนุญาโตตุลาการกำหนดขึ้นตามสัญญาเข้าร่วมงานฯข้อ ๕ หาใช่การเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาแต่อย่างใดไม่ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดให้ไอทีวีได้สิทธิลดประโยชน์ตอบแทนและได้สิทธิปรับสัดส่วนการออกอากาศนั้นเป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการก้าวล่วงเข้าไปแก้สัญญา ซึ่งอนุญาโตตุลาการไม่อาจกระทำได้ มีประเด็นต้องพิเคราะห์ว่าการกำหนด “มาตรการชดเชยความเสียหาย” อนุญาโตตุลาการจะกำหนดอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่ ก่อนอื่นพึงเข้าใจว่าข้อสัญญาข้อ ๕ ที่ระบุว่า “ถ้าสำนักงานหรือหน่วยงานของรัฐให้สัมปทานอนุญาตหรือเข้าทำสัญญาใดๆ กับบุคคลอื่นเข้าดำเนินกิจการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์ โดยมีการโฆษณา หรืออนุญาตให้โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกทำการโฆษณาได้ และเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรง เมื่อผู้เข้าร่วมงานร้องขอ สำนักงานจะพิจารณาและเจรจากับผู้เข้าร่วมงานโดยเร็วเพื่อหามาตรการชดเชยความเสียหายที่ผู้เข้าร่วมงานได้รับจากผลกระทบดังกล่าว” นั้น ในการกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายตามข้อสัญญาข้อนี้ สปน.จะต้องดำเนินการโดยผูกพันอยู่กับกฎเกณฑ์ในทางกฎหมายหลายประการ สปน.ไม่อาจกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายให้ขัดกับกฎเกณฑ์ในทางกฎหมายได้ เมื่อข้อพิพาทดังกล่าวไปสู่การวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ในการกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายนั้น อนุญาโตตุลาการก็ยิ่งไม่อาจกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายอย่างใดก็ได้ ดังที่อนุญาโตตุลาการต้องการหรือเห็นสมควร แต่อนุญาโตตุลาการต้องคำนึงถึงลักษณะของสัญญาตลอดจนผลประโยชน์สาธารณะ และการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะประกอบด้วย จะอ้างแต่เพียงว่ามาตรการชดเชยความเสียหายดังกล่าวเป็นมาตรการที่คู่พิพาทร้องขอ เมื่อคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งไม่คัดค้าน อนุญาโตตุลาการก็ต้องวินิจฉัยไปตามนั้นไม่ได้ เพราะสัญญาที่อยู่เบื้องหน้าอนุญาโตตุลาการฉบับนี้ไม่ใช่สัญญาทางแพ่งทั่วไป แต่เป็นสัญญาที่เกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะ มาตรการชดเชยความเสียหายที่กำหนดไว้คำชี้ขาดกรณีไอทีวีนี้เป็นมาตรการที่ผู้เขียนเห็นว่าอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจกำหนดได้ ทั้งนี้เพราะมาตรการดังกล่าวโดยเฉพาะการให้สิทธิไอทีวีปรับสัดส่วนการออกอากาศได้นั้นเป็นมาตรการชดเชยความเสียหายที่ทำลายสาระสำคัญของสัญญาเข้าร่วมการงานฯลง เป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาเข้าร่วมการงาน ซึ่งแม้หากสปน. ที่เป็นคู่สัญญาจะดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอง ก็ยังมีปัญหาให้ต้องขบคิดว่าจะทำได้แค่ไหน เพียงใด
                   
       ผู้เขียนมีความเห็นว่าคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการกรณีไอทีวี เป็นบทเรียนที่วงการนิติศาสตร์ไทยจะต้องกลับมาศึกษาความเหมาะสมของการให้มีอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครองอย่างจริงจัง ถ้าระบบอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครองยังจำเป็น ก็จะต้องปรับทัศนคติ บทบาท ตลอดจนคุณสมบัติของอนุญาโตตุลาการในสัญญาลักษณะดังกล่าวนี้อย่างเร่งด่วน กฎหมายเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการจะต้องได้รับการปรับปรุงโดยผสานทัศนคติและความเห็นที่แตกต่างกันออกไปให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรจะต้องอภิปรายกันอย่างจริงจังว่าอำนาจของอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครองควรจะมีแค่ไหน เพียงใด ประเด็นข้อพิพาทในสัญญาทางปกครองลักษณะใด ที่จะระงับด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการไม่ได้ อนึ่งผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าการทบทวนระบบอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นการทบทวนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเท่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาสัมปทานหรือสัญญาให้จัดทำบริการสาธารณะเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับอนุญาโตตุลาการระหว่างเอกชนด้วยกันแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ใช่การรื้อระบบอนุญาโตตุลาการ แต่เป็นการปรับระบบอนุญาโตตุลาการให้เหมาะสมและสอดรับกับโครงสร้างของระบบกฎหมายของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างมาก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมานั่นเอง
       
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       1. ดู พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๐
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       2. สัญญาเข้าร่วมงานฯ ข้อ ๑๑ ระบุให้ระยะเวลาระหว่าง ๑๙.๐๐ ถึง ๒๑.๐๐ น. ต้องใช้สำหรับรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       3. ดู กิตติ ตู้จินดา, ผลผูกพันของคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในคดีไอทีวี, วารสารข่าวกฎหมายใหม่ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒๕, หน้า๕๔.
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       4. สัญญาเข้าร่วมการงานฯ ข้อ ๑๑ ระบุว่า “ผู้เข้าร่วมงานจะต้องดำเนินการตามผังรายการตามรายละเอียดเอกสารแนบ ๖ ทั้งนี้ อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน โดยผู้เข้าร่วมงานจะต้องเสนอผังรายการที่จะใช้ดำเนินการในปีนั้นให้สำนักงานพิจารณาล่วงหน้าก่อนวันที่ ๑ มกราคม ของปีที่จะเริ่มใช้ผังรายการไม่น้อยกว่า ๙๐ (เก้าสิบ) วัน โดยรายการ ข่าว สารคดี และสารประโยชน์จะต้องรวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ (เจ็ดสิบ) ของเวลาออกอากาศทั้งหมด และระยะเวลาระหว่าง ๑๙.๐๐ – ๒๑.๓๐ น. จะต้องใช้สำหรับรายการประเภทนี้
                   
        หากผู้เข้าร่วมงานมิได้ดำเนินการตามผังรายการตามที่ระบุไว้ในวรรคแรก ผู้เข้าร่วมงานยินยอมชำระค่าปรับในอัตราร้อยละ ๑๐ (สิบ) ของค่าตอบแทนที่รัฐจะได้รับในปีนั้นๆ โดยคิดเป็นรายวัน และสำนักงานมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้”

       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2547

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=706
เวลา 21 เมษายน 2568 14:39 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)